เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
หลังจากที่หายไปจากสังเวียนทางตรงมานาน หลายคนคิดถึง ARISTO Spaceframe ว่า “มันหายไปไหน” คงไม่ต้องคิดกันมากแล้ว ตราบใดที่มัน “ยังมีตัวตน” และ “พร้อมจะกลับมา” ด้วยการเปลี่ยนมือไปสู่ “Ver Technical Garage” ที่กำลัง “ปลุกปล้ำ” ทำให้ฝันเป็นจริง ด้วยการซื้อรถต่อมาจาก “P&C GARAGE” แล้วมาใส่เครื่องที่ทำขึ้นมาเอง สำหรับคันนี้เป็นการ “เปิดซิง” บนรถ Spaceframe ครั้งแรกของ “เวอร์” เจ้าสำนัก ที่จะต้อง “เรียนรู้ ค้นหา” กับรถเฟรมกันใหม่ทั้งหมดแม้ตอนนี้จะยังไม่ได้วิ่ง แต่ขอ “โชว์งาน” กันก่อน…
การปรับตัวของรถ Stock Body สู่ Spaceframe
แน่นอนครับ ไอ้จุดที่ “ยาก” คงไม่ใช่เรื่องการขับ หรือเรื่อง Mechanic อื่นๆ เพราะจริงๆ รถเฟรมมัน “อย่าคิดมากว่ามันยาก” ถ้าคนสร้างเป็น มันก็มีแบบสำเร็จรูปอยู่ จะเอาเป็นทรงรถอะไร ส่วนสูงเท่าไร ก็สามารถทำให้มันออกมาประมาณนั้นได้ เพียงแต่ต้อง “แม่นยำ” และ “แข็งแรง” เป็นหลัก ดูโครงสร้างแล้วก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมาย ตรงกันข้าม การเซอร์วิสอาจจะ “ง่าย” กว่ารถ Stock Body ก็เป็นได้ เพราะมันเป็นการ “เปิดโล่ง” ทั้งหมด ตัวถังและอุปกรณ์อื่นๆ ถ้าไม่นับเฟรมก็มีอุปกรณ์แค่ไม่กี่ชิ้น มองเข้าไปเห็นชิ้นส่วนแทบทั้งคัน มีเพียง Panel ปิดไว้ ก็สามารถถอดมาตรวจเช็ก หรือว่ารื้อประกอบได้ง่าย ไม่เหมือน Stock Body ที่บางจุดก็ “ไม่สามารถตัดผ่าได้” มันก็ไปบังอุปกรณ์ ก็อาจจะใช้เวลารื้อมากกว่าด้วยซ้ำ ส่วนของเครื่องยนต์กับเกียร์ก็เหมือนกัน อยู่ที่เราเลือกว่าจะใส่อะไร ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา…
แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ ผมก็ไม่อยากจะเรียกว่าปัญหานะครับ เพราะมันต้องใช้เวลาศึกษาและ “ฝึกหัด” กับมันหน่อย ไอ้เรื่องความแรงก็ไม่ใช่ปัญหา เอาลงพื้นได้หมดก็จบ แต่จะลงพื้นได้สมบูรณ์ขนาดไหน ก็อยู่ที่ “การปรับเซตช่วงล่าง 4 Links” ด้านหลัง ที่ดูจะเป็น “เพลาตาย” ง่ายๆ ยึดทื่อๆ ไม่น่ายาก แต่ไอ้ที่ไม่ง่ายคือ “มุมดีดและมุมงัดของ Links ทั้งหมด” เพราะเพลามันอยู่ตายตัวไงครับ Links พวกนี้เลยต้องขยับแทน และรู้กันอยู่ว่า พวกรถช่วงล่างหลังที่เป็นแบบเพลาตาย “ออกรถหน้าซ้ายยก” ตามแรงการหมุนของเครื่องที่เคยบอกไปบ่อยแล้ว ก็เลยทำเป็น “พวงมาลัยซ้าย” เพื่อช่วยถ่วงน้ำหนักให้มันยกน้อยลง (ไม่พูดถึงเยอะละกันนะ) จึงต้อง “แก้ทาง” กับ Links ว่าทำยังไง ตั้งแก้ให้มัน “ไปตรง” ให้ได้ ไม่ใช่ว่าตั้งให้มันตรงหรือยาวเท่ากันทุกอัน แล้วรถมันจะวิ่งตรงนะครับ “คนละเรื่อง” จริงๆ…
ปัจจัยในการเซต มันก็ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เช่น “กำลังเครื่อง” ว่ามีแรงม้าอยู่เท่าไร สามารถใช้แรงที่มี “กด” ให้รถมันยุบตัวได้แค่ไหน แล้ว Links จะเปลี่ยนมุมไปอย่างไรบ้าง เปลี่ยนไปเท่าไร จะต้องแก้กลับยังไง รถแรงม้าไม่เท่ากัน หรือมีเงื่อนไขแตกต่างกัน แค่ “น้ำหนักคนขับ” ก็ต่างกันแล้วครับ ต่อให้เป็นเฟรมเดียวกัน ก็ตั้งไม่เท่ากันครับ มีค่าการยุบของ “โช้คอัพและสปริง” อีก และต้อง “ตั้ง Weight Balance” กันอีก โอ๊ย เยอะครับ การเซตพวกนี้จะต้องเป็น “ผู้มีประสบการณ์ตรง” เครื่องน่ะทำแรงไม่อยากหรอก แต่ “เซตช่วงล่าง” นั้นยากกว่า หาคนทำช่วงล่างเป็นจริงๆ มีน้อยกว่าคนทำเครื่องแรงครับ เรื่องนี้ต้องใช้เวลา “ขับลอง” เท่านั้น รับรองไม่มีใครบอกสูตรสำเร็จทีเดียวจบได้ โดยที่ไม่ได้ลองครับ นี่พูดถึงรถแข่งอื่นๆ หรือรถโมดิฟายต่างๆ วิ่งถนน ก็ต้องมีการเซตช่วงล่างที่ถูกต้องด้วยครับ ตามความแรงที่เปลี่ยนไป ล้อ ยาง ช่วงล่าง เกาะแค่ไหน ไม่ใช่แค่ซื้อของดีๆ แพงๆ ใส่แล้วจบนะ “หาคนเซตให้เป็นด้วย” จะดีไม่ดีอยู่ตรงนี้แหละ…
รู้จัก “ผ้าพันท่อ” พันไว้ทำไม ???
สังเกตที่ท่อไอเสียครับ หลังจากออกที่โข่งไอเสีย ก็จะมีการพัน “ฉนวนกันความร้อน” เอาไว้ ประโยชน์ที่รู้กัน คือ “กันความร้อนแผ่กระจายไปรอบด้าน” ถ้าเป็นในห้องเครื่อง ความร้อนจะไปทำร้ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดความร้อน ก็คือ ท่อไอเสีย นั่นเอง โดยเฉพาะ “หม้อลมเบรก” ในรถพวงมาลัยขวา เครื่อง JZ เทอร์โบจะอยู่ขวามือของรถพอดี พอใส่ “หอยโต” กับ “ท่อบึ้ม” เลี่ยงไม่ได้หรอก ที่มันจะไปใกล้หม้อลมเบรก ทำให้เบรก “เฟด” จากความร้อนที่แผ่กระจายไป ซึ่งรถที่แรงม้ามากๆ บูสต์โหดๆ เวลา Peak อุณหภูมิไอเสียก็เกิน “1,000 C” เข้าไปแล้ว (แต่ถ้าเอา Scan Temp วัดที่ด้านนอกของท่อก็ไม่ถึง แต่มันก็ร้อนมากนะ) ก็เลยต้องกันความร้อนกันหน่อย สำหรับผ้าพันกันความร้อน ก็มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น Thermo Shield, Heat Shield, Exhaust Wrap etc.
แต่ก็มี “ข้อควรพิจารณา” นิดนึง ผ้าพันกันความร้อนก็มีหลายอย่างครับ อย่างสมัยก่อนจะเป็นแบบมี “Asbestos” เป็นแร่ใยหิน (Asbestos คือ ชื่อเมืองในรัฐ Quebec ประเทศแคนาดา ที่เป็นเหมืองที่มีแร่ชนิดนี้มากที่สุดในโลก) คุณสมบัติของมันก็คือ “สามารถทนความร้อนได้สูง มีการดูดซับเสียงที่ดี มีความแข็งแรง ทนทาน” จึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ที่ทนความร้อนสูงมากๆ ในรถยนต์ก็มีครับ เช่น “ผ้าเบรก” เป็นต้น Asbestos ถือว่าเป็นสารที่มี “อันตราย” เนื่องจากตัวมันจะมีลักษณะ “เป็นผลึกแหลมคม” ถ้าสูดดมเข้าไปมากๆ จะทำให้เป็น “มะเร็งระบบหายใจ” เพราะมันเข้าไป “ฝังติด” ไม่ออกมา สะสมมากๆ ก็ “เรียบร้อย” ปัจจุบันจึงมีการห้ามใช้ Asbestos (อาจจะมีการใช้ให้เป็นกรณีไป แต่ต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด) ผ้าเบรกก็ห้ามใช้ Asbestos มานานแล้วครับ สำหรับผ้าพันกันความร้อนยุคพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้แร่ “Ceramic” แทน Asbestos ก็คือเป็น “Non-Asbestos” นั่นเอง แต่บางคนอาจจะไปเจอผ้าพันท่อบางประเภท พวกที่ใช้กับเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม บางอย่างยังมี Asbestos ผสม พวกผ้าที่จะเป็นสีขาวๆ ฟูๆ นั่นน่ะ ตอนพันท่อก็ “หาอะไรปิดปากปิดจมูกกันหน่อย” แล้วก็ “แช่น้ำไว้ก่อน” เพื่อให้เส้นใยไม่ฟุ้งกระจาย ใครเคย “พันสด” ไม่แช่น้ำ จะรู้เลยว่าเส้นใยฟุ้งๆ แม่ม “โคตรคัน” และ “ติดตัว” ขนาดไหน จะใช้ก็ได้ครับ ไม่มีข้อห้าม แต่ถ้าให้แนะนำก็หาพวก Non-Asbestos ที่ผสม “ใยแก้ว” หรือถ้าดีที่สุด ก็ “เซรามิก” สามารถทนความร้อนได้สูงกว่าเยอะครับ ปัจจุบันก็จะใช้แบบเซรามิกกันในรถโมดิฟายแรงๆ…
Comment : พัฒนชัย ลำกะ (Ver Technical Garage)
ถามว่า ทำไมผมถึงตัดสินใจซื้อ ARISTO คันนี้ ต้องบอกว่า ผมชอบตั้งแต่เห็นครั้งแรก ก็ “จีบ” พอขาย ผมก็จัดการทันที ซึ่งผมอยากลองรถเฟรมอยู่แล้ว เหมือนกับเป็นของใหม่ที่เราต้องพัฒนาต่อ เครื่องและเกียร์เป็นของผมเอง ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นของที่เคยทำบ่อยๆ เพียงแต่ยากตรงที่เซตช่วงล่างหลังนั่นแหละครับ มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา เลยต้องใช้เวลาพอสมควร โดยมี “โบ้ ศิษย์ป๋าแดง” ช่วยเซตอัพเรื่องนี้ให้อยู่ ตอนนี้ก็ต้องรอกล่อง MoTeC ที่สั่งไว้มาก่อน แล้วจึงจูนวิ่งต่อไปได้ ไว้รอดู Souped Up ปลายปีนี้ครับ เจอกันแน่นอน…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
เช่นกันครับ ผมเชื่อว่าถ้าใครเคยเห็นรถคันนี้มาก่อนหน้าที่มันเสร็จใหม่ๆ ก็อยากจะเห็นมันวิ่ง แต่หายไปช่วงหนึ่ง ตอนนี้ “I’m Backing Track” หวนคืนวงการอีกครั้ง สิ่งที่ชอบก็คือ “ความเรียบร้อย สะอาด สวยงาม” เป็นสิ่งที่รถแข่งระดับนี้ต้องมีครับ ในส่วนของความแรง น่าเสียดายที่กล่อง MoTeC ชุดที่จะใส่นั้น มาไม่ทันวันถ่ายทำ แต่ใช่ว่าจะอดเห็นแรงม้านะครับ ไว้ “เรียบร้อย” เมื่อไร จะมาอัพเดทกันให้ดูในหน้า Facebook ของ XO AUTOSPORT และเว็บไซต์ xo-autosport.grandprix.co.th ครับ ใครรักใครชอบก็เอาใจช่วยละกันครับ
X-TRA ORDINARY
รู้ยัง “เวอร์ Technical Garage” กับ “แจ็ค V.J. Workshop” นั้น เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ตอนแรกก็เปิดอู่ด้วยกันแหละครับ คำว่า V.J. ก็ย่อมาจาก “Ver & Jack” นั่นเอง ตอนหลังพอมีประสบการณ์ทั้งคู่ ก็ “ต่างคนต่างเปิดอู่ของตัวเอง” แจ็ค ก็ใช้ชื่อเดิม ส่วน เวอร์ ก็ใช้ชื่อ Ver Technical Garage ก็เป็นเรื่องเบาๆ ที่พอจะให้หายสงสัย (เรื่องนี้เคยมีคนถามมาจริงๆ นะ ไม่อำ)
TECH SPEC
ภายนอก
เฟรม : เปี๊ยก THUNDER
ฝากระโปรงหน้า-หลัง: Carbon by Y’ATT
กระจกมองข้าง : Craft Square
ภายใน
จอมัลติฟังก์ชัน : MoTeC CDL3
วัดรอบ : AUTO METER Sport Comp Silver
พวงมาลัย : SPARCO
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : IMPACT
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B
แผงสวิตช์ : MOROSO
แป้นเหยียบ : AEROSPACE COMPONENT
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ : 2JZ-GTE
วาล์ว : BC
สปริงวาล์ว : BC
เฟืองแคมชาฟท์ : WORK ENGINEERING
แคมชาฟท์ : BC 280 องศา ลิฟต์ 10.5 มม.
ลูกสูบ : WISECO 87.0 มม.
ก้านสูบ : PAUTER
เทอร์โบ : GARRETT GT42
เฮดเดอร์ : CHAN INTER
เวสต์เกต : TIAL
อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST
ท่อร่วมไอดี : CHAN INTER
ลิ้นไอดี : VH45DE
หัวฉีด : SARD 1,000 CC.
เร็กกูเลเตอร์ : AEROMOTIVE
รางหัวฉีด : SARD
หม้อน้ำ : CHAN INTER
ไนตรัส : NOS
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MoTeC
กล่องควบคุม : MoTeC M800 by Por
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : G-Force Air Shift 5 Speed
ชุดคลัตช์ : OS
เพลาขับ : Strange
เฟืองท้าย : Strange 4.8:1
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : Strange
โช้คอัพหลัง : KONI
สปริง : HYPERCOIL
ล้อหน้า-หลัง : AMERICAN RACING ขนาด 4.5 x 15 นิ้ว และ 16.0 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : M/T ET DRAG ขนาด 26.0-4.5-15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 33.0-16.0-15
เบรกหน้า-หลัง : Strange
Special Thanks
Ver Technical Garage
Contact: www.facebook.com/Ver.Technical, Tel. 08-9177-6499 (เวอร์)
ปทุมธานี สปีดเวย์ (สถานที่ถ่ายทำ)
เปลือกนอกยังเป็น TOYOTA ARISTO/LEXUS GS300 (JZS161) เหมือนเดิม ดูเรียบร้อยไปอีกแบบ
Spaceframe สไตล์หรู ดูแล้วมีเอกลักษณ์ ขอเพียง “Clean” ใครบอกรถแข่งต้องกรัง !!!
การจัดเรียงอุปกรณ์ ถ้าให้ดีจะต้องมี “5 ส” ไม่ใช่ยั้วเยี้ยอะไรก็ไม่รู้ ถ้าการวางอุปกรณ์สวยงาม เป็นระเบียบ การเซอร์วิส ถอดใส่ ก็จะทำให้ง่าย และลดขั้นตอนยุ่งยาก ประเภท “จะถอดไอ้นี่ ติดไอ้นู่น ต้องรื้อไอ้นั่นอีก” วางตำแหน่งดีๆ ประหยัดทั้งแรงงานและเวลาขึ้นอีกเยอะครับ คันนี้ยอมรับว่าทำให้ “เคลียร์” และ “สวยงาม” ครับ ซึ่งรถแข่งในตอนนี้ก็เหมือนกับยกมาตรฐานตัวเองให้สูงขึ้น ดีครับ ชอบ
มุมสวยๆ ของ Solenoid ระบบเกียร์ Air Shift ส่วนปุ่มแดงๆ นั่นคือ “กดฉีดดับเพลิง” ซึ่งเป็นระบบที่ปลอดภัย ถ้าคิดกับค่าตัวของมัน “ยังไงก็คุ้ม” เพราะมันจะฉีดเป็น “จุด” ที่เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย กดทีเดียว แล้วคนขับหนีออกมาเลย บ้านเราควรจะ “ยกระดับความปลอดภัย” ให้เข้มงวดได้แล้วนะครับ
หม้อน้ำถ่วงท้ายได้อีกหน่อย ใช้ลมจากใต้ท้องรถวิ่งขึ้นมาด้านบน เป่าผ่านแผงหม้อน้ำ ใช้พัดลมไฟฟ้าช่วยดูดออกเมื่ออุณหภูมิถึงที่กำหนด
จุดยึดด้านหลังก็จะมี “รู” ให้เลือกใส่ตามระยะที่ต้องการ ระยะสูง-ต่ำ ของลิงค์ ระยะกระดกของเพลา สามารถตั้งได้โดยผู้ชำนาญการเรื่องนี้เท่านั้น
ขุมพลัง 2JZ-GTE ที่วางล้ำเข้าไปด้านในครึ่งเครื่อง เพื่อให้น้ำหนักไปตกอยู่กลางรถมากขึ้น ไม่หนักหน้า ซึ่งเป็นแนวทางของรถขับหลัง