XO AUTOSPORT No 198
Story : T.Aviruth (^_^!)
Photo : จิรภัทร หอวัฒนพาณิชย์
ทวนเข็มเครื่องบอกเวลาย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อน ในยุคนั้น การกลับมาของรถเก่าเป็นอะไรที่เฟื่องฟูมาก จะเปรียบว่าเป็นยุคทองก็ว่าได้ ผมได้มีโอกาสรู้จักกับคนมากมาย ตั้งแต่ ติดดินจนเอื้อมไม่ถึง มีหลายชนชั้นที่มีใจให้รถเก่า เล่นเพราะกระแสก็มีอยู่มากมาย กลุ่มนี้จะดีใจแค่ 2 ครั้ง คือวันที่ซื้อรถ กับ วันที่ขายได้ ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นตัวจริง มาจากความเก็บกดในวัยเด็กโตทันกันแต่ไม่มีโอกาศ และเมื่อจังหวะมันใช่ ในช่วงเวลาที่ได้ เค้าก็พร้อมที่จะทำเรื่องที่ค้างในวัยเด็กให้เป็นจริง… | ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา จำได้ว่า ในยุคงาน I Love Retro Car ที่ ไบเทค รถเจ๋งๆ ในงานฯ หลายคัน ก็ได้ยินเค้าเรียกกันว่า “รถพี่ประชา” เราเองก็งง ใครน่ะ? “พี่ประชา” ซึ่งหนแล้วหนเล่า จะไปงานรถเก่าที่ไหน ก็จะต้องได้ยินชื่อ “พี่ประชา” เนี๊ยะตลอด ก็เริ่มอยากจะรู้จักตัวเป็นๆสักที เห็นเค้าก็เอารถสวยๆมาร่วมโชว์ในงานตลอด จนระยะเวลาล่วงเลยมานานมาก คนที่เล่นรถเก่า เลิกลา ด้วยสาเหตุนานจิตตัง อาทิ อะไหล่ไม่ถึง, ราคาแรง, ช่างทิ้งงาน, ไม่มีเวลาทำ มันเป็นปัญหาโลกแตกของคนเล่นรถเก่า แต่ ณ ปัจจุบัน หลายคนสละเรือ ทิ้งทุ่น ยอมว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง เพราะเดินหน้าต่อไปก็ไม่รู้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน จะเหลือแต่คนที่พร้อมและมีใจให้ยังคงก้าวเดินหน้าต่อไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้ยินชื่อ “พี่ประชา” อีกนั่นแหละ เอาว่ะ!! ขออภัยที่ไม่สุภาพออกสื่อ ยังไงก็ต้องรู้จักให้ได้ล่ะพี่คนนี้!! |
ผมยกหูหาพี่ประชา โดยมีนายโก้พิธีกร ของเราเป็นผู้ประสานงานให้ทั้งหมด นัดแนะที่หมาย ย่านโกดัง บางใหญ่ เราเอาก็งง ว่าทำไมต้องไปที่นั่น และจะมีโลเกชั่นให้เราถ่ายมั๊ย? มันเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าหน้างานเป็นเช่น อีกทั้งประสบปัญหาเรื่องช่างภาพด้วย เพราะช่างภาพคู่ใจ นายโปเต้ ก็เปลี่ยนอาชีพไปแล้ว มันจึงเป็นบทพิสูจน์ให้กับช่างภาพน้องใหม่ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ผมได้ จิ้น City Mania หนึ่งในทีมงาน XOTV มาเป็นคนลั่นชัตเตอร์ให้ในวันนั้น แล้วเค้าก็ทำให้ผมไม่ผิดหวังในการร่วมงานกันครั้งแรก | ในวันนัดสัมภาษณ์ผมมาถึงโรงงานแล้วได้ทักทายนั่งคุยกับพี่ประชา กันอยู่พักใหญ่ แลกนามบัตรกันจนได้รู้ว่าพี่เค้าชื่อ “ประชา อัศวนิเวศน์” Managing Director ของ บริษัท อัศว เม็ททอล (ไทยแลนด์) จำกัด หลังจากนั้นพี่เค้าก็พาผมและช่างภาพไปออนทัวร์รอบๆโรงงาน โดยเมื่อเดินออกมานอกอาคารก็มีรถกอล์ฟมาจอดรอรับเราไปทัวร์ ณ ขณะนั้นสายตาเราเห็นมีแค่โรงงานใหญ่ หลังงนึง ก็ปฎิเสธพี่เค้าด้วยความเกรงใจ เดินก็ได้มั้งพี่ ไม่ไกลเท่าไหร่ แต่พี่ประชาบอกผมว่ามีด้านหลังอีกหน่อย นั่งรถไปดีกว่า ไม่ร้อนด้วย เมื่อรถเลี้ยวหลังจากโรงงานแรก ก็ถึงกะตะลึง เลยนะ เพราะภายที่เห็นอยู่เบื้องหน้าคือโรงงานขนาดใหญ่มากๆ อีก 2 หลังพร้อมลานกว้างๆ ระดับรถ18 ล้อ พร้อมพ่วง กลับรถได้ในครั้งเดียว ลองคิดดูเองว่าลานนี้ใหญ่แค่ไหน เอาเป็นว่า ซ้อมดริฟต์ ได้สบายๆ แล้วกัน ในใจผมคิดว่าพื้นที่นี้คงจะต้องเรียกเป็นเอเค่อร์ แล้วล่ะเพราะใหญ่เหลือเกิน |
พี่ประชาเป็นคนน่ารักมากพาผมทัวร์ชมของเล่นรอบโรงงานแบบไม่มีปิดบัง ดูยังไงก็ดูไม่หมด เยอะเหลือเกินโดยเฉพาะอะไหล่รถเก่าญี่ปุ่น มันก็เข้าทางผมเลยเมื่อพี่ประชาได้บอกผมว่า “อะไหล่พวกนี้พี่ซื้อเก็บไปเรื่อย เพราะตอนเด็กๆ อยากได้รถพวกนี้ แต่ไม่สามารถมีได้ รถเนี่ยพี่เริ่มชอบมาตั้งแต่ตอนเรียนกรุงเทพคริสเตียนแล้วล่ะ คือตอนเด็กๆ จำได้ว่าได้แต่ดู มีรถที่เราชอบตอนนั้นเยอะมาก มันก็ฝังใจนะ พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเป็นช่วง ‘70S ตอนปลาย ยุคที่เรียกว่า “The Palace” วัยรุ่นออกมาเที่ยวแล้วซิ่งรถกันบนถนนวิภาวดี มันเป็นช่วงเดียวกับที่ผมเริ่มมีรถคันแรก เป็นรถแวนของที่บ้าน Toyota Corolla KE36 ก็เอามาแต่งเล่น ตามกำลังที่จะพอมี เพราะยังเรียนอยู่ ในตอนนั้นล้อแม็กยังไม่มีเงินซื้อเลย ทำได้เพียงเอากระทะเหล็กไปผ่าทำสีใหม่ แล้วก็ซื้อยางมือสองแถววงเวียน 22 มาใส่ พอจะแข่งกันก็หายางเปอร์เซนต์สภาพๆดีมาใส่วิ่งกันที ผมทันนะ!! จำได้ว่าตอนนั้นแข่งรถบนถนนยุคแรกๆ เนี่ยเค้าไปแข่งกันที่ “ตึกโชคชัย” ตรงสุขุมวิท ในตอนนั้นขับรถมุดกันบนถนนเค้าเรียกว่า “แรด” แล้วก็ขยับมาเล่นกันอีกทีบนถนน “อังรีดูนังค์” หลังจากนั้นก็ย้ายกันไปบนถนนรัชดา ช่วงหน้า “ห้างโรบินสัน” ในตอนนั้นถนนเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆเลย ต้องบอกว่าช่วงนั้น “เถื่อน” มากพอสมควร ซึ่งคำว่า “เถื่อน” ในความหมายของผมคือ ปิดถนนอัดรถกันเลย ไม่สนอะไรทั้งสิ้น เหมือนในหนังเลย แบ่งกันเป็นแกงค์ๆ มาแข่งกัน สไตล์การแต่งรถก็ติดสติ๊กเกอร์บอกสังกัด กันที่ข้างประตู หรือ ไม่ก็ที่กระจกหลัง ตัวใหญ่ๆ | ในยุตของ The Palace วัยรุ่นก็มาจอดรถริมถนนวิภาวดี เพื่อมาเที่ยว และ ก็ออกมาแข่งรถกัน ตำรวจเองในสมัยนั้น เท่าที่จำได้เค้า เอา Lancer ไฟนอน มาแต่ง 2 คัน เพื่อเอามาไล่จับรถพวกนี้โดยเฉพาะ เพราะถ้าไม่แต่งก็ไล่ตามจับไม่ทันสักที ซึ่งมันเป็นความคึกคะนองของวัยรุ่น ตอนนี้ผมมานั่งถึงการกระทำในตอนนั้นก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่น่าละอาย กับสิ่งที่เราได้กระทำตอนเป็นวัยรุ่น ข้อเสียของวงการรถซิ่งในยุคนั้นคือ มันไม่มีสนามแข่งรถยนต์มารองรับเหมือนในปัจจุบัน แม้แต่การแข่งขันในยุคนั้น อาทิ “Shell Thailand Grandprix” ยังใช้สนามแข่งขันเฉพาะกิจตามสนามบิน ไม่ลพบุรี ก็ สัตหีบ หรือ ดอนเมือง เป็นที่แข่งขันมาตลอด จนช่วงหลังๆ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ก็เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มสนามพีระ เซอร์กิต พัทยา ขึ้นมา ถึงจะเรียกได้ว่ามีสนามมาตรฐานในการแข่งรถขึ้นมาสักที |
จากจุดนั้นคือความทรงจำของผมในวัยเด็ก “ถึงแม้ว่าจะได้เล่น… แต่ก็ยังไม่สุด” มันยังไปไม่ถึงในสิ่งที่ต้องการ ต่อให้เอาอะไรมาแทนที่ มันก็ได้แค่บรรเทา แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจได้ รถทำเครื่องในตอนนั้นวิ่งความเร็วปลายได้ถึง 180 กม./ชม. ก็จัดได้ว่าเป็นพระเอกแล้ว ตัวผมเองก็เล่นรถเปลี่ยนรถไปเรื่อยๆ เลย จาก KE36 มาเป็น RT100, Galant A121 ก็เปลี่ยนเล่นไปเรื่อยๆ นะ จนจบมัธยมปลายที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน วิทยาลัย ก็มีความคิดว่าไม่อยากเรียนต่อแล้ว อยากหางานทำ ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และก็ตรงกับจุดเปลี่ยนแปลงธุกิจที่บ้าน คุณพ่อผมก็มาเปิดธุรกิจเกี่ยวกับ “เหล็ก” เราเองก็ไม่อยากเรียนต่ออยู่แล้ว ก็เลยมาสตาร์ทงานกับคุณพ่อเลย โดยเริ่มธุรกิจในชื่อ สินสยาม เม็ททอลเซ็นเตอร์ (1984) เป็นปีที่ผมเปลี่ยนชีวิตเด็กมัธยมมาเป็นคนทำงาน และก็ทำมาเรื่อยๆ จนในปี 2002 จนมาถึงปัจจุบัน ก็เปิดบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า “บริษัท อัศว เม็ททอล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผมทำงาน 30 กว่าปีมานี่ ตัวผมเองก็เปิดอีกหลากหลาย บริษัทฯ มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน | ด้านเรื่องของรถที่ผมชอบ ดูเหมือนว่าจะหยุดตั้งแต่ที่เริ่มตั้งใจทำงาน แต่แท้จริงแล้วก็หยุดๆไม่ได้หรอก ในเมื่อมันเป็นความชอบ ผมเปลี่ยนสไตล์การเล่นรถไปเรื่อย จนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเล่นรถ Off Road อยู่ในแก็งค์ “35 Inter” คือก๊วนนี้ต้องใส่ยางสูง 35 นิ้วทุกคัน ก็เลยใช้ชื่อนี้ ผมตอนนั้นขับ Land Rover Discovery มันเหมือนเสพแล้วติดเลย ว่างไม่ได้ จะเข้าป่า อย่างเดียวเลย ก็เลยต้องหยุดเล่น!! เพราะมันเป็นช่วงที่ธุรกิจที่ผมทำเพิ่งเปิดขึ้นมาใหม่ ก็ต้องใจว่าจะเลิกเล่นเลย ขายรถทิ้ง เพื่อจะได้ไม่ไขว้เขวในการดำเนินธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ อีกอย่างอายุก็มากขึ้นแล้วด้วย |
ระหว่างที่ตั้งใจทำงาน ก็เกิดอาการคัน “หลงไหลในสเน่ห์ รถคลาสสิค” ในตอนที่ผมเริ่มเล่นรถคลาสสิคาร์ ยังเป็นกลุ่มก้อนที่เล็กมาก คนที่เล่นรถญี่ปุ่น ถูกมองข้าม คือค่าตัวหรือมูลค่าของมันจะไปกับทางรถยุโรปมากกว่า ผมก็ไปหลงไหลกับกลุ่มรถพวกนี้อาทิ จากัวร์, บีเอ็ม, เบนซ์ , พอร์ช พอเข้าไปเล่นรถพวกนี้ สิ่งนึงที่ได้รับกลับมาโดยไม่รู้ตัวคือ “รู้จักเรียนรู้ประวัติศาสตร์” และก็สร้างความละเอียดให้กับตัวเรามากขึ้น บางท่านที่เล่นก็เล่นลึกกันยันหัวน็อตเลย มันเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับตัวเราคือ มันทำให้เรารอบคอบ และ ละเอียดมากยิ่งขึ้น แต่พอเล่นลึกลงไปแล้วมันก็มีอุปสรรคเข้าคือการดูแลรถพวกนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะว่ารถพวกนี้วิ่งใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ได้ กลัวคนขับมาโดนบ้าง หรือขับๆอยู่จะเป็นอะไรบ้างก็ไม่รู้ มันเป็นเพราะว่า อายุของรถที่ผลิตขึ้นมามันหมดสภาพ จะให้โลดแล่นเหมือนยุคอดีตมันก็ได้ไม่ 100% เหมือนเดิม รวมทั้งอะไหล่ตรงรุ่นก็หายากมากแล้วมีราคามี่สูงลิบลิ่ว เราก็เลยไม่อยากที่จะขับมัน ก็เลยเป็นการทำมาไว้จอดแทน |
ผมคิดว่ามันชักไม่ใช่เรื่องสนุกแล้วที่ทำรถมาแค่เพื่อจอด ผมเบนทิศทางไปหาพวกรถอเมริกัน เล่นทุกรูปแบบ Full Size หรือ Muscle ก็จับมาลองหมด มันเกิดความหลงไหลนะ มันก็คล้ายๆกับคนที่ขี่ Harley นั่นแหละ คือไม่ใช่จะขับอย่างเดียว การแต่งกายต้องได้ด้วย แต่พอเริ่มขับใช้งานจริง ก็ไม่ได้อีก เพราะรถมันคันใหญ่มาก จะเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนที ต้องเช็คว่าจอดได้มั๊ย เข้าซอบแคบๆก็ลำบาก มันไม่คล่องตัว แต่ก็ยังไม่วางมือ วนเวียนอยู่ในสังคมรถโบราณเรื่อยๆ จนในวันนึงได้เจอกับกลุ่มน้องๆ ที่เล่นรถ Retro Car อยู่ในกลุ่ม “บางกอกคลาสสิคคาร์” เป็นที่รวมพลคนรักรถคลาสสิคได้เยอะมาก คนแรกที่ผมรู้จักใน “บ้านบางกอกฯ” คือ คุณส้ม วีรไวทยะ ด้วยเหตุบังเอิญที่เค้าจะทำ “Ford Lincoln Continental” ปี 1968 ก็เลยโทรมาปรึกษากับผมเรื่องอะไหล่ ผมก็เลยถามเค้ากลับว่าเห็นใช้ 240 Z อยู่ ก็เลยเกิดคำถามว่า “ทำไมคนไทยแต่งรถสู้ญี่ปุ่นไม่ได้” พี่ไม่เชื่อเรื่องนี้ เพราะสมัยพี่เด็กๆ นักแข่งของเรายังล้มนักแข่งญี่ปุ่นมาแล้วเลย เพราะฉะนั้นพี่ว่าเราทำกันได้ โดยเฉพาะงานฝีมือ ด้านตัวถัง รายละเอียด ช่างบ้านเราฝีมือดีกว่าเค้า คุณส้มฯ ก็เลยแนะนำให้ผมเองได้คุยกับอีกท่านนึงที่อยู่เชียงใหม่ ชื่อว่า “อู๋ เชียงใหม่” โดยผมเองก็มีโปรเจ็คในหัวว่าอยากทำ “Z” ลงแข่งสนาม เหตุมันเกิดขึ้นเมื่อ “คุณ กีระเกียรติ เย็นมะโนช” หรือพี่เปาะ สามมงกุฎ โทรมาหาผมในเรื่องเปิดรุ่นการแข่งขัน Super Retro สนใจมั๊ย? ก็เลยลองคุยกับ อู๋ เชียงใหม่ดู เค้าก็นึกว่าผมพูดเล่น พอได้คุยได้ปรับความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน คุณอู๋ เชียงใหม่ ก็มาหาผมที่กรุงเทพทันที ผมก็เดินเรื่องต่อด้วยการไปซื้อรถ 260 Z แล้วนำกลับขึ้นเชียงใหม่ กำชับไว้แน่นหนาว่ามีระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้นในการทำรถแข่งคันนี้ ลงในรุ่น Super Retro ปี 2011
|
สำหรับ Z คันนี้ต้องเรียกว่าห้องแล็ป ห้องนึงเลยนะ เราดูกติกาลงแข่งขันเค้าเปิดหมด ผมก็ตัดสินใจใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่แทนรุ่นเก่า โดยทำรถเสร็จสมบูรณ์มีคุณส้ม วีรไวทยะ เป็นคนขับให้ในปีนั้น ก็ประสบความสำเร็จคว้าชัยในรุ่นมาครองได้อย่างสำเร็จ ในนามของ K Factory จนเข้าสู่ในปี 2012 ผมตั้งใจว่าจะเปลี่ยนรถ เพราะ Z ได้สร้างตำนานไว้แล้วในปีก่อน โดยตั้งใจจะทำ Corolla DX เป็นรถ Group 5 ที่หลายคนเรียกว่า “Gundam” ออกมาวิ่งในปี 2012 แต่สุดท้ายรถทำไม่ทันก็เลย ต้องเอา Z กลับมาประจำการแทนที่ ทั้งๆ ที่ปลดระวางไปแล้ว มันก็เกิดความไม่พร้อม เพราะไม่ได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ทีแรก ทุกอย่างก็เลยต้องมาปรับหน้างานใหม่หมด โดยมี คุณ ณัฐน์ ไร้บาป หรือพี่โป้ง มาขับให้ ในซีซั่นนี้ แต่ยังไม่ทันจบในปีนี้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นก่อน ก็ตัดสินใจยุติการแข่งขันของทีมลง เนื่องจากผมมองว่า “การแข่งขันทั้งที่เราไม่พร้อม ยิ่งดื้อเท่าไหร่ก็มีแต่ผลเสียตามกลับมา” | หลังจากหันหลังให้แทร็ค เหล่าขุนพลหลัก K Factory อาทิ อู๋ Skyline, บอล TA22, ไข่ GTR, หรั่ง Hahosuka, พี่เปา, น้องพล และ น้องแชมป์ ก็ลงมติกันว่าจะเน้นไปในเรื่องของการทำมีทติ้ง เพื่อรวมพลรถ Japan Retro Car ให้เกิดขึ้นและเป็นประเพณีในทุกๆปี ซึ่งเมื่อก่อนก็เคยมีอยู่ แต่เนื่องด้วยหลายเหตุผม ก็ทำให้เลิกลากันไป แต่ก็ยังเหลือคนที่รักและยังเล่นกันอยู่ ในระดับนึง และใน Auction Yahoo Japan ส่วนใหญ่คนไทยก็ยังซื้ออะไหล่จากในนั้นอยู่ตลอดเวลา เราเริ่มต้นด้วยการสร้าง Fanpage ใน Facebook เพื่อเป็นการกระจายข่าว ประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน Page เรามีสมาชิก เกือบจะสี่พันคนแล้ว 30% ในนี้เป็นคนญี่ปุ่นและชาติต่างๆ ผมถือว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดี ผมจึงคิดต่อไปว่าในปี 2015 ที่กำลังจะเป็น The ASEAN Economic Community (AEC) เราในนามคนไทยด้วยกัน จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้มั๊ย? ซึ่งถ้าเป็นไปได้ มันก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในการจัดอะไรก็แล้วแต่ รวมทั้ง Japan Retro Car ด้วย เพราะว่ารถประเภทนี้ใน South East Asia ก็มีหลายประเทศเล่นกันมาก แต่ถ้าเอาสวยจริงๆ ลองมาจากญี่ปุ่น ประเทศไทยเราคือเบอร์ 2 ในเอเซีย ก็เลยเข้าสู่กระบวนการที่จะผลักดันให้งาน Japan Retro Car ในประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่ วันนี้สิ่งที่ผมตั้งใจและอยากทำคือ รวมกลุ่มของคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันคือ Japan Retro Car ให้มาอยู่รวมกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเข้ามาเป็น K Factory เราเพียงแค่เป็น “ตัวกลาง”ในการรวบรวมข้อมูล ความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ทุกคนได้ทราบ แล้วมาพบปะกัน และอีกเรื่องนึงที่มีใจให้ตลอดคือ อะไหล่รถ มันเป็นเรื่องยากในการจับต้องอะไหล่บางตัว สำหรับน้องๆที่ยังไม่พร้อม ผมก็เลยมองว่ามันเรื่องใหญ่ในการชุบชีวิตให้กับรถสามารถกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง ก็เลยคิดที่จะทำการพัฒนาในเรื่องอะไหล่ โดยเน้น! ให้มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยโดดเด่นขึ้นมา |
ณ วันนี้ ทั้งรถยุโรป อมริกัน ที่ผมเคยสัมผัส มันก็มีความพิเศษในตัวของมัน แต่ส่วนตัวผมเอง ณ ตอนนี้หลงสเน่ห์รถญี่ปุ่น ตรงที่ว่า “รถฝรั่งมีงานที่เป็น Reproduction ออกมา แต่รถญี่ปุ่น ต้องบอกว่า Real Vintage” คือใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อของใหม่ใส่ได้ แต่ป่าวเลย คือคุณต้องมีความพยายามเสาะแสวงหาอะไหล่ตลอดเวลา ซึ่งผมมองว่าเสน่ห์มันอยู่ตรงนั้น เวลาได้อะไรยากๆมาสักชิ้น “น้ำตาจะไหล” ด้วยความดีใจที่ประสบผลสำเร็จ” |
และหลังจากที่ได้นั่งคุยกันก็ทราบถึงอุดมการณ์ที่ พี่ประชา อัศวนิเวศน์ มีใจใก้กับวงการรถ Japan Retro Car มันไม่ใช่เพียงแค่ความชอบส่วนตัวแล้ว แต่เป้าหมายเค้าก้าวไปไกลเป็นถึง “ความรับผิดชอบ” ที่จะนำพางานโชว์รถของบ้านเราให้ต่างชาติได้รับรู้ และ ส่งเสริมการณ์ท่องเที่ยวเพื่อนำเงินเข้าประเทศ ซึ่งความสำเร็จจากตรงนี้ “พี่ประชา” และทีมงาน K Factory จะทำมันให้ลุล่วงไม่ได้หรอก ต้องขอแรงจากพวกเราทุกคนที่มีใจให้ Japan Retro Car มาเป็นพลังในการช่วยขับเคลื่อนให้วงการฯนี้เดินไปสู่กับคำว่า International… |
“รถฝรั่งมีงาน Reproduction ออกมา แต่รถญี่ปุ่น ต้องบอกว่า Real Vintage!! สเน่ห์มันคือตรงนี้!!”
“สิ่งที่เราทำใช่ว่าอยากจะให้เหมือนกัรถเมืองนอกเค้า 100%… แค่เพียงอยากให้มีเอกลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นรถที่มาจากหัวของคนไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นรถเมืองนอกก็ตามที”
“ไม่จำเป็นต้องอยู่ K Factory เราเพียงแค่เป็น ตัวกลาง ที่เชื่อมโยงทุกกลุ่มเข้าหากันเท่านั้น”