เรื่อง “ฟันๆ” เอ๊ย “ควันๆ” !!! สีไหน “มันส์” สีไหน “ตัน” ดูให้รู้ (สำหรับรถวิ่งถนน)

 

เรื่อง “ฟันๆ” เอ๊ย “ควันๆ” !!!

สีไหน “มันส์” สีไหน “ตัน” ดูให้รู้ (สำหรับรถวิ่งถนน)

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : XO AUTOSPORT Team

                งานนี้สำหรับสาย “ดีเซล” ที่ใครยังไม่รู้ ก็ควรจะต้อง “อ่าน” เอาทั้งมันส์และสาระ เรื่องของ “ควัน” ที่พ่นออกมาจากท่อไอเสียไอ้ตัวแรงนั้น ซึ่งหลายคนก็มีความเชื่อว่า “ดีเซลควันต้องเยอะ” แถม “ดำแบบโคตรพ่อแม่ลูก” มันถึงจะ “แรงงงงงงงงงงงงงงง” ไอ้เรื่องจริงมันก็พอจะจริงอยู่ แต่ “อาจจะไม่จริงทั้งหมด” นะครับ เพราะ “มันก็ต้องมีจุดพอดีของมันเหมือนกัน” ใส่น้อยไปก็ “ไม่แรง เสี่ยงพัง” เพราะส่วนผสม “บาง” แต่ถ้าใส่เยอะไป “ควันดำโคตร แต่ก็ไม่แรงอีก” รถจะวิ่งแบบ “บื้อๆ” เราลองมาดูกันดีกว่า ว่าตรงไหนที่ดูแล้ว “ทรงน่าจะดีสุด” เป็นหลักการง่ายๆ ที่เราพอสังเกตได้ แต่แค่ดูไม่พอ ต้องประกอบกับ “การขับ” ด้วย เอาล่ะสิ มันยังไงกันแน่ ???

ทำไมดีเซลต้อง “นิยมควัน”

เพราะเครื่องดีเซล หลักการมันก็เหมือนกับเครื่องเบนซิน คือ “หาเชื้อเพลิงมาเผาเพื่อเปลี่ยนจากพลังงานความร้อนเป็นพลังงานกล” เพียงแต่ดีเซล จะเน้นการ “ใช้กำลังอัดสูง” ประมาณ 18 : 1 (ถ้ารุ่นเก่าๆ พวกปั๊มสาย จะสูงเกินกว่า 20 : 1) เพื่อที่จะ “ทำให้เกิดความร้อน” โดยไม่ใช้หัวเทียน ดังนั้น ส่วนหลักที่ใช้ในการจุดระเบิด ก็มีเพียง “น้ำมันดีเซล” และ “ไอดี” เท่านั้นเอง โดยหลักแล้ว ถ้าจะทำดีเซลให้แรงก็มีหลักการง่ายๆ ครับ คือ “น้ำมันเยอะ + ไอดีเยอะ” ก็คือการ “เพิ่มน้ำมัน” และ “เพิ่มบูสต์” นั่นเอง ถ้ายิ่งเพิ่มน้ำมันมาก ก็จะมี “ควัน” ตามออกมา เรียกว่า “เหลือ” ไว้ก่อน เพราะต้องรองรับบูสต์มหาศาล ก็เลยเป็น “ปลาหมึก” อย่างที่เราเห็นนั่นแล…

ดำไม่ดำ เทาไม่เทา เอายังไงแน่

ตานี้ เรื่องของ “ส่วนผสมของน้ำมันและอากาศ” หรือ A/F Ratio มันก็ต้อง “มี” ครับ ซึ่งบางคนก็อาจจะมองว่า เครื่องดีเซลไม่ค่อยจะเน้นการวัดค่าเรื่อง A/F กันเท่าไร เพราะมันมีเงื่อนไขเพียงแค่ ใส่น้ำมัน เพิ่มบูสต์ แล้วมาเฉลี่ยให้แต่ละช่วงมัน “ประมาณนี้” ก็ไปได้แล้ว แต่จริงๆ มันก็จะต้องมี “จุดเหมาะสม” ของมันเหมือนกัน จูนเนอร์ส่วนใหญ่ก็จะดู “ควัน” ตอนจูน ว่าเออ…สีควันขนาดนี้กำลังดีนะ แล้วสีนี้จะมากไปน้อยไป แต่ส่วนมากจะ “ถมเผื่อไว้” เพื่อ “กันพัง” ควันก็เลยดำโชยซะ แต่จะดำมาก ดำน้อย ก็ลองดูต่อไปครับ ว่าตรงไหนดี…

ดำ + ท่วม + จุก  

เจอกันประจำ พ่นออกมาที “มืด” หยั่งกะปลาหมึกตอนเจอข้าศึก ไอ้เรื่องดำยังไงก็ต้องดำน่ะก็ใช่ แต่ถ้าดำมากไปก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป ดำแบบกลบมาเป็น “ลูกๆ” แสดงว่า “ส่วนผสมหนาเกินไป” จะทำให้แรงม้าตก การตอบสนองของรถจะชัดเจนว่า “บื้อ” เวลาเปลี่ยนเกียร์ ช่วงรอบกลางที่เป็น Peak Torque มันจะต้อง “รอรอบ” ก่อนแล้วค่อยไป หรือศัพท์ดีเซลเขาว่า “รอหัวเกียร์” นั่นแหละครับ ถ้าจูนหนาหนักๆ ก็จะเจออาการ “จุก” หมายถึง อื้อๆ อึนๆ รถไม่ไป ไปก็ไปแบบไม่เต็มใจ บื้อๆ อะไรประมาณนั้นน่ะ จริงอยู่ เวลาช่วงออกตัวต้นๆ เกียร์ หรือช่วงเปลี่ยนเกียร์แล้วรอบตกลงมา กำลังจะรอไต่ขึ้นไป ช่วงนั้นจะเป็น Full Load ก็จะต้องมีควันดำออกมาเยอะ เพราะ “รอบหมุนไม่มาก แต่น้ำมันจ่ายมาก” จากการกดคันเร่งเต็ม แต่พอ “ลอยลำ” เริ่มรอบสูงขึ้นแล้ว ควันจะต้อง “เริ่มจางลง” แต่ถ้ายังหนาตั้บท่วมๆ แถมรถยังไป “จุกๆ” อีก อันนี้ก็คือ “หนาเกินไป” นั่นเอง…

แต่ก็อย่าไปเปรียบเทียบกับ “รถแข่งเต็มตัว” นะครับ อันนั้นเขาดำตลอดเพราะ “ใส่หนัก” เพราะรถพวกนี้บูสต์กันเป็นร้อย ไส้ในทำเต็ม ฝาสูบก็ทำเต็ม เพิ่ม “ประสิทธิภาพในการประจุอากาศ” มาแล้ว จึงใส่เงื่อนไขโหดๆ ได้ แต่กับรถถนน “คนละอย่าง” มันต้อง “พอดีๆ” เพราะรถวิ่งถนนเราใช้ทั้งรอบต่ำ กลาง เป็นหลักด้วยครับ จึงต้องใช้ความละเอียดในการจูนเพิ่มขึ้น…

สีเทาควันเบลอ (หรือเธอไม่ชัดเจน)  

ถ้าเป็นบางคน ก็จะนิยมส่วนผสมแบบ “ออกสีเทา” หน่อย ไม่ดำตึ้บเหมือนตะกี้ อันนี้แหละที่เขารู้ทรงกันว่า “แจ๋ว” มันจะ “พอดีๆ” กันนั่นแหละเพื่อน ช่วงต้นเกียร์อาจจะดำหน่อย แต่พอช่วงกลางๆ บูสต์มา ดนตรีมา รอบเดิน ควันจะเปลี่ยนสีเทาจางลง ถ้ารถไปได้แบบ “แหว๋วๆ” รู้สึกเลยว่ามันไปแบบเบาๆ ไม่บื้อไม่อึน ก็แสดงว่า “ถูกต้อง” แล้วล่ะครับ คือพูดง่ายๆ ถ้าเป็นสไตล์รถถนนแรงๆ แต่ขับใช้งานด้วย ก็จะต้อง “เกลี่ย” ให้มันเหมาะสม เพราะเราต้องการกำลังในรอบต่ำและกลางด้วยอย่างที่บอก ส่วนจะให้ “ไร้ควัน” เลย จริงๆ ก็พอจะทำให้มันออกมาน้อยที่สุดได้ โดยที่แรงม้ายังคงเพิ่มได้ แต่ก็ต้องอาศัยการจูนที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นรถแข่ง “เซอร์กิต” ก็จะต้องทำแบบนี้ เพราะควันท่วมๆ หมายความว่าไปบดบังรถคันที่ตามมา จึงต้องกำหนดเรื่องควันเป็นพิเศษครับ…

บทสรุป อย่าเพิ่งดราม่า !!!

เรื่องนี้ก็ได้ข้อสรุปมาอย่าง คือ “ความเชื่อ” ที่แต่ละคนมีความคิดเห็นที่ต่างกัน เราคงไม่ไปชี้ชัดว่า “ใครถูก ใครผิด” ซึ่งรถแต่ละคัน สไตล์การจูนของแต่ละคน แต่ละอู่ ก็ทำมาไม่เหมือนกัน ซึ่งหลักการนี้ ต้องดู “อาการรถ” เป็นส่วนประกอบ เช่น การขับลองจับเวลาในสนาม หรือ วัดแรงม้าบนแท่นไดโน จะเป็นตัวบอกสมรรถนะได้ดีที่สุด ที่สำคัญ “คุณ Happy กับรถมั้ย” ถ้า “โอเค” ก็ถือว่าจบ ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างมันจะมี “เหตุผลหลัก” ว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” เราหาความรู้กันดีกว่า ไม่เน้น “ดราม่าใส่กัน” นะครับ…

ขอฝากทิ้งท้ายถึงเหล่า “สายควันดำ” ว่า บางคันก็ขับไม่เห็นใจ “คนข้างหลัง” กันเลย ออกกันทีควันท่วมบังมิด ซึ่งก็จะทำให้เกิด “อุบัติเหตุ” ได้นะครับ โดยเฉพาะเหล่า “แมงกะบื่อ” ที่ขี่ตามมา ก็เคยเห็นกับตาว่ามันอันตรายจริง “อยากแรงไม่มีใครว่า แต่ไปแรงในสนาม” ฝากไว้เท่านี้แหละครับ…

หมายเหตุ : รูปรถที่นำมาใช้ เป็นการขับทดสอบในสนาม และผู้เขียนมีเจตนานำมาใช้ประกอบเรื่องเพื่อสาระและบันเทิงเท่านั้น…