รวมสเต็ป “หายใจเอง” วิ่ง “9” จาก ECU=SHOP THAILAND
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : แชมป์ สุระเสน (Sammy EK)
ก็อย่างที่ผมเคยบอกไป (แต่ตอนไหนจำไม่ได้) ว่า การจะดู Souped Up Thailand Records ให้สนุก อย่าโฟกัสแต่เพียงรุ่นใหญ่เท่านั้น ให้หันมามองรุ่นเล็กกันบ้าง ในอดีต รุ่น PRO 4 N/A ถือว่าเล็กสุดในรายการของเรา ซึ่งคนดูก็ไม่ค่อยให้ความสนใจกันนัก เพราะมองแค่ว่าไม่ได้ทำอะไรกันมาก แต่ไปๆ มาๆ ตัวรถมีการพัฒนามากขึ้น ทำเวลาเร็วขึ้นเรื่อยๆ มันกลายเป็น “เสน่ห์” ไปอีกแบบ เพราะมัน “แรงแบบไร้หอย” กำลังจากเครื่องเพียวๆ ซึ่งตอนนี้ “ไปกันใหญ่” กับเวลา “9 วินาที” ด้วยขุมพลัง K Series ที่เบ่งความจุไปแถวๆ 2.9 ลิตร กันแล้ว !!! แถมระบบส่งกำลัง ไอ้นั่น ไอ้นู่น ไอ้นี่ ก็ต้องลงทุนสูงเพิ่ม ใส่เทคโนโลยีเข้าไปอีกเพียบ นับว่ามีการแข่งขันสูงมาก สำหรับ “คู่โหดไร้หอย” ครั้งนี้ ก็เป็น CIVIC EG จาก ECU=SHOP THAILAND คัน “พระเอก” เสร็จใหม่ๆ เป็นแบบ “Spaceframe” เต็มระบบ เรียกว่าสร้างเพื่อ “ทำลายสถิติ” โดยเฉพาะ ส่วนอีกคันก็เป็น “พระเอก” เหมือนกัน เพราะยืนแชมป์ PRO 4 N/A เมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ขยับสเต็ปใหม่อีกหน่อย บอกก่อนว่า “สิ่งที่น่าสนใจ” ในสองคันนี้ คือ “เทคโนโลยีและลูกเล่นแปลกๆ ไฮเทคที่ใส่เข้าไป” จัดไปครับ อย่ามัวเสียเวลา…
สำหรับรุ่น PRO 4 N/A ที่ “ไร้หอย” ในการเบ่งพลัง ทุกอย่างมาจากเครื่องล้วนๆ ห้ามใช้ “สารระเหย” เพิ่มพลังใดๆ ทั้งสิ้น อาจจะดูง่าย เหมือนไม่มีอะไรมาก แต่จริงๆ ตอนนี้ “เต็มเม็ด” ครับ ให้ลองคิดมุมกลับว่า เครื่องไร้หอยแรงๆ มันจะต้อง “ทำเยอะ” และ “ความละเอียดสูง” ไม่แพ้เครื่องติดหอย ม้าหลักพัน ซึ่งเครื่องเทอร์โบ ถ้าจะแรงมันก็ไม่ยาก (ขอให้ตังค์ถึงๆ) เวลาจะเสกแรงม้าก็ “ปรับบูสต์เพิ่มได้ทันใด” เวลา “ฉุกเฉิน” แต่เครื่องไร้หอยไม่ได้ ไม่มีบูสต์ให้ปรับ เพราะฉะนั้น “ไม่สามารถเพิ่มพลังแบบทันทีทันใดได้” สิ่งหนึ่งที่ต้องมี คือ “ความชัวร์” รวมไปถึง “คนขับ” ที่จะต้อง “แม่นยำ” ตั้งแต่การ “เบิร์นยาง” ต้องเบิร์นเวลาเท่านี้ กี่วินาที สปีดล้อเท่านี้ รอบเท่านี้ ถึงจะได้ความเหนียวที่ต้องการ เหนียวมากไปก็ออกตัวไม่ได้อีก เหนียวน้อยไปก็ฟรีทิ้ง ต้องทำให้เป็น Routine หรือเป็นสูตรสำเร็จให้เหมือนกัน การเปลี่ยนเกียร์ เนื่องจากเครื่อง N/A “ใช้รอบจัดในการเรียกพลัง” เกียร์อัตราทดชิด ต้องประคองให้มัน “ไปได้ต่อเนื่อง” ตลอด เวลาจะออกมาดี แต่ถ้า “เป๋” ผิดทรง จะกู้คืนก็เสียเวลามากหน่อย ทุกอย่างจึงมีส่วนสำคัญมาก จริงๆ มันสำคัญ “เหมือนกันทุกรุ่น” นั่นแหละ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่ารุ่น PRO 4 N/A จะ “อะไรก็ได้” ขับไงก็ได้ ไม่จริงครับ ต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่…
- บอกตรงๆ โหดจริงคันนี้ แม้ว่าจะเป็นรุ่น N/A ก็ใส่เต็มเหมือนรุ่นใหญ่
Drop Head on Frame
สำหรับคันแรกที่เราจะนำเสนอ จะเป็น CIVIC EG ที่สร้างขึ้นเป็นแบบ Full Spaceframe ทั้งคัน โดยมีจุดประสงค์ในการ “สร้างเวลาใหม่” ด้วยข้อจำกัดของรถ Stock Body ที่มีเรื่องน้ำหนัก และส่วนอื่นๆ อีก ดังนั้น การแก้ข้อจำกัดเหล่านี้มีเพียงอย่างเดียว คือ “สร้างรถใหม่ในแบบที่เราต้องการเท่านั้น” ก็เลยออกมาเป็นเฟรมคันนี้ ตัวเฟรมทาง ECU=SHOP สร้างขึ้น โดยมีการควบคุมการผลิตจาก “ป๋าแดง Drag Master” เจ้าเก่าในวงการ ส่วน “องค์ประกอบ” เราจะเล่าเป็นข้อๆ ไป เพื่อให้ “อ่านง่าย” ครับ…
- แบน กว้าง เตี้ย แผงหน้านี่จริงๆ ก็ทำหน้าที่เหมือน “อินเตอร์คูลเลอร์” ในรถยนต์ เพราะทำหน้าที่หล่อเย็นไอดีก่อนเข้าเครื่อง แต่นี่ใช้น้ำแข็งแห้ง เย็นจับใจตับไตไส้พุงกันเลย ยิ่งวิ่งเร็ว ลมยิ่งนำพาความเย็นเข้าเครื่องได้อย่างรวดเร็ว
- ในด้าน “บอดี้” คันนี้ก็สร้างให้ “Low & Wide” หลังคาจะเตี้ยกว่าเดิม ครั้นจะเอารถ Stock Body มาตัดหลังคาเตี้ยก็คงจะวุ่นวาย ไหนๆ ก็สร้างใหม่เลยดีกว่า โดยเน้นเรื่อง “อากาศพลศาสตร์” ที่เหมาะสม เนื่องจากแรงม้าเรามีจำกัดในระดับหนึ่ง จึงต้อง “ลดภาระ” ให้กับเครื่องยนต์ให้มากที่สุด พูดง่ายๆ ทำให้รถมัน “แหวกลม” ได้ง่าย ก็ทำให้ความเร็วปลายมากขึ้น มันได้ผลตรงนี้มากครับ…
- สิ่งหนึ่งที่เน้นมาก คือ Under Body หรือ “ใต้ท้องรถ” หลายคนอาจจะมองข้าม แต่จริงๆ มันมีผลมากไม่แพ้ด้านบนเลยนะ เวลาวิ่งเร็วๆ ธรรมชาติของลมจะ “ช้อนรถ” ให้ลอยขึ้น (Air Lift Force) แถมใต้ท้องรถทั่วไปก็ไม่เรียบ มีอุปกรณ์นั่นนี่เยอะแยะ กระแสลมจะ “ปั่นป่วน” (Turbulence) จะยิ่งทำให้เกิดแรงยกมากขึ้น ทำให้รถเกาะถนนด้อยลง ครั้นจะใส่ Aero Part ก็จะดูรุงรัง และยัง “ไม่พอ” เพราะยังไงพื้นที่ใต้ท้องรถก็ยังมากกว่าอยู่ดี ให้สังเกตรถแข่งแบบเต็มระบบ ใต้ท้องจะถูกปิดทั้งหมด ด้านหลังก็จะเป็นครีบ Diffuser เพื่อ “จัดระเบียบลม” ให้ไหลออกเร็วที่สุด เพื่อทำให้ “แรงดันลมใต้ท้องรถต่ำลงกว่าแรงดันลมด้านบน” ก็จะกลายเป็น “แรงกด” (Down Force) รถก็จะเกาะถนนมากขึ้นในความเร็วสูงครับ…
- เรื่อง “น้ำหนัก” ก็สำคัญ ตอนรถ Stock Body น้ำหนักอยู่พิกัด “800 กก.” ถ้าจะลดน้ำหนักก็ต้อง “ตัดเฉือน” อีก ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะปลอดภัย ก็เลยสร้างรถเฟรมขึ้นมา อย่างน้อยน้ำหนักก็อยู่แถวๆ “700 กก.” โดยยังมีความปลอดภัย เพราะเรากำหนดจุดที่ต้องการความแข็งแรงสูงสุด และจุดที่ไม่ต้องแข็งแรงมาก เพื่อให้น้ำหนักเบาได้เอง…
- อเมริกันสไตล์ นิยาม “หลังคาเตี้ย” หรือ “Drop Head” ได้อารมณ์มาก
- ด้านหลังก็ทำ Diffuser ขนาด “บะเฮิ่ม” เอาไว้ เพื่อรีดลมออกจากใต้ท้องให้เร็วที่สุด
- สปอยเลอร์หลัง “กระดกจากแรงลม” ช่วยเบรกที่ความเร็วสูง โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเบรกที่รถ
- ในส่วนของ “ช่วงล่าง” ก็สร้างใหม่ทั้งหมด โดยเน้น “รถเตี้ยที่สุด” เท่าที่จะทำแล้วไม่เกิดผลเสีย ถ้าเป็น Stock Body เอามาโหลดขนาดนี้ก็จะต้อง “ตัด ผ่า เลื่อน” เพื่อให้ Roll Center ของช่วงล่างเหมาะสม มันคนละเรื่องกับการโหลดรถปกติที่พอเตี้ยมากๆ มุมการทำงานของช่วงล่างจะ “แหงน” และ “งัด” ทำให้รถกระด้าง ไม่เกาะถนน ช่วงล่างไม่ทำงาน แต่กับรถเตี้ยที่เลื่อนจุดยึดของช่วงล่าง จะ Roll Center หรือมุม Arm Sweep (มุมการขึ้น-ลงของปีกนก) ถ้าทำให้ถูก รถก็จะเกาะถนนมาก ช่วงล่างทำงานได้เต็มที่ แถมยังมีความนุ่มไม่กระด้างมากมายเหมือนรถธรรมดาที่โหลดกันผิดวิธีแม้แต่น้อย…
- ปีกนกหน้า เป็นรูปแบบ Double A-Arms ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความสูงที่กำหนดไว้ “ตั้งแต่แรก” พูดง่ายๆ การสร้างช่วงล่างก็จะต้องรู้เรื่อง “ความสูงที่ต้องการ” ก่อนเพื่อน แล้วก็รู้เรื่องของ “ขนาดล้อและยาง” ที่จะใช้ หลังจากนั้นจึงสร้างตามที่เรากำหนด ไม่ใช่สร้างขึ้นมาแล้วแก้ทีหลัง “ผิดขั้นตอน” ครับ สำหรับปีกนกชุดนี้ สร้างให้มุมล้อ “ไม่เปลี่ยน” ตั้งฉากตลอดเวลา ไม่ว่าจะจังหวะยุบหรือยืด หน้ายางจะกดเต็มตลอด ทำให้ Traction ไม่หายไปไหน…
- ส่วนด้านหลังก็ไม่มีอะไรมาก เน้นโครงสร้างง่ายๆ เบาๆ เพราะเป็นเพียง “ล้อตาม” แต่ก็มี “กันเซ” ไว้ประคองในความเร็วสูงก็พอ…
- ดูว่าเตี้ยจริงๆ ซึ่งช่วงล่างจะต้องสร้างหลังจากกำหนดความสูงให้ได้ก่อน เพื่อกำหนดมุมล้อที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำแล้วค่อยมากำหนดความสูง แล้วก็ต้องมาแก้ช่วงล่างทีหลัง
- ภายในก็เรียบๆ โล่งๆ ดีที่สุด รถแข่งอย่าทำให้ยุ่งยากและรุงรัง กล่องควบคุมต่างๆ Links กันหมด ในแนว “รถวิทยาศาสตร์”
- ระบบเบรก ปกติรถพวกนี้จะเป็น “เบรกเล็ก” เพื่อให้น้ำหนักเบา มันจึงค่อยๆ ชะลอความเร็ว จะใส่เบรกใหญ่ก็ใช่ที่ เลยใช้ของฟรี “Air Brake Spoiler” โดยการใช้ “หางกระดก” เวลาเบรกเพื่อให้ต้านลม เหมือนเครื่องบินเวลา Landing ลงจอด…
- สำหรับเบรกหลัง จะใช้เบรกของ “จักรยาน” เน้นเบาสุดๆ แต่ดัดแปลงให้เป็นระบบ “ลม” ทำงานร่วมกับสปอยเลอร์เวลาเบรก ซึ่งแยกวงจรจากเบรกหน้าที่เป็นระบบปกติ…
- พูดถึงเรื่อง Traction Control (TRC) คันนี้ก็ “ต้องมี” ครับ สมัยก่อนรถแข่งก็ว่ากันเพียวๆ แต่ตอนนี้พัฒนาไปใช้ “ระบบช่วย” ต่างๆ เพื่อลดภาระ และลดอาการ Human Error ให้กับ “ตัวขี่” พูดง่ายๆ ขับไปอย่างเดียวตามที่วางแผนไว้ ส่วนอื่นๆ ระบบมันช่วยควบคุมให้ สำหรับระบบ Traction ที่ ECU=SHOP ได้สร้างขึ้นเป็นแบบ Close Loop ใช้การประมวลผลจากหลายอย่าง เช่น…
- Wheel Speed Sensor หรือ “เซ็นเซอร์ความเร็วที่ล้อหน้าและหลัง” คอยจับอาการว่าล้อสลิปไปมากน้อยแค่ไหน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จาก “รอบการหมุนของล้อหน้าและหลัง” ว่ามีส่วนต่างกันแค่ไหน ถ้าล้อขับเคลื่อน (คันนี้เป็นล้อหน้า) เกิดการสลิปเกินกว่าที่กำหนด มันจะสั่งกล่อง OCTANE MAX 4 “ลดกำลังเครื่องลง” โดยการ “ลดองศาไฟจุดระเบิด” (Retard Ignition) ในอัตราส่วนที่ล้อสลิป จนกว่าล้อจะเลิกสลิป แล้วมันจะสั่งองศาไฟจุดระเบิดตามปกติ เพื่อให้กำลังเครื่องกลับมาเต็มที่…
- “เคยีบเจ็ด” มาเต็มอารมณ์ วางอุปกรณ์ได้สวย ถังสองฝั่งด้านหน้ามีหน้าที่ Balance น้ำหนักลงล้อหน้า ยิ่งมาอยู่ Over Hang ด้านหน้าล้อ น้ำหนักก็จะยิ่งกดมากขึ้น ถังเชื้อเพลิงสีเงิน ส่วนถังสีดำเป็น “น้ำแข็งแห้ง” มีมอเตอร์และ “ปั๊มพิเศษ” ลำเลียงไอน้ำแข็งแห้งเข้าไปยัง “แผงคอนเดนเซอร์” สังเกตที่แผง ก็จะมี Air Box สีดำ เพื่อลำเลียงอากาศพร้อมความเย็นเข้าสู่เครื่องยนต์ หม้อน้ำนอนอยู่หลังเครื่อง ไม่ไปอยู่ด้านหลัง เพราะต้องการน้ำหนักกดที่ล้อหน้าให้มากที่สุด เฮดเดอร์ไทเทสายรุ้ง น้ำหนักเบา
- ยอมรับว่าตอนนี้ “งานคนไทย” มีมาตรฐานสูง ทั้งในด้านคุณภาพและความสวยงาม ดีครับ เราชอบ
- เวลามีการเอารถไปซ้อมวิ่ง คนทั่วไปจะชอบดูเวลา Total Time เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว การซ้อมจะดูเวลา “60 ฟุต” เป็นหลัก เพราะเป็นจุดสำคัญของรถ Drag ที่ต้องออกตัวเร็วไว้ก่อน ถ้าออกตัวดี ที่เหลือก็จะดี ถ้าออกตัวช้า ที่เหลือก็จะช้าด้วย พักหลังๆ เวลาเราไป Live ตอนรถซ้อม จะดูเวลา 60 ฟุต เป็นหลัก คันไหนออกเร็ว ไม่เร็ว ตรงนี้วัดได้ชัดเจน…
- สำหรับการ “จูนแทร็กชัน” ก็ต้องเซตหาค่าที่เหมาะสม จริงๆ ล้อมันต้อง “ฟรีได้บ้าง” เวลาออกตัว ถ้าล้อไม่ฟรีเลยก็ “ออกไม่ได้” สตั๊นท์อยู่ยังงั้น ต้องเรียกว่าให้ “ฟรีเช็ดออก” ได้ประมาณแฟ้ดหนึ่งแล้วรถทะยานออกไป แต่จะอนุญาติให้ฟรีได้เท่าไร ก็ต้อง “ไล่หาจุดที่ดีที่สุด” โดยการลองที่ 60 ฟุต เป็นหลัก ว่าตรงไหนได้เวลาดีที่สุด อย่างคันนี้ตั้งเป้าเวลา 60 ฟุต ไว้แถวๆ 3XX วินาที (ซึ่งคัน Stock Body ทำไว้ที่ 1.4XX วินาที ถือว่าเร็วในคลาสนี้) ถ้าออก 60 ฟุต ได้เร็ว เวลาช่วงปลายก็ไม่น่ามีปัญหา ถ้าไม่เกิดข้อผิดพลาดอะไรระหว่างนั้นขึ้น…
- ชุดช่วงล่างสร้างใหม่ เป็นแบบ “ปีกนกบนล่างไม่เท่ากัน” ซึ่งดีไซน์ให้เวลายุบและยืดมุมล้อตั้งฉากกับพื้นเสมอ
- ระบบ “ลม” สำหรับเบรกหลัง (ของจักรยาน) และ ยกสปอยเลอร์หลัง
Transmission Shift Cut แก้ปัญหาเกียร์ติด
- อีกระบบที่ทาง ECU=SHOP ได้คิดค้นและภูมิใจนำเสนอ ก็จะเป็นระบบที่ว่านี้แหละ เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “เกียร์ติด” เพราะปีที่แล้วเกิดปัญหาเรื่องเปลี่ยนเกียร์ 2 ไป 3 ไม่ได้ เนื่องจากชุด Dog Engagement “ไม่ยอมจาก” ทำให้ดึงเกียร์ออกมาไม่ได้ แม้ว่าจะ Retard องศาไฟลงแล้วก็ตาม เนื่องจากเครื่องยนต์ก็ยังมีกำลังหมุนส่งต่ออยู่ ทำให้ “เฟืองด๊อก” ยังขบกันแน่นอยู่ ก็เลยแก้ปัญหาโดยการใช้ระบบ “Shift Cut” โดยการ “ตัดไฟจุดระเบิด” (Ignition Cut) ให้ “วูบ” ไปช่วงหนึ่ง นับเป็น Millisecond เพื่อตัดกำลังเครื่องยนต์ไปแป๊บบบบนึง มันจะทำงานในขณะที่คนขับ “เริ่มกดเปลี่ยนเกียร์” จะตัดไฟจุดระเบิดก่อน เพื่อตัดกำลังเครื่องยนต์ ให้เฟืองด๊อกไม่ขบกัน เกียร์ก็จะหลุดออกมาได้ หลังจากนั้นจึงจะ “สั่งกลไกเข้าเกียร์” ให้ “ยิง” ถ้าเกียร์เข้าแล้วมันก็จะ Monitor ไปที่กล่อง ECU ให้ไฟจุดระเบิดกลับมาทำงานเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี…
- ช่วงล่างหลังง่ายมากๆ มีกันเซวางทแยงจบ แต่อาศัยเซตโช้คอัพดีๆ ช่วย
พลังน้ำแข็งแห้ง สูตรเอกลักษณ์ กับ “ปั๊มพิเศษ”
- อย่างที่เราเคยนำเสนอรถแข่งของค่าย ECU=SHOP ไปหลายคัน ซึ่งก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบในการนำ “สารตั้งต้น” แห่งความเย็นอย่าง “น้ำแข็งแห้ง” ตั้งแต่สมัยหลายปีมาแล้ว ล่าสุดก็คือ BRIO ที่เราเคยนำเสนอไป สำหรับน้ำแข็งแห้ง ข้อดีของมัน คือ “ให้ความเย็นจัด” ที่อุณหภูมิต่ำสุดถึง “-78.5 องศาเซลเซียส” แม้ว่าจะชื่อน้ำแข็งแห้ง แต่ตัวมันเองไม่มี “น้ำ” เป็นส่วนประกอบเลย เพราะมันคือ “คาร์บอนไดออกไซด์” ที่อยู่ใน “สถานะของแข็ง” หรือ Solid CO2 เพราะฉะนั้น “อย่าไปสูดดม” เพราะมันไม่เป็นมิตรกับร่างกาย และอย่าให้สัมผัสผิวหนัง เพราะความเย็นขนาดนั้น ใครเคยสัมผัสโดนจะรู้ซึ้งว่า “เย็นจัดจนทำให้เนื้อไหม้” (Frost Burn) ก็ระวังกันเองละกันนะ…
- ข้อดีอีกอย่าง คือ เมื่อมันระเหย จะกลายเป็น “ไอ” สลายไปในอากาศ ไม่เหมือนน้ำแข็งปกติที่พอละลายแล้วกลายเป็นน้ำ ดังนั้น น้ำแข็งแห้งจึงได้เปรียบเรื่องน้ำหนักที่เบากว่า…
- แต่สิ่งที่ยุ่งยากและต้องใช้เทคนิค คือ “ตัวปั๊มไอน้ำแข็งแห้ง” ที่จะเข้าไปยังแผงคอนเดนเซอร์ อันนี้ต้องใช้ “ปั๊มพิเศษ” เพราะไอน้ำแข็งแห้งมันจะเป็นฟองบุ๋งๆ ปั๊มปกติไม่สามารถดูดได้ เรื่องปั๊มอันนี้ ทาง ECU=SHOP ขอเป็น “ความลับ” นะครับ…
- หลังจากที่ดูดไอเย็นจัดมาแล้ว ก็จะให้มันวิ่งเข้าไปที่ “แผงคอนเดนเซอร์” เพื่อวนให้เกิดไอเย็น โดยใช้ลมปะทะหน้ารถพาความเย็นเข้าลิ้นไอดี โดยข้างหลังจะมี Air Box คลุมอยู่ ทำให้ไอเย็นวิ่งเข้าลิ้นไอดีเต็มๆ ซึ่งความเย็นที่ผ่านคอนเดนเซอร์แล้ว จะอยู่แถวๆ -25 องศา มีประโยชน์ในการ “เพิ่มออกซิเจน” เครื่องก็จะแรงขึ้นครับ…
สำหรับรถเฟรมคันนี้ เราก็ได้สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลหลายอย่างที่เขียนไปในคอลัมน์ ซึ่งเป็นการหลีกข้อจำกัดใรถ Stock Body ถ้าจะเอามาแก้ทำให้เป็นแบบนี้ก็ไม่น่าจะคุ้ม เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก “สร้างใหม่แบบที่ต้องการดีกว่า” เราสามารถกำหนดอะไรได้หลายอย่างด้วยตัวเอง จึงคุ้มค่ามากกว่า เวลาที่ตั้งเป้าไว้ จากการขับของ “ปอนด์เทค” เบญจรงค์ ชมายกุล อยู่ที่ “9.5XX วินาที” ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์ก็ไม่น่าจะยาก แต่อย่างไรก็ต้องซ้อมบ่อยๆ เพราะคันนี้ก็ยังใหม่ คงต้องไล่เซตอัพไปเรื่อยๆ แบบไม่ผลีผลามมาก ถ้าเครื่อง K27 เราเซตได้และรถมีทรงดี ก็อาจจะเอา K29 ที่เตรียมไว้ใส่ก็ได้ ส่วนจะวิ่งทะลุเป้าหมายหรือเปล่า ต้องมาดูในงาน Souped Up อย่างเดียวครับ…
ภายนอก
ตัวถัง : MONZA SHOP
เฟรม : Drag Master & ECU=SHOP
สปอยเลอร์หลัง : ECU=SHOP
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน
พวงมาลัย : GT GRANT
คอพวงมาลัย : STRANGE
ที่นั่ง : MONZA SHOP Carbon Seat
เกจ์วัด : AIM STACK
เกจ์วัด Oil Temp : AUTO METER
ปรับ Miss Fire : ECU=SHOP
เข็มขัด : SIMPSON
ชุดแป้นเหยียบ : AP RACING
เซฟตี้เน็ท : G-FORCE
เครื่องยนต์
รุ่น : K20A + K24
ฝาสูบ : Modified by ECU=SHOP
วาล์ว : BC Oversize
สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟต์ : BC Custom Made
ลูกสูบ : ARIAS
ก้านสูบ : MAX SPEEDING
ข้อเหวี่ยง : BC 2.7 L Stroker Kit
เฮดเดอร์ : BANGMOD RACING (BRD) Titanium
ลิ้นเร่ง : 82 mm. x 4 by ECU=SHOP Custom Made
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : MALLORY
หัวฉีด : Fuel Injector Clinic (FIC) 2,150 c.c.
รางหัวฉีด : ECU=SHOP
คอยล์ : AEM
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : ECU=SHOP MONSTER SPARK 4
กล่อง ECU : ECU=SHOP OCTANE MAX 4 +
กล่องควบคุมระบบเปิด-ปิด วาล์ว : ECU=SHOP i-VTEC Control
ถังลม : JERICO
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : QUAIFE Air Shifter 5 สปีด
กล่องควบคุมเกียร์ : QUAIFE Air Shifter Control
คลัตช์ : CLUTCH MASTER
ระบบป้องกันล้อฟรี : ECU=SHOP Traction Control
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า-หลัง : STRANGE
สปริงหน้า : BUDDY CLUB
สปริงหลัง : HYPER COIL
ชุดอาร์ม : ECU=SHOP
ล้อหน้า : ADVAN RG1 ขนาด 8 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : BELAK Black ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 26.0/10.0-15 นิ้ว
ยางหลัง : M&H Race Master ขนาด 22-3.5-15 นิ้ว
เบรกหน้า : STRANGE
เบรกหลัง : SHIMANO
สำหรับอีกคันก็จะเป็นรถ Stock Body ที่เป็นแชมป์ในปีที่แล้ว ด้วยสถิติเวลา “9.821 วินาที นับว่าทำเวลาได้สวยงาม ในปีนี้ก็มีการปรับปรุงในหลายอย่าง ทั้งในด้านความสวยงาม และด้าน “เสริมสุขภาพ” โดยมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงประมาณนี้…
- ย้ายหม้อน้ำใหม่ ปีที่แล้ววางหม้อน้ำไว้ด้านหลัง ปีนี้เลยย้ายหม้อน้ำมาไว้ด้านหน้าแทน เพื่อให้มีน้ำหนักกดด้านหน้ามากขึ้น ทำให้มี Traction เพิ่ม…
- เครื่องยนต์เปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ แต่ยังคงความจุ 7 ลิตร เหมือนเดิม แรงม้าก็อยู่ในระดับ 400 ++ PS แน่นอน ส่วนระบบเกียร์ ก็ปรับเป็นสเต็ปเดียวกับรถเฟรมครับ…
- จัดการ “เลาะพื้นล่างเดิมทิ้ง” แล้วเปลี่ยนพื้นใหม่เป็นอะลูมิเนียมทั้งหมด ต้องการลดน้ำหนักให้ได้เกณฑ์ที่ต้องการ ซึ่งได้สร้างโครงกระดูกดามพื้นให้แข็งแรงเพียงพอ หลังทำเสร็จ พื้นจะเป็นแบบเรียบๆ ทันที ไม่ต้องปิดแผ่นซ้ำลงไปอีกให้น้ำหนักเพิ่ม ทำให้ลดแรงช้อนจากลมได้ดี เหตุผลเดียวกับคันตะกี้ครับ…
- Stock Body แชมป์ปีที่แล้ว ที่ปีนี้หยุดยั้งไม่ได้ ขยับเพิ่มให้ไว
สำหรับคันนี้ โดยรวมก็ยังไม่มีอะไรมาก มีการปรับปรุงรายละเอียดบางอย่าง (จริงๆ ก็หลายอย่าง) จากปีที่แล้ว โดยการแก้ไขในส่วนที่ยังไม่ถูกต้องใหม่หมด โดยมากก็เรื่อง Aero Dynamic กับ น้ำหนักรถ ทั้งน้ำหนักรวม และน้ำหนัก Balance ใหม่ ที่จะมีผลมากในรถ N/A เรื่องของเป้าหมายเวลา ไม่อยากจะบีบคั้นตัวเองและทีมงานมากนัก เอาเป็นว่า “ขอดีกว่าเดิมก็แล้วกัน” ติดตามใน Souped Up ว่าจะเร็วขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหนดีกว่าครับ…
- ทำพื้นใหม่หมด กลายเป็นรถพื้นเรียบ
ภายนอก
ฝากระโปรงหน้า : Carbon by MONZA SHOP
กันชนหน้า : Carbon by MONZA SHOP
ประตู : Carbon by MONZA SHOP
สปอยเลอร์หลัง : ECU=SHOP
ภายใน
วัดรอบ : SUMMIT
เกจ์วัดต่างๆ : AUTO METER
พวงมาลัย : NARDI
ที่นั่ง : Carbon by MONZA SHOP
เข็มขัดนิรภัย : RAEMCO
พวงมาลัย : NARDI
โรลบาร์ : ECU=SHOP
ด้ามเบรกมือ : ECU=SHOP
เซฟตี้เน็ท : G-FORCE
เครื่องยนต์
รุ่น : K20A + K24
วาล์ว : BC
สปริงวาล์ว : BC
แคมชาฟต์ : DRAG CARTEL
ลูกสูบ : CP
ก้านสูบ : CARILLO
ข้อเหวี่ยง : WINBERG 2.7 L
เฮดเดอร์ : BANGMOD RACING (BRD) Titanium
ท่อร่วมไอดี : ECU=SHOP 4 Throttles
หัวฉีด : FUEL INJECTOR CLINIC (FIC) 2,150 c.c.
รางหัวฉีด : ECU=SHOP
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : MALLORY
กล่อง ECU : ECU=SHOP OCTANE S+
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : QUAIFE Air Shift 5 สปีด
กล่องควบคุมเกียร์ : QUAIFE Air Shifter Control
คลัตช์ : TILTON
ระบบป้องกันล้อฟรี : ECU=SHOP Traction Control
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า-หลัง : GAB SS Series
ปีกนกหน้า : ECU=SHOP
ปีกนกหลัง : FUNCTION 7
ล้อหน้า : WELD MAGNUM ขนาด 7.3 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD MAGNUM ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 26.0-10.0-15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 25.0.-5.0-15
เบรกหน้า-หลัง : KS
- เฮดเดอร์แบบนี้ ต่อกันด้วย “การสวม” พร้อม “สปริงรั้ง” กันกระเด็นหลุดออก จริงๆ การออกแบบลักษณะนี้มีในรถแข่งมานานแล้ว เหตุผล คือ ถอดใส่ง่าย เพราะมันเป็นชิ้นๆ ไม่เสียเวลา เพราะปลดแค่สปริงอย่างเดียว ไม่มีหน้าแปลนอะไรทั้งสิ้น ใช้การ “สวม” เท่านั้น ถามว่าแล้วจะไม่รั่วเหรอ คำตอบคือ “ไม่รั่วครับ” เพราะพอเกิดความร้อนสูง ท่อมันจะ “ขยาย” เบ่งไปติดกันเองแน่นมาก เป็นการซีลไปในตัว
- อันนี้เป็นการจำลอง “แรงยกของปีกเครื่องบิน” ที่ลมด้านบนจะเคลื่อนที่ “เร็ว” กว่าลมด้านล่าง ทำให้แรงดัน “ต่ำ” (Hi Velocity, Low Pressure) ส่วนลมด้านล่าง ก็จะเคลื่อนที่ “ช้า” กว่าลมด้านบน ทำให้แรงดัน “สูง” (Low Velocity, Hi Pressure) จึงเกิดการยกตัว แต่ถ้าเป็น “รถยนต์” ก็ “กลับหัวกลับหาง” กันนั่นเอง ก็จะกลายเป็น “กด” แทน
ECU=SHOP THAILAND
Facebook : ECU=SHOP Official
Tel. 08-7914-1412