เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
MAD MIKE MAD SEVEN !!!
First in Thailand with NZ Drift Machine
First in The World With Special 4 Rotor Engine !!!
ในฉบับนี้ ผมเชื่อมั่นว่านี่เป็น “สิ่งพิเศษ” ที่จะมอบให้ผู้อ่านทุกท่าน เพราะคันนี้เป็นรถ MAZDA RX-7 ตัวดริฟต์ที่นำเข้ามาจาก “New Zealand” เพื่อมากวาดท้ายโชว์ในงาน GOODYEAR FORMULA DRIFT THAILAND 2009 ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้มาก รถระดับโลกเช่นนี้ มีโอกาสที่จะชมตัวเป็น ๆ ได้ไม่ง่ายนักในเมืองไทย เราจึงขอนำเสนอเพื่อให้เห็นของแปลก ๆ ที่ต่างประเทศทำกัน ไม่ได้หมายความว่าของไทยจะไม่ดี แต่ครั้งนี้อาจจะเป็นการ Get Idea ในการทำรถแบบใหม่ ๆ ก็ได้ ใครจะไปรู้ สำหรับรถคันนี้ก็อยู่ในการครอบครองของ MAD MIKE WHIDDETT ที่มีเอกลักษณ์คือความบ้าบิ่น แต่กันเอง ซึ่งเขายินดีจะให้รายละเอียดกับผู้ที่สนใจแบบไม่ถือตัว (ต้องเป็นช่วงที่ทีมงานว่างนะครับ ถ้ากำลังทำงานอยู่ เขาจะไม่คุย) ทั้งนี้ รถของเขาถึงจะเป็น RX-7 ที่อาจจะดูไม่แปลกในบ้านเรา แต่ช้าก่อน สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ “เครื่องยนต์” ที่ไม่ใช่ Rotary ธรรมดา จะไม่ธรรมดาอย่างไร เชิญทัศนากันเต็ม ๆ เลยครับ…
TOO LOUD TOO BADDDD !!!
26B 4 Rotors สุดยิ่งกว่าสุด !!!
คงไม่เกริ่นอะไรมากนะครับ เพราะเนื้อที่มีน้อย รายละเอียดต่าง ๆ ของตัวรถก็ชมใต้ภาพได้เลย สำหรับเครื่องยนต์ของคันนี้ เดิมทีจะเป็น 20B 3 โรเตอร์ โมดิฟายเต็ม โดยไม่พึ่งระบบอัดอากาศใด ๆ (จริง ๆ MAD MIKE จะมี RX-8 อีกคันหนึ่ง คันนั้นใส่เทอร์โบ แต่คัน RX-7 จะไม่ใส่ ให้บุคลิกที่แตกต่างกัน) แต่ยังไม่สะใจ เพราะครั้งนี้ขยับสเต็ปใหม่ ยกเอาเครื่องยนต์ที่ “พิเศษสุด” ซึ่งไม่ใช่ของที่มีขายทั่วไป เพราะมีถึง “4 โรเตอร์” ด้วยกัน สำหรับเครื่องแบบ 4 โรเตอร์ จะมีชื่อเรียกกันว่า “R26B” (ไม่ใช่ RB26 นะครับ) จุดกำเนิดที่มีชื่อเสียงของมัน มาจากรถแข่ง Group C ที่ชื่อว่า MAZDA 787B เป็นรถแข่งในรายการ Le Mans 24 Hours ในช่วงต้นยุคปี 90’s ตัวนั้น MAZDASPEED เป็นผู้ทำออกมา โดยมีความจุรวม 2,622 ซี.ซี. ให้แรงม้าได้กว่า 700 hp ที่ 9,000 รอบ โดยไม่พึ่งระบบอัดอากาศใด ๆ ทั้งสิ้น…
สำหรับเครื่องยนต์ R26B จริง ๆ แล้ว ก็เกิดจากเอาส่วนประกอบของเครื่องตระกูล 13B มารวมกัน เพราะเครื่องโรตารี่สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันได้ ก็เอามาต่อ ๆ กัน กลายเป็น 3 โรเตอร์ (20B-REW) หรือ 4 โรเตอร์ ก็ได้ สิ่งที่ต้องทำขึ้นมาก็คือ “เพลาข้อเหวี่ยง” หรือ Eccentric Shaft (จริง ๆ ไม่อยากเรียกว่าเพลาข้อเหวี่ยง มันเป็น “เพลาเยื้องศูนย์” ต่างหาก เพื่อให้โรเตอร์เคลื่อนที่แบบเยื้องศูนย์ได้) ตัวเพลาเยื้องศูนย์ก็ต้องวางตำแหน่งให้โรเตอร์ทั้งหมด มีตำแหน่งการจุดระเบิดที่เหลื่อมล้ำกันตามที่องศากำหนด สำหรับเครื่อง R26B ตัวที่อยู่ในรถคันนี้ จะเป็นชุดคิตของ P.P.R.E. HOUSE PERFORMANCE สำนักโมดิฟายเครื่องโรตารี่ในนิวซีแลนด์ โดยจะมี Eccentric Shaft ที่เป็นแบบ Full Custom Made รวมถึงโรเตอร์แบบพิเศษ High Compression (กำลังอัดสูง) เครื่องยนต์ตัวนี้ จะใช้รอบอยู่ที่ “8,750 รอบ” และทางทีมงานของ MAD MIKE ก็บอกถึง “แรงม้า” ว่ามีอยู่ “513 whp” (wheel horse power) ซึ่งก็ไม่ธรรมดาสำหรับเครื่องที่ไม่มีระบบอัดอากาศใด ๆ ทั้งสิ้น สาเหตุที่ MAD MIKE เลือกเล่นเครื่องตัวนี้ ก็เพราะชอบในความตื่นเต้น และยังไม่มีใครทำเครื่องตัวนี้ไว้ Drift อีกอย่างก็คือ เหตุที่ไม่เล่นระบบอัดอากาศ ก็เพราะ “ชอบเสียงเครื่องแบบดิบ ๆ” แผดหวานอย่างบาดใจที่สุด ตามคอนเซ็ปต์ “TOO LOUD TOO BAD !!!” ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้…
เหตุของความจัดจ้านจาก Rotary
ทุกท่านคงเคยได้ยินว่า เครื่องโรตารี่มีความ “จัดจ้าน” ทั้งรอบเครื่องและเสียง ที่เหนือกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ลูกสูบ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของมันอย่างแรงกล้า และโดยเฉพาะถ้าใครได้ไปชมการแข่งขันครั้งนี้ จะได้ยินเสียงท่อของ RX-7 คันนี้ จะพบว่า “มันช่างหวานและแผดอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน” เสียงที่คุณได้ยินจากท่อไอเสียก็คือ “เสียงจากการจุดระเบิดของเครื่องยนต์จากในห้องเผาไหม้” นั่นเอง ยิ่งเสียงแผดหวาน ยิ่งมีการจุดระเบิดที่รุนแรง และ “ถี่” โดยเฉพาะเครื่องสูบเยอะ เสียงจะหวานต่อเนื่องมากกว่าสูบน้อย ๆ เพราะมีการจุดระเบิดที่ถี่กว่านั่นเอง และยิ่งเครื่องยนต์ที่มีโรเตอร์มากถึง 4 โรเตอร์ การจุดระเบิดก็ยิ่ง “ถี่ยิบ” ขึ้นไปอีก เราลองมาดูพื้นฐานการจุดระเบิดของเครื่องโรตารี่ก่อนดีกว่า ว่ามีอะไรแตกต่างจากเครื่องลูกสูบ และข้อแตกต่าง มันจะอำนวยผลได้อย่างไรบ้าง…
โดยปกติการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ลูกสูบ ถ้าเป็นเครื่อง 1 สูบ เพลาข้อเหวี่ยงหมุนสองรอบ (720 องศา) จุดระเบิด 1 ครั้ง ถ้า 6 สูบ ก็จุดระเบิด 6 ครั้ง กี่สูบก็จุดระเบิดเท่านั้นครั้ง อยากรู้จุดระเบิดที่ “กี่องศา” ก็เอาจำนวนสูบหาร 720 เช่น เครื่อง 6 สูบ ก็เอา 720 ตั้ง หารด้วย 6 ก็เท่ากับว่า จุดระเบิดทุก ๆ 120 องศา อะไรทำนองนี้แหละ แต่ถ้าเป็นเครื่อง “โรตารี่” เทียบ 1 โรเตอร์ มีห้องเผาไหม้ 3 ห้อง เพลา Eccentric (เทียบได้กับเพลาข้อเหวี่ยง หรือ Crank Shaft ของเครื่องลูกสูบ) หมุน 1 รอบ เท่ากับ 360 องศา โรเตอร์หมุน 1 รอบ จะจุดระเบิดทั้งหมด “3 ครั้ง” ตามจำนวนห้องเผาไหม้ เท่ากับว่า จุดระเบิดทุก ๆ 120 องศา ถ้าเป็น 2 โรเตอร์ ก็จะจุดระเบิดทั้งหมด “6 ครั้ง” ทุก ๆ 60 องศา ส่วน 3 โรเตอร์ ก็จุด 9 ครั้ง ทุก ๆ 40 องศา ไงครับ…
ตอนนี้ก็ลองคิดเปรียบเทียบการจุดระเบิดของเครื่องลูกสูบ ถ้าเทียบกันแล้ว “โรตารี่จะจุดระเบิดได้ถี่กว่ามาก” อย่างเครื่อง 6 สูบ เพลาข้อเหวี่ยงหมุนสองรอบ จุดระเบิด 6 ครั้ง แต่ถ้าเป็น 2 โรเตอร์ เพลา Eccentric หมุนสองรอบ จุดระเบิดไปแล้ว 12 ครั้ง ถ้าเป็น 4 โรเตอร์ ก็จุดไป “24 ครั้ง” และเป็นการ “จุดต่อเนื่องในการหมุนแต่ละรอบ”
ไม่เหมือนลูกสูบที่มีเว้นช่วง “ทำให้เครื่องโรตารี่ได้กำลังงานมาก” ดูง่าย ๆ อย่าง “13B” มีความจุแค่ “1,308 ซี.ซี.” (ความจุ 1 โรเตอร์ เท่ากับ 654 ซี.ซี. กี่อันก็คูณเข้าไป) ให้แรงม้าได้เท่ากับเครื่องลูกสูบขนาด 2,500 ซี.ซี. โดยประมาณ (มันก็จะมีกฎของแต้มต่อ หรือ Handicap ถ้าเทียบกับเครื่องลูกสูบ จะต้องคูณด้วย “1.7” ถึงจะแข่งตามรุ่นนั้นได้) ตอนนี้ลองมาดูเครื่อง 4 โรเตอร์ ตามความจุอยู่ที่ประมาณ “2,616 ซี.ซี.” (654 x 4) ถ้าคูณออกมาเทียบกับเครื่องลูกสูบ ก็จะอยู่ประมาณ “4,500-4,600 ซี.ซี.” (แล้วแต่กติกาการคูณแต่ละที่ แต่โดยรวมก็ประมาณนี้) ไม่ธรรมดาเหมือนกัน แถมยังจุดระเบิดทุก ๆ “30 องศา” เอาเป็นว่า “โคตรจะถี่” แทบจะตลอดเวลาของการหมุน ก็ไม่สงสัยหรอกว่าทำไมเสียงมันถึง “แว้ดแหว” และ “แดกดุ” ขนาดนั้น ก็เพราะการให้กำลังงานของมันที่เยอะนี่เอง อันนี้เป็นเรื่องหลัก ๆ ของความได้เปรียบจากเครื่องโรตารี่ จริง ๆ แล้วยังมีอีกในด้านของ Figure ของตัวเครื่อง เอาไว้โอกาสหน้าละกัน ครั้งนี้ที่ไม่พอแล้วครับ…
Special Thanks : “MAD MIKE & Team Worker” กับ RX-7 สุดพิเศษ, “ภพ โดเรมอน” สำหรับการประสานงานครั้งนี้…
X-TRA ORDINARY
ประวัติคร่าว ๆ ของ MAD MIKE ในอดีตเขาเคยขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผนมาก่อน จนเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ เลยคิดว่าควรจะหันมาเล่นรถ 4 ล้อ จะดีกว่า เลยมาหัด Drift สำหรับ RX-7 ที่เขาใช้ ก็เกิดมาจากความชอบและมีในครอบครองตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงปัจจุบัน เครื่องโรตารี่ตัวนี้ก็เป็นตัวที่ “26” สำหรับเขา…