จับชนรถกระบะขับ 2 ยกสูง 5 รุ่น 5 ยี่ห้อดัง ใครเจ๋งกว่ากัน เดี๋ยวรู้เลย!!

 

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ากระแสรถกระบะมีความคึกคักและการแข่งขันที่ค่อนข้าง สูง โดยเฉพาะในตอนนี้ที่คนส่วนมากหันมาเลือกใช้รถที่สามารถใช้งานได้หลากหลายรูป แบบ ทั้งขนของ ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือขับใช้งานในเมือง ทำให้รถกระบะในแบบสี่ประตูเริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกที่มากขึ้น โดยเฉพาะในรุ่นขับเคลื่อนสองล้อยกสูง ขับเคลื่อนสองล้อ ที่มีทั้งความโดดเด่นสวยงาม ประหยัดน้ำมัน วันนี้เราเลยจับรถกระบะขับ 2 ยกสูงมาวัดกันให้รู้กันไปเลยว่าใครเจ๋งกว่ากัน ในเวอร์ชั่นเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,500 ซีซี. เกียร์ธรรมดา จาก 5 ยี่ห้อดังได้แก่ NISSAN , TOYOTA , FORD , CHEVROLET และ MITSUBISHI

เริ่มการทดสอบในวันแรก เราวิ่งออกนอกเมืองก่อน เพื่อลองดูว่าการขับขี่ทางไกลจะเป็นอย่างไร นั่งสบายมั้ย กินน้ำมันเท่าไหร่ โดยเราเลือกเส้นทางสั้น กรุงเทพฯ –พัทยา ผมเริ่มต้นจาก NISSAN NAVARA DOUBLE CAB CALIBRE VL 6MT รูปทรงภายนอกดูแข็งแกร่ง บึกบึน ไม่เชย ทั้งที่ออกมาขายก่อนเพื่อน ออปชั่นต่างๆ ที่ให้มาบอกได้คำเดียวเยอะกว่าทุกรุ่น ภายในเบาะหนังปรับไฟฟ้า แอร์หน้า แอร์หลัง จอระบบสัมผัส แอร์ดิจิตอล เนวิเกเตอร์ ครุยส์คอนโทรลซึ่งในเซ็กเมนต์นี้มีอยู่คันเดียว สุดยอดมากครับใส่มาให้เพียบเลยคุ้มจริงครับสำหรับคันนี้

เรามาดูกันที่กันที่เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 2,488 ซี.ซี. ควบคุมด้วย ECCS 32 บิต เทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร  ที่ 2,000 รอบต่อนาที อัตราเร่งทำได้ดีที่เดียวครับ กำลังเหลือเฟือ ขับสนุก การเร่งแซงก็ทำได้แบบรวดเร็วทันใจไม่ต้องลุ้น แต่อัตราการสิ้นเปลืองจะกินมากกว่ายี่ห้ออื่นอยู่สักหน่อย เพราะการทดเกียร์ที่เผื่อเอาไว้เวลาบรรทุก แต่กินกว่าไม่มากครับ นิดเดียว แลกกับออปชั่นคุ้มครับ เลี้ยวออกนอกเส้นทางกันซะหน่อย ไปหาที่ถ่ายรูปสวยๆ กันแถวๆ หนองค้อ ทางไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ช่วงล่างของเจ้านาวาราช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนกคู่ คอยล์สปริง โช้คอัพพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นซ้อนกัน พร้อมด้วยโช้คอัพดูดซับแรงสั่นทะเทือนได้ดีทีเดียวครับ นุ่ม แน่น หนึบมาก ครับ รวมๆ แล้วเป็นรถที่ขับสนุก และสบายมากครับ แต่ถ้าคุณขับขี่อยู่ในเมืองอย่างเดียว ผมว่า นาวารา คันนี้คงไม่เหมาะ เพราะคลัตช์ที่หนัก และพวงมาลัยที่ค่อนข้างหนักแต่ไม่ถึงกับหนักมากแต่หนักกว่ายี่ห้ออื่น ทำให้เวลาขับขี่ภายในเมืองที่รถค่อนข้างเยอะ และรถติด คงเมื่อยน่าดูทีเดียวครับ

ขากลับผมเปลี่ยนมาขับ TOYOTA HILUX REVO DOUBLE CAB 2.4G 4×2 MT ที่ใหม่สดเพิ่งออกจากเตาได้ไม่นานนี้ รูปทรงรูปร่างดูทันสมัย มีมุมโค้งมนไม่เหมือนนาวาราที่เป็นเหลี่ยมๆ ออปชั่นอัดมาให้เยอะอยู่เหมือนกันแต่ก็ยังน้อยกว่านาวารา หน้าตาที่ดูออกไปทางรถยนต์นั่งมากขึ้น ตัวรถมีการเน้นเส้นสายที่มากขึ้น พร้อมกับการดึงแนวแก้มข้างตัวรถให้มีมิติแทนการใช้ชุดโป่งเสริมในแบบเดิมของ รุ่นขับเคลื่อนสองล้อยกสูงและรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ กระจังหน้าที่ยื่นออกมาเพิ่มมากขึ้น สร้างความแปลกตาทางด้านหน้าค่อนข้างมาก ภายในดูหรูหราเหมือนขับรถซีดานหรูๆ เบาะหนังปรับไฟฟ้าด้านผู้ขับ นั่งสบายกระชับตัว ออปชั่นภายในต่างๆ มีเหมือนนาวาราทุกอย่าง ขาดเพียงแต่ไม่มีครุยส์คอนโทรล แต่มีโหมดการขับขี่มาให้เลือกใช้ ทั้ง ECO ที่ใช้เมื่อขับขี่ในเมืองเพื่อให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และ PWR เพื่อเอาไว้เวลาอยากจะขับแบบสนุกๆ ถือว่าตอบโจยท์มากครับสำหรับโหมดการขับขี่

เครื่องยนต์ 2GD-FTV แบบดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน – เมตร ที่ 1,600-2,000 รอบต่อนาที เป็นเอกลักษณ์ในการให้แรงบิดที่สูงในรอบเครื่องยนต์ที่กว้างและมาตั้งแต่รอบ ต่ำ กดเป็นมาเลยครับสำหรับเจ้าคันนี้ จื๊ดจ๊าดน่าดูทีเดียว การเร่งแซงก็ทำได้อย่างทันใจดี ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นซ้อนกัน ให้ความนุ่มนวล ดูดซับแรงกระแทกได้ดีเช่นกัน แต่หนึบสู้นาวาร่าไม่ได้ วิ่งทางตรงเร็วๆ ดีดๆ หน่อย แต่ก็โอเค ไม่น่ากลัว (ผมชอบช่วงล่างนาวารามากกว่า) ผมว่ารีโว่ขับในเมืองสบายกว่านาวาราเยอะมากครับ เพราะด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใส่มาเพื่อให้ขับขี่ได้สบายขึ้น คลัตช์เบา เกียร์เข้าง่าย ขับสบายมากจริงๆครับสำหรับเจ้ารีโว่คันนี้

            มาถึง CHEVROLET COLORADO LTZ Z71 รูปทรงรูปร่างภายนอกก็ดูหล่อดีใช้ได้ มาพร้อมบุคลิกเฉพาะตัว ด้วยดีไซน์ที่เน้นเส้นสายความเหลี่ยมคมของตัวรถ โดยเฉพาะมุมมองด้านหน้าที่เป็นเอกลักษณ์จากการออกแบบกระจังหน้าแบบสองชั้น ที่คาดเส้นกลางสีเดียวกับตัวรถ พร้อมโลโกโบไทร์ที่บริเวณกึ่งกลาง ไฟหน้าแบบโคมโปรเจ็กเตอร์ทำงานควบคู่กับชุดหลอดไฟแบบฮาโลเจนเป็นอุปกรณ์ มาตรฐานที่ติดตัวมา ไฟท้ายที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มด้วยการหันมาใช้ชุดไฟท้ายแบบ LED ที่ตัวไฟหรี่จะติดขึ้นเป็นรูปตัว C ในยามที่ใช้งาน ให้มุมมองที่โดดเด่นสะดุดตา ภายในสู้ใครเข้าไม่ได้เลยครับพี่น้อง ออปชั่นต่างๆก็ไม่มีเหมือนใครเค้า แต่ออฟชั่นที่จำเป็นก็มีให้ครบนะครับ เน้นใช้งาน การประกอบชิ้นส่วนที่ค่อนข้างประณีตบวกกับการออกแบบที่ไม่ซับซ้อนในการวาง ตำแหน่งของสวิตช์ควบคุมเอาไว้ในจุดที่ใช้งานได้สะดวก ทัศนวิสัยดีชัดเจน พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น หน้าจอ เบาะเป็นผ้านั่งสบายดีเหมือนกัน ข้อได้เปรียบของเบาะผ้าคือไม่ร้อนก้นเวลารถจอดตากแดด นี่ ถ้าส่งตัวไฮครันทรีมาน่าจะพอสู้เค้าได้บ้าง

เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ไดเร็กอินเจ็กชั่น ดูราแมกซ์ 2,449 ซี.ซี. เทอร์โบพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,800 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด  380 นิวตัน – เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที อัตราเร่งในช่วงออกตัวดูจะหนืดๆ ไปนิด แต่เมื่อลอยตัวรอบกลาง ถึงปลาย อัตราเร่งดีใช้ได้ การเร่งแซงไม่มีปัญหา ทำได้รวดเร็วทันใจดี ถ้านำมาขับขี่ในเมืองค่อนข้างเหนื่อย เพราะคลัตช์ค่อนข้างหนัก พวงมาลัยก็เล็กไปนิด จับไม่ค่อยกระชับมือเท่าไหร่ ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนกสองชั้น พร้อมคอยล์สปริงและโช้คอัพแก๊ส ด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นทำด้วยวัสดุเหล็กกล้า พร้อมโช้คอัพแก๊ส ดูดซับแรงกระแทก แรงสั่นสะเทือนจากพื้นผิวของถนนได้ดี การเข้าโค้งด้วยความเร็วก็ทำได้อย่างมั่นใจ ตัวรถไม่มีดีดๆ เหมือนรีโว่ ช่วงล่างนี้สู้ยี่ย้ออื่นได้แน่นอน ไม่แพ้ใครครับ

กระโดดสลับมาขับเจ้า MITSUBISHI ALL NEW TRITON Double Cab กันบ้าง ภายนอกดูโฉบเฉี่ยวสะดุดตาจากรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงแปลกตา มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไฟหน้าหันมาใช้โคมแบบโปรเจ็กเตอร์ทำงานร่วมกับชุดหลอด HID หรือซีนอน มาพร้อมชุดไฟเดย์ไลต์แบบ LED ให้ความสะดุดตาได้ดีทีเดียว กระจังหน้าดีไซน์ใหม่ขนาดใหญ่เน้นเส้นสายโครเมียมที่มากขึ้น แหม ผมว่ามันมากเกินไปจนดูเป็นรถจีนเลย ลดโครเมียมลงนิดจะดูดีไม่น้อย ไฟท้ายดีไซน์เก๋ ฉีกแนวการดีไซน์แบบเดิมๆ ภายในวางโทนสีของห้องโดยสารยังเน้นโทนสีดำ การออกแบบ แหม !! เหมือนไม่ได้ดีไซน์อะไรใหม่เลยอุปกรณ์ต่างๆ ดูคุ้นตา เข้าไปนั่งเหมือนนั่งอยู่ในมิราจ (ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) เบาะเป็นผ้าธรรมดา นั่งสบายกระชับตัวดี แอร์ดิจิทัล พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น เหมือนในมิราจมาก ดูโดยรวมถือว่าไม่ขี้เหร่เท่าไหร่ แต่อาจสู้ค่ายอื่นไม่ได้เรื่องการดีไซน์และออปชั่น

เครื่องยนต์ MIVEC CLEAN DIESEL ความจุ 2,442 ซี.ซี. คอมมอนเรล หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ เทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ถือเป็นเครื่องยนต์ที่มีการตอบสนองที่จัดจ้านรวดเร็วทันใจเหมือนสาวไฟแรงสูง ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 430 นิวตัน – เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที การเร่งออกตัวทำได้ดี อัตราเร่งก็ทำได้อย่างน่าพอใจ ไม่อืด เร่งแซงก็ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันใจ ขับขี่สบายทั้งในและนอกเมือง พวงมาลัยน้ำหนักกำลังดี จับถนัดมือ ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง โช้คอัพพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบแผ่นพร้อมด้วยโช้คอัพแบบไขว้ นุ่ม หนึบ ดีครับ ดูดซับแรงสะเทือนจากรอยต่อของถนนและคอสะพานได้อย่างนุ่มนวล เข้าโค้งด้วยความเร็วก็ทำได้อย่างมั่นใจไร้กังวล เรื่องช่วงล่างและเครื่องยนต์มิตซูคันนี้ไม่แพ้ใครแน่นอนครับ

มาถึงน้องใหม่ล่าสุด มาช้าไปหน่อยเลยไม่ได้ขับอะไรมากนัก กับ FORD RANGER 2.2 XLT MT ใหม่ มาพร้อมหน้าตาที่บึกบึนในแบบฉบับอเมริกันสไตล์ สวยเท่ดุดัน  ได้รับการเปลี่ยนใหม่หมด ด้วยชุดแก้มหน้าซ้ายขวา ฝากระโปรงหน้า กันชนหน้า กระจังหน้า และไฟหน้าชุดใหม่ เพื่อตอกย้ำดีไซน์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่อย่าง F-Series ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดอเมริกา ไฟหน้าชุดใหม่หันมาใช้โคมไฟแบบโปรเจ็กเตอร์ ทำงานควบคู่กับหลอดไฟแบบฮาโลเจน ซึ่งถ้าได้หลอดไฟหน้าแบบซีนอนหรือ LED มาด้วยก็น่าจะดูดีกว่านี้ ไม่มีชุดเดย์ไลต์มาให้เลย ภายในปุ่มอะไรไม่รู้เพียบเลย ฮาฮา การออกแบบอุปกรณ์และสวิตช์ควบคุมต่างๆ แบบลงตัว ในรุ่นนี้จะเน้นการใช้งานต้องปรับแบบมือหมุนตำแหน่งทั้งวิทยุและระบบปรับ อากาศ ช่องเก็บของเก๊ะหน้าขนาดใหญ่กับช่องกระจุกกระจิกมีหลายจุดกับขนาดที่พอดีๆ ในหลายจุดพบเห็นได้กับวัสดุตกแต่งสีเมทัลลิกที่ตัดกับสีดำดูเท่ดี เบาะเป็นเบาะผ้าธรรมดา แต่ที่ชอบมากที่สุดคือพวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน เพราะเป็นไฟฟ้า สามารถปรับหน่วงอัตโนมัติตามความเร็ว จึงทำให้ขับสบาย

เครื่องยนต์ 2,198 ซี.ซี. ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ที่มีการพัฒนาระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงให้ทันสมัย ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,700 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 375 นิวตัน – เมตร ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที ซึ่งเทียบได้กับระดับบล็อกเครื่องยนต์ 2,500 ซี.ซี. อย่างไม่เคอะเขิน ขับดีทีเดียวครับ แต่น่าเสียดายได้ขับแค่นิดเดียวเลยบอกอะไรไม่ได้มาก เอาไว่ยืมมาลองขับแบบเต็มๆเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังนะครับ

บทสรุป        ภาพรวมกระบะบ้านเราดีไซน์แต่ละค่ายก็ขายแตกต่างกันไป แต่ถ้าดูที่ออปชั่น โตโยต้าและนิสสันจะนำเพื่อนในกลุ่ม หลายคนมักบอกดูที่ราคาไว้ก่อน ไปถอยเชฟโรเลตได้เลย ส่วนพวกชอบเดินทางสายกลาง เหลืออยู่อีกสองค่ายที่ไม่ได้พูดถึงนั่นแหละ

“เครื่องยนต์”  ถ้ามอง “แรงม้า” นาวาราชนะเลิศ มองที่ “แรงบิด” ไว้ใช้บรรทุก นาวาราก็ยังโดดเด่นอยู่  แต่เรื่องของแรงบิดต้องพิจารณารอบเครื่องยนต์ที่สร้างแรงบิดด้วย นาวารามาในรอบที่สูงถึง 2,000 รอบ/นาที ในขณะที่ฟอร์ดและโตโยต้ากลับมีแรงบิดที่สูงในระดับ 385-400 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องเพียง 1,600 รอบ/นาที ซึ่งในการใช้งานยิ่งมีแรงบิดที่สูงในรอบเครื่องยนต์ต่ำเท่าใด การตอบสนองในการใช้งานยิ่งมีผลดีขึ้นตามไปเท่านั้น อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของรถกระบะ ที่ต้องว่ากันด้วยเรื่องของการบรรทุกเป็นส่วนประกอบสำคัญ

FORD RANGER 2.2 XLT MT
MITSUBISHI ALL NEW TRITON
TOYOTA HILUX REVO DOUBLE CAB 2.4G MT
CHEVROLET COLORADO LTZ Z71
NISSAN NAVARA DOUBLE CAB CALIBRE VL 6MT

 

รถกระบะที่มาทำการทดสอบทั้ง 5 คันในครั้งนี้ เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาทั้งหมด ซึ่งให้ออปชั่นเกียร์ 6 สปีดมาทุกค่ายแล้ว จะมีแตกต่างกันก็เรื่องอัตราทดของเกียร์ ที่ในแต่ละค่ายล้วนเซตมาให้แมตช์กับสไตล์เครื่องยนต์ของตนเอง อย่างนาวารา น่าจะเป็นคันเดียวในกลุ่มที่ใช้รอบเครื่องเดินทางที่ความเร็ว 120 กม./ชม. สูงถึง 2,500 รอบ/นาที อันเป็นผลพวงมาจากการทดอัตราเกียร์ตั้งแต่เกียร์ 1 ถึง 6 สูงกว่าคู่แข่ง อาจเป็นเพราะดีไซน์ในการออกแบบที่เน้นตอบสนองงานบรรทุกที่มากกว่าคันอื่นๆ

หันมาพูดถึงความสะดวกในการใช้งานกันบ้าง จากที่เป็นเกียร์ธรรมดาแบบ 6 สปีด เหมือนกัน ด้านตำแหน่งเกียร์ ถอยหลังนั้น จะมีดีไซน์และวิธีการเข้าเกียร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเรนเจอร์ดูจะเป็นคันที่ใช้งานได้สะดวก คล่องแคล่วที่สุดในการเข้าเกียร์ถอย ด้วยวิธีการเข้าเกียร์ที่ใช้เพียงนิ้วหนีบกระเดื่องยกขึ้นก่อนเข้าคันเกียร์ ช่วยลดความสับสนก่อนเข้าเกียร์ถอยหลังได้มาก วิธีนี้แม่นยำกว่า

 

 

 

              การขับขี่ในเมือง…ทั้ง 5 คัน มีบุคลิกที่แตกต่าง ถามว่าใครชอบแนว “จิ๊ดจ๊าด ขับสบาย” รีโว่คะแนนนำ ด้วยการตอบสนองของคลัตช์ไม่หนักไม่เบา…พอเหมาะ แต่ถ้าปล่อยคลัตช์ไม่สัมพันธ์กัน อาการกระชากจะเห็นชัดเจน เกียร์เข้าง่าย น้ำหนักพวงมาลัยบาลานซ์กำลังดี เหมาะสมกับการใช้งานในเมือง แถมด้วยโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกทั้ง ECO & POWER ตรงนี้แหละที่ช่วยตอนเร่งแซงทันใจขึ้น ด้วยการกดปุ่มเลือก Mode ถ้าเน้นประหยัดไปตามสไตล์ไม่หวือหวา เลือกโหมด ECO แต่ถ้าเลือกเข้าโหมด POWER ให้อัตราเร่งที่เร้าใจดี ทั้งนี้รูปแบบการทำงานของระบบนี้ ทันทีที่กด Mode POWER ระบบ ECU ของเครื่องยนต์จะปรับรูปแบบการตอบสนองคันเร่งใหม่ จากการกดคันเร่งน้ำหนักเท่าเดิม แต่เครื่องยนต์จะตอบสนองมากขึ้น เรียกกำลังและสมรรถนะที่รวดเร็วขึ้นตามมา แตกต่างกับ Mode ECO การตอบสนองคันเร่งจากการกดเท่าเดิม แต่กำลังของเครื่องยนต์ตอบสนองช้าลดลง เพื่อเน้นในเรื่องความประหยัด (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ใดๆ เลย เพราะเป็นเกียร์ธรรมดา) อีกคันที่ขับสนุกด้วยอัตราเร่งที่ดีคือนาวารา ให้กำลังมากจนเร้าใจ  แต่เสียเปรียบในเรื่องน้ำหนักคลัตช์และพวงมาลัยที่ดูหนักเกินไป ในการขับขี่ในเมืองที่การจราจรหนาแน่น

เพื่อพูดถึงน้ำหนัก “พวงมาลัย” ไฮไลต์ไม่พ้นเรนเจอร์ พวงมาลัยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวควบคุม ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในกระบะที่เอามาทดสอบทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้าชุดนี้ ทำให้ความสามารถในการแปรผันน้ำหนักของพวงมาลัยทำได้แตกต่างมากกว่าระบบเพา เวอร์แบบกลไกแบบเดิม ฟอร์ด เรนเจอร์ มีน้ำหนักพวงมาลัยเบามากในยามที่จอด แบบที่ใช้นิ้วเดียวหมุนพวงมาลัยได้ แต่เมื่อรถเริ่มเคลื่อนที่ น้ำหนักของพวงมาลัยจะกลับมาหนักเหมือนปกติโดยอัตโนมัติ เพื่อคุมฟีลลิ่งการขับขี่ให้เหมาะสม เรื่องนี้นอกจากจะถูกใจบรรดาคุณผู้หญิงที่ใช้รถประเภทนี้ ส่วนคนที่คุ้นเคยกับการขับกระบะมาตลอด อาจมีอาการหลงทิศพวงมาลัยได้ง่าย จากน้ำหนักที่เบามากๆ

ส่วนเชฟโรเลต โคโลราโด ขับในเมืองจะเหนื่อยหน่อย เพราะเกียร์เข้ายาก “ฟิตเหลือเกิน” คลัตช์ก็หนักชนิดที่ว่าเกิดอาการล้า เมื่อเทียบกับคันอื่น แต่ถ้าความเร็วลอยตัวก็สบาย ในขณะที่นาวารา น้ำหนักคลัตช์ไม่แตกต่างจาก โคโลราโด แต่เกียร์เข้าง่ายกว่า

ความคล่องตัวในเมืองเป็นอีกเรื่องที่ชอบคุยกัน ทุกๆ แบรนด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ถ้าพูดถึงวงเลี้ยวต้องยกให้ไทรทันกับเรนเจอร์ ในฐานะที่ให้รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.9 เมตร ในขณะที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ 6.2 เมตร อาจจะดูว่าตัวเลขน้อย แต่สัมผัสได้เวลากลับรถในเมืองที่มีช่องทางน้อย หลังจากพิสูจน์มาแล้ว “ปสก.จริง”

ในขณะเดียวกัน เรามีการจับอัตราความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิงเกรดเดียวกัน หัวจ่ายเดียวกัน ปั๊มเดียวกัน เป็นตัวแปรควบคุม วิ่งบนเส้นทางเดียวกัน ในสภาพการจราจรเดียวกันรอบกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเร่งด่วนจนถึงช่วงปกติ เพื่อจำลองสถานการณ์การใช้งานทั่วไป ผลปรากฏว่า “ผิดความคาดหมายไว้พอสมควร” เพราะเรนเจอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง  “ประหยัดสุด 13.8 กม./ลิตร” ในขณะที่รีโว่มาเป็นอันดับสอง ด้วยค่าเฉลี่ย 13.2 กม./ลิตร ตามมาด้วยไทรทัน 12.9 กม./ลิตร เบียดมาไม่ห่าง ส่วนนาวารา 12.6 กม./ลิตร และโคโลราโด 11.2 กม./ลิตร (เป็นข้อสังเกตว่าเครื่องยนต์ตัวใหม่จะอยู่หัวแถว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขแตกต่างกันไม่มาก)

การขับขี่นอกเมือง…ในความหมายทั่วไปคือการใช้วิ่งทาง ไกล ที่จะได้เห็นสมรรถนะอัตราเร่งแซง ความนุ่มนวล เสียงเครื่องยนต์ การควบคุมรถ และตัวเลขความประหยัด ซึ่งการขับรูปแบบนี้จะเข้าถึงสมรรถนะที่แท้จริง เพื่อดูความโดดเด่นแต่ละคัน เริ่มต้นที่หัวข้อสมรรถนะโดยรวม “ขับสบาย” ขอเทใจให้ไทรทัน ถึงแม้จะเป็นเกียร์ธรรมดาที่ไม่ต้องคอยพะวงในการเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ จากกำลังของเครื่องยนต์ที่มีช่วงใช้งานในรอบที่กว้าง ระบบเบรกที่ไว้ใจได้ ช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกสบาย ส่วนจุดที่ไม่ชอบคือช่วงล่างหลัง ถ้าปรับให้นุ่มนวลขึ้นสักนิด น่าจะสบายขึ้น ส่วนการเก็บเสียงทำได้ดีขึ้นจากรุ่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด “ขับสนุก” ต้องเป็นของนาวารา เพราะกำลังเครื่องยนต์แรงเหลือเฟือ เร่งเป็นมา ตอบสนองผู้ใช้รถที่ชอบสมรรถนะ แต่ก็แลกมาด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่ดุกว่าใครเพื่อน ด้านช่วงล่างให้ความรู้สึกนุ่มหนึบ พวงมาลัยบังคับทิศทางได้แม่นยำ แต่ในงานลุยดูเหมือนจะเป็นรองคนอื่น เพราะความสูงใต้ท้องรถเตี้ยกว่าใครเพื่อน

ด้านอัตราความสิ้นเปลืองของการเดินทางระหว่างเมือง ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 100 กม./ชม. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หัวข้อนี้รีโว่มาแรงแซงโค้ง ด้วยรอบเครื่องเดินทางที่ความเร็ว 120 กม./ชม. รอบเครื่องที่ต่ำเพียง 1,800 รอบ ต่ำที่สุดในกลุ่มจนได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 16.0 กม./ลิตร ถัดมากับค่ายฟอร์ด ที่พาเครื่องยนต์ 2.2 ลิตรตัวใหม่ ทำอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 15.77 กม./ลิตร กับความเร็วเดินทาง 120 กม./ชม. ที่ใช้รอบเครื่องเพียงแค่ 2,000 รอบต่อนาที เหมือนกับไทรทันและโคโลราโด โดยที่ไทรทัน ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 14.41 กม./ลิตร และโคโรลาโด อยู่ที่ 13.2 กม./ลิตร ส่วนแชมป์บริโภคน้ำมันมากที่สุดใช้การเดินทางนอกเมืองครั้งนี้ได้แก่ เจ้าของ “รถขับสนุก” นิสสัน นาวารา กับตัวเลข 12.2 กม./ลิตร จากรอบเครื่อง 2,500 รอบต่อนาที ที่ความเร็ว 120 กม./ชม.

 

**** ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลคร่าวๆของรถกระบะทั้ง 5 รุ่นที่ได้นำมาเปรียบเทียบกันในครั้งนี้ต่อไปเรามาดูข้อมูลต่างๆของแต่ละ รุ่นกัน แบบเทียบกันให้เห็นๆไปเลยว่าใครเจ๋งกว่ากัน

 


เรื่อง  : นายณัฐพล เดชสิงห์

ภาพ  : นาย พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ

VDO : นายจิตรกร หลวงยศ

เรียบเรียงข้อมูลโดย www.gpinews.com

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th