Story : อินทรภูมิ์ แสงดี + Photo : ทวีวัฒน์ วิลารูป / XO Magazine Issue 147 – January 2009
หลังจากที่ได้ผ่านพ้นปีเก่า ก็เข้าสู่ปีใหม่ เราก็เลยอยากได้อะไรใหม่ๆ ซิงๆ มาฝากท่านผู้ชมกันบ้าง ฉบับนี้เป็น “ตัวจี๊ด” (ไม่ใช่พยาธินะ) เพราะจี๊ดทั้งสีและทั้งความแรง เป็นผลงานจากอู่ MONZA SPEED ดำเนินงานโดย “พี่ตี้” พรศักดิ์ หลิวกุลวัฒนา เจ้าเก่า ที่มีชื่อเสียงในวงการแข่งควอเตอร์ไมล์มานาน ย้อนไปเมื่อสองปีก่อน ก็ได้สร้างความฮือฮาด้วย SUPRA Space Frame และมาสร้างเฟรมด้วยตัวเอง แต่น่าเสียดายที่งาน SOUPED UP ปีนั้น เกิดเบรกไม่อยู่ที่ปลายเส้น ก็เลยไม่ได้แข่งต่อ หลังจากนั้นก็คิดว่าจะต้องสร้างคันใหม่ขึ้นมา ก็คือคันนี้ โดยตั้งโปรเจ็กต์ไว้ว่าจะต้อง “เห็นเจ็ด” อย่างสบายๆ ซึ่งก็เป็นตัวแข่งลำใหม่ที่หลายคนจับตามองในการแข่งขัน SOUPED UP THAILAND RECORDS 2008 ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับ ว่ารถคันนี้จะมีอะไร “พิเศษ” มาให้ชมกันบ้าง…
350Z Hot Rod Style
สำหรับการสร้างเฟรมคันนี้ ก็อาศัย Know How จากอเมริกา เป็นของ VANISHING POINT ไม่ยากครับ ก็อาศัยความสนิทจากการสั่งของกันบ่อยๆ เรื่องของการหาข้อมูลตามเว็บไซต์ โดยหลักๆ แล้วไม่ยากครับ มันมีให้ซื้อแล้ว Down Load รวดเร็ว สะดวก ตัว Blue Print ที่ได้มา ก็ต้องจ่ายเป็นบัตรเครดิตไป หลังจากนั้นเค้าก็จะส่ง Password มาทางเมล์ (ส่วนใหญ่จะเป็นยังงี้นะ แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้ เรานำมาเล่ากันเป็นพื้นฐาน) ก่อนอื่นจะขอพูดถึงเรื่องตัว “เปลือก” กันก่อน ที่หันมาใช้แบบของ NISSAN FAIRLADY 350Z ซึ่งยังไม่มีใครทำ และดูแปลกตาดี จริงๆ แล้วตอนแรกทางอู่จะเลือกบอดี้ SUPRA เหมือนเดิม ด้วยความชอบส่วนตัว แต่เหตุผลที่เปลี่ยนมาเลือกบอดี้ 350Z ก็เพราะว่า พอดีมีลูกค้าที่ขับ 350Z เอารถมาให้ทำ เห็นแล้วก็เลยชอบ อยากเปลี่ยนบ้าง ก็เลยขอเค้า Copy แบบบอดี้ แล้วมาสร้าง Mold สำหรับหล่อไฟเบอร์เอาเอง…
ถ้าดูกันดีๆ คันนี้ไม่ได้เอามิติ 350Z เป๊ะๆ นะครับ ต้องมีการปรับเปลี่ยนตาม “เฟรม” ที่เป็นตัวยืน ก็เลยต้อง “ยืดหน้า” จากมิติเดิมมาอีกประมาณ 15-16 นิ้ว ส่วนของหลังคาก็ต้อง “หด” ให้เตี้ยลง เพราะตัวเฟรมมันเตี้ย ก็เลยกลายเป็น “350Z Hot Rod” (หน้ายาว ตัดหลังคา) อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนตัวเฟรมก็อย่างที่บอกไป สร้างตามแบบที่ได้มา ตัวแบบน่ะไม่ยาก แต่ที่ทางอู่แนะนำ ว่าต้องพิถีพิถันในการ “เลือกวัสดุ” อย่างมาก ทางอู่ก็ใช้ท่อเหล็กในไทยนี่แหละ แต่เลือกเอา “เกรดส่งนอก” ความหนาและเนื้อวัสดุต้องได้ตามสเป็ก (อันนี้คนสร้างเฟรมจะต้องรู้อยู่แล้วว่าจะใช้สเป็กไหน) มีข้อดีคือ มีรอยตะเข็บไม่มาก ก็ทำให้แข็งแรงกว่า และน้ำหนักต้องไม่เกินเป้า คันนี้น้ำหนักรวมคนขับก็ไม่เกิน 1 ตัน ส่วนที่ทางอู่เน้นหนักเลย ก็จะเป็นส่วนของ “ระยะ” (Alignment) ต่างๆ จะต้อง “เป๊ะ” ใจเย็นๆ ต้องใช้ความละเอียดสูง อย่าคิดว่าผิดนิดหน่อยไม่เป็นไร ไอ้นิดหน่อยนี่มันจะยาวไปถึงส่วนอื่นด้วย ผิดนิดเดียวช่วงล่างก็ไม่ตรง ปรับยังไงก็ไม่ได้ตามเป้า มันอาจจะต้องทิ้งเฟรมนั้นไปเลยก็ได้…
2JZ-GTE ตามถนัด
ขุมพลังของทาง MONZA เลือกใช้ ก็เป็นตัวโคตรฮิตติดชาร์ต ก็คือ 2JZ-GTE ที่คุ้นเคยกันดี ทางอู่ก็เล่นบล็อกนี้มานานจนมีความถนัดในการทำ สำหรับการโมดิฟายก็ทำกันอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับแรงม้าระดับ “พันสอง” เหมือนที่เคยทำใน SUPRA คันก่อน มาดูกันในส่วนของ “ท่อนบน” กัน เริ่มกันจาก “ฝาสูบ” อันนี้ต้องทำ เพราะเป็นตัวกำหนดแรงม้าโดยตรง ชุดกลไกเปิด-ปิดวาล์วทั้งหมด ตั้งแต่ รีเทนเนอร์ สปริง แคมชาฟท์ เป็นของ CROWER องศาแคมอยู่ที่ 280/292 องศา (ไอดี/ไอเสีย) ลิฟต์แคม 10.8 มม. เท่ากัน เฟืองสไลด์แคม (Sprocket) ของ FIDANZA ที่หลายคนว่าน้ำหนักมันเบาดี ประกบกับท่อนล่างด้วยปะเก็น HKS 1.2 มม. ท่อนล่างก็ทำเกือบเต็ม ขาดไปเพียง “ลูกสูบ” ยังเป็นของสแตน ดาร์ด พี่ตี้บอกว่า “ยังทนได้” กับแรงม้าขนาดนี้ เพราะไม่ได้วิ่งยาว เค้นแค่แป๊บเดียว ส่วน “ก้านสูบ” ใช้ของ CROWER แบบ H-Beam ซึ่งปกติรถ Drag แรงม้ามากๆ ก็จะใช้แบบ X-Beam ที่แข็งแรง แต่น้ำหนักมากกว่า H-Beam ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกอันไหน แข็งแรงน้อยลง แต่เบากว่า หรือยอมแข็งแรงมาก แต่หนักกว่า ชุด “แบริ่งชาฟท์” เป็นของ ACL ข้อเหวี่ยงเดิม ส่วนกล่อง ECU เป็นของ HKS F-CON V PRO ให้ “ปอ” เป็นคนจัดการ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากรูป ก็ลองดูที่บรรยายภาพได้เลยครับ…
■ 2JZ-GTE กับม้าเกือบห้าพันขา
LIBERTY Air Shifter
ส่วนของ “ระบบส่งกำลัง” ก็เลือกใช้เกียร์ของ LIBERTY ที่เป็นแบบ Air Shift เปลี่ยนเกียร์ด้วยระบบ Pneumatic (นิวเมติก) ก็คือ “ลม” นั่นเอง ตอนออกรถครั้งแรก (เกียร์ 1) ต้องเหยียบคลัตช์ตามปกติ พอเทคออกตัวไปแล้ว เกียร์ต่อไปจนถึงเกียร์สุดท้ายก็ใช้ “กดสวิตช์” เลือกเอา การเปลี่ยนเกียร์จะเป็นแบบ Up อย่างเดียว ไม่มีการ Down พอเข้าเส้นไปแล้ว ก็ต้องปลดแล้วเข้าเกียร์ 1 ใหม่ ค่อยๆ ไหลกลับพิต ชุดคลัตช์จะเป็นของ TITAN MOTORSPORT ชุดเพลาท้ายใช้ของ MARK WILLIAMS มาพร้อมเบรก อัตราทด 4.7 : 1 พูดถึงเพลาท้ายแพงๆ แรงม้าระดับนี้ ก็ควรจะใช้เพลาท้ายที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะได้ไม่ “ขาด” แล้วเกิดอันตราย เพราะถ้าเพลาขาดข้างหนึ่ง ล้อด้านนั้นจะถูกตัดกำลัง (เพลาขาดไม่มีกำลังส่งไปครับ) ก็จะไม่หมุนต่อ ส่วนล้ออีกข้างก็จะยังมีกำลังขับเคลื่อนอยู่ (จากการกดคันเร่งเต็มที่) ตอนนี้ล้อทั้งสองข้างจะหมุน “ไม่เท่ากัน” แล้วล้อที่มีกำลังก็จะ “ถีบ” ให้รถ “เลี้ยว” อย่างรุนแรง ถ้ามาเร็วๆ คนขับก็จะแก้อะไรไม่ทัน อันตรายนะครับ โดยเฉพาะรถที่มีแรงม้ามากๆ ควรจะให้ความสำคัญเรื่องเพลาข้างมากๆ ตามไปด้วยครับ…
■ เกียร์ LIBERTY Air Shifter
KONI ปรับไฟฟ้า เก็บ Data Log ได้
สำหรับช่วงล่าง ก็ว่ากันชุดใหญ่ ชุดคอม้า ชุดเบรก และสตรัทหน้าทั้งชุด เป็นของ STRANGE ที่ทำมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ส่วนด้านหลัง ก็เป็นระบบ 4 Links ตามสูตร จุดพิเศษก็คือ ใช้โช้คอัพของ KONI Drag ที่ปรับไฟฟ้า โดยมีกล่องเก็บ Data Log รายงานผลกลับมาเป็นข้อมูลกราฟในคอมพิวเตอร์ (อันนี้คงเคยเห็นแล้ว ใน CIVIC Space Frame ของทีม SINGHA) จะมีผลดีในการรายงานสภาวะการทำงานของช่วงล่างตลอดการแข่งขัน ไม่ใช่แค่ตามองเหมือนก่อน ข้อ มูลเหล่านี้จะนำมาเซ็ตช่วงล่างให้เหมาะสมที่สุดได้ โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก นับว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นที่น่าจะลงทุนสำหรับการแข่งขันในระดับอาชีพ…
■ ช่วงล่างหน้า STRANGE สปริง HYPERCOIL
■ ด้านบนเป็นกล่อง KONI PROGRAMMABLE SHOCK CONTROLLER เอาไว้เก็บ Data Log ของช่วงล่าง ด้านหลังเป็นถังลมสำหรับระบบ Air Shift
■ โช้คอัพหลัง KONI DRAG
เสริมรอยพับ
เพิ่มความแข็งแรง
โดยไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก
งวดนี้ขอเป็นเรื่องคุยกันแบบสบายๆ ไม่หนักหัวมั่งนะครับ เรื่องนี้จริงๆ มันเป็นความบังเอิญขั้นรุนแรง เพราะขณะถ่ายทำก็ดันเหลือบ (ไม่ต้องเหลือบหรอก มองกันเห็นๆ นี่แหละ) ไปเห็นว่า แผ่นเหล็กตรง Firewall ที่กั้นระหว่างห้องโดยสารกับห้องเครื่องยนต์ มีลักษณะแปลกๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน คือ เป็นแผ่นเหล็กทรงสามเหลี่ยม ที่ทำขึ้นมาได้อย่างเรียบร้อยและสวยงาม ไปสะดุดตากับ “สัน” ที่ทำขึ้นมาพิเศษ งานนี้ทางอู่ได้ทำแบบปั๊มขึ้นมาเอง ตัวแบบก็ง่ายๆ ครับ เป็นเหล็กหนาทำแบบก่อน แล้วก็เอา “เหล็กเส้น” มาเชื่อมติด แล้วก็เอาแผ่นอะลูมิเนียมมาเคาะตามรูปเข้าไป จนออกมาเป็นทรงนี้ ถามว่าจะทำไปเพื่ออะไร และมีอะไรที่น่าสนใจ ลองดูครับ… เหตุที่เค้าต้องทำ “สัน” เพิ่มขึ้นมา ก็เพื่อจะเพิ่มความ “แข็งแรง” ให้กับชิ้นงาน โดยที่ไม่ต้องเพิ่มความหนาของแผ่นโลหะ ยิ่งหนาก็ยิ่งหนัก หรือหนาแต่เบาก็ยิ่งแพง หนทางแก้ที่เหมาะสมก็คือทำสันขึ้นมารอบๆ เพื่อเป็นการดามให้แข็งแรง โดยที่น้ำหนักยังเท่าเดิม สังเกตดูพื้นรถยนต์ของเราก็ได้ จะต้องมีการปั๊มเป็นลอนๆ ทั่วแผ่น เพื่อให้มันแข็งแรง ถ้าเป็นเรียบๆ ไม่ต้องชนหรอกครับ เหยียบแรงๆ ก็บุบแล้ว ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองดูตัวอย่างที่เราทำกันขึ้นมาแบบโคตรง่าย ๆๆๆๆๆๆ ก็คือ หากระดาษ A4 มาสักแผ่น จากนั้นก็หาอะไรมาตั้งเป็นขาสองอัน มีวัตถุชิ้นนึง (มือถือก็ได้ง่ายดี) ขั้นแรกคุณเอากระ ดาษเรียบๆ พาดก่อน แล้วเอาของวาง รับรองว่ายังไงก็ “ร่วง” ครั้งที่สอง ให้ลองพับกระดาษเป็น “ลอน” แล้วทำขั้นตอนเดิมอีกครั้ง จะเห็นได้ว่ากระดาษแผ่นเดียวกัน ความหนาเหมือนเดิม แต่พอมีสันแล้วมันก็จะรับน้ำหนักได้สบาย ยิ่งสันเยอะยิ่งแข็งแรง ก็มาจากเหตุนี้แหละครับ ง่ายๆ เท่านี้เอง…
■ เล่นกันง่ายๆ งี้แหละ เอากระดาษมาแผ่นนึง มีแก้วน้ำรองรับหัวท้าย เอาวัตถุวางลงไป ปรากฏว่า “ร่วง” รับน้ำหนักไม่ได้
■ ขั้นต่อมา ใช้เงื่อนไขเดิมหมด ใช้กระดาษแผ่นเดิม แต่พับให้เป็นลอน ตัวสันต่างๆ จะช่วยทำให้แข็งแรงขึ้น ตอนนี้กระดาษจะสามารถรับน้ำหนักวัตถุได้ อันนี้เป็นข้อพิสูจน์ชัดๆ ว่าการปั๊มเป็นสันหรือลอน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุนั้นๆ ได้จริง
Comment : พรศักดิ์ หลิวกุลวัฒนา (ตี้ MONZA)
สำหรับรถคันนี้ก็อยากจะทำขึ้นมาตามแบบ SUPRA คันเดิม ก็ใช้เวลาทำอยู่เกือบสองปี จนออกมาเป็นสภาพที่เห็นนี้ ก็ลงแรงลงใจไปมากเหมือนกัน ก็หวังว่าจะร่วมทำลายสถิติ และทำเวลาดีๆ ให้เห็นได้ ความพร้อมของคันนี้ ส่วนตัวคิดว่าพร้อมแล้วสำหรับงาน SOUPED UP มีการจูนอัพที่ได้แรงม้าตามเป้า ตัวรถก็พยายามให้ความละเอียดสูงสุด ทุกอย่างต้องเป๊ะๆ ผิดพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าเผอเรอมันจะเสียหายทั้งคัน เรียกว่าวัดแล้ววัดอีก จนได้ค่าที่แน่นอน ก็หวังว่าจะได้สถิติระดับ “เจ็ดวิ.” ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ในเรื่องของการวิเคราะห์ ก็คงจะเป็นเรื่องของลักษณะภายนอก ที่ดู “เรียบร้อย” และ “สวยงาม” การวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ โดยรวมๆ แล้วดูเรียบร้อยเหมือนกัน ประกอบกับการพิถีพิถันในการปรับแต่งช่วงล่าง โดยใช้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย ก็เป็นการพัฒนาตัวรถไปอีกขั้น เพื่อเวลาที่เร็วกว่าเดิม คนขับก็มีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่แล้ว ในส่วนอื่นๆ ก็คงไม่รู้จะพูดอะไร เอาเป็นว่า ติดตามชมผลงานของรถคันนี้ละกันครับ ว่าจะทำได้เร็วมากมายขนาดไหน ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ “พี่ตี้” ที่เอื้อเฟื้อรถลงคอลัมน์ครับ…
■ ตัวเฟรมดูแล้วแน่นหนามั่นคงดี ดูไปถึงแผ่นปิดต่างๆ ที่ทำได้เรียบร้อยเหมือนกัน
■ เบาะ CARBON SEAT เบลท์ SIMPSON
■ พวงมาลัย GRANT วัดรอบ AUTO METER วัดแรง ดันน้ำมันเครื่อง GReddy วัดความร้อน SARD ปรับบูสต์ GReddy Profec B
■ หม้อน้ำ FLUIDYNE ถังเชื้อเพลิง JAZ
■ ตัวก่อเรื่อง เทอร์โบ BORG WARNER S-480
■ เฮดเดอร์ PRC (เปี๊ยก เหรียญชัย) ทำยาวลงมาเกือบถึง แคร็งค์ ช่วย “รีดต้น” ให้บูสต์มาไวขึ้น
■ เวสต์เกต TIAL SPORT กับท่อ “ยิงสด” สี่นิ้วครึ่ง
■ ให้ทายว่าใช่ถังของระบบ Dry Sump หรือเปล่า ???
■ จริงๆ ถังนี้เป็นถังน้ำแข็ง ด้านในจะมี “ออยล์คูลเลอร์” อยู่ ใช้เป็นระบบหล่อเย็นน้ำมันเครื่อง เป็นการดัดแปลงที่ ง่ายๆ แต่เข้าท่าดีทีเดียวล่ะ (สำหรับแข่งระยะสั้นนะ)
■ ปั๊มติ๊ก AEROMOTIVE สองตัวคู่ วางอยู่ใต้หม้อน้ำ
■ ท่อร่วมไอดี PRC ไม่ใหญ่โตมาก แต่เน้นทรงกลมเรียว ทำให้มาเร็ว ลิ้นเร่งก็เจ้าเดียวกัน รางหัวฉีด FIDANZA หัวฉีด ACCEL 1,600 C.C. ด้านซ้ายเป็นเร็กกูเลเตอร์ AEROMOTIVE
■ โบล์ว ออฟ วาล์ว PRC ที่มีฝาแดงๆ เป็นถังพักน้ำ ด้านหน้าเป็นอินเตอร์คูลเลอร์ PRC สร้างให้อยู่ติดกัน เพราะจะได้ไม่ต้องต่อสายยาวๆ ให้เปลืองเนื้อที่และน้ำหนัก
■ เฟืองแคม FIDANZA
■ แผง Firewall ทำจากอะลูมิเนียม แล้วปั๊ม สันรอบๆ เพื่อความแข็งแรง ทำออกมาได้สวย
■ ล้อหน้า WELD RACING ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว ยาง HOOSIER ขนาด 25-4.5-15
■ ล้อหลังยี่ห้อเดียวกัน ขนาด 16 x 15 นิ้ว (หน้ากว้างมากกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางอีก) ยางขนาด 33-16.5-15 เพลาท้าย MARK WILLIAMS ที่เห็นดุมสีเหลืองๆ นั่นแหละ