เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: Taklong Racing by Ton City Mania
และนี่ก็เป็นหนึ่งใน “รถกระแส” จากทาง ECU SHOP ที่หลายคนเฝ้ารอชม ซึ่งสำนักนี้หากคนที่ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้อง “มีอะไรประหลาด” มาให้ชมกัน และแน่นอนว่า เราจะต้องไป “หาของประหลาด” มาให้ดู ด้วยเทคนิคต่างๆ ที่สรรหาใส่กันเข้าไป โดยเฉพาะเรื่องของ “Dry Ice” หรือ “น้ำแข็งแห้ง” ที่เอาความเย็นจัดมาเรียกแรงม้า โดยไม่ต้องพึ่งระบบอัดอากาศใดๆ เรื่องน้ำแข็งแห้งนี้ เป็นสไตล์ที่ ECU SHOP นำมาใช้ตั้งหลายปีแล้ว ตั้งแต่ EVO III สีเทา ที่เป็น “รถสร้างชื่อ” ถูกนำมาใช้กับ BRIO เขียวหวานคันนี้ นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดการโมดิฟายที่น่าสนใจอีกเยอะ ต้องอ่านครับ ต้องอ่าน…
Dry Sump ลดตำแหน่งเครื่องต่ำลง แล้วไง ???
จุดที่น่าสนใจของคันนี้ คือการใช้ระบบ Dry Sump ของ MOROSO ที่ออกจะพิเศษกว่ารถในสเต็ปเดียวกัน ระบบ Dry Sump จะใช้ “ปั๊มแยกอยู่ภายนอก” (External Gear Pump) ขับเคลื่อนโดยสายพาน และมีถังเก็บน้ำมันเครื่อง (Oil Reservoir Tank) อยู่ต่างหาก ข้อเสียมี คือ “แพง อุปกรณ์มากมาย” ไม่เหมาะสำหรับรถขายทั่วไป (แต่ก็มีนะ รถ Production Dry Sump จากโรงงานเลย เช่น PORSCHE) แต่กับรถแข่ง มันมีข้อดีหลายประการ เช่น…
- มีถังเก็บต่างหากที่เราสามารถ “เพิ่มปริมาณการจุน้ำมันเครื่องได้” เยอะกว่าของเดิม ทำให้น้ำมันเครื่องมีการไหลเวียนที่เพียงพอสำหรับรอบสูงมากๆ…
- ไม่ต้องมีอ่างน้ำมันเครื่องใต้เครื่อง เพราะเรามีถังเก็บแยกต่างหากแล้ว ข้อดีแน่ๆ ก็คือ “สามารถวางเครื่องให้ต่ำลงได้มาก” ไม่ติดแคร็งค์ล่าง ระบบ Dry Sump ออกแบบมาใช้กับ “รถแข่ง” ที่ต้องการวางเครื่องต่ำ เพื่อลดจุดศูนย์ถ่วง () ให้ต่ำลง เพื่อการทรงตัวที่ดีขึ้น…
- เปลี่ยน ปรับ ตั้ง ได้ง่าย เพราะปั๊มแยกออกมาอยู่ข้างนอก…
- ลดการเสี่ยงต่อ “ปั๊มแตก” ปั๊มน้ำมันเครื่องติดรถ มักจะมีขนาดที่ “พอเพียงกับการใช้งาน” เป็นหลัก ขนาดก็พอเหมาะ (ไม่รู้จะทำใหญ่โตให้ต้นทุนมันเพิ่มทำไม) เมื่อเราโมดิฟายเครื่องยนต์แรงมากๆ ปั๊มเดิมอาจจะ “รับไม่ไหว” เกิดการ “พัง แตก เสียหาย แรงดันไม่พอ” อะไรก็ว่าไป จะขยายในเครื่องก็ทำไม่ได้ พื้นที่จำกัดแค่นั้น เลยต้องใช้ระบบ Dry Sump แยกมาต่างหากเลยจบ จะเอาตัวโตขนาดไหนก็ว่ากันตามแรงม้าที่มี…
- “รองรับแรง G สูงๆ โดยเฉพาะ” ถ้าเป็นระบบแคร็งค์เดิม เวลาออกตัวแรงๆ หรือเลี้ยวแรงๆ น้ำมันจะเทไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ทำให้ “น้ำมันเครื่องขาดช่วง” ความบรรลัยจะก่อเกิด แต่ถ้าเป็นระบบ Dry Sump ตัดปัญหานี้ไป เพราะน้ำมันเครื่องมันเก็บอยู่ในถังแยก จะโยกให้หลุดโลกยังไง มันก็ไม่กระฉอกไปไหน เพราะ “จุดไหลมันอยู่ด้านล่างสุด” ยังไงมันก็ไหลลงอ่ะครับ (ยกเว้น “กลิ้ง”) ไม่เหมือนแคร็งค์เดิมที่ใช้การ “ดูด” โดยฝักบัวที่อยู่สูงกว่าแคร็งค์ล่าง ไม่ได้ติดเลยนะครับ เวลาน้ำมันกระฉอกหายไปจน “ดูดไม่ถึง” ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ว่าไปนั่นเองครับ…
ก็เป็นเรื่องที่น่ารู้ง่ายๆ แต่ทำไม ECU SHOP ถึงกล้าเอามาใส่กับรถ BRIO L15A ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาด Dry Sump ก็ได้ เหตุผลที่สำคัญต่อเนื่องกัน คือ…
- ซื้อมาจะใส่เครื่อง K20A แต่ไม่ได้ทำสักที เลยเอามาใส่ BRIO ก่อน
- เรื่องสำคัญกว่านั้น คือ คันนี้ได้ “วางเครื่องต่ำลงกว่าปกติ” สังเกตว่าเครื่องจะเตี้ยลงกว่าเดิมมาก เป็นเพราะต้องการให้ “มุมเพลาข้างขนานกับพื้นพอดี” เพื่อให้การส่งกำลังเป็นไปอย่างสมบูรณ์ใน “แนวตรง” ซึ่งจะส่งกำลังได้มากกว่าแนวที่ไม่ตรง…
Dry Ice เพิ่มแรงม้า
เอกลักษณ์ของ ECU SHOP ก็จะนิยมใส่ “น้ำแข็งแห้ง” ในรถแข่งควอเตอร์ไมล์ของค่าย BRIO คันนี้ก็เช่นกัน เรื่องน้ำแข็งแห้งเคยฝอยไปแล้วในเล่ม 131 ปี 2007 นู่น “10 ปี” มาแล้ว “ทบทวน” หน่อยแล้วกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยรู้…
น้ำแข็งแห้ง ไม่ใช่น้ำแข็งที่เราคุ้นเคย ???
ทุกคนก็คงจะคิดว่า น้ำแข็งแห้งจะทำมาจาก “น้ำ” แล้วทำอะไรกับมันก็ไม่รู้ มีจุดเยือกแข็งต่ำกว่าน้ำแข็งปกติที่เรากินๆ กัน จริงๆ คนละทิศเลยครับ น้ำแข็งแห้งจริงๆ แล้ว มันคือ “คาร์บอนไดออกไซด์” ที่อยู่ใน “สถานะของแข็ง” (Solid CO2) สีขาวขุ่น ณ อุณหภูมิต่ำถึง “-78.5 องศาเซลเซียส” แน่นอนว่า มัน “Extreme Cold” หรือ “โคตรเย็น” กว่าน้ำแข็งธรรมดาหลายเท่าตัว ใช้ปริมาณไม่มาก ก็เย็นสุดๆ กันแล้ว จะใช้ในการขนส่งหรืออะไรก็ตามที่ต้อง “แช่เย็น” จัดๆ เป็นหลัก ตัวมันเองไม่มีน้ำเป็นส่วนผสมเลยครับ พอวางไว้ มันจะ “ระเหย” หมดจน “หายไปเอง” เป็น “ก๊าซ” ไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ ก็ได้เรื่อง “น้ำหนักเบา” อีกต่างหาก ไม่เหมือนน้ำแข็งปกติ ที่พอละลายแล้วก็กลายเป็นน้ำธรรมดาที่มีน้ำหนัก น้ำ 1 ลิตร ก็หนัก 1 กก. เข้าไปแล้ว พอนำมาใช้ในรถแข่ง ก็สามารถใช้น้ำแข็งแห้งเพียวๆ ได้เลย ไม่ต้องเอาน้ำแข็งผสมน้ำให้มันหนักเล่น แถมต้องมี ปั๊มน้ำไฟฟ้า ท่อทางเดินต่างๆ มากมาย ลดความวุ่นวายไปได้เยอะ…
สำหรับข้อดีของการนำความเย็นมาใช้ก็คือ “เพิ่มความหนาแน่นของอากาศ” และ “เพิ่มออกซิเจนในการสันดาป” ก็เท่ากับว่า “เพิ่มพลังให้เครื่องยนต์” ลดอุณหภูมิไอดี ลดการเสียหายภายในเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องพึ่งระบบอัดอากาศ ซึ่งทาง ECU SHOP ก็ได้ทดสอบความแตกต่างของ “แรงม้า” ระหว่างใช้น้ำแข็งแห้งกับไม่ใช้ มีส่วนต่างถึง “20 กว่าแรงม้า” เลยทีเดียว ถือว่ามากนะครับ ในเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่หายใจเอง ในด้านของ “ข้อควรระวัง” มีหลายอย่าง เช่น “ห้ามให้สัมผัสผิวหนังโดยตรง” เพราะอุณหภูมิติดลบมากขนาดนั้น ทำให้ “ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัด” หรือ “Frostburn” (ตอนเด็กๆ ใครเคยเล่นน้ำแข็งแห้ง น่าจะเคยมีโดนกันมั่งละ) “ต้องมีท่อระบายไอระเหย” ถ้าใส่ในภาชนะปิดสนิท คาร์บอนไดออกไซด์จะระเหิดเป็นไอและมี “แรงดันเพิ่ม” ทำให้เกิดการ “ระเบิด” ได้ “ไม่ใช่ของที่เป็นมิตรกับร่างกาย” มันคืออะไรครับ อย่างที่บอกไป “ไม่ควรสูดดม” ให้เข้าไปในร่างกาย ถ้าดมเป็นปริมาณมากๆ มันจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กระหายน้ำมาก ระบบหายใจมีปัญหา ก็ระวังครับ เด็กๆ จะชอบเล่นกันมาก เดี๋ยวจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์…
ดูดอากาศผ่าน Condenser
การส่งไอความเย็นเข้าท่อไอดี ก็เล่นวิธี “ซื่อๆ” ครับ ด้วยการเอา “แผงคอนเดนเซอร์” ที่ให้ความเย็นเข้าไปหมุนวน (Circulated) แบบปกตินี่แหละครับ มา “วางอยู่หน้าลิ้นไอดี” โดยมี Air Duct ปิดอยู่ด้านหลัง บังคับให้ลมเข้าลิ้นไอดีทั้งหมด (เหมือนโก่งพัดลมหม้อน้ำน่ะครับ) เมื่อคอนเดนเซอร์มีความเย็นจัด อุณหภูมิประมาณ “-25 องศา” แล้ว “รถวิ่ง” จะมีลมพัดผ่านนำพาความเย็นเข้าไปที่ลิ้นไอดี ดูดเข้าไปสันดาปภายในต่อไป แต่ต้องระวังนิดหนึ่ง รถพวกนี้จะต้อง “วิ่งเต็ม” ตลอด ไม่สามารถวิ่งไหลๆ ได้ จะทำให้ “คอนเดนเซอร์ตัน” เพราะลมไม่แรงพอที่จะนำพาความเย็นออกไปได้ทัน เลย “เย็นเกินไปจนแข็ง” (Freeze) นั่นเอง…
หัวฉีดเบิ้ล 1,000 + 600 c.c.
คันนี้ใช้หัวฉีดขนาด 1,000 c.c. 4 หัว และ 600 c.c. อีก 4 หัว ถามว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร หายใจเอง ต้องการอะไรกันขนาดนั้น เท่าที่ถามทีมงาน ECU SHOP ก็ (พอจะ) บอกได้ว่า คันนี้ใช้น้ำแข็งแห้ง อุณหภูมิจะเย็นลงมาก ทำให้ “ออกซิเจน” เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน จึงต้อง “จ่ายให้มากกว่าปกติ” เพื่อให้ “พอกิน” ไม่งั้น “บางเกินไป” หากหัวฉีดไม่ใหญ่พอที่จะโปรยเชื้อเพลิงเข้าไปได้ ก็แยกเป็น 2 ชุด อย่างที่บอกไป น่าจะมีประโยชน์ในการ “ตั้งจังหวะการฉีด” ได้หลากหลายกว่าแบบหัวฉีดชุดเดียว…
Max Power: 246.5 hp @ 7,700 rpm
Max Torque: 258.8 n-m @ 5,800 rpm
กราฟแรงม้าและแรงบิดของคันนี้จะมี Power Band ค่อนข้างกว้างทีเดียว น่าจะเป็นการอาศัยความเย็นของน้ำแข็งแห้งที่สร้างออกซิเจนและความหนาแน่นให้กับเครื่องยนต์ได้อย่างต่อเนื่อง ดูกราฟแรงม้า (เส้นสีแดง) ก็จะทยอยขึ้นตั้งแต่ 4,500 rpm มีแรงม้าออกมา 150 hp หลังจากนั้นกราฟก็จะทยอย ไม่ถึงกับทะยาน ที่ 5,500 rpm ได้มา 200 hp แล้วจ้า ค่อยๆ ทยอยขึ้นสู่จุด Peak ในช่วง 7,000-8,500 rpm จะว่า Peak มันก็ไม่ใช่ เพราะมัน “นอนยาว” จนรอบตัด ส่วนกราฟแรงบิด (เส้นสีน้ำเงิน) สวยงาม “มาไว” นะครับ ช่วงใช้งานเต็มๆ มีตั้งแต่ 4,800-7,000 rpm ซึ่งช่วงนั้นก็จะเป็น “การต่อเกียร์” พอดี ทำให้ไปได้อย่างต่อเนื่อง แรงบิดจะส่งผลเรื่องอัตราเร่งโดยตรงอยู่แล้วครับ นับว่าเป็นกราฟที่สวยดีสำหรับเครื่อง L15A หายใจเองครับ…
Comment: ECU SHOP
รถคันนี้ทีมงาน ECU SHOP สร้างขึ้นมาด้วยคอนเซ็ปต์หลายอย่าง โดยมากแล้วจะเน้นในด้านเทคโนโลยีต่างๆ ในการพัฒนารถให้เร็วขึ้น ส่วนมากเราเป็นทีม Electronic Engineer ก็เน้นระบบไฟฟ้ามากหน่อย แล้วก็เอาลูกเล่นมาเสริม เช่น การนำน้ำแข็งแห้งมาช่วยเพิ่มพลังให้เครื่องยนต์ คันนี้ให้ “Pond Tech” ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของเราเป็นผู้ขับ ด้วยประสบการณ์ที่มี Test Run เวลาดีที่สุด อยู่ที่ “12.2 วินาที” ควอลิฟาย “12.3 วินาที” หลังจากนั้นก็ “คลัตช์พัง” น่าเสียดาย เพราะคันนี้ยังเป็นเกียร์ K20A เดิมๆ มาผสมกับ L15A ที่อาจจะยังมีข้อผิดพลาดอยู่ แต่ก็จะทำเวลาให้ได้ “11.XX วินาที” ตามเป้าที่ตั้งไว้ครับ… (ปลายปี 2015 วิ่งได้ที่สถิติ 11.944 วินาที)
Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี
สำหรับคันนี้ก็ชื่นชมในความ “ครีเอต” เอา “นู่น นี่ นั่น” มาใส่เพิ่มแรงม้า แล้วก็มีแนวคิดแปลกๆ หลายอย่างที่อ่านไป สไตล์ ECU SHOP ที่หลายคนอาจจะรู้แล้ว หรือหลายคนอาจจะยังไม่รู้ ในด้านสมรรถนะ ตอนนี้ผมคงพูดอะไรมากไม่ได้ ก็ต้องรอดู Target Time ที่เขาต้องการจะทำให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ครับ แต่คิดว่าได้ไม่ยาก ก็ต้องติดตามชมกันต่อไปละครับว่าจะทำได้เมื่อไร ไว้มีอะไรอัพเดทจะเหลาให้ฟังใน XO TALK บนหน้า Facebook ของ XO AUTOSPORT ครับ…
X-TRA ORDINARY
นึกออกแล้ว เรื่อง “เบรก” ที่ออกแบบมาใช้สำหรับรถ Drag แบบเฉพาะทาง ตอนนี้หลายคนเอานำไปใส่กับ “รถวิ่งถนน” ต้อง “ทำความเข้าใจ” ก่อนนะครับ ว่ารถ Drag จะเน้นเบรกแบบ “ค่อยๆ ชะลอ” หลังจากเข้าเส้น สังเกตดูก็รู้ครับ ว่าโครงสร้างจะเน้น “น้ำหนักเบา” จานเบรกก็บางเฉียบ เจาะรูอีกต่างหาก ขนาดก็ไม่โตมาก เรียกว่าลดภาระกันสุดๆ เพื่อให้รถ Sprint ได้เร็ว ไม่เน้นเบรกหนักต่อเนื่อง ไม่ได้เผื่อการเบรกกะทันหัน ไม่ได้เผื่อความ “ทนทาน” ในการใช้งานบ่อยครั้ง ซึ่งก็ตรงตามตามวัตถุประสงค์ที่เขาผลิตมาอย่างนั้น มันไม่เหมือนเบรกรถวิ่งถนนทั่วไป ที่จะเป็นแบบ “จับอยู่” เผื่อ “กะทันหัน” พูดง่ายๆ โครงสร้างชุดเบรกทั้งหมดมันคนละอย่างกัน คนละวัตถุประสงค์ ไม่ควรนำเบรกรถ Drag มาใช้กับรถวิ่งถนนครับ ด้วยความปรารถนาดี…
TECH SPEC
ภายนอก
แก้ม + ประตู : Carbon by MONZA SHOP
ภายใน
เกจ์วัด : AUTO METER + Defi ZD ADVANCE
พวงมาลัย : MOMO
ชุดด้ามเกียร์ : K-TUNED
ด้ามเบรกมือ : ECU SHOP
เบาะ : KIRKEY
ตาข่ายนิรภัย : G-FORCE
โรลบาร์ : ECU SHOP
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ : L15A
ลิ้นไอดี : K20A Individual Throttles Custom Made
ฝาสูบ : ECU SHOP
วาล์ว : BC
สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟท์ : CATCAM Full Race
ลูกสูบ : BC
ก้านสูบ : BC
แบริ่งชาร์ฟ : ACL
เฮดเดอร์ : ECU SHOP Custom Made
ระบบ Dry Sump : MOROSO
หัวฉีด : BOSCH 1,000 CC. + 600 CC.
เร็กกูเลเตอร์ : HOLLEY
รางหัวฉีด : HYPERTUNED + OBX R
คอยล์ : AEM
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : ECU SHOP Motor Spark
กล่องควบคุม : ECU SHOP OCTANE MAX 4 Stand Alone
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : K20A Type R
ชุดคลัตช์ : BRC
ช่วงล่าง
โช้คอัพและสปริง : H-DRIVE
เบรกหน้า : Strange
เบรกหลัง : BREMBO
ล้อหน้า : LENSO ขนาด 8.0 x 13 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD Magnum ขนาด 4 x 15 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง HOOSIER ขนาด 24.0-8.0-13 และ 25.0-5.0-15
Special Thanks
ECU SHOP
Contact : www.facebook.com/ecushop
Bangkok Drag Avenue
Contact : www.facebook.com/Bangkok-Drag-Avenue
ก่อนวิ่งก็ต้อง “ทุบน้ำแข็งแห้งใส่” ให้ “เย็นเฉียบ” เพื่อรีดแรงม้าสูงสุด แต่ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ว่าจะมี “ของเหลวหล่อเย็นผสมพิเศษ” อะไรหรือเปล่า เพราะสไตล์ของที่นี่เน้น “รถวิทยาศาสตร์” ต้องศึกษาตามครับ
หลายคนคิด (เล่นๆ) ว่า จะเอา “ไอเย็น” จากน้ำแข็งแห้งที่ต่อทิ้งไปมาใช้ประโยชน์ได้ไหม เช่น “ต่อเป็น Cool Suit” เป่าที่ชุดนักแข่ง คิดน่ะได้ แต่ทำจริง “ไม่ได้” เพราะมันคือ “คาร์บอนไดออกไซด์” อย่างที่บอกไป ไม่เป็นผลดีกับการสูดดมโดยตรง เตือนไว้นะครับ ไม่ใช่เห็นเย็นๆ ไปดมเล่นให้ชื่นใจ เดี๋ยวจะ “เดี้ยง” เอาง่ายๆ นะครับ
เป็นปกติที่จะต้องมี “ช่วงชุลมุน” เราเลยเก็บภาพแนวนี้มาฝากกัน จะได้ “ไม่เบื่อ”
“ปอนด์เทค” ทั้งขับและเป็นจูนเนอร์ ECU SHOP เต็มตัวแล้วตอนนี้
ดูเองละกัน ว่ามีอะไรบ้าง บอกแต่ว่า “กล่องแดง” เป็น Motor Spark ส่วน “กล่องเหลือง” เป็น OCTANE MAX 4 ที่ใช้เป็น Stand Alone หรือ Piggy Back สำหรับรถบ้านที่ต้องการ “ระบบครบ” ได้
“น้ำแข็งเกาะ” บน Condenser และหัวต่อท่อความเย็น เครื่องจะอยู่ต่ำกว่าปกติ ทั้งๆ ที่เป็น L15A เพราะลดความสูงตำแหน่งเครื่องลงให้เพลาข้างอยู่ในแนวระนาบ ถังเก็บน้ำมันเครื่องระบบ Dry Sump อยู่ด้านซ้ายมือของรถ (ถังกลมๆ ที่เห็น) เพราะตรงนั้นมีที่ว่างพอดี และสิ่งที่ได้แน่นอน คือช่วย Balance น้ำหนักไปด้านซ้ายให้มากขึ้นอีกด้วย
ดูดอากาศเย็นๆ ผ่าน Condenser ที่จะมี Air Box ครอบ เพื่อบังคับทิศทางลมให้เข้าลิ้นเต็มๆ อีกที
เฮดเดอร์จะใช้การต่อแบบ “สวมปาก” และใช้ “สปริงรั้ง” ไม่ให้คลาย ข้อดี คือ “เซอร์วิส ถอดประกอบง่าย” ไม่ต้องขันหน้าแปลน ไม่ต้องมีปะเก็น ไม่ต้องกลัวรั่ว เพราะเวลาวิ่งร้อนๆ ท่อจะ “เบ่งขยาย” จน Seal กันรั่วด้วยตัวมันเอง รางหัวฉีดมี 2 ชุด สำหรับหัวฉีด 2 ขนาด