เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี, อรรถวิชญ์ อังศวานนท์
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), กาญจน์ กาญจนวิไล (Foto by Bank)
TP12 by Todd @ GT Asia Series
With FERRARI 458 FIA GT3
ฝีมือคนไทย หัวใจสิงห์ !!!
สำหรับการแข่งขันในระดับ “อินเตอร์” ที่ “นักแข่งไทย” และ “ทีมไทย” ได้มีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน ได้มีการหาประสบการณ์จากการแข่งขันในระดับอินเตอร์มากขึ้น เพื่อยกระดับให้คนไทยมีโอกาสได้เก็บประสบการณ์ และได้ “ลับฝีมือ” กับนักแข่งระดับโลก เพื่อนำมาพัฒนาวงการมอเตอร์สปอร์ตของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติมากขึ้น สำหรับการเดินทางของทีม Singha TP12 Racing Team ที่มีหัวเรือใหญ่ คือ “คุณต๊อด” ปิติ ภิรมย์ภักดี ซึ่ง TP ก็มาจากคำว่า “Todd Piti” นั่นเอง โดยใช้รถ FERRARI 458 Italia FIA GT3 ได้ร่วมการแข่งขัน “GT ASIA” ซึ่งมีที่มาที่ไปอย่างไร เดี๋ยวเราจะให้ “อาจารย์โบ” อรรถวิชญ์ อังศวานนท์ Race Engineer ประจำทีม เป็นผู้เล่าประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจให้เราได้ฟังครับ…
สำหรับรายการ GT ASIA นั้น จะจัดขึ้นโดยบริษัท MAL (Motorsport Asia Limited) ที่จัดการแข่งขันใน South East Asia รายการดังๆ เช่น AFOS (Asian Festival of Speed) ที่บ้านเราเคยมีมาแข่งที่สนามพีระฯ (พัทยา) ก็จะมีรายการแข่งต่างๆ เช่น CARRERA CUP ASIA, FORMULA BMW, ASIAN TOURING CAR คงจำกันได้ ตอนนั้นก็ถือว่าตื่นเต้นกันพอสมควร เพราะมีรถแข่งจากต่างประเทศมาแจม จุดเริ่มต้นของทีม TP12 ในการร่วมลงแข่งรายการ GT ASIA เนื่องจาก “ต้องการก้าวสู่มอเตอร์สปอร์ตระดับภาคเอเชีย” และการแข่ง GT ASIA ก็ไปทั่ว South East Asia และ “เป็นการแข่งในสนามระดับ F1” ที่ FIA Approve เช่น Sepang International F1 Circuit in Malaysia, Fuji Speedway in Japan, Shanghai International Circuit in China และ Korea International Circuit in Korea ที่เป็นสนามน้องใหม่ ซึ่งเราก็มองเป็น “ความท้าทาย” ที่เรายังไม่เคยเจอ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาทีมให้อยู่ในระดับสูงขึ้น ครั้งแรกได้ลองชิมลาง โดยการจับคู่กับ “คุณเต๊อะ” วุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ใช้ PORSCHE 997 GT3-R แข่งที่ FUJI SPEEDWAY ประเทศญี่ปุ่น และ SEPANG INTERNATIONAL CIRCUIT ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตอนนั้นรายการ GT ASIA ก็เริ่มแข่งขันถึงช่วงกลาง Season แล้ว เราเข้าไป Join เพียงแค่ 2 สนาม เพื่อชิมลางกันก่อน หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2015 ก็ได้เปลี่ยนรถเป็น FERRARI 458 FIA GT3 คันนี้ ปีนี้เริ่มแข่งที่สนาม Korea International Circuit เดือนพฤษภาคม จับคู่กับนักขับ Team Mate ชาวญี่ปุ่น คือ “Naoki Yokomizo” สนามต่อมา ที่ Okayama ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็น Round 3 & 4 เดือนมิถุนายน เปลี่ยนนักขับ Team Mate คนใหม่ คือ “Carlo Van Dam” ชาวดัตช์ ที่เคยเป็นแชมป์ All-Japan Formula 3 เมื่อปี 2008 เหตุที่เลือกคนนี้มา เนื่องจากผ่านการขับในลีกของยุโรป ซึ่ง “เขี้ยว” กว่าในระดับเอเชีย จึงน่าจะช่วยเหลือในหลายๆ ด้านได้ ซึ่งทีม TP12 สนามนี้ก็ประสบความสำเร็จ “ได้อันดับ 2” ไปครอง…
พูดถึงนักแข่ง ในกติกาการแข่ง GT ASIA นั้น จะต้องมีนักขับ 2 คน เปลี่ยนกันขับภายใน 1 Race และมีกฎเกณฑ์การจับคู่นักแข่ง โดยแบ่งเป็น 4 เกรด ดังนี้…
- Platinum : ระดับสูงสุดของการคัดเลือกฝีมือนักแข่งของ GT ASIA สามารถจับคู่ได้กับเกรด Bronze เท่านั้น…
- Gold: สามารถจับคู่ได้กับเกรด Bronze เท่านั้น ซึ่ง Carlo Van Dam จะอยู่ในคลาสนี้ แต่เป็นระดับ Gold High ที่กำลังจะขึ้นสู่ระดับ Platinum แล้ว…
- Silver: สามารถจับคู่กับ Silver ด้วยกันได้ รวมถึง Bronze ด้วย…
- Bronze: จับคู่ได้ทุกเกรด…
TP12 @ GT ASIA Round 10 & 11 in Thailand
“ครั้งนี้” ที่เป็นประสบการณ์ของ “ครั้งหน้า”
สำหรับการแข่งขัน GT ASIA Series ที่มาจัด “เมืองไทย” บนสนาม Chang International Circuit เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ทีม TP12 ก็ได้ร่วมลง “หวด” พร้อมแฟนคลับ TP12 แบบชุดใหญ่ โดยการใช้อาวุธคู่กาย คือ FERRARI 458 FIA GT3 ที่ได้มาสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นปี ลงแข่งใน GT3 Class (ส่วนอีก Class คือ GTM จะเป็นรถในลักษณะ One Make Race ถ้าเป็น FERRARI ก็พวก 458 Challenge ส่วน PORSCHE ก็จะเป็นพวก Cup Car ดูง่ายๆ รถ GTM Class จะไม่มีโป่ง ล้อไม่ใหญ่อลังการ และมีรายละเอียดที่ต่างจาก FIA GT3 Class ค่อนข้างเยอะ) จากการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด โดย “ต๊อด” ปิติ ภิรมย์ภักดี กับ Carlo Van dam ที่ต้องผลัดกันขับ จบในอันดับ 5 ใน Race 1 ส่วนในวันอาทิตย์ Race 2 ยังคงความดุเดือดเช่นเคย แต่น่าเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุไปเสียก่อน เลยไม่จบการแข่งขัน แต่อย่างน้อยก็ “ยังได้มีโอกาสสู้” นะครับ…
- นายใหญ่ TP12 พร้อมสู้ต่อ
TP12 Comment
การตัดสินใจลงแข่ง GT ASIA นั้น ก็เกิดจาก “ความมันส์” ที่เราเชื่อว่าทุกคนก็อยากเห็น Super Car ที่ส่วนใหญ่จะแข่งในยุโรป มาวิ่งในเอเชีย โดยเฉพาะสนามในเมืองไทย ทุกคนจะได้เห็นทีมจากต่างประเทศ ดูตื่นตาตื่นใจ และเราทีม “คนไทย” ก็มั่นใจว่า “สู้ได้” จุดสำคัญ คือ “สีสันของเกมการแข่งขัน” ที่ทำให้เราติดใจ เนื่องจากรายการนี้แม้ว่าจะเป็นของเอเชีย แต่ก็มีนักขับมืออาชีพในระดับยุโรปลงมาขับด้วย จึงน่าจะเป็นการต่อสู้ที่สนุกสนาน สิ่งสำคัญที่มีผลกับการตัดสินใจร่วมแข่งรายการนี้ก็คือ “กติกาที่เอื้อให้รถแต่ละคันวิ่งได้เวลาใกล้เคียงกัน” แน่นอนว่า รถแต่ละ Maker ก็ย่อมมีคุณลักษณะต่างกัน ไม่มีทางที่จะวิ่งได้เท่ากัน บางสนามรถยี่ห้อนี้อาจจะได้เปรียบ แต่บางสนามก็อาจจะเสียเปรียบรถอีกยี่ห้อ จึงมีกติกา “BOP” หรือ “Balance of Performance” ที่กำหนดโดย FIA ใช้กับรายการ “Blancpain GT Series” (บลองแป็ง จีที ซีรีส์) ซึ่ง GT ASIA ก็อ้างอิงกติกานี้มาใช้ จะกำหนดตามความได้เปรียบและเสียเปรียบของรถที่แข่งในสนามนั้น โดยการถ่วงน้ำหนักบ้าง หรือใส่ Air Restrictor จำกัดอากาศเข้าเครื่อง รถคันที่ได้อันดับหัวๆ ก็จะโดนจำกัดมากขึ้น รวมถึงพิจารณาจากอันดับการแข่งอีก แถมตอนเข้า Pit Stop ยังมี “เวลากำหนด” ว่าเข้า Pit มาแล้ว ห้ามออกสู่สนามเร็วกว่า “85 วินาที” ถ้าออกเร็วเกินไป จะโดน Drive Through Penalty (ลงโทษโดยการให้วนผ่าน Pit 1 ครั้ง) รายละเอียดปลีกย่อยมันเยอะ สิ่งเหล่านี้เป็นกติกาที่ทำให้รถแต่ละคันมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด สังเกตได้ว่า เวลาต่อรอบของรถในกลุ่มนี้จะใกล้เคียงกันมากๆ มากจริงๆ ใน Gap ที่ห่างกันเพียง 1 วินาที จากหัวแถว ร่วงไปเป็นอันดับ 10 กว่าๆ เลยทีเดียว จึงเป็นเกมที่สนุกและมีลุ้นกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ารถเร็วที่สุดแล้วจะชนะเสมอไป อย่างใน Race 1 ได้อันดับ 2 ส่วน Race 2 ช่วงแรก TP12 แซงรูดขึ้นไปถึงอันดับ 3 แต่น่าเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุไปเสียก่อน ซึ่งก็เป็นเกมการแข่งขันที่มีโอกาสเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เราจึงนำข้อมูลมาไว้ใช้ปรับปรุงและแก้ไข “ปัญหามีไว้ให้แก้” ไว้สนามหน้าสู้กันใหม่ครับ ฝากเชียร์ทีม Singha TP12 Racing Team ด้วยนะครับ…
ติดตามข่าวสาร ส่งแรงเชียร์ได้ที่ : www.facebook.com/TP12RacingTeam
FERRARI 458 ITALIA GT FIA GT3 “Race Weapon”
สำหรับอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้บน Track ซึ่งเป็นสถานที่ในการปลดปล่อยความเร็วอย่าง “ถูกกฎหมาย” ทีม TP12 ได้เลือก FERRARI 458 ITALIA GT ที่เป็นรถแข่งในหมวด (Category) FIA GT3 ซึ่งในรายการ GT ASIA ก็ลงแข่งในรุ่น GT3 ในด้านข้อมูลต่างๆ อาจจะไม่เป็นที่เผยแพร่มากนัก เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมโดย Homologate (ข้อบังคับ) จะต้องเป็นไปตามนั้น เช่น ส่วนประกอบทุกชิ้น โครงสร้างของรถ อุปกรณ์ต่างๆ จะถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องใช้ยังไง เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงตามที่ต้องการได้ แม้กระทั่งชิ้นส่วนเล็กๆ เช่น นอตยึดต่างๆ ก็ยังต้องเป็นไปตามข้อบังคับจริงๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “เข้มงวด” มาก เพื่อความปลอดภัยและทัดเทียมกันของรถแต่ละคัน สิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ ก็คือ “การเซตอัพ” โดยปรับตั้งตามอุปกรณ์ที่มีให้มาเท่านั้น อย่าลืมว่า การแข่งขันในแต่ละสนาม Condition ของรถจะต้องมีการ “เปลี่ยนแปลง” ตามความได้เปรียบเสียเปรียบของตัวรถ รวมถึงอันดับการแข่งขันอีกด้วย จึงต้องมีการเซตอัพที่ดี ซึ่งทีมงานของ TP12 ต่างก็มีประสบการณ์สูงจากการแข่งขันระดับนานาชาติด้วยกันทั้งสิ้น เอาเป็นว่า เราได้ไปบุก Pit เพื่อถ่ายรูปส่วนประกอบของรถที่น่าสนใจ และคนทั่วไปไม่ได้เข้ามาเห็นง่ายๆ มาฝากกัน อ่านบรรยายใต้ภาพได้เลยครับ…
TECH SPEC
ภายนอก
ตัวถัง : Aluminum
ชุดพาร์ท : FIA GT3 Homologate by FERRARI S.p.A., Maranello, Italy
แชสซี : Aluminum
ภายใน
พวงมาลัย : OMP
เบาะ : OMP 458 ITALIA GT
เข็มขัดนิรภัย : OMP
โรลบาร์ : FIA GT3 Homologate
ระบบดับเพลิง : OMP
เครื่องยนต์
รุ่น : F142 V8
ความจุ : 4,498 C.C.
กระบอกสูบ : 93.98 มม. (3.700 นิ้ว)
ช่วงชัก : 80.97 มม. (3.188 นิ้ว)
กำลังอัด : 12.5 : 1
แรงม้าสูงสุด : 550 PS * @ 9,000 rpm
แรงบิดสูงสุด : 550 Nm * @ 6,000 rpm
ระบบหัวฉีด : Direct Injection
กล่องควบคุม : Magnet Marelli
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Sequential 6 Speed with Paddle Shift
ชุดคลัตช์ : Double Clutch
ลิมิเต็ดสลิป : E-Diff ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : MULTIMATIC DSSV Technology 4 ways
สปริง : Eibach
ล้อหน้า-หลัง : MOTEGI RACING Technomesh GT ขนาด 18 นิ้ว และ 19 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : MICHELIN PILOT SPORT Racing Slick ขนาด 30/68-18 และ 31/71-19
เบรก : BREMBO
ชุดปรับแรงดันเบรก : AP Racing
* เป็นตัวเลขประมาณการ แรงม้าและแรงบิดขึ้นอยู่กับกติกา BOP ในแต่ละสนาม
ภูมิใจไทยแลนด์ กับการลงฟาดฟันรายการ GT ASIA สนาม Chang International Circuit ซึ่งในช่วง Grid Walk จะมีกติกา โดยปกติจะเห็นว่าบางคันก็สามารถเซอร์วิสรถในกริดได้ แต่ “ห้ามเติมหรือเปลี่ยนถ่ายของเหลว” เด็ดขาด หากป้าย 5 Minute ขึ้น คือ “เตรียมตัวออกจากกริดสตาร์ท” ป้าย 3 Minute ขึ้น คือ “ทุกคนออกจากกริดสตาร์ท” ยกเว้นเหลือทีมเซอร์วิสประจำรถได้เพียง 1 คน” ป้าย 1 Minute คือ “สตาร์ทเครื่อง” เวลาไปสนามแข่ง และมีโอกาสได้ลงใน Grid Walk แล้ว ก็ควรจะ “ทราบกติกา” ตรงนี้ด้วยนะครับ
กองเชียร์ + แฟนคลับ “TP12” มาเพีย
ปิติ ภิรมย์ภักดี นักขับชาวไทย กับ Team Mate Carlo Van Dam นักขับชาวดัตช์ ที่จะช่วยพา TP12 เก็บเกี่ยวความสำเร็จ
ฝูงม้า 458 GT3 คันแรก TP12 ตามด้วย Clear Water Singapore, B.B.T. (Billionaire Boyz Team: เป็นทีมส่วนตัวของ “อาตี๋คนหนึ่ง” ที่รวยมากๆ), NB Team ส่วนอีกคัน เป็น 458 Challenge ของ Singha Motorsport Team Thailand ที่มี “แบงค์” กันตศักดิ์ กุศิริ และ “จ๊ะ” วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี ลงแข่งในรุ่น GTM
เปิดกระดองขึ้นมา จะเห็นพาร์ทด้านในเป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” ส่วนมาก โดยเฉพาะพวกปล่องดักอากาศต่างๆ พวกนี้เป็นไปตาม Homologate ที่กำหนดมานะครับ ไม่สามารถไปทำอะไรเองได้
ขุมพลัง F142 ที่แรงม้าจะขึ้นอยู่กับกติกา BOP ด้วยการกำหนด Air Restrictor ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการ
สปอยเลอร์หลังปรับระดับได้ 3 ทิศทาง ตั้งแต่องศาขายึด และแผ่นรับแรงกดจากลมด้านบน ปรับกระดกหน้าหลังได้ แล้วแต่การคำนวณเรื่อง Aero ของ Race Engineer ว่าจะปรับจุดไหนเหมาะสมสุดในแต่ละสภาพสนาม ส่วนขาที่ยึดดุมล้อไว้นั้น จะเอาไว้เวลา “ตั้งศูนย์ล้อ” จะได้ไม่ต้องใส่ล้อแล้วมุดไปปรับ
โช้คอัพจะปรับได้ 4 ทิศทาง คือ Low Speed แยก Bump และ Rebound, High Speed แยก Bump และ Rebound ปรับได้ฟังก์ชันละ 11 ระดับ
ชุดเบรก BREMBO Racing
Cockpit ละลานตาไปหมด นาฬิกาจับเวลาต่อรอบอยู่บนพวงมาลัย ส่วน Monitor ที่คอนโซลกลาง จะเป็น Rear View เอาไว้แทน “กระจกมองหลัง”
แม้แต่เบาะก็ยังเป็น Homologate ซึ่งจะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจาก FIA
“อาจารย์ดอน เชี่ยวชาญวลิชกิจ” และ “อาจารย์โบ” อรรถวิชญ์ อังศวานนท์ สอง Race Engineer อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จ (รวมถึงทีม TP12 ทุกคน) และเป็นผู้ให้ข้อมูลครั้งนี้