“ล้มไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคิดไว้ก่อน แต่ถ้าล้มแล้วไปคิดแก้ปัญหาเอาหน้างาน นั่นแหละเรื่องใหญ่”
………………………………………………………………………………………………………………………………………….
STORY : T.Aviruth (^_^) เผลอแป๊บเดียว…ผมรู้จักกับคุณอู๋ มาจะสิบปีแล้วหรือนี่…จุดเริ่มต้นจากคนเล่นรถคลาสสิก ใน “บางกอกคลาสสิคคาร์” ผันตัวเองมาสู่แทร็กของการแข่งขัน ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อเสียงของนักแข่ง แต่ในอีกมุมนึงของชีวิตเค้า คือผู้บริหารหนุ่ม แนวความคิดใหม่ของ “BANDARA GROUP” จากมุมมองของนักแข่งรถ นำมาใช้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อต่อยอดไปถึงความสำเร็จของชีวิตในปัจจุบัน |
ล็อกอินที่ชื่อ Oou VINTAGE ใน www.bangkokclassiccar.com เป็นชื่อที่ผมเห็นประจำครั้งสมัยปลุกปล้ำทำรถเรโทรคาร์ ในยุคที่ “บ้านบางกอก” แยกออกมาจาก Pantown แล้ว ซึ่งผมเองได้เจอกับคุณอู๋ ครั้งแรกก็เป็นงานรวมมิตรบ้านบางกอก ที่จัดขึ้นบริเวณชั้นดาดฟ้าของบริษัทยิบอินซอย หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับทางบ้านบางกอกฯ มาตลอด เพราะต้องติดต่อประสานงานคุณอู๋ บ้าง คุณบรรณ (เจ้าบ้านบางกอกฯ) บ้างในบางครั้ง และก็คุณเอจีที อีกท่านนึงที่คอยประสาน ช่วยเหลือกับทางเรามาตลอด พี่ๆ แต่ละท่านในบ้านบางกอกฯ จะมีความน่ารัก เป็นกันเอง ดั่งภาษิตที่ว่า “ IF You Love Classic Cars, You Are My Friend” ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เมื่อจัดงานรวมตัวกันทีไร จะได้เห็นรถพิเศษๆ ที่คัดสรรมาร่วมในงานอยู่เสมอ |
ผมนัดกับคุณอู๋ ที่ BANDARA Hotel & Resorts ศาลาแดง ซอย 1 โดยการเดินทางไปทำคอลัมน์ในครั้งนี้ มันเหมือนการ Reunion “ช่างภาพโปเต้” ได้หวนกลับคืนส่งวงการงานแมกกาซีนรถยนต์อีกครั้ง ชะแว้บแรกที่มาถึง เจ้า Porsche RWB สีแดงและสีเหลืองจอดเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าทางเข้าล็อบบี้ ผมเดินวนไปรอบๆ เพื่อดูสถานที่ถ่ายรูป ก็ผงะสายตาเห็นชั้น 2 ของตึกจอดรถโรงแรม มีลิฟต์ยกรถแบ่งเป็นช่องจอดรถคันโปรดของ คุณอู๋ อยู่หลายคัน ก็พอดีเป็นช่วงเวลาที่ คุณอู๋ ลงมาจากชั้นบนของโรงแรมพอดี ก็เลยพากันไปนั่งคุยกันที่โซนห้องรับรอง เผอิญวันนี้มีคิวให้สัมภาษณ์กับทางช่อง 3 ต่อจากผมอีกคิว เวลาก็เลยจะกระชับเข้ามานิดนึง ผมก็เลยเปิดประเด็นเรื่องที่จะคุยกันในคอลัมน์ My Name is…ทันที หลังจากกดบันทึกเครื่องอัดเสียง คุณอู๋ เริ่มเปิดฉากพูดว่า “ BMW E36 325 IS ประมาณปี 1994 นี่คือรถคันแรกที่ผมมีตอนอายุ 18 ปี ตอนนั้นศึกษาอยู่ที่ BABSON COLLEGE ประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยนั้นก็เลือกรถตามประสาวัยรุ่น แต่เทใจให้กับ BMW เพราะคุณพ่อชอบแบรนด์นี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ผมโตมาก็รู้จักกับรถแบรนด์นี้ของที่บ้าน ก็เลยทำให้รู้สึกผูกพัน ถ้ารถในฝันที่อยากได้ก็คงเป็น BMW E30 M3 คือมันได้ยุคกับช่วงที่ผมโตขึ้นมา ก็เลยมีความรู้สึกที่ดีกับรถรุ่นนี้เป็นพิเศษ แต่ที่มาซื้อ E36 คันแรก ก็เพราะว่ารถเพิ่งออกหมาดๆ เลย | ก็ได้มุมมองจากคุณพ่อมาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกซื้อหลายอย่างๆ อาทิ สมัยนั้นเด็กไทยที่ศึกษาอยู่ที่นู่นจะเลือกซื้อรถ 4 ประตูกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมเป็นรุ่นแรกๆ ที่ซื้อรถ 2 ประตู เพราะความคิดคนในยุคนั้นก็จะมองว่า เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ มาเยี่ยม จะได้โดยสาร พาขับไปเที่ยวไหนๆได้สบาย ในยุคนั้นมีไม่กี่คนที่จะมี email การสื่อสารไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ ค่าโทรศัพท์โทรกลับประเทศไทยยังนาทีละ 80-120 บาท อยู่เลย โดยนิสัยส่วนตัวของผมเป็นคนที่ไม่ชอบรถที่มองแล้วซ้ำๆ กัน เหมือนเดินไปลานจอดรถห้างฯ แล้วก็เห็นซ้ำๆ กัน แล้วรถเราคันไหนกัน? แบบนั้นไม่ใช่นิสัยผมแน่ คือผมชอบการแต่งรถ ชอบความมีเอกลักษณ์แบบเป็นตัวเอง ก็เลยตัดสินใจง่ายในการเลือกซื้อรถ 2 ประตู จากคำพูดของคุณพ่อที่ว่า “อยากได้อะไรก็ซื้อ อยากใช้แบบไหนก็ซื้อ อย่าห่วงพ่อ เพราะปีนึงเรียนอยู่ที่อเมริกา สิบกว่าเดือน พ่อ-แม่ไปหายังไงก็ไม่ถึง 2 อาทิตย์ แต่อีกสิบเดือนที่เหลือเนี่ย ลูกเป็นคนใช้ งั้นก็เลือกตามที่ชอบเลย” ซึ่งด้วยเหตุผมนี้แหละ ผมก็เก็บมาคิดใช้จนถึงทุกวันนี้ มันจะเป็นแค่เหตุผลเล็กๆ ที่ติดขัดการกระทำ หรือการทำงานที่มุ่งไปข้างหน้าของเราได้ สิ่งที่เราคิดว่าติดขัด ถ้าเราคลี่มันออกมา มันอาจจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ก็เป็นได้ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลนึงที่คุณพ่อสอนให้รู้จักคิดตั้งแต่ตอนนั้น |
อย่างที่ผมบอกว่า “ชอบแต่งรถ” ดังนั้น ของแต่งจะมีมารอตั้งแต่ก่อนได้รถ ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทุกคัน มีการวางแผนการแต่งรถตลอดว่า อยากออกมาให้เป็นหน้าตาอย่างไร ตอนนั้นเรียกได้ว่าครึ่งๆ เลย เด็กที่นั่นจะแต่งรถที่ แดช มอเตอร์สปอร์ต ของ “พี่รอน” ซึ่งเป็นพี่ชายของ “เฮียทูน TOON MOTORSORT” ในตอนนั้นผมก็มีความคิดไม่ค่อยเหมือนใคร ส่วนใหญ่เค้าแต่งรถก็เลือกของแต่งจากสำนักเดียวกัน แต่ผมมองว่ามันยังไม่ใช่ ดูง่ายเกินไป เหมือนเค้าคิดมาให้แล้ว ที่เหลือก็แค่เอามาใส่ ผมก็เลยเลือกของแต่งในแบบที่ผมชอบ แล้วเอาไปใส่รถดีกว่า ไม่จำเป็นต้องแบรนด์เดียวกันทั้งคัน เอาเป็นว่าสวยถูกใจก็พอ ซึ่งหลังจากเริ่มมีรถคันแรก ก็มีคันที่สอง สาม สี่ ตามมาเป็นลำดับ ลองหมดสปอร์ตญี่ปุ่นอย่าง Supra หรือน่ารักๆ แบบ Golf GTI เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความชอบและอินในตอนนั้น ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งคันสุดท้ายก่อนกลับประเทศไทย ไปจบที่ Porsche 968 | ปี 1998 ผมกลับมาอยู่ประเทศไทย เริ่มต้นทำงานอยู่กระทรวงการคลัง ก็ใช้ชีวิตแบบไทยๆ เพราะสังคมที่นั่นคนละแบบกับที่นี่ ใจก็ยังรักที่จะเล่นรถอยู่เหมือนเดิม ชอบ Mazda RX-7 มาก เพราะตอนที่อยู่โน่นก็เลือกระหว่าง Supra กับ RX-7 ก็เลือก Supra มา พอกลับมาทำงานที่ประเทศไทยก็เลยอยากได้ RX-7 แต่ก็ไม่เคยได้จนถึงทุกวันนี้ ทีนี้ก็เริ่มเล่นรถ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนมาวันนึงไปเจอรถ Alfa GTV สีแดง ตรงแยก อสมท วันนั้นไม่รู้หรอกว่ารถอะไร เห็นทีแรกรู้สึกว่า รถอะไรเนี่ย? ทำไมถึงสวยขนาดนี้ ซึ่งก่อนหน้าจะมาสะดุดตากับ Alfa GTV คันนี้ ก็ไปจัด MINI Coooper มานอนอู่ไว้คันนึงแล้ว ซึ่งตอนนั้นการสื่อสารในโลกออนไลน์เริ่มแพร่ขยาย ก็ไปค้นหาข้อมูล จำได้จากรูปทรงกระจังหน้า มีไฟสี่ดวง จนรู้ว่าเป็น Alfa Romeo แต่ไม่รู้หรอกเค้าเรียกว่ารุ่นอะไร ในตอนนั้นก็มีแต่เว็บต่างประเทศ จนไปเจอ “บางกอกคลาสสิคคาร์” จำได้ว่าตอนรู้จัก “บ้านบางกอกฯ” ยังอยู่ใน “Pantown” อยู่เลย ก็ลองเข้าไปศึกษา เลยเจอกับรถ “พี่ตรี” กำลังทำอยู่ ซึ่งในความคิดบอกเลยว่าไม่เคยคิดที่อยากจะทำรถออกมาให้เป็นเหมือนเดิมตั้งแต่แรก ก็เริ่มออกล่าจนได้รถ จบมาที่ 1.6 แสนบาท เอามาทำในสไตล์เรซซิ่ง ให้ได้อย่างที่ใจต้องการ เบ็ดเสร็จทำจบ แทบสลบเหมือนกัน |
บ้านบางกอกฯ เนี่ยเค้ามีแนวทางเล่นรถคลาสสิก ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ว่า รถเน้นใช้งาน ขับได้ และไม่ได้เน้นไปถึงรถประเภท Super Hi End ที่จอดโชว์อย่างเดียว มันไม่ได้ฟีลลิ่ง อรรถรสมันไม่ได้ครบ ก็เหมือนเสพย์ยังไม่สุด เราไม่ได้ซื้อรูปปั้น เราซื้อรถ ฉะนั้น คำว่ารถ “มันต้องขับได้” จากเริ่มแรกของการเล่นรถแนวอนุรักษ์ ก็ แตกแขนงออกมาสู่แนวเรซซิ่ง ยิ่งเป็นช่วงขาขึ้นของ Japanese Retro Car ก็ลากยาวไปเรื่อยเลย อาทิ Celica, KE25 ทีนี้ยาวเลย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงการทำงาน โดยลาออกจากกระทรวง กลับมาช่วยงานกิจการของที่บ้าน ก็เลยถามคุณพ่อว่า รู้อยู่แล้วว่าจะต้องให้ออกมาช่วยที่บ้าน ทำไมถึงให้เข้าไปทำงานราชการ ท่านก็บอกว่าอยากให้ลองไปทำงาน ไปเป็นลูกน้องเค้า ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้มีประสบการณ์ก่อนจะมาทำงานที่เป็นเส้นทางชีวิตจริงๆ | “ทำรถคลาสสิก มันต้องวิ่งได้” จากตรงนี้แหละที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “แทร็กเดย์” ก็เป็นกิจกรรมในสไตล์ “บ้านบางกอกฯ” ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก แยกรุ่น แยกแบรนด์ ขอแค่เข้าใจกัน คุยกันรู้เรื่องก็พอแล้ว เพราะว่าอยากให้วัฒนธรรมของคนชอบรถคลาสสิก ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเล็กๆ สเป็กจัดๆ แต่อยากให้ทุกคนที่ชอบได้มีส่วนร่วม และช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องราวให้มีชีวิตเดินต่อไปข้างหน้าได้ |
จากแค่ “แทร็กเดย์” ก็เข้ามาสู่ “แทร็กจริง” เริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมต้องมีรถแข่ง!! เพราะว่าเอารถบ้านมาใช้แข่ง ไม่ใช่ว่าแข่งไม่ได้นะ แต่มันซ่อมไม่ไหว พังตลอด เพราะทุกอย่างต้องใช้โอเวอร์อยู่ตลอดเวลา ก็เลยตัดสินใจสร้างรถแข่งดีกว่า ก็ได้ BMW E30 2 ประตู จาก คุณเต้ Euromotive ค่อยๆ ทำจนเต็มรูปแบบ Full Race จากอู่พี่เล็ก A-ARM แล้วผมก็เป็นคนเดียวที่พี่เค้าทำรถให้ แต่ไม่ยอมให้ทำเครื่องยนต์ โดยให้เหตุผลว่า เครื่องไม่ต้องแรง ขับแบบนี้ให้เก่งก่อน เพราะว่าผมเองก็เป็นคนนึงในวงการแข่งรถยนต์ทางเรียบที่ประสบการณ์ไม่มีตั้งแต่แรก เริ่มต้นด้วยตัวเอง หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ได้เรียนเรซซิ่งสคูล หรือขับโกคาร์ทมาก่อน แค่ขับแทร็กเดย์แล้วชอบ ก็เลยมาขับรถแข่งเท่านั้นเอง |
จากรถแข่งรถคลาสสิกอย่าง BMW อยู่สักพัก เจอค่าอะไหล่บ่อยครั้งเข้าก็รู้สึกว่าบานปลาย ก็เลยไปจบที่ Honda Civic EK “รถของนัท” แชมป็รุ่น 1,600 ซี.ซี. ก็ไปลอง สรุปว่า “ดี” รู้สึกชอบ รถขับเคลื่อนล้อหน้า เพราะขับง่ายกว่า พวกรุ่นขับเคลื่อนหลังที่เคยแข่งมา ซึ่งพวกรถแข่งในตระกูลขับหลังไม่ใช่ไม่เร็วนะ จริงๆ เป็นรถที่ดีมาก แต่ต้องนักแข่งต้องมีฝีมือมาก หลังจากสนุกกับรถคันใหม่ ก็เริ่มคลอด Integra DC5 แล้วก็ S2000 ต่อไปก็ซูเปอร์คาร์ อย่าง Ginetta ซึ่งเห็นชอบแข่งรถมากมายแบบนี้ เป้าหมายในการแข่งรถคือชอบ!! ต้องบอกว่า “เจียมตัว” เพราะเราไม่โตมากับสายการแข่งขัน ไม่มีประสบการณ์ ก็เลยไม่เคยหวังถึงเรื่องของการเป็นแชมป์ประเทศไทย ผมไม่เคยคิดเลย คิดแค่ว่า “สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ ไม่เบียดเบียนเดือดร้อนคนอื่นก็พอ” อยากหาประสบการณ์ อยากขับรถหลายๆ ที่ ผมว่าผมเป็นคนแรกๆ ที่หาเรื่องไปแข่งขันต่างประเทศด้วยตัวเองนะ จุดเริ่มมาจากงานแข่งที่บางแสน จะมีอยู่รุ่นนึงที่เป็นรถ MINI จากฮ่องกง เข้ามาแข่งในประเทศไทย ก็ได้รู้จักกัน ติดต่อกันในช่วงที่เค้ามีการแข่งขัน เค้าก็ชวนเราไปร่วมด้วย บอกตามตรงไม่เคยรู้เรื่องการนำรถเข้า-ออก นอกประเทศเลย แต่รู้ว่าอยากไปก็เลยหาวิธีเอารถไปร่วมรายการ 3 คัน มี BMW M3 คุณพอล คุณชิน และคุณเต้น เอา Alfa ไป พร้อมกับ ช่างเอ๋ RWB แล้ว อาร์ต กับ แวน ขับรถตามไป โดยมี “คุณตี๋” เป็นผู้ประสานงานในการข้ามพรมแดน ก็ไปด้วยพลังที่อยากจะไปของตัวเอง สรุปก็แฮปปี้ มีความสุขกลับมาในทริปแรก ในเมื่อมีครั้งแรกได้ หนที่สอง หนที่สามตามมา แล้วก็การแข่งขันที่จำขึ้นใจคือการแข่งขันเซปังฯ พันกิโลเมตร Sepang 1000km Race (S1K) | ในคลาสที่ผมลง รถน้อยมาก มีประมาณ 6 คัน เหลือรถที่ผมขับครบคันเดียว ก็ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์ในรายการนี้ แล้วทางผู้จัดเค้าก็ยกเลิกคลาสนี้ ทำให้ผมเป็นแชมป์คนสุดท้ายของการแข่งขันในคลาสนี้ ตอนที่แข่งรายการ Classic Car ที่สนาม Sepang มันมีอยู่สนามนึงที่ต้องไปเจอกันในรายการ Merdeka การแข่งขัน Endurance 12 ชั่วโมง ผมก็ไปนั่งดู “คุณต๊อด” แข่งในรายการนี้ มีความรู้สึกมันส์และชอบ ก็เลยตั้งใจจะไปแข่งรายการนี้ ในนามทีม PainKiller Racing ขึ้นมา ชวนกันไปมาก็มี คุณเอก อโณทัย เอี่ยมลำเนา, คุณแอม พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา , คุณพอล กาญจนพาสน์, คุณ UMAR A. RAHMAN คุณ Rudolf Yu, คุณแบงค์ กันตศักดิ์ กุศิริ, คุณบูม กันตธีร์ กุศิริ ส่วนรถแข่งก็มีไป 2 คัน คือ Honda Civic FD และ Aston Martin โดยตั้งใจไปหาประสบการณ์ แต่ก็มีการวางแผนการแข่งขัน เลือกรุ่น สปอร์ต โปรดักชั่น เพราะมีรถน้อยสุด ไม่ต้องไปหวังในกลุ่มจีทีเลย ปรากฏว่าปาฏิหาริย์มีจริง ในการแข่งขันรายการ Medeka Endurance Race นับเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยเราชนะการแข่งขันในรุ่นนี้ ซึ่งบอกตามตรงว่าเราไม่ได้หวังในผลลัพธ์นี้ เพราะคอนเซ็ปต์ที่วางไว้คือ “แข่งรถต้องสนุก ไม่สนุกอย่าแข่ง เราไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้แบกชื่อเสียงให้ใคร ถึงแม้จะมีชื่อสปอนเซอร์บนรถ แต่เค้าก็ต้องรู้ตั้งแต่เลือกเราแล้ว ว่าไม่ได้ทีมหัว แต่เราก็มีความรับผิดชอบที่จะวิ่งให้ครบทุกสนามตามที่ขอไว้ ชนะหรือไม่ชนะ ตอบไม่ได้ รู้เพียงแต่ว่าทำเต็มที่” ซึ่งถ้าบอกว่ามาถึงจุดที่ต้องการแล้วยัง ก็บอกเลยว่าเต็มอิ่มนะ ได้ทำตามที่ต้องการ ถึงผลลัพธุ์จะออกมาเป็นรูปแบบใด แต่ตอนทำตั้งใจทำให้ดีที่สุดก็พอใจแล้วล่ะ |
นอกจากนั้นประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งรถยนต์ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารธุรกิจที่ผมทำอยู่ได้อีกด้วย ตรงที่ว่า การคิด แนวคิด การตัดสินใจ คือขับรถมันต้องเร็ว บางเรื่องมันคือสัญชาตญาณ ขับรถยังต้องซ้อม ทำงานก็ต้องมีการเตรียมตัวเช่นกัน คือเลือกที่จะทำการบ้านก่อนเสมอๆ ในทุกเรื่อง โดยธรรมชาติที่ผมสัมผัสนะ คนไทยเนี่ยเก่งมาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า | แต่คนไทยไม่ชอบที่จะวางแผนการทำงานก่อนล่วงหน้า ชอบไปแก้เอาข้างหน้าเสมอ การทำโรงแรม หรือธุรกิจอื่นก็ตาม ต้องแน่วแน่กับจุดที่เริ่มต้น ไม่สะเปะสะปะ ต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ เราทำเพื่ออะไร ทำเพราะเพื่อน ทำเพราะเงิน หรือทำเพราะอะไรก็แล้วแต่ ธุรกิจก็จะไม่เสียความเป็นตัวตน เพราะระหว่างทางที่เดิน มันมีอุปสรรค มันมีโอกาสที่จะให้เราเป๋ไปเป๋มาได้ แต่ถ้าเรามั่นคงในความตั้งใจ ยังไงซะก็ไม่หลุดเป้าหมาย” |
เป็นคนรุ่นใหม่ในวงการ ที่มีทัศนคติและจุดยืนที่ชัดเจน จากวันที่รู้จักกันเพียงแค่ตัวคนเดียว จนถึงวันนี้มีครอบครัวที่อบอุ่น ลูก 3 คน ก็ถึงเวลาที่เค้าจะต้องละความชอบส่วนตัว เพื่อให้เกิด “ความพอดี” ของครอบครัว และการงานที่สมบูรณ์แบบ ของผู้ชายที่ชื่อ นภัทร อัสสกุล หรือ อู๋ วินเทจ
—————————————————————————————————————————————————————————————
“ถ้าเรามีการเตรียมตัว เราก็จะเห็นข้อผิดพลาด ทำให้มีโอกาสแก้ไข ก่อนที่จะลงมือทำจริง”
“ทำงานเราต้องมีความมั่นใจ มันก็เหมือนกับการขับรถแข่ง โค้งนี้จะเลี้ยวหรือจะเบรก เมื่อแต่คิดยึกยัก ก็ไม่รอดกำแพง”
“การทำงานก็เหมือนกัน ถ้าผิดพลาดแล้วแก้ไขไม่ได้ มันก็ต้องมองไปข้างหน้าต่อไปว่าจะแก้ไข เอาข้อผิดพลาดที่เสียหายคืนมาอย่างไร”
“เตรียมตัวเยอะ โอกาสประสบผลสำเร็จก็มีเยอะ”
“ล้มไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคิดไว้ก่อน แต่ถ้าล้มแล้วไปคิดแก้ปัญหาเอาหน้างาน นั่นแหละเรื่องใหญ่”
“Bandara คือ โรงแรมของคนไทย เซอร์วิสแบบไทยๆ จุดขายของเราไม่ได้ขายเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ห้องสวยๆ โลเกชั่นเก๋ๆ แต่เราขายเซอร์วิสมายด์ของคนไทย ”