Back for Top Ten !!! YA SERVICE 2UZ Dragster

Souped Up Special : XO 242 (Dragster YA Service)
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

แม้ว่าพักหลังทาง “ช่างญา” ปัญญา อร่ามรัศมี จะผันตัวไปผลิต “เกียร์ออโต้โมดิฟาย” เป็นหลัก ก็เลยหยุดการสร้างรถแข่งในระดับ Open อยู่พักใหญ่ ซึ่งคันที่วิ่งล่าสุดในรุ่น SUPER MAX ก็จะเป็น CEFIRO A31 ที่ยังคงเป็นรถแบบ Stock Body ไม่ได้เป็น Spaceframe แต่อย่างใด ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จในการที่เคยยืน Top Ten มาแล้ว หลังจากนั้นก็ปลดระวางไป จนมี “ผู้สนับสนุน” รายใหม่เกิดขึ้น คือ EAK NAGAOKA ร่วมมือกับทาง YA SERVICE ทวงบัลลังก์ “รุ่นใหญ่” คืน ไหนๆ จะไปแล้ว ต้องไปให้สุด เลยข้ามมาสร้าง SUPER DRAGSTER แบบเต็มชุด งานนี้แรงม้าระดับ “1,430 PS” ดุเดือดแบบ “ไม่มโน” โชว์กันเห็นๆ ที่สำคัญ เป็นการกลับมาของบล็อก UZ Series ที่ ช่างญา เป็นผู้ทำได้สำเร็จสมบูรณ์เป็นคนแรก คงจำกันได้นะ สำหรับ “มารชมพู” ตัวสร้างชื่อ ที่ตอนแรกเป็น RB26DETT โมดิฟายไม่มาก แต่ “รับแชมป์” SOUPED UP ทั้งปี 2004-2005 ตอนหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น 1UZ-FE แล้วก็รับ Over All อันดับ 2 ไปในปี 2006 ซึ่งเครื่อง 1UZ ช่างญา ก็เป็นผู้บุกเบิก สร้างจากเครื่องรถหรูมาให้สามารถแข่งได้ นับว่าต้องใช้ความสามารถมาก หลังจากนั้นก็เขยิบมาเล่น 2UZ-FE ที่เป็น “พิกัดใหญ่” ใน SUPRA Spaceframe สำหรับตัว Dragster ทาง ช่างญา ก็ไม่ลังเลที่จะกลับมาเล่นกับของถนัด ยังไงก็ “แรงโหดแน่นอน” จะสนานแค่ไหน ต้องรอดูในคอลัมน์นี้เท่านั้น…

ด้วยความคิดที่เปลี่ยนไป… 
ณ ตอนนี้กระแส 2JZ ก็จะเริ่ม “ทรงตัว” เพราะเล่นกันมานานจนรู้เฟืองกันไปหมดแล้ว ก็เลยเกิดกระแส “ของใหญ่” ขึ้นมา คือ 2UZ-FE ที่พื้นฐานเป็นแบบ V8 ความจุเดิมๆ มากถึง “4.7 ลิตร” เกิดมาเป็นเครื่องนิสัย Low-Revving, Hi-Torque หรือ “รอบต่ำ แรงบิดสูง” สำหรับรถ Pickup หรือ SUV ขนาดใหญ่สุดๆ ของค่าย เช่น LEXUS LX470/TOYOTA LAND CRUISER CYGNUS บอกเลยว่ามันเป็นเครื่องที่ “แรงมาน้อยที่สุดในตระกูล UZ” ซะด้วย จะใหญ่แต่ตัวหรือเปล่า แล้วทำไม ช่างญา ถึงเลือกเอาเครื่องแรงม้าน้อยสุดมาโมดิฟายล่ะ…
ถ้าจะดูกันที่ “พื้นฐาน” จริงๆ 2UZ ประการแรก “พิกัดใหญ่สุด” ซึ่ง 1UZ-FE มีความจุ 4.0 ลิตร ส่วน 3UZ-FE ที่เป็นบล็อกท้ายสุดในตระกูล มันไม่ได้ใหญ่สุดนะครับ เพราะมันมีความจุเพียง 4.3 ลิตร ทั้งสองตัวนี้จะอยู่ใน “รถยนต์นั่ง” เช่น TOYOTA CELSIOR/LEXUS LS Series หรือในสปอร์ตสุดหรูอย่าง TOYOTA SOARER/LEXUS SC Series และเป็น “เสื้อสูบอะลูมิเนียม” แต่ 2UZ เป็น “เสื้อสูบเหล็กหล่อ” ที่เน้นความทนทาน (Durability) สูง เพราะมันอยู่ในรถที่เน้นใช้งานหนัก ซึ่ง TOYOTA ก็กล้าเคลมไว้ว่า เป็นเครื่องที่ออกแบบมาให้เป็นลักษณะ “Trouble Free Engine” ทนทานสุดๆ เพียงคุณเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้ตรงตามเวลา ซ่อมบำรุงตามระยะทาง แค่นั้นเป็นพอ (ฝรั่งบอกสามารถวิ่งได้เกิน 500,000 km โดยไม่ต้องโอเวอร์ฮอล) อันนี้แหละที่ “เข้าเกือก” เพราะการนำมาโมดิฟายหนักๆ เสื้อสูบเหล็กหล่อจะทนกับบูสต์เยอะๆ ได้มากกว่าเสื้อสูบอะลูมิเนียม (หรือ “ปิเนียม” ภาษาวัยรุ่น) แถมความจุได้เปรียบถึง 4.7 ลิตร เบ่งอีกหน่อยก็แตะ 5.0 ลิตร ได้สบาย ยังไงใหญ่กว่าก็ได้เปรียบ จึงเป็นเหตุที่ “ช่างญา” เลือกมาโมดิฟายกันแบบสุดติ่ง…
สำหรับแนวความคิดในการทำเครื่องยนต์ของ ช่างญา รวมถึงหลายคนในยุคนี้เปลี่ยนไป  จากสมัยก่อนที่จะเน้น “รอบเครื่องสูง” เพราะต้องการทำแรงม้ามากๆ ยุคก่อนต้องประมาณนี้ แต่ปัจจุบัน “นิยมกลับทาง” กัน ขอ “รอบเครื่องไม่สูงจัดเกินไป ให้แรงม้ากับแรงบิดมาไว และเป็นช่วงกว้าง” ซึ่งผมเคยเขียนไปแล้วว่าสมัยนี้จะเน้น “กำลังอัดสูง” ในเครื่องเทอร์โบ ซึ่งทำได้เพราะมีตัวเลือกหลายอย่างที่ทำให้มันไม่พัง (ง่าย) เช่น เชื้อเพลิงในจำพวก “แอลกอฮอล์” ที่ออกเทนสูง แถม “เย็น” เพิ่มออกซิเจนได้อีก กล่อง ECU ที่ฉลาดและละเอียด สามารถตั้งเงื่อนไขการจูนได้มาก รวมถึงความรู้ในการประกอบเครื่องที่ทันสมัย ทำให้ทนทาน สามารถบูสต์ได้สูงบนเครื่องกำลังอัดสูงกว่าแต่ก่อน อย่างคันนี้ใช้กำลังอัด 8.5:1 ก็ไม่ถือว่าต่ำในเครื่องเทอร์โบ สำหรับเครื่องตัวนี้ ข้อได้เปรียบ คือ “ใหญ่” และ “กำลังอัดสูง” ทำให้บูสต์ติดเร็ว แม้จะเทอร์โบตัวควายๆ ขนาดนั้น มาไว เคลมไว ไม่ต้องลากรอบสูงให้เสี่ยงกับการพัง และ “มีแรงต่อเนื่อง” ทำให้เวลาเปลี่ยนเกียร์ รอบตกลงอยู่ใน Power Band เร่งต่อไปได้ ไม่ต้องรอรอบ ภาษาตัวแรงเรียกว่า “มีเนื้อ” นั่นเอง…

แอลกอฮอล์แรงง่าย แต่ “ดูแลไม่ง่าย”
หลายคนรู้ว่า หากใช้ “แอลกอฮอล์” กับรถแข่ง Drag Racing ที่เหมาะสมมากในการเพิ่มพลัง สามารถใช้กำลังอัดสูงได้ วิ่งแรงในระยะสั้นๆ แต่ใช้งานก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะด้วยตัวมันเอง “แปรสภาพเป็นน้ำได้ง่าย” ซึ่งจะกัดกร่อนระบบทางเดินน้ำมันให้เสียหายจาก “สนิม” ได้ เรียกว่า “พังทั้งระบบ” ซึ่งในวันถ่ายทำมีการ Live ส่วนมากผู้ชมก็อยากจะให้ ช่างญา ได้ “ติดเครื่องเบิ้ลโชว์เสียง” กันหน่อย แต่ทาง ช่างญา ได้ชี้แจงไว้ว่ามันสตาร์ตได้จริง แต่ต้องมี “กรรมวิธีเยอะ” พอสมควร ซึ่งจะเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก หลายคนอาจจะสงสัย สตาร์ตแค่นี้ มันทำไมดูเล่นท่ายากจังวะ??? ยากจริงครับ คอนเฟิร์ม เราลองมาดูกันหน่อยมั้ย ว่า “ทำไมท่ายาก” กับการใช้แอลกอฮอล์กับรถประเภทนี้ครับ…
ต้องถ่ายแอลกอฮอล์ทิ้งทันทีหลังจากวิ่งจบ : แอลกอฮอล์ ถ้าทิ้งไว้แล้วเจอความชื้น จะกลายสภาพเป็น “ไอน้ำ” ได้ง่าย ทำให้เกิดสนิมขึ้นในระบบทางเดินน้ำมัน เก็บไว้ไม่ได้ ต้อง “ไล่ออกจากระบบให้หมด ไม่ให้เหลือคงค้าง” แล้วก็ต้องเอาน้ำมันเบนซินอะไรสักอย่าง “ไล่ล้างอีกที” จนกว่าจะหมดแอลกอฮอล์ ถ้าจะติดเครื่องอีกที ก็ต้องไล่น้ำมันออกให้หมด แล้วเติมแอลกอฮอล์เข้าไปใหม่ รอให้เต็มระบบ ก็จะต้องทำสลับกันไปมาอย่างนี้ ไม่ได้เวอร์นะครับ อันนี้เรื่องจริง เป็นเหตุผลหลักที่จะไม่ติดเครื่องโดยไม่จำเป็น…
น้ำมันเครื่องต้องถ่ายบ่อยมาก : แอลกอฮอล์นอกจากจะเป็นไอน้ำแล้ว ตัวมันเองยังมีการกัดกร่อนสูง ทำให้เวลาฉีดไปในห้องเผาไหม้ ละอองของมันจะไปผสมกับ “น้ำมันเครื่อง” ทำให้เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติมาก เพราะมี “ไอน้ำ” ปนเยอะ และมันก็จะไปทำละลายอีกต่างหาก ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องเกรดแข่งสำหรับใช้กับแอลกอฮอล์จริงๆ ตัวมันเองจะสามารถแยก Layer หรือ “ชั้นน้ำ” ออกจากตัวน้ำมันเครื่องได้ แต่ก็ต้องถ่ายออกมาเพื่อเอาน้ำทิ้งไป แต่มันก็ต้องเปลี่ยนบ่อยกว่าปกติอยู่ดี และทำให้การเซอร์วิสต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าจะแรงด้วยเชื้อเพลิงนี้ก็ต้องยอม…
หัวฉีดและอุปกรณ์แพง : แอลกอฮอล์ให้ค่าพลังงานต่ำกว่าน้ำมันเบนซินในปริมาณการฉีดที่เท่ากัน แต่ที่ได้สูงกว่าก็คือ “ออกเทน” และ “ความเย็น” ที่เหนือกว่ามาก เพราะฉะนั้น จะต้องใช้ “หัวฉีดใหญ่” ที่มีปริมาตรการฉีดประมาณ 2 เท่าของปกติ หัวฉีดพวกนี้อย่างน้อยก็ต้อง 2,000 c.c. ++ จึงจะ “พอ” เผลอๆ ก็เบิ้ลสองหัวต่อสูบ ราคาจึงสูงกว่าปกติ พวกปั๊มติ๊ก เร็กกูเลเตอร์ ก็ต้องเป็นพวก High Flow จ่ายได้ปริมาณมากๆ กว่าปกติ เพื่อให้ “พอกิน” นั่นเอง พวกนี้ราคาจะสูง จะต้องดูแลรักษายิ่งชีพ ไม่งั้น “งานงอก” ง่ายๆ ครับ…
อยากเหนือชั้นต้องผสม “ไนโตร” : Nitromethane “ไนโตรมีเทน” เป็นสารวาบไฟที่ให้ออกซิเจนในตัวมาก ทำให้การสันดาปหรือจุดระเบิดทำได้รุนแรงสุดๆ (ก็เอาไว้ทำระเบิดทำลายล้างนั่นละครับ) พวก Top Fuel จึงใช้ไนโตรฯ เป็นเชื้อเพลิง แรงดีครับ แต่ “พกระเบิดเวลาติดตัว” ถ้าควบคุมมันไม่ได้ล่ะก็เป็นเศษ ตานี้ก็มีการผสมไนโตรฯ กับ แอลกอฮอล์ เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสม แต่คันนี้ ช่างญา บอกไว้ว่า ไม่ได้ผสมไนโตรฯ เข้าไป ยังใช้แบบเพียวๆ อยู่ ไว้วิ่งดูทรงก่อน จะผสมทีหลังหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ…

ระบบเซฟตี้ “กันบ้วน” มีผลถึงชีวิต !!!
ก็ขออีกสักเรื่องแล้วกัน คันนี้ ช่างญา ได้ทำระบบ Safety ไว้มาก เรื่องที่คาดไม่ถึงก็เช่น “ถักดักไอ” ที่เก็บน้ำมันจากการ “บ้วนทิ้ง” ของเครื่อง เวลาบูสต์สูงๆ มีกำลังอัดมากๆ เล็ดลอดจาก Clearance ลงไปที่ “แคร็งค์น้ำมันเครื่อง” มันจะทำให้เกิดการบ้วนน้ำมันออกจากฝาสูบ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เกิดมัน “บ้วนทะลัก” ออกมามากๆ จะทำให้ “เกิดอุบัติเหตุ” จากการ “เหยียบน้ำมันตัวเอง” ได้ จึงได้ทำถังดักเอาไว้ทั้งน้ำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับไว้ได้  อีกอย่าง “ถังพักน้ำขนาดใหญ่” คันนี้ก็ใส่ไว้ และมีก๊อกถ่ายทิ้งเรียบร้อย ก็เหมือนกันครับ เวลา “น้ำดัน” ออกมาจากหม้อน้ำ มันก็จะไปอยู่ในถังพักนี้ ไม่สาดลงพื้นทำให้ลื่น ยิ่งพวก Dragster จะอันตรายมาก เพราะเครื่องกับล้อหลังมันอยู่ติดกัน จริงๆ ถ้าจะให้ดีสุดๆ ควรจะมี “แพมเพิร์สเครื่อง” (Engine Diaper) รองใต้เครื่องอีกที เวลาเครื่องพัง มันจะอุ้มน้ำมันเอาไว้ ไม่ให้สาดลงพื้น เพื่อป้องกันอันตราย อันนี้สำคัญครับ ทาง ช่างญา ได้เน้นเรื่องเซฟตี้กันสุดๆ เลย…

Max Power : 1,430.80 PS @ 7,110 rpm  
Max Torque : 1,424.60 Nm @ 7,020 rpm
มหากาพย์…มหากาฬ…บานตะไท…กับแรงม้าที่สุดเท่าที่เคยทำคอลัมน์นี้มา แรงม้ามากมายถึง “1,430.80 PS” และมีตัวเลขยืนยันจากไดโนเทสต์ที่มาลงกับเรา (จริงๆ เราก็อยากจะได้เห็นกราฟแรงม้าโหดๆ กันนะครับ แต่ขอเป็นกราฟที่เพิ่งขึ้นแบบอัพเดตๆ หน่อย ไม่เอาม้าดองในอดีตชาตินะครับ) สำหรับกราฟแรงม้า (เส้นสีแดงเข้ม ดูยากหน่อยนะ) จะเริ่ม “ทะยาน” ขึ้นตั้งแต่ช่วง 5,000 rpm ซึ่ง ช่างญา บอกว่า “เทอร์โบลูกนี้บูสต์เต็มไวดี” เอาเป็นว่า ดูกันที่ “1,000 PS” ขึ้นไปเลยดีกว่า อยู่ที่รอบเพียง “5,700 rpm” เท่านั้น !!! ทะยานไป “1,200 PS” ที่ 6,400 rpm ยังทะยานสู่จุด Peak ที่ “7,110 rpm” สบายๆ หลังจากนั้นกราฟก็ยังทรงตัวอยู่จนถึง 8,000 rpm ปลายตกลงนิดหน่อยแต่ก็ไม่ใช่หล่นพรวด แต่ก็ไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แน่ ทางทีมงาน YA SERVICE จึงพอแค่นี้ก่อน…
ในด้านของ “กราฟแรงบิด” (สีแดงอ่อนกว่า ดูยากหน่อยอีกเช่นกัน แฮร่) แรงม้าระดับ “1,000 นิวตันเมตร” (Nm) หรือ “102 กก.-ม.” (kg-m) เชียวนะ ที่รอบเพียง “5,300 rpm” ทะยานไป 1200 Nm ที่ 5,800 rpm ก่อนจะขึ้นสุด Peak “1,424.60 Nm” หรือ “145.21 kg-m” ที่ “7,020 rpm” ก็พอๆ กับแรงม้านั่นแหละ หลังจากนั้นก็ตกลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 1,200 Nm เหลือเฟือครับ ก็นับว่าเป็นเครื่องที่มีช่วงกำลังมาในรอบไม่สูงเลย จากความจุที่มากถึง “4.7 ลิตร ++” นับว่าได้เปรียบอยู่มาก ไม่ต้องเค้นกันเยอะ ช่วง Power Band ในระดับ “หลักพัน” ทั้งแรงม้าและแรงบิดก็อยู่ที่ 6,000-8,000 rpm” เรียกว่าเปลี่ยนเกียร์ก็ยังอยู่ในช่วงนี้ จึงสามารถใช้ได้เต็มๆ ซึ่งได้เปรียบเครื่องเล็กก็ตรงนี้แหละครับ…

Comment : ปัญญา อร่ามรัศมี “YA SERVICE”
สำหรับคันนี้เป็น Dragster คันแรกของผม อยากจะลองดูว่ามันเป็นยังไง ก็เลยศึกษาและลองสร้างขึ้นมาดูจากข้อมูลที่เราหาได้ ความยากง่ายในการสร้างนั้น จริงๆ ก็ไม่ต่างจากรถ Spaceframe เพราะมันขึ้นจากท่อเหมือนกัน ซึ่ง Dragster คันนี้ เราจะเน้นความแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด และทำงานให้เรียบร้อยที่สุด คิดโดย “รอบคอบ” ที่สุด อันนี้สำคัญ เพราะรถมันเร็วมากขนาดนี้ ไม่มีเวลาสำหรับความผิดพลาดแน่นอน เครื่องยนต์ก็เป็น 2UZ ที่ผมถนัด ตอนแรกก็มีปัญหาบ้างครับ เช่น ปะเก็บแลบบ้าง น้ำดันบ้าง ตอนนี้ก็เน้นการประกอบที่ถูกต้อง  แก้ปัญหาจนจบ อาศัยประสบการณ์ช่วยเอา บอกก่อนว่าเครื่องตัวนี้จะเป็น “ตัวลอง” ก่อนนะครับ เครื่องตัวจริงนั้นทำรอไว้เรียบร้อยแล้ว ที่ต้องมีตัวลองเพราะจะได้รู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ที่ผ่านมาก็รับมือกับการเทสต์กว่า 30 Run ได้อย่างสบาย ส่วนเรื่องเกียร์ก็เป็นแบบใหม่ที่ผมพัฒนาขึ้นมาอยู่ ซึ่งใส่ในรถคันนี้เป็นครั้งแรก เหมือนกับเป็นการวิจัยก่อนที่จะส่งขายจริงให้ลูกค้าไปใช้ สำหรับเรื่อง “เวลา” ใน Souped Up ที่กำลังจะถึงนี้ ผมก็ตั้งเป้าไว้เหมือนๆ กับคันอื่น คือ อยากเห็นปรากฏการณ์ “Number Six” อาจจะ “6.9XX วินาที” ประมาณนี้ครับ ท้ายสุด ทางผมก็ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนกับรถคันนี้ครับ เยอะมากหลายฝ่าย ขอบคุณจากใจจริงๆ…

Comment : วสุ ปริยพาณิชย์ “จอย”
บอกตรงๆ ผมเองก็ไม่เคยขับอะไรที่มันแรงขนาดนี้มาก่อน เคยขับแต่ 2JZ กับรถ Stock Body แล้วก็ข้ามมาขับ 2UZ ใน Dragster เลย ก็จะต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะรถมันเร็วและแรงขึ้นเยอะ แต่คิดว่ามันน่าจะขับง่ายกว่ารถเฟรม ถ้าตั้งลำตรงได้แล้วก็ไปเต็มๆ ได้เลย คันนี้ทาง พี่ญา ก็จัดเต็มในด้านความสวยงามและความปลอดภัย ซึ่งรถระดับนี้มันต้องปลอดภัยที่สุด ผมเองก็ต้องใส่อุปกรณ์มากมาย เช่น HANS ยังไงก็ต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุด ผมอยากจะให้นักแข่งทุกคนเน้นเรื่องความปลอดภัยมากๆ ในรถแข่งทุกรุ่นครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของ ช่างญา YA SERVICE ที่สร้างรถระดับ Dragster ขึ้นมา เรื่องความแรงจากเครื่องตัวนี้ ผมไม่แปลกใจเท่าไร เพราะ ช่างญา ก็มีประสบการณ์กับเครื่องบล็อกนี้อยู่แล้ว มันทำแรงม้าได้ในระดับที่น่ากลัว แต่สิ่งที่ผมชอบใจมากๆ ก็คือ “ความสวยงาม” ในทุกจุด ซึ่งการติดตั้งและสร้างอุปกรณ์ต่างๆ นั้น ดูแล้ว “ยกระดับ” ไปอีกไกล รวมถึงการเก็บงานรอบคัน และ “ความปลอดภัย” ที่ใส่ใจมาก ถูกต้องครับ รถเร็วขึ้น ทุกอย่างต้อง “อัพเกรดตาม” ไม่มีการ “ขอไว้ก่อน” หรือ “ต่อรอง” เด็ดขาดในรถแข่งระดับนี้ รวมถึงรถแข่งทุกประเภทครับ…

ขอขอบคุณ
YA SERVICE : Facebook/YA MOTORSPORT, Tel. 08-1880-6673
AMNART DYNOTEST : Facebook/อำนาจ ออโต้ เซอร์วิส, Tel. 08-1365-9868

X-TRA Ordinary
เอาเรื่องเบาๆ สมองหน่อย กับชื่อเรียก “มารชมพู” นั้น เหมือนจะติดปาก เรียกรถแข่งของ YA SERVICE ทุกคัน จริงๆ แล้ว มารชมพู เป็นชื่อที่ทีมงาน XO ตั้งขึ้นมาเรียก 200 SX Spaceframe ขุมพลัง RB26DETT สมัยที่ออกมาแรกๆ เมื่อปี 2004 ซึ่งข้าพเจ้าเริ่มมาทำงานที่นี่ และเขียนถึงคันนั้นเป็น Job แรก ใน XO AUTOSPORT ไปทดสอบวิ่ง จับเวลาด้วยเครื่องมือ Vericom 3000 (VC3000) ณ สนามไทยบริดสโตน สระบุรี ด้วยความที่มันสีชมพู และ “แรง” ก็เลยพาดหัวออกมาเป็นชื่อนี้ ส่วนคันอื่น “ไม่ใช่มารชมพู” นะครับ รวมถึงคันนี้ ช่างญา ก็ไม่ได้ตั้งชื่ออะไรพิสดาร เรียกว่าเป็น YA SERVICE Dragster ก็แล้วกัน…

TECH SPEC
ภายนอก
เฟรม : YA SERVICE
ร่มเบรก : STROUD
ภายใน
พวงมาลัย : PRO-WERKS Butterfly
เกจ์วัด : STACK
วัด A/F : AEM
สวิตช์ตัดไฟ : MOROSO
ปรับบูสต์ : GReddy Profec-B Spec II
ปรับ Miss Fire : ECU=SHOP
เบาะ : JAZ DRAGSTER Seat
เข็มขัด : TAKATA (ชุดสำรอง)
ชุดแป้นเหยียบ : WILLWOODS
เครื่องยนต์
รุ่น : 2UZ-FE
ฝาสูบ : Modified by YA Service
สปริงวาล์ว : SUPERTECH
แคมชาฟต์ : KELFORD 270 องศา ลิฟต์ 10.8 มม.
ลูกสูบ : CP 95.0 มม.
ก้านสูบ : PAUTER MACHINE
พูลเลย์ข้อเหวี่ยง : ATi Super Damper
เทอร์โบ : PRECISION PRO-MOD 9.1
เวสต์เกต : TAVORN
เฮดเดอร์ : BANGMOD RACING (BRD)
ท่อร่วมไอดี : BANGMOD RACING (BRD)
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
หัวฉีด : USA Custom Order
รางหัวฉีด : YA SERVICE
คอยล์ : MSD BLASTER SS
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : ECU=SHOP
สายหัวเทียน : MSD
ไนตรัส : NOS
กล่อง ECU : ECU=SHOP S8 + Stand Alone by YA SERVICE & ECU=SHOP Team
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : YA SERVICE Air Shifter 4 สปีด
กล่องควบคุมเกียร์ : YRS Automatic Control by YA SERVICE
คลัตช์ : TITAN MOTORSPORT Centrifugal (Slip Clutch)
เพลาท้าย : STRANGE Celebrating 50 Years
เฟืองท้าย : STRANGE อัตราทด 3.9
ช่วงล่าง
ล้อหน้า : WELD ขนาด 17 x 2.5 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 16 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 22-2.5-17 นิ้ว
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 34.5-17.0-16 นิ้ว
เบรกหลัง : STRANGE

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome