หนึ่งเดียวของ SUBARU กับความตั้งใจจริง
สำหรับการที่จะทำรถวิ่งควอเตอร์ไมล์ให้ได้เลขตัวเดียว มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอารมณ์ ทุกอย่างต้องผ่านการวางแผนและคำนวณการโมดิฟายมาเป็นอย่างดี เพื่อการปรุงแต่งที่ถูกทาง ส่วนมากจะนิยมเล่นกับเครื่อง 6 สูบ ส่วน 4 สูบ ขับ 4 ล้อ ก็จะเป็นตระกูล MITSUBISHI ซะส่วนมาก แต่ด้วยสายเลือด “ดาวลูกไก่” ของ “พี่ทวี” แห่ง Tawee Motorsport ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถตระกูล SUBARU มาอย่างยาวนาน จึงปลุกปั้น IMPREZA ตัวเก่ง ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแข่งในระดับแนวหน้าของเมืองไทย คันนี้เป็นรถที่ทำมานานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้วิ่งเต็ม ๆ แม้จะแค่ 4 สูบ และเป็นเครื่องที่มีแต่คนพูดว่า “กว่าจะแรง ต้องทำเยอะมาก ทำยาก แถมไม่ทน” อะไรก็ว่าไป แต่ด้วยความพยายาม ก็สามารถทำออกมาลบคำปรามาสได้หมดสิ้น ในงาน SOUPED UP THAILAND RECORDS 2010 ที่ผ่านมา รถคันนี้ลงวิ่งครั้งแรกในเช้าวันเสาร์ ทีมงานทุกคนก็เห็นเลข 9 กันแล้ว ก็เป็นการเตรียมตัวที่พร้อมมาก และในวันชิง ทำเวลาได้ดีที่สุดคือ “9.351 วินาที” นับเป็นเวลาที่ออกมาดีมากเลยทีเดียว สามารถไล่จี้มาใกล้เหล่า Top Ten ที่ใช้เครื่องใหญ่กว่าได้อีกด้วย…
เท่าที่ลองคุยกับ “พี่ทวี” ก็ทราบว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาของรถคันนี้อยู่ก็คือ ระบบเกียร์ ที่เอาเกียร์ 5 สปีด มาลดเหลือ 4 สปีด แล้วปรับอัตราทดใหม่ ตามสูตรของ Tawee Motorsport ซึ่งทำอัตราทดออกมาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคิดว่าเครื่องมีแรงม้าและแรงบิดมากพอแล้ว กลับกลายเป็นปัญหาช่วงออกตัว พอเกียร์ทดต่ำ ก็ต้อง “รีดคลัตช์” ออกนาน ทำให้คลัตช์ไหม้ แม้ 3 แผ่น ก็เอาไม่อยู่ ก็เหมือนกับคนที่ชอบออกรถด้วยเกียร์ 2-3 นั่นแหละ ตอนออกตัวก็มีปัญหา ซึ่งปกติรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบนี้ ที่ใช้ยางสลิค จะต้องกระโดดออกไปด้วยความรวดเร็ว แต่คันนี้ออกได้ค่อนข้างช้า ช่วง 0-60 ฟุต อยู่ประมาณ 1.5 วินาที ซึ่งเวลาพอกันกับ IMPREZA อีกคันที่ทำไปวิ่งในรุ่น SUPER 4 4WD ยางเรเดียล ซึ่งอยู่ประมาณ 1.7 วินาที เรียกว่าพอ ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่รถมันคนละคลาส จึงต้องทำอัตราทดเกียร์ใหม่ให้จัดขึ้น ออกรถได้ง่าย…
เครื่องตัวนี้ก็ยกมาจากคัน 4 ประตู สีแดง ที่เคยแข่งอยู่ก่อน และมาทำชุดใหญ่ทีหลัง เคยลง XO ไปแล้ว จำได้ไหมครับ ก็ยังเป็นสเต็ปนั้นอยู่ แต่เปลี่ยนเทอร์โบมาเป็น GReddy T88-38GK ที่กล้าใส่เทอร์โบขนาดใหญ่ เพราะใช้เชื้อเพลิง “เมทานอล” อยู่เป็นปกติ มันเกี่ยวกันตรงที่ว่า ตัวเมทานอลจะมีปริมาณ “ออกซิเจน” อยู่ในตัวมากกว่าเบนซิน เมื่อฉีดด้วยปริมาณเท่ากัน การสันดาปและได้พลังจะรุนแรงกว่า เพราะการจุดระเบิด ออกซิเจนยิ่งมากยิ่งแรง ทำให้มีแรงดันไอเสียสูง สามารถปั่นเทอร์โบขนาดใหญ่ให้บูสต์ได้เร็วกว่า พี่ทวีให้ความเห็นว่า เครื่อง 4 สูบ 2.5 ลิตร ใส่ T88-38GK ถ้าเป็นเบนซินจะรอรอบมาก แต่พอใช้เมทานอล กลับรอรอบน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ก็เป็นเชื้อเพลิงที่ทาง Tawee Motorsport นิยมใช้กัน แต่ข้อเสียก็มี คือมีการกัดกร่อนสูงมาก ทำให้ดูแลรักษายาก ถ้าทิ้งไว้จะมีปัญหาเรื่องการกัดกร่อนและสนิมในระบบเชื้อเพลิง แข่งเสร็จ ควรรีบถ่ายออกทันที และเอาเบนซินธรรมดาติดเครื่องล้าง ให้น้ำมันค้างในระบบเพื่อลดการกัดกร่อน…
อะไรที่เคยได้ยินมา สงสัยใคร่รู้ก็ต้อง “ถาม” ให้แจ่มแจ้ง พร้อมการประมวลผลว่าสิ่งที่ได้รับมานั้น “เข้าเรื่อง” จริงหรือไม่ เราจึงได้ Tip แปลก ๆ มาฝากกันเสมอ พอคุยไปคุยมา ก็ได้ยินคำว่า “ลูกสูบใหญ่ โอกาสเครื่องน็อกมีมาก” โดยเฉพาะเครื่องตระกูล EJ ที่จะมีลูกสูบใหญ่มาก แค่ EJ20 ความจุ 2.0 ลิตร ลูกสูบก็มีขนาดถึง “92.0 มม.” เข้าไปแล้ว แถมเครื่องนี้ขยายไปถึง 2.5 ลิตร ใช้ลูกสูบโตเหมือนบั้งไฟยโสธร มีขนาดถึง “100 มม.” ดังนั้น มันก็เข้าแก๊บตามที่สงสัย สาเหตุของเคสที่ว่ามานี้ ก็จะมาจากเรื่องของ “เวลาในการจุดระเบิด” เมื่อลูกสูบโต จังหวะหัวเทียนจุดระเบิดมาตรงกลาง กว่ามันจะ “แผ่คลื่นความร้อน” ที่ได้จากการวาบไฟไปทั่วหัวลูกสูบ จะใช้เวลานานมากกว่าลูกสูบเล็ก ซึ่งในจังหวะนี้ ความร้อนในห้องเผาไหม้สูง ฝั่งริมของหัวลูกสูบด้านไอดี จะมีความเข้มของส่วนผสมสูงอยู่แล้ว โอกาสที่มันจะเกิดการ “ชิงจุดก่อน” ก็มีสูง เท่ากับว่าตอนนี้ “จุดสองที” ไอ้คลื่นที่กำลังจะมา มาเจอไอ้ที่ชิงจุด สองคลื่นมากระทบกัน เกิด Detonation หรือการจุดระเบิดซ้อนกัน ทำให้เกิดการ “น็อก” ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ไม่เหมือนลูกสูบเล็ก ที่จังหวะการวาบไฟไปทั่วจะเร็วกว่า เวลาที่จะเกิดการจุดเองจึงน้อยลงมาก ดังนั้น ข้อจำกัดตรงนี้ต้องระวัง และป้องกัน เช่น ใช้น้ำมันออกเทนสูง คุมองศาไฟจุดระเบิด แต่เรื่องเน้น ๆ น่าจะเป็นเชื้อเพลิง เพราะเครื่อง EJ พอมาเจอน้ำมันออกเทนต่ำในบ้านเรา มักจะวิ่งไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เท่าที่เคยอ่านข้อมูลในหนังสือต่างประเทศ ก็พบว่า เครื่อง EJ เทอร์โบ ทั้งหลาย ถ้าเป็นในญี่ปุ่น ที่มีน้ำมันออกเทนสูงขายตามปั๊มทั่วไป จะได้แรงม้าเต็มพิกัด พอส่งมาในเมืองไทย ที่มีน้ำมันออกเทน 95 (ไม่รู้จะเต็ม 95 หรือเปล่า ในบางปั๊ม) แถมตอนนี้ยังเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 อีก ก็จำเป็นต้องจูนใหม่ให้เหมาะสม…
คันนี้บอกตรง ๆ ว่ายังไม่ได้สมบูรณ์แบบตามที่ตั้งไว้นัก เวลาควรจะได้ดีกว่านี้ สิ่งที่ยังต้องแก้ไขคือ ระบบส่งกำลัง อย่างที่บอกไปว่าทำอัตราทดต่ำไปหน่อย ออกตัวลำบาก 60 ฟุต ช้ามาก ถ้าเทียบกับแรงม้าและยางที่มี ก็จะทำเป็น 5 เกียร์ เพื่อซอยอัตราทดให้จัดขึ้น และในอนาคต มีแผนว่าจะเปลี่ยนเฟืองท้ายเป็นของ SKYLINE GT-R เพราะมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเดิม สิ่งที่ต้องทำคือ สร้างเพลาข้างขึ้นมาใหม่ทั้งอัน ไม่มีการนำเพลามาตัดต่อและเชื่อมเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอันตรายมาก ส่วนเครื่องยนต์ก็สมบูรณ์แบบแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร…
หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่อง IMPREZA คันสีแดง ของทาง Tawee Motorsport พี่ทวีก็เริ่มสร้างรถคันนี้แล้ว เพื่องาน SOUPED UP โดยเฉพาะ ในช่วงนั้นที่งานไม่ได้จัด ก็ซุ่มไว้จนเกือบลืมไป พอมางานครั้งล่าสุด คันนี้ก็ลงแทร็กให้เห็นจนได้ วันซ้อม Run แรก “เสี้ยม ริมหาด” ก็บอกว่าเวลาเลขตัวเดียวแล้ว ก็คิดว่าคันนี้คงต้องเต็งในรุ่น และอาจจะมีลุ้นติด Top Ten ก็เป็นได้ ยอมรับว่าชื่นชมที่ว่า เอารถยี่ห้อนี้ที่ไม่มีใครกล้าทำแรงมาก ๆ มาปั้นจนสำเร็จ จากประสบการณ์ที่มีอยู่นานนับ 20 ปี ก็กลายเป็นหนึ่งเดียวในสนาม รวมถึงการเซ็ตรถที่ใช้ความรู้ เลยได้เวลาดีครับ ท้ายสุด ก็ขอขอบคุณ “พี่ทวี” สำหรับข้อมูลเทคนิคต่าง ๆ ในรถคันนี้ครับ ใครใช้ SUBARU สนใจโมดิฟาย หรือซ่อมบำรุงปกติ ติดต่อพี่ทวีได้ที่ 08-1874-1422 ครับ…
- กระดองไฟเบอร์โดย Tawee Motorsport ลดน้ำหนักจนเหลือ 1,050 กก. รวมคนขับ
- ตัดพื้นด้านหลังทิ้งทั้งหมด เดิมเป็น 4 ประตู แปลงเป็น 2 ประตู ไม่ยาก เพราะมิติรถเท่ากันพอดี มีเปลี่ยนแค่ชิ้นข้าง (Side Panel) เป็นของ 2 ประตู สปอยเลอร์ GT Wing
- ล้อ EVO Regamaster ขนาด 8 x 15 นิ้ว ชุดเบรก STi ยางขนาด 26.0/9.0-15 ท่อไอเสียยิงสดหน้ารถ
- ช่วงล่าง STi โช้คอัพ KW ปั๊มติ๊กสีเงินสองตัวคู่ ยิงไปถัง A ก่อน มอเตอร์สีดำสองตัว เป็นปั๊มน้ำระบบอินเตอร์คูลเลอร์และหม้อน้ำ
- ภายในดิบ ๆ พวงมาลัย MOMO พร้อมสวิตช์คอนโทรลปรับบูสต์ GReddy Profec B Spec II เกจ์วัดรอบ AUTO METER ส่วนที่เหลือเป็นของ Stri ทั้งหมด
- เบาะ BIRDE VIOS III โรลบาร์หลายจุด กล่อง AUTRONIC ที่ Tawee Motorsport ถนัดในการจูนอย่างมาก
- EJ20 ท่อนล่าง 2.5 ลิตร วาล์ว FERREA รีเทนเนอร์ + สปริงวาล์ว SUPERTECH แคม 272 องศา ท่อนล่าง จัดเต็มด้วยปลอกสูบ ของ DARTON SLEEVES ลูกสูบ BC ก้านสูบ PAUTER X-Beam แบริ่งชาฟท์ Power Enterprise ข้อเหวี่ยง STi 2.5 ลิตร
- เทอร์โบ GReddy T88-38GK พร้อม Thermo Shield ของ Garrett กันความร้อนแผ่กระจายไปทำร้ายอุปกรณ์อื่น
- ตัวเครื่องสั้นมาก ๆ เพราะมีสูบในแนวเรียงแค่ 2 สูบ เท่านั้น ทำให้เครื่องอยู่ใกล้กลางรถมาก การเฉลี่ยน้ำหนักดีเยี่ยม ห้องเครื่องไม่ยาว ซึ่งเคยบอกไปแล้วว่า ห้องเครื่องสั้น ๆ มีความแข็งแรงของโครงสร้างมากกว่าห้องเครื่องที่ยาว ถ้าเหล็กแข็งเท่ากัน ของที่สั้นจะแข็งกว่าของที่ยาว