เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้อ
Natural Kicked Off
DC5 โครงถัก งานล่าเวลา
By PONDTECH & Frame Factory by AOR 77
ก็อย่างที่บอกไปบ่อยๆ ว่า ศึก Souped Up Thailand Records ในทุกปี นอกจากรุ่นใหญ่อย่าง Super Max & Super Dragster จะเป็นที่โฟกัสของแฟนๆ ที่ชื่นชอบ Drag Racing แล้ว ยังมีอีกรุ่นหนึ่งที่การแข่งขันดุเดือดไม่แพ้กัน คือ PRO 4 N/A ที่สมัยก่อนจะใช้ชื่อรุ่น OPEN N/A ในยุค “บ่อพลอย” ปี 2004 ก็หมายถึง “เปิดหมด แต่ห้ามระบบอัดอากาศ” แต่ยุคนั้นโดยมากก็เป็น CIVIC 3 ประตู ลดน้ำหนักสุดๆ แล้วก็มี “โฟล์คเต่า” หรือ “คามานเกีย โรตารี่” ของ “อาจารย์โอ๋” ผู้ล่วงลับ มาสอดแทรกอยู่ เรียกว่าตอนนั้นการแข่งรุ่นนี้ก็เหมือน “เปิดวิก” เฉยๆ โดยคนส่วนใหญ่ก็จะไปมองรุ่นใหญ่ๆ กันอย่างเดียว มันแลน่า “น้อยใจ” เหตุใดรุ่นนี้ไม่ใคร่มีคนสนใจนัก…
- หน้าจะบานๆ หน่อย เพราะมี “โป่งเย็บ” คลุมล้ออย่างมิดชิด อันนี้ดีเพราะเวลา “เบิร์นยาง” เศษยางกับน้ำจะได้ไม่กระเด็นขึ้นหน้ากระจก ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ “เซฟ” ได้
.
เวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน เหล่า Stock Body ทั้งหลาย พบเจอข้อจำกัดในเรื่องของ “น้ำหนัก” และ “สรีระ” ของรถ ก็เลยต้อง “หนีมาทำเฟรม” ซึ่งจะสามารถกำหนดสิ่งที่เรา “อยากได้” ได้ทุกอย่าง จะหมอบหลังคา จะวางเครื่องและอุปกรณ์ต่างๆ ตำแหน่งไหนที่เราต้องการให้มันดีที่สุด รวมถึงการ “ลดน้ำหนัก” เพราะถ้าเป็น Stock Body จะต้องตัดเฉือนออกมากจนไม่แข็งแรง ก็ต้องดามกลับเข้าไปอีก ทำให้น้ำหนักอาจจะไม่เบากว่าเดิมก็ได้ และที่สำคัญ “การสร้างช่วงล่างตามแบบที่ต้องการจริงๆ” หากเป็น Stock Body จะต้องใช้ช่วงล่างตามรูปแบบของโรงงานเป็นหลัก ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนของโมดิฟายเข้าไป แต่ Space frame เราจะกำหนดตั้งแต่ก่อนสร้างโครงเลยว่าจะเอาช่วงล่างแบบไหน ซึ่งมันจะมีอิสระในการสร้าง ในตอนนี้ ก็เหมือนเป็น “สงครามโครงถัก” กับเครื่อง “ไร้หอย” ที่เหล่าอู่สาย H จัดหนักกันแบบไม่ยอมกันแม้เสี้ยววินาที จะมีอะไรโดดเด่นบ้างนั้นต้องชม แต่บอกเลยว่า มีเรื่อง “พี่เบิร์นเป็นมั้ย” แบบ Surprise แฟนๆ แน่นอน !!!
First DC5 PRO 4 N/A Space Frame
การสร้าง “รถโครงถัก” ในตอนนี้ ที่ฮอตฮิตที่สุด ก็คงจะเป็นในนามของ Frame Factory จาก AOR 77 SHOP ที่เรียกว่ามีงานกันทั้งปีทั้งชาติกันเลยทีเดียว ไฉนเลยน้องชายสาย H อย่าง PONDTECH “ปอนด์เทค” เบญจรงค์ ชมายกุล จะอยู่เฉยได้ จึงได้รับ “ออเดอร์” จาก “คุณต้น” เจ้าของรถ ให้สร้าง INTEGRA DC5 Space Frame ขึ้นมาเพื่อลงในรุ่น PRO 4 N/A ซึ่งคันนี้ถ้าบอกว่าเป็น DC5 คันแรกของเมืองไทย ก็คงจะไม่ใช่ เพราะคันแรกก็คือรถของ “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” แต่เป็นเครื่อง 2JZ-GTE ลงรุ่น Super Max Benzine ใน Souped Up 2015 แล้วประสบอุบัติเหตุ “ปลายเส้น” ในรอบชิง แต่ก็ติด Top ten นะเว้ย แต่ที่สำคัญ “คนขับปลอดภัย” แสดงถึงความแข็งแรงของโครงสร้างตัวรถที่ AOR 77 สร้างขึ้นมา ส่วน DC5 คันนี้ จะถือเป็นคันแรกที่เป็นรุ่น PRO 4 N/A พร้อมกับเครื่องยนต์ K Series แบบ “ตรงรุ่น” ซึ่งเพิ่งจะทำเสร็จสดๆ ร้อนๆ นี่เอง…
“เปลือกเหล็ก” 77 สไตล์
สำหรับบอดี้ของคันนี้ เชื่อไหมว่ายังเป็น “เหล็ก” ของดั้งเดิมโรงงาน HONDA นี่แหละ เรียกว่าเป็นสไตล์ของ Frame Factory 77 เอาแต่เฉพาะ “เปลือก” มาจริงๆ แม้จะหนักกว่าไฟเบอร์แต่ก็ไม่มาก จริงๆ ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล “หันไปทำแรงม้ากับเซ็ตรถให้ลงตัวจะดีกว่า” เหตุที่นิยมแบบนี้ เนื่องจากต้องการ “มิติและทรงแท้” ของรถรุ่นนั้นๆ (DC5 Frame ของ “อิสระ กีฬาฯ” ก็เป็นเหล็กนะ) ยังไงก็ตาม ทรวดทรง “เส้นสาย ความโค้งเล่นระดับ” ของบอดี้เดิมๆ โรงงาน ยังไงก็สวย ทำให้ตัวรถดู Clean เหมือนเดิม (ก่อนแปะสติกเกอร์นะ) อีกอย่าง คือ เวลาวิ่งที่ความเร็วสูง เปลือกเหล็กยังไงก็ “มั่นคง” กว่าไฟเบอร์ อาการ “กระพือ” มีน้อยกว่า พวกนี้มีผลนะครับ ทั้งในด้านของ “การลู่ลม” และ “ความมั่นใจของคนขับ” ไม่เชื่อลองถามตัวขี่ “พี่เท่ง” หรือ “ปอนด์เทค” ดู…
ผม “ชอบเลีย” ครับ
ลูกผู้ชาย “สายเลีย” ก็จะต้องมีกฏเกณฑ์แห่งชีวิต นอกจากนี้แล้ว ยังชอบ “ยัด” อีกด้วย อันนี้จะพูดถึงเรื่องการ “ยัด (เกียร์)” ของ ปอนด์เทค กันก่อน รถคันนี้เป็นเกียร์ Sequential จาก QUAIFE และกลไกการเข้าเกียร์ จะเป็นแบบ Dog box หรือ Dog Teeth ที่สามารถเข้าเกียร์ได้โดยไม่ต้องเหยียบคลัตช์ จะเหยียบเฉพาะตอนเกียร์ 1 ออกรถเท่านั้น ที่เหลือก็ยัดได้เลย แต่ต้องมีข้อแม้ว่า “ต้องยัดไว ยัดแม่น ห้ามเสียจังหวะ” ไม่งั้นจะทำให้จังหวะรอบของเฟืองไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ “เข้าเกียร์ยาก หรือ ไม่ได้” หรือมัวจะจะฝืนยัดให้เฟืองลั่นแคร๊กๆๆๆๆๆๆๆ จนเกียร์กูแตกเลย อันนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ขับเก่งๆ มีประสบการณ์แล้ว จริงๆ จะต้องมีการ “ยกคันเร่ง” ช่วยนิดหน่อย หรือถ้ากล่องฉลาดๆ ก็สามารถ “จุ่ม” ได้ แต่จะสั่ง “ตัดกำลังเครื่องยนต์” ลดองศาไฟจุดระเบิด ถ้าลิ้นไฟฟ้าก็ “ปิด” หรือบางทีก็สั่ง “ตัดดับ” เครื่องไปเลย (เครื่องไม่หยุดหมุนหรอกเพราะมันมีแรงเฉื่อยอยู่เยอะ) แต่มันเป็นเพียงแค่ช่วงเสี้ยววินาที เพื่อให้ “เกียร์เข้าง่าย” มากขึ้น…
แต่แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ช่วยมากมาย “ปอนด์เทค” ก็ยังนิยม “จิ้มคลัตช์” อยู่ เหตุผลก็มีประมาณนี้…
- ความรู้สึกดั้งเดิม : โดยปกติ การเปลี่ยนเกียร์ก็ต้องมีจังหวะ “เหยียบ ยัด ยก” เหยียบคลัตช์ ยัดเกียร์ ยกคลัตช์” ซึ่งหลายคนก็ “สะดวกแบบนี้” เป็นความเคยชินดั้งเดิม แต่การเข้าเกียร์แบบไม่เหยียบคลัตช์ มันก็เร็วแต่อาจจะ “ฝืนความรู้สึก” อยู่บ้าง อันนี้ก็อยู่ที่ชอบและถนัด เพราะการแข่งรถ กฏข้อสำคัญ คือ “ต้องทำให้คนขับ ขับได้อย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองที่สุด” ถ้าเขาถนัด ว่ากันตั้งแต่ตำแหน่งการ “นั่งขับ” ก่อนจะทำอย่างอื่น รวมไปถึง “ตำแหน่งอุปกรณ์” ที่จะต้องจัดวางและติดตั้งได้อย่างเหมาะสม อันนี้เป็นตัวแปรสำคัญทำให้รถเร็ว และ “ลดข้อผิดพลาด” อาจจะดูเป็นเหตุผลที่หน่อมแน้ม แต่เอาจริงมันมีผลอย่างมากนะครับ ไม่เชื่อก็ลองดู…
- จิ้มคลัตช์ (แจ๊ะๆ) : การเหยียบและปล่อยคลัตช์ มันต้องเสียเวลากันบ้าง ถ้าเรา “เหยียบสุด” ทำให้ช่วงการทำงานของแป้นคลัตช์ (Pedal travel) มันมากขึ้น อย่าง ปอนด์เทค เองก็ใช้วิธี “จิ้มคลัตช์” โดยการเหยียบคลัตช์ “ไม่สุด” เอาแค่พอ “คลัตช์จาก” แล้วเข้าเกียร์ได้ จะทำให้รวดเร็วกว่าการเหยียบคลัตช์สุด อันนี้บางคนก็อาจจะตั้ง คลัตช์สูง ไว้หน่อย เพราะเวลา “แย็บ” นิดเดียว คลัตช์ก็จาก เข้าเกียร์ได้ ไม่ได้เป็นสูตรตายตัวครับ เป็นความถนัดแต่ละบุคคล…
- เกียร์จะเข้าได้นิ่มและเซฟกว่า : การเข้าเกียร์โดยไม่เหยียบคลัตช์อย่างเร็ว จะได้ยินเสียง “ชึ่งๆ” เวลายัดเกียร์ นั่นเป็นเสียงของ Dog teeth ขบกัน เพราะไม่มี Synchromesh มาช่วยเฉลี่ยรอบให้สัมพันธ์กันเหมือนรถบ้าน มันเข้าเร็วกว่าจริง ถ้าคนขับเก่งพอ มันต้องมีการกระแทกอย่างถูกจังหวะ (ไม่ได้สักแต่กระแทก) หรือ อาจจะไม่เร็วกว่า หากคนขับยังไม่ถึงพร้อม (ถ้าเทียบกับเกียร์ประเภทเดียวกัน เช่น H-Pattern เหมือนกัน) ซึ่งการเข้าเกียร์แบบเหยียบคลัตช์ จะสามารถเข้าได้ “นิ่มนวลกว่า” ทำให้ไม่ต้องกระแทก ไม่กินแรงแขน และ “มีความรู้สึกว่าแม่งเข้าแน่” มั่นใจกว่า ไม่แน่นะ อาจจะ “เร็วไม่แพ้กัน” กับการไม่เหยียบคลัตช์ก็ได้ สิ่งที่ได้แน่ๆ คือ “เซฟเกียร์” ลดแรงกระแทกของเฟืองเกียร์ ทำให้ใช้ได้นานกว่า อันนี้ก็สำคัญ เพราะการแข่งขันมันไม่มีคำว่าพลาด ยอมเซฟเกียร์ดีกว่าเสี่ยงทำเกียร์แตก จะได้ไม่บานปลายครับ…
- หัวเป็นไฟเบอร์ แต่บอดี้ยังคงเป็นเหล็กเดิมโรงงาน ทำให้มิติดูเหมือนรถเดิม
.
พี่ “เบิร์นเป็นมั้ย”
การเริ่มต้นแข่งขัน Drag Racing ตอนเอารถเข้ามาในสนาม สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “พี่ต้องเบิร์น” สิคะ มันเป็นการ “เล้าโลม” ให้ “ร้อนเร่า” หมายถึง “ยาง” และ “เครื่องยนต์” ได้วอร์มจนถึงอุณหภูมิอันเหมาะสม “ได้อารมณ์” สุดๆ การเบิร์นไม่ได้สักแต่ปั่นๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ให้ควันขโมงเรียกแขกเพียงอย่างเดียว มันจะต้องมี “อุณหภูมิที่เหมาะสม” ด้วย ปั่นมากเกินไปก็ทำให้ “เนื้อยางเสื่อมหรือไหม้” ได้ เปลืองเปล่าๆ ร้อนจัดเกินไปก็ใช่ว่าจะเกาะดีนะครับ ก็จะต้องมีประสบการณ์ว่ายางแบบไหน รถแบบไหน แทร็คสภาพไหน จะต้องเบิร์นยังไง ตอนนี้ ก็มาว่ากันถึงเรื่องเทคนิค “พี่เบิร์นเป็นมั้ย” ซึ่ง ปอนด์เทค จะเป็นผู้ที่ขับรถหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นเล็ก Super 1500 ไปยัน Super Dragster ก็จะมีทุกสไตล์ ขับหน้า ขับหลัง ขับสี่ ยางเรเดียล ยางนิ้ว แน่นอนว่า “มันย่อมแตกต่างกัน” อย่างแน่นอน…
ซึ่งเทคนิคการเบิร์นรถขับหน้า ดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษพิสดารไปกว่าชาวบ้าน แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ เวลา “เช็ดปั่นหน้ายาง” จะไม่ให้รถไหลไปถึงจุดสตาร์ทเด็ดขาด ??? ไม่เหมือนขับหลังที่ปล่อยเลยไปได้ สาเหตุง่ายๆ ที่คนไม่เคยขับคาดไม่ถึง ก็คือ เมื่อเราเอาล้อหน้าเหยียบน้ำบน Water box แล้วขับออกมา ล้อหลังจะเหยียบน้ำติดขึ้นมาด้วย ถ้าเราปล่อยรถวิ่งเลยจุดสตาร์ท ล้อหลังจะ “พาน้ำ” มา ทำให้ “จุดสตาร์ทเปียก” พอถอยไปก็เท่ากับ “เหยียบน้ำตัวเอง” ทำให้การออกตัวนั้นฟรีทิ้งมากขึ้น อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงๆ เสี้ยววินาทีก็มีผล Play safe ไว้ก่อน ดังนั้น จึงไม่ปล่อยให้รถไหลไปถึงจุดสตาร์ท ถ้าเป็นขับหลังไม่มีปัญหา เพราะล้อหน้าจุ่มน้ำจริง แต่พอจังหวะเช็ดหน้ายาง ล้อหลังก็ปั่นให้น้ำแห้งไปอยู่แล้ว อันนี้แสดงให้เห็นถึง “เทคนิค” ที่นักขับและทีมแข่งระดับมืออาชีพนั้นต้องศึกษา จริงๆ ก็ไม่อยาก ให้หมั่น “สังเกต” ดูตามคลิปการแข่งระดับโลกก็ได้ อย่างอันนี้ ปอนด์เทค ก็สังเกตได้ และนำมาปรับใช้กับตัวเองครับ…
Comment : PONDTECH (เบญจรงค์ ชมายกุล)
สำหรับรถคันนี้ ทาง “พี่ต้น” เจ้าของรถ ก็ให้ทั้งผม และ Frame Factory 77 (เช็ดเป็ด เช็ดไก่) เป็นผู้จัดการสร้างและดูแลให้ทั้งหมด ทั้งจูน ทั้งขับ ทั้งทำ โดยมีการคุย Concept ว่าต้องการแบบไหน และ เราต้องการอะไรบ้าง ทาง พี่ต้น ก็จะไปดิวกับ “นอริส ประยูรโต” แห่ง PRAYOONTO RACING แล้วสั่งของมาตามที่เรากำหนดสเป็กไปให้ หรือบางอย่างถ้าตัดสินใจไม่ได้ ก็จะให้ทีมเราเป็นฝ่ายจัดการ ในด้านเวลาของคันนี้ ครั้งแรกวิ่งลองรถก่อนงาน HONDA DAY ทำเวลาได้ 9.1 วินาที แต่ในวันงาน รถมีปัญหาเรื่อง ปะเก็นแลบ นิดหน่อย มันก็วิ่งได้แหละครับแต่ไม่ได้สมบูรณ์เต็มร้อย เรียกว่าไปร่วมสนุก ก็มีรางวัลติดไม้ติดมือมาพอเป็นกำลังใจ สำหรับสเต็ปต่อไป ก็ “รอสปอนเซอร์ผู้ใจดี” มาสนับสนุนหน่อยนะๆๆๆๆๆ ตอนนี้ก็ได้รื้อรถมาตรวจเช็คสภาพ เก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์เต็มร้อย แล้วลองเทสต์รันดูอีกที ถ้าทุกอย่างลงตัวก็จะ “เก็บรถ” รองาน Souped Up ปลายปีนี้อย่างเดียวเลย ท้ายสุด ก็ขอขอบคุณ “พี่ต้น” เจ้าของรถ ที่ไว้ใจให้พวกเราทุกคนช่วยดูแล และ ให้ผมขับรถคันนี้ครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี #สาระเร็ว
ต้องขออภัยท่านผู้ชมด้วยที่เราไปถ่ายในขณะที่ “กำลังประกอบเครื่อง” เลยอดเห็นเครื่องสวยๆ เป็นตัว แต่ด้วยความที่คันนี้เป็น “กระแสใหม่” ที่ผลิตออกมาสดๆ ร้อนๆ เลยอดทนไม่ไหวที่จะต้องนำมาเสนอกันให้ไวที่สุด แต่ข้อดี คือ “ได้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นกันง่ายๆ” เช่น ไส้ในเครื่องยนต์ รวมถึงของที่ถ้าประกอบเข้าไปแล้วเราจะมองไม่เห็น อย่างคันนี้ สิ่งที่ชอบก็คือ “ทรวดทรง” ที่ยังคงเอกลักษณ์ของ DC5 ไว้ เพราะใช้ชิ้นส่วนบอดี้เดิม (ยกเว้นหัวครอบ) ก็ดีเพราะรถมันมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว อีกอย่าง อุปกรณ์ต่างๆ อาจจะดูไม่มีอะไร โล่งๆ แต่นี่เป็นข้อดี เพราะคนขับจะได้ไม่ต้องวุ่นวาย ทีมเซอร์วิสก็ทำงานง่าย ต้องรอดูผลงานกันต่อไป ว่าจะทะลุ “แปด” ได้เท่าไร…
Special Thanks
PONDTECH RACING : FB/Pondtech Benjarong, Tel. 087-337-7336
Frame Factory & AOR 77 SHOP : FB/Frame Factory, Tel. 080-070-4781
X-TRA Ordinary
น้องๆ รุ่นใหม่ สงสัยไหมครับ ว่า “ปอนด์เทค” เบญจรงค์ ชมายกุล นั้นเป็นใครมาจากไหน แล้วดังขึ้นมาได้ยังไง ย้อนไปในปี 2010 มีเซอร์ไพรส์อย่างแรง เพราะตำแหน่ง Top 10 ดันมี CEFIRO ที่เป็น Stock body สีขาว คาดสติกเกอร์ “ทำไมต้อง UZ” ข้างรถ โผล่มาติดอันดับ 3 เฉยเลย ซึ่งอันดับ 1-2 เป็น Super Dragster ใครจะคิดว่า “มันจะเร็วกว่า Super Max” เพราะคันนี้เป็นรถ PRO 6 แต่สปีดเร็วกว่านรก กดเวลาลงไปที่ “8.293 วินาที” โดยที่คนทำก็ไม่ใช่ใคร “บุญตา วรรณลักษณ์” แห่ง RAM 77 RACING นั่นเอง หลังจากนั้นเป็นการแจ้งเกิดให้กับ ปอนด์เทค อย่างเป็นทางการ ในปี 2012 อัพเกรดเป็น “สีเหลือง” ปีนี้เป็นปีที่รถพังระเนระนาดหมด รุ่นใหญ่ๆ ไม่เหลือทรง เรียกว่า “เร็วที่สุดไม่ใช่ว่าจะชนะเสนอไป ผู้ที่พร้อมที่สุดเท่านั้น ถึงจะชนะ” ปอนด์เทค คว้าแชมป์มาครอง ก็ยังเป็นสเต็ป PRO 6 ช่วงล่างยังเป็นแบบเดิมอยู่ ด้วยเวลา 8.141 วินาที ในปีถัดมา อัพเกรดเป็น Back half 4 Links แต่ “แรงเป็นไฟ” ไปซะก่อนในรอบควอลิฟาย ตอนนั้นพอดีกระแส “เคยี่” HONDA มาแรง ก็เลยเบนเข็มมาฝั่งนี้ โดยได้ร่วมงานกับ PRAYOONTO RACING หลังจากนั้นก็เปิดอู่ PONDTECH ซะเลยจนถึงบัดนาว…
- การเซ็ตช่วงล่างของรถ “ขับหน้า” ก็จะปรับโช้คอัพหน้าให้ Rebound (จังหวะยืด) หนืด รั้งไม่ให้ “หน้ายก” จนสูญเสียการยึดเกาะ ส่วนด้านหลังก็จะ Bump หรือ Compress (จังหวะยบ) แข็ง เพื่อไม่ให้ท้ายยุบ ทำให้มันไม่งัดหน้าจนลอย คือ มันกลับทางกันกับรถขับหลังน่ะ
TECH SPEC
ภายนอก
ตัวถังและเฟรม : Frame Factory
ร่มเบรก : SIMPSON
สวิทช์ตัดไฟ : Quick Car
ภายใน
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : SIMPSON
ตาข่าย : SIMPSON
พวงมาลัย : GRANT
คอพวงมาลัย : Strange
ชุดคันเกียร์ : QUAIFE
จอ : AIM
เกจ์วัด A/F : AEM
แป้นเหยียบ : WILLWOOD
เครื่องยนต์
รุ่น : K20A
ฝาสูบ : PRAYOONTO RACING
แคมชาฟต์ : PRAYOONTO RACING Custom made
วาล์ว : FERREA
สปริงวาล์ว : SUPERTECH
ปะเก็นฝา : COMETIC
ปลอกเสื้อสูบ : DARTON by PRAYOONTO RACING
ลูกสูบ : CP
ก้านสูบ : R&R Aluminum
ข้อเหวี่ยง : WINBURG 2.7 L Stroke 106 มม.
ปั๊มน้ำมันเครื่อง : PETERSON Dry Sump
ลิ้นเร่งอิสระ : PRAYOONTO RACING by KINSLER
เฮดเดอร์ : PRAYOONTO RACING
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : M&W 500 Milli-Joule
หัวฉีด : ATOMIZER 5,500 cc.
ชุดขับเคลื่อนหัวฉีด : FUELTECH
คอยล์ : MSD
กล่อง ECU : AEM INFINITY Series 5 by PONDTECH
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : QUAIFE Sequential 5 speed
เพลา : Drive Shaft Shop (DSS) 5.9
คลัตช์ : CLUTCH MASTER (CM) 720 Series Twin plates
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : PENSKI
โช้คอัพหลัง : Strange
สปริง : HYPERCO
ช่วงล่าง : Frame Factory
ล้อหน้า : WELD V-Series ขนาด 9 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง WELD V-Series ขนาด
ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ET DRAG SLICK ขนาด 28-9.5-15
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ET FRONT
เบรกหน้า–หลัง : Strange
- ตอนนี้เรียบๆ คลีนๆ เพราะรอ “สปอนเซอร์ใจดี” มาสนับสนุนบนพื้นที่บนตัวรถ มองมุมนี้จะมีเอกลักษณ์ที่มันดู “เดิม” นี่แหละ ซึ่งบอดี้เหล็กจะลดอาการสั่นกระพือที่ความเร็วสูงได้ และเจ้าของรถ รวมถึงสไตล์ของ Frame Factory ที่ชอบทรงดั้งเดิม
- ร่มเบรก จะใช้ขนาดเล็กใบเดียวพอ เพราะรถไม่ได้แรงมากเหมือนพวก Super Max & Super Dragster ที่ต้องใช้ร่มคู่ หรือ ร่มใหญ่ การใช้ร่มใหญ่เกินไปก็ใช่ว่าจะเบรกดี เพราะความเร็วไม่ถึงเกณฑ์ ลมแรงไม่พอ ร่มใหญ่เกินไปจะ “กินลมช้า” กว่าจะกางก็ Delay ไปเยอะ คือ มันไม่จำเป็น
- WELD V-Series แบบ 3 ชิ้น เพราะจะได้เปลี่ยน Lip หรือ ขอบล้อ ได้ในขนาดและ offset ที่ต้องการ พร้อม Bead lock ล็อกขอบยางกันการ “หลุด” หรือ “เลื่อน” ออกจากล้อ เพื่อความชัวร์ในการแข่งขัน
- ล้อหลัง WELD V-Series Front Runner (รถขับหลัง จะใส่ล้อหน้า รถขับหน้า จะใส่ล้อหลัง) เป็นล้อแบบชิ้นเดียว จะเป็นแบบ “ดุมเดียว” ที่ยึดกับคอม้าโช้คอัพเลย ได้ดีที่ “เบา” ไม่ต้องมีดุมแยกออกมาเหมือนแบบ 5 นอต
- ตัวตัดไฟ Quick Car ที่ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมมาก สามารถมองเห็นง่ายและใช้งานได้เร็ว ซึ่งการติดที่ส่วนท้ายจะมีข้อดี เนื่องจากว่า ส่วนมากเวลา “เฟาเม่า” ก็จะมาจากด้านหน้าที่มีเครื่องยนต์ ถ้าติดสวิทช์ที่ด้านหน้า เวลาเกิดเหตุจะใช้งานได้ยากเพราะไฟลุก แต่ถ้าติดด้านหลังก็ยังสามารถช่วยเหลือได้ง่ายกว่ามาก
- โช้คอัพหน้าวางเฉียง ทำให้ส่วนสูงของหน้ารถไม่มาก สามารถออกแบบให้ชุดหัวครอบเตี้ยลงได้มาก ทำให้ “ลู่ลม” และ “สวยงาม” มากขึ้น
- ชุดโช้คอัพและคอม้าหลัง Strange แบบ “ดุมเดียว” จบเรื่อง มีเดือยโผล่มา ใส่ล้อเข้าไปเลย ไม่ต้องมีดุมแยกมาอีกชุดให้หนักเล่น เพราะล้อที่ไม่ได้ขับเคลื่อนไม่ได้รับภาระอะไรมากขนาดต้องใช้นอตล้อเยอะๆ
- ช่วงล่างหลังก็ง่ายๆ มีแค่ “สองแท่ง” ในแต่ละด้าน เอาไว้ปรับมุม “โท” ตามความต้องการได้ จะ “โทศูนย์” หรือจะเป็น + หรือ – ก็แล้วแต่จะเซ็ต ตรงนี้สำคัญเพราะการที่รถจะวิ่งตรงหรือไม่ ทุกล้อมีส่วนสำคัญหมด อย่างรถขับหน้า ล้อหลังอาจจะดูไม่มีบทบาทเลย แต่ถ้ามัน “ไม่ได้ศูนย์” มันก็พารถ “ตะแคงวิ่ง” ไปทั้งคัน จึงต้องให้ความสำคัญกับมันด้วย
- ภายในโล่งๆ เน้นอุปกรณ์ที่จำเป็น เหลือเก็บงานอีกหน่อย ในด้าน “ตำแหน่งการติดตั้ง” จะต้องเหมาะสมกับคนขับ อย่างคันนี้ “พี่เท่ง” ขับ ก็ต้องวางในตำแหน่งที่ขับถนัด ตามสรีระของคนขับ
- พวงมาลัยจริงๆ เป็นของ GRANT สำหรับ Drag Racing โดยตรง ส่วนคอเป็น Strange ครับ
- Safety Net จะมีหน้าที่ช่วยป้องกัน “อวัยวะ” โดยเฉพาะ “แขน” ยื่นออกมาในกรณีเกิด “หงายเงิบ” จากแรงเหวี่ยงของรถ อาจจะดูไม่มีบทบาทอะไร แต่ถ้าเกิดเหตุจะเห็นความสำคัญของมันมากๆ ทีเดียว และจะต้องติดกับ “โรลบาร์” เท่านั้น ห้ามติดกับประตู เพราะถ้าประตูหลุดออกไปเท่ากับสูญเปล่า อันนี้เป็นกฏของ Souped Up ที่เราเป็นห่วงนักแข่งทุกคน
- แม้จะเป็นรุ่น PRO 4 N/A แต่ก็ยังทำ “กรง” ล้อมคนขับไว้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
- คันเกียร์ QUAIFE อันนี้ผมเห็นติดตั้งก่อนอุปกรณ์ภายในอื่นๆ (เห็นตั้งแต่เริ่มสร้างรถเลย) เพราะการเข้าเกียร์จะต้องถนัดจริงๆ ถึงจะได้เวลาที่ดี คันเกียร์มันจะต้องมีตำแหน่งที่แน่นอนตายตัว ไม่เหมือนอย่างอื่นยังปรับเลื่อนได้ เช่น พวงมาลัย เบาะนั่ง ส่วนเกจ์ A/F Ratio หงายไว้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะดูยังไง ไม่ต้องสงสัย เพราะคนขับไม่มีหน้าที่ต้องดู จะดูเฉพาะ “จูนเนอร์” เท่านั้น
- แป้นเหยียบ WILWOOD ทำได้ดูแปลกและมีเอกลักษณ์ พร้อม “ผ้าทรายหยาบ” กันลื่น
- ตอนไปกำลังนั่งโม่เครื่องกันพอดี เสื้อดำลายแดง “ต้น” เจ้าของรถ ส่วนสุดหล่อขวาสุด “หนุ่ย Engine” มาช่วยประกอบ
- ลูก CP จั่วแหลม กำลังอัดสูง ต้องรับกับเชื้อเพลิง M5 + ไนโตรมีเทน
- ก้านอะลูมิเนียม R&R ซึ่งเหมาะสำหรับ Drag Racing อย่างเดียว เพราะ “เบา” และวิ่งระยะ Peak แบบสั้นๆ ซึ่งต้องคุณอุณหภูมิน้ำมันเครื่องให้ดี อะลูมิเนียมขยายตัวได้ง่ายกว่าเหล็ก เพราะถ้าร้อนเกินไป จะทำให้ Clearance ขยายมากเกินไป ส่งผลให้แรงดันน้ำมันเครื่องตก และเกิดปัญหาขึ้นได้ คนประกอบก็ต้องเผื่อ Clearance ที่แตกต่างจากก้านเหล็กฟอร์จปกติไว้ เพราะการขยายตัวไม่เท่ากัน
- ค่ายนี้ศรัทธาอุปกรณ์จาก PRAYOONTO RACING
- เฮดเดอร์จะคำนวณมาสำหรับเครื่องยนต์แต่ละสเต็ป ตามองศาแคมชาฟต์ วาล์ว ความจุของเครื่อง รอบเครื่องที่ใช้ คันนี้หวดไปถึง “11,000 rpm” ซึ่งเฮดเดอร์จะสำคัญมากๆ สำหรับเครื่อง N/A ที่ไม่มีการช่วยอัดอากาศใดๆ การ Flow ต้องสมบูรณ์แบบที่สุดตั้งแต่ฝาสูบมาเลย
- ชุดหน้าแปลนและลิ้นเร่ง PRAYOONTO RACING ที่กำหนดสเป็กให้ KINSLER ผลิตมาให้ หัวฉีด ATOMIZER ขนาด “ห้าพันห้า” กรอกเข้าไปเลยดีกว่า
- มาให้บ๊วบซะดีๆ
- ชุดคลัตช์ CM CLUTCH หรือ CLUTCH MASTER แบรนด์นี้คู่กาย PRAYOONTO RACING มาตลอด