STORY : T.AVIRUTH (^_^!)
“โอ๊ต OverDrive” เค้าเป็นใคร?? ประโยคคำถามฮิตที่ชินหู…แต่ไม่เคยได้คำตอบ!! ซึ่งมันร้อนรนทนไม่ไหวถึงคอลัมน์ My Name is… ที่คันปาก!! อยากถามให้ได้ยินคาหู ถึงที่มาและที่ไปของเค้า ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึง…ขนาดนี้!!
สิ้นเสียงปลายสายนัดหมาย… เส้นทางที่จะไปคือ Pro Spec พระราม 9 เมื่อเราไปถึงทีม OverDrive หลายท่าน อาทิ อาจารย์นนท์, พี่ใหม่ และ พี่โอ๊ต ได้รอเราอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเราไปถึง ทุกคนต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี อากาศภายนอกที่ร้อนระอุของช่วงบ่าย 3 โมง ทำให้ทีมผมและทีม Over Drive เดินเข้าห้องแอร์กันโดยไม่ได้นัดหมาย… ซึ่งในห้องนั้น เมื่อเปิดประตูบานเลื่อนเค้าไป ก็ถึงกับผงะ!! เมื่อเห็นโครง RX-7 สีเหลืองอ๋อยคันใหม่ พร้อมโรลบาร์เต็มระบบ ขึ้นแสตนด์ รอประกอบอยู่ ผมคันปากอยากจะถามเรื่องรถคันนี้อย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็ฟอร์มนิ่งไว้ก่อน กะว่าเดี๋ยวตอนสัมภาษณ์ต้องมีเปรยถึงโปรเจ็กต์คันนี้แน่!! ผมเหลือบตาไปเห็นห้อง ๆ หนึ่ง อยู่ด้านในสุด กะไว้ว่าน่าจะ Private หน่อย…ใช้เป็นที่สัมภาษณ์ แต่ความคิดนั้นมลายพลัน เมื่อพี่ใหม่ เดินเข้า ๆ ออก ๆ ตลอดเวลา… ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ห้องนี้เป็นห้องทำงานของพี่ใหม่เค้า ซึ่งเค้าใช้ประกอบเครื่อง และประกอบรถ RX-7 สีเหลืองคันนี้อยู่ ตายละวา… เข้ามายุ่งยากในห้องทำงานเค้า แต่ก็ตีมึน ทำไม่รู้ไม่ชี้ ผมเดินเครื่องเรื่องงานต่อ โดยเชิญ พี่โอ๊ต มาสัมภาษณ์ ปล่อยให้ช่างภาพเซ็ตมุมกล้อง และไฟอยู่ด้านนอก เมื่อ พี่โอ๊ต ยังไม่ทันจะนั่งดี ผมก็ยิงคำถามเดียวที่เล่ายาว ในสไตล์ My Name is…ทันที
- แพน – นนท์ – โอ๊ต OverDrive : 3 นักแข่งจากทีมแข่งดริฟท์ระดับประเทศ ที่ยิ่งใหญ่มาอย่างยาวนาน
ณัฏฐวุฒิ เครือประดับ ชื่อทางการตามบัตรประชาชน หรือในวงการที่เรารู้จักกันว่า “โอ๊ต Over Drive” ได้เผยถึงชีวิตอีกบทบาท ที่นอกจากการสวมชุดแข่งนั่งหลังพวงมาลัยที่เราคุ้นตากันดีแล้ว อีกมุมของเค้าต้องสวมสูททำงานในระดับผู้บริหาร ซึ่งเป็นอีกมุมที่ผมกล้าท้าว่าเราทุกคนในที่นี้ไม่เคยสัมผัสกับเค้าอย่างแน่นอน ซึ่งในวันสัมภาษณ์ พี่โอ๊ต ได้เล่าตัวตนของเค้าให้ฟังว่า “ ผมขอแนะนำตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งนะครับ ผมชื่อ ณัฏฐวุฒิ เครือประดับ (โอ๊ต) ปัจจุบันนี้อายุอานามก็ปาเข้าไป 39 ขวบแล้ว เป็นรุ่นใหญ่ให้น้อง ๆ ได้เรียกว่า พี่ หรืออีกชื่อนึงที่ พี่ใหม่ ชอบเรียกก็คือ ลุง!! ก็ขำขำกันไป…. ผมจบมัธยมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะครอบครัวผมอยู่ที่นั่น และเข้ามาศึกษาต่อที่ ม. เกษตร จบด้านสาขาวิศกรรมศาสตร์ ในปี 2538 หลังจากจบการศึกษา ผมก็เริ่มทำงานในบริษัทน้ำมัน จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ไปไหน ซึ่งตอนนี้ก็ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร โดยสาขางานที่ทำก็จะเกี่ยวข้องกับที่เรียนมา คือ ดูแล ออกแบบ และแก้ไข ให้กับเครื่องจักรใหญ่ในบริษัททั้งหมด โดยเครื่องจักรใหญ่เหล่านี้เป็นเครื่องยนต์ของเครื่องบิน โบอิ้งต่าง ๆ โดยนำปรับปรุงส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินออก และนำเครื่องจักรตัวเปล่า ๆ มาใช้ในงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิด “Hot Gas” เพื่อนำมาปั่น “Turbine” ให้ได้กำลังไฟฟ้ามาขับ “Compressor” เพื่อส่ง “อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ” ในอ่าวไทย เพื่อจะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งผมจะทำงานอยู่ที่จังหวัดระยอง และก็มีธุรกิจส่วนตัวควบคู่กันไป อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาบริษัท ด้านสาขางานวิศวกรรม ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องการออกแบบเครื่องจักรต่าง ๆ มันเป็นสาขางานที่ผมชอบมาก ปัจจุบันนี้ผมกำลังจะขยับขึ้นมาเป็น “วุฒิวิศวกร” ถือว่าเป็นระดับสูงสุดของสาขาวิชาชีพนี้ มันเป็นเรื่องภูมิใจมากสำหรับผม เพราะว่าในประเทศไทย มีไม่กี่คนที่จะได้ “วุฒิวิศวกร”
เครื่องยนต์เครื่องบินนิยมนำมาใช้ในงานที่ผมทำ มีอยู่ 2 แบรนด์ คือ “Rolls-Royce” และ “GE” แต่ส่วนใหญ่จะใช้ของ “Rolls-Royce” เป็นเมนหลัก เพราะเวลาเค้าออกแบบเครื่องบิน เค้าก็จะสเป็กไปที่โรงงานว่าต้องการกำลังม้าเท่านี้ แรงขับขนาดนี้ นำมาใส่ในเครื่องบินโบอิ้งไซส์ขนาดนี้ ซึ่งเมื่อมองแล้วมันก็ไม่ต่างกับการวางเครื่องรถยนต์ คือ บอดี้แบบนี้ สามารถวางได้ทั้ง 2JZ และ RB26 ประมาณนี้แหละ ตั้งแต่ผมจบและทำงานมาเนี่ยก็ประมาณ 20 ปีแล้วนะ ผมไม่เคยเปลี่ยนสายงาน เวียนวนอยู่ในวิศวกรรมมาโดยตลอด มีหลายคนที่สนิทกันสงสัย ถามผมว่า “ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น บริษัทก็มี แถมลงทุนอีกตั้งหลายแห่ง ไหนจะธุรกิจอสังหาฯ อีกหลายอย่าง” ผมตอบเค้าว่า ที่เลือกงานนี้เพราะเราชอบวิศวกรรม มันเป็นสิ่งที่ผมเลือกที่จะเรียนมันตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรียนไปงั้น ๆ จบมาแล้วค่อยหางานอีกที… เรื่องการหาเงิน คนทุกคนก็ถวิลหากันอยู่แล้ว แต่เรื่องงานแบบนี้มันเป็นความชอบส่วนตัว ตั้งแต่เด็ก ๆ ผมชอบเครื่องยนต์กลไกของรถ!! แต่จุดเริ่มของเด็ก ๆ มักจะเริ่มต้นที่มอเตอร์ไซค์เป็นอย่างแรกเสมอ ผมก็เป็นเด็กธรรมดาคนนึงที่เริ่มเล่นกับเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์มาก่อน ตอนที่อยู่สุพรรณบุรี ผมก็เริ่มโมดิฟายมอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยยกไปทำที่ “พี่จั๊บ คริสมาส วิไลโรจน์” แล้วก็แต่งไปเรื่อยตามร้านแต่งดัง ๆในยุคนั้น ซึ่งคุณแม่เค้าเป็นห่วงและพยายามปรามผมในเรื่องนี้ตลอด เพราะท่านอยากให้เราตั้งใจเรียน กลัวว่ามาข้องแวะกับเรื่องพวกนี้ แล้ววันนึงก็คงไม่อยากเรียนอีกต่อไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราไม่ได้ชอบซิ่งหรืออะไรขนาดนั้น เราชอบที่เครื่องยนต์กลไกมากกว่า!! ว่าทำไมมันถึงทำให้แรงขึ้นได้ ซึ่งบอกตามตรง ตอนที่เอารถไปทำ “นู่น นี่ นั่น” เพื่อให้แรงขึ้น ผมเองไม่เคยไปขี่แข่งกับเค้าเลยนะ “ผมกลัว” ก็เลยให้เพื่อนเป็นตัวขี่ทุกครั้ง
เมื่อยุค 2 ล้อหายไป 4 ล้อใหญ่ ก็เข้ามาแทนที่ ยุคนั้นต้อง “รถกระบะ” เล่นสเต็ปดีเซลเ ทอร์โบ อย่างแรกจนบทสรุปจบออกมาที่เครื่องพัง!! สุดท้ายก็มาสู่ยุคของการ “วางเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ” ไม่ว่าจะเป็น 3T-GTE, 7M-GTE ผ่านมาหมด มายุคหลังก็เป็นพวก 1 JZ-GTE เนี่ยแหละ แล้วรถกระบะที่วางเครื่องยนต์ RB25-DET เป็นคันแรกก็เป็นผมเอง สมัยนั้น แคมฯ คู่-กล่องใบ ก็เทพ!! แล้ว… ซึ่งลองผิดลองถูกมาก็เยอะ บทสรุปสุดท้ายผมก็เอารถมาโมดิฟายในกรุงเทพฯ เริ่มจริงจัง ประจวบเหมาะกับเป็นยุคที่การแข่งขันแดร็กเฟื่องฟูมากในประเทศไทย โดยเฉพาะที่สนามพีระฯ ผมก็ไปดูตลอด “คุณป๊อปปิ JUN” ดังมากในสมัยนั้น ซึ่งผมเองก็เริ่มเข้ามาเล่นรถช่วงนั้นเหมือนกัน ซึ่งบทสรุปส่งท้ายของชีวิตรถซิ่งในยุคนั้น ผมมาจบที่สูตรสำเร็จ BMW กับ CEFIRO วางเครื่อง แล้วผมก็หยุดเลย เพราะงานประจำที่ทำมันรัดตัว ผนวกกับตัวผมเองก็ร้อนวิชา!! อยากมีบริษัททางด้านวิศวกรรมเป็นของตัวเอง ผนวกกับรุ่นพี่มาชักชวนด้วย ก็เลยทำให้ฮึกเหิมเข้าไปใหญ่ ซึ่งงานที่ผมทำในยุคนั้นเข้าจะจ้างฝรั่งมาออกแบบ!!! แต่ผมคิดว่าวิชาพวกนี้ “มันศึกษากันได้ มันไม่ใช่ศาสตร์หมอผี เราทุกคนก็ทำได้ถ้าตั้งใจจริง”
งานออกแบบของผมเริ่มต้นจากความว่างเปล่า รับความต้องการของลูกค้ามาสร้างให้เป็นเรื่องจริง โดยแบ่งสายงานตามความถนัดของทีมงาน ซึ่งผมไม่ได้ทำงานคนเดียว มีสเปเชี่ยลลิสต์ แต่ละแขนง อาทิ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเคมี และอีกหลายแขนงมาช่วยในการทำงาน ซึ่งทำดีทุกอย่าง แต่สุดท้าย “ตัวลูกค้าเองที่รับตัวเลขไม่ได้” ซึ่งในช่วงแรกเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อย พอมาหลัง ๆ ชั่วโมงบินเราเริ่มสูง เราก็เริ่มมีช้อยส์ให้ลูกค้าได้เลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเคยตั้งข้อสงสัยว่า “ทำไมคนไทยจึงจ้างฝรั่งออกแบบ” ซึ่งถ้าจะมองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ มันก็เหมือนการทำรถนั่นแหละ ทำไมเราจึงเอารถมาทำที่อู่นี้ คำตอบก็คือ เพราะเรารู้ว่าอู่นี้เค้ามีประสบการณ์ และไม่ได้ลองผิดลองถูก คือทางงานวิศวกรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มสร้างชื่อเสียง ให้ความไว้วางใจ ลูกค้าที่เข้ามาหาเราเค้าก็จะรู้ว่าบริษัทนี้ทำงานได้ ไม่ต้องลองผิดลองถูก เพราะงานประเภทนี้ไม่สามารถผิดพลาดได้ เครื่องจักรที่เราออกแบบต้องสามารถทำงานได้จริง เพราะงบประมาณในการทำงานแต่ละครั้ง มันระดับพันล้าน!!!
นอกเหนือจากงานส่วนตัวที่ทำอยู่ เรื่องการลงทุน เงิน ๆ ทอง ๆ ผมเองก็ชอบ มันเป็นอีกแนวคิดที่เรียกว่า “ใช้เงินทำงาน” มันเป็นช่วงที่ผมตั้งใจทำมาหากินเป็นอย่างมาก หยุดเรื่องรถซิ่งเลย ใช้รถทำงานก็แบบ Station Wagon ทั่วไป ผมเป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 10 ปี ตลอดระยะเวลาสร้างตัว หันหลังให้รถซิ่ง ผมก็มาเล่นเครื่องเสียงแทน มันเป็นเพราะว่าฟังเพลงแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ผมก็เลยหาเฟ้นหาเครื่องเสียงที่ถูกใจมาเรื่อย ๆ เริ่มจากชุดละไม่กี่บาท จนขยับมาเป็น “หลักล้าน” แบรนด์ในดวงใจเป็นของ “KRELL” เป็นแบรนด์ระดับท็อปของอเมริกา ส่วนลำโพงที่ถูกใจผมคือ “THIEL” รวมทั้งโปรเจ็กเตอร์ตัวโปรดเป็นของ “JVC” ประมาณนี้ จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนกับเล่นรถอีกนั่นแหละ อย่างรถเราต้องการรีดแรงม้า เครื่อง 2JZ ให้ได้สัก 600 เราก็ลงทุนแค่หลักแสน แต่ถ้าอยากมากกว่านั้น มันก็ขยับสเต็ปไปหลักล้าน เครื่องเสียงก็เหมือนกัน มีคนเคยให้ผมลองสายเครื่องเสียงเส้นละล้าน!!! ผมเองก็ตกใจนะ มันเจ๋งจริงหรอ? แต่พอเสียบเข้าไปก็เสียงเปลี่ยนเลยนะ เครื่องเสียงเนี่ย ราคากับคุณภาพไม่เท่ากัน ตามหลัก!! ราคาเพิ่มหนึ่ง คุณภาพก็ต้องเพิ่มหนึ่ง แต่พอมาเป็นเครื่องเสียงมันไม่ใช่ “ราคาเพิ่มร้อย คุณภาพเพิ่มจุดหนึ่ง” ผมเองคลุกคลีอยู่ในวงเครื่องเสียงเป็นสิบปี แอมป์ราคา 12 ล้านบาท ผมก็ได้มีโอกาสฟังมาแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้เล่นไปถึงขนาดนั้น เอาเท่าทีเรา “พอใจ” ก็พอแล้ว เพราะถ้าเราต้องการมากกว่านี้ มันก็ต้องขยับองค์ประกอบอื่น ๆ ตามไปด้วยอีกเป็นโขยง ผมก็เลยเอาแค่ตรงที่ “พอใจ” เป็นที่ตั้ง มันเป็นการพักผ่อนของผมเมื่อได้ฟังเพลง หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ผมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่ผมเที่ยว แต่คำว่า “เที่ยว” ในที่นี้ ผมหมายถึง การได้ออกไปฟังดนตรี ผมชอบ Life Band เล่นสด ๆ ผมฟังแล้วรู้สึกดี อาจจะสืบเนื่องมาจากตอนเล็กผมเรียน “กีตาร์คลาสสิก” ก็เลยมีความรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรติดหูเราอยู่ก็เป็นได้ ผมอยู่กับงานและเครื่องเสียงมานาน โดยจุดประสงค์หลักคือ อยากสร้างตัวเอง หาเงินไว้ใช้มาก ๆ เพราะถ้าเราหาได้ยิ่งมากเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสได้ใช้มากเท่านั้น ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนผมเรียนจบ ผมมีความรู้สึกว่า “เราต้องหาอะไรด้วยตัวเอง สร้างเอง ไม่ใช่หวังเพิ่งพาคุณพ่อ คุณแม่ไปตลอด”
- พี่โอ๊ต และ Max Orido ร่วมงานกันในนาม RE Amemiya – Overdrive Team Thailand กับการแข่งขันระดับโลก World Time Attack Champioship ที่ออสเตรเลีย
ปัจจุบันผมมาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วกับคำว่า “ประสบความสำเร็จ” มีความสุขกับสิ่งที่ฝัน ซึ่งมันก็เป็นช่วงที่ผมหวนกลับมาสู่วงการรถอีกครั้ง โดยความชอบที่มีสะสมไว้เป็นทุนเดิม มันเปรียบเสมือนการให้รางวัลกับชีวิต ซึ่งมันเป็นช่วงที่ผมเริ่มชินชากับเครื่องเสียง แล้วความบังเอิญ Search นู่น นี่ นั่น เล่นในอินเตอร์เน็ต ก็ไปเจอกับเว็บ “Siam Speed” มันเหมือนมาถูกที่ถูกเวลาเลย เพราะความเดิมฝังใจที่เคยอยากได้รถ Toyota Supra ตั้งแต่เมื่อก่อน ดูเหมือนว่ามันจะเริ่มเปิดโครงการใหม่อีกครั้ง!! ซึ่งสมัยนั้นจะซื้อได้มั้ย? ตอบเลยว่าได้ แต่มันโดนบล็อก โดยความคิดของคุณพ่อ คุณแม่ คือเค้าคิดว่าถ้าเราเล่นรถพวกนี้ คงเล่นไม่เลิกแน่ๆ และวันนึงเราจะไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง รวมทั้งความคิดของวัยรุ่นที่เป็นตอนนั้น มันอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับการขับรถก็เป็นได้ ซึ่งผมเลือกที่เชื่อคำที่คุณพ่อ คุณแม่สอน จนในที่สุดผมมีวันนี้ วันที่ผมสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ผมก็เลยเริ่มความฝันชิ้นแรกก่อน ด้วยโปรเจ็กต์รถแข่ง Supra ตอนนั้นไม่รู้จักใครในวงการรถบ้านเรา มีแต่เพื่อนที่ทำ Porsche อยู่อเมริกา เราก็จัดแจงคุยกับเค้าเลย หลังจากนั้นเราก็จัดของมาจาก USA ชุดใหญ่ เพื่อใส่ Supra ที่ซื้อมา รื้อรอทำรถแข่ง สุดท้ายเรื่องมันเศร้า ช่างที่ทำรถให้ผมโยนความผิดใส่กันเอง คนนั้นโทษนี่ คนนี้โทษนั่น ไม่เจอคู่แท้สักที สุดท้ายก็ระเบิดอะไหล่ขาย ซึ่งในช่วงที่ทำรถแข่ง ผมก็เริ่มเป็นลูกค้า HKS THAILAND แล้ว
- RE Amemiya – Overdrive Team Thailand กับลุง Amemiya เจ้าของสำนักสูบหมุนระดับโลก
หลังจากที่มีความรู้สึกว่า “เล่นรถนี่มันยากว่ะ” ผมก็พักโครงการรถแข่งไป แล้วหันมาเล่นรถบ้าน แต่ก็ยังอยากได้ Toyota Supra อีกนั่นแหละ ทีนี้เปลี่ยนแผนใหม่ หารถสำเร็จรูป ซื้อมาสวยเลย เผอิญช่วงนั้น “บีม ศรัญญู ประชากริช” บอกขาย Toyota Supra อยู่พอดี ผมไปดูรถ ก็พอใจ มันตรงคอนเซ็ปต์เราพอดี ก็เลยตกลงซื้อ-ขาย กัน วันที่ผมไปรับรถ ผมคิดว่าเราจะเอาเงินไปจ่ายเค้ายังไง จ่ายเป็นเช็ค เค้าจะเชื่อใจเรามั้ย? ผมคิดอยู่นาน สรุปว่าให้เลขาไปเบิกเงินสดมาให้ แล้วผมก็หอบเงินสดนั่งรถ TAXI ไปรับรถที่บ้านของบีม ผมสมหวังกับ Supra คันแรก แต่เนื่องจากสเป็กเครื่องยนต์ตอนที่อยู่กับ บีม เค้าโมดิฟายไว้เป็นสเต็ปแบบรถแข่ง เครื่องยนต์เดินเบาไม่เรียบ ผมก็เลยเข้าไปปรับสเป็กที่ HKS THAILAND ใหม่ โดยได้ “คุณนัท กับ มร.วาตารุ” เป็นคนดูแลให้อย่างใกล้ชิด และผมก็ได้ Supra Street Use มาใช้งาน ซึ่งเป็นการหวนกลับสู่วงการรถอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
บีม เป็นสมาชิกในกลุ่ม Siam Speed เมื่อในกลุ่มเค้ารู้ว่าผมซื้อรถคันนี้มา เค้าก็ชวนผมเข้ามาในกลุ่ม Siam Speed โดยเริ่มมามีตติ้งครั้งแรกกับ “Supra Club” ก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับ คุณแอ้ม, คุณเต้ย และ น้องแพน โดยมีเจ้าเบียร์ เป็นประธานคลับ และผมก็ได้รู้จักกับ พี่ตี๋ ด้วยในครั้งนี้ ผมว่าผมมาถูกทางแล้ว มีคนสนใจว่าผมเป็นใคร??? จู่ ๆ ก็โผล่มา มันเริ่มจะสนุกแล้วครับวงการนี้ ผมคิดเช่นนั้นนะ ผมนึกถึงคำสอนของคุณพ่อ คุณแม่ ที่บอกว่า “ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตก่อน แล้วอยากเล่นอะไรก็จะได้เล่น” ผมกลับมาเล่นรถในช่วงอายุ 35 ปี นับว่าเป็นพี่ใหญ่ของน้อง ๆ เลย แต่พี่ใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเก่งหรืออะไรนะ มันหมายความว่า “อายุเยอะ” โดยผมจะสนิทสนมเป็นพิเศษกับ คุณแอ้ม, คุณเต้ย และ น้องแพน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานผมก็เริ่มอยากทำรถดริฟต์ เหตุการณ์มันเริ่มจากเห็น Silvia S15 คุณนนท์ จอดให้ HKS THAILAND เค้า Service ให้ ผมเห็นบ่อย ๆ เข้าก็เริ่มเกิดอาการอยากทำมั่ง มร.วาตารุ เห็นผมมาดูก็เลยถามผมว่าอยากได้เหรอ? ผมเองตอบเค้าไปว่าอยากทำรถแข่ง มันเหมือนตอนทำรถแข่ง Supra คันแรกยังคาใจอยู่ “ต่อให้ของดีแค่ไหน คนประกอบไม่เป็นมวย ทำให้ตายก็ไม่จบ” ซึ่งเรามองว่าที่นี่เค้า Service รถให้กับคุณนนท์ได้ แข่งแล้วจบมีตำแหน่ง ผมคิดว่าเราน่าจะเริ่มต้นที่นี่ ผมก็จัดแจงไปจัด Silvia S14 ของคุณเอก ประธาน Silvia มาด้วยวิธีเดิม “หอบเงินสดนั่ง TAXI ไปขับรถกลับ”
แต่ครั้งนี้ขับกลับมาที่ HKS THAILAND เพื่อเปลี่ยนลุคใหม่ให้เป็น “Dream Drift Machine” ในคันปัจจุบัน โดยทุกอย่างสั่งประกอบจากญี่ปุ่นทั้งหมด พอมาถึงเรื่องของสี!! ผมมีความฝันอยากได้รถสีเกล็ดมาตั้งแต่เด็ก ๆ เนื่องจากงานมอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพรตอนนั้น กรังด์ปรีซ์จัด AUTO SALON เป็นเจ้าแรกของเมืองไทย โดยการนำรถซิ่งจากประเทศญี่ปุ่นมาโชว์ ซึ่งในนั้นมี MR2 คันนึงเป็นสีแดงเกล็ด มันเป็นความประทับใจแรก ที่ผมตั้งใจว่า “ต้องมีสักคัน รถสีแบบนี้” คุณนัท HKS THIALAND ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับคุณนนท์ เพราะกิจการที่บ้านเค้าทำเกี่ยวกับเรื่องของสี ผมก็มีโอกาสได้รู้จักกับคุณนนท์อย่างเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่ทำรถอยู่ที่เดียวกันแท้ ๆ แต่ไม่เคยเจอกันเลย เพราะงานส่วนตัวมันบังคับไม่ให้ผมว่าง!! หลังจากตกลงเรื่องของสีเรียบร้อย เค้าก็ผสมตัวอย่างสีมาให้ผมเลือก สรุปว่ามีสีที่ผมถูกใจ แต่ คุณนนท์ ได้บอกวิธีขั้นตอนในการทำให้เสร็จสรรพ ซึ่งมันค่อนข้างยุ่งยาก ใช้ฝีมือและรายละเอียดมาก สุดท้ายผมก็เลยให้คุณนนท์เป็นผู้ดูแลกระบวนการทั้งหมดโดยยกบอดี้ไปทำสีที่ “S.Y. ANTIQUE CAR” เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้จัก คุณโอ๊ค และ คุณอาร์ต S.Y. ในวันที่รถผมเสร็จ ผมก็ให้ คุณนนท์ คิดว่าใช้จ่ายในการดำเนินการมา แต่เค้ากลับไม่ยอดคิด ผมคะยั้นคะยอที่จะชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับเค้า แต่ก็ไม่สำเร็จ เค้ากลับมาชวนผมมาเล่นดริฟต์ โดยตรงนี้เค้าสปอนเซอร์ให้ ผมเองก็เกรงใจเค้า เพิ่งรู้จักกันด้วย ผมเองก็ทำธุรกิจ เค้าเองก็ทำธุรกิจ ซึ่งผมคิดว่ามันยังไม่สมควร ผมก็เลยตอบแทนเค้าด้วยการซื้อฝากระโปรงหน้า Carbon Fiber ของ D-MAX มาเปลี่ยนให้ โดยแทนที่คำขอบคุณ
หลังจากนั้นผมกับ คุณนนท์ ก็คุยกันมาตลอด โดยเค้าถามผมว่า “พี่โอ๊ต จะเอาคันนี้ไปฝึกดริฟต์จริง ๆ หรอ?” ในตอนนั้นคุณแอ้ม กับน้องแพน เค้าก็สนใจและอยากเล่นด้วย ตัวน้องแพนเค้ามี 200 SX ไว้ดริฟต์เล่นอยู่แล้ว ส่วนคุณแอ้มเอง ก็ไปจัด Silvia S14 มาร่วมด้วยทันที โดยครั้งแรกเรานัดไปฝึกกันที่ สนามคลอง 5 โดยมีคุณนนท์มาช่วยสอน ผมเป็นคนเดียวที่พัฒนาช้าสุด กว่าจะทำโดนัทได้ เล่นเอาเป็นเดือนเลย อีกทั้งผมเกรงใจใช้รถของคุณแอ้ม สุดท้ายก็ต้องไปจัด Cefiro สเต็ปพร้อมดริฟต์ มาหนึ่งคัน เพื่อหัดโดยเฉพาะ และรถคันนั้นก็คือ “เคนชิโร” ในปัจจุบัน หลังจากเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจัง รถก็เริ่มมีปัญหา ก็เลยเริ่มปรึกษา HKS THAILAND สุดท้ายก็จบมาที่ 1JZ VVTI ใส่ F-CON ปรับชุดใหญ่ มาใช้ฝึกฝน โดยช่วงที่โหมหนักหน่วงสุดคือช่วงวันหยุดยาว ๆ เทศกาลสงกรานต์ พวกเราไม่หยุด โดยไปซ้อมกันที่สนามเทพนคร ทุกวัน ก็ต้องขอขอบคุณ “เฮียคี้” เจ้าของสนาม ที่เปิดให้เราเข้าซ้อมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครับ หลังจากฝึกซ้อมอย่างบ้าคลัjง คุณนนท์ ก็เปลี่ยนสถานะใหม่เป็น “อาจารย์นนท์” ผมเองกลายเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ทุกคนพัฒนากันเร็วมาก มีอยู่วันนึง อาจารย์นนท์ ถามผมว่า “ทำไมพี่ถึงพยายามขนาดนี้?” ผมก็ตอบกับอาจาร์ยว่า “ผมทำอะไรไม่เคยไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องทำให้ได้ ในเมื่อเลือกที่จะมาเล่นเอง ไม่มีใครบังคับให้ผมมาเล่น”
- รายการแข่งขันดริฟท์ระดับโลก กับเพื่อนๆ นักแข่งที่คุ้นหน้ากันดี
และความสนุกของดริฟต์ก็ทวีคูณมากขึ้นเมื่อ Fast & Furious (Tokyo Drift) เข้าฉาย กระแสดริฟต์ดังเป็นพลุแตก ผมเองก็อินไปกับหนัง ทำให้อยากได้ RX-7 Fortune สรุปก็ไปจัดมาจาก “SMB” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับเครื่องโรตารี่ ก็ทำให้รู้ว่ามันเป็นเครื่องยนต์ที่ต้องการความเอาใจใส่มากกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป จนในวันนึงก็นัดกันไปซ้อมดริฟต์ที่สนามคลอง 5 ผมไปถึงก่อนใคร ๆ ก็จอดรถรอที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวในสนาม พี่ใหม่ P&C ก็มาสนามเหมือนกัน เพราะมีพิตอยู่ที่สนาม พี่ใหม่ เห็นรถผมจอดอยู่ แกจำทะเบียนรถได้ว่าเป็นรถลูกค้าเก่า แกก็เลยเข้ามาทัก ผมเองไม่รู้จักกับ พี่ใหม่ เป็นการส่วนตัว แต่รู้ว่า พี่ใหม่ เป็นใคร เพราะเคยเห็นผลงานดัง ๆ หลายชิ้นอยู่ ก็เลยนั่งคุยกันยาว จนผมชวน พี่ใหม่ มาเล่นดริฟต์ด้วยกัน แกเองก็สนใจอยู่ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทีม “Over Drive” เปิดตัวรุ่นแรกมี 5 คน คือ อาจารย์นนท์, คุณแอ้ม, น้องแพน, พี่ใหม่ และก็ตัวผมเอง โดยที่มาของชื่อทีมก็มาจากชื่อทีมของผมตอนเด็ก ๆ ครับ
ความจริงจังเริ่มขึ้นในงาน Siam Speed Race Day ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี ผมเอา Supra มาวิ่งกับคุณแอ้ม อย่างบ้าคลั่งในวันงาน และประจวบเหมาะกับ RX-7 ของผมที่ส่งไปให้พี่ใหม่ เซอร์วิสให้เสร็จพอดี ผมก็เลยมีโอกาสได้สัมผัสความมันส์เต็มเหนี่ยวในแบบฉบับโรตารี่เป็นครั้งแรก อยู่มาวันนึง ก็คิดว่าอยากขับรถหล่อ ๆ ไปดริฟต์บ้าง พี่ใหม่ถามว่าไม่เอา Silvia เหรอ? เราก็บอกเค้าว่า “อยากขับโรตารี่” สุดท้ายก็ไปอ้อนวอน คุณแอ้ม เพราะเค้าเป็น Rotary Lover คนนึง ที่เก็บ RX-7 สภาพกริ๊บ เดิม บาง ทั้งคันไว้ สรุป คุณแอ้ม ใจอ่อนปล่อยรถให้ ผมก็เลยลอกคราบรถบ้าน จัดชุดใหญ่พร้อมแข่งใส่รถทันที ซึ่งในตอนนั้นผมก็ยังใช้ “เคนชิโร” แข่งอยู่นะ แต่การแข่งขันครั้งนึงที่สนามเทพนคร เจ้า “เคนชิโร” ไม่พร้อม ผมก็เลยได้ลอง Rotary ดริฟต์เป็นครั้งแรก แต่เกียร์มันค่อนข้างยาว ผมเลยวิ่งเกียร์เดียวทั้งสนาม แล้วก็ได้ความรู้สึกชอบ และใช่ ติดตัวกลับมาจาการแข่งขันในครั้งนั้น
ผมแข่งอยู่เรื่อย ๆ จนวันนึงมี Formula D Thailand ครั้งแรกเกิดขึ้น สิ่งเราเป็นอยู่ มันไม่เลย มีนักแข่งไทยไม่กี่คนที่สามารถขึ้นไปวิ่งกับต่างชาติได้ แต่ก็ยังเหนื่อยอยู่ จากจุดนั้นเราก็เริ่มฝึกฝนอย่างจริงจัง ถึงขั้นบินไปดูงานแข่งขันกันถึง Odaiba Japan โชคดีที่ทาง HKS ให้ออกาไนซ์มาดูแลและอำนวยความสะดวก เราจึงมีโอกาสเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ทีมแข่งเข้าทำงานกัน พร้อมกับเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตรงนั้นมาพัฒนาปรับใช้กับทีม Over Drive อยู่ตลอดเวลา จนมาถึงการแข่งขัน Formula D Thailand อีกครั้ง สิ่งที่ผมตั้งใจมันก็สำเร็จ ในปีนั้น อาจารย์นนท์ คว้าแชมป์ได้สำเร็จ ส่วนตัวผมฝ่าฟันนักแข่งจากต่างประเทศได้ หลายคน ถือเป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้น ช่วงซ้อมรถผมเกิดอุบัติเหตุ ทำให้พวงมาลัยหมุนไม่ไป พี่ใหม่ ก็คอยดูแลให้ผมตลอด เค้าถามผมว่า เอายังไง “จะยอมแพ้หรือสู้ต่อแล้วมิด” ผมตัดสินใจว่า เป็นไงเป็นกัน “มิดก็มิด” ทุกคนในทีมน่ารักมาก ช่วยกันอลหม่าน ผมไม่มีโอกาสลองรถ คือปรับแล้วออกไปแข่งเลยทุกครั้ง คือผลที่ได้ออกมาคือดีเกินคาด สำหรับการแข่งขันในครั้งนั้น
หลังจากนั้นผมก็เริ่มออกไปแข่งขันนอกประเทศ จนกลายเป็นขาประจำการแข่งขันในต่างประเทศ ไปลองเชิงไกลกันถึงอเมริกา แต่ก็ต้องปรับตัวมากพอสมควร ไม่เหมือนกับการแข่งขันในเอเชีย อาจจะเป็นที่สเป็กรถที่เราไม่คุ้นเคย สเต็ปการทำรถที่แตกต่างกันออกไป มันจึงทำให้ค่อย ๆ เรียนรู้กับมันไป ในปีนี้ก็ยังลงแข่งทั้งในประเทศและนอกประเทศอีกเช่นเคย และปีนี้ตั้งใจจะไปแข่งในรายการ D1 Grand Prix กับอาจารย์นนท์ โดยรถแข่งก็จัดแจงเตรียมรอไว้ที่ญี่ปุ่นแล้ว ผมตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองไว้ว่าต้องเป็น “แชมป์” ซึ่งผมคิดว่านักแข่งทุกคนก็ตั้งเป้าหมายไว้ที่ตรงนี้เช่นกัน การแข่งขันคือการแข่งขัน เพื่อนคือเพื่อน เราต้องแยกแยะให้ออก และในปีนี้ผมก็ทำรถแข่งคันใหม่ด้วย เป็น RX-7 เหมือนเดิม เพราะมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวผมไปแล้ว เครื่องยนต์เป็น 3 Rotary ที่เลือกเครื่องยนต์ตัวนี้ ก็เพราะลองปรึกษานักแข่งดริฟต์ที่ประสบความสำเร็จ และมีประสบการณ์แข่งขันสูงในต่างประเทศหลายคน เค้าบอกผมว่า รถที่ใช้อยู่ มันดริฟต์ยาก พละกำลังของรถที่มีมันพอดีทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าได้เครื่องยนต์ที่มีพละกำลังและแรงบิดที่สูงขึ้น จะทำให้ขับง่ายมากขึ้น ก็ต้องขอขอบคุณลูกค้า พี่ใหม่ ที่เคยเล่น Rotary มาก่อน ทำให้เทคนิคและ เทคโนโลยีที่มาถึงผมมันประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ Rotary Drift Only One In Thailand…