1000 Speed 24 – Super Z ! Drag Machine

 

1000 Speed 24 Super Z ! Drag Machine

Haftback 4 Links 1st in Thailand

ไม่คลั่งแรงม้า เน้นองค์ประกอบที่สมบูรณ์

Story : อินทรภูมิ์ แสงดี + Photo : ทวีวัฒน์ วิลารูป / XO Magazine Issue 149

ในตอนนี้ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจของบ้านเรา จะไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้หาตังค์ง่ายนัก จึงทำให้วงการรถยนต์โมดิฟายนั้นเงียบเหงาลงไปบ้าง โดยเฉพาะ รถแข่งที่ใช้เงินทุนสูง แต่อย่างไรก็ตาม หากมีคนรักที่จะเล่น แล้วมีกะตังค์เหลือๆ ไม่เดือดร้อน เราก็จะได้เห็นตัวแข่งในรูปแบบต่างๆ มาให้ชมกันอยู่เรื่อยๆ ในครั้งนี้ เราก็นำตัวเด็ดและแปลกมาให้ชมกัน นั่นก็คือ DATSUN FAIRLADY 240Z ที่สาวก Retro ใฝ่หากันอย่างมาก คันนี้เป็นของ “พี่ภัณฑ์” สุรสิงห์ สุขวัฒนากร ที่ตอนนี้ผันมาเปิดอู่เอง ใช้ชื่อว่า “1000 SPEED 24” ย่านพุทธมณฑล สาย 1 (ถนนราชพฤกษ์) ถ้าใครติดตามนิตยสารของเรามานานสักระยะ ก็จะต้องรู้จักรถคันนี้ เพราะใช้ทำแข่งควอเตอร์ไมล์มานานแล้ว แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นบอดี้ธรรมดา พ่นสีดำ ล้อ WATANABE วางเครื่องยอดฮิต 2JZ-GTE แพหลัง SKYLINE R32 แข่งแบบสนุกๆ แต่ตอนนี้เป้าหมายเปลี่ยนไป ต้องการ “เลขตัวเดียว” ดังนั้น จึงต้องมีการขยับสเต็ปกัน โดยเปลี่ยนแชสซีครึ่งหลังเป็น Tube Frame พร้อมระบบช่วงล่างแบบ 4 Links ซึ่งเป็น 240Z คันแรกในประเทศไทย ที่ทำแบบ Halfback โดยมีการร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย (อยากรู้ใครทำอะไรก็ติดตามท้ายเรื่องได้เลย) เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ SUPER Z ตัวรถจะมีอะไรบ้าง ก็อ่านต่อไปสิครับ…

เปลือยหน้า อินเตอร์ A’PEXi หนาถึง “5 นิ้ว” ยังเหมือนจะขาด “ลิ้นหน้า” อีกชุด ถ้าได้ก็จะช่วยกดหน้าไม่ให้ลอยในความเร็วสูง

ทรวดทรงและการวางตำแหน่ง Engine & Drive train เหมาะสมมาก เพราะเป็นสปอร์ตแต่กำเนิด สังเกตดูตำแหน่งคนขับนั่งถอยมาเกือบจะถึงล้อหลัง อยู่แล้ว ซึ่ง Seating Position เป็นตำแหน่งเดิมของ รถรุ่นนี้ ไม่ได้ถอยมาเหมือนรถอื่น

ร่มเบรก SIMPSON ล้อกางๆ ดูแล้วเหมือนรถ CHORO Q เหมือน กัน หม้อพักไอเสีย A’PEXi ไม่ให้เสียงดังเกินไปแบบท่อตรง ใส่หม้อพักก็จะช่วยให้อั้นลงนิดๆ เพื่อเรียกแรงบิดในรอบต่ำ ให้มาเร็วขึ้น

ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้

ขอเท้าความเดิมสักนิด ถาม “พี่ภัณฑ์” ดู ว่าเหตุผลกลใดจึงอยากจะมาเล่นกับ 240Z ก็ได้ความว่า ชอบรถรุ่นนี้มานานแล้ว ก็คิดว่าอยากได้ หลายปีก่อนกระแส Retro ยังไม่ขนาดนี้ ก็เลยสามารถซื้อรถได้ถูก พอได้มาก็วางเครื่อง เปลี่ยนช่วงล่าง เอาไว้ขับแข่งสนุกๆ ที่สำคัญก็คือ “โหงวเฮ้ง” มันได้ เพราะการวาง Lay out ที่มาเป็นสปอร์ตเต็มตัว หน้ายาว เครื่องยนต์วางในตำแหน่งที่เหมาะสมมาก สามารถวางเครื่อง 6 สูบ ลงไปได้ โดยที่สูบ 1 อยู่เกือบถึงกึ่งกลางล้อหน้า และไม่ต้องทุบห้องเครื่อง ซึ่งรถทั่วไป อย่าง 200 SX หรือ CEFIRO ก็ยังวางแบบนี้ไม่ได้ คนขับก็นั่งอยู่เกือบด้านหลัง ทำให้รู้อาการรถได้ง่าย ก็เป็นข้อดีที่ได้พ่วงมา นอกจากรูปทรงเพียงอย่างเดียว สำหรับ “ตัวถัง” ก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับมันมาก เพราะต้องการคงเอกลักษณ์ของมันเอาไว้ เพียงแต่ทำสีใหม่ให้ดูเด่นเข้าสมัย ทำส่วนต่างๆ ให้เหมาะสมกับการแข่งขัน ก็เป็นอันจบ…

 

เครื่องยนต์ที่เลือกใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิมก็คือ 2JZ-GTE ที่บ้านเราชอบกัน สไตล์การโมดิฟายก็ยังคงเป็นสเต็ปต้นๆ เบสิกของบ้านเรา ที่ทำแรงม้าแถวๆ “600” ตัว (ลงพื้นนะ) ดูแล้วอาจจะไม่มากนัก จริงๆ แล้วจะเอามากกว่านี้ก็ทำได้ แต่ต้องการ “เรียนรู้” เพราะรถคันนี้เพิ่งสร้าง ค่อยๆ ปรับไปทีละสเต็ป เครื่องไม่แรงมากจะควบคุมง่าย และรู้อาการรถได้เร็ว โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย ผิดกับเครื่องที่แรงมากๆ จะคุมยาก ทำให้การปรับช่วงล่างตามจะ “เหนื่อย” จับต้นชนปลายลำบาก หรือไม่ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ง่าย ก็เอาที่แรงม้าเหมาะสม ค่อยๆ ปรับไปจนเวลาเสถียร นั่นคือมาถูกทาง ต่อไปจะขยับสเต็ปก็ไม่ยาก ขอให้มาถูกทางก่อนเป็นอันใช้ได้ แนว ทางนี้ใช้กับรถทุกประเภทเลย…

ภายในเพียบด้วยอุปกรณ์แข่งขัน ด้านซ้ายจะมีถังเชื้อเพลิง ปั๊มติ๊ก AEROMOTIVE เกจ์วัดบูสต์ของ GReddy วัดรอบ วัดความร้อนน้ำ วัดแรงน้ำมันเครื่องและแรงดันเบนซิน เป็นของ AUTO METER ทั้งหมด พวงมาลัย SPRINT R คันเกียร์เป็นของ TOYOTA แบบรถบ้านทั่วไป

อันนี้จะเป็น “พัดลม” ใช้ดูดควันตอนเบิร์นยาง และช่วยลดความร้อนในรถได้เยอะ

ด้านท้ายจะสร้างด้วยเฟรมใหม่ ตัดพื้นเดิมทิ้งไป 2JZ-GTE สเต็ปต้น 600 ม้า “ไม่บ้าพลัง เน้นใช้หมดจด”

2JZ สเต็ปต้นๆ แต่ใส่ของเผื่อไว้ตอนที่สามารถเซ็ตรถได้แล้ว ก็จะเพิ่มแรงม้าให้มากขึ้น ท่อนล่างยังเดิมอยู่ งานท่อต่างๆ ของ บางมดเรซซิ่ง สังเกตดูอินเตอร์คูลเลอร์ว่า “หนาจริง” ท่อร่วมไอดีเดิม เน้นมาเร็ว ถ้าใส่ท่อร่วมใหญ่จะทำให้ขับ ยากในรถเกียร์ออโต้ ลิ้น VH45 ปรับแต่งโดยบางมดฯ หัวฉีด PREOSION 1,000 ซี.ซี. ค้ำโช้คหน้าสร้างโดย ทวีศุขธนยนต์

เป็นยังไง และทำไมต้องใส่กล่องคุมหัวฉีด ???

รถคันนี้ก็จะมีกล่องพิเศษเพิ่มขึ้นมาหนึ่งใบ (Injector Driver) ใช้สำหรับควบคุมหัวฉีดโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับกล่อง ECU นะครับ คนละส่วนกัน ซึ่งทาง JSK ที่เป็นผู้ผลิตบอกว่า จะใช้ขับหัวฉีดแบบ “ความต้านทานต่ำ” หรือ Low Ohm ให้ทำงานได้อย่างเสถียร เป็นกล่องควบคุมที่แยกไฟเลี้ยงหัวฉีดมาต่างหาก ไฟที่เข้ามาแม้แรงดันจะขึ้นๆ ลงๆ มันก็จะมาพักที่นี่ก่อน แต่ไฟที่ออกไปจะนิ่ง ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแส ทำให้การควบคุมหัวฉีดทำได้แน่นอนกว่า ซึ่งกล่องตัวนี้ก็จะใช้แทนการต่อ Resistance เพื่อการ Drop หัวฉีดความต้านต่ำ และเพิ่ม Watt ในการยกหัวฉีด ทำให้หัวฉีดยกได้เร็วขึ้น นับจากกล่อง ECU สั่ง ได้เร็วกว่าการต่อ Resistance ธรรมดา…

ตอนนี้เรามาดูกันก่อน ว่าหัวฉีดความต้านทานต่ำและสูง มันเป็นยังไงบ้าง ก็คงขอพูดง่ายๆ ละกันนะครับ ปกติแล้วรถยนต์ทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้หัวฉีดแบบ High Ohm ที่มีแรงต้านทานสูง เมื่อมีแรงต้านสูง ก็จะต้องใช้ไฟขับเคลื่อนที่แรง ส่วนแบบความต้านทานต่ำ หรือแบบ Low Ohm ก็จะให้สมรรถนะที่สูงกว่า เนื่องจากตัวมันเองมีแรงต้านทานกระแสไฟต่ำ ใช้แรงไฟเพียงนิดเดียว ก็สามารถยกหัวฉีดให้ทำงานได้แล้ว พวกหัวฉีดใหญ่ๆ ของซิ่งๆ ก็จะเป็นแบบนี้แทบทั้งหมด ความแตกต่างเท่าที่ทราบ หัวฉีดแบบ Low Ohm ในรอบสูงๆ จะสามารถคอนโทรลให้หัวฉีดทำงานได้แน่นอนกว่า ช่วงเปิด-ปิด (Trig) จะทำได้เร็วและแน่นอนกว่า เพราะมันมีแรงเคลื่อนไฟ (Voltage) เพียงนิดหน่อยก็สามารถทำงานได้แล้ว สำหรับแบบ High Ohm ในรอบสูงๆ ต้องอาศัยกระแสไฟมากเพื่อสั่งการฉีด ในบางจังหวะเมื่อไฟกระตุก อาจจะมี Delay ทำให้เปิด-ปิดไม่ตรงกับที่ต้องการจริงๆ ก็มีผลต่อกำลังเครื่องเหมือนกัน รถที่เปลี่ยนหัวฉีดจาก High Ohm มาเป็น Low Ohm จึงต้องอาศัย Resistance เพื่อ Drop กระแสไฟลง ไม่งั้นระบบไฟของกล่อง ECU ส่วนที่คุมหัวฉีด ก็จะเกิดการ “ไหม้” เสียหายได้ แต่คันนี้เลือกใส่กล่องที่ว่า เพื่อรักษาความเสถียรในการฉีดน้ำมัน ก็จะมีผลโดยตรงกับเครื่องยนต์ในด้านสมรรถนะ…

เทอร์โบ PREOSION สัญชาติ USA เฮดเดอร์บางมด เวสต์เกต TIAL

 

เกียร์ AUTO ของ JZ โมดิฟายไส้ใน

สำหรับระบบส่งกำลัง คันนี้ก็ใช้เกียร์ Automatic ที่ไม่ใช่เกียร์แข่งประเภท Power Glide นะครับ แต่เป็นเกียร์ของเครื่อง JZ ทั่วไปนี่แหละ แล้วก็มาอัพเกรดไส้ใน ให้สามารถทนทานกับแรงม้าที่เพิ่มขึ้น ชุดแต่งเกียร์แบบนี้มีขายครับ เพราะอย่างในรถบ้านทั่วไป โมดิฟายเครื่องแรงๆ แต่ต้องการเกียร์ออโต้อยู่ ก็ต้องอัพเกรดไส้ในตามไปด้วย ซึ่งแรงม้าขนาดนี้พี่ภัณฑ์ว่า “เอาอยู่” สบาย ซึ่งเกียร์ลูกนี้ก็ยังทำงานตามรูปแบบปกติแบบรถทั่วไปได้ แต่ก็รู้กันว่า ไม่สามารถล็อก Trans Brake (เคยเล่าให้ฟังไปแล้วนะครับ) ตอนก่อนออกตัวได้ ถ้าเป็นคนที่มีเทคนิค เค้าก็จะใส่เกียร์ เท้าซ้ายเหยียบเบรก เท้าขวาเหยียบคันเร่ง เพื่อ Hold รอบ แล้วปล่อยเบรก สวนคันเร่งลงไป แต่คันนี้ก็ใช้ Trick นิดหน่อย โดยการติดตั้ง “โซลินอยด์เบิร์นยาง” ปกติจะใช้ล็อกล้อหน้า แต่คันนี้ใช้ล็อก “ล้อหลัง” ด้วย ตอนเบิร์นยางก็จะใช้ล็อกล้อหน้าปกติ แต่ตอนจะออกตัว กดให้โซลินอยด์ล็อกล้อหลังแทน (ล้อหน้าปกติจะปล่อยอยู่แล้ว เพื่อเลื่อนรถเข้า Pre Stage) เข้าเกียร์ จากนั้นก็เร่งเครื่อง ซึ่งจะ Hold รอบไว้ได้ประมาณ 4,000-4,500 รอบ ซึ่งบูสต์มาพอดี (คันนี้ไม่ทำแบบรอรอบ) พอไฟเขียวก็กดสวิตช์ปลดโซลินอยด์เบรกหลัง รถก็จะพุ่งออกตัวไป…

เฟืองแคม GReddy แคม CROWER 272 องศา ลิฟต์ไอดี 9.8 มม. ไอเสีย 10.5 มม. พูลเลย์ข้อเหวี่ยง ATi SUPER DAMPERหัวฉีด Low Ohm และ High Ohm

โบล์ว ออฟ วาล์ว TIAL ทรงแปลก

โซลินอยด์เบิร์นยางมีสองตัว แยกหน้าและหลังตามหน้าที่อย่างที่บอก

 

4 Links CNC

สำหรับระบบช่วงล่างหน้า ก็ยังคงรูปแบบเดิมๆ เอาไว้ เพียงแต่อัพเกรดโช้คอัพและสปริงให้ได้เรตความหนืดที่ต้องการ ส่วนด้านหลังจะเป็นส่วนที่สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะต้องการเอาไว้แข่งขันควอเตอร์ไมล์จริงๆ ก็เลยตัดสินใจว่าจะตัด Floor Plan ด้านหลังทิ้งทั้งหมด แล้วสร้างเฟรมขึ้นมาใหม่ แต่ด้านหน้ายังคงแชสซีเดิมเอาไว้ ที่เค้าเรียกว่า “Halfback” นั่นเอง การสร้างจุดยึดต่างๆ ต้องทำใหม่หมด ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความละเอียดอย่างมาก ก็เลยเลือกใช้วิธีสร้างโดย “CNC” ซึ่งให้ความเที่ยงตรงสูงมาก และมีราคาแพง แต่ก็คุ้มค่า เพราะถ้าทำมาไม่ชัวร์ รถก็จะวิ่งไม่ตรงเท่าที่ควร…

คอยล์ MSD

บนสุดเป็นกล่อง ECU ของ AEM จูนอัพโดย “บอย SPL” กล่องสีแดงเป็นชุด MSD DIS-4 ด้านล่าง เลยคือกล่องขับหัวฉีดของ JSK INJECTION DRIVER โดย “เจตต์”

ล้อหลัง SSR ขวัญใจ Retro ขนาด 10 x 15 นิ้ว สวยจริงๆ ชุดนี้ ยาง HOOSIER QUICK TIME ขนาด 275/60 R15 เหมาะสมกับแรงม้าที่มี

ด้านหลังสร้างใหม่ทั้งหมด ชุดช่วงล่าง JSK ทำขึ้นมาจาก CNC เพลาท้าย PAJERO เฟืองท้าย 4.4 : 1 โช้คอัพและสปริง QA1 ทั้งชุด

 

Comment : สุรสิงห์ สุขวัฒนากร (1000 SPEED 24)

ถ้าถามถึงความรู้สึกของตัวผม ก็ดีใจมาก ที่รถสำเร็จออกมาตามรูปร่างที่เห็น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อยากได้ ก็หวังว่าคงจะประทับใจใครหลายคนที่ชอบรถสไตล์นี้ สำหรับ “SUPER Z” คันนี้ เป้าหมายที่ทำก็คือสถิติ “เลขตัวเดียว” แต่จะเท่าไหร่ยังไม่รับปาก ก็ขอใช้เวลาปรับเซ็ตรถสักระยะหนึ่ง ท้ายสุดอยากจะบอกว่า ทีมงานทุกคนทุ่มใจเต็มร้อย “เหนื่อยมากครับ” แต่ก็ดีใจที่สำเร็จออกมาตามรูปร่างที่เห็น ขอบคุณครับ…

(ซ้าย) “พี่นพ” จาก ทวีศุขยานยนต์ (ขวา) “พี่ภัณฑ์” 1000 SPEED 24

Credits : 1000 SPEED 24 ขอขอบคุณ

JSK (เจตต์) : ต้นกำเนิดช่วงล่าง 4 Links ของรถคันนี้และให้คำปรึกษามาโดยตลอด…

SPL AUTO TUNNING : จัดการเรื่องประกอบเครื่อง และสั่งอะไหล่ต่างๆ จากอเมริกา ที่ถูกต้องตามกำหนด…

เค เอ เอ บริการ : โรงกลึงที่มีแต่คำว่า “ยินดีครับพี่”…

BRP : งานโรลบาร์ที่ออกมาสวยถูกใจ…

บางมดเรซซิ่ง : งานท่อต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้ต่างพูดกันว่า “งานบางมดเรซซิ่งหรือเนี่ย”…

ทวีศุขธนยนต์ : เป็นอะไรหลายๆ อย่าง ที่ประทับใจสุด ด้วยผล งานการสร้างงานสี และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด และทีมงาน “ปั๊มหม้อสุโขทัย”

เพื่อนสนิทล่าสุดที่มีแต่คำว่า “ได้ครับท่าน”…

เพื่อนป๊อก : ที่คอยดูแล และประสานงานในการทำรถให้โดยตลอด…

etc : ขอบคุณทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม แต่มีส่วนร่วมในการทำรถคันนี้ทุกคนครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

จากจุดเริ่มต้นด้วยการทำ Z รุ่นนี้เป็นรถแข่ง เห็นมาตั้งแต่ยังไม่ใช่ สเต็ปนี้ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบ Retro Car ก็ยอมรับว่า “พี่ภัณฑ์” แกใจถึงจริงๆ ที่นำรถ Retro อายุขนาดนี้มาทำรถแข่ง ปกติจะเห็นแต่รถรุ่นนิยมสมัยใหม่จนชินตา พอมาเจอแบบนี้ก็มีความรู้สึกว่าแปลกดี จนมาถึงสเต็ปนี้ ก็คือการพัฒนาไปอีกระดับ ด้วยเวลาที่เร็วขึ้น การเปลี่ยนองค์ประกอบมากมาย รวมถึงการเลือกใช้ของต่างๆ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมที่ดีด้วย ก็ไม่ขอพูดอะไรมากกว่านี้ คงต้องรอให้เค้าเซ็ตรถได้ลงตัว ก็คงจะได้เห็นเวลาดีๆ ส่วนจะดีสักเท่าไหร่ ก็ติดตามชมกันต่อไปครับ ท้ายสุดผมเองก็ขอขอบคุณ “พี่ภัณฑ์ & พี่นพ” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ตบตูดด้วย “พังพอน จังไรราคะ” (น้าเสี้ยม ESSO 22) ที่ติดต่อรถคันนี้ให้ครับ…

มาดูกันในส่วนของกราฟแรงม้า อันนี้จะไม่มีรอบเครื่องให้ดู บอกแต่เพียงความเร็วมา เอาเป็นว่า เราก็ดูลักษณะนิสัยของเครื่องไปก็แล้วกันนะครับ ลักษณะของเส้นกราฟทั้งแรงม้าและแรงบิด ก็จะมาในช่วงกลางถึงปลายจนรอบตัด ซึ่งกราฟก็ยังไม่ตก ยังทรงตัวอยู่ในระดับนั้นอยู่ มาดูกราฟแรงม้า (เส้นสีน้ำเงินเข้ม) ในช่วงกลางหลังจากที่ไต่ขึ้นมาจนถึงในระดับที่เริ่มจะนอนลงแล้ว ช่วงที่เป็นท้องกราฟค่อนข้างคงที่ จะอยู่ในระดับ 500 แรงม้า จนไต่ไปถึง 600 แรงม้า ได้แรงม้าสูงสุด “608.04 PS” (กราฟตอนปลายเส้นจะโผล่ขึ้นมาหน่อยๆ เข้าใจว่าเกิดจากการที่รอบเครื่องตัด ล้อจะมีอาการกระตุก ทำให้แรงม้าขึ้น) นี่เป็นแรงม้าลงล้อ (Wheel Horsepower) ส่วนแรงม้าที่ตัวเครื่องจริงๆ ก็คงจะมีสัก 650 ขึ้นไป ส่วนแรงบิด (เส้นสีฟ้าอ่อน เล็งๆ หน่อยนะ ดูยากอยู่เหมือนกัน) มาในแนวเดียวกัน ช่วงที่ใช้งานได้เต็มๆ ก็จะมีค่าประมาณ 50 กก.-ม. ขึ้นไป ไปแตะค่าสูงสุดได้ “59.21 กก.-ม.” ที่รอบก่อนจะได้แรงม้าสูงสุดอยู่นิดหน่อย ตัวเลขไม่หวือหวา แต่แรงม้าและแรงบิดก็มาแบบคงที่ ไต่ไปพร้อมกัน ไม่ใช่ก่อนมาก็ห้อยหายไม่เห็น พอมาแล้วก็กระชากขึ้นทันใด ดูมันส์ดูแรงจริงนะครับ แต่ “ขับยาก” เป๋ไปเป๋มา เครื่องและระบบส่งกำลังจะพังเอา แต่แบบนี้จะ “ขับง่าย” ก็ได้เวลาดีๆ โดยที่ไม่ต้องทำแรงม้ามากเกินไป…