จ๊อบ – ใหญ่ : อ.ศิริบูรณ์ ครับ ผม 2 คนจะทำอู่ อยากได้ชื่อครับ อาจารย์ว่าใช้ชื่ออะไรดีครับ?
อ.ศิริบูรณ์ : Big Dawg มั้ย?
จ๊อบ – ใหญ่ : แต่ว่ามันหมายที่ถึงหมาตัวโตๆไม่ใช่หรอครับ
อ.ศิริบูรณ์ : .ในต่างประเทศ คำๆ นี้ หมายถึง พี่เบิ้ม หรือรุ่นใหญ่ ในวงการ!!!
ผมลอง Search คำว่า “Race Engineer” ใน Google ก็จะเห็นมีแต่รูปชาวต่างชาติใส่หูฟัง อยู่คู่กับรถแข่งเสมอๆ จนในวันนี้มีโอกาสได้สัมผัสกับคนไทยที่มีอาชีพ “Race Engineer” จริงๆ เค้าไม่ใช่ช่างทำรถแข่ง!! แต่เค้าทั้งคู่คือคนที่วางแผนในการทำรถแข่งให้ไปสู่ยอดโพเดียม เป็น “คู่หู Race Engineer” ที่น่าจับตามองมากที่สุด ผลงานของเค้าที่สร้างรถแข่งแต่ละคัน มันสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จมาเป็นเครื่องการันตี และความคิดที่ถูกถ่ายออกมาเป็นตัวหนังสือที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ มันอาจจะปลุกความเป็น Race Engineer ในตัวคุณให้ออกมาก็เป็นได้…
นับเป็นครั้งที่ 2 ในการทำคอลัมน์ My Name is… กลับไปถ่ายที่อู่ Big Dawg Racing ซึ่งครั้งแรกเป็น ท่านอาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ถ้าติดตามกันมาตลอดคงจำกันได้ และแขกรับเชิญ 2 คนล่าสุดนี้ ก็ยังคงเกี่ยวดองกับ อาจารย์ศิริบูรณ์ อีกเหมือนเคย เพราะเป็นศิษย์เอก โดย “คู่หู” ทั้ง 2 มีความชอบรถและมีความอยากที่จะรู้ในเรื่องที่หลายๆ คนมองข้าม โดยมองว่า ในทุกโปรเจ็กต์ที่ทำมันมี 2 ด้านเสมอ คือทั้งข้อดี และข้อเสีย เค้าทั้ง 2 เลือกที่จะอุดข้อเสียให้หมด ก็จะเหลือแต่ข้อดีทั้งหมด มันก็ทำให้อุปสรรคทั้งหมดละลายออกไป
ความรู้สึกแรกที่ได้กลับมาที่อู่ Big Dawg Racing อีกครั้ง รู้สึกประหลาดใจ เปลี่ยนไปจากตอนมาสัมภาษณ์อาจารย์ศิริบูรณ์ ครานู้นเป็นอย่างมาก ความชัดเจนของอู่ถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน อาทิ ห้องประกอบเครื่องก็มิดชิด ติดเครื่องปรับอากาศ ในด้านห้องทำงาน สั่งอะไหล่ก็แยกออกมาเป็นอีกห้อง และที่สำคัญ ในส่วนของพื้นที่เซอร์วิส ถูกกลบทับจนมองไม่เห็นพื้น เต็มไปด้วยรถแข่งหลากหลายคันที่กำลังเซอร์วิสรอล้อแตะพื้นแทร็กในเร็ววัน
สำหรับการถ่ายทำในครั้งนี้ เราได้มือดีมาช่วยจัดแสงและท่วงท่าต่างๆ โดยมี ฟลุ้ค ธัญญนนท์ แสงภู่ และ โอ พงศกร พรามแม่กลอง เป็นผู้จัดแฟชั่นเซ็ตนี้ ให้ออกมาได้อีกอารมณ์มันส์ และแตกต่างจากที่เคยเป็น โดยโจทย์ที่ถูกตั้งออกมาในการถ่ายทำครั้งนี้คือ “ศิลปะไม่ต้องการการตีกรอบ” ดังนั้น ภาพที่เห็น แสงที่ใช้ มันอาจจะไม่ได้ชัดเปรี๊ยะ สีสดๆ แต่อยากสื่ออารมณ์ให้ภาพที่ได้ออกมา ดูสนุก มีชีวิตชีวามากกว่าครับ ชายคนแรกที่ผมจะเปิดประเด็นถามคือ “คุณใหญ่ วศิน ตันติภักดิ์” หนุ่มหล่อ หน้าใส หัวใจมอเตอร์สปอร์ต และตามมาด้วย ฉายา เรียกขานในวงการว่า “อาจารย์จ๊อบ ณฐพงศ์ กลิ่นเกษร” ครับ
วศิน ตันติภักดิ์
ใหญ่ Big Dawg Racing หนุ่มเชื้อสายจีน ผิวขาว หน้าหล่อเหลา สำเนียงนุ่มๆ ได้เปิดเผยข้อมูลตัวเองให้ฟังผ่านเครื่องบันทึกเสียงถูกเรียบเรียงออกมาเป็นตัวอักษรว่า “ผมชอบรถมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนที่เรียนอยู่ก็ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับรถเลย ตั้งแต่ ปริญญาตรี ที่ ม.อัสสัมชัญ และ ปริญาโท ที่จุฬาฯ ก็ได้แต่แต่งรถซิ่งเล่นไปเรื่อยเหมือนกับชีวิตเด็กวัยรุ่นรถซิ่งทั่วไป รถที่ผมใช้เองก็เอาเข้าไปซ่อมและเซอร์วิสที่ “พี่เปาะ กีรเกียรติ เย็นมะโนช” ทีมสามมงกกุฎ จำได้ว่าในช่วงนั้นประมาณปี 1999-2000 พี่เค้าทำทีมแข่ง และมีรถแข่งเจ๋งๆ ทั้งนั้น ส่วนตัวผมเองก็ชอบรถเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็แวะเวียนไปมาหาสู่ที่ “สามมงกุฎ” อยู่บ่อยๆ จนกระทั่งผมเรียนจบ ก็ได้รู้จักกับเพื่อนคนนึงชื่อว่า “ม.ร.ว.อภิมงคล โสณกุล” ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่เค้าและผมกำลังหางานทำ ก็สนิทกันตามประสาคนชอบรถ โดยตัว “ม.ร.ว. อภิมงคล โสณกุล” เอง เค้าก็เคยเรียนขับรถแข่งอยู่แล้วที่อังกฤษ พอกลับมาอยู่เมืองไทยก็เลยอยากแข่งรถ มันก็เป็นช่วงเดียวกับรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ Thailand Grand Touring Car (TGTC) กำลังบูมมากในยุคนั้นพอดี ซึ่งตัว “ม.ร.ว. อภิมงคล” เค้าอยากแข่งในรุ่น Concept แต่ตัวเค้าเองก็ไม่มีเวลาว่างมาก เห็นตัวผมเองเป็นคนชอบรถก็เลยอยากให้มาช่วยจัดการระบบต่างๆ จัดสรรกระบวนการแข่งรถทั้งหมดให้หน่อย ซึ่งที่เค้าพูดมาทั้งหมด มันมีความหมายว่า “ผู้จัดการทีมแข่ง (Team Manager)” ซึ่งจุดนี้แหละ เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตในการเดินเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทย
เมื่อผมเริ่มจัดการระบบทุกอย่างลงตัว โดยเป็นผู้จัดการทีมให้ “ม.ร.ว.อภิมงคล” ลงแข่งขัน TGTC ในรุ่น Concept II ซึ่งลักษณะของรถแข่งจะเป็นกระดองครอ แชสซี ขับกลาง ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเค้าพอดี เพราะตัวเค้าเองชอบขับรถแข่งที่นั่งตรงกลาง (Single Seater) ซึ่งตอนนั้นมีรถแข่ง ตัวนักแข่ง กับผู้จัดการทีม ยังไม่มีทีมเซอร์วิส ผมเองในฐานะผู้จัดการทีม ก็เลยจำเป็นต้องหาทีมเซอร์วิสที่วางใจได้ โดยการไปของร้องให้ทางทีมสามมงกุฎ มาช่วยเซอร์วิสรถแข่งให้ครับ
หลังจากแมตช์นั้น ผมก็เดินสายมอเตอร์สปอร์ตแบบเต็มรูปแบบ ศึกษาเรื่องรถแข่งมาโดยตลอด เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ช่างคนโน้น คนนี้ ใครถนัดอะไร ประมาณนี้ ในช่วงแรกๆ ที่ผมเป็นผู้จัดการทีม บริหารเวลาให้กับคนนู้นคนนี้ ที่เค้าไว้วางใจให้ผมช่วยดูแลเบ็ดเตล็ดทั้งหมด ซึ่งเราเองก็รู้ แต่ว่าต้องดูตารางการแข่งขัน เช็กวันซ้อม ดูคิว นู่น นี่ นั่น เหมือนบริหารการจัดการให้กับทีมแข่ง ผมทำแบบนี้อยู่ประมาณ 3 ปี ในชีวิตของการเป็นผู้จัดการทีมแข่ง จนในวันนึงได้มารู้จักกับ “พี่จ๊อบ ณัฐพงศ์ กลิ่นเกษร” ที่มารู้จักกับ “พี่จ๊อบ” ได้ก็เพราะมาทำรถที่ “อู่ พี่เทิร์ก ชยุส ยังพิชิต” ซึ่งในตอนนั้นพี่เค้าเป็นคนดูแลเรื่องรถแข่งให้กับ “พี่เทิร์ก” และ “ทีม Singha” ในตอนนั้น ซึ่งตัวผมเองก็มีประสบการณ์จากสนามแข่งมาพอสมควร ก็ไปมาหาสู่แบบนี้อยู่ตลอด จนวันนึงก็ได้ตกลงทำธุรกิจร่วมกัน “นำของแต่งรถเข้ามาจากอเมริกา” น่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำของจากอเมริกามาขายในบ้านเรา ณ ขณะนั้นก็ไม่มีหน้าร้านแต่อย่างใด ก็นำเข้าสินค้ามาขายอย่างถูกต้อง มีลงโฆษณาตามนิตยสารชัดเจน
แต่เมื่อลองทำการค้าประเภทนี้ดูสักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่า “มันไม่ใช่ทาง” ผมกับพี่จ๊อบ ชอบเรื่องของรถมากกว่าการค้าขาย ร้านก็เลยไม่ได้ซีเรียสอะไรมากนัก ผนวกกับยุคของอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นอย่างชัดเจน ก็ทำให้ช่องทางการทำธุรกิจนำเข้าของแต่งมีคนสนใจและนำเข้ามาขายอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าต้องมาแข่งขันกันในเรื่องของราคา ซึ่งผมเองก็คิดว่าชักจะไม่สนุกแล้ว!! ต้องมาสต็อกของทีละเยอะๆ แย่งตลาดกันเอง ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็ไม่มีแค่กลุ่มเดียว ผมก็เลยตัดสินใจเดินทางถนัดเหมือนเดิม ในช่วงที่ขายของก็ทำรถควบคู่กันไป แต่พอหนทางที่ชอบมันมีความชัดเจนมากขึ้น ผมกับพี่จ๊อบก็เลยตัดสินใจทำรถแข่งเหมือนเดิม ณ ตอนนั้นรถที่ทำเป็นโปรเจ็กต์ค้างมานานตั้งแต่ขายของ เป็นรถ Toyota AE 101 กะว่าจะทำมาวิ่งควอเตอร์ไมล์ แต่ทำไปทำมามันก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เพราะผมเองเดินเข้าวงการนี้มาจากการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ (Circuit) และในวันนึง “คุณปู ปรัชญา ไชยกุล” ได้แนะนำให้รู้จักกับ “คุณบุรินทร์ ศรีตรัย” คือเค้าก็อยากแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ ให้กับลูกชายคือ “คุณติณห์ ศรีตรัย” ลงแข่งในรุ่น Super 1500 ผมกับพี่จ๊อบก็เลยมาขอยืมพื้นที่คาร์แคร์ของ “พี่อุ๋ย อำมาตย์ จิระนานนท์” จอดรถแข่งเซอร์วิส ของที่เคยสั่งมาขายก็ยังคงสั่งเรื่อยๆ เพราะต้องนำมาใส่รถแข่งที่เซอร์วิส ลูกค้าที่ไว้เนื้อเชื่อใจก็ยังคงเป็นลูกค้าประจำอยู่ เพราะเค้าเชื่อใจผมว่า “ผมกับพี่จ๊อบ เป็นคนเล่นของ ชอบศึกษา โดยจะพิจารณาของจากการที่เอามาแล้ว ตัวเราเองก็ใช้ด้วยเหมือนกัน ไม่เคยมองของที่ราคาถูกๆ ไม่มีคุณภาพ แล้วนำมาหวังผลทำกำไร”
หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่ด้านข้างคาร์แคร์เค้าขยายกิจการ แล้วย้ายออกไปเพื่อหาทำเลที่ใหญ่กว่า ผมกับพี่จ๊อบก็เลยตกลงจะเช่าพื้นที่ตรงนี้ต่อ เพราะจำนวนลูกค้าที่เค้าให้เราทำรถให้เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็น Big Dawg Racing อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งแต่เปิดเป็น Big Dawn Racing ก็ทำรถออกมามีผลงานให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น รถแข่งรุ่น Super 1500 รถ Honda S2000 ของ ติณห์ ศรีตรัย และ BMW E90 อีกคันไปวิ่งแข่งในรายการ Touring Car Series In Asia (TCSA) และก็มีลูกค้าเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ อาทิ Max EG ของทาง XO AUTOSPORT หรือ Toyota Altezza, Honda Jazz, Honda City, Nissan March ของ Team Eakie ซึ่งก็มีลูกค้าเข้ามาผมกับพี่จ๊อบอยู่เรื่อยๆ “ทาง BDR ไม่ใช่อู่ที่คิดค่าทำรถถูก… เราคิดราคาทำรถแพง เพราะเราไม่มั่ว” ผลงานที่ได้ออกไป เน้นเพื่อไปใช้ในสนามแข่งขันจริงๆ คือ เซอร์วิสง่าย ทุกอย่างจัดเป็นหมวดหมู่และเป็นระเบียบเรียบร้อย “ทำให้ดีที่สุดแค่ทีเดียว ดีกว่าต้องมานั่งปวดหัวแก้งานซ้ำไปซ้ำมา” ยกตัวอย่างเช่น จะต่อสายนี้เข้ากับรูนั้น แต่ว่ามันคนละเกลียว ก็ต้องต่อผ่านอแดปเตอร์ถึงจะเข้ากันได้ เราจะไม่ใช้ เราจะสร้างขึ้นมาใหม่ คือยอมเสียเวลามากกว่าเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ลดจุดอ่อนของรถให้น้อยลง ยิ่งถ้ามีพวกข้อต่อในรถเยอะๆ จุดอ่อนของรถคันนั้นก็มีให้แก้มากยิ่งขึ้น ผมยึดหลักการนี้ว่า “รถแข่งที่ดีต้องแข็งแกร่งทุกจุด เพราะรถต้องใช้งาน 100% เต็มประสิทธิภาพตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าคุณมีจุดอ่อนเพียง 1 จุด มันก็จะพานให้คุณพลาดชัยชนะได้เหมือนกัน”
นอกเหนือจากการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบในประเทศไทย งานต่างประเทศก็ต้องเดินทางไปช่วยดูให้เพื่อนๆกัน อาทิ ซูไห่ พี่จ็อบจะเป็นผู้ที่ไปดูแล ส่วนตัวผมเองก็จะไปทางสิงคโปร์และมาเลเซีย ก็จะไปช่วยดูแล R Engineering ลงแข่งขันรายการ Medaka Endurace ผมเองก็จะไปช่วยทีมเค้าดูเรื่องช่วงล่าง เซ็ตอัพรถแข่ง หรือแม้แต่วางแผนการแข่งขันของทีม เพราะรายการแข่งขัน 12 ชั่วโมง เรื่องช่วงล่างของรถเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยางที่เค้าใช้แข่งขันในรายการนี้ค่อนข้างหมดเร็ว ซึ่งถ้าเราวางแผนดี ใช้ยางได้ประหยัด ประโยชน์ที่ได้กลับมาก็คงเป็นเรื่องของเงิน แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ต้องเข้าพิตเพื่อมาเปลี่ยนยางบ่อย ประหยัดในเรื่องของเวลา
ณัฐพงศ์ กลิ่นเกษร
จ๊อบ Big Dawg อีกหนึ่งบุคลากรที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการทางเรียบมานานมาก ผู้ชายตัวเล็กๆ สวมแว่นตา ฝีปากแซบ เสียงแต่ละดอกที่ลอดออกมา มันเห็นภาพทันตา!! ได้เล่าชีวิตเค้าให้ผมฟังว่า “ตั้งแต่เล็ก พ่อ-แม่ไม่ได้ให้ของเล่นปกติ เหมือนเด็กๆ ทั่วไปเค้าเล่นกัน จะได้เล่นก็เป็นพวกของเล่นบังคับวิทยุทั้งหลาย รถ เรือ เครื่องบิน มีหมดเลย ก็ไม่ได้ร้องขอของเล่นพวกนี้เลยนะ แต่พ่อ-แม่ เค้าซื้อมาให้เอง เหมือนเค้าสนับสนุนให้ผมซึมซับเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็กๆ
ผมอยู่กับเครื่องยนต์กลไกมาตลอด ถึงแม้ว่าจะเป็นของเล่นก็ตาม จนกระทั่งมาในยุคที่เรียน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มันเป็นการจุดประกายเรื่องรถยนต์ให้กับผมเลย ผมเห็น “พี่เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” เป็น Idol เลย ขับ BMW E30 แม็ก 17 นิ้ว โหลดเตี้ย รถสวยมาก เห็นแล้วในใจคิดว่าต้องมีให้ได้ ซึ่งตัวผมเองมาเริ่มขับรถจริงๆ จังๆ ก็ตอนเรียนที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทางบ้านให้รถมา 1 คัน เป็นรถ Toyota Corolla AE92 จะเอาไปใช้ในทิศทางไหนก็เชิญตามอัธยาศัย มีข้อแม้ว่าไม่ซื้อให้ใหม่แล้วเท่านั้น ซึ่งผมเองเริ่มทำอย่างที่ต้องการคือ อยากเท่เหมือนอย่าง “พี่เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” คือแต่งรถสวยๆ ขับเฟี้ยวๆ แต่พอเอาเข้าจริง มันไม่ใช่!!! พอได้ลองฟีลลิ่งนี้แล้วมันไม่ตอบสนองอารมณ์ ผมชอบการ Performance มากกว่า ก็เลยเอารถไปโมดิฟาย เปลี่ยนเครื่องเป็น 4A-GZE ก็แล้วยังไม่แรงสมใจซะที คือผมเป็นคนที่เล่นอะไรแล้วมันต้องสุดๆ ไม่รู้จักใครที่ทำรถเลยก็ว่าได้ ถามคนนู้นคนนี้เรื่องเครื่อง 4A – GZE ว่าใครคือที่สุด ทุกคนในตอนนั้นตอบเหมือนกันหมดว่า “อาจารย์ก๊อง” มือ 1 โตโยต้าเมืองไทย ก็เลยคิดว่าอย่าไปเสียตังค์อื่นเลย ไปเสียตังค์ที่ “อาจารย์ก๊อง” ตรงประเด็นไปเลยดีกว่า จ่ายทีเดียวจะได้จบๆไป ไม่ต้องไปหาใครอีกแล้ว ซึ่งทำไปทำมาจากลูกค้าก็กลายเป็น “เด็กอู่” รถที่พ่อแม่ให้มาก็ขับไม่ได้แล้ว “โมฯเต็ม” ต้องให้อาศัยรถที่บ้านไปเรียนแทน
ถ้านับ “อาจารย์ก๊อง” ก็ถือเป็นอาจารย์คนแรกของผมนะ ที่คอยปูพื้นฐานงานช่าง แบ่งแยกประเภทของงานที่ช่างควรจะต้องทำคืออะไร และอาจารย์ท่านถัดมาที่ “อาจารย์ก๊อง” แนะนำให้ผมได้รู้จักคือ “อาจารย์ ศิริบูรณ์ เนวถิ่นสุข” ท่านเป็นคนน่ารักมาก บางวันคุยกันเพลินๆ 6-7 ชั่วโมงติดต่อกันเลยนะ ได้คุยเรื่องที่ Advance มากๆ ได้ความรู้จากอาจารย์มาเยอะ ผมว่าน้อยคนนะที่จะฟังแล้วจะเข้าใจ คือเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่ฟังอย่างเดียว มันต้องคิดตามตลอด ถึงจะเข้าใจ ผมก็ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้กับผมในตรงนั้น
จากชีวิต “เด็กอู่” ได้วิชาจาก “อาจารย์ก๊อง” มา ก็ได้เข้าวงการทางเรียบโดยการมาเจอกับเพื่อนซี้ที่เพิ่งกลับจากเมืองนอก “เทิร์ก ชยุส ยังพิชิต” เค้าอยากแข่งรถก็ช่วยทำรถให้เค้าแข่งจนประสบความสำเร็จในปีนั้น ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเชื่อมโยงให้ผมเค้าไปรู้จักกับ “ทีม Singha” เพราะผู้ที่ให้การสนับสนุน “เทิร์ก ชยุส ยังพิชิต” คือ “คุณจิ๊บ ธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี” แล้วหลังจากที่เห็นผมทำรถแข่งแล้วประสบความสำเร็จ “คุณจิ๊บ ธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี” ก็วางใจให้ผมช่วยทำรถแข่งของเค้าอีกคัน ซึ่งผมเองก็ถามว่าต้องแข่งกับใครบ้าง “เพราะถ้าจะแข่งรถก็ต้องไปให้ถึงที่สุดนะ แซงได้ทุกคัน แต่ถ้าคิดว่าไปได้ไม่เต็มที่ ผมก็ไม่มีกำลังใจทำรถให้นะ” ซึ่งเค้าเองเมื่อได้ยินผมบอกไปแบบนี้ก็กลับไปคิดอยู่ 2 วัน และก็ได้คำตอบมาว่า “ผมอยากชนะ”
ผมได้มีโอกาสไปประชุมนักแข่งเห็นคนในวงการหลายๆ ท่านซึ่งเคยเห็นแต่ในทีวี หรือ ตามนิตยสารรถ ผมเองคิดว่าเราต้องชนะ!! ก็กลับมาตั้งสติรวบรวมประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อที่จะทำแข่ง Concept Car ให้ชนะอย่างที่ “คุณจิ๊บ’ ต้องการ หลังจากนั้นผมก็เข้าไปทำรถให้กับ “Singha Team B” ซึ่งทาง “Singha Team A” ใช้ชุดทีมช่างจากญี่ปุ่น กับ พี่เรือง ส่วน “Singha Team B” ที่ผมทำมีช่างทำเรือ ช่างทำรถแรลลี่ มาช่วยทำรถโดยมีผมเป็นคนคุมทั้งหมด เป็นเพราะว่าทีมเราค่อนข้างเล็กและใหม่ ก็เลยไม่ค่อยน่าจับตามอง ผมเองก็ชวน “หวั่นจ๋าย” เพื่อนผมมาร่วมด้วย ซึ่งผมก็ทำให้ “คุณจิ๊บ ธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี” เป็นแชมป์ประเทศไทยในปีนั้นเลย เป็นไปตามที่เค้าต้องการ!!!
จนในวันนี้ผมเองได้อะไรหลายๆ อย่างในการทำทีมแข่งมาจาก “คุณจิ๊บ ธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี” และ “คุณหนู ชญานิน เทพาคำ” เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับเค้าทั้ง 2 โดยตรง เค้ามีวิสัยทัศน์ในการเป็น “ผู้นำที่ดี” วิธีการคุมดูแลลูกน้อง ผมนำมาใช้กับลูกน้องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าถามผมว่าอยากชนะอะไรอีกมั้ย? ผมก็คงตอบว่าไม่แล้วล่ะ ในเขต South East ผมก็พาทีมที่ผมไปบริหารดูแลชนะมาหมดแล้ว อาทิ การแข่งขัน Endurance รายการ Merdeka ที่มาเลเซีย ก็ชนะที่ 1 และ ที่ 2 ส่วน China Touring Car ผมก็พาทีมที่จีนชนะ มาที่ มาเก๊า ก็ชนะอีกเหมือนกัน ในปีที่แล้วก็ชนะในรายการ Touring Car Series In Asia (TCSA)
ส่วนผมเองมาเจอกับ “ใหญ่ วศิน ตันติภักดิ์” ตอนที่ช่วงแข่ง Concept Car ตอนนั้นเค้าดูแลทีมให้กับ “ม.ร.ว.อภิมงคล โสณกุล” ผมได้คุยกับเค้าและได้ยินคำว่า “Ackermann Effect” จากปากของเค้าเมื่อ 10 ปีก่อน ในสนามพีระฯ ซึ่งผมว่าน้อยคนนักที่จะพูดถึงตรงนี้ ผมคิดเลยว่า “เค้าต้องไม่ธรรมดา” อย่างแน่นอน ในขณะที่เค้ามีอายุน้อยกว่าผมถึงสิบปี แต่เค้ามีความรู้เท่าๆ กับผมเลยนะ ใหญ่เค้าชำนาญในการเลือกหาอุปกรณ์ให้เหมาะสมต่อการแข่งขันแต่ละประเภท หลักๆ จะเป็นของแต่งจากอเมริกา เพราะว่าจากประสบการณ์ที่ผมเห็นรถทีมแข่งจากญี่ปุ่น คาดแบรนด์มาเต็มเหนี่ยว ลองเข้าไปดูสิ มีของ Performance มีแต่มาจากอเมริกา ทั้งๆ ที่ราคาของญี่ปุ่นกับอเมริกา ราคาไม่หนีกันเท่าไหร่ แต่คุณภาพเหนือกว่า ผมก็เลยเลือกแต่ของอเมริกามาใช้
Big Dawg Mention Thailand Motorsport
จากประสบการณ์มอเตอร์สปอร์ต ทั้งในประเทศและนอกประเทศของคู่หู BDR Racing ใหญ่ – จ็อบ มองถึงมอเตอร์สปอร์ตในบ้านเราว่า “อยากจะให้มีโรงงานผลิตเครื่องยนต์สัก 2 แบรนด์ ที่บอกแบบนี้เพราะว่านักแข่งไทยค่อนทะนงตัวว่า คู่แข่งต่างประเทศที่เป็นเอเชียด้วยกัน อาทิ ฮ่องกง, จีน ไม่เท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ใช่ จริงอยู่ แต่ที่นั่นไม่มีสนามแข่ง เค้าไม่มีที่ซ้อม จะซ้อมทีก็ยกรถมาที่ประเทศไทย หรือไม่ก็มาเลเซีย ซึ่งต่างบ้านเรามีสนามได้ซ้อมกันบ่อยๆ
แต่เดี๋ยวมันไม่ใช่แล้ว จีนมีสนามแข่งรถถึง 5 สนาม เรียกว่าจะเป็นเมืองหลวงของรถแข่งอยู่แล้ว มีทุกๆอย่าง เม็ดเงินก็มหาศาล บางทีมที่เคยไปดูแล ก็สปอนเซอร์กันเบา 50 ล้านหยวน หรือเป็นเงินไทยก็ 250 ล้านบาท ชุดทีมช่างเค้ามี 2 กะ คือกลางวัน 1 ชุด กลางคืน 1 ชุด เรื่องฝีมือนะ ผมมองว่า “ไม่มีใครเหนือชั้นกว่าใครหรอก เก่งพอๆกัน” แถมทุนเค้าสูงกว่าด้วย ในยุคนี้จีนแข่งรถทีเค้าอิมพอร์ตรถนอกมาหมดแล้ว แถมแมคคานิกก็ให้ทีมฝรั่งมาดูแล ตัวคนจีนเองเค้าก็เรียนรู้ได้เร็วกว่า เราแล้ว
ส่วนทีมไทยผมเห็นว่ามีเก่งๆกันหลายทีมนะ แต่ก็กระจุกอยู่กับ 3-4 ทีม ระดับท็อปๆ เท่านั้น อย่างเด็กที่เข้ามาใหม่ๆ ที่ต้องการทำเป็นรถแข่งจริงๆก็มี 10% เท่านั้น ส่วนที่วิ่งๆกันอยู่ก็คือ “เอารถซิ่งมาวิ่งสนาม” ผมว่ามันไม่ใช่นะ คือไม่ได้หมายความว่า รถซิ่งถนน แล้ววิ่งสนามด้วยนะ ที่ผมหมายถึงก็คือ “เทคโนโลยี หรือ อุปกรณ์ Performance ที่ใช้มันผิดวัตถุประสงค์” คือเลือกของที่ใช้บนถนนมาใช้กันในสนามแข่ง อาทิ โช้คซิ่งๆ ที่ปรับค่าได้ ก็คิดกันเองว่านำมาวิ่งในสนามแข่งได้แล้ว แต่อันที่จริงแล้วโช้คที่ใช้สำหรับในสนามแข่งขันมันไม่สามารถนำไปวิ่งใช้งานบนถนนได้เลยครับ!!!
ในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆลงไปสู่อู่รถในเมืองไทยยังน้อยมาก ความชัดเจนในการแบ่งแยกหน้าที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ อาทิ ช่าง, เจ้าของอู่ หรือคนที่เป็นหัวคิด มันไม่ได้แยกออกเป็นส่วนๆ อย่างทีมแข่งในต่างประเทศ แต่ละคนก็มีหน้าที่ประจำเป็นคนตัวเอง แต่ในบ้านเรากลับกันกลายเป็น 1 คนมี 3 หน้าที่ มันก็เลยไม่มีความพัฒนาจากหน้าที่ของตัวเองที่รับผิดชอบอยู่เกิดขึ้น
อย่างเมืองนอก คุณไปสมัครแข่งขัน เค้าใช้ชื่ออู่ หรือชื่อทีม เป็นตัวสมัครไม่เกี่ยวกับชื่อสปอนเซอร์ เวลาไปแข่งคือไปในนามของทีมหรืออู่ ส่วนสปอนเซอร์ก็แค่โปรโมตอยู่บนตัวรถเท่านั้น คือนักแข่งก็หาสปอนเซอร์เองมาได้ด้วย ส่วนตัวตัวอู่หรือทีมก็หาสปอนเซอร์ มาได้ด้วยอีกทางนึง มันถึงจะสนับสนุนให้วงการก้าวไปอีกขั้น ไม่งั้นอู่ที่ทำรถให้ก็ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คุณไปแข่งรถเคยได้ยินชื่อ ดอน เรซซิ่ง เรือง เรซซิ่ง ใหญ่ – จ๊อบ เรซซิ่ง บ้างมั้ย? คนเหล่านี้คือคนที่อยู่เบื้องหลังทำให้รถวิ่งได้ กับกลายมีแต่ชื่อสปอนเซอร์ทั้งนั้น คนที่เข้ามาวงการใหม่ๆ เค้าก็ไม่รู้หรอกว่ารถคันนี้ใครทำ คุณลองไปดู ฟอร์มูล่าวันนะ อาทิ ทีมแม็คลาเลน คุณไม่รู้หรอกว่ารถเป็นยี่ห้ออะไร แต่คุณรู้ได้ว่าทีมนี้เก่ง เพราะว่าชื่อทีมจะเป็นตัวโฆษณาว่า “ใครเป็นคนทำรถ” เพราะฉะนั้น ทีมแข่งในเมืองไทยมันจึงโตยาก เพราะคุณเก่งอยู่แต่ในวงการ คนข้างนอกไม่มีใครรู้จักหรอกว่าทีมคุณเก่ง หรือใครเป็นคนทำรถคันนี้ อาทิ พี่เรือง พี่เผือก พี่ดอน หรือใครอีกหลายคนก็ตาม เค้าจะรู้มั๊ย?
อย่างเมืองนอกจะแข่งรถ เครื่องยนต์ Honda เหรอ ก็สำเร็จจาก Neil Brown หรือถ้า BMW ก็ BMW Motorsport เลย อยู่ที่ชอบค่ายไหนก็ซื้อสำเร็จมา แล้วจูนไปแข่งได้เลย ผมมองว่า อนาคตเมืองไทย ก็น่าจะเป็นแบบนี้ มีหลายที่ ทำเครื่องสำเร็จออกมาขาย มันจะได้ลดงานของอู่ลงด้วย คือซื้อเครื่องสำเร็จจากอู่ที่ศรัทธาไปเลย จบด้วย ตอนนี้ในประเทศจีนเป็นแบบนี้แล้ว คือ แบรนด์ทำเครื่องก็ลุยเรื่องเดียวเลย แบรนด์ไหนถนัดเกียร์ก็ลุยแต่เกี่ยร์ แบ่งแยกชัดเจนกันไป มันก็จะแตกแยกไปตามความถนัดของแต่ละอู่แต่ละแบรนด์ ก็จะเกิดการแข่งขันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ซึ่งทาง BDR ก็เริ่มปรับแนวทางให้ไปเป็นในจุดนั้นแล้ว อย่างเช่น เครื่องยนต์ D15 และ L15 ทางเราก็มีลูกค้าวนประกอบต่อเนื่องอยู่ 6 คัน เคยถามลูกค้าที่เอาเครื่องมาให้เราประกอบให้เค้าบอกว่า “มันไม่เสียเวลา และอีกอย่างก็ไม่ชำนาญเรื่องเครื่อง D15 เหมือนที่นี่ด้วย และอีกอย่างคือค่าใช้จ่ายก็พอๆ กับเอาไปประกอบเอง ก็เลยเลือกที่เป็นมืออาชีพไปเลย เสียเงินพอๆกับทำเอง แต่ครั้งเดียวจบ” ซึ่งก่อนที่คุณจะชนะได้นั้น “คุณต้องวิ่งให้จบก่อนครับ”
ตั้งแต่ผมทำคอลัมน์นี้ ย่างก้าวสู่ปีที่ 2 ได้คุยได้สัมผัสกับหลายๆท่าน ได้คลุกคลีอยู่ตรงนี้ ส่วนตัวผมเองคิดว่า ถ้าคุณอยากแข่งรถ อยากประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ ผมว่า Big Dawg Racing เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสานฝันไปสู่ความสำเร็จได้ครับ
BIG DAWG RACING โทร. 08-1456-0123, 08-1813-5305