Assorted of SUPER GT : สารพันเรื่องราวน่ารู้ พูดกันง่ายๆ สไตล์เรา by XO AUTOSPORT

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี (พี สี่ภาค) : XO AUTOSPORT

ข้อมูลบางส่วน : คุณสุทธิพงศ์ สมิตชาติ (TOYOTA TEAM THAILAND by ARTO),  www.wikipedia.org/supergt

ตื่นเต้นที่สุด !!! กับรายการแข่งขันที่ไม่คิดว่าจะมีในประเทศไทย รายการเซอร์กิตระดับสุดยอดจากญี่ปุ่น SUPER GT ที่ลงหวดกันในสนาม CHANG INTERNATIONAL CIRCUIT สุดอลังการ สร้างกันแบบ “ซิงๆ” โดยทีมงานการออกแบบระดับโลก ซึ่งผ่านมาตรฐาน FIA Grade 1 รองรับได้ถึง F1 กันเลยนะ และแน่นอนว่า แมตช์เปิดสนามอย่าง SUPER GT ก็ย่อมที่จะ “เรียกแขก” ได้อย่างมหาศาล เรียกว่า “บุรีรัมย์แทบแตก” คนล้นหลามจริงๆ จนที่พักไม่พอเพียง แต่ในอนาคต เชื่อว่าจะมีการพัฒนาให้สามารถรองรับได้อย่างสบาย งานนี้คง “รื่นเริงบันเทิงใจ” สำหรับคนชอบความเร็ว เอาละครับ เรามา “แพ่ม” กันในส่วนของ SUPER GT กันดีกว่า สมัยก่อนมันก็ไกลตัวเรานะ แต่ตอนนี้มันใกล้ตัวเราแล้ว รู้จักกับมันแบบ “มันส์ๆ” ซะหน่อยจะเป็นไรไป…

From JGTC to SUPER GT

                เรื่องราวของ “รถแข่ง” ในญี่ปุ่น ก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยรถญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์โดยจะเป็นรถ “สปอร์ต” ในลักษณะของ Grand Touring Car ก็ประมาณว่า “เป็นรถที่มีสมรรถนะสูง สำหรับวิ่งความเร็วสูงเป็นระยะทางยาว” เป็นรถที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น NISSAN ก็จะมี SKYLINE หรือ FAIRLADY ส่วน TOYOTA ก็จะเป็น SUPRA ถ้าเป็นฝั่ง HONDA ก็จะมี NSX (เกือบๆ จะเป็น Super Car แต่ความแรงยังไม่ถึงฝั่งของตัวแรงฝรั่ง) รถพวกนี้ก็ไม่ถึงกับเป็น Super Car จึงเป็นการแข่ง GT Series ต่างๆ แบ่งเป็น “กรุ๊ป” ต่างๆ ที่ตอนหลังก็เริ่มจะเอากฎ กติกา ของฝั่งยุโรปเข้ามาเพื่อให้เป็น “อินเตอร์” มั่งแล้ว อย่าง Group A เป็นรถแข่งที่โมดิฟายบนพื้นฐานรถ Stock Body สังเกตง่ายๆ ตัวถังไม่มีการเพิ่มขนาด (Wide Body) ออกมาจากโรงงานเท่าไรก็เท่านั้น ล้อจะเป็นขอบ 18 นิ้ว พร้อม Center Lock (นอตล้อเดี่ยวตรงกลาง) แต่ “ห้ามล้อล้นออกจากตัวถัง” เครื่องก็ห้ามเปลี่ยนข้ามรุ่น ข้ามยี่ห้อ รุ่นใครรุ่นมัน ถ้าเป็น SKYLINE R32 GT-R ก็ต้องเป็น RB26DETT เท่านั้น ไอ้ตัวนี้กระฉ่อนใน Group A แถมฝากรอยร้าวไว้ให้รถแข่ง “ออสซี่” ให้เจ็บใจเล่น ส่วน Group 5 ก็จะเป็นรถที่โมดิฟายได้มากขึ้น โดยยัง “มีทรงเดิมอยู่” ให้ใช้ส่วนของห้องโดยสาร (Cabin) เดิม แต่ด้านหน้าและด้านท้ายทำเพิ่มได้ พวกนี้โป่งหน้าและหลังจะบานๆ อลังการเวอร์ แต่ส่วนของ Cabin ตั้งแต่เสา A ถึงเสา C จนถึงประตูก็ยังเป็นทรงเดิม เครื่องยนต์ “อ้างอิง” จากบล็อกที่ “มีขายปกติ” แต่ “ไม่ปกติ” เพราะเป็นเครื่องที่ “สร้างเฉพาะการแข่งขัน” โมฯ เต็มเกือก ฝาสูบสร้างใหม่ ของเทพๆ ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ “เดิม” นอกจาก “ชื่อ” เท่านั้น ส่วน Group C ก็จะเป็นรถที่ “สร้างใหม่ทั้งหมด” พูดง่ายๆ “รถเฟรม” นั่นแหละ แต่เปลือกนอกยังเป็นทรงของ Production Car เพื่อ “การตลาด” แต่ทรงมันก็จะแปลกๆ แบนๆ บานๆ ไม่มีมิติของเดิมแน่นอน พวกนี้จะเรียกว่า Silhouette (ซิลลูเอท) หรือมีเพียงแค่ “เงาเหมือน” เท่านั้น หรือไม่ก็พวก Prototype ที่นั่งเดี่ยวต่างๆ ก็รวมอยู่ในกรุ๊ปนี้ อันนี้ก็เป็น “เรื่องราวของมอเตอร์สปอร์ตของญี่ปุ่น” แบบพอสังเขปก็พอนะ…

เข้าเรื่องเสียที ในปี 1993 ทาง JAF (Japan Automobile Federation : สหพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น หน้าที่เดียวกับ รยสท. บ้านเรานั่นแหละ) ได้ก่อตั้งการแข่งขัน JGTC หรือ Japanese Grand Touring Car Championship หรือภาษาญี่ปุ่น Zen Nihon GT Senshuken ขึ้นมาแทนรายการ All Japan Sports Prototype Championship สำหรับรถ Group C และรายการ Japanese Touring Car Championship สำหรับรถ Group A ก็ถูกยกเลิกไปทั้งคู่ JGTC ก็เข้ามาแทน และเริ่มมี “ข้อบังคับ” ต่างๆ มากมาย เช่น การกำหนดแรงม้าสูงสุด และการถ่วงน้ำหนักรถเพิ่มสำหรับผู้ชนะ ก็ดีว่ะเพราะคนที่เป็นรองก็จะได้มีกำลังใจแข่งหน่อย ไม่ใช่ Goo ขับแทบตายห่… ก็ไม่ทันสักที ในช่วงนี้ จะมีรุ่น Class 1 ที่ใช้กติการ่วมกันกับรถแข่งรุ่น FIA GT1 ในรายการของยุโรป ซึ่งรถ FIA GT1 ไม่ธรรมดา ถูกสร้างมาเพื่อการแข่งขัน และจะมีรถ homologate วิ่งถนนด้วย ราคา “มหาโหด” ตอนหลังด้วยความที่มันแพง รุ่น Class 1 และ Class 2 ถูกเปลี่ยนเป็นรุ่น GT500 และ GT300 ในปี 1996 โดยการ “กำหนดที่แรงม้าด้วย Restrictor” มันก็เหมือนการ “อุดจมูก” กำหนดปริมาณไอดีเข้าสันดาปในเครื่องยนต์ และบังคับเรื่องน้ำหนัก เพื่อ “ทำให้การได้เปรียบเสียเปรียบน้อยที่สุด” นั่นเอง…

หลังจากที่ได้รับการตอบรับอย่างดี JGTC จึงมีการ “แข่งนอกประเทศ” กันบ้าง เปิดซิงสนามแรกที่ SEPANG INTERNATIONAL CIRCUIT Malaysia แล้วก็มีสนาม Shanghai ประเทศจีน แต่เมื่อแข่งในระดับ “อินเตอร์” ทาง FIA จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการแข่งขันโดยตรง ตอนนี้เท่ากับว่า JGTC ที่ JAF ถือสิทธิอยู่ และได้รับการรับรองจาก FIA อีกทีหนึ่ง ในปี 2005 จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก JGTC มาเป็น SUPER GT ที่ผ่านการรับรองจาก FIA โดยตรง เพื่อความเป็นสากล ไม่ได้จำกัดเฉพาะในญี่ปุ่น หรือรถญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว รถยุโรปที่ทำตามกติกา FIA ก็สามารถลงแข่งได้ด้วยเช่นกัน ก็ดีครับ เป็นการพัฒนาให้มีความหลากหลาย ส่วน JAF ก็ยังมีชื่ออยู่ในรุ่น GT300 โดยใน Class นี้ จะมีรถแข่ง FIA GT3 แข่งอยู่ในรุ่นเดียวกัน เนื่องจากกติกายอมให้แข่งด้วยกันได้ ที่หลายคน “งง” เพราะเห็นรถ GT300 ทรงประหลาดๆ แข่งกับรถ GT3 ที่เป็นทรงรถ Production อยู่ ก็ขอให้รู้ว่ามันแข่งด้วยกันได้ภายใต้รุ่น GT300 นะครับ…

About the car

                มาถึงเรื่องรถกันบ้าง หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ “ความต่างของตัวรถในแต่ละรุ่น” ทั้ง GT500, GT300 และยังมี FIA GT3 มาให้งงกันอีก เราเลยต้อง “หาคำตอบ” มาให้ แต่จะสรุปเป็นประเด็นให้ “ทุกคนเข้าใจง่ายและแยกออก” คงไม่เปิด Technical Regulation มาตอบกันเป็นสิบๆ หน้า เพราะนั่นไม่เกี่ยวกับเรา กฎ “บานบุรี” ล่อเข้าไป 45 หน้า A4 เอาเป็นว่า ขนาด Technician ทีมแข่งยัง “มึนตึ้บ” แล้วเราคนทั่วไปที่ไม่ได้แข่งก็คงสาหัสกว่านั้น ซึ่งผมจะสรุปเฉพาะส่วนที่ “ทราบ” และ “น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป” ก็แล้วกันนะ…

 

Air Restrictor ตัวกำหนดแรงม้า

สำหรับ “ตัวเลข” ของรุ่น ก็จะเป็นการ “กำหนดแรงม้าสูงสุด” เช่น GT500 ก็มีกำลังได้ “ไม่เกิน 500 PS” ส่วน GT300 และ FIA GT3 กำหนด “ไม่เกิน 300 PS” โดยการควบคุมด้วย Air Restrictor ใส่ไว้ที่ปากทางเข้าของไอดี จะเทอร์โบหรือไม่ก็แล้วแต่ เพื่อกำหนด “อัตราการไหลของอากาศ” ตรงนี้ก็จะสามารถควบคุมแรงม้าได้ (ใกล้เคียง) ตามที่กำหนด ซึ่ง Restrictor ที่ใส่เข้าไปนั้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรูใน จะถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งขนาดก็ขึ้นอยู่กับ “สเป็กรถ” ที่ใช้ ก็จะกำหนดตาม “ความจุเครื่องยนต์” (Displacement in CC.) ว่ามีขนาดเท่าไร “มีระบบอัดอากาศ” (Super Charged หรือ Turbo Charged) หรือ “หายใจเอง” (Natural Aspiration หรือ N.A.) และ “น้ำหนักรถ” อีกด้วย ซึ่งสเป็กเหล่านี้เองก็จะมีตารางเทียบใน Technical Regulation ว่า “ต้องใช้ขนาดเท่าไร” ซึ่งจะทำให้มีความใกล้เคียงในด้านสมรรถนะกันมากที่สุด…

ส่วนแรงม้า “แท้จริง” ของรถพวกนี้ ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำได้ตามชื่อรุ่นเป๊ะๆ มีการ “อนุญาตให้ขยับเพิ่มได้” อย่าง GT500 ก็สามารถให้แรงม้าสูงสุดได้ถึง “650 PS” ส่วน GT300 ก็ให้ขยับเป็น “400 PS” เนื่องจากตอนนี้รถ FIA GT3 จากยุโรป หรือญี่ปุ่น (NISSAN GT-R) ต่างก็ทำแรงม้าได้ในระดับ 500-600 PS มาจากโรงงานอยู่แล้ว ก็ต้องมีการลดแรงม้าลงบ้าง จึงต้องมีการขยับแรงม้าในรุ่น GT500 และ GT300 เพิ่มให้สู้กันได้ ซึ่งการจำกัดแรงม้า ก็ขึ้นอยู่กับขนาด Air Restrictor ที่กำหนดในกติกา ส่วนแรงม้าที่แท้จริงก็จะ “ประมาณดังกล่าว” ครับ…

 

GT500

                สุดยอดของ SUPER GT จากการร่วมลงห้ำหั่นของ 3 ค่าย NISSAN GT-R, HONDA HSV-010 GT, TOYOTA แต่ใช้โฉมของ LEXUS SC430 แทน (ซึ่งมันก็คือ TOYOTA SOARER นั่นแหละ) เครื่องยนต์เปลี่ยน “ข้ามรุ่นได้” แต่ต้องเป็น “ยี่ห้อเดียวกับตัวรถ” ในปี 2010 เปลี่ยนกติกาใหม่ครับ เครื่องยนต์รุ่น GT500 ให้ใช้แบบ V8 ความจุ 3.4 ลิตร เท่านั้น ตอนนี้แหละที่ Race Engine เกิดขึ้นมา สำหรับ “โครงสร้าง” ก็จะกำหนดให้ใช้ส่วนของ Cockpit หรือ Cabin ซึ่งเป็นส่วนตั้งแต่เสา A-B-C เป็นของเดิม แต่ส่วนของ Front End และ Rear End สามารถสร้างเป็น Tube Frame ด้วยท่อโลหะน้ำหนักเบาได้ แต่ต้องแข็งแรงเพียงพอ ซึ่งการสร้างโครงรถ จะต้องสร้างโดยหน่วยงานที่ทาง FIA สามารถตรวจสอบและรับรองได้…

ในปี 2012 SUPER GT ประกาศใช้กฎการแข่งขัน (Technical Regulation) ของรุ่น GT500 ร่วมกับ DTM (Deusch Tourenwagen Master) รายการแข่งรถ Touring Car ของ เยอรมัน โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2014 ตอนนี้เครื่องยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยใช้เครื่องยนต์ “2.0 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบ” ตอนนี้รถรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมาแล้ว เช่น HONDA NSX GT มาแทน HSV-010 GT และ LEXUS RC-F มาแทน SC430 ส่วน NISSAN ก็ยังหากินกับ GT-R แต่เปลี่ยนแปลงใหม่ให้เข้ากับกฎใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ เครื่องยนต์เป็น NR20A ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ…

จุดสังเกต : รุ่น GT500 โคมไฟหน้าและพื้นสติกเกอร์เบอร์เป็นสีขาว…

 

JAF GT300 & FIA GT3

                รุ่นนี้เล็กลงมาหน่อย แต่ “ข้อบังคับเยอะกว่า” เพราะต้องการให้ทีมที่เป็น “ส่วนรายบุคคล” (Privateer) ได้มีโอกาสได้แข่งบ้าง สำหรับรูปร่างของรถ ก็ดูจะคล้ายๆ กับ GT500 แต่มีข้อจำกัดมากกว่าในด้านของ “โครงสร้าง” ที่ยังใช้ของเดิมเยอะกว่า GT500 เรียกว่ายังคงความเป็น Stock Body อยู่พอควร แต่ในปัจจุบัน GT300 ก็เปิดให้ทำโครงสร้างได้ใกล้เคียงกับ GT500 แล้ว เพื่อสมรรถนะที่เหนือกว่าเดิม ก็ดูง่ายๆ มันก็แทบจะไม่เหลือทรงเดิมนอกจาก Cockpit ส่วนข้างในก็ว่ากันได้เต็มเหนี่ยว ระบบขับเคลื่อนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากรถขับหน้า มาเป็นรถขับหลัง เรียกว่าทำได้หลายอย่างแต่ต้องอยู่ในกติกา เครื่องยนต์เปลี่ยน “ข้ามรุ่น” ได้ แต่ต้องเป็น “ยี่ห้อเดียวกับตัวรถ” ส่วน FIA GT3 ก็จะมีความเป็น “รถถนน” มากกว่า ไม่ได้มาทรงประหลาดๆ เหมือน GT300 ส่วนเครื่องยนต์ก็เป็นบล็อกที่ติดรถมา อย่าง NISSAN GT-R ก็ยังเป็น VR38DETT โมดิฟาย ทั้งสองรุ่นนี้ ก็จะมีข้อบังคับต่างๆ ที่คำนวณแล้วว่า “วิ่งกันได้เวลาใกล้เคียงกัน” ต่างกันไม่เกิน 5 วินาที เพื่อให้การแข่งขันนั้น “สนุก” มีการลุ้นตลอดเกมส์การแข่งขัน…

จุดสังเกต : รุ่น JAF GT300 & FIA GT3 ไฟหน้าและสติกเกอร์เบอร์จะเป็นสีเหลือง…

 

ETC : อยากรู้ว่ารถแข่งใช้เครื่องรหัสอะไร ในเว็บไซต์ www.supergt.net หน้า Results ที่บอกผลการแข่งขัน จะมีบอกรหัสเครื่องยนต์ที่ใช้ด้วยครับ…

 

สำหรับส่วนประกอบของ “เปลือก” ตัวถัง ของรถ GT500 ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวก Carbon Composite หรือ คาร์บอนไฟเบอร์ แต่ก็ข้อบังคับเหมือนกันว่าให้ใช้จุดไหนได้บ้าง และวัสดุบางอย่างก็มีข้อห้ามใช้ในบางจุด

รถ GT500 (ในภาพเป็น NISSAN GT-R) โครงสร้างด้านหน้าและหลังถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด รวมถึงช่วงล่างเดิมก็ไม่เหลือ สร้างใหม่ทั้งหมด แต่ต้องเป็นการสร้างของหน่วยงานที่ FIA รับรอง สังเกตว่าจะใช้ Pillow Ball เป็นจุดยึดที่เคลื่อนตัวได้มาก ทำให้การตอบสนองของช่วงล่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ราคาโคตรแพง

ก็สะดวกไปอีกแบบ เมื่อจะเอารถเข้า Pit ก็จะมี “ถาดพร้อมล้อเข็นรองใต้ท้อง” ยกรถขึ้นแล้วเอาตัวนี้รอง ก็จะสามารถเข็นรถเข้า Pit ได้อย่างง่ายดาย

ไปอ่านเจอใน GT300 Regulation การบังคับ Ground Clearance (ระยะต่ำสุดจากใต้ท้องรถถึงพื้นถนน) นั้น จะต้องไม่ต่ำกว่า “45 มม.” โดยที่ “บังคับแรงดันลมยาง” อยู่ที่ 160 kpa (Kilopascal) หรือประมาณ 23.3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ป้องกันการ “ลักไก่” ตอนตรวจสภาพ เกิดเติมแรงดันลมยางมากจน “ยางเบ่งสูง” วัดได้ผ่าน แต่ตอนแข่งจริงกลับไปปล่อยลมยางออก รถก็จะเตี้ยลงอีก เลยต้องมีแรงดันลมยางบังคับไว้นั่นเอง

รถแข่ง NISSAN GT-R FIA GT3 เครื่องยนต์ VR38DETT ของทีม B-MAX NDDP กับ TOYOTA 86 GT300 ของ TOYOTA TEAM THAILAND by ARTO แจ้งไว้ว่าเป็นเครื่องรหัส GTA สังเกตที่ห้องเครื่องคันนี้ดีๆ ตรงท่อไอดีจะมี Air Restrictor สีเงินเงาๆ ส่วนท่อที่เข้าท่อร่วมไอดีก็จะเป็น “ท่อลดขนาด” เพื่อจำกัดปริมาณการไหลเข้าของอากาศตามที่ Technical Regulation กำหนดไว้ในแต่ละรุ่น

HONDA CR-Z GT300 ที่ใช้เครื่อง J35A V6 ซึ่งสามารถเปลี่ยนเครื่องยนต์ข้ามรุ่น และเปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหลังได้

PORSCHE 997 RSR FIA GT3 ของทีมคนไทย i-mobile AAS ซึ่งรถในคลาส FIA GT3 ก็จะเป็นทรงแบบ Street Car เครื่องมีแรงม้า 500 PS ++ ก็ต้องโดนจำกัดแรงม้าเหมือนกัน เพราะแรงกว่า GT300 ตรงนี้จะจำกัดให้รถทั้งสองรุ่นสามารถแข่งด้วยกันได้ในเวลาห่างกันไม่เกิน 5 วินาที เกมก็จะสนุกขึ้น

ตอนนี้รถ GT300 ก็มีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับ GT500 แล้ว ก็ต้องทำให้รถเร็วขึ้นเพื่อเกมที่สนุกขึ้น

TOYOTA PRIUS เครื่องยนต์ RV8K เป็นเครื่องที่ผลิตออกมาแข่ง SUPER GT โดยเฉพาะ