เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
โปรย : ARAB STYLE
เปิด (กระ) โปรง FORTUNER F55 Open
“9 sec” คันแรกในไทย จาก เสี่ยต้น ดูไบ Collab. ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก
สำหรับ XO autosport ฉบับนี้ จะมีคอนเซปต์ที่แปลกไป เป็นการเน้นรถสไตล์ SUV อเนกประสงค์ ที่ตอนนี้กำลังนิยมมาก ไม่ว่าจะแต่งไว้เพื่อขับใช้งานหล่อๆ แต่ก็จะมี “สายแหวก” เอารถ SUV ที่คนส่วนใหญ่ไว้ “จ่ายกับข้าว รับ–ส่งลูกเมีย” มาโมดิฟายแรงๆ วิ่ง Drag กันไปเลย เนื่องจากรถ SUV ที่มีพื้นฐานจากรถกระบะ (ในประเทศไทย มีอีกชื่อ คือ PPV หรือ Pickup Platform Vehicle) สิ่งที่ได้มาแน่ๆ คือ “เครื่องดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ” ที่บ้านเราถนัดในการ “เสกม้า” อยู่แล้ว จึงมีความแรงที่ไม่ธรรมดา และคนไทยก็นิยมใช้รถพวกนี้อยู่มาก จึงเป็น “กระแส” มาแรง ณ บัดนาว อย่างนี่ FORTUNER F55 Open ที่วิ่ง 9 วินาที คันแรกในไทย ของ “เสี่ยต้น ดูไบ” ที่ผ่านการโมดิฟายจาก “ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก” ในแบรนด์ BYP มาดูกัน ว่าทำยังไงถึงส่งเจ้า ARAB STYLE ร่างใหญ่ๆ โย่งๆ แบบนี้ เข้าเส้นไปด้วยเลขตัวเดียวได้ ครั้งนี้มาชม “สาระเบาๆ” แต่ยังคง “ความรู้คู่บันเทิง” ไว้อ่านชิลชิล ต้อนรับความหนาวปลายปี…
จากรถบ้าน สู่รถแข่ง
จากเดิม “เสี่ยต้น ดูไบ” เจ้าของรถ ก็มีเจ้า “จูน” ไว้ใช้งานทั่วไปนี่แหละ ก็ตามประสาวัยรุ่น มันต้อง “จัดแรงหน่อย” กับ “ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก” ก็เพิ่มสเต็ปไปเรื่อย เอาไปวิ่งแข่งในสนาม ไปๆ มาๆ เราเป็น “อาหรับสไตล์” อยู่เฉยๆ ได้อย่างไร ไหนๆ ก็จะทำแรงแล้ว ต้อง “ดันให้สุด” ประกอบกับกระแส SUV Drag กำลังมาแรง ประกอบกับมีรุ่นแข่งขัน F55 Open ที่ใส่กันได้เต็มเกือกอีกด้วย เลยตัดสินใจหันหัวเดินหน้าสู่ความฝัน…
“เบา” อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ
คำว่า “ไล่เบา” เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน เนื่องจากรถแนวๆ นี้ จะมีน้ำหนักมากถึง 1.8-2 ตัน (แล้วแต่ขับสอง ขับสี่) คงเป็นอุปสรรคพอสมควร ถ้าต้องการสมรรถนะ เราจะทำอย่างไร มันมีสองทาง…
- ลดน้ำหนักไม่ได้ ต้องเพิ่มแรงม้ามากๆ : แน่นอนครับ ถ้าเราไล่เบาไม่ได้ อยากแรงก็ต้องเพิ่มแรงม้าให้มากๆ เข้าไว้ แต่ต้นทุนการโมดิฟายจะสูง เสี่ยงพังมากขึ้น ทั้งเครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลัง ที่ต้องรับภาระหนัก ถ้ารถหนัก เครื่องไม่พัง ระบบส่งกำลังก็จะพังก่อน เวลาเรา “จอดออก” หรือ Standing Start จากจุดหยุดนิ่ง ช่วงจังหวะปล่อยคลัตช์ เครื่องส่งกำลังไปยังเกียร์ ออกไปยังเพลา ไปยังล้อ รถหนักจะออกตัวได้ยาก เพราะ Traction มันมากเกินไป ทำให้เกิด “แรงเครียด” ที่ระบบส่งกำลัง ถ้าทนไม่ไหวก็ “พร้อมแตก” เฟืองกับเพลานะ อย่าคิดมาก…
- ลดน้ำหนักลง ใช้แรงม้าพอดีๆ : เป็นทางที่ต้องทำ เพราะถ้า “วิชาตัวเบา” สำเร็จ เราก็จะลดภาระทุกอย่างลง เครื่องก็โมดิฟายแรงม้ามากแบบพอดีๆ ไม่ต้องบ้าพลังมากไปจนเสี่ยงพัง และไม่เป็นภาระกับระบบส่งกำลัง จึงทำให้เป็นสูตรสำเร็จของการเพิ่มความเร็ว ในบางครั้ง รถที่แรงม้าเยอะ แต่น้ำหนักมาก ก็อาจจะแพ้รถน้ำหนักเบา แต่ได้แรงม้าพอดีๆ เราลองมาคิดเล่นๆ กันดู…
- แรงม้าต่อน้ำหนัก : ฝรั่งเรียกว่า “Power Weight Ratio” คิดง่ายๆ โดยการ “เอาน้ำหนักรถตั้ง หารด้วยแรงม้า” อย่างเช่น รถหนัก 2,000 กก. (บอดี้ SUV เต็มๆ) มี 600 แรงม้า หารออกมาได้ 3.33 เท่ากับว่า แรงม้า 1 PS ต้องแบกน้ำหนัก 3.33 กก. แต่ถ้าเราลดน้ำหนักลงเหลือ 1,500 กก. หารออกมาแล้วเหลือ 2.5 กก. แรงม้าเท่าเดิม แต่ภาระน้อยลง “เร็วขึ้น” แน่นอน…
- “ไล่เบา” ไม่ใช่จะดีทุกจุด : อันนี้ก็ต้อง “ระวัง” หน่อย เพราะการที่จะ “ตัดน้ำหนัก” ออก ก็ต้องพิจารณาว่า “ตรงไหนควรเอาออก ตรงไหนควรเอาไว้” อย่างน้ำหนัก มันก็จำเป็นในบางอย่าง เช่น “ล้อขับเคลื่อน” ที่ต้องมีน้ำหนักกดเพื่อสร้าง Traction หรือ “การยึดเกาะ” เพื่อให้ออกตัวได้ดี และอย่าไปตัดตัวถังใน “จุดที่ต้องรับแรงมากๆ” เพราะถ้ามันไม่แข็งแรง จะยิ่งทำให้ “รถเบี้ยว” เสียการทรงตัว ส่วนอื่นๆ ก็ลดกันได้ตามสะดวก อย่าลืมนึกถึงความแข็งแรง แต่บางคนก็ลดให้เบากว่ากติกากำหนด แล้วไป “ถ่วง” ในจุดที่ต้องการน้ำหนัก การถ่วงก็ควรจะ “ถ่วงในจุดที่ต่ำ” ไม่ควรมาอยู่ในห้องโดยสาร ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ต้องถ่วงในห้องโดยสาร ก็จะต้องยึดวัตถุนั้นให้แน่นหนาด้วย “นอต” ไม่ใช่วางไว้เฉยๆ หรือเอาเชือกมาผูกไว้ เพราะเวลาเกิด “อุบัติโหด” รถชน ฟาด กลิ้ง ไอ้ที่เราเอามาถ่วงนั่นแหละจะ “บิน” มาโดนกบาลคนขับ หรือเหวี่ยงทะลุมานอกรถ ทำอันตรายกับคนรอบด้านได้ ด้วยความปรารถนาดี…
1KD + F55 แรงกำลังดี
สำหรับการโมดิฟายเครื่องยนต์ เป็นขุมพลัง 1KD-FTV ขนาด 3.0 ลิตร ตรงรุ่น ซึ่งจะโมดิฟายโดย “ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก” หรือ BYP เป็นที่รู้กัน จริงๆ คันนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก ช่างแจ๊ค บอกว่า “เป็นสเต็ปเริ่มต้นครับ ยังหาทรงรถอยู่ก่อน เลยไม่ได้ทำอะไรมาก ค่อยๆ เพิ่มไปทีละสเต็ป” อุปกรณ์โมดิฟาย ก็จะทำ “รอบด้าน” โดยหลักๆ ก็จะเป็นของ BYP ซึ่งย่อมาจาก “บางหญ้าแพรก” เป็นแบรนด์สินค้าที่เรียกกันง่ายๆ เช่น แคมชาฟต์, ปั๊มโยง 3 โรเตอร์, ปะเก็นแก้น้ำดัน, ท่อร่วมไอดี, เฮดเดอร์ ส่วน “ท่อนล่าง” ก็ใช้ลูกสูบ 1KD-FTV แต่เป็นลูกโอเวอร์ไซซ์ 0.50 มม. หรือ “ลูกห้าสิบ” ที่นิยมเรียกกัน ก้านสูบเดิม โมดิฟาย “แต่งรูทางเดินน้ำมัน” โดย BYP ข้อเหวี่ยงเดิม Balance ใหม่…
เกียร์ออโต้ YA SERVICE ต้นตำนาน + หมู ออโต้ซิ่ง
โดยปกติ SUV เหล่านี้ ก็มักจะเป็น “เกียร์ออโต้” กันอยู่แล้ว ก็อย่างที่บอกว่า “รถซื้อมาใช้งาน” คนควักตังค์ซื้อรถราคาล้านกว่าบาท ก็คงต้องหาความสบายเป็นแน่แท้ ดังนั้น แนวทางการโมดิฟายรถแบบนี้ ก็ยังเน้น “เกียร์ออโต้” กันเป็นหลัก และก็เหมือนเป็นการ “Challenge” ว่า เกียร์ออโต้ ใครจะโมดิฟายได้ทนและเร็วกว่ากัน เพราะเกียร์ธรรมดา “มันง่ายไป” เลยเป็นกระแส “ออโต้ซิ่ง” นั่นเอง…
สำหรับเกียร์ออโต้ของคันนี้ ก็เป็นการร่วมมือกันระหว่าง “ช่างญา” YA SERVICE และ “หมู ออโต้ซิ่ง” ส่วนของตัวเกียร์ ช่างญา จะเป็นผู้ผลิต ก็คือเกียร์แบบ “ตูดยาว” ต้นตำรับ ที่เอาชุดคลัตช์อีกชุดมา “ต่อท้ายเกียร์” โดยสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด ทำหน้าที่ “ตัดต่อกำลัง” โดยที่เราควบคุมได้ เหมือนกับระบบ Trans Brake ในเกียร์ออโต้ Drag Racing เฉพาะทาง ที่คนขับจะเข้าเกียร์ไว้ แล้ว “เร่งรอบ” (Stall) ค้างไว้ แต่ชุดคลัตช์ยังไม่จับนะ เมื่อต้องการออกตัว คนขับจะปล่อยสวิตช์ Trans Brake คลัตช์ด้านในก็จะจับ ทำให้รถพุ่งออกไป…
ส่วนเกียร์ตูดยาวของ “ช่างญา” นี้ จะย้ายชุดออกตัวมาอยู่ท้ายเกียร์แทน เหมือน “เกียร์ฝาก” จะมี “สวิตช์ควบคุม” ในการปล่อยคลัตช์ออกตัว โดยที่เกียร์ออโต้เดิมของ AISIN ก็ยังทำงานเหมือนเดิม ก็คือ ตอนเข้าเกียร์ ระบบเกียร์หลักก็ยังทำงานปกติ แต่ชุดหลังยัง “ไม่จับ” ทำให้เรา Stall รอบได้เหมือนเกียร์ธรรมดา พอได้ที่แล้วก็ “ปล่อยสวิตช์” โซลินอยด์ก็จะส่งแรงดันน้ำมันไป “กดชุดคลัตช์” ที่ชุดท้ายเกียร์ รถก็จะ “โดด” ออกไป ไม่ใช่ว่าเรา Stall รอบ แล้ว “กระตุกเข้าเกียร์” นะครับ แบบนั้นบรรลัยแน่นอน…
ทำสวิตช์คุมคลัตช์ โดยใช้ขาคันเร่ง ???
สังเกตไปเห็นว่า คันนี้เป็นเกียร์ออโต้ แต่ทำไมเป็น “3 แป้น” โดยแป้นซ้ายสุด มันก็คือ “ขาคันเร่งไฟฟ้า” ของ TOYOTA ทั่วไปนี่แหละ แล้ว ช่างแจ๊ค เอามาติดไว้ทำไม คำตอบก็คือ “เอามาเป็นสวิตช์ตัดต่อชุดคลัตช์ท้ายเกียร์” นั่นเอง โดยใช้ตอน “ออกตัว” เข้าเกียร์ เหยียบแป้น ชุดคลัตช์ท้ายเกียร์ยังไม่จับ เร่งรอบ ปล่อยแป้น พูดง่ายๆ ก็ทำให้อารมณ์เหมือน “ขับเกียร์ธรรมดา” นั่นเอง แต่มันจะไม่ได้ปล่อยเป็นจังหวะเหมือนคลัตช์ธรรมดานะ มันมีแค่ On – Off คือ “จับ” กับ “ปล่อย” เท่านั้น” ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง คือ “เหยียบเพื่อตัดกำลัง” ให้คลัตช์จาก กรณีรถเสียทรง “ดริฟต์” โดยไม่เจตนา ธรรมชาติของคนที่ขับเกียร์ธรรมดา ก็จะเหยียบคลัตช์ แต่เกียร์ออโต้ แม้ว่าจะถอนคันเร่งหมด มันก็ยังต่อกำลังอยู่ จนกว่าเราจะผลักเกียร์ไป N มันถึงจะตัดกำลัง แต่ในช่วงฉุกเฉิน คงไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ก็เอาธรรมชาติเลย คือ “เหยียบแป้น” เพื่อตัดกำลัง เป็นอันจบ…
ระบบนี้จริงๆ ก็ใช้กันมาตลอด แต่บางส่วนก็ใช้ “สวิตช์ที่พวงมาลัย” ก็แล้วแต่สะดวก แต่ ช่างแจ๊ค บอกว่า เหตุที่ทำเป็นแป้นเหยียบ เพราะมันเป็นธรรมชาติของคนขับรถ อีกประการ เวลารถเป๋ หมุน เราจะต้องหมุนพวงมาลัยสวนทางเพื่อแก้อาการ เราจะไม่สามารถกดสวิตช์ได้ทันนั่นเอง อันนี้ก็เป็นความถนัดของแต่ละคนนะครับ แต่เป็นแป้นเหยียบ มันก็ดีเหมือนกันอย่างที่บอกไป คนแรกที่เห็นใช้สวิตช์เหยียบ ก็คือ “ช่างญา” นี่แหละ ตอน “มารชมพู” 200 SX ตอนที่เป็นเครื่อง 1UZ-FE ทวินเทอร์โบ ในตำนาน ตอนนั้นใช้เกียร์ออโต้แล้ว และก็ใช้สวิตช์ Trans Brake แบบเหยียบนี่แหละ เพราะคุ้นเคยที่สุด…
ทำไมวิ่งดี ???
ก็เป็นสิ่งที่ทราบกัน ว่า SUV มันได้เปรียบเรื่องช่วงล่าง แต่เสียเปรียบเรื่องน้ำหนักรถกับความสูง ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะเร็วได้ขนาดนี้ เพราะคันนี้ลดน้ำหนักเอาเต็มที่ รวมคนขับ คือ ช่างแจ๊ค ก็อยู่ที่ “ตันห้า” ประมาณนี้ ประการหนึ่ง เกียร์ออโต้ก็มีส่วนช่วยมาก แต่มีอีกสองอย่างที่น่าคิด…
- ช่วงล่างหลังได้เปรียบ : แน่นอนครับ เพราะรถ SUV แบบนี้ จะยี่ห้อไหนก็ตาม มันคือ 4 Links นั่นเอง !!! ลักษณะของมัน บน 2 แท่ง ล่าง 2 แท่ง วางแนวตามยาวของตัวรถ มันก็เหมือนของรถ Drag เลย เพียงแต่มันไม่สามารถย้ายรูด้านหน้าได้แค่นั้น แต่ทรงมันก็ได้เปรียบ “แหนบ” กระบะอยู่เยอะ ใช้ “คอยล์สปริง” อีกต่างหาก สามารถเซตได้ง่ายกว่า ถ้าขั้นต่อไปก็ใช้ Ball Joint ที่ให้มุมองศาการทำงานที่มากกว่า และ “แท่งปรับความยาวได้” ก็จะได้มุมการทำงานเพิ่ม ส่งผลกับ Traction ในการออกตัวได้อีก (เรื่องนี้มันยาว ต้องทำความเข้าใจ) อย่างคันนี้ ช่างแจ๊ค บอกว่า จริงๆ แล้ว ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ยังใช้ “บู๊ชยาง” ของเดิม แท่งยึดเดิม ใช้โช้คอัพ Race Track อย่างเดียว ในอนาคตทำเพิ่มแน่ แต่จะออกมาท่าไหน ต้องลองดู…
- น้ำหนักสมดุลดี : ง่ายๆ เลย กระบะท้ายเบา ออกตัวเสียเปรียบ แต่นี่ “รถมีตูด” ในแนว Wagon น้ำหนักจะตกหลังเยอะกว่า ทำให้ Balance ดี…
- ลมยาง “ปอนด์สองปอนด์รู้เรื่อง” : ซึ่งทั่วไปใช้กัน 8-9 ปอนด์ (สำหรับ Drag Slick) เพราะต้องการ “นิ่ม” จะได้ออกตัวดีๆ อย่างคันนี้ ช่างแจ๊ค จะเติมลมยางเพิ่ม เป็น “10 ปอนด์” โดย “ยอม 60 ฟุต” ช้าหน่อย ตอนแรก เติมลมอ่อน เวลา 60 ฟุต ได้ 1.43 sec แต่ “รถย้วย” แกว่งไปตลอดทาง “เสียวเว้ยยยยยย” แถมรถยังสูงโย่งอีก ยิ่งไปกันใหญ่ อีกรอบ เวลาบานไป 10.5 sec อีกครั้ง ยอมเติมลมยางเพิ่ม เพราะต้องการให้รถไปได้ “นิ่ง” ตลอดทาง 60 ฟุต ได้ 1.45 วินาที ช้ากว่าเดิมนิดหน่อย แต่รถไปแบบเสถียรกว่า เลยได้เวลา “9.9 sec” ออกมา เรื่องลมยางนี่ “ปอนด์เดียวรู้เรื่อง” นะครับ มันคือเรื่องจริง บางทีก็ต้องยอมเสียบางอย่าง เพื่อได้บางสิ่งที่ดีกว่ามาทดแทนเหมือนกันนะชีวิต…
X-TRA ORDINARY
สำหรับ “สี” ของคันนี้ ตอนแรกก็นึกกันเล่นๆ ขำๆ (ในใจ) ว่า สงสัย “เสี่ยต้น ดูไบ” จะอินกับ ARAB STYLE จริงๆ เพราะสไตล์ของพวกเขาจะชอบ “สีทองเข้ม” ที่แสดงถึงความร่ำรวย มั่งมี แต่เอาจริงๆ แล้ว ก็อาจจะเป็นความชอบส่วนตัวก็ได้ แต่อย่างน้อย มันก็ดูโดดเด่น แล้วเข้ากับ “ล้อ” ได้ดีทีเดียว อีกอย่าง พวกอาหรับก็นิยมเล่นรถแนวๆ นี้อยู่ด้วย แต่จะเป็นพวก SUV รุ่นใหญ่ๆ เครื่องบล็อกโตๆ โมดิฟายแรงบ้าคลั่งแบบ “ซูเปอร์คาร์ผวา” ไหนๆ ก็เลยตั้งชื่อหัวเรื่องคันนี้เป็น ARAB STYLE ซะเลย…
Special Thanks
- “BYP” ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก : Tel. 08-7804-8576, FB/ช่างแจ๊ค บางหญ้าแพรก
- “สองต้น” ต้น ดูไบ & ต้น ฟอร์จูนขาว
TECH SPEC
ภายนอก
ฝากระโปรง : MONZA SHOP
แก้มหน้า : MONZA SHOP
ฝาท้าย : MONZA SHOP
สปอยเลอร์หลัง : TRD
ภายใน
เกจ์วัดบูสต์/แรงดันน้ำมันเครื่อง : AUTO METER
จอ : ECU=SHOP MONSTER GAUGE
พวงมาลัย : MOMO DRIFTING
เบาะ : RECARO
เข็มขัดนิรภัย : SIMPSON
คันเกียร์ : B&M PRO RACHET
เครื่องยนต์
รุ่น : 1KD-FTV
ฝาสูบ : กิจ ลาดกระบัง
แคมชาฟต์ : BYP
สปริงวาล์ว : AERFLAT
ชุดแก้ชิมวาล์วหลุด : BYP
ลูกสูบ : 1KD Oversize 0.50 มม.
ก้านสูบ : 1KD โมดิฟาย BYP
เทอร์โบ : IHI F55V
เฮดเดอร์ : BYP
ท่อร่วมไอดี : BYP
อินเตอร์คูลเลอร์ : BYP
หัวฉีด : ปู่เจ้า ดีเซล
ปั๊มโยง : BYP
ไนตรัส : NOS
กล่อง : BYP Remap & ALPHA TECH
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : YA SERVICE & หมู ออโต้ซิ่ง
ระบบช่วงล่าง
โช้คอัพ : RACE TRACK
ล้อหน้า : WELD ขนาด 4.5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ALPHA-1 ขนาด 10 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : M/T ET FRONT ขนาด 26.0-4.0-15
ยางหลัง : M/T ET DRAG ขนาด 29.5-10.5-15
- “น้องจูน อาหรับสไตล์” จาก “เสี่ยต้น ดูไบ” เสกความแรงโดย BYP
- ให้ดูว่ายังคงความสูงเท่าเดิม ล้อ WELD MAGNUM “ลายลูกโม่” ยอดฮิตตลอดกาล
- ล้อหลัง WELD ALPHA – 1 รุ่นใหม่ แบบ Hubless คือ “ไม่มีเบ้ากลาง” ต้องทำแข็งแรงและแม่นยำเป็นพิเศษ
- บอดี้ก็ยังไม่ได้ตัดอะไร เว้นแต่เลาะโครงประตูออก อนาคตอาจจะ “มีหมอบ” ให้ “น้าจิตร” ทำ แต่จะเลยเถิดไปขนาด PRO TRUCK หรือเปล่า ก็รอลุ้น “เสี่ยต้น ดูไบ” ว่าจะยอมเดินเต็มระบบหรือเปล่า
- ฝาท้าย MONZA SHOP ไฟท้ายซิ่งฟรุ้งฟริ้ง
- สีทองเข้มอร่าม “อาหรับสไตล์” แต๊ๆ งานสีจากอู่ NP ซอยศรีด่าน 5
- ซ่อนอินเตอร์เนียนๆ เพราะคันนี้เดิมทีเป็นรถบ้านซิ่งๆ อยู่แล้ว เลยอยากคงความเรียบร้อยไว้อยู่
- สปอยเลอร์หลัง TRD ทรงกำลังสวย ก็เป็นของติดรถรุ่น TRD SPORTIVO นี่แหละ แต่มันสวยก็ไม่ต้องดิ้นรนเปลี่ยน
- หน้าปัดเดิม เพิ่มเติมคือของจำเป็น
- มีปุ่มแดงไว้ “ลั่นไก” ฉีดแก๊สมหาประลัย
- ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เกจ์วัด แผงสวิตช์ ได้เรียบร้อยดี เรื่องของเรื่อง “มองง่าย” จะ “คลำ” ก็สะดวก
- เบาะ RECARO Full Bucket Seat ทรงสวย แต่ถ้าจะแข่งกันเต็มระบบ แนะนำว่าต้องมี “โรลบาร์” จะอุ่นใจกว่า
- แบบนี้จะเรียกว่า “เข็มขัดแบบ 4 จุด” ที่จะรัดตั้งแต่ “ไหปลาร้า” มายัน “หน้าอก” เพื่อให้ตัวรัดแน่นกับเบาะที่สุด และ “จุดรับแรงครบ” ไม่เหมือนเข็มขัดติดรถที่เป็นแบบ 3 จุด คาดทแยง อันนั้นไม่พอสำหรับการแข่งขัน
- ความกว้างของแถบ อย่างน้อยต้องมี 3 นิ้ว ถึงจะได้มาตรฐานการแข่งขัน
- แก๊สมหาประลัย เอาไว้ “ใช้” ไม่ได้เอาไว้ “โชว์”
- เกียร์ออโต้ สิ่งที่ต้องระวัง คือ “ตำแหน่งเกียร์” ต้องมีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ที่เห็นได้ชัดเจน จากประสบการณ์ ครั้งหน้า ช่างแจ๊ค จะทำ “เสียงเตือน” ไว้หากอยู่ในตำแหน่ง R เพื่อเซฟให้มากที่สุด
- 18.ถังเดียวไม่พอ “ชอบเบิ้ล” ส่วนคอที่โผล่มาเป็น “คอเติมน้ำมันเชื้อเพลิง” พร้อม “หัวไอระบาย”
- แป้นซ้ายเป็นคันเร่งไฟฟ้า ที่เอามาแปลงสัญญาณเป็นสวิตช์ตัดต่อคลัตช์ชุดท้ายเกียร์ สำหรับใช้ในการออกตัว หรือต้องการตัดกำลัง ทำหน้าที่เหมือนแป้นคลัตช์ของเกียร์ธรรมดา
- 1KD-FTV สเต็ป F55 Open กับแรงม้า 600 PS ก็ไม่น้อยหน้า “อีซุ” เหมือนกัน
- F55 เป็นเทอร์โบที่ “อเนกประสงค์” สุดๆ แรงพอดีๆ ใช้ในรถถนนที่ต้องการสมรรถนะวิ่งทางยาวได้ดี เพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้ “ความร้อนสะสมน้อยกว่าเทอร์โบเล็ก” ไม่รอรอบมาก ช่วงกลางดี อันนี้สำคัญสำหรับดีเซลที่เน้น “ทอร์ค” เป็นหลัก
- ท่อร่วมไอดีสร้างใหม่ แบบ “เข้าข้าง” ตรงกลางพอดี ของเดิมจะเป็นแบบ “เข้าบน” ทำให้เดินท่อโค้งขึ้นบนมากไปไม่สวย
- ในปีนี้กติกา F55 เปิดเรื่อง “เฮดเดอร์” แล้ว รถทุกคันจึงทำได้อย่างอิสระ จะเล่นสูตรอะไรก็แล้วแต่ชอบ สนุกขึ้นไปอีก
- ชุดปั๊มโยง BYP แบบ 3 โรเตอร์
- ช่วงล่างหลังยังคงรูปแบบเดิม เปลี่ยนโช้คอัพอย่างเดียว ส่วนบางค่าย อย่าง “อีซุ” ก็จะโฆษณาในรุ่น MU-X ว่าเป็น 5 Links จริงๆ ก็เหมือนกัน เพียงแต่เขานับแท่ง “กันเซ” (ที่วางขวางเพลาอยู่ตามรูป) เข้าไปด้วย แต่สาระสำคัญ มันก็คือ 4 Links แบบ Drag Car นั่นเอง เพียงแต่ของเดิมมันปรับไม่ได้แค่นั้น