STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง
หลายครั้งหลายหนบนความสำเร็จ เรามักจะได้ยินเพียงแค่ชื่อรถที่เร็วที่สุดจากสำนักต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกันแต่ชื่อเสียง แต่ก็ไม่เคยสัมผัสตัวตนที่แท้จริงของ“คนทำเครื่อง” กันเลย ใน My Name is…ฉบับนี้ จึงเป็นการ “ปลุกอารมณ์” เพื่อเล้าโลมให้ท่านผู้อ่านเตรียมตัวรับ “งานยักษ์” ปลายปี กับบทสัมภาษณ์ 3 นายช่างใหญ่ในสายงานแดร็ก!! ผู้ที่เดินคู่อยู่กับ Souped up มาอย่างยาวนาน…
สายงานช่าง… จุดกำเนิดพลังงานกล ให้รถยนต์เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ซึ่งในการวิ่งแดร็ก ระยะเวลาที่น้อยที่สุดในการวิ่งผ่านเส้น 402 เมตร นั่นคือผู้ที่เร็วที่สุด ดังนั้น “เครื่องยนต์” จึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการทำเวลาให้ดีที่สุด ถ้าท่านเป็นผู้ที่ติดตามหรือชื่นชอบการแข่งขันในแบบควอเตอร์ไมล์ หรือแดร็ก คงย่อมรู้จักชื่อของ 3 นายช่างใหญ่แห่งวงการนี้อย่างแน่นอน แต่จะมีใครรู้มั้ยว่า ทั้ง 3 คนนี้ ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบันนี้ เค้าทั้ง 3 มีจุดเริ่มต้นและประวัติความเป็นมาอย่างไร? ลองพลิกหน้าถัดไปเลยแล้วกัน!!
ทูน เอ็นจิ้นช็อป
“ชีวิตคนคนนึง เกิดมาทั้งทีก็ขอเลือกแค่ทางเดียวพอ แต่ต้องทำมันให้ดีที่สุดนะ!!”
ชีวิตผูกติดกับรถมาตั้งแต่ยุค “ขาสั้น” นักเรียนมัธยม!! โดยครูคนแรกคือ “พี่ริน” พี่ชายผมเอง ที่ทำให้รู้จักกับเครื่องมือช่าง เมื่อว่างเว้นจากการเรียนหรือปิดเทอม ก็จะมาฝึกทำตลอด ส่วนจุดเริ่ม “ชีวิตช่าง” กำเนิดขึ้นที่ Ray Techno Service ซอยรามคำแหง 12 โดยมี พี่อ๋อง เป็นผู้ดูแล ซึ่งในยุคนั้นก็ราวๆ สิบกว่าปีที่แล้ว ถือว่าดังมาก เพราะเป็นที่โมดิฟาย ตกแต่ง และวัดแรงม้าเครื่องยนต์ ด้วยความอยากรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกให้มากกว่าเดิม เพราะตอนทำงานอยู่ที่ Ray Techno Service ก็จะเป็นงานเกี่ยวกับเรื่องภายนอกรถเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงจังหวะนั้นได้รู้กับ คุณป๊อปปิ ก็คุยกัน “ถูกคอ” เค้าเป็นลูกค้ามาใช้บริการบ่อยครั้ง ก็ได้พูดถึงโปรเจ็กต์ในอนาคต ซึ่งมันก็ “ตรงใจ” ที่อยากจะก้าวไปข้างหน้า ก็เลยตัดสินใจไปร่วมโปรเจ็กต์กับ คุณป๊อปปิ แบบง่ายๆ เลย เพราะมันเป็นเรื่องไกลตัวมาก ที่จะได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นอย่าง มร.โคยาม่า ซึ่งจะบอกว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของญี่ปุ่นในยุคนั้นก็ว่าได้ เดี๋ยวนี้อาจจะดูเป็นเรื่องปกติ เพราะโลกมันระยะทางเท่าเดิม แต่คนเรารู้จักกันง่ายมากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมาก ก็พูดตรงๆ ว่า ในแต่ละจังหวะของช่วงชีวิต ได้ความโชคดี ที่มีเพื่อนดี เจ้านายดี มีพี่ที่ดี ก็เลยเดินไปได้ด้วยดี จึงกลายเป็นที่รู้จักของคนในวงการ “ช่างทูน อู่ JUN” ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็เป็นเพียงแค่ช่างคนนึง ทรัพย์สินก็ไม่ได้มีอะไร ก็โชคดีตรงที่ คุณป๊อบปิ แบ่งหุ้นของ JUN AUTO MECHANIC ให้ โดยเป็นทั้งนายช่างใหญ่และผู้ร่วมหุ้นกิจการไปพร้อมๆ กัน ทาง มร.โคยาม่า เค้าสอนเทคนิคทุกอย่างให้ จนกระทั่งถึงในเรื่องการ “จูนกล่อง ECU” แต่ด้วยความที่รักในการทำเครื่องยนต์ และมีความคิดว่า “ชีวิตคนคนนึง เกิดมาทั้งทีก็ขอเลือกแค่ทางเดียวพอ แต่ต้องทำมันให้ดีที่สุดนะ!!” ถ้าจะไปก็ต้องไปสุดทาง ก็เลยตัดสินใจเป็นแค่ “คนทำเครื่อง” ส่วนเรื่องจูน ขอแค่พอรู้ จนในวันนึงก็มาถึงวาระที่ต่างคนต่างหน้าที่ คุณป๊อปปิ ต้องไปดูแลกิจการทางบ้าน ชีวิตผมก็ต้องเดินต่อไป… จึงกลายเป็น “ทูน เอ็นจิ้น ช็อป” ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่มีวันนี้ได้ ก็เพราะ พี่อ๋อง, ป๊อปปิ, มร.โคยาม่า ได้เสริมประสบการณ์ให้ นำมาใช้ติดตัวจนประสบความสำเร็จ พร้อมทั้ง คุณอู๊ด ก็เป็นอีกหนึ่งท่านที่เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในวันที่เจอมรสุมชีวิต รวมถึงมี เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อีกหลายท่านที่คอยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกันโดยตลอด จนทำให้เรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะ “รักมัน!!”
ในอนาคตมันก็เป็นเรื่องที่ตอบยาก โลกมันเปลี่ยน มีเครื่องยนต์กลไกใหม่ๆ เข้ามาตลอด แต่ผมยึดหลักที่ว่า “จะทำตามที่เรียนมา” ตั้งใจว่าจะเกษียณตัวเองในอีก 5-6 ปีข้างหน้า แต่ไม่ใช่ว่าไม่รับงานนะ คงรับในปริมาณที่น้อยลง ส่วนเรื่องเครื่องยนต์กลไกใหม่ๆ ถึงเวลาก็ต้องศึกษากันต่อไป และสุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า Souped up เนี่ย สร้างผมนะ!! ตั้งแต่สนามแรก จนถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยขาดครับ…
โคยาเบิร์ด
ซุปอัพฯ เนี่ย เวทีแจ้งเกิดผมเลย…
เล็ก โปรเจ็กต์เอ็ม คือแรงบันดาลใจของผมในยุคนั้น ชีวิตเด็กรถซิ่งบนถนนทั่วๆไป ที่เห็นความสุดยอดของการครอบครองรถสปอร์ตตัวท็อปหลายค่าย อาทิ RX-7, Skyline, Supra, Ferrari, Evolution IV และอีกมากมาย สุดทุกคัน ความรู้สึกในตอนนั้นคิดแค่ว่า “อยากเป็นคนที่ได้ลงมือทำรถเหล่านั้น” ไม่ได้คิดครอบครองหรือเป็นเจ้าของ คือเวลารถมันทะยานไปข้างหน้าด้วยความเร็ว และเสียงที่แผดของเครื่องยนต์สนั่น มันรู้สึกเจ๋งมาก ซึ่งในช่วงที่สนใจรถซิ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่เรียน ปวช. ก็อยู่ตามอู่มากกว่าอยู่ห้องเรียน ไปอู่นู้นที อู่นี้ที จนได้รับฉายาว่า “เบิร์ด 100 อู่” อาทิ SPC สวนผัก-ตลิ่งชัน, เล็ก สุเหร่า, ทูน เอ็นจิ้น ช็อป และ วิน จูนนิ่ง ช็อป หลังจากนี้ก็มีเงินเก็บอยู่ก้อนนึง ก็เลยเลือกที่จะมาเปิดอู่เองด้วยงบ 50,000 บาท
ซึ่งในตอนนั้นก็มีคนรู้จักเราแล้วในชื่อ “โคยาเบิร์ด” โดยชื่อนี้ได้มาจาก พี่หนุ่ม SPC นี่แหละเป็นคนเรียก ด้วยความที่ชอบรถซิ่งมาก ก็เลยดูแมกกาซีนญี่ปุ่นตลอด ในยุคนั้นก็จะมี OPTION, OPTION 2, CARBOY ก็จะนำมาเป็นแบบอย่างไว้อ้างอิงในการทำรถตามสไตล์ต้นฉบับ พี่หนุ่มก็เลยบอกว่า “บ้าญี่ปุ่นมากนะ… ไอ่ ไอ่ โคยาเบิร์ด” ก็เลยเป็นฉายาที่เรียกติดปากมาจนทุกวันนี้
ด้านผลงานที่ทำให้เป็นที่รู้จักและประสบผลสำเร็จก็เป็น “กระบะสวนส้ม” ซึ่งคันนั้นเป็นคันที่ทำตั้งแต่เริ่มต้น โดยเพื่อนผมมีงบอยากทำรถลงวิ่ง ก็เลยปลุกปั้นกระบะคันนี้ขึ้นมา พยายามปรับและพัฒนามาโดยตลอด โดยมี พี่ทูน และ ป๋าแดง ร่วมมือจนสำเร็จ ติด Top Ten อันดับ 2 ของ Souped up เมื่อปีที่แล้ว ณ ปัจจุบันมองว่า สายเบนซินเค้าเร็วกันแบบอยู่ตัวแล้ว ส่วนที่กำลังพีคสุดคงต้องให้สายดีเซล เราจะเห็นได้ว่าเค้าแรงขึ้นตลอด มันเป็นช่วงปรับแต่ง เกลี่ยให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งงานหลักๆ ของที่อู่ช่วงนี้เน้นทำ “ช่วงล่างสายดีเซล”เป็นหลัก มีโอกาสเดินทางไปทำให้ลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจดใต้ ก็เห็นถึงวิวัฒนาการของรถดีเซลมาโดยตลอดครับ
สำหรับ Souped up นี่ บอกเลยว่าไปตั้งแต่ สนามไทยบริดจสโตน เห็นพี่อ๊อด พี่ชนินทร์ ยังขับรถซิ่งกันอยู่เลยในยุคนั้น ไปทุกปีที่จัดไม่เคยขาด Souped up นี่ ไม่รู้จะพูดยังไง? คือผมมองว่า มันเหมือนกับคุณเล่นรถแดร็กแล้วไม่ได้ไปคลอง 5 มันก็เหมือนยังไม่ใช่ ยิ่งถ้าเป็น Souped up ด้วยแล้ว มันเป็นประเพณีที่ต้องไปนะ แล้วตัวผมเองก็แจ้งเกิดมาได้เพราะงานนี้เช่นกันครับ!!
เอ๋ โปรสตรีท
ผมสนุกกับงานที่ทำ ผมว่ามันใช่ในสิ่งที่ผมเลือกจะเป็น…
จุดเริ่มต้นจากการเป็นช่างเครื่องยนต์ แล้วก็ขยับมา “วายริ่งสายไฟ” นับจากวันนี้ย้อนไปถึงตอนนั้นก็มีร่วมๆ 20 ปีนะ ซึ่งได้เข้าเกี่ยวข้องกับรถแข่ง ก็ตอนที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ “พีท ทองเจือ” ในช่วงนั้นเค้าแข่ง Honda กับ Toyota Soluna One Make Race ผมเองก็เป็นคนเซอร์วิสรถแข่งให้กับเค้าในตอนนั้น ชื่อ โปรสตรีท มาจาก “พีท” นี่แหละ พอเค้าไม่ทำตรงนี้แล้ว ผมก็เลยมาทำต่อ ก็เลยเป็นชื่อเรียกไปโดยปริยายว่า “เอ๋ โปรสตรีท”
จุดเปลี่ยนให้ชื่อ เอ๋ โปรสตรีท ไปเป็นที่รู้จักในสายแดร็ก ก็รถ Cefiro (หนุมาน) ของ กอล์ฟ (ประทวย) นี่แหละ เริ่มสร้างรถคันนี้มาตั้งแต่รุ่นสตรีท ใช้ยางเรเดียล 275 ทำใช้งานขับเล่น ไปลงสนามแดร็กครั้งแรกก็ 11.2 วินาทีเลย ซึ่งเวลามันดีก็เลยพัฒนาสเต็ปต่อมาเรื่อยๆ จนมีผลงานให้เห็นในปัจจุบัน รวมถึงในรายการ Souped up ด้วย
งานหลักของผมจะเน้นไปในเรื่องของการสร้างรถทั้งคันเพื่อการแข่งขัน ไม่ได้เน้นทำเครื่อง สายไฟ หรือช่วงล่าง ด้วยสาเหตุที่รับทำทั้งคัน เพราะว่าต้องการให้จบ ไม่ใช่ว่า ทำเครื่องไป รถวิ่งไม่ได้ เพราะช่างช่วงล่างบอกทำเครื่องมาไม่ดี คือไม่อยากให้มีเหตุการณ์อะไรทำนองนี้ คือโยนกันไปโยนกันมา ก็เลยเลือกที่จบเป็นคันไปเลย ถ้าไม่ดีก็จะได้เป็นความผิดพลาดที่ผมคนเดียวดีกว่า
สำหรับ Souped up ผมเองก็ลุยกับงานนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เลยนะ แต่เริ่มมีบทบาทหนักๆ ก็ตั้งแต่เริ่มมาวิ่งกันที่สนามคลอง 5 นี่แหละ และผมมองว่าในอนาคตก็อยากจะทำแบบนี้ต่อไปนะ ผมสนุกกับงานที่ทำ ผมว่ามันใช่ในสิ่งที่ผมเลือกจะเป็น…