XO AUTOSPORT No.243
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), Nuttawuth Limnaowarat (N Photographer)
หลังจากที่ Reed It More ฉบับที่แล้ว คั่นรายการกับ Theme “Street Style” กลับมาอีกครั้ง “สวัสดีปีใหม่ 2017” กับ SOUPED UP SIZE “XL” ที่จะจัดเต็มกับรถแข่งในระดับ “สุดยอด” ในคลาส SUPER DRAGSTER หรือ “หน้ายาว” ที่ตอนนี้คลอดออกมามากมาย ดูรวมๆ แล้วน่าจะมีหลัก 10 คัน ทั้งเบนซินและดีเซล งานนี้ “พร้อมรบ” และมีตัวเต็งที่จะสร้าง “ปรากฏการณ์ Number Six” ในแบบ Official Time อีกหลายคัน งานนี้ว่าจะง่ายก็ “ไม่ง่าย” เสียแล้ว จากเดิมที่จะยึดหัวหาดอยู่ไม่กี่คัน ส่วนใหญ่ก็จะเจ้าเดิมๆ มีอยู่ 2-3 คัน ใครได้ตำแหน่งก็รู้กันอยู่แต่ในมุ้งแล้ว เพียงแต่จะได้เวลาเท่าไรแค่นั้น แต่ในปีนี้ “คู่แข่งมีเพียบ” เพิ่มขึ้นมาอีกหลายคัน เจ้าเก่าก็ “อยู่นิ่งไม่ได้” เจ้าใหม่ก็จะต้อง “พยายามสร้างงาน” จึงเป็นเวทีที่ “สนุก” และก็มีลุ้นเหล่า Newbie Dragster หรือ “แดรกสเตอร์หน้าใหม่” ว่าใครจะล้มแชมป์เก่าได้ หรือแชมป์เก่าจะทำ “ปรากฏการณ์ Number Six” ได้หรือไม่ ลองมาดูว่าปีนี้จะมีใคร “โผล่” มาบ้าง…
SUPER DRAGSTER
วิวัฒนาการความเร็วที่หลายคนใฝ่ฝันอยากทำลายสถิติ SOUPED UP
ก่อนอื่นขอพูดถึง “ตำนานแดรกสเตอร์” ในประเทศไทยกันก่อน เพราะ “คนรุ่นใหม่” ที่ “โตไม่ทัน” อาจจะพลาดเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ ซึ่งข้อมูลย้อนยุคเหล่านี้ บางคนอาจจะมองว่า “ก็แค่เล่าความหลัง” แล้วมานั่ง “ละเลียดของขม” จบด้วย “นั่งชมสาวๆ” แต่อยากจะให้คิดสักหน่อยว่า “ถ้าไม่มีอดีต ก็ย่อมไม่มีปัจจุบัน” ถูกไหม ??? สำหรับตำนาน “หน้ายาว” ในเมืองไทย เอาจริงๆ ก็น่าจะเกิน 10 ปี ย้อนไปสมัยสนามควอเตอร์ไมล์ MMC (สมัยก่อนไม่นิยมเรียกว่า Drag แต่จะนิยมเรียกว่า Quarter Mile) ถ้าใครเคยไป ก็จะต้องเคยเห็น Dragster คันหนึ่งที่จอดสงบนิ่งอยู่ใต้ต้นไม้ ประหนึ่งกำลังนั่ง “กรรมฐาน” (ว่าอนาคตกูจะไปอยู่กับใคร) รถคันนั้นหนึ่งในเจ้าของก็คือ “คุณชนินทร์ ธรรมาธิคม” ที่วงการ Drag Racing ในเมืองไทยรู้จักกันดี รถคันนี้ซื้อต่อมาจาก “คุณชวาลา สุวรรณชีพ” ที่เป็นเจ้าของ BMW Spaceframe หน้ายาว V8 ในอดีตอันลือลั่น ซึ่งก็มีโครงการจะทำวิ่ง แต่ไปๆ มาๆ ก็หยุดไป เครื่องก็ไปทาง เฟรมก็เก็บไว้ จนไม่มีใครคิดถึงมันอีก…
อยู่มาวันหนึ่ง “บุญตา วรรณลักษณ์” แห่ง RAM 77 RACING ที่สนิทสนมกับ คุณชนินทร์ ได้เอาเฟรมคันนี้มาขัดสีฉวีวรรณใหม่ ปลุกชีพให้มันกลับมาวิ่งได้ ก็คือ Dragster คันสีเหลืองคันแรก ขุมพลัง 2JZ-GTE โมดิฟายกันเอง ไทยๆ นี่แหละครับ เป็น Dragster คันแรกที่ “วิ่งได้” ซึ่งทาง บุญตา ก็เคยบอกไว้ว่า แรกๆ ก็ “เสียว” เหมือนกัน ว่าไอ้โครงเหล็กด้วนๆ ยาวๆ ไม่มีบอดี้ครอบ วิ่ง 300 km/h มันจะได้เหรอวะ แต่พอเซตลงตัว มันก็ไปได้ แล้วหลังจากที่ “รู้ทรง” ก็สร้างขึ้นมาอีกคันหนึ่ง เป็น “สีส้ม” สร้างสถิติเร็วสุดใน SOUPED UP 2011 ด้วยเวลา “7.295 วินาที” !!! ส่วนอีกคันที่เป็น “หอกข้างแคร่” ก็จะเป็นของ “เปี๊ยก บางใหญ่” สีฟ้า GULF ที่เวลาจ่อต้นคอมาเหมือนกัน คราวนี้ล่ะคู่กัดของแท้ เจอกันปลายปีเมื่อไร มีแต่คนลุ้นคู่นี้ ซึ่งก็สูสีจริงๆ ครับ…
จริงๆ แล้วในช่วงนี้ยังมีของ SIAM PROTOTYPE อีกคันหนึ่ง ก็ได้ทาง SPEED-D ในการช่วยเหลือหลัก สาย “น้าหยาม” สยาม บุญช่วย จะเน้นเครื่องและอุปกรณ์จาก “อเมริกา” โดยตรง ฝึกฝนอยู่หลายปี เพราะ น้าหยาม เป็นนักแข่งที่ “ก้าวกระโดด” มาขับ Dragster เลย ไม่ได้ไล่มาตามสเต็ปเหมือนคนอื่น ก็ต้องฝึกหนักและใช้เวลานานหน่อยเป็นธรรมดา จนมาได้ยืน Over All อันดับ 3 Top Ten Dragster ปี 2012 เก็บประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนได้ “ยืนโพล” อันดับ 1 Over All ในปี 2013 ด้วยเวลา “7.325 วินาที” เร็วสุด แต่ก็ยังล้มแชมป์เก่าเพื่อนซี้ RAM 77 RACING ไม่ได้ ปี 2014 ก็ “แชมป์อีก” แต่เวลาสู้เดิมไม่ได้ กลับไปฟิตใหม่…
ในปี 2015 เราไปชิงแชมป์กันที่ “บุรีรัมย์” สนาม BURIRAM UNITED DRAGSTER TRACK เป็นครั้งแรกในชีวิต ปีนี้ Dragster เริ่มเกิดใหม่กันมากขึ้น ทาง “สวนส้ม” ก็ทำคันใหม่ขึ้นมา กะจะหวดแย่งแชมป์บ้าง งานนี้ RAM 77 RACING ก็เอาคันใหม่มา “งัด” ส่วน น้าหยาม ก็สั่งตัวเฟรม Top Fuel ยาว 300 นิ้ว ที่เป็นคลาสใหญ่สุดมาถล่ม แต่ บุญตา พร้อมกว่า กดเวลา “7.066 วินาที” เกือบจะมีปรากฏการณ์ Number Six แล้ว แต่ น้าหยาม ดันทำเซอร์ไพรส์กว่า เอา Dragster คันเก่า ทุบเวลาไป “6.444 วินาที” !!! เฮ้ย อะไรจะขนาดนั้นวะพี่น้องงงง เล่นเอาคนดูเฮลั่น แต่ !!! ด้วยกติกาของเราที่มีกำหนดเวลา Backup +/- 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคันนี้ไม่สามารถ Backup เวลาดีสุดไว้ได้ จึงเป็นได้แค่ “เวลาไม่เป็นทางการ” (Unofficial Time) ก็เลยต้องใช้เวลา 7.244 วินาที เป็น “เวลาเป็นทางการ” (Official Time) ก็เลยหล่นไปอยู่อันดับ 2 Over All แทน…
ณ ตอนนี้ Dragster เกิดขึ้นมากมาย เพราะต่างคนก็ต่างอยากจะมายืนในตำแหน่ง Top Ten Dragster กันทั้งสิ้น ส่วนใหญ่แล้วก็จะขยับจาก SUPER MAX ขึ้นมา จริงๆ แล้วมันก็อยู่ที่เฟรมแหละครับที่แตกต่าง เครื่องก็ยังเป็นสเต็ปเดียวกัน พูดถึง “สายเก่า” คือ RAM 77 RACINGของ “เสี่ยตา” คันที่ได้แชมป์ปีที่แล้ว ได้ขายให้กับ VER TECHNICAL & CLUB 24 ไป แล้วสร้างคันใหม่ขึ้นมา ส่วนสายเพื่อนซี้ “SIAM PROTOTYPE” ก็ทำสเต็ปใหม่ขึ้นมาอีก สำหรับ “เจ้าใหม่” ปีนี้มาแรง ต่อเฟรมกันมือมัน ก็แน่ล่ะครับ “เสี่ยอ๋อ” AOR 77 SHOP ที่สร้างขึ้นมาหลายคัน อย่างของ S-CAR และ สวนส้มสุรชัย มีอีกคน “สายเก๋า” ในตำนาน ที่เปิดซิงกับ Dragster สำคัญ “เขามาทวงบัลลังก์คืน” เราได้เห็นไปในฉบับนี้แล้วนะครับ คือ “ช่างญา” YA SERVICE ที่ทำเสร็จสดๆ ร้อนๆ มีกราฟแรงม้าสะพรึงให้ได้รับชมกัน ส่วนฝั่ง “ดีเซล” ก็ใช่ย่อย อย่าง “เบิร์ด หลักห้า” กับ “ม. เจริญท่อไอเสีย” มือหนึ่งสายควันก็สร้างขึ้นมาเล่นด้วย หรือทำออกมาวิ่งได้แล้วอย่าง “TT RACING & โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” และมีอู่อื่นๆ ที่ยังซุ่ม เอาล่ะโว้ยยย งานนี้มีเฮแน่…
อาจจะไม่ได้แพงอย่างที่คิด
หลายคนอาจจะยังสงสัยกับ Dragster เรื่องว่ามันอาจจะ “แพง” ทำให้คนไม่ค่อยกล้าทำ ไอ้เรื่องแพงผมว่าเรื่องรองว่ะ แต่เรื่องหลัก คือ “วิชาการสร้างเฟรมรถ” (เฟรม หมายถึง โครงรถ ก็มีเหมือนกันทั้ง SUPER DRAGSTER และ SUPER MAX นั่นแหละ แต่คนส่วนใหญ่จะเรียก SUPER MAX ว่า “รถเฟรม”) ในยุคก่อนอาจจะยังต้อง “ซื้อรถนอก” แล้วเอามาวางเครื่องในบ้านเรา พอเริ่มพัฒนา ก็ “ทำตามแบบ” ไปก่อน หลังจากนั้นเริ่มพัฒนาไปในด้าน “know-how” เริ่มเข้าใจเรื่องวัสดุ เรื่องการเชื่อมเฟรม ว่าจะต้องมีจุดที่แข็งแรงตรงไหน และจุดที่สามารถให้ตัวได้ตรงไหน เวลาชนแล้ว ตรงไหนควรอยู่ ตรงไหนควรขาด ซึ่งก็เคยเล่าไปแล้วใน Reed It More เมื่อต้นปี ซึ่งบ้านเราก็ถือว่าพัฒนาไปเยอะมากแล้ว…
สำหรับเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” ในการสร้าง Dragster ถ้าเทียบกับ Spaceframe ในรูปแบบ “บอดี้ครอบ” (ฝรั่งออสซี่เรียก “Door Slammer”) ภาพรวมแล้ว “ไม่แพงกว่า” สิ่งที่ Dragster “ไม่ต้องมี” ก็คือ “บอดี้ครอบ” เล่นวิ่งเฟรมเปลือยๆ อย่างที่เห็นนั่นแหละ เต็มที่ก็แผ่น “ปิเนียม” ปิดรอบๆ หน่อยก็จบแล้ว ส่วน “ช่วงล่าง” ก็ไม่ต้อง โช้คอัพและสปริงไม่ง้อ แค่นี้ก็ทุ่นไปเยอะแล้ว ไปมันดุ้นๆ ยังงั้นแหละ ณ บัดนาว พอคนเริ่มรู้แล้วก็จะทำ Dragster กันขึ้นมาเยอะ ต่างคนก็ต่างหวังจะยืน Top Ten กันทั้งสิ้น…
“แต่ไม่ว่าจะทำมากี่สิบกี่ร้อยคัน ผู้ชนะหรือแชมป์ ก็มีคนเดียวเสมอ”
S-CAR & AOR 77 SHOP
เปิดประเดิมกับคันใหม่ล่าสุด ที่ “เสี่ยกอล์ฟ” S-CAR & NAGAOKA ที่ปีนี้จัดหนักทุกรูปแบบกับรายการ Souped Up Thailand Records 2016 ที่เลื่อนมาจัดกันในเดือน ก.พ. 2017 สำหรับ Dragster คันนี้ ได้ร่วมมือกับทาง “เสี่ยอ๋อ” AOR 77 SHOP ที่ตอนนี้ผันตัวมาสร้างรถแข่งแบบเต็มตัว โดยเฉพาะสาย Dragster ก็มีอีกหลายคันที่ผ่านมือ AOR 77 SHOP แต่คราวนี้คันที่เป็นรูปเป็นร่างให้เราชม ณ บัดนาว ก็คือคันนี้เอง เรียกว่าเป็นพัฒนาการของช่างไทย ที่มีการอัพเดตทั้งความเรียบร้อยและสวยงาม โดยมีรายละเอียดประมาณนี้…
< ขุมพลังเป็นแนวใหม่ของ AOR 77 SHOP ที่ขยับจาก “สองเจ” มาเป็น “สองยู” ตามกระแสนิยม เพราะ “ใหญ่ไว้ก่อนได้เปรียบ” ซึ่งการโมดิฟายก็เป็นสเต็ปเดียวกับคัน CELICA Spaceframe ใช้ไส้ในจากอเมริกา แคมชาฟต์ KELFORD ที่ดูจะเป็นแบรนด์คู่บุญกับบล็อก UZ ท่อร่วมไอดี DETCHWORK เทอร์โบ GARRETT ซึ่งสเต็ปนี้ก็น่าจะเสกม้ามาวิ่งเล่นแถวๆ “1,400 PS” แบบไม่ยากเย็น…
< ส่วนระบบเกียร์ เป็นแบบ Auto ที่เน้น “ขับง่าย” และ “ชิ้นส่วนน้อย” กว่า Air Shifter ซึ่งตอนนี้กำลัง “นัว” กันอยู่ เพราะเครื่องแรงบิดมากขึ้นเยอะ ต้องหาสัดส่วนที่พอเหมาะ เช่น อัตราทด ที่จะต้องต่ำกว่า 2JZ และทนทานมากขึ้น…
< เรื่อง “เบรก” ก็จัดเต็มเช่นกัน เพราะเล่นสั่งชุดเบรก “คาร์บอน” มาใช้กันเลย จานเบรกจะเบากว่าโลหะมาก ระบายความร้อนได้ดีกว่า อย่าลืมว่าแม้จะมีร่มเบรก แต่ด้วยความเร็วระดับ 300 km/h ตอนเข้าเส้นก็ถือว่าเอาการอยู่ เบรกจึงต้องทำงานหนักพอสมควร ก็ต้องใส่ใจมันเยอะๆ ด้วยครับ เรื่องนี้ประมาทไม่ได้…
< และไม่ลืมติดตั้ง “ไฟเบรก” ที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะเวลาเบรก กรรมการจะสังเกตได้ บางทีเบรกเพราะเหตุฉุกเฉิน รถยังไม่เข้าเส้น เบรกซะก่อนแสดงว่าเกิดปัญหาอะไรบางอย่าง ทีม Rescue จะได้เตรียมตัวเข้าไปช่วย ยิ่งบ้านเรานิยมแข่งกลางคืน ไฟเบรกก็ยิ่งสำคัญครับ…
< ส่วนอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรมาก เน้นงานสวยๆ การติดตั้งที่เรียบร้อย สวยงาม ได้มาตรฐานที่ดี พูดถึง “ตัวขี่” ก็วางตัวไว้เป็น “ปอนด์เทค” เบญจรงค์ ชมายกุล ที่ไม่เคยขับ Dragster มาก่อนเหมือนกัน แต่เชื่อว่าถ้าหมั่นซ้อมบ่อยๆ ไอ้คำที่ว่ายากจะหมดไปครับ…
< สำหรับสถิติเวลาที่ตั้งเป้าเอาไว้ คงเป็นคำตอบที่ใน SUPER DRAGSTER Class พูดเหมือนๆ กัน ก็คือ “อยากสร้างปรากฏการณ์ Number 6” ก็อยู่ที่การเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ถ้าพร้อม รถสเต็ปนี้ทำไมจะวิ่งไม่ได้ล่ะ…
SIAM PROTOTYPE
H Dragster !!!
ปีนี้ “น้าหยาม” สยาม บุญช่วย มาแปลกครับ เพราะเล่นเอาคันที่ได้อันดับ 2 ปีที่แล้ว มารื้อทำใหม่กันหมด งานนี้มีเซอร์ไพรส์ “ของประหลาดที่สุดในวงการ” ในเมื่อเครื่อง V8 CHEVY The Heartbeat Of America ได้ “พลีชีพ” ข้อเหวี่ยงเจ๊งกระบ๊งไปแล้ว ทำให้คิด Project ใหม่ขึ้นมา จะเอาอะไรดี 2JZ คนก็เล่นกันเกลื่อน 2UZ ก็มีคนทำแล้ว RB26 ก็ไม่น่าจะเหมาะกับ Drag Racing เพราะความจุน้อย เหมาะกับงานเซอร์กิตมากกว่า (แต่ในออสเตรเลียมีทำนะครับ เพราะเขามีท่อนล่าง RB30E อยู่ แต่ท้ายสุดก็ใช้ได้แค่เสื้อ ที่เหลือต้องโมดิฟายใหม่หมด) หวยจึงมาออกกับสิ่งที่ไม่คาดคิด คือ “C32A” พูดง่ายๆ ก็คือเครื่องจาก HONDA NSX (NA2) !!! เฮ้ย บ้าไปแล้ว แต่ถ้าจะทำก็ต้อง “ทำไปแล้ว” ด้วย จะมีอะไรบ้างมาดู…
Modified Analyze
< เรื่องแรกที่เลือก C32A นอกจากความประหลาดแล้ว มองว่าเครื่องแบบ V6 มันใกล้เคียงกับ V8 ที่ตัวเครื่องจะสั้น สามารถวางถอยหลังไปได้ และมีเนื้อที่ใส่อุปกรณ์ด้านหน้ามากกว่าเครื่อง 6 สูบเรียง และด้วยความจุเริ่มต้นที่มากถึง 3.2 ลิตร เลยคิดว่าถ้า Custom ไส้ในใหม่ รวมถึงการทำปลอกสูบแบบดีๆ ที่ทนบูสต์ได้เยอะ ก็น่าจะต่อยอดได้ยาว เพราะในอเมริกาคนที่ทำแรงๆ ก็ได้ระดับเกิน 1,000 PS ทั้งนั้น แต่มันคงไม่ง่ายเหมือนบล็อกที่เราคุ้นเคย ต้องลงทุนและความรู้สูงขึ้นไปอีกระดับ…
< ปัญหาอย่างแรก คือชุดโมดิฟายแบบ Hardcore ไส้ในทั้งขด ลูก-ก้าน-ข้อ ของ C32A นั้นหาของค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ค่อยมีคนทำแรงม้าแบบบ้าคลั่งกันนัก ซึ่งตั้งเป้าหมายแรงม้าไว้ที่ “เกิน 1,000 PS” ไปพอสมควร จึงต้องสั่ง Custom จาก USA ขึ้นมาทั้งหมด เพื่อให้เครื่องสามารถทนบูสต์มหาโหดได้โดยไม่ลาโลกไปซะก่อน…
< ณ ตอนนี้ กำลังส่งไป “ใส่ปลอกสูบใหม่” เพราะ HONDA ถ้าทำแรงมากๆ ก็ต้องสเต็ปนี้ การใส่ก็ต้องใช้ความแม่นยำสูง เพราะต้อง “ตั้งเซ็นเตอร์ของปลอกสูบใหม่ให้ตรง” ของเดิมขุดออก แล้วใส่ปลอกสูบโมดิฟายเข้าไปแทน ตรงนี้จะเสียเวลามากหน่อย…
< สเต็ปการโมดิฟาย ก็จะใช้ “ทวินเทอร์โบ” ส่วนอื่นๆ ก็ “ชุดใหญ่” ซึ่งเป็นของที่ต้อง Custom ขึ้นมาทั้งหมด จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นของแบบไหน และยี่ห้อใดบ้าง (ขอเก็บไว้เป็นความลับก่อนในช่วงนี้)
< หมายมั่นไว้ว่าจะเปิดตัววิ่งรายการ SOUPED UP 2016 (ที่เลื่อนมาจากปลายปี) แต่ยังไม่แน่ใจว่าเครื่อง C32A จะเสร็จทันหรือไม่ ถ้าไม่ทัน ก็จะหาข้อเหวี่ยงเครื่อง CHEVY ตัวที่พังมาใส่กลับเข้าไป และ Overhaul เครื่องใหม่ทั้งหมด วิ่งท่าเดิมไปก่อน ไว้เครื่อง C32A ตัวนี้เสร็จแล้ว ค่อยยกกลับเข้าไปใหม่ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแท่นเครื่องทำรอสลับไว้แล้ว…
< สถิติเวลากับเครื่อง C32A ยังไม่รู้ ไม่อยากพูด เพราะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็คาดหวังไว้ดีที่สุดก็คงอยากเห็น “หกปลาย เจ็ดต้น” เอาเป็นว่าไม่อยากจะ Over Claim ตอนนี้ ขอให้เสร็จก่อนแล้วกัน แล้วจะแจ้งในคอลัมน์ Souped Up Special นะจ๊ะ…
เบิร์ด หลักห้า & ม. เจริญท่อไอเสีย
ย้ายมาฝั่ง “ดีเซล” กันบ้าง นับว่าเป็นการต่อสู้ยกใหม่สำหรับสายควันดำ ที่อยากจะขึ้นไปชกกับสายเบนซิน ก็ไม่แน่นะ อาจจะมีการที่เรียกว่า “เร็ว” กว่าเบนซินบ้างก็ได้ เริ่มกันที่ “แชมป์” ในรุ่น SUPER MAX DIESEL กันก่อน “เบิร์ด หลักห้า” ที่ปีนี้เป็นผู้ทำ Diesel Dragster ของ “เล่” ม. เจริญท่อไอเสีย บ้านแพ้ว ที่ร่วมงานกันมานาน ปีนี้ก็อยากจะสร้างคันใหม่ขึ้นมายืนใน Top Ten กันบ้าง พรรคพวกขยับแล้ว แล้วเราจะยอมงั้นรึ ??? ไม่มีทาง สำหรับสเต็ปการทำก็ยังไม่เปิดเผยมากนักตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วก็หลักการทำเครื่องเหมือนรถ SUPER MAX นั่นแหละ ไม่ต้องคิดมาก…
Modified Analyze
< สำหรับการสร้างคันนี้ ผู้ที่กำหนดสเป็กและควบคุมการผลิต ก็ยังไว้ใจ “ป๋าแดง” Drag Master เหมือนเดิม แต่งานวัสดุ รวมถึงการต่อเชื่อมเฟรมขึ้นมา เป็นฝีมือของ “ม. เจริญท่อไอเสีย” บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนี้เอง…
< ในด้านการเซตช่วงล่าง แม้จะไม่มีโช้คอัพหรือสปริง ไม่มี 4 Links แต่ก็ยังมีบางจุดที่ “ป๋าแดง” บอกว่าต้องปรับ ที่แน่ๆ ก็ “ด้านหน้า” ดูจะไม่มีอะไรใช่มั้ย ก็แค่วิ่งตรงๆ แต่จริงๆ แล้ว “สำคัญ” จะมีปีกนก ที่สร้างมุม Positive Caster ให้รถคุมง่ายเวลาความเร็วสูง มุม Toe ต่างๆ เวลา “แก้รถ” พวกนี้มีผลทั้งสิ้นครับ และต้องกระทำโดยผู้ชำนาญการเท่านั้น ไม่ใช่ของเล่นๆ ครับ…
< เครื่องยนต์ก็ยังเป็น 4JJ อยู่เหมือนเดิม การโมดิฟายก็เน้น “ความทนทาน” เป็นหลัก ด้วยไส้ในจาก MRX ส่วนอื่นๆ ก็ “แบบเบิร์ดๆ” เทอร์โบอนุกรม และเพิ่มความแข็งแรงของเสื้อสูบ อันนี้สำคัญ เพราะถ้าเครื่องทำให้ทนไหว ก็จะสามารถเพิ่มแรงม้าได้ตามสูตร จริงๆ แล้วก็จะเป็นสเต็ปเดียวกับ SUPER MAX นั่นแหละ เพียงแต่มาอยู่ใน Dragster ก็จะได้เรื่องน้ำหนักเบากว่า…
< สำหรับแรงม้า ตอนนี้ ช่างเบิร์ด สามารถทำได้ “ทะลุพัน” ไปแล้ว ก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเครื่องดีเซลบล็อก 4JJ (จะ 4JK พอมาขยายก็เป็น 4JJ แล้วละ) ที่มีแรงม้าทะลุพันครั้งแรกของเมืองไทย แต่สิ่งที่เป็นห่วงกลับไม่ใช่แรงม้าที่ “ของถึง บูสต์ถึง” ก็สามารถปั่นได้ แต่เป็นเรื่อง “ความทนทาน” และ “การเผื่อค่า Clearance” ต่างๆ ที่จะต้องเอาใจใส่เพิ่มขึ้นตามแรงม้า ถึงจะแรงและไม่พังง่ายๆ ครับ…
< ระบบส่งกำลัง ก็ยังใช้เกียร์ Air Shifter จาก Liberty อยู่ แต่ปรับอัตราทดให้เหมาะสมกับ Dragster ที่มีน้ำหนักเบากว่า คำตอบอยู่ที่ “เกียร์ 1” ที่จะต้อง “ทดต่ำ” เพื่อลดการฟรีทิ้ง และให้มีความเร็วในการ Shoot ออกตัว ส่วนเกียร์ 2-3-4 ก็ “ขยับชิด” เพื่อให้มีอัตราเร่งต่อเนื่อง ส่วนเกียร์ 5 มันเป็น 1 : 1 หรือ Direct Drive อยู่แล้ว ทำอะไรไม่ได้ ก็ปล่อยไว้เหมือนเดิม…
< อุปกรณ์อื่นๆ ก็จะเน้นของ “แบรนด์” ไม่ได้อยากจะไฮโซอลังการ แต่ว่า “ของมันต้องมี” เพราะรถพวกนี้เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงต้องใช้ของคุณภาพสูงและแข็งแรง เว้นแต่บางอย่าง ที่ “ของไทยก็ดี” ก็ใช้ของไทยไปครับ…
< สำหรับ “ตัวขี่” ยี่ห้อเบิร์ดๆ ก็ต้อง “เบสท์ เทอร์โบยำ” แน่นอน ก็ลองสอบถามคนที่เคยขับ Dragster ต่างก็บอกว่า “ขับง่ายโคตร” เออ ขับง่ายก็ขับไป แต่ก็ต้องมีการฝึกซ้อมเยอะๆ ให้ชิน ทั้งเรื่องอุปกรณ์เซฟตี้ และเรื่องอาการอะไรต่างๆ การออกตัวที่อาจจะไม่เหมือนกันกับรถ SUPER MAX เพราะน้ำหนักเบากว่า และ “การแก้รถ” ให้ไปตรง (กรณีมีเป๋ๆ หน่อยนะ) คงไม่มีใครบอกได้นอกจากการซ้อมเท่านั้น…
TT RACING & โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
เคยผ่านตากันไปแล้ว ซึ่งเป็นคันแรกของสายดีเซลที่เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง เป็นการร่วมมือกันระหว่าง TT RACING กับ โอ๊ต อู่ช่างขวัญ สำหรับตัวเฟรมคันนี้ได้ซื้อต่อมาจาก SIAM PROTOTYPE เป็นรถสำรองที่มีสเป็กช่วงล้อยาวสุด “300 นิ้ว” ซึ่ง TT RACING ได้นำมาวางระบบใหม่เอง รวมถึงระบบเกียร์ Air Shifter ที่สร้างให้เหมาะสมกับ Dragster ส่วนเรื่องเครื่องยนต์ ก็ให้ทาง “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” เป็นคนจัดการทั้งหมด รวมถึง “ขี่” ด้วย สำหรับรายละเอียดก็ย่อแบบสรุปแล้วกันนะ…
< เครื่องยนต์ก็เป็น 4JJ โมดิฟายสไตล์ “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” แคมชาฟต์ของ โอ๊ต สร้างเอง จะเน้น “ออกดันปลาย” หน่อย ส่วนไส้ในก็อัพเกรดเป็นของ MRX ขยายความจุเป็น 3.2 ลิตร เอาแรงแบบไม่ต้องเค้นเหมือน 3.0 ลิตร แรงม้าระดับ “เฉียดพัน” ซึ่งก็เป็นสเต็ปเดียวกับ Spaceframe ที่เคยทำ แต่พอมาอยู่ใน Dragster ที่เบาและเพรียวลมกว่า เท่ากับ “อัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักดีขึ้น” ก็คือ “แรงขึ้น” โดยไม่ต้องเพิ่มแรงม้านั่นเอง…
< สำหรับเกียร์ ทาง TT RACING ก็ได้สร้างและปรับอัตราทดให้เหมาะกับ Dragster ส่วนใหญ่แล้วก็สูตรคล้ายกัน จะลดแรงบิดตอนออกตัวเพราะรถมันเบา แต่ให้ได้ “Speed” ตอน Shoot Out แทน แล้วค่อยไป “ซอยยิก” ในเกียร์ที่เหลือ…
< ตัวขี่ก็ “โอ๊ตไงจะใครล่ะ” ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้านจริงๆ ทำเอง ขี่เอง ซึ่งไม่น่ายาก เพราะผ่านประสบการณ์ SUPER MAX เอาข้างวิ่งไปตลอดทางมาแล้ว พอมาขับ Dragster ก็ไม่น่าจะยากอะไร สิ่งที่ โอ๊ต คำนึงถึงมากๆ ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะรถมันเร็วขึ้นเยอะ ดีมากครับ อยากจะให้เป็นตัวอย่างเลยว่า ความปลอดภัยมันสำคัญแค่ไหนในการแข่งรถ…