STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : POTE A+
My Name is…
รับกับกระแสหลังจากจบการจัดอันดับปีล่าสุด Souped up 2015 แขกรับเชิญในคอลัมน์นี้ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถือว่ามีบทบาทและคลุกคลีอยู่ในวงการ Drag มาตั้งแต่ยุคสนาม MMC จนถึงปัจจุบัน เค้าคนนี้เฝ้าจับตาดูวิวัฒนาการรถแข่งในบ้านเรามาโดยตลอด และในปีนี้ ชายผู้นี้ยังสวมบทบาทสำคัญ!! ในงาน Souped up นั่งแท่น “นายสนาม” นามว่า “ชนินทร์ ธรรมาธิคม”
จะมองว่าโปรโมตงาน Souped up ก็ขอบอกว่าใช่!! เพราะว่าแขกรับเชิญของเราเป็นคนดังในวงการ ผมได้คุยกับเค้าอยู่เป็นชั่วโมง ๆ ถึงเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นในวงการ Drag บอกตามตรง พี่เค้า “เมาธ์มอยส์” กับผมได้มันส์มาก ถ้าใครได้เคยคุยกับพี่เค้าก็จะรับรู้ในอรรถรสนี้ได้ น่าเสียดายที่ “ตัวหนังสือ” ถ่ายทอดเป็นเสียงสูงต่ำไม่ได้ แต่ถ้าใครอยากรู้ ลองไปดูใน “XOTV” ที่นายโก้ เค้าสัมภาษณ์ได้เลยครับ
ในวันนัดสัมภาษณ์ ทีแรกกะให้เข้ากับธีม Drag ว่าจะถ่ายรูปกันที่สนาม BDA แต่ก็ลังเล กลัวฟ้ารั่ว แต่คิดไปอีกที ก็กลัวโลเกชั่นจะใกล้เคียงกับ Speed D ก็เลยปรับกลยุทธ์ กระชับพื้นที่เข้ามาใกล้มากขึ้น โดยใช้ลาน Loading ด้านหลังของชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี เป็นที่ถ่ายทำ ในวันนั้นเรียกว่าจัดกันมาชุดใหญ่ เพราะต้องถ่าย Hankook Drift Team และรถ Yaris จาก Addzest อีกหลายคัน ทำให้บรรยากาศในตอนนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คน
เมื่อแขกรับเชิญผมมาถึงตามเวลานัดหมาย บ่ายโมงตรง ผมก็เชิญพี่เค้ามานั่งพักเหนื่อยสักเล็กน้อย พร้อมเปิดฉากคำถามใส่เข้าไป ให้พี่เค้าได้ทบทวนการบ้านที่เตรียมมาจะคุยกับผม หลังจากนั้นประมาณสัก 10 นาที พี่แอ้ดดี้ ช่างแต่งหน้าก็เข้ามา เก็บคราบเหงื่อบนใบหน้า “พี่ชนินทร์” พร้อมเมคอัพให้หล่อเหลา ซึ่งระหว่างนั้นผมดูทรงแล้ว กลัวเวลาจะยืดยาว ก็เลยขออนุญาตสัมภาษณ์กันทั้งที่แต่งหน้าอยู่นั่นแหละ
คำพูดแรกที่ผมได้ยินเสมอ ๆ จากแขกรับเชิญเกือบ ๆ ทุกท่านที่ผ่านมาคือ “จุดเริ่มจากคนเล่นรถมาก่อน” มันเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จได้นะ ถ้าเรารู้จักเล่น รู้จักคิด มันก็ประสบผลสำเร็จได้ตามตัวอย่างที่มีให้เห็นของแต่ละท่านในคอลัมน์นี้ พี่ชนินทร์เองก็เริ่มมาจากจุดนี้เช่นกัน โดยประสบการณ์ในอดีต พี่เค้าเล่าให้ฟังว่า “มันก็เริ่มจากเล่นรถนี่แหละ ในยุคนั้นก็แข่งกันตามถนน บางใหญ่มั่ง หน้าโรงงานยาง โอตานิมั่ง แล้วแต่จะไป ซึ่งมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีสนามแข่งให้วิ่งกัน…ผมเริ่มต้นด้วยรถกระบะ Isuzu วางเครื่อง 7M-GTE เอาไปซัดกับเค้า หลังจากนั้น 1JZ-GTE เริ่มเข้ามา ผมก็เปลี่ยนมาใช้ 1JZ แทน โดยไปลงแข่งในสนามครั้งแรก ที่ สนามบินราชบุรี (สนามเฉพาะกิจ) หลังจากงานนั้นก็เริ่มมาวิ่งในสนามมากขึ้น จนกระทั่งสนาม MMC (รังสิต) จัดโดย หนุ่ม G Force ถือกำเนิดขึ้น ผมก็มาวิ่งที่นี่ ตอนนั้นเล่นแต่แบร็กเก็ต จำได้ว่า รุ่น 15 วินาที มีรถแข่ง 80 กว่าคัน ผมชนะที่ 1 ในรุ่นนี้ ได้รับเงินรางวัลสองหมื่นกว่าบาท ก็ยังงงตัวเองอยู่เหมือนกัน ว่าชนะมาได้ยังไง คือในตอนนั้นเราไม่เป็นมวยเลย รู้แต่ว่าจะเลือกเข้าเส้นก่อนหรือหลังเท่านั้นแหละ เผอิญโชคเข้าข้าง ก็เลยชนะมาในครั้งนั้น
จากการได้ลงแข่งในรายการของ หนุ่ม G Force มาประมาณนึง พื้นที่ตรงที่ใช้แข่งขันนั้นมันเป็นของ “ลูกพี่เก่า” ผมเอง ซึ่งเค้าทำธุรกิจเกี่ยวกับสิบล้อ รถพ่วง มันเป็นอาชีพหลัก ๆ ของผม เค้าก็รู้ว่าผมชอบแข่งรถประเภทนี้ เค้าก็เลยชักชวนให้ผมมาจัดแข่งเอง เพราะพื้นที่ตรงนั้นเค้าเป็นคนดูแลเอง ซึ่งในขณะนั้นผมก็ได้รู้จักกับ “คุณเกรก” ซึ่งตอนนี้รู้สึกว่าจะย้ายไปทำธุรกิจที่อเมริกาแล้ว ซึ่งคุณเกรกเค้าจะคอยทำหน้าที่ดูแลประสานงาน และก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ “คุณต้อม” ซึ่งน้อง ๆในยุคนี้อาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าขา Drag อายุ 35 อัพ รับรองว่ารู้จักทุกคน ก็รวมตัวกัน 3 คนทำสนาม MMC ขึ้นมา มันเป็นช่วงที่บูมมากของ Drag วันเสาร์ รถยนต์ เฉลี่ย มีคนมาร่วมงานสาม-สี่พันคนตลอด ส่วนวันอาทิตย์ มอเตอร์ไซค์ มีคนเข้าร่วมงานไม่ตำกว่า 5,000 ทุกครั้ง ในยุคนั้นจำได้ว่าจัดเดือนละ 2 ครั้ง คือ เสาร์แรก กับเสาร์ที่สามของเดือน พอจัดไปสักพัก “น้าเดชา” ก็มาขอเช่าพื้นที่ต่อในเสาร์ที่สาม จัดแข่งแบบนี้ต่อเนื่องมาประมาณ 2-3 ปี ก็ต้องมีอันเลิกรากันไป เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นหมดสัญญา เจ้าของเค้าขายพื้นที่ไปทำโรงงาน จากจุดนี้แหละที่ทำให้คนรู้จักผมในฐานะผู้จัดการแข่งขัน Drag
หลังจากที่สนาม MMC ปิดตัวลง ก็มีการแข่งขัน Drag จัดขึ้นที่สนามบ่อพลอย เมืองกาญจนบุรีบ้าง หรือจะเป็นที่สนามพีระฯ ก็มี แต่ไม่ใช่งานประจำ เป็นแบบเฉพาะกิจมากกว่า แต่ในทุกครั้งที่จัด มันก็จะมีคนเข้าร่วมงานมหาศาล เหมือนกับคำพูดที่ว่า “Drag Never Die” มันมีอยู่จริงนะ!! เพียงแต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีขึ้นมีลง บางครั้งกราฟอาจจะขึ้นสูง หรือดิ่งลงต่ำ แต่มันไม่เคยมีคำว่า “หายไป”
ให้หลังจากสนาม MMC ปิดตัวลง ประมาณ 3 ปี มีอยู่วัน “พี่หนุ่ม ACM” โทร.เข้ามาหาผม บอกว่ามีเด็กวัยรุ่นอยากทำสนามแข่ง Drag ผมก็บอกกับพี่หนุ่ม ACM ว่าไม่ใช่ปัญหา ลองเข้ามาคุยกัน เพราะในช่วงระยะเวลาที่ไม่มีสนามแข่ง มีหลายคนเหมือนกันนะที่หอบโปรเจ็กต์อยากทำสนามแข่งมาคุยกับผม ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่าคนที่พี่หนุ่ม ACM จะพาในครั้งนี้ ก็คงเป็นเหมือนความฝันของคน ๆ นึง เหมือนกับหลาย ๆ คนที่มาคุยกับผมแล้วก็เงียบไป ก็บอกกันตรง ๆ ว่าการทำสนามแข่ง Drag มันไม่ได้สร้างผลกำไรมหาศาลขนาดนั้น เพียงแต่ว่าถ้าทำเพื่อความสนุก เอามันส์ แบบนั้นน่ะถึงจะทำได้ แต่ถ้าทำเพื่อหวังผลกำไร ผมว่ามันไม่ใช่ธุรกิจที่ควรจะลงทุน!!
ผมได้มีโอกาสเจอกับ “คุณลิฟต์” ครั้งแรก เพราะเค้าคือคนที่พี่หนุ่ม ACM แนะนำมาให้ ในวันนั้นผมก็บอกคุณลิฟต์ไปอย่างที่ผมคิด ถ้าลงทุนเพื่อธุรกิจ มันไม่น่าเวิร์ก แต่ถ้าคุณลิฟต์จะทำเพราะความชอบส่วนตัวก็โอเค หลังจากนัดครั้งแรกจบลง อีกประมาณสองอาทิตย์ คุณลิฟต์มาพร้อมกับคุณแม่ เพื่อคุยถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง หลังจากครั้งนี้เค้าก็หายไปประมาณเดือนนึง แล้วจู่ ๆ เค้าก็โทร.มาหาผมว่า “พี่ชนินทร์ ผมซื้อที่แล้วครับ” แล้วเค้าก็มารับผมไปดูที่ หลังจากนั้นเพียงอาทิตย์เดียว คุณลิฟต์เค้าจัดเครื่องจักรเข้ามาลุยทำสนามทันที
ผมคิดในตอนนั้นว่ามันเป็นเรื่องที่ดีของคนเล่น Drag ที่จะมีสนามเพื่อการแข่งขันอย่างจริงจัง โดยระยะเวลาสร้างสนามก็ถือว่าเร็วมาก ภายใน 3 เดือนก็เสร็จเป็นรูปร่างเรียบร้อย ในวันเปิดตัวสนามครั้งแรก มีคนแห่มาที่สนามคลอง 5 ร่วม ๆ หมื่นคน เป็นอะไรที่วุ่นวายมาก ทุกคนที่มาก็อยากแข่ง อยากลองสนามกันเต็มไปหมด ซึ่งมันทำให้โกลาหล เพราะผมและทีมงานก็ไม่ทันตั้งตัวที่จะรับคนเป็นหมื่นเหมือนกัน หลังจากวันเปิดตัว ผมก็ปิดสนามเพื่อปรับปรุงใหม่ให้เพียงพอต่อการรับคนที่มาร่วมงาน และก็พัฒนาอยู่เรื่อย ๆ จนมาเป็นสนาม Bangkok Drag Avenue จนถึงทุกวันนี้
ตัวผมเองคลุกคลีอยู่ตรงนี้ เห็นวิวัฒนาการของรถแข่งมาตลอด ซึ่งบอกอย่างเต็มปากว่ารถแข่งในบ้านเรามีพัฒนาการที่ดีมากอยู่ตลอดเวลา ในสมัยก่อนยุคนั้น รถสตรีทขับสองล้อ เร็วที่สุดก็น่าจะเป็น “คุณอั๋น Kansai” หรือ อั๋น ATP นี่แหละ จำได้ว่าเค้าวิ่งอยู่ 10.9 วินาที ผมมองว่าเทพมาก!! เพราะผมเองก็ทำ Cefiro เครื่อง 2JZ อยู่คันนึง รถผมเองวิ่งอยู่ 11.12 วินาที ผมก็ว่ามันเร็วมากแล้วนะ สำหรับรถบ้าน ลองมาดูสมัยนี้ซิ รถบ้านวิ่งกัน 8-9 วินาที เองนะ มันเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้ ตรงนี้ก็ต้องยอมรับ ทีมช่าง นักแข่ง และทุก ๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ร่วมมือกันพัฒนาวงการ Drag ให้เดินมาไกลได้ขนาดนี้ ผมว่านักแข่งสมัยนี้โชคดีแล้ว ยุคนู้นผมซื้อยางสลิค เส้นนึงก็ต้องมีสองหมื่นบาท แต่เดี๋ยวนี้เส้นละไม่ถึงหมื่น หรือแม้กระทั่งลูกสูบ ผมซื้อชุดละหกหมื่น เดี๋ยวนี้สามหมื่นก็ซื้อได้แล้ว ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปแล้วจะเห็นว่าการแข่งรถสมัยก่อนใช้เงินมหาศาลมาก การจะซื้อของจากต่างประเทศเป็นเรื่องยากมาก จะซื้ออะไรทีต้องไปวานคนนู้นที คนนี้ที แต่พอมาถึงยุคดิจิตอล ทุกอย่างมัน worldwide สามารถสั่งของกันเองได้หมดแล้ว มันก็เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งเทคโนโลยีมันก็พัฒนามากด้วย ใคร ๆ ก็เปิดเค้าไปดูได้ว่ารถแข่งที่เร็ว ๆ เค้าใส่อะไรกันบ้าง มันได้เปรียบกว่าสมัยก่อนเยอะมาก เมื่อก่อนเน้นดัดแปลง เพราะของไม่มีให้เลือกมาก ช่างต้องเก่งและมีฝีมือ แต่พอมาเป็นปัจจุบัน ทุกอย่างมันก็กลายเป็นสูตรสำเร็จ ถ้าเล่นสเต็ปนี้ต้องเปลี่ยนไอ้นี่ อยากแรงขึ้นมากอีกหน่อย ต้องเพิ่มไอ้นั่น มันเป็นแบบนี้ไปหมดแล้วในตอนนี้
พูดถึงบล็อกเครื่องเบนซินในเมืองไทย ก็ต้องมาว่าที่ JZ, UZ หรือไม่ก็ RB26 แต่ผมมองว่าในอนาคต ทางเดินของ JZ และ RB26 จะแคบลง เพราะว่าทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ใช้เทคโนโลยีฝั่งอเมริกา ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะมี Big Block มาวิ่งในรุ่นสตรีทแดร็กมากขึ้นก็เป็นได้ มันก็เหมือนเป็นการพัฒนาก้าวไปอีกขั้นของวงการแดร็กบ้านเรา ซึ่งเทรนด์ของแต่งจากอเมริกาเนี่ย จริง ๆ แล้วมันเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เราต้องมองย้อนกลับไปถึงอดีต คนเล่นรถอย่างรุ่นผมเนี่ย เมื่อก่อนของใหม่เบิกห้าง มันไม่มีเหมือนปัจจุบัน ก็ต้องเดินหาซื้ออะไหล่เก่าญี่ปุ่นตามเซียงกงเป็นหลัก อาทิ กล่อง ECU เราไม่มีจูนเหมือนสมัยนี้ ก็ต้องเสี่ยงกล่องโมฯ จากเซียงกง ใครโชคดีซื้อกล่องมาแล้วไปแมตช์กับสเป็กที่โมฯ เครื่องไว้เมื่อไหร่ ก็แรงกันแบบไม่มีใครสู้เลย จนกระทั่งเมื่อสนามคลอง 5 เปิดขึ้น ก็ดูเหมือนว่าเทรนด์อะไหล่เก่า มันก็ค่อย ๆ หายไป เริ่มมีการสั่งของแต่งใหม่ ๆ จากอเมริกามีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ของญี่ปุ่นคงจะซื้อกันได้แต่เครื่องยนต์แล้วล่ะ ที่เหลือก็สั่งของแต่งจากอเมริกามาใส่ แม้กระทั่งล้อแม็ก พวกรถแข่งจริง ๆ ที่วิ่งในสนาม ก็สั่งของอเมริกากันหมดแล้ว
จูนเนอร์ก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้มีหลากหลายท่านให้นักแข่งได้เลือกกันตามความต้องการเลย เพราะเดี๋ยวนี้มือจูนบ้านเราเก่งกันทุกคน มันเป็นเหมือนการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วมากภายในไม่กี่ปี และปัญหาของวงการนี้ที่เจอก็คือ รถที่เร็วก็เร็วซะข้างหลังตามไม่ทัน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าการแข่งรถต้องอาศัย “ปัจจัยหลัก” เพราะฉะนั้น คนที่เอาเงินไปใส่ในรถตัวเองมากเท่าไหร่ มันก็จะแรงมากเท่านั้น หรือที่เราได้ยินจนชินหูว่า “แรงตามตังค์” นั่นแหละ และคราวนี้คนที่มีทุนน้อย ก็จะเสียเปรียบไปโดยปริยาย แต่ว่า!! การแข่งรถถ้าจะให้สนุก มันต้อง “สูสี” คนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนมีสิทธิ์ที่จะชนะได้ นั่นคือความสนุกของเกม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ผมเองจึงต้องพยายามหากติกาที่เป็นความเสมอภาคให้ทุกคนได้แข่งกันได้ กติกามันไม่มีวันคงที่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อความเหมาะสมของการแข่งขัน
ถ้าคุณยังจำได้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ชนะรถขับเคลื่อน 2 ล้อหมด แต่พอมาเป็นปัจจุบัน รถขับเคลื่อน 4 ล้อ สู้ขับเคลื่อน 2 ล้อไม่ได้ หรือจะเป็นเรื่องของยาง รถรุ่นสตรีท แยกเรเดียล กับสลิค พอหมดยุคของยาง ก็มาเริ่มแยกกันที่เกียร์ เพราะเป็นยุคของการสั่งเกียร์ต่างประเทศเข้ามาใช้ในการแข่งขัน จะเห็นได้ว่า กติกาไม่มีหยุดนิ่ง ต้องคอยปรับแต่งให้เกมการแข่งขันมันมีความใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกมการแข่งขันสนุก ซึ่งอย่างที่บอกข้างต้น อนาคตเครื่องยนต์อเมริกาจะมีเข้ามาแน่นอน แล้วความแตกต่างระหว่างเครื่องยนต์ 2 สัญชาติต้องมีให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ในระยะแรก ๆ เราอาจจะมองว่าวิ่งรวมกันไปก่อน เพราะว่ายังต้องคลำให้เข้าที่เข้าทางกันไปก่อน แต่เมื่อเครื่อง Big Block หาสูตรสำเร็จเจอ ก็ถึงเวลาที่ต้องแยกรุ่นอีกเหมือนเดิม ก็จะเห็นได้ว่า กติกาก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอีกเช่นเคย
นอกจากรถเบนซินแล้ว รถดีเซลในปัจจุบัน มันมาอยู่เหนือความคาดหมาย ผมเองก็ไม่คิดว่ามันจะเติบโตเร็วได้ขนาดนี้ และที่ไม่น่าเชื่อ คือเวลาของรถดีเซลจะวิ่งกันได้ดีขนาดนี้ มันเป็นช่วงแค่ 2 ปีที่ผ่านนี้เอง แล้วกลุ่มคนที่มาเล่นดีเซล ก็เป็นคนละกลุ่มที่เล่นเบนซิน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงแรก ๆ ผมเดินในสนามก็แทบจะไม่รู้จักใครเลยนะ ยกเว้นมือเก๋า ๆ ที่เล่นมานานแล้ว อย่าง น้าบัญชา, น้าค่อม อันนี้ก็รู้จักกันมานมนาน ก็ต้องขอชื่นชมกลุ่มที่เล่นดีเซล เพราะเค้าเป็นกลุ่มใหม่กันทั้งนั้น และมีความพยายามที่จะพัฒนาในรถของเค้าเป็นอย่างมาก มีคนมาถามผมว่ารถดีเซลจะวิ่ง 9 วินาทีได้มั้ย? ผมก็ตอบว่าได้นะ แต่ยาก!!!! หลังจากที่ผมพูดไม่นาน “มนตรีดีเซล” ก็วิ่ง 9.6 วินาทีเลย พอผมเห็นแบบนั้น ผมก็ยังงง ๆ นะ ซึ่งมันไม่น่าเป็นไปได้นะ รถ 500 แรงม้า น้ำหนักตันห้า และ บอย ฟีม ก็ทำให้ผมประหลาดใจ รถหนักตันสี่ 600 แรงม้า กดไป 9.2 วินาที ซึ่งเวลาที่ 201 เมตร ทำได้ 5.9 วินาที สปีดความเร็วไม่เกิน 200 กิโลเมตร มันไม่น่าวิ่งได้ขนาดนี้ โดยตัวผมเองจะมี Calculator Sheet ไว้คำนวณแรงม้า ถ้าเท่านี้ น้ำหนักประมาณนี้ 60 ฟุตทำได้เท่านี้ ก็จะประมาณการได้ว่าวิ่งเท่าไร? จากจุดนี้มันทำให้ผมได้ข้อคิดว่า เบนซินกับดีเซล มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
พี่ชนินท์ กับครั้งแรกของ Souped Up ปี 2002
พอเห็นตัวเลขสถิติที่ทำได้ มันก็จะกลับมาเหมือนเบนซินแล้ว คือ “ความแตกต่างของตัวรถขึ้นอยู่กับเงินที่ลงไป” อย่างรถดีเซลที่วิ่งระดับ 9 วินาที เค้ามีเกียร์ซิ่งกันทุกคัน ซึ่งเคยมีคนมาพูดกับผมนะว่า “ดีเซลจะวิ่ง 8” ผมพูดออกมาเลยนะว่า ถ้า “วิ่งได้ ผมจะกลับหัวใช้มือเดินให้ดู!!!” แต่ตอนนี้ผมสงสัยว่าต้องไปหัดเดินแล้วล่ะ เพราะล่าสุด เบิร์ดหลักห้า ตอกไว้ที่ 9.007 วินาที!! แล้วน่ะสิ…
และในปีนี้ผมเองก็ก้าวมารับตำแหน่งนายสนาม ให้กับ XO AUTOSPORT ในการจัดงาน Souped up Thailand Records 2012 ผมก็จะยึดการตัดสินจากกติกาของ Souped up เป็นเกณฑ์ และสิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงนักแข่งคือ อ่านกติกาให้เข้าใจ และยอมรับในกติกา การแข่งรถก็เปรียบเสมือน “กีฬา” ประเภทนึง มีทั้งแพ้และชนะอย่างแน่นอน นักแข่งทุกคน ผมอยากให้คุณ “แพ้ให้เป็น… ชนะให้ได้…” ไม่ใช่ว่า “แพ้ไม่ได้” น้ำใจนักกีฬาสำคัญที่สุด ทุก ๆ ท่านที่มาแข่งขัน ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะชนะทุกคน แต่ในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกคนจะชนะ คนชนะต้องมีเพียงคนเดียว!! ในแต่ละรุ่น ผมเข้าใจว่าทุกคนพยายามมุ่งมั่นในการแข่งขัน เพื่อต้องการชัยชนะ แต่ก็ขอให้ยืนอยู่บนความถูกต้องด้วยครับ”
นี่เป็นเรื่องเล่าของผู้ชายที่ชื่อ ชนินทร์ ธรรมาธิคม จากชีวิตคนเล่นรถ ที่ถูกชะตาลิขิต ดีดขึ้นนั่งแท่นนายสนาม Drag Racing เค้าเป็นคนที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี และในปลายปีนี้เราจะไปดูบทบาทใหม่ของเค้าในฐานะนายสนาม Souped up Thailand Records 2012 กันครับ…
วลีโดนใจ
“ถ้าเปรียบเทียบ บล็อกเครื่อง กับ ซี.ซี.ของเครื่องยนต์ดีเซล รถแข่งบ้านเราตอนนี้แรงที่สุดในโลกแล้ว”
“กติกามันไม่มีวันคงที่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อความเหมาะสมของการแข่งขัน”
“นักแข่งทุกคน ผมอยากให้คุณ “แพ้ให้เป็น… ชนะให้ได้…” ไม่ใช่ว่า “แพ้ไม่ได้” น้ำใจนักกีฬาสำคัญที่สุด”