อ้า ECU = SHOP
จังหวะชีวิตบนส่วนผสมที่ลงตัว…
ชีวิตเด็กหนุ่มมาร์เก็ตติ้ง จากรั้วเอแบค ถูกเปลี่ยนชะตาด้วย “คำคน” ทำให้เป็นแรงกดดันปลุกอะดรีนาลีนในตัวขึ้นมาจนมีทุกวันนี้ ซึ่งถ้าวันนั้น!! คนไทยเชื่อมั่นในผลงานของคนไทยด้วยกัน!! คุณจะไม่เห็นแบรนด์ ECU อย่างแน่นอน….
มาถึงชั่วโมงนี้แล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จัก “อ้า ECU=SHOP” อย่างแน่นอน หนุ่มไฟแรงที่เข้ามามีบทบาทในวงการกล่อง ECU บ้านเราให้ขยับขึ้นไปแบบก้าวกระโดด ด้วยความสามารถที่ซ่อนอยู่ข้างใน ผนวกความทะเยอทะยานที่จะไปให้ถึงในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งมีกุนซือระดับเทพอย่าง “อ.ยศ ECU=SHOP” เป็นผู้ชี้แนะแนวทางมาโดยตลอด จึงทำให้ชื่อ “อ้า ECU=SHOP” ขึ้นมามีบทบาทในอันดับหัวแถวของวงการกล่อง ECU ของเมืองไทยอย่างทุกวันนี้
ผม กับ อ้า เราเคยทำงานร่วมกันครั้งนึงในเล่มครบรอบปลายปีที่ผ่านมา ถ้าคุณผู้อ่านติดตามคงจำกันได้ ที่ไปสัมภาษณ์เรื่องธุรกิจกล่อง ECU นี่แหละ ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ราว 5 เดือน ธุรกิจทางด้าน ECU ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากมีหลายๆ แบรนด์เกิดขึ้นในตลาดรถซิ่งบ้านเรา แต่นั่นคือการต่อยอด ซึ่งถ้าต้องการจะรู้ซึ้งถึงผู้บุกเบิกแบรนด์คนไทยกันจริง คงต้องยกให้กับ ECU=SHOP เพราะตั้งแต่ที่ อ.ยศ อีโว มาจากเชียงใหม่ แล้วสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ใน Souped up Thailand Records 2005 ชื่อของ ECU=SHOP ก็แจ้งเกิดขึ้นในปีนั้นเลย ผมก็เลยเชิญ “อ้า” มาคุยกันอีกครั้ง เจาะลึกถึงประวัติความเป็นมากันแบบละเอียด โดยชายหนุ่มไทยเชื้อสายจีน ได้เปรยคำพูดในสไตล์ สุขุม นอบน้อม ให้ผมฟังว่า “หลังจากพ้นชีวิตเด็กมหา’ลัย ก็มานั่งคิดว่า จะเสียเวลาอีกสัก 2 ปีเรียนต่อ หรือจะทำงานหาเงินเลย ก็เลยปรึกษากับอาจารย์ยศ ซึ่งมีศักดิ์เป็น “อากู๋” ของผมเอง ซึ่งผมเองก็ได้คุยกับอาจารย์ยศ มาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนเรียนใกล้จบ คือใจผมเอง อยากจบแล้วได้อาชีพทำงานเลย หลังจากผมเรียนจบ ก็เดินทางขึ้นไปอยู่เชียงใหม่เลย เพราะอาจารย์ยศ ได้ย้ายขึ้นไปอยู่เกือบๆ 10 ปีแล้วในตอนนั้น พื้นเพเดิมที่บ้านก็อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ แต่อากงกับอาม่าอยากไปใช้ชีวิตทำสวนอยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยไปซื้อที่ ย้ายขึ้นไปอยู่กันที่นั่น ส่วนคุณพ่อ คุณแม่ ก็ยังอยู่ที่กรุงเทพฯเหมือนเดิม
ชีวิตผมเริ่มขึ้นด้วยความหวาดระแวงของเด็กที่กำลังจะจบมหาวิทยาลัย กลัวว่าจบมาแล้วจะทำอาชีพอะไร วิตกกลัวจะเลี้ยงตัวเองไม่รอด ซึ่งเมื่อเรียนจบ ผมก็ตัดสินใจขึ้นไปช่วยงานอาจารย์ ยศ รับซ่อมบอร์ดคอนโทรลของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอาชีพหลักในตอนนั้นของอาจารย์ยศ และในช่วงที่ผมทำงานแรกๆ ก็ได้มีโอกาสไปดูงานราวกั้นรถไฟที่ใช้ระบบ GPS มาควบคุม ซึ่งเราก็สามารถทำทุกอย่างได้หมด ก็เลยฟอร์มทีม วางแผนโครงงานจนสมบูรณ์แบบ ทำ R&D กันจนแบบไร้ข้อผิดพลาด เมื่อเสนองานส่งโครงการไปทั้งหมด เค้าตอบว่า ทุกอย่างได้หมด ติดอยู่แค่เรื่องเดียวคือ “บริษัทคนไทย” ดูไม่น่าเชื่อถือ มันทำให้เรารู้สึกเสียใจมาก เราวางโครงการเตรียมงานมาเป็นปี มันก็คาดหวังไว้สูงว่าจะได้งาน เพราะเราควบคุมระบบได้หมด ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่พอมาเจอแบบนี้ บอกตรงๆ ว่ามันแย่!!! ผมก็อยากจะบอกเค้านะว่า บอร์ดคอนโทรลของเครื่องจักรที่คุณใช้อยู่ ราคาสองสามล้าน ผมก็ซ่อมมาหมดแล้ว ทำไมต้องมาดูถูกฝีมือคนไทยกันเองด้วย...
ซึ่งในระยะเวลาที่วางแผนงานทำโปรเจ็กต์ของรั้วกั้นรถไฟนั้น ก็รับซ่อมกล่อง ECU ของคนที่รู้จักไปด้วย เพราะเชียงใหม่ คนซื้อรถยุโรปมือสองมาใช้กันเยอะ แต่พอพัง จะเบิกอะไหล่ที เห็นราคาแล้วหงายหลังตึง!! ทุกที คนที่รู้จักก็เลยเอามาถามเราว่าซ่อมได้มั้ย? ตัวอาจารย์ยศ แกเองก็บอกว่า กล่อง ECU ก็เหมือนกับบอร์ดคอนโทรลอุตสาหกรรมที่เราทำนั่นแหละ ได้ฟังแบบนี้ ผมก็เลยลองซ่อมดู คือถ้าเราเข้าใจระบบและพื้นฐานการทำงานอย่างถ่องแท้ การทำงานของกล่องพวกนี้ก็ใช้หลักการเดียวกัน สรุปว่า ผมก็ซ่อมกล่อง ECU ให้กับเค้าได้
ในระหว่างที่ยังไม่ชัดเจนกับเรื่องงาน ผมก็เล่นรถ EVO 2 ไปด้วย โดยดูกระแสจากคนกรุงเทพฯ ถ้าเค้าเล่นอะไร ผมก็ไปหาซื้อมาใส่บ้าง ซึ่งในตอนนั้นกล่อง Haltech นิยมมาก ผมก็เลยลองสั่งจากออสเตรเลียมาลอง โดยติดต่อจูนเนอร์จากกรุงเทพฯไป ซึ่งจะมาจูนแค่คันเดียว ผมก็มองว่ามันเสียเวลาเดินทาง เพราะระยะทางมันไกล ครั้นจะรอรวมหลายๆ คัน แล้วจูนพร้อมกัน แล้วเมื่อไหร่ล่ะ จะรวมตัวกันได้ ก็เลยเกิดความคิดที่อยากจะลงมือทำเอง โดยหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และสอบถามผู้มีประสบการณ์ ซึ่งก็เริ่มทำเองได้นะ แต่ก็ต้องค้นคว้าข้อมูลตลอด จนไปเห็นกล่องจูนสำหรับรถดีเซล มันมีอยู่นี่นา พวกปั๊มไฟฟ้า มันจูนได้ ก็สนใจนะ แต่ราคามันแพงมากเลย อีกทั้งกระแสรถดีเซลบ้านเราก็มีเล่นกันอยู่น้อยมาก เล่นกันแต่เบนซินอย่างเดียว
ก็เลยมีความคิดว่า อยากจะลองทำกล่องจูนสำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล ก็เริ่มจากไปซื้อรถดีเซลมา 1 คัน ลองใช้สโคป วัดสัญญาณ โดยยึดหลักพื้นฐานจากการทำงานของบอร์ดคอนโทรลมาปรับใช้ จนได้กล่องมาใบนึง ก็ลองเอาไปทดสอบบนเครื่องวัดแรงม้า ก็ได้แรงม้าที่เพิ่มขึ้น 35 แรงม้า และเป็นรถเกียร์ออโต้ด้วย รถมันขับดีขึ้นกว่าเดิม มันทำให้เรามั่นใจในผลผลิตว่าขายได้แน่นอน กล่องนอก ราคาสี่หมื่นกว่า ผมขายสักหมื่นกว่าบาท ขายได้ชัวร์!! ผลปรากฏว่า แป้ก!! ขายไม่ได้เลย มันเสียใจนะ…ก็เลยไปลองนั่งคุยกับเพื่อนๆ เค้าก็บอกผมมาว่า กระบะมันรถขนผัก รถขนของ ใครเค้าจะซื้อ ราคาตั้งหมื่นกว่าบาท!!
แต่ว่ามีพี่อยู่คนนึง… เค้ามาจ้างผมผลิต แล้วเค้าก็เอาไปทำการตลาดของเค้าเอง มันก็ขายได้นะ แต่ก็ไม่พลุแตก อาจจะเป็นเพราะว่าพี่เค้ามีช็อป มีชื่อเสียงอยู่พอสมควร ผลิตภัณฑ์ก็เลยไปได้ ก็เลยคิดว่าจะเปิดอู่อย่างจริงจัง เพราะตัวผมเองก็เล่น EVO II แล้วรับซ่อมกล่อง ECU ด้วย คนที่เชียงใหม่รู้จักผม ก็เพราะว่า ตอนน้ำท่วมใหญ่ที่เชียงใหม่ น้ำมาเร็วมาก น้อยคนนักที่จะเคลื่อนย้ายรถหนีทัน หลังจากน้ำลด ผมมีอาชีพซ่อมกล่อง ECU แบบถาวร ผมซ่อมวันละเป็นสิบใบ กล่องนี่กองเต็มบ้านเลย ทั้งอู่หรือลูกค้าทั่วไป ต่างก็มาส่งให้ผมซ่อมอยู่ที่เดียว ในช่วงแรกๆ ไม่มีใครมั่นใจนะว่าผมจะซ่อมได้ แต่พอผ่านไปสักอาทิตย์ รถที่ซ่อมกล่องกับผม เริ่มออกมาวิ่งใช้งานได้ตามปกติ มันก็เลยเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เรียกว่าแบบปากต่อปาก ทีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ซ่อมกล่องอย่างเดียว มันก็ทำให้มีความถนัดมากยิ่งขึ้นไปอีกในเรื่องระบบคอนโทรลรถยนต์
ในระหว่างที่ผลิตกล่องส่งไปขาย ผู้จ้างเค้าเริ่มมีปัญหาเรื่องการเงิน ตัวเลขรายรับกับรายจ่ายไม่ลงตัว มีแต่เงินออก เงินเข้าไม่มี ใครจะไปอยู่ไหว ก็เลยเลิกทำกล่อง หันมาเปิดอู่ซ่อมรถกันเอง ย้ำว่าซ่อมกันเองนะ เพราะไม่มีใครไว้ใจ!! แต่มันก็เหมือนถูกหวยนะ เพราะในปีนั้นผมและอาจารย์ยศ เอารถลงมาวิ่งครั้งแรกในงาน Souped up Thailand Records 2005 มันเปลี่ยนชีวิตเลยนะ หลังจากที่มีตำแหน่งในงาน กล้าพูดเลยว่าวันนั้นถ้าไม่วิ่ง Souped up ก็คงไม่มี ECU=SHOP บอกตรงๆ นะ วันที่เอารถลงมาวิ่ง Souped up ผมกับ อาจารย์ยศ ก็ไม่คิดว่ามันจะได้เลย เพราะว่าเคยวิ่งแค่ระยะ 200 เมตร มาตลอด พอระยะทาง 402 เมตร จะเข้าเกียร์ 5 ยังไง? ยังงงงงกันอยู่เลย
หลังจากผลงานของทาง ECU=SHOP ได้ผ่านการทดสอบในการจัดอันดับจนมีตำแหน่งเป็นเครื่องการันตีแล้ว มีหลายคนเริ่มรู้จักและมั่นใจในฝีมือของทางผมมากยิ่งขึ้น ก็เลยปิ๊งไอเดียในการทำสินค้าออกมาขายอีกครั้ง ในเมื่อตอนนี้มีแบรนด์แล้ว สินค้าก็น่าจะเดินได้ด้วยตัวมันเองแล้วแหละ ซึ่งก็ผลิตวัดรอบ, Launch Control, Misfire ใส่รถเล่น ให้ลูกค้าได้เห็น ซึ่งมันก็เริ่มขายได้ เป็นธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะคิดว่าถ้าจะหาตัวแทนจำหน่าย ก็กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม สรุปไม่ได้อะไร แล้วต้องย้อนกลับมานั่งนับหนึ่งใหม่อีก ผมก็เลยตัดสินใจมาทำตลาดที่กรุงเทพฯ ก็เลยกลายเป็นธุรกิจของ ECU=SHOP อย่างทุกวันนี้
ก็ถือว่าเป็นความโชคดีที่หลังจากทำธุรกิจได้ปีกว่าๆ กระแสรถคอมมอนเรลมา มันเป็นเรื่องใหม่ของตลาดดีเซล แล้วเราไปอยู่ในจุดนั้นพอดี แต่ใช่ว่าจะโป๊ะ แจ๊กพอตแตกเลยนะ ช่วงแรกๆ ที่ลงไปจับตลาดคอมมอนเรล ก็กระท่อนกระแท่นพอสมควร คือผมอยู่กับเครื่องยนต์เบนซินมานาน ซึ่งในความรู้ตอนนั้นคิดว่า ดีเซล + กล่อง ก็น่าจบ แต่พอมาเจอรถคอมมอนเรลที่กรุงเทพฯ ทำกัน บอกตรงๆ เหมือนเจอของจริง!! เปลี่ยนท่อ กรอง เทอร์โบ เจอแบบนี้เข้าไป ก็จูนไม่เป็นเลย แต่พอเริ่มจะจับทางถูก ก็มีโจทย์ใหม่มาให้ทำการบ้านตลอดเลย อย่าง เพิ่มบูสต์ น้ำไม่พอ ตอนนั้นมันไม่มีหัวฉีด ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องไปขอมาลองผิดลองถูกไปเรื่อย บางที เปลี่ยนหัวฉีด ไม่มีควัน แรงดันไม่มี กลับไปหัวฉีดเดิม มีควัน แต่ดันไม่แรง กลับไปกลับมาอยู่แบบนี้ตลอด ร้านเองเค้าก็โมฯปั๊มกันไป ผมเองก็หาทางแก้ปัญหาด้วยการทำกล่อง ให้ไปสั่งคอนโทรล ให้แรงดันมันเพิ่มขึ้น ก็จูนไปจนเจอค่าที่ลงตัว ก็เลยอยากจะโปรโมต ซึ่งในช่วงนั้นก็มีอยู่แบรนด์นึง ที่รถแข่งในสนามนิยมใช้ ผมก็เลยคิดว่าชื่อแบรนด์ ECU=SHOP เริ่มมาจากสนามแข่ง ก็เลยคิดว่าก็คงต้องโปรโมตให้คนรู้จักจากสนามแข่งนี่แหละ เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปโปรโมตที่ไหน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ในการโปรโมตก็ไม่มี ซึ่งผมเองก็รู้ว่าต้องไปเจอกับแบรนด์ดังๆ แต่จะทำยังไงได้ จนวันนึงได้ไปเจอกับช่างเบิร์ด หลัก 5 ซึ่งในตอนนั้นตัวช่างเบิร์ดก็เพิ่งมาเริ่มเล่นคอมมอนเรล ก็เลยเป็นการพัฒนาร่วมกัน ช่วยกันหา ผมเองก็ซื้อ Mitsubishi มาทำ ส่วนช่างเบิร์ด หลัก 5 ก็มีอีซูซุอยู่แล้ว ต่างคนไปเจออะไรมาก็มาช่วยกันทำ ช่วยกันแชร์ข้อมูล จนคอมมอนเรลทุกค่าย เราสามารถทำจนเร็ว ซึ่งมันก็ส่งผลให้ฐานลูกค้าขยายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ถ้ามองย้อนกลับไปถึงวันที่ผมเรียนจบ ผมก็ไม่เคยคิดว่า ชีวิตจะเดินมาในเส้นทางนี้ รู้แค่ว่าตอนที่จบ ปูนซิเมนต์ไทยมาเรียกตัวผมเข้าทำงานเลย แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ตรงกับความต้องการของผม ในตอนนั้นที่คิดไว้คือ อยากเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่เป็นแค่เป็นพนักงาน มันอาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงที่ผมเรียนอยู่ปี 2 ผมหาอาชีพเสริมขายเสื้อผ้า กำไรเดือนละแสนกว่าบาท มันทำให้ผมสนุกจากตรงนั้น รสชาติของการหาเงินได้เอง จะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวเรามัน ทำให้ผมติดใจก็เป็นได้
ณ ปัจจุบันนี้ ECU=SHOP จะมีหลักๆ อยู่ 4 ท่านคือ อาจารย์ยศ อาจารย์หงส์ ตัวผมเอง และ น้องชาย โดยแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนึงทำ R&D และผลิต อยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนตัวผมกับน้อง จะดูแลเรื่องของการตลาดเพียงอย่างเดียว ส่วนสินค้าที่ได้ถูกพัฒนา พร้อมผลิตและจำหน่ายได้จริง สามารถครอบคลุมไปได้ถึงอีก 2 ปีข้างหน้าเลย “ผมเป็นคนที่ขี้ระแวง กลัวสินค้าขายไม่ได้ กลัวแบรนด์คู่แข่ง ผมเลยต้องทำงานหนักมากกว่าแบรนด์อื่นๆ หลายเท่า เพื่อให้สินค้าที่ออกมานั้นดีที่สุด” แต่ถ้าหลงระเริงคิดว่าแบรนด์ตัวเองเจ๋ง ผมบอกได้เลยว่า “พัง!!”
ทาง ECU=SHOP เดินมาถึงจุดที่พร้อมมาก ตอนนี้เรื่องของ CPU ก็จ้างให้บริษัทต่างประเทศในอเมริกา เป็นผู้ผลิต CPU เฉพาะที่ใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางรถยนต์ โดยสามารถกำหนดสเป็กตามที่ ECU=SHOP ใช้เท่านั้นได้ มันเหมือนการก้าวกระโดด จากเดิมที่ต้องมาหาวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถได้ แต่พอมันเป็นอะไรที่เกิดมาเพื่อรถโดยเฉพาะ มันง่ายขึ้น ผมแค่เขียนโปรแกรม ใส่อะไรที่เราอยากได้ลงไปเท่านั้นเอง
ถ้าถามผมตอนนี้ ระหว่างกล่องไทยกับกล่องนอก มั่นใจมั้ย ? สู้เค้าได้ ตอบตรงนี้ชัดๆ ว่า สู้ได้ครับ ติดแค่เรื่องเดียวคือแบรนด์ มันยากตรงที่จะให้คนไทยยอมรับแบรนด์คนไทยด้วยกันเองเท่านั้นครับ เรื่องอื่นไม่ใช่ปัญหา ผมทำงานจะให้น้ำหนักเฉลี่ยเท่าๆ กัน 3 ส่วนคือ ตัวเรา, จูนเนอร์ และลูกค้า ทั้ง 3 ส่วนนี้เค้าจะต้องได้ในสิ่งที่เค้าอยากจะได้ ตัวเราต้องมีกำไรถึงอยู่ได้ จูนเนอร์ทำงานง่าย มีกำไรถึงอยู่ได้ ลูกค้าได้ของดี ราคาไม่แพง เค้าถึงจะแฮปปี้ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ จะต้องก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน ถึงจะอยู่ได้
ตอนนี้ผมภูมิใจแล้วนะที่เดินมาถึงจุดนี้ได้ มีสินค้าที่หลากหลาย ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ผู้จำหน่ายของเรามีโอกาสทางการค้ามากขึ้น และล่าสุด!! ผมออกเกมมาใหม่ มันเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก ซึ่งในช่วงทดสอบ ให้คนสามารถมาดาวน์โหลดไปเล่นกัน หวังไว้แค่ประมาณ 15,000 มาดาวน์โหลดไปลองเล่นก็ดีใจแล้ว ตอนนี้ประมาณ 2 แสนกว่าแล้ว มันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้มาก ทำให้รู้สึกว่ามีคนยอมรับในผลงานของ ECU=SHOP ได้อย่างเกินความคาดหมาย และที่ผมทำเกมออกมานั้น คิดแต่ว่า ณ ตอนนี้มีแรง อยากลองวิธีทางการตลาดในรูปแบบไหน ก็จะลอง ส่วนรูปแบบของเกม ก็อยากให้เห็นชัดว่าเป็นเกมของคนไทย โดยนำรถกระบะมาเป็นตัวชูโรงของเกม โดยสิ่งที่ผมจะได้จากเกม คือการฝากโลโก้แบรนด์ ECU=SHOP ไว้ในเกม ให้ผ่านตาผู้เล่นเกมเท่านั้นเองครับ
ในอนาคตอันใกล้วางแพลนไว้ว่า จะมีกล่องสำหรับมอเตอร์ไซค์ ไม่เกินปลายปีนี้ได้ใส่กันอย่างแน่นอน ตั้งแต่บิ๊กไบค์ไล่ไปยังรถเล็ก รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจับต้องได้ เมื่อก่อนคนมักจะบอกว่า ถ้าจะซื้อของ ECU=SHOP ต้องมีเงิน 3 หมื่น ถัดไปเหลือ 2 หมื่น แล้วตอนนี้เราปรับกลยุทธ์ให้เหลือแค่หลักพัน ในอนาคตผมแพลนไว้ว่า ลูกค้าอยากจะได้สินค้าอะไรที่เป็นแบรนด์ ECU=SHOP คุณอาจจะจ่ายแค่หลักร้อย ก็จะมีสินค้าบางอย่างของแบรนด์ที่ไปอยู่ในรถของคุณครับ ผมต้องการให้สินค้าของผมกระจายไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เพราะถ้าของมันถูกลง ตัวแทนจำหน่ายเค้าก็ขายของออกได้ทุกวัน ผมว่าเค้าแฮปปี้มากนะ
หนุ่มนักการตลาด ผู้โลดแล่นในสังคมรถซิ่ง จาก “คำคน” ที่แทงใจ กลายเป็นแรงผลักดันความก้าวหน้าในชีวิต ค้นพบเจอตัวเองในสิ่งที่ต้องการแล้ว ณ วันนี้ ถ้าใครได้อ่านมาถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่าผู้ชายที่ชื่อ“พลพจน์ วรรณภิญโญชีพ” หรือ อ้า ECU เป็น Idol ให้กับใครหลายๆ คนได้เลย…. ผมว่าความคิดในเชิงธุรกิจของเค้าแจ๋วใช้ได้เลยนะ…
– ถ้าเรารู้จริง รู้ลึกๆ รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ มันก็จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมไปเจอปัญหา แล้วรู้ว่าปัญหานี้ใช้คนทำไม่ได้ ผมก็คิดกลไกอะไรสักอย่างนึงขึ้นมา เพื่อมาทำงานแทนคนซะ งานก็จะทำต่อไปได้
– ผมไม่มองข้อดี ผมคิดแต่ข้อเสีย ยิ่งแก้ปัญหาข้อเสียได้หมดเมื่อใด ก็จะเหลือแต่ข้อที่ดี
– ถ้าถามผมตอนนี้ ระหว่างกล่องไทยกับกล่องนอก มั่นใจมั้ย ? สู้เค้าได้ ตอบตรงนี้ชัดๆ ว่า สู้ได้ครับ ติดแค่เรื่องเดียวคือแบรนด์ มันยากตรงที่จะให้คนไทยยอมรับแบรนด์คนไทยด้วยกันเองเท่านั้นครับ เรื่องอื่นไม่ใช่ปัญหา
– สินค้าของผมคือ ใส่ได้ กลับคืนสภาพเดิมได้ นำรถเข้าศูนย์ฯได้
– ตอนนี้ก็มีเรื่องที่น่าภูมิใจที่แบรนด์ญี่ปุ่นได้ติดต่อเรื่องสินค้าให้ทาง ECU=SHOP เป็นผู้ผลิต แล้วตีเป็นแบรนด์ของเค้าส่งออกไปขายที่นู่นแล้ว