ขับแล้ว! All-new Honda CR-V เทอร์โบดีเซล i-DTEC 1.6 ลิตร ออปชั่นครบ 7 ที่นั่ง-พร้อมท้าชิงตลาด PPV

 

กลายเป็นธรรมเนียมของฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ในการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดก่อนที่รถยนต์ของพวกเขาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยครั้งนี้เป็นการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซล i-DTEC Diesel Turbo 1.6 ลิตร ที่มาพร้อมระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีดที่จะถูกใช้งานเป็นครั้งแรกใน All-new Honda CR-V เจเนอเรชั่นที่ 5 ของรถคอมแพ็กต์เอสยูวียอดนิยม

หลายคนอาจสงสัยหรือไม่รู้เลยว่า Honda มีการผลิตรถยนต์เครื่องดีเซลขาย ความจริงมีมานานมาก และได้รับความนิยมสูงในแถบยุโรปอีกด้วย แต่ที่เพิ่งนำเข้ามาเปิดตัวในบ้านเราผู้บริหารของพวกเขาอธิบายว่าเกิดจากความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ในประเทศไทย และอีกเหตุผลสำคัญคือเสียงเรียกร้องจากกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถ CR-V ที่อยากให้นำเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาขาย ทำให้ตัดสินใจเปิดตัวพร้อมการเปลี่ยนโมเดลใหม่ โดยมีการใส่เบาะนั่งแถวสามเพิ่มกลายเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่งพร้อมข้ามไปแข่งในกลุ่มรถกระบะดัดแปลงหรือ PPV อีกด้วย

การขับทดสอบมีขึ้นที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเป็นการขับแบบปล่อยอิสระไม่มีการวางกรวยยางกำหนดจุดเบรกหรือส่งสต๊าฟฟ์มาคุมความเร็วไม่ให้เกินกำหนด เพื่อจะได้สัมผัสสมรรถนะเครื่องยนต์ 1.6 i-DTEC Diesel Turbo ที่มีกำลังสูงสุด 160 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที และมีแรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบต่อนาที อย่างเต็มที่ตลอดการขับ 2 รอบสนาม

ตามข้อมูลที่วิศวกรชาวญี่ปุ่นของ Honda อธิบายเครื่องยนต์ i-DTEC Diesel Turbo ใช้การควบคุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่แม่นยำรวดเร็ว เพื่อให้การตอบสนองทั้งกำลังแรงบิด และอัตราเร่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ขับขี่ ประกอบด้วยเทอร์โบชาร์จเจอร์ 2 ตัวที่ทำงานในช่วงแรงดันสูง (High Pressure Turbo) และในช่วงแรงดันต่ำ (Low Pressure Turbo) โดยจะทำงานร่วมกันตั้งแต่รอบต้นที่ต้องการอัตราเร่งเพื่อใช้ในการออกตัว

การขับทดสอบสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มีทางตรงยาวๆ ให้ทดลองอัตราเร่ง 3 ช่วง ทำให้สัมผัสได้ว่าเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลของ Honda ขับสนุกไม่แตกต่างจากเครื่องยนต์ดีเซลของรถยนต์คู่แข่งสัญชาติเดียวกัน โดยเฉพาะอัตราเร่งช่วงกลางจาก 80-120 กม./ชม. เรียกว่ามาตามสั่งแบบไม่น้อยหน้าใคร

ส่วนหนึ่งมาจากการติดตั้ง Variable Geometry Turbocharger (VGT) ไว้ที่ High Pressure Turbo เพื่อช่วยในการตอบสนองต่ออัตราเร่งในช่วงรอบต้น และลดการสูญเสียกำลังของเครื่องยนต์โดยไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมัน เมื่อต้องการอัตราเร่งในช่วงความเร็วสูง Low Pressure Turbo ที่ควบคุมการทำงานผ่าน Waste Gate Type Turbocharger จะเข้ามาช่วยเสริมเพื่อให้ได้กำลัง และแรงบิดที่สูงขึ้นในการขับขี่ โดย High Pressure Turbo และ Low Pressure Turbo จะมีการสลับการทำงานในช่วงกลางที่ความเร็วคงที่ เมื่อระบบทำงานผสานกันจะให้ประสิทธิภาพเพื่อการเผาไหม้อย่างสูงสุด

ข้อดีอีกอย่างของการขับในสนามแข่งคือการได้ทดสอบช่วงล่าง และการเกาะถนน สนามแข่งที่บุรีรัมย์ ขึ้นชื่อในความยากของการเข้าโค้ง แต่ All-New CR-V มีขนาดยางที่ใหญ่ขึ้น (235/65R17/ 235/60R18) เปลี่ยนระบบกันสะเทือนหลังเป็น E-type Multilink โดยระบบกันสะเทือนหน้ายังเป็น MacPherson Strut พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ E-DPS ใหม่ที่ทำงานโดยเปลี่ยนการควบคุมการส่งกำลังไปยังล้อหลังด้วยระบบไฟฟ้า ตอบสนองการทำงานได้รวดเร็วพร้อมให้แรงบิดที่ล้อหลังสูงขึ้น เพิ่มความแม่นยำของการปรับแรงบิดที่ล้อหน้า และล้อหลังให้สมดุล เสริมด้วยระบบเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ (Agile Handling Assist; AHA) และระบบช่วยควบคุมการบังคับพวงมาลัย (Motion-Adaptive Electric Power Steering; MA- EPS) ให้การทรงตัวขณะขับขี่ที่ดีเยี่ยมในการเข้าโค้ง รวมทั้งเวลาเจอทางลาดชัน

อีกความใหม่ที่ Honda ต้องการโปรโมตกับคอมแพ็กต์เอสยูวียอดนิยมรุ่นนี้คือการนำระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีดมาใช้งานเป็นครั้งแรกเหมือนในรถแบรนด์พรีเมียมของทางฝั่งยุโรป ประโยชน์ของอัตราทดเกียร์ที่มากขึ้นช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ และทำให้รถมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น แต่ในการใช้งานจริงที่คนขับส่วนใหญ่สัมผัสได้คือการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล ไม่รู้สึกว่ารถกระตุกเวลาเหยียบคันเร่งเพื่อทำความเร็ว ลดเสียงรบกวนในให้ห้องโดยสาร และเมื่อรวมกับเครื่องยนต์ i-DTEC Diesel Turbo ทำให้อัตราประหยัดน้ำมันอยู่ที่ 18.9 กิโลเมตร/ลิตร หากเทียบกับเจเนอเรชั่นก่อนในรุ่นท็อปสุด CR-V 2.4 EL 4WD อัตราประหยัดน้ำมันอยู่ที่ 12.5 กิโลเมตร/ลิตร (ทดสอบในสภาวะรวมตามข้อมูลอีโคสติ๊กเกอร์)

ในส่วนของห้องโดยสารภายในมีการใช้วัสดุคุณภาพสูงขึ้น และหน้าจอแสดงผลแบบใหม่ที่ให้ความรู้สึกพรีเมียมมากกว่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปจนอาจทำให้คนที่ซื้อ All-new CR-V รู้สึกไม่ชินในช่วงแรกคงจะเป็นการเข้าเกียร์ หลังจากใช้ระบบสวิตช์เกียร์เข้ามาแทน เพียงแค่กดปุ่มที่ตรงตำแหน่ง D (Drive) สามารถออกรถได้เลย เช่นเดียวกับเวลาจอดเพียงแค่กดปุ่ม P (Parking) หรือ N (Neutral) แต่มีการป้องกันความสับสนเวลาใส่เกียร์ถอยหลัง (R) จะต้องดึงปุ่มเข้าหาตัว

ตำแหน่งนั่งเบาะแถวสองสามารถเลื่อนหน้า-หลัง และปรับเอนได้ โดยมีช่องแอร์ตรงกลาง และช่องเสียบ USB 2 จุด โดยด้านหน้าจะมีให้ 1 จุด ส่วนที่นั่งแถวสามทีมงานของ Honda อธิบายว่าที่มีการติดตั้งเพิ่มใน All-new CR-V ที่ขายในบ้านเรา ทั้งที่ในสหรัฐฯ ยังเป็นแบบ 5 ที่นั่งเหมือนรุ่นก่อน เป็นอีกจุดขายเพื่อข้ามไปแข่งขันในกลุ่มรถยนต์เอสยูวีขนาดใหญ่ (PPV)

แต่ที่นั่งแถวสามหากต้องเดินทางไกลๆ คงไม่เหมาะกับผู้ใหญ่ที่สูงเกิน 180 ซม. ด้วยการที่ไม่เหลือพื้นที่เหนือศีรษะ และระยะวางขา แต่หากเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็กถือว่าโอเค มีตำแหน่งให้ล็อกเบาะนั่งเด็ก (Car Seat) และไม่ต้องกลัวว่าลูกของคุณจะร้อนเพราะมีช่องแอร์ด้านบนหลังคาพร้อมสวิตช์เปิด-ปิดแยกช่วยให้ความเย็นได้อย่างทั่วถึง

ออปชั่นใหม่ที่เชื่อว่าคงถูกใจหลายคนโดยเฉพาะบรรดาสาวนักชอปคงเป็นระบบ Hands Free Access Power Tailgate ที่เพียงคุณพกกุญแจรถ All-new CR-V ไว้กับตัวสามารถยื่นเท้าเข้าไปบริเวณใต้กันชนหลังเพื่อให้ประตูท้ายเปิดขึ้นมาเช่นเดียวกับตอนปิด เหมาะกับเวลาที่ต้องหอบหิ้วของพะรุพรัง และหากมีของขนาดใหญ่จนต้องพับเบาะแถวสามจะมีแผ่นรองเพื่อให้ระดับของพื้นเท่ากันอีกด้วย ถือว่าใส่ใจรายละเอียดมาก

อย่างไรก็ตาม All-new Honda CR-V ไม่ได้มีเพียงแค่เครื่องยนต์ดีเซล i-DTEC Diesel Turbo แต่จะมีเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตรเหมือนในรุ่นก่อนเป็นอีกตัวเลือก ทั้ง 2 เครื่องยนต์จะมีทั้งรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ และขับเคลื่อนสี่ล้อ โดยความพิเศษอื่นๆ และราคาอย่างเป็นทางการรอติดตามได้ในงานเปิดตัวที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา วันศุกร์ที่ 24 มีนาคมนี้

เรื่อง พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)