เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
กลับมาแล้วครับ ยืนยันว่า Return to Retro ไม่หายไปแน่นอน เปิดศักราชปีใหม่และเดือนแห่งความรัก ด้วยรถสายพันธุ์ดุชาว “อิตาเลียน” ALFA ROMEO 1750 Coupe จัดเต็มในโฉมตัวแข่ง GTam พร้อมพรั่งด้วยการโมดิฟายแบบ “คุ้มค่าวิชา” ที่ได้ฝีมือจาก “ตัวจริง” ที่มีประสบการณ์สูงในการโมดิฟาย ทำให้รถคันนี้ | สามารถยืน “Pole Position” ได้ในรายการ Singha Classic Car Class B รายการ PRO. RACING SERIES ที่บริษัทกรังด์ปรีซ์ฯ จัดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงความสำเร็จ ว่า “แข่งได้จริง” ด้วยการครอบครองและขับขี่ของ “คุณเต้น” สีหบุตร ชุมสาย ณ อยุธยา ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีจาก PORSCHE R-Gruppe นั่นเอง… |
จากซีดาน สู่ความเป็นสปอร์ต จากเดิม คุณเต้น ก็จะมี ALFA GIULIA (จูเลีย) 4 ประตู ทำเป็นรถแข่งอยู่แล้ว แต่เมื่อได้เห็น 1750 ตัวแข่งจริงๆ แล้ว สิ่งที่นึกฝันมานาน “ทำไมไม่สองประตูวะ” ก็เริ่มหาตัว 1750 โดย “มโนภาพ” ไว้ว่าจะต้องเป็นตัวแข่ง GTam ที่เป็นของสำนัก AUTODELTA ในอเมริกา นำ 1750 GTV U.S. Version มาทำเป็นรถแข่ง รูปทรงมันยั่วใจเหลือเกิน แต่จนแล้วจนรอดก็หารถไม่ได้ แต่พรหมลิขิตมีจริง ไปเจอรถของพรรคพวกใกล้ตัวที่มีรุ่นนี้ และนำมาทำรถแข่งไปครึ่งทางแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำต่อ จึงไปขอซื้อโครงต่อมาทำ โดยให้ “ลุงเจต” ช่าง ALFA รุ่นเดอะ เป็นผู้ลงมือย้ายของจาก GIULIA ข้ามมาคันนี้ และเริ่ม “ปรุง” ให้เป็นรูปร่าง สเต็ปต่อมา ให้ “พี่หนุ่ย” NEWTEC RACING ดัดแปลง ผสมผสานเทคโนโลยีการเซ็ตอัพแบบ “รุ่นใหม่” เข้าไป โดยที่ยังไม่เสียความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม อีกท่านก็คือ “พี่ต่าย” ล่องลม บุนนาค (คุ้นหน้ากันดีกับ PORSCHE RSR R-Gruppe) ช่วยเหลือและดูแล โดยทั้งสองท่านนี้จะร่วมมือกันสร้างชิ้นงานที่เป็น CNC ขึ้นมาทั้งหมด เพื่อใส่ระบบหัวฉีด ทำให้รถคันนี้สามารถขับได้อย่าง “เสถียร” และ “ทนทาน” ประกอบกับคนขับก็เรียนรู้การขับได้ดี ไม่ถลุงรถ ทำให้ “ไอ้ค่อม” คันนี้ สามารถขึ้นรับแชมป์ประจำปีได้อย่างสบาย ใช้มา 4 ปี ตั้งแต่อยู่ใน GIULIA มาตลอด โดยเครื่องยนต์ไม่มีปัญหาเลย… |
ช่วงล่างคานแข็ง ไม่ใช่ยิ่ง “แข็ง” แล้วจะดี ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบ “คานแข็ง” ที่หลายๆ คนคิดว่ามันเป็นระบบที่ไม่ดีสำหรับรถสปอร์ต ความจริงมันก็สู้แบบ “อิสระ” ไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของ “มุมล้อ” และ “การให้ตัว” แต่คานแข็งก็มีข้อดีอีกประการ คือ “หน้ายางสัมผัสเต็มพื้น” รวมไปถึงการออกแบบเรื่องของ Links ช่วงล่าง ที่ทำได้หลายแบบ ALFA ROMEO รุ่น Classic ทั้งหลาย ก็ใช้ช่วงล่างหลังคานแข็งทั้งสิ้น แต่ก็ให้การยึดเกาะถนนที่ดี ขับสนุก Balance แจ๋ว จนหลายคนหลงใหลมัน ดังนั้น มันจึงไม่ได้เป็นข้อตัดสินว่า ช่วงล่างแบบคานแข็ง จะต้องแย่เสมอไป สำหรับการ Setting ของคันนี้ ก็จะออกแนว “เป็นกลาง” ไว้ก่อน “ไม่นิ่มเกินไป ไม่แข็งเกินไป” ถ้าแข็งเกินไป เวลาเลี้ยวแล้วรถไม่เอียง น้ำหนักไม่ Transfer มากดล้อด้านนอกโค้ง อีกประการ เมื่อรถมีอาการกระเด้งมาก ไม่มีการซับแรง ล้อก็จะลอยพ้นพื้น พอทุกอย่างแข็งหมด มันก็จะ “ไถเป็นกระดาน” ออกไป มีอาการโอเวอร์สเตียร์มากจนขับไม่ได้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่ายิ่งแข็งยิ่งดี จริงๆ ไม่ใช่ครับ ประการสุดท้าย รถเก่าไม่ควรใช้ช่วงล่างที่แข็งเกินไปทั้งหน้าและหลัง เนื่องจากตัวถังมันเก่า ถ้ากระแทกมากไปจะไม่ค่อยดีกับตัวรถ ใช้แบบแข็งประมาณหนึ่งก็พอ ทั้งนี้ จะตรงไหนดีก็ต้องผ่านการทดสอบเอาเองในแต่ละคันครับ ไม่มีสูตรตายตัว… |
ขอขอบคุณ : “คุณเต้น” เจ้าของรถ, “อาเจต ALFA” และ “พี่หนุ่ย” NEWTEC ในครั้งนี้ครับ
เครื่องยนต์ของ ALFA ROMEO นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านสมรรถนะและความจัดจ้าน ด้วยการใช้ฝาสูบระบบ DOHC มาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือแม้กระทั่งเครื่อง FIAT ก็ได้ชื่อว่าจัดจ้านเหมือนกัน ซึ่งเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ DOHC หรือ “ทวินแคม” ของมัน ก็เป็นต้นแบบของเครื่องแรงๆ ในญี่ปุ่นหลายรุ่น เช่น 2T-G 1.6 ลิตร, 18R-G 2.0 ลิตร จนไปถึง FJ20 2.0 ลิตร ต่างก็มีขั้นตอนการพัฒนามาจากเครื่องทวินแคมของอิตาลีเป็นส่วนมาก…
TECH SPEC ภายนอก Body Part : ALFAHOLIC GTam Style ฝากระโปรงหน้า-หลัง : Lightweight Fiber Fabric กระจกมองข้าง : California VILATONI ภายใน พวงมาลัย : NARDI เบาะ : RECARO Pole Position เข็มขัด : SCHROTH RACING โรลบาร์ : Custom Made ถังน้ำมัน : JAZ Safety ระบบส่งกำลัง คลัตช์ : SACH ลิมิเต็ดสลิป : ALFAHOLIC |
เครื่องยนต์ รุ่น : 75 Twin Spark ชุดเรือนลิ้นเร่ง : CNC Milling By NEWTEC RACING เฮดเดอร์ : ALFAHOLIC ท่อไอเสีย : NEWTEC RACING หม้อน้ำ : PRC (เหรียญชัย) หัวฉีด : PORSCHE 944 กล่องควบคุม : MoTeC M4 by BALL ช่วงล่าง โช้คอัพหน้า-หลัง : KONI SPORT Modified by NEWTEC RACING สปริงหน้า-หลัง : ALFAHOLIC ล้อหน้า-หลัง : ALFAHOLIC ขนาด 7 x 15 นิ้ว ยางหน้า-หลัง : DUNLOP DIREZZA Z1 STAR ขนาด 195/50R15 |