PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
My Name is… จิตร เฮดเดอร์เทอร์โบ
ผมว่าสายคอมมอนเรลรู้จักชื่อ จิตร เฮดเดอร์เทอร์โบ เป็นอย่างดี ซึ่ง My Name is…ในเล่มนี้ ไหนๆ ก็เป็นเล่ม Souped Up แล้ว ก็เลยไปคุยกับ น้าจิตร ผู้ที่อยู่เบื้องหลังรถแรงๆ หลายต่อหลายคัน ว่าที่จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของ น้าจิตร เริ่มมาจากไหน แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ตัวเขามายืนอยู่ในจุดนี้ได้ครับ…
ตั้งใจว่าจะไปสัมภาษณ์ My Name is… กับอัปเดตรถที่จะวิ่งซุปอัพในปีนี้ ในวันที่ออกกองไปหา น้าจิตร ปรากฏว่า รถซุปอัพที่จะอัปเดต ไม่มีเหลืออยู่แล้ว น้าจิตร บอกว่า รถกลับไปเตรียมความพร้อมกันหมดแล้ว ก็เลยถาม น้าจิตร กลับไปว่า มีคันไหนบ้างครับ น้าแกบอกว่า เอาจริงๆนะ ลูกค้าที่เขาให้ผมทำรถให้ โดยเฉพาะกลุ่มคอมมอนเรล เรียกว่าได้ว่ามีลงกันแทบจะครบทุกรุ่นเลยก็ได้นะ
ซึ่งผมนั่งคุยกับน้าอยู่สักพัก ก็เลยบอกว่าน้าว่า ผมขอเข้าเรื่อง My Name is… เลยแล้วกันนะครับ ว่าจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ น้าเริ่มต้นมาจากอะไรครับ “ ผมเริ่มมาจากความเกเร ไม่ยอมเรียนหนังสือครับ ที่บ้านเขาก็ส่งให้เรียน แต่ผมดื้อเอง ก็เลยเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ โดยหอบความฝันว่าวันหนึ่งจะเป็นเจ้าของธุรกิจติดตัวมาด้วย ซึ่งในยุคเมื่อเกือบๆ 30 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นช่วงบูมของ เฮดเดอร์ ท่อไอเสีย มาก เป็นช่วงที่บ้านเราเริ่มมีเครื่องยนต์เทอร์โบ ในตอนนั้นก็จะเป็นพวก Z18 ซึ่งงานเริ่มแรกของผมก็คือ เด็กฝึกงานร้านท่อไอเสียย่านสาธุประดิษฐ์ รายได้คงไม่ต้องพูดถึงนะสมัยนั้น ผมฝึกงานอยู่ร้านท่อจนทำเป็นทุกอย่าง ก็ทำอยู่นานนะราว 5-6 ปี ก็เกิดเหตุที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนงาน เพราะ ป๋า เจ้าของร้านเฮดเดอร์ที่ผมทำแกเสีย ก็มีคนแนะนำให้ผมไปทำที่ เม้ง เฮดเดอร์ พระราม 2 ประมาณ 2-3 ปี ก็เริ่มออกไปรับงานเอง ทำถังน้ำมันใหญ่ๆ พวกหมื่นลิตร ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานท่อไอเสียเลย แต่ที่ทำได้เพราะมีวิชาการเชื่อมติดตัวมา ซึ่งที่ตัดสินใจไปรับเหมาทำงานเอง ก็เพราะอยากมีทุนเป็นกอบเป็นกำ เพื่อไปทำตามฝัน คือการได้เป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่าง ถ้ามัวเป็นแต่ลูกจ้าง คงไปไม่ถึงฝันแน่ ผมรับงานเหมาเกือบทุกชนิด ติดตั้งเครื่องจักร แพล้นปูน ผมก็ทำมาแล้ว รับเหมาทำนั่งร้าน ตอนสมัยทางด่วนรามอินทรา กำลังสร้าง ผมก็ทำนะในตอนนั้น คือพวกงานหนักๆ ที่ต้องการความแข็งแรง ผมผ่านมาหมด จนเห็นว่าพอจะมีทุนที่พอจะเปิดร้านเป็นของตัวเองได้แล้ว ก็เลยย้ายมาอยู่ย่านสมุทรปราการ เปิดร้านเป็นของตัวเองในชื่อ “จิตร เฮดเดอร์เทอร์โบ” ซึ่งร้านแรกเปิดอยู่แถวๆ โค้งโพธิ์ เป็นร้านห้องเดียวเล็กๆ รับทำท่อไอเสียทั่วๆไป ซึ่งงานสมัยนั้นมันไม่มีท่อสำเร็จเหมือนสมัยนี้ เวลาลูกค้าเข้ามาก็คือ ทำกันสดๆ เลย ซึ่งผมถือว่าโชคดี ตรงที่ผมอยู่โรงงานอุตสาหกรรมเยอะ พวกรถใหญ่ๆ 6 ล้อ 10 ล้อเยอะ ซึ่งงานทำรถพวกนี้จะได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่ารถเก๋ง ท่อมันใหญ่ก็จริง แต่พื้นที่การทำงานมันง่ายกว่ารถเก๋งเยอะครับ ซึ่งผมก็ทำงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับรถแข่ง รถซิ่ง อะไรเลย ในตอนนั้นเครื่องยนต์หัวฉีดเบนซิน เทอร์โบ กำลังเป็นที่นิยมมากในบ้านเรา ผมทำระบบท่อไอเสียให้กับรถซิ่งครั้งแรกให้กับ NV ของ ตู่ C & L นี่คือจุดเริ่มต้นของผมในการทำรถซิ่ง คือผมไม่เคยออกไปดูรถเลย ไม่รู้ข้างนอกเขาเป็นยังไง สนาม MMC มีหน้าตาแบบไหน ผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเขาเอางานมาให้ทำที่ร้าน อยากได้เฮดเดอร์แบบไหน เทอร์โบเป็นยังไงก็บอก ผมก็ทำให้ คุณโอ Signal ยังเอา RX-7 มาให้ผมทำเลยในตอนนั้น ซึ่งนอกจากสายรถซิ่ง ทางฝุ่นสายแรลลี่ก็มี จาก คุณสุพจน์ กสิกรรม (K45) ก็เอารถมาให้ผมทำจนสนิทกันครับ
ภาพความชัดเจนเส้นทางสู่สนาม DRAG มันเกิดขึ้นตอน เฮียอ็อด บางปู ให้ผมทำ สิงห์คะนองนา เพราะในยุคนั้นบ้านเรามีคนดัดทราย ท่ออินเตอร์ฯ มีทำเป็นไม่กี่คนเอง หลักๆ ก็มี เปี๊ยก ธันเดอร์ แล้วก็ผม ที่ทำงานพวกนี้อยู่ตลอด ถัดจากนั้นมาอีกยุค มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาอยู่วัดศรีวารีน้อย ทำเฟรม บอดี้ ไฮลักซ์ ฮีโร่ ใส่เครื่องรถ 6 ล้อใหญ่ แต่มันวิ่งไม่ได้ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ผมเข้ามาทำรถแข่ง ไม่จิ๊ก ไม่มีสเกล อะไรเลย ตั้งบนสามขา แล้วก็สร้างกันเลย ซึ่งพอหมดจากยุคนั้น ก็เริ่มเป็นเครื่องคอมมอนเรลเข้ามา
ในช่วงเปลี่ยนจากปั๊มสาย มาเป็นคอมมอนเรล นี่คือยุคที่ผมเดินเข้าสนามเทพนครเป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้นไปสนาม รถก็ยังไม่เสร็จนะ ลากเอาไปจอดที่สนาม คนก็สนใจเข้ามาดูและให้ความสนใจเต็มไปหมด หลังจากนั้นก็เริ่มผลงานที่ผมทำเกิดขึ้นตามมาเรื่อยๆ ไฮลักซ์ ฮีโร่ คลีนิครถยนต์, หนุ่ย เปอร์ สุพรรณฯ, เอ้ ปลาทู, โอ๊ต อู่ช่างขวัญ หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ยุคเกียร์ซิ่ง เมื่อก่อนเป็นโบใหญ่ เกียร์บ้าน ทำรถของ เก๋ไก่ส้มจ๊ะผักสด ทำบอดี้เปลี่ยนรุ่นไปเรื่อยๆ มาจบที่บอดี้ 1.9 เป็นเกียร์ซิ่งคันแรก ที่ทำออกไปวิ่งแล้วได้เวลา 8.6 วินาทีในตอนนั้น ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนคันเก๋ไก่ วิ่งได้ 7.8 วินาที จำได้ว่ารุ่นเกียร์ซิ่งในปีนั้น ผมทำบอดี้กับช่วงล่างมากถึง 14 คัน หลังจากนั้นก็ขยับมาที่รถเฟรม คันแรกคือ นพ พิจิตร ซึ่งคันนี้เป็นคันแรกที่สร้างบนจิ๊กมาตรฐาน โดยซื้อพิมพ์เขียวมาจากออสเตรเลีย 2 ชุด คือ เป็นของหน้ายาวเสี่ยแสง 1 ชุด ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นของมัสแตง ซึ่งมาขึ้นเป็นคัน นพ พิจิตร โดยให้ลูกชายเป็นคนแปลข้อมูลให้ แล้วก็สร้างตามแบบ กว่าจะเสร็จแล้วลงตัวเล่นเอางมกันอยู่นานเลย รถคันแรกด้วย ความกดดันก็เยอะ แล้วรถทำเพื่อลงวิ่ง Souped Up ด้วย เล่นเอามาวิ่งได้ในวินาทีสุดท้าย ซ้อมได้ 7.5 วินาที แล้ววิ่งจริง 7.2 วินาที รันสุดท้ายเลยครับ
ซึ่งปัจจุบันรถเฟรมที่ผมทำออกไปก็มีประมาณ 4 คัน ถ้ารุ่นเล็กลงมาหน่อย พวกเกียร์ซื่งนี้จะมีเยอะมาก สำหรับในปีนี้พวกปาก 46 ทำไปร่วมๆ จะ 20 คันแล้ว เรียกว่าผมทำแทบจะทุกรุ่นการแข่งขันของเครื่องยนต์คอมมอนเรล สำหรับผมเหลือรุ่นเดียวที่หนักใจ คือ รถประตู พวกรถรุ่น Super Max นี่แหละ รถมันเร็วมาก ซ้อมออกตัว 60 ฟุต มันได้ 1.0 คือผมคาดหวังเวลาไว้ 7 วินาทีต้นๆ ตัวเจ้าของรถเขาหวังเวลาไว้เยอะกว่าผมอีก บางคนมาถามว่า ระยะทางแค่มองเห็น ทำรถยังไง ทำไมถึงวิ่งไม่ตรง ผมก็ขำๆ ตอบเขาไป อ้าว!! ลองมาเป็นกูดูสิ 300 กิโลเมตร ในระยะทางแค่ 400 เมตร มันไม่ใช่เรื่องง่ายครับ…
ณ วันนี้ เมื่อผมมองย้อนกลับไปดูตัวเอง ในวันที่เข้ามากรุงเทพฯ ไปเป็นเด็กฝึกงานร้านท่อไอเสีย ผมคิดว่า ผมทำความฝันของตัวเองได้สำเร็จแล้วนะ เป็นเจ้าของกิจการได้อย่างที่ตั้งใจ ผมชอบงานแบบนี้ ถ้าไม่ชอบคงจะมาทำงานแบบนี้ไม่ได้ อยู่กับฝุ่น อยู่กับเครื่องจักรแบบนี้ไม่ได้หรอก ผมทำอาชีพนี้มาร่วมๆ 22 ปี ร้านเก่า 15 ปี แล้วร้านปัจจุบันนี้อีก 7 ปี สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมทำงานได้อย่างมีความสุข คือ มาจากความคิดที่ว่า “เรายังเก่งไม่พอ” ก็ต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ เพิ่มความสามารถ ไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลาครับ”
ปีนี้รอลุ้นผลงานกันครับ ว่าแต่ละคันที่ทำออกไป จะส่งเวลากันที่เท่าไหร่บ้าง และในปีหน้า มีอีกหลายคันที่ น้าจิตร ยังไม่ว่างทำ รอคิวอยู่ครับ
พัสกร ผิวอินทร์ (น้าจิตร)
– หน้าที่ของผมคือ ทำเฟรมอย่างไรก็ได้ ให้คนขับเขาขับง่ายที่สุด
– ตอนนี้นอกจากรถ Drag ก็มีรถ Drift เข้ามาให้ทำ ซึ่งมันเป็นเรื่องของอนาคต ก็ต้องแตกแขนงออกไปหลายๆ ด้าน ถ้าวันหนึ่งบางอย่างซบเซา ก็ยังมีงานอีกประเภทสำรองอยู่
– เรายังเก่งไม่พอ ก็ต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ เพิ่มความสามารถ ไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา