เจ้าตำนาน VEILSIDE My Name is … เล็ก โปรเจคเอ็ม

 

STORY : T.Aviruth  (^_^!) / PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่

ตำนาน VEILSIDE ในประเทศไทย เริ่มต้นที่ผู้ชายคนนี้  “เล็ก โปรเจคเอ็ม”  นี่คือบุคคลในตำนานรถซิ่งอีกหนึ่งคน  ที่หลายคนอยากจะเป็นเหมือนเค้า  รถซิ่งถนนในยุค 90’s ไม่มีใครไม่รู้จักเค้า จากวันนั้นถึงวันนี้   อะไรคือคีย์หลักที่ทำให้เค้ากลับมาบนเส้นทาง “รถซิ่ง” อีกครั้ง  My Name is… มีคำตอบครับ ผมก็เป็นวัยรุ่นตอนปลายคนนึง  ที่เกิดมาทันรถซิ่งยุค 90’s  และแน่นอนว่า  “เล็ก โปรเจคเอ็ม”  ขอเรียกสั้นๆ ว่า “พี่เล็ก” แล้วกัน  เป็นวัยรุ่นเฟี้ยวๆ เบอร์ต้นๆ ของคนเล่นรถซิ่งในยุคนั้นเลย  ผมรู้จักเค้าเพราะรถสปอร์ตที่เค้าขับในยุคนั้น  ใช่แล้ว.. มันคือ TOYOTA Supra Veilside สีทอง ในตำนาน  ซึ่งในยุคนั้น คนที่อัดรถบนถนนคืนวันเสาร์ บอกเลยว่าทุกคนรู้จักพี่เล็กอย่างแน่นอน

และเมื่อเร็วๆ นี้  มีการจัดงาน Reunion  Drag Party ขึ้นที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต (นครชัยศรี)  เป็นงานรวมศิษย์เก่าขาซิ่งยุค 90’s  มาแข่งรถและพบปะสังสรรค์กัน  ผมเองก็ไปร่วมงาน  และมีโอกาสเจอกับพี่เล็ก แล้วก็กลุ่มรุ่นพี่ขาซิ่งทีมต่างๆ ในยุคนั้น  บรรยากาศความสนุกแบบวันวานหวนกลับมาอีกครั้ง  และพอจะเป็นไปได้มั้ย  ที่เราอยากสัมภาษณ์ผู้ชายที่ชื่อ “เล็ก โปรเจคเอ็ม” กับตัวตนที่แท้จริง จากอดีตสู่ปัจจุบัน  ก็เลยเข้าไปทักทายพร้อมกับทาบทามขอสัมภาษณ์  ซึ่งพี่เล็กก็ยินดีที่จะให้ทีมงานสัมภาษณ์  พร้อมเปิดบ้านย่าน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์  เป็นสถานที่นัดสัมภาษณ์

ในวันนัดหมาย ผมและทีมงานเดินทางไปยังสถานที่  นั่นก็คือบ้านพี่เล็ก  ตามเวลานัดหมาย  ซึ่งผมเองก็ไม่รีรอ  เพราะไปใช้สถานที่ส่วนตัวในการสัมภาษณ์  จึงไม่ได้อารัมภบทอะไรมากมาย พร้อมกับเปิดฉากคำถามว่า  เล็ก โปรเจคเอ็ม  ฉายานี้ต้นกำเนิดเกิดจากอะไร  “จริงๆ ฉายานี้เกิดจากตอนทำร้านขายของแต่งรถครับ  ชีวิตผมเริ่มอยู่กับรถอย่างจริงจังก็ตอนเรียน ปวช. ที่เซนต์จอห์น นี่แหละ  จุดเริ่มก็คือจบ ม.3 ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ  บ้านผมอยู่ที่นั่น  เป็นเด็กพระประแดง  ก็มองหาที่เรียนต่อในชั้น ม.4  ในตอนนั้นคุณพ่อเป็นคนวางแผนชีวิตการเรียนผมทั้งหมด  เรื่องของเรื่อง คุณพ่ออยากให้เรียนต่อในสายวิชาชีพ ไม่อยากให้ต่อสายสามัญ  ตัวเราเองก็มีหน้าที่เรียนตามที่พ่ออยากจะให้เป็น ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร ท่านอยากให้เรียน “อิเล็กทรอนิกส์”  เพราะในอนาคตโลกมันเปลี่ยนแปลง  ระบบคอมพิวเตอร์จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย  ซึ่งในตอนที่ผมเรียนนั้น “คอมพิวเตอร์” ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น  ก็เลยมาสมัครเข้าเรียน “ปวช.” ที่เซนต์จอห์น  ก็เป็นครั้งแรกที่จะได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  ตอนนั้นเขาจะแบ่งการเรียนการสอนเป็น “รอบเช้า-รอบบ่าย”  ผมเองอยากจะขอเรียนรอบบ่าย  แต่คุณพ่อก็ไม่อนุญาต  เนื่องด้วยท่านเป็นคนเชื้อสายจีนแท้ๆ ก็ไม่อยากให้ลูกตื่นสาย  อยากให้ขยัน ปรากฏว่าตอนไปสมัคร “ช่างอิเล็กทรอนิกส์” รอบเช้าเต็ม เหลือแต่รอบบ่าย  ท่านก็ไม่ให้เรียน  เปลี่ยนสายวิชาชีพเลย  มาเป็น “ช่างไฟฟ้า” รอบเช้าก็เต็มอีก  ทีนี้เหลือ “พาณิชย์” และ “ช่างยนต์” ที่เปิดรับรอบเช้าอยู่ ก็เลยบอกพ่อขอเลือกเองนะ  เพราะไม่อยากเรียนพาณิชย์  ในยุคนั้นผู้ชายที่เรียนสายนี้จะไม่ค่อยแมนเต็ม 100%  ผมเองก็เลือกเรียน “ช่างยนต์” เลย  นั่นและคือจุดหักเหของชีวิต ก้าวแรกที่เข้าสู่วงการรถยนต์  ซึ่งในตอนนั้นผมขับรถยนต์ได้ตั้งแต่ ม.2 แต่ก็ไม่ได้ขับไปไหนไกล  วนเวียนอยู่แถวบ้าน  พอมาเรียน ปวช.1 รอบเช้า โรงเรียนเข้า 07.00 น  บ้านผมอยู่พระประแดง  ต้องตื่น 04.30 น. แล้วเดินจากบ้านมาขึ้นรถเมล์เพื่อไปเรียน   คุณพ่อไม่อนุญาตให้ขับรถไปเรียน จนเริ่มขึ้น ปวช.2  เริ่มอินกับวิชาที่เรียน  ได้เข้าช็อป ลงมือปฏิบัติมากกว่าตอน ปวช.1   นั่นเป็นการเตรียมปูพื้นฐานช่างยนต์ ทฤษฎีจะเยอะ   และก็มีโอกาสได้ขับกระบะ TOYOTA HILUX มาเรียน  แต่ได้แค่ขับมาเท่านั้นนะ  เพราะจะมีคนที่บ้านนั่งมาด้วย เพื่อขับกลับ ส่วนตอนเลิกเรียนก็นั่งรถเมล์กลับเหมือนเดิม ในยุคนั้นไม่มีสะพานแขวนนะ  ผมต้องขับจากพระประแดงมาขึ้นทางด่วนแถวถนนตก ช่องนนทรี เพื่อมาโรงเรียน มันเป็นเส้นทางเดียวที่จะเดินทางมาเรียนได้เร็วที่สุด ในตอน ปวช.3 นี่แหละ  เริ่มแต่งรถแล้ว  ที่บ้านให้  ISUZU มังกรทอง  เป็นรถคันแรกในชีวิตที่พ่อให้  ด้วยความประพฤติดี เลิกเรียนแล้วกลับบ้าน ไม่เถลไถล ก็เลยได้รถมาเป็นรางวัล   เมื่อก่อนกระบะ ISUZU ไม่มีเทอร์โบ  ผมก็เลยเซตเทอร์โบเลยเป็นอย่างแรก  โดยให้ พี่น้อย ออโต้รีเสิร์ท เป็นคนทำให้  สมัยนั้น  พัง-ซ่อม จนเป็นเรื่องปกติ จนที่บ้านบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้อีก จะยึดรถคืน ไม่ให้ใช้แล้ว

ในตอนนั้นผมก็เอารถคันนี้ไปลงแข่งแดร็กที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิตแล้ว  ในยุคนั้นรุ่นดีเซลเทอร์โบ   กติกาไม่มีอะไรมาก คล้ายๆ รุ่นโอเพ่น ใครเร็วสุดก็ชนะ ก็เริ่มวนเวียนเข้าสู่รถซิ่งอย่างเต็มตัว  จาก ISUZU มังกรทอง ก็มาเป็น TOYOTA ไมตี้เอ็กซ์  ตอนนี้ก็เรียน ปวส. แล้ว ได้รู้จักกับ อ๊อฟ หทัย ไชยวัณณ์  สนิทกันเลย  เพราะเรียนที่เดียวกัน  อ๊อฟ ก็พาผมเข้าบ้านเลย ไปหาป๋าฉัตร (ฉัตรชัย ไชยวัณณ์)  บอกป๋าว่าอยากแข่งรถ   อยากอยู่ในทีมด้วย  ซึ่งหลังจากนั้น ป๋าฉัตร ก็เริ่มโมดิฟายรถให้ผม  เริ่มแรก ไมตี้เอ็กซ์  ชนเกียร์ 3T-GE  เซตเทอร์โบที่อาแดง อภิชาติ ฟุ้งลัดดา  วิ่งในสนามพีระฯ เซอร์กิต  ก็มีหลายคนมาสอนเทคนิคการขับ อาทิ พี่เดช  วรพจน์ บุญช่วยเหลือ  อ๊อฟ ก็สอนผมขับ  ในยุคนั้น พี่เกี๋ยง เกรียงไกร ลิ้มนันทรักษ์ กับ พี่แมน มานิตย์ นี่ชอบมาก แต่ถ้าเป็นสไตล์การขับ  ผมชอบแนวบู๊ แอ็กชั่นของพี่เดช วรพจน์ บุญช่วยเหลือ ในตอนนั้นเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่กับป๋าฉัตร  ได้มีโอกาสรู้จักกับพี่นักแข่งที่มีชื่อเสียงชั้นแนวหน้าของเมืองไทยหลายท่าน อาทิ พี่เปาะ กีรเกียรติ เย็นมะโนช   พี่จักรทอง ตอนที่แข่งรถก็ประสบความสำเร็จตลอดนะ ติด 1 ใน 5 เสมอ  แต่ก็ประกาศให้ใครรู้ไม่ได้  เพราะคุณพ่อไม่ชอบให้ซิ่งรถ ทุกอย่างที่ทำก็เลยต้องหลบๆ ซ่อนๆ  แอบสถานเดียว คือวันไหนถ้าไปทำอะไรกับรถมาใหม่ๆ ก็ไม่กล้าเอาเข้าบ้านเลย  บอกได้แต่ว่าเอารถไปเข้าศูนย์บริการ ถ้าเกิดพ่อถาม ก็มีชีวิตแบบนี้มาสักพัก  จนวันนึงพ่อป่วย  ผมก็ไปเฝ้าที่โรงพยาบาล  ท่านก็บอกว่า “ป๊าขอ อย่าซิ่งรถอีกนะ”  พอได้ยินคำนี้ก็รู้ว่า  พ่อรู้มาตลอด แต่ท่านไม่เคยพูดเลย เราทำให้เค้าห่วงมาตลอด  ก็เลยหยุดซิ่งรถไปพักใหญ่ ตามคำขอของพ่อ  แต่เมื่อหลังจากที่คุณพ่อเสียไปปีกว่า  ผมก็เริ่มกลับมาซิ่งใหม่  ก่อนหน้าที่จะกลับมาซิ่ง  ผมจบ ปวส. แล้วไปอยู่ที่อเมริกา  แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน  พอกลับมาเมืองไทย ก็เริ่มซิ่งใหม่อีกครั้ง ด้วยรถ Nissan Bluebird (U11)  เครื่องยนต์ขับหน้า  CA18DET   งัดวิชาที่มีมาเลย ไขควงปากแบนกับค้อน ตอกเวสต์เกต เพิ่มบูสต์ก่อนเลย

หลังจากที่คุณพ่อเสียไป  ก็มีการแบ่งมรดก  ส่วนนึงคุณแม่เก็บไว้  บางส่วนก็แบ่งมาที่ผม  คราวนี้แหละเต็มเหนี่ยว ไม่มียั้งกับรถซิ่งอีกต่อไป  ก็เลยมีสังคมเป็นทีมรถเพื่อนๆ กัน อยู่มาหลายสังกัด อาทิ Next Week, เปรียว หลังจากนั้นก็มาตั้งทีมกันเองแถวบ้านชื่อ ทีม Prince มีอยู่ไม่กี่คัน หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไป  ทีนี้เหลือผมคนเดียวแล้ว ก็เลยใช้ชื่อว่า “Monster” ก็ไปแข่งรถกระบะรุ่นมือใหม่ ที่สนามพีระฯ เซอร์กิต เหมือนเช่นเคย  ในปีนั้นมีตำแหน่งถึง “รองแชมป์ประเทศไทย” แพ้  “ทีมอำนาจหอยชลบุรี” หลังจากนั้นก็เลิกแข่งสนาม  หันมาซิ่งบนถนน มันเป็นยุคของรถสปอร์ตญี่ปุ่น ปี 90’S รถสปอร์ตคันแรกในชีวิตก็เป็น TOYOTA Supra (JZA80)  ตอนที่ซื้อรถคันนี้อยากได้เกียร์ธรรมดา แต่ในบ้านเรายังไม่มีเข้ามา  ก็เลยเอาเป็นตัวเกียร์ AUTO มาแทน  ในตอนแรกที่จะซื้อรถ Supra JZA80 กับ Skyline  BNR 32 เพิ่งออกเลย ใจอยากได้บอดี้ที่สปอร์ตจริงๆ  Skyline บอดี้ดูไม่สปอร์ต ก็เลยเลือกเอา Supra  แถมช่วงนั้นก็วัยรุ่นเต็มเหนี่ยว ยี่สิบต้นๆ  รถสปอร์ตกับสาวๆ ก็ต้องมีกันบ้าง  ได้รถมาใช่ว่าจะขับเดิมๆ  มุ่งตรงไปหา “พี่อ๋อง” ชลธิต ชลบุญญาเดช   Ray Techno Service จัดชุดแต่ง Kansai มารอบคัน เพราะแบรนด์นี้ในตอนนั้นดังมาก หลังจากนั้นสปอร์ตญี่ปุ่นตามมาอีกหลายคัน จนคุณแม่ตำหนิว่าซื้อทำไมหลายคัน สรุปส่งท้าย พี่ชายก็เอาไปขับกันสบายเลย

ผมเปิดร้านขายของแต่งรถชื่อว่า “Project M” ชื่อนี้ผมตั้งเอง  ไม่มีใครช่วยคิด  ตอนนั้นอยากทำอะไรก็ทำ  ซิ่งแหลก มีอัดรถกลางคืนที่ไหนไปหมด  หน้าเซนต์จอห์น  อ้อมน้อย  บางใหญ่  ในยุคนั้นคนรู้จักผมเยอะมาก  ไม่มีฉายา “เล็ก โปรเจคเอ็ม”  รู้แต่ว่าชื่อเล็ก  มีรถสปอร์ตหลายคัน บางคนที่รุ่นใกล้ๆ กันก็เรียก “เล็ก Prince” ก็มี  ในตอนช่วงหลังที่มาเปิดร้าน “Project M” ก็ยังเรียนอยู่ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ด้วย  บอกตามตรงไม่ค่อยได้ไปเรียน ก็มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เรียนด้วยกัน คอยช่วยเหลือเรื่องการเรียนมาตลอด  และรถอีกคันที่จำแม่นเลย คือ  AIM MOTOTSPORT นำ Nissan Silvia S14 (Minor Change) เข้ามาขาย ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวกับสีดำ   มีสีน้ำเงินเข้ามาหนึ่งคัน  ผมก็ไปเอาเจ้า Silvia S14 สีน้ำเงินคันนั้นมา   แต่ด้วยความห้าวในตอนนั้น  ก็เลย Drift ไปฟาดตู้โทรศัพท์สาธารณะกับเสาไฟฟ้า ซุ้มล้อด้านซ้ายฉีก  การซ่อมแซมในยุคนั้นก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยเหมือนสมัยนี้ ก็กลัวซ่อมมาแล้วจะไม่เหมือนเดิม  เลยตัดสินใจขายซากพร้อมทะเบียนไป เหตุการณ์ในครั้งนั้นจดจำได้เป็นอย่างดี แล้วก็มีรถอยู่คันนึง ที่ทุกคนยังคงจดจำได้ตลอด นั่นก็คือ TOYOTA Supra จากสำนัก Veilside ซึ่งผมทำการบ้านพอสมควรกับรถคันนี้  รวมทั้งเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ไปดูตามสำนักต่างๆ  HKS, Kansai,  Mine’s, Top Fuel  และอีกมากมาย  ก็มาจบที่ Supra Veilside  นำเข้ามาทั้งคัน หลังจากนั้นก็ไล่มายาวเลย  ทุกตัวที่สำนักเค้าทำแต่งออกมา  ผมมีเกือบหมด โดยสังพาร์ทแท้เข้ามาทุกคัน อาทิ Skyline, RX-7, 200 SX, MR2 ในทุกช่วงจังหวะชีวิตของผม มันคาบเกี่ยวก้ำกึ่งกันตลอด  ไม่ใช่อย่างหมดอันนี้แล้วไปทำอันโน้น บางทีก็ทำพร้อมๆ กัน  อย่าง Drift  เนี่ย  ก็ยังอยู่ในช่วงที่ผมเปิดร้านอยู่   ที่หันมาเล่นเพราะอยากได้อะไรใหม่ๆ  เห็นญี่ปุ่นเค้านิยม  ก็เอามาลองเล่น  โดยดูจากวีดีโอออปชั่น แล้วก็ทำความเข้าใจกันเองกับ “ป๊อปปิ”  2 คน   กว่าจะเริ่มตั้งทรงได้  ชนไปหลายคันมาก  โดยเฉพาะ 200SX  ซ้อมแล้วชน  ไม่ซ่อม  ขายเลย  เพราะไม่มั่นใจ  ในยุคนั้นไม่นิยมสปอตตัวถัง  ถ้าจะทำก็ต้องไปที่อู่แรลลี่ ทำคันนึงที ใช้ระยะเวลายาวเลย มันต่างกับยุคปัจจุบันที่มีอู่ทั่วถึง แล้วก็รับทำงานตัวถังแบบนี้  ในยุคนั้นทำได้แต่ใส่ค้ำดามตัวถัง  คิดกันว่า ล้อหลังต้องลื่นๆ พลิ้วๆ ล้อไม่แบะ ยางแข็งๆ ก็คิดจากทฤษฎีความเป็นจริง  ทำแบบนี้แล้วมันจะไม่เกาะถนน เพื่อจะได้ท้ายสไลด์ง่ายๆ  เพราะรถในตอนนั้นไม่มีการทำเครื่องยนต์แรงๆ เหมือนกับตอนนี้  แล้วมีอยู่เทรนด์นึง ผมเห็นในหนังสือญี่ปุ่น ก็เลยลองเอามาทำบ้าง คือการ “Face Off”   ซึ่งผมเริ่มจาก 200SX มาใส่หน้า Silvia S13 ก็เป็นอีกเทรนด์นึงที่นิยมแล้วก็แพร่หลายมากในยุคนั้น ตั้งแต่ผมมาเริ่มเล่นดริฟต์ ก็เริ่มมีการสั่งของสำหรับรถดริฟต์เข้ามามาก อาทิ พวกค้ำ หรือบอลจอยต์ ต่างๆ ป็อป  P Style ก็เป็น Drifter รุ่นที่ 2 ที่ก้าวเข้ามา เอารถ Opel ขับหน้า มาแข่ง Drift  ซึ่งผมก็เห็นว่าใช้ได้นะ เพราะเค้าเอารถขับหน้ามาดริฟต์  หลังจากนั้นผมก็เริ่มเฟดตัวเองออกจากวงการดริฟต์  จนมาถึงจุดที่ทำให้ตัวเองท้อที่สุด  เรียกว่าหันหลังให้กับการแต่งรถยนต์เลย  ก็คือโดนศุลกากรเข้ามายึดของที่ร้าน ทำให้ “ท้อ” ก็เลยเคลียร์ของที่เหลือแล้วปิดกิจการ

ก็เลยไปจัดแข่งแดร็กที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต กับคุณแท่น  จัดในนาม “โปรเจคเอ็ม” จนมีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ  รถหลุดไปโดนถึงคนดู นั่นก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เลิกจัดการแข่งขันแดร็กไปเลย  ทีนี้ก็ไม่มีกิจกรรมทำแล้ว  ร้านก็ไม่มี  งานแข่งก็ไม่ได้จัด  ซิ่งถนนก็เลิกแล้ว คือหันหลังให้วงการมอเตอร์สปอร์ตไปเลย   โดยมาจับงานทำเต็นท์รถ ก็ยังใช้ชื่อ “โปรเจคเอ็มยูสคาร์”  แล้วก็เที่ยวอย่างเดียว ทำอยู่แค่นี้ในตอนนั้น  ทำอยู่เกือบๆ สิบปี  มาเจอเหตุไม่ดี  “โดนโกง” ก็เลยเลิกทำเต็นท์ เปลี่ยนมาเป็นตัดรถเข้าเต็นท์แทน ทำสักพักก็เบื่อ เพราะอยู่ตรงนี้มานานมาก  ก็เลยอยากนิ่งๆ สักพัก  ขอเที่ยวอย่างเดียว เที่ยวไปเรื่อย เที่ยวมาประมาณ 5-6 ปี  เรียกว่า เที่ยวจนได้ดี   ตอนทำรถเพื่อนเราก็เยอะ  พอมาเที่ยวก็ได้เพื่อนอีกสังคม  ก็เพิ่มเพื่อนเยอะขึ้นไปใหญ่   โดยส่วนตัวรู้จักกับรุ่นน้องคนนึงเป็นหุ้นส่วนกับ Slim (RCA) เมื่อสักสิบปีที่แล้ว ร้านเพิ่งเปิดใหม่ๆ เลย  เค้ากำลังต้องการพาร์ตเนอร์ที่มีสังคมกว้างๆ เป็นที่รู้จักของหลายคน  เค้าก็มาชวนผมเป็นพาร์ตเนอร์  Slim (RCA)  เค้าก็บอกให้ผมลองไปดูร้านที่ RCA  จำได้ว่าไปดูทีแรก “น้ำตาจะไหล” ไม่มีคนเลย  แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดอีกแบบคือ “โอกาส”  ในเมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสให้แล้ว จะไม่ลองสู้เลยหรอ? ก็ตอบตกลงไป แต่ยื่นข้อเสนอไปว่า  ของหุ้นตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่แบ่งให้นะ  แต่มีข้อแม้ว่าขอทยอยจ่ายเงิน  ไม่อยากจ่ายเงินก้อน  เพราะว่าเราโดนเรื่องร้ายๆ ทางธุรกิจมา 2 แมตช์ใหญ่ๆ  ทำอะไรก็เลยต้องระวังตัว แล้วคิดให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น  ก็เลยลองทำงานชิ้นนี้ดู  ซึ่งพอใครๆ ถามว่าไปเที่ยวไหน  ผมก็บอกมาร้านพี่เลย Slim (RCA) แล้วผมก็รู้สึกว่า Slim Group เป็นอีกครอบครัวนึงของผม  เค้าซื้อใจผม โดยที่ผมยังจ่ายเงินค่าหุ้นส่วนยังไม่ทันจะครบเลย  แต่เค้าให้ปันผลเราในสัดส่วนที่ผมถือหุ้นเลย  ซึ่งที่จริงเค้าหักตามสัดส่วนได้เลย  แต่เค้าก็ไม่ทำแบบนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีในการเริ่มต้นธุรกิจ  ซึ่งจากจุดนั้น ทำให้ผมยังคงดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนที่จะกลับเข้ามาในวงการแบบจริงจังมากขึ้น คือได้รับการทาบทามจาก เอก และ ไผ่ โปรโมเตอร์ผู้จัดรายการ Drift Competition ให้มาเป็นกรรมการในการตัดสินการแข่งขันรายการนี้  ซึ่งเค้าก็จ้างให้ทำหน้าที่ต่อมาเรื่อยๆ  จนเค้าอยากเปลี่ยนตัวเมื่อไหร่ นั่นแหละถึงจะเลิก จนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาเนี่ย  ผมโพสต์ Facebook ส่วนตัวว่า “อยากไปซิ่งรถเหมือนตอนเด็กอีกครั้ง”  เพราะคำนี้แหละ  มันจึงกลายเป็นเรื่องราวของงานรถซิ่งยุค 90’S  REUNION  DRAG & PARTY  ที่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ  ผมอยากได้ความรู้สึกเหมือนตอนนั้น ไม่จำเป็นต้องแรงที่สุดในสนาม ไม่มีการชิงดีชิงเด่น เป็นการชิงรอยยิ้ม ครั้งหนึ่งเราเคยซิ่งรถกัน  แล้ววันนึงเราก็กลับมาพบกันใหม่  ผมว่ามันคือมิตรภาพ” นี่คือชีวิตและตัวตนจริงๆ ของผู้ชายที่ชื่อ “วิรัช คุณาทรกุล” หรือ  “เล็ก โปรเจคเอ็ม”  ชีวิตที่เหมือนจะเพียบพร้อมไปทุกๆอย่าง  แต่ก็ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป  ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย  ขอให้ตั้งใจทำ  แล้วตั้งคำถามให้กับตัวเอง “พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง?” เพราะโอกาสไม่ได้มีเข้ามาหาทุกคน  แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเดินเข้าไปหาโอกาส…

 

 แถม…..

“ผมชอบ Font และ Logo ของ “โปรเจคมิว”  แต่กลัวถูกฟ้องร้องเรื่องของลิขสิทธิ์ ถ้านำมาใช้ตั้งชื่อร้าน ก็เลยปรับตัว “มิว” ให้เป็นตัว “เอ็ม” ในความหมายของตัว “เอ็ม” มันเป็นคำย่อของ “แมน”  ความหมายเปรียบเสมือนว่า  “มันเป็นโปรเจ็กต์ของผู้ชาย”  ต้องผู้ชายแสบๆ  เกเรๆ เท่านั้น ที่จะเข้าใจรถพวกนี้  ซึ่งผู้ที่ลงมือปรับแต่ง “มิว” ให้เป็น “เอ็ม” ก็เป็นฝีมือ พี่เบิ้ม สติ๊กเกอร์!!