ว่ากันว่าหากจะดูแนวทางการพัฒนารถยนต์ของค่ายผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ให้ดูจากรถต้นแบบ หรือคอนเซ็ปต์คาร์ (Concept Car) และนั่นคือความจริงที่ปรากฏในโลกยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์หลากหลายรุ่นที่ถูกพัฒนามาจากรถต้นแบบ และโลดแล่นตามท้องถนนให้ผู้ใช้ทั่วโลกได้ขับขี่
ขณะที่ในเมืองไทยกำลังจะมีงานแสดงเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลกอย่าง บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 36 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม–5 เมษายน นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยงานนี้นับเป็นงานโชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียด้วย
แน่นอนว่าภายในงาน ค่ายรถยนต์ต่างนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาโชว์ตลอด 12 วันของการจัดงาน และสิ่งที่ผู้เข้าชมจะพลาดไม่ได้คือ บรรดารถต้นแบบ ซึ่งนับเป็นความตื่นตาตื่นใจของคนบ้ารถอย่างแท้จริง โดยภายในมอเตอร์โชว์ 2015 ครั้งนี้ จะมีรถต้นแบบมาให้ยลโฉมทั้งสิ้น 3 คัน จาก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ พร้อมด้วยม็อกอัพตัวแรงอีก 1 รุ่น ที่ถูกนำเข้ามาให้ชาวไทยได้ยลโฉมด้วยเช่นกัน
กระแสการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกเพื่อมุ่งสู่รถยนต์ที่จะเป็นอนาคตแห่งการลดละเลิกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระยะ 10 ปีหลัง ดูจะเริ่มร้อนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเทรนด์ที่หลายค่ายเริ่มเทหันมาให้ความสนใจในการค้นคว้า และวิจัย คือเรื่องของรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicle – FCV)
ในฐานะพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก การแสดงความเป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่โตโยต้ามุ่งมั่นมาโดยตลอด การเปิดตัว ‘โตโยต้า มิไร’(TOYOTA MIRAI) รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicle – FCV) เป็นระบบเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า (Toyota Fuel Cell System-TFCS) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการผสานการทำงานของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงกับนวัตกรรมไฮบริด ออกสู่สายตาประชาชนโลก เป็นการส่งสัญญาณว่า ‘ยุคใหม่แห่งยานยนต์’ กำลังเริ่มต้นขึ้น
โตโยต้า มิไร มีขนาดตัวถัง ยาว 4,890 มม. กว้าง 1,815 มม. สูง 1,535 มม. ระยะฐานล้อ 2,780 มม. ระยะห่างระหว่างล้อหน้าด้านซ้ายและขวา (ล้อหน้า/ล้อหลัง) 1,535/1,545 มม. ความสูงจากพื้นรถที่น้อยที่สุด 130 มม. ความยาวภายในห้องโดยสาร 2,040 มม. ความกว้างภายในห้องโดยสาร 1,465 มม. ความสูงภายในห้องโดยสาร 1,185 มม. น้ำหนักรวม 1,850 กก. จำนวนที่นั่ง 4 คน พร้อมกับล้ออะลูมิเนียมขนาด 17 นิ้ว น้ำหนักเบา
โดยระบบเซลล์เชื้อเพลิงลิขสิทธิ์ใหม่ล่าสุดของโตโยต้า อย่างเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า (FC Stack) และถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูง ที่ถูกนำมาใช้ในมิไร นั้น กล่าวได้ว่าประหยัดพลังงานกว่าระบบเครื่องยนต์เผาไหม้และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือสารที่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ (Substance of Concern—SOCs) ขับได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น รวมถึงใช้เวลาในการเติมพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแค่เพียงสามนาที
‘มิไร’ คือยนตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ยานยนต์รุ่นใหม่ควรจะมี ทั้งดีไซน์โดดเด่นสะดุดตา ประกอบกับการขับขี่ที่เหนือชั้นด้วยเสถียรภาพแห่งการควบคุมยานยนต์ที่เหนือกว่า ทั้งยังประกอบไปด้วยระบบเทเลมาติกส์ (Telematics Service) เพื่อให้มั่นใจว่าการขับขี่จะปลอดภัย มีเสถียรภาพ และสะดวกสบาย อีกทั้งรถรุ่นนี้ยังสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ทรงประสิทธิภาพถึงสองเท่า หากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ
พลังงานไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกอีกประเภทหนึ่ง เมื่อได้รับแรงอัด มวลความหนาแน่นของพลังงานไฮโดรเจนจะสูงกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งความสะดวกในการเก็บรักษา และการขนส่ง ให้กำลังสูงสุด 114 กิโลวัตต์ (155 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 335 นิวตันเมตร (34.2 กิโลกรัม-เมตร) แบตเตอรี่ประเภท นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ (Nickel-metal hydride)
ด้วยการออกแบบด้านความปลอดภัยของยานยนต์ มาพร้อมอุปกรณ์นิรภัยครบครัน ผ่านหลักการพื้นฐานเพื่อรับประกันว่าไฮโดรเจนจะต้องไม่รั่วซึมออกมา ในกรณีฉุกเฉินอาจมีการรั่วซึม จะสามารถตรวจจับและหยุดการรั่วซึมของไฮโดรเจนได้ทันที ทั้งยังป้องกันไม่ให้ไฮโดรเจนสะสมในตัวถังรถอีกด้วย
ระบบนำทาง T-Connect (T-Connect Data Communication Module – DCM) มาพร้อมฟังก์ชันพิเศษ มีรายการแจ้งตำแหน่งสถานีเติมไฮโดรเจน (Hydrogen Station List) โดยแอพพลิเคชั่นนำเสนอผ่านจอแสดงผลระบบนำทางเพื่อแสดงข้อมูลและเวลาทำการของศูนย์จ่ายพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 3 แห่งใกล้เคียง โดยระบุตำแหน่งจากพิกัดของรถ ณ เวลานั้น
พร้อมด้วยแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน “พ็อกเกต มิไร” (Pocket Mirai) แสดงข้อมูลและเวลาทำการของศูนย์จ่ายพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั่วประเทศ แสดงปริมาณเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคงเหลือ ระยะทางขับขี่ และเวลาที่สมควรในการเติมพลังงาน มีฟังก์ชันบันทึกการเติมพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเกมที่จะช่วยให้การขับรถสนุกขึ้น
ค่ายใบพัดสีฟ้ามักมีทีเด็ดมาดึงดูดสายตาผู้เข้าชมงานบางกอก มอเตอร์โชว์ อยู่เสมอ ซึ่งรถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ที่ บีเอ็มดับเบิลยู เคยนำมาเสนอแต่ละตัว คล้อยหลังไม่นานนักเราจะได้เห็นเป็นโปรดักชั่นคาร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า วิ่งเกลื่อนถนนเมืองไทย ยกตัวอย่าง BMW i8 ที่งานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ผ่านมา เศรษฐีแห่จองกันจนต้องเพิ่มโควต้าไปหลายเท่าตัว
ในปีนี้ บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ขนรถคอนเซ็ปต์ที่เตรียมจะแปลงร่างเป็นโปรดักชั่นคาร์ในอนาคตมาอวดโฉม เพื่อหยั่งเชิงตลาดและสร้างการรับรู้ไปถึงกลุ่มลูกค้าผู้หลงใหลในนวัตกรรมจากค่ายรถยนต์สัญชาติเยอรมันด้วยกันถึง 2 รุ่น โดยไฮไลต์ในบูธของบีเอ็มดับเบิลยู ก็คือ BMW Concept X5 eDrive (บีเอ็มดับเบิลยู คอนเซ็ปต์ เอ็กซ์5 อีไดรฟ์)
รถรุ่นนี้เรียกเสียงฮือฮาจากสาวกบีเอ็มดับเบิลยูได้เป็นอย่างดี หลังจากเปิดตัวไปในต่างประเทศ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูบึกบึน พร้อมลุยไปได้ทุกที่ คงความเป็นเอกลักษณ์ของเอสยูวีจากบีเอ็มฯ รถรุ่นนี้มาพร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ ทวินพาวเวอร์ เทอร์โบ กำลัง 180 กิโลวัตต์ (245 แรงม้า) โดยจะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ขุมกำลัง 70 กิโลวัตต์ (95 แรงม้า) โดยในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออน สามารถชาร์จพลังงานได้จากไฟบ้านทั่วไปและเดินทางได้ไกลถึง 30 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง
BMW Concept X5 eDrive สามารถเลือกปรับโหมดการขับขี่ (BMW Driving Experience) ได้ 3 รูปแบบตามความต้องการของผู้ขับหรือรูปแบบการขับขี่ ประกอบไปด้วยโหมด AUTO eDrive สำหรับการขับขี่ที่ต้องการความสปอร์ต เร้าใจ และประหยัดเชื้อเพลิง อีกโหมดคือ MAX eDrive เครื่องยนต์จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว ไม่ปล่อยควันเสีย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ โหมด SAVE Battery สำหรับประหยัดพลังงานขณะที่แบตเตอรี่ใกล้จะหมด
นอกจากนั้น รถรุ่นนี้ยังติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ใต้บริเวณพื้นที่เก็บสัมภาระ ทำให้ไม่สูญเสียเนื้อที่มากนัก จึงทำให้เนื้อที่จัดเก็บสัมภาระมีขนาดใหญ่ สามารถเก็บกระเป๋าใบใหญ่ได้ 2 ใบและถุงกอล์ฟขนาด 46 นิ้วได้ 4 ถุง
โยกกันไปดูน้องตัวเล็กในเครือบีเอ็มดับเบิลยู อย่าง มินิ ที่ในปีนี้นำรถคอนเซ็ปต์ที่เพิ่งจะเปิดตัวเป็นครั้งแรกไปในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2014 มาจอดอวดโฉมให้ชาวไทยได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับ MINI Clubman Concept (มินิ คลับแมน คอนเซ็ปต์ ) รถที่มาพร้อมกับดีไซน์หรูหรา มีระดับ พร้อมใส่ใจทุกรายละเอียดในการออกแบบ รูปลักษณ์ทันสมัย ด้วยเนื้อที่กว้างขวางสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย
มินิ คลับแมน คอนเซ็ปต์ ที่ถูกนำมาโชว์ในครั้งนี้จะเป็นรุ่น 4 ประตู มี 5 ที่นั่ง พร้อมด้วยขนาดของห้องโดยสารที่กว้างขึ้น แผงคอนโซล อุปกรณ์ภายในต่างๆ ตกแต่งในโทนสี Sky Blue เบาะหนังแท้สี Berry Red ขนาดตัวถังมีความยาวและกว้างกว่า มินิ คลับ แมน รุ่นปัจจุบัน ถึง 26 เซนติเมตร และ 17 เซนติมเตร ตามลำดับ โดยหากมองจากด้านข้างจะช่วยให้มองเห็นความเป็นมินิ คลับแมน ได้ชัดเจน พร้อมด้วยการออกแบบให้เส้นหลังคามีขนาดที่ยาวขึ้น ช่วยทำให้รถมีพื้นที่ใช้สอยได้มากกว่าเดิม
จุดเด่นของภายนอกรถยนต์อยู่ที่บริเวณด้านท้ายของตัวรถ ที่ยกเลิกการใช้เหล็กมาเป็นวัสดุในการผลิตเป็นกรอบประตู ด้านของไฟท้ายออกแบบมาในแนวนอน มีรายละเอียดของลวดลายในดวงไฟค่อนข้างมาก พร้อมด้วยการออกแบบบานพับของประตูเป็นแบบ Split doors เพื่อให้สามารถเปิดประตูออกได้กว้างขึ้น ทำให้สูญเสียพื้นที่เก็บสัมภาระน้อยลง
Porsche 919 Hybrid (ปอร์เช่ 919 ไฮบริด) หากจะเรียกรถรุ่นนี้ว่าต้นแบบคงจะไม่ถูกนัก เพราะเพิ่งได้ทำการเปิดตัวออกสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการไปในงาน เจนีวา อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2014 โดดเด่นด้วยนวัตกรรมระบบขับเคลื่อนที่ล้ำสมัย มาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 2 ลิตร V4 Turbocharged มอเตอร์ไฟฟ้าจะให้พละกำลังเครื่องยนต์ไปที่ล้อหน้า มาพร้อมกับระบบเรียกพลังงานกลับมาใช้ 2 ระบบ (energy recovery systems) รุ่นใหม่
รถรุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลงแข่งขันในรายการWorld Endurance Championship series และ 24 hours of Le Mans โดยรถรุ่นนี้จะไม่ใช่แค่เพียงรถที่เร็วที่สุดอีกต่อไป หากแต่จะเป็นรถที่จะวิ่งได้ไกลยิ่งกว่าด้วยพลังงานที่มีมากขึ้น และเป็นรถแข่งที่มีความท้าทายซับซ้อนที่สุดตั้งแต่ปอร์เช่เคยสร้างมา
ปอร์เช่ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) คือผลลัพธ์ของการรักษาความสมดุลของแนวคิดหลัก การรวมชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทั้งหมดให้กลายมาเป็นชิ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เครื่องยนต์สันดาปไปจนถึงระบบการหมุนเวียนพลังงานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Energy recover system), ตัวถังและระบบส่งกำลัง, หลักอากาศพลศาสตร์และหลักสรีรศาสตร์ของผู้ขับขี่
เครื่องยนต์ตัว V ขนาดกะทัดรัด 4 สูบ และทำงานร่วมกับตัวถังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์ตามหลักปรัชญาการลดขนาดเพื่อเน้นอนาคต โดยเครื่องยนต์มีขนาด 2 ลิตร มาพร้อมกับระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรงและ Mono-turbocharging เครื่องยนต์สามารถวิ่งไปได้จนถึงความเร็วที่ 9,000 รอบต่อนาที และมีกำลังขับประมาณ 500 แรงม้า และด้วยความสมบูรณ์แบบของรถคันนี้ แสดงให้เห็นถึงการพยายามคิดค้นและพัฒนาสินค้าอย่างไม่หยุดนิ่งของปอร์เช่ และการก้าวเข้าไปรุกวงการมอเตอร์สปอร์ตด้วยรถไฮบริด จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง
สรุปสุดท้าย แม้ในปีนี้งานบางกอก มอเตอร์โชว์ จะไม่ได้คึกคักไปด้วยกองทัพรถต้นแบบเหมือนเช่นในหลายปีที่ผ่าน แต่สิ่งที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า รถต้นแบบเป็นตัวกำหนดทิศทางแห่งอนาคตของรถยนต์แต่ละรุ่นจากแบรนด์ต่างๆ ก็คือกองทัพรถใหม่ป้ายแดงที่จอดอวดตัวกันอยู่แน่นขนัดภายในงานปีนี้ ใครพลาดไปเสียดายแย่ !
Cr. หนังสือพิมยวดยาน