เรื่อง สราวุธ จีนไชยะ, ระเด่น เศรษฐพานิช / ภาพ ทวีวัฒน์ วิลารูป
SPEED D DODGE CHARGER R/T
Dodge Charger ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1966 สิ้นสุดสายพานการผลิตในปี 1978 ตัวที่ได้รับความนิยมจะอยู่ในช่วงปี 1968-1970 ซึ่งมีลักษณะเป็น B-Body ซึ่งเอกลักษณ์ในแต่ละปีจะแตกต่างกันออกไป โดยปี 1968 มีเอกลักษณ์คือ มีไฟท้ายกลมสองดวง คล้ายกะเจ้า SKYLINE ของแดนปลาดิบ ถ้านึกไม่ออกให้ไปหาหนังเรื่อง Bullit ดู ในฉากหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นฉากไล่ล่า (Chase Scene) ที่ดีที่สุดฉากหนึ่งเลย Mustang Fast Back GT390 (สีเขียวเข้ม ๆ) ไล่ล่ากับรถคันสีดำ นั่นแหละเจ้า Charger R/T ปี 1969 ที่ถือว่ามีหน้าตาหล่อที่สุดในบรรดา B- Body ของ Dodge มีการเปลี่ยนรูปแบบไฟท้ายเป็นแบบแถวยาว และเปลี่ยนกระจังหน้าให้ดูเท่ขึ้น และยังเป็นตัวเดียวกับที่นำมาใช้โดดเนิน พลิกคว่ำ ในหนังเรื่อง Duke Of Hazzard เป็น TV Series ในช่วงปี 1979-1983 ซึ่งส่งผลให้รถ Charger เป็นรถขวัญใจอันดับหนึ่งของคนอเมริกัน ถึงกับมีการจัด Duke of Hazzard Festival ขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นพิมพ์นิยมของบรรดานักสะสม และ Dodge Charger ถูกนำมาใช้เป็นตัวเอกในหนังอีกครั้ง ในเรื่อง Fast & Furious (ปี 2001) ในหนังเรื่องนี้ใช้ Dodge Charger ปี 1970 โดยใช้เป็นตัวเอกตอนปิดท้าย ทำให้คนดูติดตราตรึงใจกับรถอเมริกัน มัสเคิลพันธุ์แท้ ซึ่งรถในปี 1970 นี้ถือว่าเป็น Minor Change ตัวสุดท้ายของของเจ้า B-Body Version นี้ ก่อนที่จะออกเจ้าตัวใหม่ในปี 1971 ซึ่งไม่มีเค้าของเดิมเหลืออยู่เลยก็ว่าได้
สำหรับโลโก R/T ที่คุ้นตานั้น ย่อมาจาก Road/Track มันบ่งบอกว่าเป็นตัวพิเศษ ซึ่งค่าย Mopar ตั้งใจนำภาพลักษณ์ของรถยนต์ High Performance Package ขึ้นมา รถที่จะติดโลโก R/T ได้ ต้องเป็นรถที่ถูกปรับแต่งแล้ว คล้าย ๆ กับรถซิ่งจากโรงงาน ซึ่งทาง Mopar เคลมว่า Dodge Charger R/T เป็นรถรุ่นใหญ่ของ Muscle ที่ดีที่สุดในยุค 70’s ซึ่งประจำการด้วยเครื่องยนต์ตั้งแต่ 318 ลูกบาศก์นิ้ว (5,400 ซี.ซี.) เป็นเครื่องยนต์บล็อกเล็ก หรือ Small Block ไล่ขึ้นมา Big Block จะมี 2 ตัวคือ 383 ลูกบาศก์นิ้ว (6,500 ซี.ซี.) และ 440 ลูกบาศก์นิ้ว (7,500 ซี.ซี.) ซึ่งถือว่าเป็นบล็อกใหญ่ที่สุด แต่ก็มีอีกบล็อกที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้กับรถ Chrysler เป็นเครื่องยนต์ที่มีชื่อเสียงที่สุด Hemi ขนาด 7,200 ซี.ซี. เป็นเครื่องยนต์ต้นแบบของรถ Top Fuel , Funny Car เครื่องยนต์ Hemi 426 เป็นเครื่องยนต์ขี้โกงสมัยนั้น เพราะมีระบบฝาสูบที่เหนือชั้นกว่าค่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะแข่งยังไงก็ชนะ เลยทำให้รถยนต์ค่าย Chrysler เป็นที่ปรารถนาของคนอเมริกัน และทำให้ราคาของเครื่องยนต์แท้ ๆ ดั้งเดิมโรงงาน มีมูลค่ามากกว่าล้านบาทต่อเครื่อง
หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นตากับรถสีดำมะเมื่อมเป็นมันจอดอยู่ในงานเปิดตัวหนัง Fast & Furious 4 ที่หน้า Central World จากนั้นก็ตามด้วย Paragon Hall ซึ่งเมื่อมองเทียบกับป้ายโฆษณาแล้ว จะแยกไม่ออกว่าต่างกันตรงไหน อาจพาลคิดไปว่า มีการอิมพอร์ตรถจริงของ Dominic Toretto (Vin Diesel) ตัวเป็น ๆ มาจอดโชว์ให้ดูกันเลย ไม่ว่าจะเป็นความสวยของตัวรถ เครื่องยนต์ ไปจนถึงล้อ ดูยังไงก็ใช่ จริง ๆ แล้ว เจ้ารถคันนี้มีชื่อว่า Dodge Charger ปี 1970 และเป็นของ SPEED D มือจูนระดับหัวแถว และนักแข่ง Drag เจ้าของสถิติ 8.378 วินาที แชมป์ในงาน Souped up Thailand Records 2006 นอกจาก SPEED D จะสนใจรถยนต์เก่า ๆ (Retro Car) แล้ว ยังมีรถอีกประเภทที่เล่น คือ American Muscle Car แอบมีเก็บไว้หลายคันเหมือนกัน มีทั้ง Mopar และ Chrysler ซึ่งมีตัวเด่น ๆ อยู่ 3 คัน Dodge Charger ปี 1970, Dodge Challenger ปี 1970 และ Plymouth Hemi CUDA ปี 1970 อีกเหมือนกัน 3 คันนี้ถือว่าเป็นสุดยอด American Muscle Car เลยทีเดียว โดยเฉพาะเจ้า Hemi CUDA นี้ น่าจะเหลืออยู่คันเดียวในเมืองไทย และเป็น Most Wanted & Most Valuable ในบรรดารถ Muscle Car ซึ่ง SPEED D บอกว่าหลงใหลมากมาย กับรถอเมริกันเสียงกระหึ่ม เครื่องแรง ประกอบกับได้ไปเรียนทำเครื่องยนต์ V8 อเมริกัน, ไปดูรถแข่ง ทั้ง Drag และ ทั้ง Outlaw หลังจากกลับมาก็ได้ไล่ตระเวนหาเจ้ารถที่อยากได้ รวมทั้งขนอุปกรณ์มากมายกลับมาเพื่อโมฯ รถตัวเอง และก่อนหน้าลงมือทำนั้น รถคันนี้ใช้เวลารวบรวมอะไหล่อยู่เกือบปี เพราะอะไหล่ของ Charger หายาก ต้องอาศัย e-Bay เป็นหลัก และจากการที่ได้ไปสัมผัสของจริง ๆ มาจากอเมริกา ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ทำให้ SPEED D อยากได้รถที่มีคุณภาพ เสร็จออกมาต้องเนี้ยบ พอฟัดพอเหวี่ยงกับที่ฝรั่งเค้าทำกัน หลักๆ คือ สีต้อง เงา ลึก ฉ่ำ ตัวถังต้องบาง ใช้สีโป๊ให้น้อยที่สุด ช่วงล่างต้องดี ภายในต้องรักษาความเดิม ๆ เอาไว้ ขอบโครมต้องปิ้ง รายละเอียดต้องได้ (เรื่องมากไปป่าวเพ่…)
Body Restoration
เดิมที สภาพของเจ้า Dodge Charger ตอนที่ได้มา มีสภาพใกล้ตาย รถจอดใต้ต้นมะม่วงมาหลายปี ฝนตกน้ำเข้า รถผุเยอะ แต่ด้วยความเป็นรถอเมริกัน เหล็กค่อนข้างจะหนา ทำให้ยังเหลือสภาพไว้ให้ดูบ้าง และข้อดีของรถรุ่นนี้คือ เค้ายังจะพอมี Body Panel ขาย แต่ก็จะมาเป็นชิ้นใหญ่ ๆ เช่น แก้มหน้า, แก้มหลัง แต่ก็สามารถเลาะรอยอาร์คของเดิม และเปลี่ยนใหม่เข้าไปได้เลย พื้นก็มีทั้งแบบ Full Floor Pan และ Partial Floor Pan โดยสามารถเลือกได้ว่าจะเอาชิ้นไหน ประมาณว่า สามารถประกอบรถเก่า ๆ ให้เป็นรถใหม่ได้เลย โดยที่ทุกอย่างยังมีเค้าของเดิมอยู่ 100% โดยจะต่างกับรูปแบบการทำงานของคนไทย ที่เน้นเคาะมือ ทำให้การเปลี่ยนชิ้นงานนั้นแทบจะไม่ต้องโป๊สี ถ้าใช้ Primer ดี ๆ จะใช้แค่เก็บรอยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วพ่นได้เลย ประหยัดเวลาทำไปเยอะ
หลังจากที่ผ่านการเคาะปะผุไปแล้ว ก็ถึงช่วงลอกสีเก่า การลอกสีนี้ ฝรั่งจะใช้สองแบบ คือ Soda Blasting หรือไม่ก็ Sand Blasting ซึ่งในเมืองไทยนิยมใช้ Sand Blasting ที่เรียกกันว่า “ยิงทราย” การยิงทรายนี้ก็เหมือนดาบสองคม คือทำให้ผิวหมดจดดี แต่จะทำให้พื้นผิวบริเวณนั้นเสียรูปทรงและเป็นคลื่น เพราะการที่เอาทรายเม็ดละเอียดมายิงเข้าที่พื้นผิวเหล็ก หรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อวัตถุกระทบกัน จะเกิดการเสียดทาน และความร้อนทำให้พื้นผิวเสียสภาพไป ถ้ายิงไม่ดีอาจทำให้ผิวทะลุ เสียของไปเลย คันนี้ SPEED D เดินทางสายกลาง ยอมเสียเวลาใช้การขัดมือเป็นส่วนใหญ่ และเลือกยิงทรายเฉพาะตามซอก ตามมุม ที่ไม่สามารถขัดได้ทั่วถึง ทำให้รถคันนี้ได้รายละเอียดของตัวรถที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และขั้นตอนสุดท้ายได้จับขึ้นปิ้ง เพื่อให้ได้รายละเอียดหมดจดทั้งคันไปถึงใต้ท้อง จากนั้นเค้าได้เลือกสีดำ แม่สีของยี่ห้อ PPG ซึ่งเป็นสีที่สั่งนำเข้ามาเพื่องานนี้ เน้นให้สวย เงา ลึก เหมือนอย่างที่ตั้งใจ และการพ่นสีของ PPG นี้ก็ต่างจากธรรมดามาก ต้องพ่นให้ได้ตามขั้นตอนของผู้ผลิต ไม่เช่นนั้นสีจะออกมาธรรมดา ไม่ดูเงาแบบเยิ้ม ๆ ซึ่งอู่ Autocraft ก็พ่นออกมาได้ตามขั้นตอนที่เค้ากำหนด ทำให้สีออกมาดูสวยและเงาตลอดเวลา ส่วนการประกอบชิ้นส่วนซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก SPEED D PROSHOP เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด นอตทุกตัวก็ต้องเป็นแบบเดียวกับของโรงงานสมัยเมื่อ 40 ปีก่อนทั้งหมด คิ้วที่ใช้ก็เป็นคิ้วที่สั่งมาใหม่ทั้งหมดแบบ Weatherstrip kit เพื่อให้ได้รายละเอียดอย่างที่ต้องการ กันชนหน้า-หลัง ขอบโครเมียมต่าง ๆ ได้ทำการซื้อใหม่เพื่อให้รถออกมาดูเหมือนใหม่มากที่สุด
Engine
เดิมทีเครื่องยนต์ที่ติดมากับตัวรถเป็นเครื่องยนต์ Big Block 440 ลูกบาศก์นิ้ว (7,500 ซี.ซี.) อันเลื่องชื่อของตระกูล Mopar แต่เมื่อเวลาผ่าน เจ้าของเก่าเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ตัวโต เป็นเครื่องดีเซลตามสมัยนิยม SPEED D ต้องการเรียกความหลังครั้งเก่ากลับมา จึงได้สั่งเครื่องยนต์ Block 440 ลูกบาศก์นิ้ว (7,500 ซี.ซี.) มาจากอเมริกา โดยเน้นที่จะเอาเครื่องที่มี Block Date Code ตรงปี เพื่อความครบถ้วน ตอนแรกกะว่าจะได้เครื่องมาสมบูรณ์ ๆ ครบ ๆ มาถึงยกใส่เลย แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด รื้อออกมา เจอแต่ซากไส้ในพังไปตามกาลเวลา ตัดสินใจสั่งของชุดใหญ่จากอเมริกามาบูรณะให้กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทางโน้นแนะนำว่าน่าจะซื้อเครื่องยนต์ Hemi 426 Crate Motor ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ของใหม่จากโรงงาน Mopar มาใส่เพราะจะทำให้รถมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก จบแน่นอน SPEED D ตัดใจสั่งเครื่องยนต์มูลค่า 7 หลัก โดยตรงจาก Mopar เพื่อมาใส่ในเจ้า Dodge Charger คันนี้ เพื่อจะได้กลายร่างไปเป็น Hemi Charger
แต่วันหนึ่งหนัง The Fast ภาค 4 ทำให้เปลี่ยนความคิด อยากมีเจ้า Blower โผล่หลุดออกมานอกฝากระโปรงกับเค้าบ้าง โทร.ไปที่อเมริกาอีกครั้ง “อยากได้ Blower” อเมริกาค้านมาว่า ถ้าจะเอาเครื่อง Hemi ทำ ก็จะเสียของ เก็บเครื่อง Hemi ไปใส่ใน Plymouth CUDA แทน แล้วสั่งอะไหล่ไปใส่ในเครื่อง 440 จะดีกว่า ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว สั่งใหม่หมด ก็ถือโอกาสสั่งของที่กำหนดสเป็กได้มาเลย จากที่มาไล่ดูอุปกรณ์ที่ต้องสั่งใหม่ พบว่าสิ่งที่เหลือใช้ได้ก็คือ เสื้อสูบ แต่ก็เป็นรอยอยู่พอสมควร จึงต้องสั่งลูก Over size มาใส่ ข้อเหวี่ยง ก้านสูบ สภาพย่ำแย่ ต้องเปลี่ยน จึงใส่ Stroker Kit แต่ความจุต้องไม่เกิน 496 ลูกบาศก์นิ้ว (8,500 ซี.ซี.) ขยายมากกว่านี้ไม่ได้ เครื่องยนต์จะเปราะ เพราะผนังเสื้อสูบจะบาง ชุด Stroker Kit ที่ใช้เป็นของ Ohio Crankshaft ความจุอยู่ที่ 496 ลูกบาศก์นิ้ว ตามต้องการ โดยโรงงานเคลมมาว่าชุด Stroker ทนได้ประมาณ 1,500 แรงม้า พร้อมกับเปลี่ยนชุดประกับเมนไปเป็นแบบของซิ่ง เป็นวัสดุ Forge แทนที่ของเดิมซึ่งเป็นเหล็กหล่อ, เปลี่ยนนอตข้อเหวี่ยง และนอตฝาสูบไปเป็นแบบ Strut ฝัง และถ้าจะเสี่ยงกับแรงม้าสูง ๆ ปั๊มน้ำมันเครื่องก็ต้องเปลี่ยน ปั๊มที่ใช้เป็นของ Milodon มาพร้อมกับอ่างน้ำมันเครื่อง และตัวกันกระฉอก
ฝาสูบเป็นแบบอะลูมินัมของ Edelblock รุ่น Performer RPM ให้ค่า Flow ของอากาศที่ดี และสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่าฝาสูบเหล็กเดิม ๆ ฝาสูบมาแบบ Complete Set มาทั้งฝาสูบ, วาล์ว, สปริงวาล์ว, รีเทนเนอร์ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็เปลี่ยน Camshaft เป็นของ Mopar Performance Duration 324 องศา ทั้งไอดี-ไอเสีย Lifter เป็นแบบ Mechanical Flat Tappet หรือบ้านเราเรียก ชิมวาล์ว, Roller Rocker arm แบบปรับตั้งได้เป็นของ Proform, Push Rod เป็นเกรด Racing ซึ่งเป็นของ Mopar ทั้งหมด ปะเก็นฝาสูบก็เปลี่ยนเป็นของ SCE Pro Copper Head Gasket เป็นปะเก็นทองแดงที่มีอายุการใช้งานแบบ Long life ใช้ไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีเสีย และยังมีข้อดีที่สามารถซีลไม่ให้กำลังอัดรั่วได้เป็นอย่างดี จากนั้นก็ไม่ลืมที่จะสั่งชุดนอตประกอบเครื่องของใหม่เป็นของ ARP และเมื่อของมาครบ ก็ให้ทีมงานของ Siam Prototype เป็นผู้ดูแลการประกอบให้ พร้อมกับดัดแปลงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ
ระบบอัดอากาศ เครื่องยนต์ตัวนี้ใช้ระบบอัดอากาศที่ฝรั่งเรียกว่า Blower (คนไทยเรียก Supercharger) ครั้งนี้ SPEED D ได้สั่งของจาก BDS (Blower Drive Service) ซึ่งเป็นร้านที่ขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับชุด Blower โดยตรง ทางร้านแนะนำให้ใช้ชุด Blower ที่มีขนาด 8-71 STEP 2 มีเทฟลอนซีลที่ปลายโรเตอร์ เป็น Blower ขนาดกลาง เหมาะสำหรับ Pump Gas/High Octane/Racing Fuel/Alcohol มาเป็นชุดอุปกรณ์แบบสามารถมาติดตั้งเองได้ ซึ่งทางร้านแนะนำว่า ควรบูสต์ประมาณ 5-7 psi สำหรับน้ำมัน 95 และสามารถบูสได้ถึง 20 psi ถ้าใช้ Alcohol ซึ่งจะสามารถผลิตกำลังได้ถึง 1000-1200 hp แบบสบาย ๆ ด้วย Combination ของเครื่องยนต์ที่ส่งสเป็กไปให้
Engine Management System
เครื่องยนต์ที่มี Blower ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบอัดอากาศ จะต้องใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างสูง ในเครื่องยนต์ที่มีอัตราบูสต์น้อย และเป็นรถที่ใช้งานทั่วไป จะนิยมใช้ คาร์บูเรเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากมีการเล่นกันมานานแล้ว เครื่องยนต์ส่วนใหญ่มักจะมี Pattern ของเค้า แต่ก็มีอีกระบบที่นิยม ระบบ Enderle Injection ซึ่งเป็น ระบบ Mechanical injection แบบหนึ่ง ระบบนี้จะมีปั๊มเบนซินซึ่งแปรผันตามรอบเครื่องมาให้ แต่ข้อเสียของระบบ Enderle Injection คือมีแต่ Idling และ Full Throttle ว่าง่าย ๆ ก็คือ มีแค่เดินเบากับจมคันเร่ง ไม่มี Part Throttle ซึ่งเหมาะกับรถแข่งอย่างเดียว เครื่องตัวนี้ SPEED D จึงนำเอาระบบ EFI ที่ตัวเองถนัดมาประยุกต์ใช้กับเครื่อง V8 โดยนำกล่อง HKS F-Con V PRO version 3.1 มาใช้ เป็นระบบ Stand Alone ติดตั้งเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเข้าไป อุณหภูมิน้ำ อุณหภูมิอากาศ Map sensor A/F ratio
การเอากล่องมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าเครื่อง V8 จะไม่มีสัญญาณบอกตำแหน่งข้อเหวี่ยง เพราะเครื่องพวกนี้ 99.99% เป็นเครื่องจานจ่าย ต้องดัดแปลงสร้างตัวรับสัญญาณข้อเหวี่ยง เข้าไปติดตั้งที่จานจ่ายเดิมของเครื่องยนต์ และส่งสัญญาณมาให้กล่อง F-Con ประมวลผล ระบบหัวฉีดก็ทำการฝังหัวฉีด ขนาด 2,200 ซี.ซี. จำนวน 8 หัว เข้าที่เหนือ Blower เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิของ Blower ไปในตัว โดยดูดน้ำมันจากถังโดยปั๊มเบนซินของ BOSCH รหัส 044 จำนวน 2 ตัว ส่งผ่านเข้าที่รางหัวฉีด ก่อนไหลผ่านเร็กกูเลเตอร์ของ Aeromotive ตัวใหญ่ ๆ กลับไปที่ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ในระบบจุดระเบิดก็นำเอา Coil ของ Accel จำนวน 4 ชุดมาใช้ โดยสั่งสัญญาณจุดระเบิดออกมาจากกล่อง F-Con แล้วผ่านไปที่ MSD Dis 4 เพื่อขยายสัญญาณ และเพิ่มปริมาณไฟเพื่อจุดระเบิดเป็นไปอย่างหมดจด หลังจากการติดตั้ง Hardware เรียบร้อย ก็มาถึงเรื่องของ Software ทาง HKS ไม่มี Start up สำหรับเครื่องยนต์ V8 มาให้ จึงต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ โดยยึดอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปเป็นหลัก SPEED D ใช้เวลาอยู่เป็นอาทิตย์ ถึงจะติดเครื่องยนต์และปรับจูนให้ใช้งานได้ตามปกติ และขับเล่นได้แบบสบายๆ
Transmission/Rear End
หลังจากที่ได้ลองกับเกียร์ออโต้ของรถอเมริกันมาสักพักใหญ่ ๆ เริ่มทำให้รู้ลึกซึ้งขึ้นว่า เกียร์รุ่นไหนน่าใช้ มีข้อดี-ข้อเสีย ต่างกันอย่างไร จึงเล็งไปที่เกียร์ Power Glide ซึ่งเป็นเกียร์ที่นิยมมาก และใช้งบประมาณในการโมดิฟายเพื่อให้ทนและรอบรับแรงม้าค่อนข้างถูก ระบบเกียร์ไม่มีอะไรซับซ้อน บทสรุปจึงสั่งเกียร์ Power Glide 2 สปีดของ Transmission Specialties รุ่น Proline 5000 ซึ่งสามารถรองรับแรงม้าได้เกิน 2,000 hp และได้สั่งชุด Adaptor lit แปลงเกียร์ของ TCI มา พร้อมกับ Torque Converter แบบ Custom made ของ Coan Racing ช่วงล่าง SPEED D สั่งชุด Complete Rebuild มาจาก Summit Racing เพื่อทำให้กลับมาอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รถคันนี้ยังคงพื้นฐานเดิม ในด้านหน้าจึงไม่ได้แปลงอะไรใหม่ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนชุด Disc Brake ไปเป็นของตัว Hemi Charger ช่วงล่างด้านหลังเปลี่ยนแหนบเป็นแบบ Single Leaf Spring ในตอนสั่งแหนบต้องระบุไปให้ชัดเจนว่าจะใช้งานแบบไหน Stock/Street&Strip หรือ Drag Racing ซึ่ง SPEED D สั่งแบบ Street&Strip พร้อมกันก็ได้ใส่ Traction Bar เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อออกรถยกล้อ …. ซึ่ง Traction Bar จะทำหน้าที่ในการถ่ายเทน้ำหนักและงัดแหนบ ส่งผลให้รถยกล้อสูงท่วมหัว
ชุดเพลาท้ายยังใช้ของเดิมรุ่น 8 ¾ ของ Mopar แต่เปลี่ยนเพลาข้างและ Spool เป็น Moser ล้อ SPEED D เลือกใช้ของยี่ห้อ COYS Racing รุ่น C5 ขอบ 20 นิ้ว หน้ากว้าง 8.5 นิ้ว, หลังกว้าง 10 นิ้ว ซึ่งเป็นล้อแบบ Billet หรือกลึงมาจากก้อนอะลูมิเนียม ซึ่งได้สั่งพิเศษสำหรับรถคันนี้มีอ็อฟเซ็ตที่ค่อนข้างลึก และพอดีกับเจ้า Charger คันนี้ มีความสวยงามในแบบฉบับรถอเมริกัน เงา ลึก ส่งผลให้รถดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนยางที่ใช้ก็เป็นของ Nitto รุ่น INVO เป็นยางกึ่ง Soft Compound ขนาด 245/35R20 ในล้อหน้า และ 275/30R20 ในล้อหลัง โดยทาง บริษัท ต.สยาม และร้าน K.Auto ปทุมวัน ได้ให้มาทดสอบใช้ดูว่า มีความเกาะถนน เหมาะสมกับเครื่องยนต์แรงบิดมหาศาลหรือไม่???…
เป็นไงกันบ้างครับ “ดำทะมึน” กันมาทั้งคอลัมน์ สาย American Muscle Car คงจุใจกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่เรานำเสนอ จริง ๆ เรามีเนื้อหาที่ลงได้ถึง 20 หน้า มีมาให้ครบทุกเม็ด ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ จุดสังเกตต่าง ๆ ในการเล่นรถอเมริกัน แต่ด้วยขอบเขตของหน้ากระดาษอันล้ำค่า ลงได้เพียงเท่านี้ ถ้าใครอยากรู้อะไรเพิ่มเติมก็ขอข้อมูลได้ที่ SPEED D PRO SHOP รับรองตอบได้ทุกเรื่อง…แน่นอนครับ