Boy OYSTER Rotor Bug “Super Herbie” Dedicated to Aoe Rotary

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (Take Snap)  

แด่ผู้วายชนม์

                ชีวิตหนึ่ง มี “อาจารย์” ย่อมมี “ลูกศิษย์” และมี “ความผูกพัน” ในการ “ถ่ายทอดวิชาที่ถูกต้อง” แน่นอนครับ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แต่สิ่งที่อยู่ คือ “ความรู้” ที่ถูกส่งต่อและถูกต่อยอดพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป รถคันนี้บางมุมมอง มันอาจจะเป็นแค่ “เต่าวางโรตารี่” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ถ้าดูกันถึง “การถ่ายทอดวิชา” จาก “อาจารย์โอ๋ โรตารี่” ชื่อจริงว่า “วรวิทย์ วีระบุตร” ผู้ที่สร้าง VW KARMANN GHIA MK I สีเหลือง ใส่เครื่อง Rotary เป็น “ตำนาน” ของ VW Drag ที่ลาจากพวกเราไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเคยสร้างตำนานเอาไว้ ตั้งแต่สมัยสนาม MMC และงาน Souped Up Thailand ปี 2005 กับอันดับที่ 3 รุ่น Pro N/A ส่วนปี 2010 กลับมาอีกครั้ง รายการเดิม รถคันเดิม แข่งรุ่นเดิม และ “ได้ตำแหน่งเดิม” อีกด้วย หลังจากที่ อาจารย์โอ๋ จากไป ทาง “บอย OYSTER VW” ผู้เป็น “ศิษย์” ให้สัญญาไว้ว่า จะต้องสร้าง “Rotor Bug” ให้เสร็จ วิ่งได้ภายใน “100 วัน” แล้วก็เสร็จสมดั่งเป้าหมายที่ตั้งใจจะอุทิศให้กับ อาจารย์โอ๋ ซึ่งเป้าหมายแรก ต้องการวิ่งเวลาที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยเทียบเท่ากับเวลาที่ อาจารย์โอ๋ เคยทำไว้ ณ ตอนนี้ ทำเวลาไว้ที่ “10.8 วินาที” (ขณะที่ถ่ายทำคอลัมน์ในช่วงกลางเดือน พ.ค.) ถือว่าบรรลุเป้าหมายแรก แต่ทางเดินก็ยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้…

Super Herbie

เรื่องราวของ “เต่าโคตรมหาสนุก” เกิดขึ้น เมื่อ “บอย OYSTER” มีมโนภาพแบบ Nostalgic Hero ในวัยเด็ก กับความชอบ “Herbie” the Love Bug เบอร์ 53 ที่อยู่ในใจตลอดเวลา มาถึงคันนี้ ก็ได้สานฝันกับสิ่งที่ชอบ คันนี้เกิดขึ้นโดยการผสานแนวคิดแบบไทยๆ และตั้งใจไว้ว่า “จะคงความเป็นเต่า” เอาไว้ เช่น ตัวถังยังเป็นโครงเหล็ก มีเพียงส่วนประกอบภายนอกที่ทำเป็นไฟเบอร์เพื่อลดน้ำหนัก และทำให้ถอดเซอร์วิสได้ง่าย รวมถึงช่วงล่างที่เป็นระบบเดิมด้วย เรียกว่าทำของที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งปกติรถเต่าก็เบาอยู่แล้ว ตอนที่ยังเป็นเครื่องเดิม น้ำหนักเพียง 550 กก. เท่านั้น แต่เมื่อต้องการใช้เครื่อง Rotary ตัวถังมัน “เบาเกินไป” และเครื่อง Rotary เทอร์โบยักษ์ มันมีน้ำหนักมากกว่าเครื่องเดิม เลยต้อง Balance น้ำหนักใหม่ คันนี้ขอตั้งเป้าน้ำหนักไว้ที่ “850 กก.” แรงม้าไม่ต้องเยอะมาก ในอนาคต หากเซตทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็ตั้งเป้าไว้ “700 PS” ก็น่าจะเพียงพอกับ “เลขตัวเดียว” ซึ่งก็ต้องทดสอบและ Set Up ไปเรื่อยๆ มันไม่ง่ายเหมือนรถทั่วไปที่ทำกันเยอะๆ และใครก็รู้ว่า เมื่อเต่าน้อยทะยานทะลุความเร็ว 200 km/h ไปถึงระดับ 220-230 km/h (เป็นความเร็วสำหรับเวลาเลขตัวเดียว) มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ “ควบคุมมันให้เชื่อง” ก็คงต้องอาศัย “ฝีมือ” และ “ความบ้า” ส่วนบุคคล เรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ “คิว” มือขับของคันนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้มันไปได้ตลอดรอดฝั่ง…

Why’s Rotary Got more Power

เรื่องนี้อาจจะเป็น Part ที่เท่าไรก็จำไม่ได้ “ทำไมเครื่องโรตารี่ถึงมีกำลังมากและรอบจัด” บางคนอาจจะคิดว่ามันแรงสู้เครื่องลูกสูบ Block ยอดนิยมไม่ได้ ถ้ามองกันตามภาพรวมก็ใช่ครับ แต่ทำไมผมถึงสื่อว่า “โรตารี่มันแรงกว่า” เพราะการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องยนต์ จะต้องเทียบ “ความจุ” ของเครื่องยนต์ในปริมาตรที่เท่ากัน เครื่องยนต์ 13B-REW มีความจุสุทธิเท่ากับ “1,308 c.c.” ใน 1 โรเตอร์ จะมีความจุเท่ากับ “654 c.c.” มีกี่โรเตอร์ก็คูณเข้าไป โดยวัดจาก “หลุมห้องเผาไหม้” บนสันโรเตอร์ ที่มีทรงเหมือน “อ่างอาบน้ำ” อันนี้ต้องใช้การวัดแบบ “ตวงของเหลว” เพราะไม่สามารถวัดเป็นสูตรเหมือนกับเครื่องลูกสูบได้ ย้ำอีกทีนะครับ ว่าปริมาตรความจุของ 13B-REW คือ 1,308 c.c. เพราะฉะนั้น เครื่องความจุแค่นี้ ถ้าเทียบกับเครื่องลูกสูบที่ความจุเท่ากัน บูสต์เท่ากัน “โรตารี่แรงกว่ามากมายนัก” เวลาแข่งขัน เครื่องโรตารี่จะต้องมี Handicap หรือแต้มต่อ โดยการคูณความจุ (จำไม่ได้ว่า 1.7 หรือเปล่า) เพื่อเทียบกับเครื่องลูกสูบความจุประมาณ 2.3-2.4 ลิตร โดยประมาณนะ…

เหตุใดมันถึงแรง ให้สังเกตเรื่องแรก “กายวิภาค” ของมัน เครื่องโรตารี่ “มีชิ้นส่วนที่น้อยมาก” แรงต้านทานการหมุนจึงต่ำ ข้างในไม่มีอะไรเลยครับ ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวภายในเครื่อง มีโรเตอร์ มีเพลาเยื้องศูนย์ (Eccentric Shaft) แค่นั้นก็จบแล้วครับ แถมเป็นเครื่องที่ซ่อมง่ายด้วย แต่คนทำต้องเข้าใจนะ แคมฯกับวาล์ว ก็ไม่มีครับ ใช้ “ระยะพอร์ต” เป็นตัวกำหนดปริมาตรการไหลของไอดีและไอเสีย อีกประการ การจุดระเบิด “ถี่” มากๆ เทียบกันนะครับ เครื่องยนต์ 4 สูบ หมุน 2 รอบ (720 องศา) จุดระเบิด 4 ครั้ง โดยสมบูรณ์ (โดยจุดระเบิดทุกๆ 180 องศา เรียงลำดับตาม Firing Order ของเครื่องแต่ละรุ่น) ส่วนเครื่องยนต์ 6 สูบ ก็เหมือนกัน หมุน 2 รอบ จุดระเบิด 6 ครั้ง ส่วนโรตารี่ 1 โรเตอร์ มี 3 ห้องเผาไหม้ 2 โรเตอร์ ก็ 6 ห้องเผาไหม้ นี่ยังไม่ได้พูดถึง 4 โรเตอร์ 12 ห้องเผาไหม้อีกนะ เอาเข้าไป อย่าง 2 โรเตอร์ หมุน 1 รอบ จุดระเบิดไปแล้ว 6 ครั้ง หมุน 2 รอบ จุด “12 ครั้ง” เชียวนะ เห็นข้อแตกต่างไหมครับ ก็ไม่แปลกหรอก ว่าทำไมมันถึง “แรงและ Dag เชื้อเพลิงมหาศาล” ขนาดนั้น ส่วนเสียงที่แผดเร้าใจนั้น มันก็มาจากจังหวะจุดระเบิดที่ถี่ยิบ และช่วงพอร์ตที่สั้นนั่นเอง…

อีกประการ “ทำไมโรตารี่แรงบิดน้อยกว่าและมารอบสูงกว่าเครื่องลูกสูบที่แรงม้าเท่ากัน” อย่างเครื่อง 13B-REW ตัว 280 PS แรงบิด 32.0 kg-m ที่ 5,000 rpm ถ้าเทียบกับเครื่องความจุที่คูณ Handicap มา เช่น RB26DETT หรือ 1JZ-GTE ที่มีความจุประมาณ 2.5-2.6 ลิตร แรงบิดอยู่แถวๆ 36.0 kg-m ที่รอบแถวๆ 4,000-4,400 rpm เนื่องจากเครื่องโรตารี่จะทำงานแบบ “โรเตอร์หมุนรอบตัวเอง” ไม่เหมือนเครื่องลูกสูบ ที่ “ได้เปรียบเชิงกล” กว่า เพราะลูกสูบกระแทกลงมาในแนวตั้ง แถมมีข้อเหวี่ยงอีก ทำให้มีแรงบิดมากกว่าในรอบต่ำกว่าด้วย เพราะฉะนั้น โรตารี่จึงต้องใช้ความได้เปรียบเชิงกลของมัน คือ “รอบ” ที่สูง เพื่อผลิตแรงม้าและแรงบิด สำหรับการ Swap ก็ไม่มีอะไรมากครับ มันมีชุด Conversion kit ขายเลย หรือจะ “ทำเอง” ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก โดยการ “ชนเกียร์เดิม” แต่ก็ต้องทำไส้ในเกียร์ใหม่ให้แข็งแรง เพื่อรองรับแรงม้าสูงๆ ซึ่งคันนี้ OYSTER ก็ได้จัดการ Custom Made เรียบร้อยแล้ว…

เรื่องประหลาดของ Super Herbie

คุยกันสนุกๆ แบบมีสาระ สังเกตสิ่งที่แปลกไป ก็คือ “หม้อน้ำวางหลังคนขับ” ตอนแรกก็คิดว่าทำไมมาวางตรงนี้วะ แต่เจตนาจริงๆ แล้ว ก็คือ ต้องการถ่วงน้ำหนักไว้กลางรถ เรื่องที่สงสัยต่อมา “แล้วจะเอาลมจากไหนเป่า” อันนี้ให้ย้อนไปสังเกตรูที่  Firewall ตรงนั้นจะเป็น “รูลม” ที่จะเข้ามาจากหัวรถตอนรถวิ่ง เป่าลมเข้ามาในรถ ลมจะมี “แรงดัน” และ “แรงกด” ประการแรก “ลมจะกดพื้นรถ” ทำให้แรงลมจากพื้นรถด้านบน กับใต้ท้องรถ “มีความเร็วที่ใกล้เคียงกัน” ลดอาการ Lift Force หรือ “แรงยก” ที่จะทำให้รถลอยมากเกินไป ซึ่งด้านบนของตัวรถ ก็จะมีลมกดอยู่แล้ว อันนี้เป็นการ “หาช่องทาง” ให้ลมกดพื้นด้านบนช่วยอีกทาง แล้วลมก็จะไปเป่าหม้อน้ำ พัดลมหลังหม้อน้ำก็จะดูดลมไปเป่าออยล์คูลเลอร์และตัวเครื่องอีกทางหนึ่ง ก็นับเป็นไอเดียเก๋ๆ ที่ “ไม่ลองไม่รู้” อันนี้อยู่ที่ “ไอเดีย” ของแต่ละคนแล้วครับ…

Max Power : 465.15 hp

Max Torque : 39.61 kg-m

เสียดายจัง ว่ากราฟในครั้งนี้ เราไม่มีรอบเครื่องมาฝากกัน เพราะวัดเป็นหน่วยความเร็วมาแทน ไม่เป็นไรครับ ก็ดูลักษณะนิสัยกราฟไปก็แล้วกัน คันนี้ทำแรงม้าสูงสุดได้ “465.15 hp” นี่เป็นสเต็ปเบื้องต้นก่อน เพราะ “ต้องการเซตระบบช่วงล่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด” ก็เลยยังคงแรงม้าไว้เท่านี้ เพราะมันต้อง “จูนกันหลายอย่าง” ครับ รวมถึง “ตัวขี่” ด้วย ที่เพิ่งมาขับได้ไม่นาน จึงผลีผลามไม่ได้ แต่เซตช่วงล่างอะไรต่างๆ เรียบร้อย คนขับเริ่มชินรถ และเริ่มจะกล้าไปต่อ จึงค่อยเพิ่มแรงม้าไปในอนาคต แต่ถ้าลองพิจารณา “แรงม้าต่อน้ำหนัก” กันแล้ว ถือว่า “ไม่น้อยหน้า” เหมือนกัน เพราะน้ำหนักรถ รวมคนขับ อยู่ที่ “850 กก.” หารกับแรงม้าออกมาแล้ว ได้อัตราส่วนแบบพูดง่ายๆ คือ 1 แรงม้า รับภาระน้ำหนักเพียง 1.827 กก. เท่านั้น สำหรับลักษณะของกราฟ ก็จะเชิดปลายตามลักษณะของ “โรตารี่ เทอร์โบยักษ์” ส่วนแรงบิดก็เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็อาศัยอัตราทดเกียร์ที่ “จัดและชิด” เว้นแต่เกียร์ 1 ที่ “ทดต่ำ” เพื่อให้ออกกระโจน ฟรีทิ้งน้อย มีความเร็ว แต่ 2-3 จัดและชิด เกียร์ 4 วิ่งเข้าเส้น หมดรอบพอดี คนขับต้องเปลี่ยนเกียร์ต้องเร็วและแม่นรอบ เพราะเครื่องโรตารี่รอบขึ้นเร็วมาก โอกาสพลาดก็มีเยอะ ตรงนี้ก็ต้องพัฒนาคนขับให้ขับเก่งๆ ไว้ก่อน…

Boy Oyster’s Comment

สำหรับโปรเจ็กต์ Rotor Bug คันนี้ ก็เป็นการสืบสานต่อจาก “อาจารย์โอ๋” ผู้ล่วงลับ ซึ่งมี “คำสั่งเสีย” ไว้ว่า “ทำรถมาวิ่งเถอะ อย่าจอดมันไว้ดูเล่นๆ เฉยๆ เลย สงสารมัน” และคันนี้ อาจารย์โอ๋ ตั้งชื่อไว้ว่า “Super Herbie” เพราะมันไม่ธรรมดา ผมก็เลยต้องจัดการปลุกปั้นมันขึ้นมา ซึ่งมีเวลา 100 วัน ในการสร้างรถคันนี้ให้เสร็จและวิ่งได้ สิ่งที่ผมคิดแตกต่างจากเมืองนอกก็คือ “เน้นรถเบา แรงม้าไม่มาก แต่ต้องวิ่งดี” ไม่เหมือนกับเมืองนอกที่เน้นบ้าพลังเป็นหลัก รถคันนี้ยืนยันว่าเป็น Stock Body ของ VW Beetle เดิมๆ ไม่ได้เป็นเฟรมแต่อย่างใด ก็เรียกว่า “ทำสิ่งที่มีให้ดีที่สุด” คันนี้ก็เป็นการร่วมมือกันหลายฝ่าย เพื่อให้ทุกอย่างออกมาได้ตามต้องการ จุดมุ่งหมายของผมก็คือ “9 วินาที” และในอนาคตก็จะพัฒนาไปเป็น “8 วินาที” ด้วยรถคันนี้ ผมตั้งใจไว้ว่าจะวิ่งงาน Souped Up Thailand Records ของ XO AUTOSPORT ปีนี้ ในรุ่น Pro 4 ก็ “ตั้งใจมากๆ ครับ สำหรับงานนี้” ท้ายสุด ผมขอขอบคุณ “อาจารย์โอ๋” ที่ทำให้ผมมีทุกวันนี้ และมีรถคันนี้, “พี่หนุ่ย NEWTEC” และ “พี่ตี๋ DO BUG” สำหรับคำแนะนำดีๆ, “เล็ก  JICA TUNING” ประกอบเครื่องและให้ความรู้ควบคู่กันไป, “ตู่ โคราช” จูนกล่อง, “ต๋อง New Concept”, “คิว” มือขับคนล่าสุด และทุกคนที่ช่วยเหลือครับ…

Intaraphoom’s Comment

สั้นๆ ว่า “ชอบ” และ “ดีใจที่ได้เจอของแปลก” อาจจะไม่แปลกสำหรับเมืองนอก แต่แปลกใหม่สำหรับเมืองไทย ไม่รู้สินะ ผมอาจจะบ้าๆ เป็นปกติอยู่แล้วก็ได้ (ถ้าไม่บ้า คือ ผิดปกติ สำหรับผม) สิ่งที่มากับความแปลก คือ “ความรู้” ที่จะสร้างมันขึ้นมาให้ “วิ่งได้ดี” มันไม่ง่ายเหมือนกับ “ซื้อใส่” ทุกอย่างต้อง  Custom Made ขึ้นมา อาจจะใช้แบบจากเมืองนอก แต่มา “พัฒนา” ให้เหมาะกับเราซึ่งเป็นผู้กำหนดรูปแบบว่าจะให้ไปทรงไหน อีกประการ รถคันนี้ทำได้สวยงามและเรียบร้อยทุกจุด สไตล์คนรัก VW ที่เน้น Detail ตามสไตล์รถ Retro/Classic ซึ่งต้องมีจุดเด่นเป็นของมันเอง ตอนนี้ผมยัง Comment อะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะจะรอดู “ผลที่ออกมา” จะเป็นสิ่งตัดสินได้ครับ เอาใจช่วย “ของแปลก” คันนี้กันหน่อยละกัน…

 

Special Thanks : “OYSTER VW” สนใจทำ VW ทั้งแนว Classic และ Racing Contact : Tel. 08-6953-5353, Facebook/Boy Oystervw

TECH SPEC

ภายนอก

หัวครอบหน้า : Fiber Custom Made

หลังคา : Fold Sliding Rag top

ภายใน

เกจ์วัด : AUTO METER + VDO + HKS

พวงมาลัย : MOON EYE

เบาะ : EMPI

เข็มขัดนิรภัย : LUKE

หัวเกียร์ : EMPI

ปรับบูสต์ไฟฟ้า : New GReddy Profec

โรลบาร์ : OYSTER Custom Made

เครื่องยนต์

เครื่องยนต์ : 13B-REW by LEK JICA TUNING

พอร์ต : Bridge Port

ลิ้นปีกผีเสื้อ : OYSTER Custom Made 100 มม.

เทอร์โบ : GARRETT A/R 66

เวสต์เกต : TAVORN

หัวฉีด : 850 ซี.ซี.

เร็กกูเลเตอร์ : MALLORY

ออยล์คูลเลอร์ : EARL’S

หม้อน้ำ : เหรียญชัย (RC TURBO)

คอยล์ : MAZDASPEED

สายหัวเทียน : NOLOGY

กล่อง ECU : A’PEXi Power FC by ตู่ โคราช

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : SCAT & OYSTER Custom Made

คลัตช์ : KENNEDY

ฟลายวีล : RACING BEAT

เพลาขับ : โครโมลี by OYSTER

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า : OYSTER Custom Made

โช้คอัพหลัง : TEIN

เบรกหน้า-หลัง : ATE

ล้อหน้า-หลัง : CENTER LINE ขนาด 3 x 15 นิ้ว และ 10 x 15 นิ้ว

ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 26-8.0-15

X-TRA Ordinary

ใครคิดว่า “เต่า” จะแรงทางตรงไม่ได้ ก็คงไม่จริงเสมอไป เพราะจากการวางเครื่องด้านหลัง จะยิ่งได้เปรียบในการออกตัว เพราะ Traction กดล้อหลังพอดี และให้สังเกตตำแหน่งเครื่อง จะวางเลยแนวจุดกึ่งกลางล้อหลังไป จะยิ่งทำให้น้ำหนักกดที่ล้อหลังเพิ่มมากขึ้น ตามหลักของ “คานดีด คานงัด” ถ้าสิ่งของมีน้ำหนักและมวลเท่าเดิม หากเรายิ่งวางไกลจากจุดรับน้ำหนัก น้ำหนักก็จะยิ่งกดลงจุดรับน้ำหนักมากขึ้น แต่จะไปงัดด้านหน้าให้เบาขึ้น รถคันนี้จึงเซตความสูงให้หน้าทิ่มเล็กน้อย และโช้คอัพหน้าก็จะต้องเซตให้ Rebound หนืดมากๆ เพื่อกันหน้ายกเร็วเกินไป ซึ่งคันนี้ก็พยายามให้ “น้ำหนักอยู่กลางรถให้มากที่สุด” ไม่ให้หลังหนักเกินไป ซึ่งหลังจากการถ่ายทำ ก็มีการย้ายอุปกรณ์บางอย่างใหม่ เพื่อให้น้ำหนักสมดุลมากขึ้น ซึ่งวิธีการดู Balance แบบ “บ้านๆ” ของทาง OYSTER VW ก็คือ “ดูจากการขึ้นเทรลเลอร์” ที่มีล้อคู่เดียวอยู่ตรงกลาง เมื่อรถอยู่บนเทรลเลอร์หรือ “ลูกพ่วง” เวลายกปกติจะ “หงายเงิบ” เพราะน้ำหนักลงข้างหลังเยอะไป ก็พยายามทำให้ตกหน้ามากขึ้น เวลายกเทรลเลอร์ ถ้าไม่หงายแรงเหมือนเดิม หน้าหนักขึ้น แสดงว่าใช้ได้ อันนี้คือเบื้องต้น แต่ต้องไป “ขึ้นตาชั่ง” เป็นด่านสุดท้าย ถึงจะแม่นยำที่สุด ว่าอยู่จุดไหนเท่าไร และต้องการปรับยังไง…

Super Herbie ในบทบาทของ Drag Racing Rotor Bug ที่ OYSTER VW ทำออกมาได้อย่างเรียบร้อย สะอาด และสวยงาม ไม่จำเป็นต้องยึดติดคำว่า “รถแรงต้องไม่สวย” นะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ถ้าจะทำ

Body Shell ยังเป็นเหล็กเหมือนเดิม แต่พวกชิ้นส่วนประเภท โป่งล้อ ทำแบบถอดใส่ได้ง่าย (Quick Release) มี Wheelies Bar ซึ่งเป็นตัวสำคัญเพราะรถเต่า “หน้าเบา” พร้อมจะ “เหิน” ได้ง่าย ซึ่งในต่างประเทศ จะมีการกำหนดความสูงของล้อที่ติดตั้งบน Wheelies Bar ด้วย ว่าต้องสูงจากพื้นถนนเท่าไรในตอนจอด ล้อจะติดพื้นได้ต่อเมื่อรถออกไปแล้วเกิดอาการหน้ากระดก

แชสซีและจุดยึดเบ้าโช้คยังเป็นของเต่า ด้านหน้าเป็นถังน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนแร็คพวงมาลัย เอาของ TOYOTA มา “ตัดสั้น” มาดัดแปลงใส่ ซึ่งระบบ Rack & Pinion จะให้ความแม่นยำสูงกว่าระบบเดิม ควบคุมรถในความเร็วสูงได้ง่ายกว่า

จากคำสัญญา จาก “ศิษย์” สู่ “อาจารย์” ผู้ล่วงลับ จึงเกิดรถคันนี้ขึ้นมา

ภายในมันส์ๆ อเมริกันสไตล์ ที่ทำได้เรียบร้อย แต่ลองดูครับ รูที่เจาะไว้ตรง Firewall ด้านล่าง เจาะไว้เพื่ออะไร  ไม่ใช่แค่เบาแน่ๆ

ขุมพลังโรเตอร์แบบ “แรงกำลังดี” ซึ่งวางตามแบบเดิม เพราะต้องการวิ่งในรุ่น PRO 4 รายการ Souped Up ปลายปีนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าวางแบบ “กลับลำ” เอาเครื่องไว้ด้านใน ก็จะเป็นการ Balance น้ำหนักที่กลางรถได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ไม่ทำเพราะกติกาไม่อนุญาต

อันนี้ดัดแปลงจาก Belt ในรถทั่วไปนี่แหละ เอามารั้งไว้ไม่ให้ “ท้ายลอย” ปกติแล้วท้ายไม่น่าจะลอย เพราะแข่งควอเตอร์ไมล์ เราจะ “เร่ง” อย่างเดียวอยู่แล้ว แต่ก็ไม่แน่ เผื่อจังหวะ “ฉุกเฉิน” อย่างน้อยก็พอช่วยได้ ช่วงล่างหลังคันนี้ยังเป็นแบบ Swing Axle ดั้งเดิม ซึ่งเพลาข้าง จะมี Joint ที่ “ฝั่งเกียร์” อย่างเดียว อีกด้านเป็น “ตายตัว” กับดุมล้อเหมือนคานแข็ง คันนี้ตั้งล้อหลังเป็น “แคมเบอร์บวก” ไว้ เวลาออกตัวก็จะกดลงมาเป็น “แคมเบอร์ศูนย์” ก็คือ “ไม่แบะ” ให้หน้ายางกดแนบเต็มๆ ตรงนี้ต้อง “ลอง” ว่าตั้งแค่ไหนดี รถแต่ละคันไม่เหมือนกัน จึงยึดค่าตายตัวไม่ได้

แถมให้อีกหน่อย เต่ายุคหลังๆ เปลี่ยนเป็นระบบ Semi Trailing Arm (ด้านขวา) ส่วนด้านซ้ายเป็นแบบ Swing Axle รุ่นเก่า ลองเทียบกันดู แบบ Semi Trailing Arm จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกระดับ มี Joint 2 ฝั่ง ทำให้การเคลื่อนที่เป็นอิสระมากขึ้น และมีปีกนกเพิ่มขึ้นมา ก็จะทำให้มีความแข็งแรง และมุมล้อมีความ “คงที่” สูงขึ้น

การ “ผสมพันธุ์” ที่ลงตัวยันโลโก