เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่
CLASSY ROTOR HEAD
RX-7 SA22C MK II “10.464 sec ของเดิมครบ จบมีรางวัล”
By TLE NAGAOKA & CMZ ROTARY
จริงๆ แล้ว เล่ม 275 นี้ ก็กะว่าจะ Pause หรือ “หยุดคอลัมน์นี้ชั่วขณะ” เพราะมันเกี่ยวกับ Drag ทั้งหมด แต่ก็ต้อง “Push Play Again” เพราะมีรถที่ “เข้าแก๊บ” กับทาง Drag 275 กับความเป็น Retro แบบเต็มระบบ นั่นก็คือ MAZDA RX-7 SA22C ที่รู้จักกันว่า “ข้าวโพด” ซึ่งเป็นรถที่ขึ้นหิ้งเก็บสะสมเป็นอย่างดี แต่ด้วยเหตุผลใด ที่ “เติ้ล NAGAOKA” พงศ์พันธ์ เกียรติศักดิ์ขจร เลือกรถรุ่นนี้มาแข่ง สิ่งที่ผมพอจะรู้สไตล์ของ เติ้ล ก็คือ “ชอบรถ Retro” และเก็บรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ คันนี้ถือว่าเป็นรถที่ “องค์ประกอบดั้งเดิมยังสวยและครบ” แต่อาจจะมีอุปกรณ์บางส่วนที่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการแข่งขันในรุ่น SUPER 4 2WD โดยที่ยังคงสภาพตัวถังเดิมๆ ไว้ ขุมพลัง 13B-REW จัดโดย CMZ Rotary แล้วก็คว้า “อันดับ 3” ในรุ่นมาครอง แต่สิ่งที่น่าสงสัยที่สุด คือ “ช่วงล่างระบบเดิม” ยังอยู่ครบ แล้วมันจะสามารถส่งกำลังลงพื้นให้ได้เวลาดีๆ ได้อย่างไร ???
สปอร์ตพันธ์แท้รุ่นแรกของตระกูล RX ที่ยังคงมีดีไซน์เหนือกาลเวลา
แม้ว่ารถรุ่นนี้จะอยู่ในช่วงยุค 70 ปลายๆ แต่ดีไซน์นั้นทันสมัยมาก ทรงที่ “ลู่ลม” แหวกอากาศได้ดี ทำให้เหนือกว่าในด้านความเร็ว และการทรงตัว เมื่อมองด้านข้างจะเหมือน “ฝักข้าวโพด” ก็เลยเป็นที่มาของนิคเนมที่คนไทยเรียก และเป็นเสน่ห์ของรถรุ่นนี้เสมอมา ที่บอกว่า “สปอร์ตพันธ์แท้” หลายคนอาจจะมีคำถามว่า “แล้วพวก RX รุ่นก่อนหน้าไม่ใช่เหรอ ก็เครื่อง Rotary เหมือนกันนี่” ถ้าย้อนกลับไปดู รถตระกูล RX-3 หรือ RX-4 มันมีรุ่น Sedan และ Wagon ร่วมด้วย แต่ RX-7 จะเป็น “บอดี้สปอร์ตอย่างเดียว” มันเลยกลายเป็นรถรุ่นตำนานที่ไม่เคยจากไปจากใจพวกเรา…
ช่วงล่างแบบเดิม เอาอยู่จริงหรือ
หลายคนอาจจะมีข้อสงสัย ว่ารถ Retro อายุ 40 ปี มันมีอะไรดีที่จะสามารถเอามาเล่น Drag ได้ หรือว่าคันนี้ “แปลงช่วงล่าง” เอาพวกแพท้าย SKYLINE ใส่ไปแล้ว ยืนยันตามในภาพครับ ว่ายังเป็นแบบ “คานแข็ง” เหมือนเดิม จริงๆ ในทาง Drag คานแข็งก็ได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะ “หน้ายางแนบเต็มพื้นตลอด” ทำให้การส่งกำลังทำได้เต็มที่ และด้วยความที่ชิ้นส่วนน้อย การสูญเสียกำลังจึงน้อย แต่ที่ “พิเศษ” กว่ารถรุ่นทั่วไป คือ รุ่นนี้จะมี Watt Links หรือ Z-Arm ตามภาษาเรียก ซึ่งตัว Watt Links นี้ จะทำหน้าที่คอย “คอนโทรลเพลาท้าย” ให้ขึ้นลงในแนว “ศูนย์กลาง” ตลอด โดยปกติ หากรถมีการเอียงตัว หรือยุบ หรือยืด Links ในแนวขวางกวาดขึ้นลง “ระยะจุดยึดมันจะเปลี่ยนไปตามรัศมีที่กวาด” ทำให้เกิดการ “ถีบ หรือรั้ง” ตัวรถก็จะไม่นิ่ง มีอาการ “แกว่งข้าง” การทรงตัวไม่ดี แต่ Watt Links จะมีจุดยึดตรงเพลาที่ “หมุนได้” เมื่อ Links แนวขวางขึ้นลง มันก็จะหมุนให้ตัว ทำให้ไม่เกิดการรั้งหรือถีบ แนวการขึ้นลงจะอยู่ที่ศูนย์กลางตลอด ทำให้รถทรงตัวดีทั้งทางตรงและทางโค้ง ตัวรถเอียงน้อย ทำให้ RX-7 รุ่นนี้มีข้อได้เปรียบรถในปีเดียวกันอยู่มาก เลยทำให้มันยังหากินได้อยู่…
ปล. ถ้าไม่เข้าใจ ไปหาใน YouTube ดู พิมพ์ “Watt Link Suspension” แล้วจะเข้าใจได้ทันที หรือ อยากดูของจริง ไปก้มดู FORD RANGER & EVEREST ตัวใหม่ดูก็ได้จ้ะ…
เหมือนจะวางเป๊ะ แต่ก็ไม่…
สำหรับเครื่องยนต์เป็น 13B-REW จาก FD3S ที่นำมาวางได้อย่างไม่เคอะเขิน เพราะเครื่องเดิมมันก็เป็น 12A แบบ “สองโรเตอร์” เหมือนกัน แต่ !!! ดูเหมือนจะวางกันได้เป๊ะๆ นะ ความจริงแล้ว “ไม่เลย” ด้วยความที่รถมันข้ามบอดี้กัน อันนี้จะ Swap ก็ดูไม่น่าจะยาก แต่จริงๆ ต้องมีดีเทลอะไรที่ลึกกว่านั้น ซึ่งผมเองก็สงสัย เลยถาม “ชัย CMZ” ก็เลยได้ข้อมูลแปลกๆ มาฝากกัน…
- แท่นเครื่อง “คนละโลก” : โดยปกติถ้าเป็นรถ Swap เครื่อง อย่าง CEFIRO วาง JZ ตำแหน่งแท่นเครื่องจะอยู่ด้านข้างเสื้อสูบ แล้วก็ทำ “แท่นโยง” ระหว่างแทนคานกับแท่นที่ตัวเครื่อง มันดูจะง่ายๆ แต่กับ RX-7 รุ่น SA กับ FD มัน “ตำแหน่งอยู่กันคนละโลก” รุ่น SA แท่นเครื่องจะอยู่ “ติดกับด้านหน้าเครื่อง” ทำให้ตำแหน่งเครื่องถอยหลังมามาก ส่วน FD ตำแหน่งแท่นเครื่องจะอยู่ “ข้างเครื่อง” แบบปกติ ซึ่งมันห่างกันมาก…
- ใช้ “ฝาหน้า 12A” : ถ้าจะวางเครื่อง FD ใน SA ก็มีวิธีเหมือนกัน คือ “ใช้ฝาหน้าเครื่อง 12A” มาประกบกับ 13B ได้เลย จะได้ไม่ต้องแปลงอะไร แต่อาจจะหายากหน่อย เพราะเครื่องมันเก่าเก็บสะสม ก็จะมี “ชุดแปลง” ที่ฝรั่งทำออกมาขาย หรือจะ Custom แบบไทยๆ ก็แล้วแต่สะดวก ถ้าเป็นรถแข่งของ CMZ ก็ใช้ “แท่นเครื่องสองตำแหน่ง” ทั้งหน้าและข้างเลย เพื่อความแน่นหนากันเครื่องสะบัดในเวลาออกตัวแรงๆ…
CMZ Style “เน้นบิดเหนือกว่าม้า”
หลายคนอาจจะคิดว่าคันนี้ต้อง “บ้าพลัง” ถึงจะเร็ว จริงๆ แรงม้าก็ต้องมีเยอะ ไม่งั้นจะไปเร็วไม่ได้ แต่ไม่ใช่เยอะจน “ล้น” คันนี้ทำเครื่องโดย “ชัย CMZ ROTARY” แรงม้าอยู่ประมาณ 7XX ซึ่งก็ไม่ได้มากมายจนขนหัวตั้ง ซึ่ง “ชัย” ก็มองว่า “ด้วยความที่รถมันน้ำหนักเบา ทรวดทรงลู่ลม แรงม้าเอาพอใช้ ได้เวลา วิ่งไม่พัง ก็เอาแล้ว” และต้องให้ “เติ้ล NAGAOKA” สามารถขับได้อย่างเต็มที่ ควบคุมได้ง่ายด้วย ก็เลยไม่เน้นแรงม้าบ้าพลังนัก ส่วนสำคัญ คือ “แรงบิด” ที่เครื่องโรตารี่จะมีน้อยกว่าเครื่องลูกสูบ อาจจะไม่น้อยกว่า แต่จะมาใน “รอบสูงมาก” ที่คนขับจะ “ไม่มีพื้นที่ให้พลาดได้เลย” ใครขับจะรู้นิสัยทันทีว่า ถ้าออก “ห้อย” ก็จบกัน อย่างคันนี้ ก็เลยเน้นแรงบิดมากกว่าแรงม้า ต้องเน้นในเรื่อง “พอร์ต” เป็นหลัก เพราะโรตารี่มันไม่มีแคมชาฟต์หรือวาล์ว “พอร์ตคือทุกสิ่งอย่างของมัน” เป็นสิ่งที่กำหนดนิสัยและแรงม้าของเครื่อง คันนี้ใช้การ “Bridge Port” แต่จะเน้น “ความกว้าง” เป็นหลัก อันนี้เหมือนเป็นการเพิ่ม “ลิฟต์” หรือ “ระยะยกของวาล์ว” ส่วนใน “ความยาว” ตามทิศทางการหมุนของโรเตอร์ ก็จะไม่เพิ่มนัก เพราะตรงนี้เปรียบเสมือน “องศาแคม” (Duration) ยิ่งเปิดยาวก็ยิ่งไปรอบสูงมากขึ้น ซึ่งต้องทำเครื่องเยอะตามไปด้วย แล้วแต่จะเลือกครับ…
X-TRA Ordinary
สำหรับ RX-7 SA22C ที่เป็นรถ Street Drag ของเมืองไทย และเป็น Idol ของ “เติ้ล” ก็คือ “น้าอ๊อด โรตารี่” ที่โด่งดังมาเมื่อช่วงปี 2000 โมดิฟายกับ “P&C GARAGE” สังกัดทีม SPY Drag Racing ทีมเดียวกับ “ป๊อปปิ” และปรากฏตัวเป็นปีสุดท้ายใน Souped Up Thailand 2004 ที่ “บ่อพลอย” แข่งในรุ่น Street Drag ติด Top Ten ด้วยนะ คันนี้ถือว่าเป็น Full Stock Body ที่สามารถใส่อุปกรณ์กลับเป็นรถบ้านได้ทันที ตัวรถเป็นรุ่น Mark I ที่หายาก ปัจจุบันรถคันนี้ “ได้ข่าว” ว่าถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นรถ “Catalogue” ที่สวยครบ และอยู่ในการครอบครองของสายเล่นที่ใครๆ ก็พอจะเดาออก…
TECH SPEC
ภายนอก
- ฝากระโปรงหน้า : RE AMEMIYA
- กันชนหน้า : RE AMEMIYA
- ฝาท้าย : TBO
ภายใน
- เบาะ : BRIDE ZETA
- เบลท์ : SIMPSON
- จอ : FuelTech FT600
- วัดรอบ : AUTO METER
เครื่องยนต์
– รุ่น : 13B-REW
– โมดิฟาย : CMZ ROTARY
– เทอร์โบ : GReddy T88-38GK
– เวสต์เกต : HKS GT2
– เฮดเดอร์ : ชาญ อินเตอร์
– อินเตอร์คูลเลอร์ : TRUST
– ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : SARD
– หัวฉีด : FIVE-O 1,600 c.c.
– รางหัวฉีด : CMZ
– หม้อน้ำ : BRD
– กล่อง ECU : FUELTECH FT-600 by กฎ จูนเนอร์
ระบบส่งกำลัง
– คลัตช์ : OS GIKEN
– เฟืองท้าย : SKYLINE 4.1
– ลิมิเต็ดสลิป : NISMO
– เพลาท้าย : NISSAN CEDRIC
ช่วงล่าง
– โช้คอัพหน้า : GAB
– โช้คอัพหลัง : RANCHO RS 9000
– ล้อ : ADVAN Oni ขนาด 17×8 นิ้ว และ 17×9 นิ้ว
– ยางหน้า : MAXXIS
– ยางหลัง : TOYO R1R ขนาด 275/40R17
- ยังคงความดั้งเดิมไว้ครบถ้วน แม้รถจะมีอายุ “4 ทศวรรษ” เข้าไปแล้ว แต่ความสวยงามทันสมัยนี่ “ลืมไม่ลง” จริงๆ ซึ่งเป็นสปอร์ตพันธ์แท้ในตระกูล RX
- ฝากระโปรงและกันชน RE AMEMIYA คันนี้เป็น Mark II ที่ปรับปรุงโฉมให้ “ใหม่” มากขึ้น ในรุ่น Mark I จะเป็น “กันชนโครเมียม” ส่วน Mark II จะเป็นพลาสติก มาพร้อมชายล่าง ดู “สปอร์ต” มากขึ้น
- มองด้านข้างก็เข้าใจใช่ไหม ว่าทำไม “ข้าวโพด” ทรงลู่ลมขนาดนี้ ทำให้ได้เปรียบในการแหวกลม ไม่เปลืองแรงม้า เป็นจุดเด่นของรุ่นนี้จริงๆ
- จะตั้ง “หน้าสูง” ไว้ เพื่อให้น้ำหนักถ่ายเทไปด้านหลังมากขึ้น
- รุ่น Mark II จะเป็น “คิ้วยางใหญ่รอบคัน” ส่วน Mark I จะเป็นคิ้วเล็ก
- ไฟท้ายก็แตกต่าง Mark II จะเป็นแบบนี้ กันชนยาง ส่วน Mark I จะเป็นไฟท้ายเล็ก กันชนโครเมียม ป้ายทะเบียนอยู่กลาง ซึ่งส่วนประกอบของบอดี้ด้านท้ายนี้จะไม่เหมือนกัน
- ขอล้อข้ามยุคมา 90 หน่อย ADVAN Oni (โอนิ) ที่เป็นแบบ 3 ชิ้น “ลาย กกน.” พื้นฐานมาจากรุ่น “A3A” กางเกงในในตำนานรุ่นแรก ยุค 70-80 ซึ่งล้อชุดนี้จะยังมีความเป็น Retro แต่มี “ขอบ 17 นิ้ว” สำหรับรถยุค 90 แต่เอามาใส่ยุค 80 ก็ไม่ถือว่าผิดแปลกไปแต่อย่างใด
- ด้วยความที่ใช้เพลา CEDRIC ที่เป็นรถขนาดใหญ่มาใส่ เพลาจะมีความกว้างมากขึ้น ทำให้ล้อกางออกมา ซึ่งเพลารุ่นนี้นิยมมาก ตรงที่มันสามารถ “เปิดตูด” ที่เสื้อเพลาได้ แล้วสามารถเอาชุดเฟือง SKYLINE R32 ใส่แทนได้เป๊ะๆ ทำให้มันฮิตมากๆ ในหมู่รถที่ใช้คานแข็ง เช่น รถ Retro และรถกระบะต่างๆ
- ภายในก็ยังสมบูรณ์อยู่ ดูแล้วได้อารมณ์ Street Drag พวงมาลัยเดิมนะจ๊ะ
- Safety Net ซึ่งตามกติกาของ Souped Up Thailand “บังคับใช้ทุกรุ่นทุกคัน” เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ “อวัยวะ” จะไม่ยื่นหลุดออกไปนอกตัวรถ ซึ่งการยึด Safety Net จะต้องยึดกับ “โรลบาร์” อย่างแน่นหนา “ห้ามยึดกับประตู” เพราะถ้าเกิดการชนแล้วประตูหลุดออกไป ก็เท่ากับไร้ความหมาย
- ยอดฮิต FuelTech FT-600 กล่องกับจอรวมกันไปเลย ส่วนวัดรอบก็ AUTO METER COBALT ที่มาในยุค 2000 “มิลเลนเนียม” แล้วครับ
- โรลบาร์ 6 จุด ตามกติกา
- ขุมพลัง 13B-REW จาก FD ที่วางลงไปได้แบบมีเทคนิคกันนิดหน่อย เทอร์โบ GReddy T88-38GK สุดฮิต เป็นฟีลลิ่งที่คนไทยคุ้นเคย
- ข้อดีของโรตารี่ คือ “ขนาดเครื่องเล็กมาก” ทำให้สามารถวางถอยมาชิด Firewall ได้มากโดยไม่ต้องตัดบอดี้ ตัวเครื่อง 13B-REW จาก FD ก็จะหนักกว่า 12A อยู่ราวๆ 40 กก.
- เพลาท้าย “เซดริกเปิดตูด” จะมีฝาด้านหลังยึดนอต 8 ตัว ให้เปิดมาเปลี่ยนชุดเฟืองท้าย SKYLINE R32 ได้โดยไม่ต้องชัก Housing เฟืองท้ายออกทั้งอัน ที่เห็นตัวแดงๆ นั่นคือ “Watt Links” ที่เป็นของดั้งเดิมตรงรุ่น มีประโยชน์มาก แต่นำมาเชื่อมใหม่เข้ากับเพลา CEDRIC ให้ใช้งานได้ดังเดิม
- ตัวสีแดงๆ จะเป็น “จุดหมุน” ได้ เวลา Links ขึ้นลง ทำให้ไม่เกิดการ “ถีบและรั้ง” เพราะเวลามันเปลี่ยนมุม ไอ้ตัวสีแดงๆ นี้ก็หมุนตามไปด้วย ทำให้เพลาขึ้นลงในแนวดิ่งเสมอกันตลอด