Before the Angel End

Souped Up Special : XO 249 (D-MAX OAT) 
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ภูดิท แซ่ซื้อ (PhotoGolfer)

จากอดีตที่ชายหนุ่มร่างสันทัดลงแข่งรายการ Souped Up Thailand Records และคว้าแชมป์ในรุ่น PRO TRUCK หลังจากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียงตามมา กับ “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” ที่ทำเอง ขับเอง จนมีผู้สนับสนุนหลักใจถึงอย่าง “เสี่ยต้อง อ่างทอง” ระดมทุนสร้างรถ Super Max Diesel ที่เจ้าของตั้งชื่อซะน่ารักว่า “Pink Angel” โดยการผลิตเฟรมจาก “ป๋าแดง” มาร่วมกระหน่ำใน Souped Up 2015 ในสภาพที่เพิ่งเสร็จมาสดๆ ร้อนๆ คนทำคนขี่ก็เพิ่งออกจาก รพ. มาสดๆ เช่นกัน ปีนั้นก็ได้เห็นเลข 7.9 วินาที ซึ่งตก Top Ten ไปนิดเดียว กับสภาพที่ “วิ่งขวางตลอดทาง” เลยกลับมาปรับปรุงชุดใหญ่ ย้ายเทอร์โบ ตัดหัวหมอบ ซึ่งใน Souped Up 2016 ทำเวลาไป “7.539 วินาที” จัดตำแหน่ง OVER ALL No.7 และ SUPER MAX DIESEL No.2 เฉี่ยวกับ “จ๊อบ มนตรี” แค่ “0.002 วินาที” นับว่าทำรถได้ดีพอๆ กันเลยในแต่ละอู่ ครั้งนี้เราขอนำ “นางฟ้าแสนหวาน” มาให้ชมกัน ก่อนที่จะกลายเป็น “ตำนาน” อย่างรวดเร็ว เพราะทางนี้เขา “สร้างเฟรมโครโมลี” คันใหม่มารอไว้แล้ว…

เทอร์โบไว้ในรถฝั่งขวา กับการแก้ช่วงล่าง 
คงเคยเห็นไปแล้วนะครับ สำหรับตำแหน่งการวางเทอร์โบของคันนี้ ณ ปี 2015 ก็วางด้านหน้ารถตามแบบปกติ แต่พอกลางปี 2016 ก็จัดการย้ายมาที่ “ฝั่งขวา” ในห้องโดยสาร ตรงข้ามกับคนขับที่อยู่ฝั่งซ้าย แบบที่เคยเห็นกันไปในคอลัมน์รวมรถ “จตุรเทพ” เฟรม ในปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลหลัก คือ “บาลานซ์น้ำหนักได้ง่ายกว่า” เพราะเอามาถ่วงในอีกฝั่งที่ยังมีพื้นที่ว่าง ชุดเทอร์โบคู่นี้ พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ เฮดเดอร์ เวสต์เกต ก็จะมีน้ำหนักรวมกว่า 50 กก. จะทำให้น้ำหนักตกตรงกลางรถและใกล้ล้อหลังมากขึ้น ไอ้เรื่องใกล้ล้อหลังนี่เรื่องรอง แต่สำคัญ คือ “น้ำหนักตกในแต่ละล้อ” แต่ละฝั่ง มันต้องสมดุลกัน เมื่อมีคนขับพร้อมอุปกรณ์ครบชุดขึ้นไปนั่ง ทาง โอ๊ต ก็บอกว่ามันบาลานซ์ ได้ตัวเลขที่สวยกว่า เทอร์โบอยู่ด้านหน้า ซึ่งก็จะมีผลในด้านการปรับช่วงล่าง ใครที่ได้ดูรอบชิงชนะเลิศ ณ สนาม BURIRAM UNITED DRAGSTER TRACK ในปี 2015 ก็จะเห็นว่ารถคันนี้ “แถข้าง” ไปตลอดทาง เพราะในช่วงนั้นการ Weight Balance ยังไม่สมบูรณ์ เวลาออกรถจะยัง “ฉกขวาเยอะ” อยู่ ก็เลยต้องปรับช่วงล่าง “แก้ทาง” มาฝั่งตรงข้าม พูดง่ายๆ คือ “ปรับศูนย์เอียง” นั่นเอง รถออกฝั่งไหนก็ปรับแก้มาอีกฝั่ง ก็ปรับทั้งช่วงล่างหน้า และ 4 Links ด้านหลัง อันนี้คือแก้งานไปก่อน แต่จริงๆ ต้อง “ไล่ถ่วงน้ำหนักใหม่” ตอนนั้นไม่ทันแล้ว ก็ได้แต่แก้ศูนย์ พอได้ตอนออก แรงบิดเยอะเลยดันมาได้ แต่พอช่วงปลายแรงบิดเริ่มน้อยลง มันก็เลยกลับไปเฉียงเหมือนเดิม ก็เลยต้องจับ Weight Balance ใหม่ ให้สมดุลที่สุด และแก้ทางทั้งแต่แรกเริ่มไป…

ฟุตติ้ง & ฟิตติ้ง ว่าด้วยทางเดินน้ำมันที่ควรรู้ 
ไอ้เรื่องทางเดินน้ำมันนี่หลายคนก็อาจจะคิดว่า “จะรู้ไปทำไมวะ” เพราะไม่ได้ทำเอง ถึงเวลาก็สั่งๆ แล้วช่างก็ทำออกมา แต่ผมอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มีผลมากเกี่ยวกับสมรรถนะโดยตรง รวมถึงความปลอดภัยด้วย เพราะท่อน้ำมันควรจะมีทิศทางที่ “เหมาะสม” เดินไปในทางที่คดโค้งน้อยที่สุด ข้อต่อน้อยที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องโค้ง ก็ควรจะ “เปิดโค้งให้กว้าง” เผื่อสายยาวหน่อย เพื่อไม่ให้ท่อเกิดการบีบมุม น้ำมันจะไหลไม่คล่องเท่าที่ควร ก็มีผลกับแรงม้าเหมือนกัน ส่วนเรื่องของ “สายน้ำมัน” แต่ก่อนก็จะเล่น “สายสเตนเลสถัก” โคตรเท่ ใครมีตังค์ซื้อใส่ นี่ถือว่าสุด กลายเป็นของแฟชั่นไปเลย ยุคแรกๆ ก็จะเป็นสายของ AEROQUIP ที่พัฒนามาจากอากาศยานมาสู่รถยนต์ ใครๆ ก็อยากได้ แต่ “โคตรแพง” แค่เจอค่าหัวต่อต่างๆ เข้าไปก็ “จุก” แล้ว แค่ทำเฉพาะในห้องเครื่องก็ “หลายหมื่น” ถ้าทำทั้งคันก็ “หลักแสน” เรื่องปกติ ยุคหลังๆ จึงมี EARL’S ออกมา ส่วนในปัจจุบัน มีผลิตกันเพียบเลย ราคาก็ถูกลง (ควรเลือกคุณภาพด้วยนะครับ อย่าเห็นแก่ถูกอย่างเดียว) ก็เป็นโชคดีที่เราจะได้ซื้อคล่องๆ หน่อย…

แต่ว่าตอนนี้ก็เทรนด์ท่อน้ำมันก็เปลี่ยนไปอีก เป็นแบบ “ท่อยางสี” ที่ทนพวก E85 ได้ ซึ่งสายซิ่งก็ชอบเพราะสีสัน ส่วนสายถักก็จะนิยมกันอยู่ในคนที่ชอบแนววิ้งๆ หน่อย ซึ่งท่อยางสีก็จะใส่กับหัวสายแบบ “ฟิตติ้ง” หรือที่เรียกกันว่า “ฟุตติ้ง” ส่วนสายถักก็จะใส่กับหัวสายแบบ Pro-Clamp ที่เห็นเป็นปลอกสีๆ Anodize แล้วมีเข็มขัดรัดน่ะ เวลาใส่สายกับหัว Pro-Clamp ก็จะลำเค็ญหน่อย เพราะต้อง “ยัด” เข้าไปจนเจ็บไม้เจ็บมือกันไปหมด ตอนหลังก็เลยเริ่มฮิตสายนิ่มๆ สีๆ ใส่กับหัว Fitting เพราะ “ง่าย” มาก ลักษณะหัวฟิตติ้งก็จะเป็นแง่งๆ ไว้ “เสียบอย่างเดียว” โดยไม่ต้องมีเข็มขัดหรืออะไรรัดทั้งสิ้น เสียบไปมันติดแง่งก็ “แน่นปึ้ก” ก็ยังทึ่งเหมือนกันว่าทำไมมันติดแน่นได้ขนาดนั้น และตัวแง่งนั้นจะเป็น “ซีลในตัว” อีกด้วย ถ้าเป็นงานที่มีความละเอียดและแม่นยำ (Precision) สูงๆ ก็จะเป๊ะพอดี (อันนี้ต้องเช็กเอาเองนะครับ ว่าเจ้าไหนมาตรฐานเป็นยังไง) มันก็ดีอย่างว่า “ใส่ได้เร็ว” ไม่ต้องเสียเวลามานั่งยัดหัว Pro-Clamp ไอ้นี่เสียบแม่มอย่างเดียวเลย ง่ายดีนะ แต่…
เวลาถอดสายอันนี้แหละยาก เพราะต้อง “ตัด” ออกอย่างเดียว จริงๆ ก็ไม่ยาก เพราะถ้าถอดสายก็คือต้องการเปลี่ยน ถูกไหม ตัดออกแล้วใส่ใหม่ง่ายๆ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ “ต้องวางทางให้ชัวร์ตั้งแต่แรก” และวัดให้พอดี ถ้าผิดแล้วต้องตัดสายทิ้ง ซื้อสายใหม่ ก็เท่ากับเสียของไปบาน หลักๆ ของหัว Fitting ก็มีแค่นี้แหละครับ…

Comment : “โอ๊ต” ฐาปกรณ์ เข็มกลัด 
พูดถึงผลงาน Souped Up ที่ผ่านมา ถือว่าพอใจนะครับ เพราะทำเวลาได้ตามเป้า และห่างจากอันดับ 1 นิดเดียว แต่ในปีนี้ Pink Angel คันนี้ก็จะถูกปลดระวาง เพราะได้สร้างคันใหม่เป็น “โครโมลี” อยู่ เดี๋ยวนี้เฟรมเหล็กอยู่ไม่ได้แล้วครับ เพราะโครโมลีมันเบากว่า ส่วนระบบต่างๆ เครื่องยนต์ อาจจะมีการอัพแรงม้าขึ้นนิดหน่อย คิดว่าคันใหม่ที่กำลังสร้างอยู่อยากได้เวลา “เจ็ดต้น” ครับ คันนี้ต้องขอขอบคุณ “เสี่ยต้อง อ่างทอง” นายทุนใหญ่, ทีมงาน และ FC โอ๊ต อู่ช่างขวัญ, แก๊งค์ BAO BAO รวมถึง “ทุกคน” ที่มีส่วนร่วมกับรถคันนี้ครับ ไว้รอดูคันใหม่แล้วกันครับ ขอเก็บเป็นเซอร์ไพรส์ไว้ก่อน…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี 
นับว่าก้าวขึ้นมาเร็ว สำหรับ “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” ที่โด่งดังจาก PRO TRUCK แล้วโดดขึ้นมา SUPER MAX DIESEL แล้วประสบความสำเร็จ คันนี้ก็มีเอกลักษณ์ตรงที่เป็น “บอดี้หมอบ” ตั้งแต่หัวรถมาเลย เตี้ยกว่าทรงปกติประมาณ 6 นิ้ว โดยหวังเรื่อง Aero Dynamic เป็นหลัก ซึ่งนับจากนี้ไป พวกรถกระบะเฟรมก็จะเป็นลักษณะนี้กันซะส่วนใหญ่ แต่ข้อที่ควรป้องกันก็คือ “ทำที่กันไฟกั้นห้องเทอร์โบให้มิดชิดที่สุด เพราะตอนนี้ด้านบนโล่ง เกิดเทอร์โบพัง อาจจะทำให้คนขับเกิดอันตรายได้ ถ้าเป็นคันใหม่แล้ววางเทอร์โบตำแหน่งนี้ สมควรจะต้องป้องกันให้มิดชิด ไม่ใช่อะไร “เป็นห่วง” นะครับ…

X-TRA Ordinary 
เชื่อแน่ว่า หลายคน รวมถึงผมเองก็ต้องสงสัย ว่า “ช่างขวัญ” นี่เป็นใคร จริงๆ แล้ว ช่างขวัญ เป็นคุณพ่อของโอ๊ต เปิดอู่ซ่อมรถ สมัยนั้นจะมีชื่อเสียงกับการทำกระบะวาง JZ ติดแก๊สแล้ว “รับจบ” ได้ ส่วน โอ๊ต ก็จะชอบโมดิฟายรถกระบะ (ก็รถของพ่อนั่นแหละ) ทำมั่ง พังมั่ง (โดนพ่อด่าประจำ) จนมาทำ MITSUBISHI TRITON ยุคแรกๆ ที่พอโมฯ แล้วเกิดปัญหา “น้ำดัน” ซึ่ง โอ๊ต แก้ปัญหาได้ และทำวิ่งเวลาดี เลยมีชื่อเสียงตั้งแต่นั้น และขยับมาเป็น ISUZU จนถึงปัจจุบัน…

TECH SPEC 
ภายนอก
เฟรม : DRAG MASTER
หัวรถ : AKANA Carbon
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน 
พวงมาลัย : GRANT
คอพวงมาลัย : Strange
ชุดจอ : Racepak
เกจ์วัด : AUTO METER
เบาะ : BUTLER BUILT
เข็มขัด : IMPACT
แป้นเหยียบ : TILTON
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JJ-1
วาล์ว : MRX
สปริงวาล์ว : MRX
แคมชาฟต์ : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : MRX 3.2 L
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 + GARRETT GTX45 by ปิง เทอร์โบ
เวสต์เกต : TAVORN
เฮดเดอร์ : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
หัวฉีด : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : MALLORY
ไนตรัส : NOS
หม้อน้ำ : BRD
กล่อง ECU : Alphatech by โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ระบบส่งกำลัง 
เกียร์ : LIBERTY Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : BRC
เฟืองท้าย : MRX อัตราทด 2.7
เพลาท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
สปริง : VARI SHOCK
ชุด 4 Links : Drag Master
ล้อหน้า : WELD ขนาด 5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 15 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ขนาด 24.0-5.0-15
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 34.0-17.0-16
เบรก : STRANGE

Special Thanks
โอ๊ต อู่ช่างขวัญ : Facebook/โอ๊ต ฐาปกรณ์, Tel. 09-9456-6399