XO เล่ม 176 เดือน มิ.ย. 2554
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป, วิวัฒน์ ภัยวิมุติ
Super Z Retro Circuit Monster
260Z + RB25DE Full Modified
By K-Factory & KS Racing
ยังไม่หยุดความพิเศษ กับกระแส Retro Racing ที่ฉบับนี้ “จัดหนัก” ให้ถึงสองคัน ผ่านพ้นไปกับคันแรก มาต่อคันที่สองกันติด ๆ คันนี้เป็น DATSUN 260Z 2+2 รหัส S30 ที่ยิ่งใหญ่ในตำนานรถสปอร์ต และในสนามแข่ง มันก็เป็นเรื่องที่ตรึงตาตรึงใจคนชอบ Retro ที่ใฝ่ฝันอยากจะครอบครอง และทำออกมาได้อย่างใจปรารถนา ความต้องการนี้ไปตรงกับความคิดของหนุ่มใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง คือ “พี่ประชา” (รู้จักกันในนาม BCC131) ทีม K-FACTORY ที่คลั่งไคล้ใน Retro Car อย่างมาก จึงให้ทีมงานสร้างลงคันนี้ เพื่อแข่งอย่างเป็นทางการ ในรุ่น Super Retro รายการ Super Car Thailand สนาม จ.สระแก้ว แล้วก็ได้ “วิน” นับเป็นผลงานที่ดีทีเดียวเชียว…
จุดเริ่มต้น
จากความคิดของ “พี่ประชา” ที่ “ต้องการจะทำรถ Retro Racing เต็มรูปแบบเหมือนกับในญี่ปุ่น แต่ต้องเป็นฝีมือคนไทย และคนไทยด้วยกันสามารถสัมผัสได้” เนื่องจากทราบว่า รถแข่งในแนว Retro แบบเต็มรูปแบบ ในบ้านเรายังไม่มีใครทำ ก็จะเห็นในญี่ปุ่น ถ้าอยากดูตัวเป็น ๆ ก็ต้อง “เหาะ” ไปชม ก็เลยคิดที่จะ “ทำ” ขึ้นมา ให้เหมือนกับที่ญี่ปุ่นทำ ทุกอย่างต้องครบ แข่งขันเต็มรูปแบบได้จริง เพื่อให้คนไทยด้วยกันได้ชม และพิสูจน์ให้ชาวต่างชาติเห็นว่าคนไทยก็สามารถทำรถ Retro แบบดี ๆ ได้ รวมถึง “คนไทยทำอุปกรณ์ได้” ไม่ต้องสั่งเมืองนอกอย่างเดียว หลังจากได้รถแล้ว ก็สร้างทีมขึ้นมา คือ K-FACTORY หลัก ๆ ก็จะมี พี่ประชา, คุณอู๋ SKYLINE และ น้องแชมป์ (ลูกชายพี่ประชา) และเพื่อน ๆ น้อง ๆ สมาชิกที่ชอบในรถ Retro Car มารวมทีมเฉพาะกิจในการแข่งขัน พอวางแผนการทำรถลงตัวแล้ว ก็ส่งให้ทาง KS Racing เชียงใหม่ เป็นผู้ลงมือสร้างฝันให้เป็นจริงขึ้นมา และให้ Okumi เป็นผู้ขับ…
Rocky Auto Style With RB Engine
หลังจากที่ได้รถมาแล้ว ก็ต้องมีการปรับปรุงตัวถังใหม่ โดยการ Spot สไตล์รถแข่งเต็มตัว สร้างโรลบาร์ เพื่อให้ได้ตามกฎของการแข่งขัน มาถึงในเรื่องเครื่องยนต์ คันนี้ก็ขอ “ข้ามรุ่น” โดยการหันมาเล่นกับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ อย่าง RB25DE แบบ NEO จาก SKYLINE ER34 ก็เท่ากับว่าคันนี้เป็น Rocky Auto Style ที่ใช้เครื่องยนต์ รวมไปถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบรุ่นใหม่ นำมาปรับเข้ากับรถเก่า แต่ไม่ใช่การทำให้เสียเอกลักษณ์ Retro ไป ทางทีม K-FACTORY ก็คิดกันว่า ถ้าจะอนุรักษ์เอาเครื่อง L26 ของเดิมมาโมดิฟาย มันก็ทำให้แรงได้นะ แต่ถ้าจะไปถึงแรงม้ามาก ๆ เพื่อการแข่งขัน มันก็ต้องใช้ทุนสูงพอสมควร ประกอบกับของแต่งและอะไหล่ต่าง ๆ ก็แพงตามสไตล์เครื่อง Retro เลยคิดว่าถ้าเล่นกับ RB25DE ที่พื้นฐานมาดีกว่า ตามสไตล์เครื่องรุ่นใหม่ อะไหล่และของแต่งเยอะ จึงน่าจะลงตัวกว่า รวมถึงประหยัดเงินกว่าเครื่อง L26 เพราะนี่คือรถแข่ง ที่ต้องคำนึงถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ได้เป็นรถจอดโชว์แบบ Vintage Look นั่นก็อีกเรื่องนึง…
อนาคต RB26DETT R34 Nur Spec แน่นอน
สำหรับเครื่อง RB25DE ตัวนี้ ทางทีมงานบอกว่า ยังเป็นเครื่องไส้ในสแตนดาร์ดทั้งหมด คงมีแต่ระบบจ่ายเชื้อเพลิง ระบบไอเสีย และระบบไฟจุดระเบิดเท่านั้นที่มีการโมดิฟาย เนื่องจากต้องการใช้เครื่องนี้ “ทดลอง” ขับก่อน ดูว่ารถจะต้องมีการปรับปรุงอะไร หลังจากวิ่งจริงบ้าง ถ้าเอาเครื่องแรงมาก ๆ ลงเลย หากรถยังเซ็ตไม่ลงตัว อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ประกอบกับเครื่องรถเซอร์กิตต้อง “อึด” เป็นหลัก เลยไม่อยากไปทำแรงมากนัก เดี๋ยวจะไม่ทน อีกอย่างคือ อนาคตก็เตรียมเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น RB26DETT จาก R34 Nur Spec เนื่องจากเครื่อง N.A. แรงม้า “ไม่พอ” อยู่บ้าง เลยตัดสินใจเล่นกับ RB26DETT เลยจะง่ายกว่า เพราะยังไงระดับ 350 แรงม้า ++ ก็ทำได้ง่ายจากเครื่อง RB26DETT โดยที่ไม่ต้องทำอะไรให้มากเรื่อง ซึ่งจะเปลี่ยนในอนาคตกันใกล้นี้แน่นอน…
เซ็ตช่วงล่าง การบ้านใหม่ของ ATP
สำหรับช่วงล่าง คันนี้ก็มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ ATP Motorsport ในการเซ็ตอัพทั้งหมด เราก็ได้ไปสัมภาษณ์ “อั๋น ATP” ถึงเรื่องการเซ็ตอัพช่วงล่างของคันนี้ ก็ได้ความว่า การทำรถคันนี้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะเพิ่งจะมี Z ลงแข่งก็คราวนี้ เลยต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ครั้นจะทำแบบ Custom Made สำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะ ก็คงจะไม่ทันเวลา เอาเป็นว่า ก็ต้องเอาของรุ่นที่มีจำหน่ายทั่วไปมาดัดแปลงใช้ ก็คือ SUBARU ที่เทียบแล้วมีความยาวและความสูงต่าง ๆ พอได้กับ Z รุ่นนี้ เอารุ่น Type FLEX Twin Tube มาใช้ เพราะเห็นว่าน่าจะเหมาะที่สุด สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมา ก็คือ น้ำหนักรถของ Z ที่เบากว่า SUBARU อยู่เยอะ จึงต้อง Revalve ใหม่ ส่วนการ Balance รถ ก็ต้องคิดถึงอย่างมาก เนื่องจากพื้นฐานของ Z รุ่นนี้ จะมีลักษณะ “หน้ายาวมาก ตูดสั้น” ทำให้น้ำหนักไปตกด้านหน้ามาก ท้ายจะเบา (ยังดีที่ว่าคนขับนั่งค่อนมาด้านหลัง เลยช่วยได้) แถมวางเครื่อง RB ที่มีน้ำหนักมากขึ้น (แต่ก็ไม่ถึงกับมากเวอร์) Balance ก็จะมีแนวโน้มหน้าหนัก ท้ายเบา เข้าไปอีก ก็เลยต้องเซ็ตด้านหลังให้ไม่แข็งมาก ต้องให้เกาะไว้ เพราะถ้าแข็ง ยิ่งถ้าเป็นรถขับหลัง จะเกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ (ท้ายออก) มากและไวเกินไป ทำให้ขับยาก อันตราย ส่วนการปรับค่า Bump ก็ต้องไม่แข็งเกินไป เพราะรถมีน้ำหนักไม่มาก ถ้า Bump แข็งไป รถจะกระเด้งกระดอน ไม่ซับแรงกระแทก ทำให้ไม่เกาะถนน ก็เป็นเรื่องแรกที่ต้องคิดให้ได้ก่อนจะลงมือทำ…
อันดับต่อมา ก็ต้อง “ลองวิ่งจริง” ดูอาการที่แสดงออกมา หลัก ๆ ก็มีอยู่สองอย่าง อย่างแรก “สปริงทำงานมากกว่าโช้คอัพหรือไม่” ถ้าสปริงทำงานมากกว่าโช้คอัพ คือ “สปริงแข็งเกินไป” ตัวรถจะกระเด้งไปเรื่อย ๆ ไม่นิ่ง ไม่ซับแรง เนื่องจากแรงดีดของสปริงแข็ง ๆ มีมาก ส่วนโช้คอัพไม่หนืดพอที่จะหน่วงการเต้นของสปริงได้ ทั้งนี้ ก็ต้องลดความแข็งของสปริง หรือเพิ่มความหนืดของโช้คอัพ ก็แล้วแต่เคสไป อีกอย่างคือ “โช้คอัพหนืดมากไป” อันนี้ก็เป็นเรื่องจังหวะยืด สปริงจะไม่สามารถดีดคืนตัวได้อย่างปกติ ทำให้รถมันจะออกอาการยวบ ๆ อม ๆ ดึง ๆ ดื้อ ๆ พูดไม่ถูกเหมือนกันว่ะ แต่ที่แน่ ๆ “ไม่มีการยืดหยุ่นที่เป็นธรรมชาติ” ถ้าเจอจังหวะต่อเนื่อง รถจะเตี้ยลงเรื่อย ๆ เพราะสปริงไม่สามารถดีดตัวเอาชนะแรงหนืดของโช้คอัพได้ อันนี้ก็ถือว่าไม่ผ่านเช่นกัน ผู้ขับก็จะต้องลองขับและบอกอาการรถ ทีมช่างจึงค่อยมา Setting อีกที แต่ส่วนใหญ่ก็จะนิยมเซ็ตสปริงให้ได้ก่อน อันนี้ต้องอันดับแรก เพราะมัน “มีหน้าที่รับน้ำหนักรถและกำหนดการทำงานของช่วงล่างโดยตรง” เมื่อได้สปริงค่าความแข็งที่พอใจแล้ว ก็หันไปเซ็ตโช้คอัพไล่ตาม เพราะโช้คอัพมันสามารถปรับความหนืดได้ เลยไม่ยากเท่าไหร่ พอได้ข้อมูล ก็นำมาเข้าเครื่องคำนวณค่าต่าง ๆ ประกอบกับประสบการณ์ ช่วยกันประเมินผล ก็เพื่อทำโช้คอัพออกมาให้ได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด หลังจากนี้ ก็ต้องไล่เซ็ตอัพกันใหม่ คงต้องอาศัยเวลาและการขับจริง เซ็ตอัพไปอีกระยะหนึ่ง แต่รวม ๆ ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว…
Comment : ประชา BCC131 K-FACTORY TEAM
คอนเซ็ปต์ของคันนี้ ก็ต้องการจะให้มันเป็นรถแข่ง Retro คนไทย ฝีมือคนไทย ใช้ของไทยให้มากที่สุด แข่งในรายการใหญ่ได้จริง ต้องการให้ลุคมันออกมาดุดัน มีโป่ง Wide Body เพราะส่วนตัวชอบรถมีโป่งใหญ่ ๆ อยู่แล้ว พอเสร็จมาก็ได้ตามต้องการ เพราะได้อันดับ 1 ในรุ่น Super Retro สนามสระแก้ว ก็ถือว่าเป็นความดีใจของทีม ที่ลงแล้วชนะเลย ตอนนี้ก็ถือว่ายังใหม่มากสำหรับการแข่งขันจริง ก็ต้องค่อย ๆ ปรับเซ็ตไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลงตัวในที่สุด ตัวผมก็อยากจะทำให้มันไปตลอดรอดฝั่ง อยากเห็นคันนี้เป็นสีสันให้กับวงการ Retro ครับ ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ ทีมงาน “K-FACTORY” ทุกคน ที่ร่วมกันสร้างฝันขึ้นมา “KS RACING” เชียงใหม่ (www.ksracing.net) ที่ช่วยทำรถและงานเซอร์วิสต่าง ๆ และ “คุณ Okumi” ที่มาขับแข่งให้ครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ถ้าถามคนชอบ Retro Car อย่างผม ยังไงก็ “ชอบ” ที่เห็นรถ Retro นำมาแต่งในรูปแบบเซอร์กิตแบบเต็ม ๆ และโดยเฉพาะว่าเป็นรถเก่าหายากอย่าง 260Z ก็นับว่าใจถึง เงินถึง อยู่มากทีเดียว ทั้งนี้ ก็ยอมรับในแนวคิดของการที่จะโชว์ฝีมือของคนไทยในการทำรถ ก็ พอทำออกมาแล้วก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจดี แถมทำได้อย่างเรียบร้อย สะอาด การจัดวางอุปกรณ์มีระเบียบ อันนี้แหละที่ผมคิดว่ามันต้องมี และเป็นจุดที่ส่วนใหญ่มักจะละเลย หลายคนคงตั้งคำถามว่า “มันจะวิ่งได้จริงมั้ย” แต่ผลงานก็บอกมาแล้วว่าวิ่งได้ มันอาจจะยังทำเวลาไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องให้เวลาในการปรับปรุงและเซ็ตอัพรถ อนาคตก็รอลุ้นว่าวางเครื่อง RB26DETT แล้วจะมีความเร็วมากขึ้นแค่ไหน สำหรับ Super Z Retro Circuit Monster คันนี้ครับ ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ “พี่ประชา” เจ้าของรถ และ “ATP Motorsport” สำหรับพื้นที่ในการถ่ายทำคอลัมน์…
X-TRA ORDINARY
ทรวดทรงของ Z รุ่น S30 นี้ ก็จะเป็นสไตล์ “หน้ายาว ท้ายสั้น” หรือ “Long Nose Short Deck” สไตล์แบบนี้ จะผลิตมาเพื่อเอาใจ “อเมริกัน” โดยเฉพาะ ที่ชอบรถหน้ายาว ๆ มันจะทำให้ดู “เท่” ตามสมัยนิยมในขณะนั้น ซึ่งว่ากันว่า ทรวดทรงของมัน จะได้รับอิทธิพลมาจาก JAGUAR E-TYPE ซึ่ง Z จะทำให้ดูคล้ายกันมาก โดยเฉพาะในส่วนด้านหน้า และด้านข้าง…
- ชุดโป่งไฟเบอร์ญี่ปุ่น เปลี่ยนหน้าเป็น G-Nose เน้นความลู่ลมมากขึ้นกว่าเดิม ฝากระโปรง ลิ้นหน้า งานไฟเบอร์จาก K-FACTORY ตัวถังสปอตใหม่หมด โดย KS RACING
- คันนี้เป็น 260Z แบบ 2+2 กระจกบานเล็กตรงกลางจะไม่เหมือนกับตัวบอดี้ธรรมดาที่เป็นทรงสามเหลี่ยม สังเกตว่าจะเซ็ตความสูงให้ “ท้ายต่ำ หน้าเชิดนิด ๆ” ส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากต้องการให้ Weight Transfer ไปด้านหลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากรุ่นนี้ท้ายจะค่อนข้างเบา และใส่เครื่องที่ใหญ่กว่าเดิม จึงต้องปรับความสูงด้านท้ายให้ต่ำกว่าข้างหน้าอยู่บ้าง เพื่อไล่น้ำหนักมาหลังมากขึ้น ก็เป็นหลักการเซ็ตที่ถูกต้องในรถขับหลัง ที่ไม่ควรจะเซ็ตให้รถมีอาการ “โอเวอร์สเตียร์” มากไป ส่วน ในรถขับหน้า มันก็กลับทางกันล่ะครับ จะเอาหัวต่ำ ท้ายสูงกว่านิด ๆ เนื่องจากให้ท้ายโอเวอร์สเตียร์เพิ่มขึ้น เพื่อลด “อันเดอร์สเตียร์” นั่นเอง
- ไฟท้ายจะไม่เหมือนกับรุ่น 240Z กระจกรอบคัน (ยกเว้นบานบังลมหน้า) ถอดออก เปลี่ยนเป็นวัสดุ “โพลีคาร์บอเนต” แทน มีคุณสมบัติ เหนียว ทน ไม่เหมือนกับ “อะคริลิค” ที่เป็นเนื้อกรอบ แตกง่าย และพอแตกแล้วมักเป็นชิ้นแหลมคม พวกโพลีคาร์บอเนต ก็จะปลอดภัยกว่า เวลามีอะไรมากระทบเร็ว ๆ มันก็จะไม่แตกง่าย ก็เป็นจุดที่ทางรถคันนี้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม
- ล้อ W WORK S1 Custom Made ขนาด 9 x 17 นิ้ว ทั้งสี่วง แต่ Offset ไม่เท่ากัน ด้านหน้า 0 ชุดเบรก ALCON ที่ทำให้กับ TRD โดยล้อชุดนี้จะเป็นแบบ L-Disk ที่ก้านจะโค้งหลบเบรกใหญ่โดยเฉพาะ
- ด้านหลัง ใช้ Offset ถึง -64 พร้อมยางสลิค KUMHO ECSTA ขนาด 240/610 R17 ทั้งสี่เส้น ชุดเบรก Run Stop
- ภายในสไตล์รถแข่ง โรลบาร์แบบฝังติดตัวถัง โดย KS RACING กล่องแดงเป็น CDI ของ MSD DIS-4 สองอันคู่
- กล่อง Haltech Platinum 2000 ที่ KS RACING ต้องไปหาข้อมูลกับทางบริษัทแม่ที่ Australia อยู่หลายยก เพราะต้องทำให้ระบบ NVCS ใช้ได้ด้วย รวมถึงระบบอื่น ๆ เพราะเครื่อง NEO ระบบไฟฟ้ามันค่อนข้างเล่นยากอยู่ แผงสวิทช์ MOROSO ด้านบนเป็นเกจ์ Oil temp, Oil Press, Fuel Press ของ HKS
- พวงมาลัย ATC หนัง Alcantara คอพวงมาลัย WORK BELL ปุ่มดำขวามือด้านบน เอาไว้ปรับแรงดันเบรกหน้า–หลัง กระจายได้ตามต้องการ จอมาตรวัด Haltech Racepak
- แป้นเหยียบ TILTON
- เบาะของ 3 มงกุฏ หุ้มผ้าปักโลโกใหม่ เข็มขัด OMP
- ถังเซฟตี้ OMP สังเกตตะเข็บ จะเป็นเม็ดจากการ Spot ใหม่
- RB25DE ฝาวาล์ว RB26DETT เฮดเดอร์ BEE*R สิ่งที่บอกว่ามันเป็น RB25 จริง ๆ ก็คือ ระบบ NVCS ปรับแคมด้านไอดี (***ขอรูปเครื่องใหญ่ ๆ หน่อย***)
- ลิ้นเร่ง K-FACTORY รางหัวฉีดโมดิฟายใหม่ เข้าหัวสองทาง ออกกลาง เพื่อให้น้ำมันเข้าในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกสูบ ปกติจะเป็นแบบ เข้าหน้า ออกหลัง สูบหลัง ๆ น้ำมันจะบางกว่า เพราะน้ำมันจะไหลกลับเร็วกว่าที่อื่น เกิดการไม่สมดุลย์ หัวฉีด HKS 550 cc. ตัวปรับแรงดันน้ำมัน Aeromotive
- ถังพักน้ำมันเบรกแบบแยกวงจรหน้าและหลังอย่างอิสระ และน้ำมันคลัตช์ ของ TB&C หรือ Tilton Brake & Control