Reed it More : Souped Up Size L
XO AUTOSPORT No.241
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : XO AUTOSPORT TEAM
ก่อนอื่นต้องขอแจ้งให้ทราบกันอีกครั้งว่า รายการ SOUPED UP THAILAND RECORDS 2016 ที่จะจัดกันปลายปีนี้ มีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนไปในช่วงต้นปี 2017 ซึ่งจริงๆ มันเป็นรายการของปี 2016 ส่วน 2017 ก็จัดกันปลายปีเหมือนเดิม กลับเข้ามาเรื่องของ Reed It More งานนี้เราเล่น “ของใหญ่” เกือบสุดตารางกับ “Size L” ซึ่งจะบรรจุไปด้วยเหล่ารถใน Class ของ Super Max ที่เป็นเวทีของเหล่า Space Frame ในปีนี้ “เกิดกันเพียบ” ทั้งสายเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะอย่างหลัง ที่เกิดขึ้นมาหลายคัน เรียกว่าถ้าจะดิ้นรนไปยืน Top Ten ให้ได้ ยังไงก็ต้องพึ่งรถ Space Frame ก็จะมีหลายสำนัก “ซุ่ม” ทำกันแบบ “เซอร์ไพรส์” รับรอง Souped Up 2016 รถแข่งรุ่นนี้ “สนั่นแทร็ค” แน่นอน เอาแล้วครับ ปีนี้ถ้าไม่เร็วจริงอย่าหวังจะได้โชว์โฉม ฉบับนี้จะมีข่าวคราวของทีมไหนมาบ้าง ติดตามชมจะได้ลุ้นไปด้วยกันครับ…
ปล. ในเล่มที่แล้ว เราแจ้งไปว่าจะมี Super Dragster รวมอยู่ใน Reed It More Size L นี้ด้วย แต่เนื่องจากทางเราได้มีการปรับ Content ใหม่ เลยขอยก Super Dragster ไปเป็นเล่มถัดไป ซึ่งจะถือเป็น “Reed It More Size XL” และยืนยันว่า Super Dragster ที่จะเกิดใหม่ก็มีอีกเยอะมาก ทั้งเบนซินและดีเซลเช่นกัน และมี “แปลกประหลาด” ให้ชมกันด้วย พลาดไม่ได้แน่นอน รับรองสุดยอดในความเร็วระยะ 402 ม. กันจริงๆ ครับ…
SUPER MAX
ความตื่นเต้นในอดีต ที่ปัจจุบันสัมผัสได้ทั่วถึง
สำหรับรุ่น SUPER MAX ในอดีตนั้น มันก็คือรุ่น Open นั่นเอง ใครจะทำอะไรได้หมด ขอให้วิ่งได้ มี 4 ล้อ ก็แล้วกัน “ใส่โลดโคตรแรง” ถ้าเป็นรถเฟรมเพียวๆ คันที่สร้างชื่อเสียงในอดีต คือ TOYOTA SUPRA JZA70 ของ WAX ONE ที่ ป๋าแดง Drag Master เป็นคนสร้างเฟรมขึ้นมา ตอนนั้นถือเป็น “ของแปลก” ที่ยังดูจะไกลเกินความฝันของคนหรืออู่ส่วนใหญ่ที่ “ได้แต่ชื่นชม” เวลาผ่านมา เมื่อวงการ Drag Racing กลับมาบูมอีกครั้ง ในรายการ Souped Up Thailand Records ก็จะเริ่มเปิดรุ่น PRO OPEN ในปี 2004 ซึ่งตอนนั้นรถ Spaceframe แบบ “เต็มระบบ” ที่วิ่งพิกัด “9.XXX” วินาที แบบ “ไทยทำ” ตั้งแต่หัวจดเท้า คงไม่มีใครลืม “มารชมพู” ของ YA SERVICE ได้ลงขุมพลัง RB26DETT ที่มีแรงม้าแถวๆ 700-800 PS โดยใช้ข้อเหวี่ยงเดิม อุปกรณ์บางอย่างก็ยังเป็น OEM ไม่ได้ใส่ของแพงอะไรมาก ระบบตัดต่อกำลังแบบ “ลูกผสมเซียงกง” ใช้ “ปั๊มลม” จากระบบถุงลมของรถยนต์นั่ง และจากประสบการณ์ของ “ช่างญา” ปัญญา อร่ามรัศมี ที่ทำให้มัน “ลงตัว” และ “เร็ว” รถคันนี้จึงกลายเป็น “Talk Of The Town” หลังจากนั้นก็จะมีคนสร้างรถเฟรมออกมาอยู่เรื่อยๆ จนเปลี่ยนชื่อรุ่นแข่งเป็น SUPER MAX ตัวดังสุดๆ ก็คือ MONZA SPEED กับ SUPRA ที่ RAM 77 RACING ซื้อต่อมา ในรายการ Souped Up ปี 2007 ทำเวลาได้ “7.654 วินาที” เป็นรถที่วิ่ง “เจ็ด” คันแรกในเมืองไทย แล้วก็มีตัวดังๆ เช่น MAZDA R100 “หนูหริ่ง” จากการทำเฟรมของ “พี่เปี๊ยก ธันเดอร์” ในช่วงนั้นรถเฟรมก็เริ่มเยอะขึ้น แต่ก็ยังไม่มากที่จะครอง Top Ten ได้ทั้งหมด…
ในช่วงปี 2015 รถเฟรมเกิดขึ้นมาก ทั้งเบนซินและดีเซล แต่ถ้าจะให้ “พีค” จริงๆ ก็ต้องเป็นช่วงปี 2016 นี่แหละ เรียกว่า “ใครๆ ก็อยากทำ” เพราะต้องการ “ยืนหน้าปก” ของ XO AUTOSPORT ให้ได้ ก็ดูกันเองนะครับ รถที่ได้ Top Ten ปี 2015 มีแต่ “7.XXX วินาที” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ Top Ten หรือ 3 อันดับในรุ่น จ่อกันสูสีมาก และใครจะคิดว่ารถวิ่งพิกัด 7 วินาที จะมี “ตกรอบไฟนอล” ด้วย !!! ปีนี้ต้อง “เร็วกว่าเดิม” ไม่งั้นตกตารางแน่ๆ งานนี้จะมีใครที่ “ขยับ” อะไรบ้าง เราขอ “สุ่ม” กันมาให้ดูละกันนะ เพราะ “รถเพียบ” เหลือเกิน ยังไงก็รับรองความสนุกสะใจเหมือนเดิม…
P&C GARAGE
TOYOTA SOLARA
จริงๆ อันดับ 1 ในรุ่น SUPER MAX เบนซิน จะต้องเป็น “กระบะสวนส้ม” แต่คันนั้นกลายเป็น “ตำนาน” ไปแล้ว จึงมาถึงอันดับ 2 แทน คือ TOYOTA SOLARA ของ “คุณบอย” สรวงศ์ เทียนทอง ทำเวลาไว้ “7.706 วินาที” ในปีนี้ตัวรถก็ยังไม่ได้ขยับสเต็ปอะไรเพิ่ม เพราะสเต็ปที่วิ่งอยู่นี้ “ยังเหลือ” ที่จะไปต่อได้อีก ก็ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อม” และ “การซ้อม” ซึ่งทาง “พี่ใหม่” P&C GARAGE ก็วางแผนการซ้อมตั้งแต่ปลายปีนี้ เพื่อให้จับจุดที่ดีที่สุดได้ ส่วน “เป้าหมาย” รถคันนี้จริงๆ แล้ว ถ้าทุกอย่างพร้อมและสมบูรณ์แบบ หวังไว้ที่ “6.9XX วินาที” แต่จะได้ตอนไหนยังไม่ขอบอก ที่แน่ๆ ใน Souped Up 2016 ก็หวังไว้ประมาณ “7.5XX วินาที” อันนี้ต้องทำให้ได้ก่อน…
Modified Analyze
< ถ้าได้อ่านรายละเอียดของรถคันนี้ในคอลัมน์ Souped Up Special ก็จะรู้ว่า ดั้งเดิมคันนี้จะใช้เครื่อง 20B-REW 3 โรเตอร์ แต่เอาจริงๆ ก็ใช้เป็น “ของถนัด” คือ 2JZ-GTE ที่ยกมาจาก VIGO คันเดิม ความจุ 3.4 ลิตร ก็ยังเป็นสเต็ปที่วิ่งมาก่อนหน้า แต่มีการพัฒนาในด้าน “รายละเอียด” โดยเฉพาะ “ระบบส่งกำลัง” และ “อุปกรณ์ความปลอดภัย” ทั้งหลาย ที่จะต้องสมบูรณ์แบบ และได้มาตรฐานสากลจริงๆ เนื่องจากรถพวกนี้มันเร็วและแรงมาก พริบตาเดียว ถ้าพลาดหมายถึงชีวิต จึงต้องเซฟกันสุดๆ เพราะชีวิตมันไม่มีขายครับ…
< คันนี้เล่นแปลกจาก SUPER MAX คันอื่น เพราะน่าจะเป็นคันเดียวที่ใช้เกียร์ JERICO V-GATE เพราะที่เหลือก็เป็น Air Shifter หมด ที่เลือกใช้ V-GATE เพราะ “ปัญหาน้อย” ลดความเสี่ยงในการ Error ของระบบลม และไม่ต้องแบกน้ำหนักมาก เพราะมันไม่มีอุปกรณ์อะไรมาพ่วง ถ้าเทียบกับ Air Shifter ที่จะต้องมีระบบถังลม โซลินอยด์อะไรเพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเลือกเอาครับ ว่าจะใช้ระบบ Air Shifter ที่ “ง่ายเพียงปลายนิ้วกระดิก” แต่ก็ต้องป้องกันการ Error ดีๆ หรือจะยอมใช้ V-Gate ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่คนขับต้องมีทักษะ “มือแม่น” เปลี่ยนเกียร์เก่งๆ และรวดเร็ว…
< รูปแบบของระบบช่วงล่างก็เป็นไปตามมาตรฐานของรถระดับนี้ แต่เน้น “ของดี” เพราะมันคือตัวกำหนดชะตาชีวิตโดยตรง รถจะเร็วหรือไม่ ปลอดภัยหรืออันตราย ก็วัดกันที่ช่วงล่างนี่แหละ คันนี้จะเน้นการ “ตรวจสอบ” อยู่บ่อยครั้ง เพื่อความแน่นอน ส่วนเพลาท้ายก็ใช้ของ MARK WILLIAMS ที่ราคาสูงหน่อย แต่ความแข็งแรงทนทานดีเยี่ยม ซึ่งตรงนี้มีผลมาก ถ้า “เพลาข้างขาด” รถจะเสียการควบคุม แต่เพลาระดับนี้ขาดยากมากครับ…
BIRD LAK HA
ISUZU D-MAX
กลับมาทวงตำแหน่ง “เจ้าแห่งดีเซล” คืน หลังจากที่ปี 2014 “อกหัก” ไม่ได้ตำแหน่งกลับ “บ้านแพ้ว” ไป ปี 2015 กลับมาคว้าอันดับ 1 ในรุ่น SUPER MAX Diesel และอันดับ 6 Over All ได้เวลา “7.829 วินาที” ซึ่งเป็นเวลาดี๊ดี แต่ “ช่างเบิร์ด หลักห้า” ก็ว่ามันควรจะต้องดีกว่านี้อีก เอาเป็นว่า การเตรียมตัวของปีนี้ก็จะเน้น “ความพร้อมขององค์ประกอบรวม” มากกว่าความแรง เพราะถ้า “แรงแต่ไม่พร้อม” ก็คงจะกลับไปเจอสิ่งที่ไม่อยากเจออีก ยังไงก็ตาม ปีนี้ก็ยังเป็นรถคันเดิม สเต็ปเดิม แต่เซตให้ดีขึ้น ขอเวลาสวยกว่าเดิมอีกสักหน่อยก็ดีใจแล้ว ไม่อยากจะผลีผลามข้ามสเต็ปไป…
Modified Analyze
< ขุมพลังยังคงศรัทธา 4JJ1-TCX เหมือนเดิม (ส่วนเครื่อง 5.0 ลิตร ขอเก็บไว้พัฒนาต่อ) โดยพัฒนาเรื่องความแข็งแรงของ “เมนแบริ่ง” มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วที่พังทั้งตัวก็เพราะมัน “ทนแรงม้าไม่ไหว” ซึ่งตอนนี้ก็มีการพัฒนาเรื่อง “ไส้ใน” กันใหม่ ลูก-ก้าน-ข้อ ใช้ของโมดิฟายที่มีความทนทานสูงขึ้น ในด้านแรงม้า ช่างเบิร์ด หลักห้า ตอนนี้บอกว่า “ประมาณพันหน่อยๆ” แล้วนะ ซึ่งก็พอไว้แค่นี้ก่อน เพราะถ้า “วู่วาม” มากไป โอกาสเสียหายมีมาก และไม่ใช่ว่าจะทำเวลาได้ดีเสมอไป…
< ช่างเบิร์ด จะใช้ท่อนล่างขยายแค่ “3.1 ลิตร” ก็พอ เพราะ “ชอบเป็นการส่วนตัว” ในการตอบสนอง ที่ได้รอบเครื่องมาช่วย และข้อเหวี่ยงไม่ยาวเกินไปจนรอบปลายไม่เดิน…
< สำหรับระบบช่วงล่าง เป็นการ Setting ของ “ป๋าแดง Drag Master” ที่ทำรถคันนี้มาตั้งแต่ต้น สเต็ปปีนี้อุปกรณ์ทุกอย่างคงเดิม แต่เน้นการเซต “0-60 ฟุต” ให้ดีที่สุด เพราะช่วงนี้ถือว่าสำคัญมากๆ ถ้าออกตัวได้ดี ที่เหลือไม่ใช่ปัญหา เราสามารถทำเครื่องให้แรงม้ามากขึ้นได้ แต่ถ้า 0-60 ฟุต ยังไม่ดีพอ ทำเครื่องแรงม้ามากก็จะยิ่งออกทะเลไปกันใหญ่
หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณบุรี
ISUZU D-MAX
เป็นอู่ดาวรุ่งสายดีเซลที่มาแรงและก้าวขึ้นอย่างรวดเร็ว บุรุษแห่ง “อู่ทอง” จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ใครๆ ก็รู้จัก “หนุ่ย” อนุวัตร มณีอินทร์ ทำเอง ขับเอง สำหรับรถเฟรมคันนี้ เจ้าของ คือ “นพ พิจิตร” ใน Souped Up 2015 ตอกเวลาไว้ที่ “7.928 วินาที” ได้อันดับ 9 Over All และ อันดับ 2 SUPER MAX Diesel และในปีนี้รถคันนี้ทำสถิติเวลาอยู่ “7.6 วินาที” เร็วกว่าเดิมอีกเยอะมากๆ จนเป็นรถเฟรมดีเซลที่เร็วที่สุดในเมืองไทย ณ ตอนนี้ก็ว่าได้ นับว่ามาสุดจริงๆ ครับ แต่ใน Souped Up 2016 จะเป็นเช่นไร “ของจริง วิ่งจริง งานจริง” เท่านั้นที่จะตอบได้ ซึ่งทาง “หนุ่ย” ก็ขอเก็บรถไว้ก่อน ไว้รอวิ่งใน Souped Up 2016 แบบหวดเต็มจริงๆ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ “7.5XX วินาที” ซึ่งตั้งใจว่าทำได้แน่นอน…
Modified Analyze
< เครื่องยนต์ก็เป็นไส้ในจาก MRX ทั้งหมด ปีนี้อัพเกรดเป็น “3.2 ลิตร” เอาแรงมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนเทอร์โบออกจะวางแปลกๆ กว่าคันอื่นเขาหน่อย เพราะเป็นรถเฟรมดีเซลคันเดียวใน Top Ten ที่ใช้ “พวงมาลัยขวา” ก็เลยต้องเอาเทอร์โบลูกแรกไปอยู่ฝั่งซ้าย เพื่อสมดุลน้ำหนักกัน เทอร์โบก็ยังเป็นสเต็ปเดิมครับ เพียงแต่ทำเครื่องใหม่ให้แรงและสมบูรณ์มากขึ้น เพราะตอนวิ่ง Souped Up 2015 ก็เป็นเครื่องตัวเก่า 3.1 ลิตร อยู่ สำหรับกล่องก็เป็น ECU=SHOP Stand Alone จัดการจูนโดย “อ.อ้า” มือโปรของวงการ ปีนี้อยากจะเน้นความสมบูรณ์ของเครื่องให้มากที่สุด จะได้ไม่พังง่ายๆ และเสียโอกาสครับ…
< สำหรับ “เฟืองท้าย” ปีที่แล้วมีปัญหาเรื่อง “อัตราทดสูงเกินไป” ทำให้รอบเครื่องหมดก่อนเข้าเส้น ตอนนี้ทำเครื่องให้แรงบิดมากขึ้นแล้ว ก็เลยใช้เฟืองท้าย MRX ลดอัตราทดอยู่ “2.7 : 1” ทำให้ใช้รอบน้อยลง ความเร็วปลายเข้าเส้นเยอะขึ้น แต่อัตราเร่งยังดี เพราะขยายความจุชดเชยแล้ว และก็อาจจะส่งผลดีตอนออกตัว เพราะเฟืองท้ายต่ำลง ก็ทำให้ฟรีน้อยลงด้วย แต่ต้องเลือกที่เหมาะสมนะครับ…
MONTRI DIESEL
ISUZU D-MAX
ลืมไม่ได้กับ “สายสู้” จาก MONTRI DIESEL คือ “จ๊อบ & แจ๊ค” และทีมงานทุกคน ใครก็รู้ว่าผิดหวังมากี่หน ทนสู้มากี่ครั้ง มาประสบความสำเร็จเอา Souped Up 2015 ที่สามารถพาตัวเองมายืนในอันดับ 10 Over All และ อันดับ 3 SUPER MAX Diesel จนได้ ด้วยสถิติเวลา “7.938 วินาที” ก็จ่อตามมาติดๆ เรียกว่า “พอกันจริงๆ” ลุ้นมันส์แบบใจหายใจคว่ำ รถคันนี้อย่างที่รู้กันว่า เป็น “เทอร์โบเดี่ยว” เพียงคันเดียวใน Top Ten ที่เน้น “แรงกำลังดี” แต่ “ใช้หมดจด” หลังจากงาน Souped Up ก็เปลี่ยนเป็น “เทอร์โบคู่” หลังจากนั้นก็รื้อมาปรับปรุงใหม่ ใน Souped Up ปีนี้ ได้สร้างคันใหม่ขึ้นมา โอ้โฮเฮะด้วย “เฟรมโครโมลีทั้งคัน” เน้นน้ำหนักเบา ใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง ปรับเซตใหม่โดยใช้ความรู้ที่สะสมมา ซึ่งก็จะโชว์โฉมให้เราได้ชมกันอีกไม่นานนี้…
Modified Analyze
< สำหรับ “คันสีฟ้าเดิม” ก็จะเปลี่ยน “เปลือก” ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม ส่วนเครื่องยนต์เพิ่มเพียงเทอร์โบคู่ ส่วนหลักๆ ยังคงเดิม มีแต่ปรับเซตและแก้ไขเฟรมหลังที่เริ่มจะ “ไม่ตรง” ตอนแรกว่าจะไม่ทันงาน Souped Up เพราะเอาเกียร์ไปใส่คันใหม่ เพราะสั่งไปแล้ว มาไม่ทัน แต่พอเลื่อนกำหนดการออกไป เกียร์คันใหม่มา ก็เอาเกียร์มาใส่กลับ…
< สำหรับ “คันใหม่” ใช้เฟรม “โครโมลี” ทั้งคัน โดยเฉพาะ “แขนโฟรลิงค์” ก็ด้วยเช่นกัน เจตนาจะทำให้ “น้ำหนักเบาสุด” ที่สำคัญ เรื่องของ “น้ำหนักช่วงล่างที่เคลื่อนไหว” ก็จะมีผลมาก ถ้าน้ำหนักเบา ช่วงล่างจะทำงานได้เร็วขึ้น แม้ว่ารถ Drag จะวิ่งแค่ทางตรงเรียบๆ ก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว สนามก็อาจจะมีจุด Bump บ้าง ถ้าช่วงล่างทำงานเร็ว ล้อก็จะกลับมาเกาะถนนได้เร็ว เสี้ยวเล็กๆ ก็มีผลมากมายครับ…
< เครื่องของคันใหม่ จัดหนักด้วย “ของชั้นเยี่ยม” ทั้งสิ้น ไส้ในเป็นแบบ Forged ทั้ง ลูก-ก้าน-ข้อ (ข้อเหวี่ยงจะยืดไปเท่าไร ขออุบไว้ก่อน) สั่ง Custom Made จาก MRX โดยเป็นสูตรของทาง “จ๊อบ มนตรี” เอง จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันเน้นในด้าน “ความทนทาน” เป็นประเด็นหลักมากกว่า เพราะเครื่อง 4JJ ถ้าดิ้นรนปั่นไปในระดับเกิน 900 แรงม้า ชิ้นส่วนหลักจะทนไม่ไหว ทำให้เครื่องพังบ่อยมาก จนกลายเป็นบานปลาย จึงต้องใช้ของที่มีความทนทานสูงเพื่อที่จะต่อยอดแรงม้าไปได้ครับ…
VER TECHNICAL & CLUB 24
NISSAN GT-R Space Frame
เป็นที่จับตามองอย่างมาก สำหรับ “R35 เฟรม” คันนี้ จาก “VER TECHNICAL” ที่ให้ทาง “AOR 77 SHOP” เป็นผู้สร้างขึ้นมา โดยมีโต้โผใหญ่ “ต้อม CLUB 24” และมีตัวขี่คุณภาพอย่าง “กอล์ฟ GODS” หรือ “ประทวย” นั่นเอง ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ทาง VER ได้รับประสบการณ์จาก ARISTO เฟรม มาก่อน แต่คันนี้ คือ “จัดเต็ม” โดยเน้นทั้งความสวยงามและเวลาต้องสวยงามเช่นกัน ถ้าดูเผินๆ ก็เป็นสเต็ปมาตรฐาน คือ “เฟรม + สองเจ” ของรถในรุ่น Super Max Benzene แต่จะเร็วมากกว่าชาวบ้านหรือเปล่าก็อยู่ที่ Setting ของแต่ละคน ชี้ชัดได้ยากว่าใครจะเร็วกว่ากัน เพราะถ้าพร้อมเหมือนกัน เวลามันผิดเพียงแต่ “จุด” พร้อมเฉือนกันตลอดเวลาครับ…
Modified Analyze
< สำหรับเครื่องยนต์ ก็เล่น “ขยายความจุ” กันแล้ว เดิมๆ ไม่ได้เดี๋ยวเพื่อนล้อ จัดชุด 3.4 ลิตร ไป เน้นแรงบิดและแรงม้าที่มาโดยไม่ต้องใช้รอบสูง งานนี้ “เวอร์” กะบูสต์เต็มๆ ถึง “3.0 บาร์” เพราะ “คนขับแม่งถึง” นั่นแล…
< เรื่องที่น่าคิดอีกอย่าง เนื่องจากแต่ก่อน เวอร์ ก็เล่นกับรถ Stock Body มาโดยตลอด จะเป็นช่วงล่างแบบอิสระ ที่ต้องเซตให้ “หลังยุบเยอะ” ก่อน เพื่อเอาน้ำหนักมากดท้าย แล้วค่อยมายุบที่ยาง เนื่องจากยางก็ไม่ได้ใส่ใหญ่มาก และช่วงล่างอิสระก็ไม่ได้ทำมุม “งัด” แบบ 4 Links หลังจากที่เล่นรถเฟรม ARISTO แล้วจึงรู้ว่าต้องเซตให้ “ช่วงล่างยุบได้น้อย” โดยให้ยุบที่ยางแทน ทำได้ครับ เพราะยางแก้มหน้ามีขนาดมะโหระทึก ถ้าช่วงล่างยุบได้เยอะเหมือนแบบอิสระ จะมีปัญหาที่ว่า “มุม Links เปลี่ยนแปลงมาก” ทำให้เกิดการ “งัด” หน้าลอย แทนที่จะถีบรถออกไป กลับกลายเป็นงัดก่อน มันต้องมีงัดนิดๆ ตอนออกได้บ้าง จะรู้ก็ต้อง “ลองเซตดู” จนถึงจุดที่น่าพอใจเท่านั้น โดยดูเวลา 0-60 ฟุต เป็นหลัก…
CMZ Rotary
MAZDA RX-8 Spaceframe
เป็นอีกคันที่ถูกจับตามอง ตั้งแต่ “สร้าง” Project ยักษ์ใหญ่ของ “ชัย CMZ Rotary” เป็น RX-8 ที่ยังจงรักภักดีกับ 20B-REW “3 โรเตอร์” ตามสายตัวเองถนัด ซึ่งก็น่าคิดครับ ถ้ามันสมบูรณ์ขึ้นมา 6 เม็ด ก็ 6 เม็ด เถอะ เพราะในต่างประเทศ Rotary ทำเวลาสวยๆ กันเยอะ เรียกว่าวิ่งเลข 6 กันเป็นขนม แต่บ้านเราส่วนตัวผมที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีใครทำ 20B-REW จริงจังในรถเฟรม (จะมีก็ทาง พี่ใหม่ P&C GARAGE มีโครงการจะทำเครื่องรุ่นนี้ลงใน VIGO พี่บอย สรวงศ์ เทียนทอง ซึ่งเป็นปกติที่จะมีการ “ซุ่ม”) ไหนๆ แล้วก็เลยอยากเห็นคันนี้ทำเวลาสวยๆ ให้ชมกันสักที ผมว่าถ้าเป็นไปตามคาดก็ถือว่าดีมากนะ ที่คนไทยจะได้ “เปลี่ยนแปลง” กับรูปแบบเครื่องยนต์ที่แปลกออกไป ไม่จำเจกับเครื่องบล็อกเดิมๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่ง Rotary สมัยก่อนทำแล้ว ความทนทานอาจจะต่ำหน่อย แต่ตอนนี้ Know-how และของที่มีคุณภาพสูงๆ เกี่ยวกับ Rotary มีมาเยอะแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าพร้อมก็ไม่น่าจะยากที่จะเห็นเวลาสวยๆ และ “ไม่พัง” ไปเสียก่อนจะจบการแข่งขัน…
Modified Analyze
< ถ้าเคยอ่านไป ก็จะทราบว่า คันนี้ส่วนหลักๆ ก็จะใช้ “ข้อเหวี่ยง” หรือถ้าเป็นภาษา Rotary จะเรียกว่า “เพลาเยื้องศูนย์” (Eccentric Shaft) เพราะมันไม่เชิงเหวี่ยงซะทีเดียว เป็นของ Billet Inc. Rotary ที่มีความทนทานสูง รวมถึงไส้ในหลายๆ ชิ้น ก็ใช้ของคุณภาพ “เริ่ด” นะตัวเอง เพราะปัญหาของเครื่องไม่ได้อยู่ที่ความแรง แต่อยู่ที่ “แรงแล้วทนไหวหรือเปล่า” นั่นเอง เทอร์โบ GARETT GT55 แรงม้าตามเป้ากะไว้ “1,500 PS” ซึ่งก็อาจจะหวดได้ตอนจูน แต่ช่วงที่ปลอดภัยจะอยู่ราวๆ “1,200 PS” ซึ่งก็น่าจะ “วิ่งได้” ขอลองดูก่อน…
< ตานี้บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเครื่อง Rotary แรงม้าได้เยอะขนาดนี้ “ไม่ได้โม้” ถ้าจะเทียบกับเครื่องลูกสูบแล้ว ตัว 3 โรเตอร์ จะมีความจุอยู่ที่ “1,962 c.c.” อาจจะดูน้อยนะครับ แต่อย่าลืมเรื่อง Handicap หรือ “แต้มต่อ” ที่ต้องคูณด้วย 1.7 ก็จะได้ความจุแถวๆ “3,335 c.c.” ถ้าเทียบกับเครื่องลูกสูบ ก็ไม่แปลกใจใช่ไหมครับ ที่มันจะทำแรงม้าได้ไม่แพ้เครื่อง 6 สูบ อย่าง 2JZ-GTE ที่ระเบิดความจุมาพอๆ กัน ก็ต้องรอลุ้น “รอบ” เพราะ Rotary รอบจัดมากอยู่แล้ว อาจจะมี Surprise หรือไม่ ก็ยังไม่ขอตอบ ไปดูของจริงที่งานเลยดีกว่า…