FAST DELIVERY : HIACE DIESEL

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

ผมว่าดีนะ มีของแปลกประดับวงการกันบ้าง “ใครคิดได้ก่อน ทำได้ก่อน ก็ย่อมเกิดก่อน” อย่างน้อยแม้มันจะยังไม่ถึงจุดหมาย ณ ตอนนี้ แต่สิ่งที่ได้คือ “เรียกแขก” อันนี้สำคัญ จากการติดตาม “ตู้ซิ่ง วิ่งสนาม” คันนี้ จาก “ช่างหรั่ง ดีเซล” ร่วมมือกับเจ้าของรถ คือ “เอก ศรีภาชนะ” ปั้นคันนี้ขึ้นมา โดยคิดแต่ว่า “กูจะเล่นของแปลก” เพราะสรีระรถมันก็ไม่ควรจะเร็วได้ง่ายนัก รถก็สูงมาก น้ำหนักตัวเยอะ แต่ “ทำเพราะอยากทำ” ตอนแรกคันนี้โผล่มาด้วยเวลา “12.XX วินาที” แต่ตอนนี้ “ขยับ” ใหม่ ให้เร้าใจขึ้น ด้วยทรวดทรง สีสัน ไปยันเกียร์ลม คนดีๆ เขาไม่ทำกันครับ ต้อง “คนกล้า” เท่านั้น งานนี้เราได้ไปเจาะรายละเอียดในเชิง Set up ว่า การทำรถตู้ มันต่างจากรถกระบะอย่างไร ซึ่งคันนี้เป็นรถตู้ที่โมดิฟายสาย “ทางตรง ลงสนาม” คันแรกในเมืองไทย มีรายละเอียดที่แปลกใหม่และน่าสนใจเพียบครับ…

สำหรับการแข่งขันเท่านั้น
รถที่ดูโหงวเฮ้งไม่น่าจะเอามาแข่งได้ มันจะทำแล้วออกมาท่าไหน งานนี้ “ท่ายาก” ซะแล้ว ร่วมมือกับทาง “ช่างหรั่ง ดีเซล” ว่ากูจะเอายังไงดีวะ ไอ้เรื่องเครื่องกับระบบส่งกำลังคงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ส่วนที่ต้องคิดคือว่า “จะทำให้มันวิ่งเร็วได้ยังไง” ด้วยน้ำหนักรถที่เยอะ รวมคนขับแล้วอยู่ที่ “ตันเก้า” ตัวรถก็ทำได้เพียงแต่รื้อของไม่จำเป็นออก ตัวผม “พี สี่ภาค” แต่ก่อนก็โง่อยู่ตั้งนาน เพิ่งมาศึกษาจริงๆ จังๆ ก็พบว่า HIACE Commuter (ไอ้โม่ง) รุ่นนี้แชสซีก็ไม่มี เป็นตัวถังแบบ “โมโนค็อก” แบบรถเก๋งแล้ว ไอ้เรื่องที่หนักก็มาจาก “ความใหญ่โต” ของมันนั่นเอง ผมว่าไอ้เรื่องน้ำหนัก มองมุมกลับมันจะช่วยเรื่อง Traction ในการกดล้อ ฟรีทิ้งน้อย และด้วยรถมันกว้าง ฐานล้อก็จะกว้าง ได้เปรียบรถฐานล้อแคบ ขับง่ายกว่า มันก็เป็นข้อดีที่แฝงมาเหมือนกัน แต่เรื่องที่น่าคิด คือ Aero Dynamic นี่แหละ มันคงทำอะไรมากไม่ได้ เพราะรถมันเป็นทรงแบบนี้ เวลาวิ่งเร็วๆ มันจะ “โดนลมหอบ” ได้ง่าย ก็พยายามใช้สปอยเลอร์หน้ารีดลมขึ้นข้างบน สเกิร์ตข้างเตี้ยๆ หน่อย รีดลมออกด้านข้าง แต่ข้างหลังนี่สิ น่าคิดกว่า…

Wake Flow “ลมหวน ดึงรถช้าลง”  
เรื่อง “ลมหวน” หรือ Wake Flow ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณ “ท้ายรถ” เรียกเท่ๆ ว่า “Automobile Wake” มันมีผลในด้าน “สมรรถนะ” ของรถเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้ามี “ลมหวน” เกิดขึ้นท้ายรถยิ่งมากเท่าไร จะยิ่งทำให้เกิดการ “สูญเสียความเร็ว” เนื่องจากมี “แรงฉุด” (Drag : แปลว่า ฉุด ลาก ก็ได้) ที่ท้ายรถ ต้องบอกก่อนว่า เรื่องนี้พยายามจะเล่าเป็นแบบ “พูดจาประสาบ้านๆ” นะครับ หลักการเทคนิคยากๆ ไอ้ผมก็ไม่รู้หรอก รู้แต่ว่า “มันเกิดอะไร และ ส่งผลอะไร” ก็พอ จริงๆ เรื่องนี้ก็ได้จังหวะที่มีรถตู้เข้ามาพอดี ซึ่งรถลักษณะ “ท้ายตัด ทรงสูง” จะยิ่งมีผลกับเรื่องนี้มาก…

เวลารถทรงสูง ท้ายตัด เมื่อวิ่งไปข้างหน้า รถจะแหวกลมไป (ดูรูปประกอบจะชัดเจน) ลมที่พัดผ่านตัวรถมาเจอกับ “ส่วนของท้ายรถที่เป็นทรงตัด” ยิ่งท้ายรถมีพื้นที่มาก เช่น รถทรง “ตู้” หรือ “แวน” ต่างๆ จะทำให้เกิด “ห้วงสุญญากาศ” ของอากาศขึ้น ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้เกิดลมหวน เกิดการ “หมุนวน ปั่นป่วน” (Turbulence) ของอากาศ และตรงนี้เอง ทำให้เกิด “แรงฉุด” ที่ด้านท้าย มันจะส่งผลให้รถ “สูญเสียสมรรถนะ” ไปบางส่วน ก็ต้องยอมรับว่ารถทรงตู้แบบนี้ก็จะเลี่ยงปัญหานี้ไม่ได้ เพียงแต่บอกเป็นแนวทางไว้ ว่าข้อเสียเปรียบมันอยู่ตรงนี้…

แต่ถ้าใครอยากเห็นภาพจริง ให้ลองสังเกตว่า รถตู้เวลาวิ่ง “ลุยฝน” จะมีละอองน้ำดีดมาที่ฝาท้ายเยอะมาก แล้วทำไมมันถึงย้อนกลับมาเกาะฝาท้ายได้ล่ะ ทั้งๆ ที่รถวิ่งไปข้างหน้า ยิ่งวิ่งเร็วก็ยิ่งดีดกลับมาเยอะ ตัวผมเองก็เคยสังเกตเหมือนกัน รถตู้วินบางคัน เอาผ้าไปตากที่ปัดน้ำฝนหลัง (พาดพับครึ่งกับใบปัดไว้) เวลารถวิ่ง ผ้าจะพลิ้วปลายยกขึ้นด้านบน อันนี้ชัดเจนครับ ไม่เชื่อก็ลองดูได้ หรือไม่เหล่า “สายดันราง” ไม่ว่าจะกระบะ หรือตู้ หรือรถอเนกประสงค์ท้ายตัดต่างๆ ฝาท้ายก็จะมีคราบควันติดอยู่มาก ก็เพราะลมหวนพาไอเสียกับละอองน้ำมันมาเกาะนั่นเองครับ…

Balance รถ ก็ต้องเพิ่มน้ำหนักท้ายเหมือนกัน
สำหรับรถตู้ ดูอาจจะได้เปรียบรถกระบะอยู่บ้าง เพราะช่วงท้ายมันมีหลังคามาถ่วงน้ำหนักเอาไว้ แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนรื้ออุปกรณ์ออกทั้งหมด ท้ายรถก็จะค่อนข้างเบาอยู่ดี เพราะมันแทบไม่เหลืออะไรอยู่เลย และรถรุ่นนี้เป็นแบบโมโนค็อก ไม่เหมือนรถแชสซีที่ยังมีน้ำหนักมาช่วย ตำแหน่งคนขับก็ไปนั่งหน้าสุด ทำให้น้ำหนักตกด้านหน้ามากขึ้น ก็ต้องย้ายอุปกรณ์ที่สามารถย้ายได้ไปด้านหลัง เพื่อช่วยถ่วงน้ำหนักให้สมดุลมากขึ้น คันนี้ก็ยังใช้ฝาท้ายเดิมที่เป็นเหล็กอยู่ ส่วนตัวคิดว่าเจตนาจะเอาน้ำหนักถ่วงไว้อีกส่วนหนึ่งก็เป็นได้…

เสียววววว…สู้…
คันนี้ “เจ้าของขี่เอง” ก็เล่าให้ฟังว่า ฟีลลิ่งมันต่างจากกระบะแบบสิ้นเชิง เพราะนั่งหน้าสุด แถมตำแหน่งเบาะก็นั่งสูง รถก็สูง ทำให้ตอนวิ่งลอยลำแล้ว “มีเหวอ” กันบ้าง เพราะจะรู้สึกว่ามันเร็วมาก ด้วยความที่ “จุดศูนย์ถ่วง” ของคนขับอยู่สูง ซึ่งปกติแล้วรถแข่งก็จะยิ่ง “นั่งเตี้ย” ทำให้รู้และซึมซับอาการของรถได้เร็ว การตอบสนองของคนขับกับตัวรถทำได้ไว แก้ทางได้เร็ว แต่กับรถสูงๆ และยิ่งรถช่วงล้อยาวมากๆ แบบนี้ วิ่งตรงได้เปรียบจริงอยู่ แต่การรับรู้ก็จะทำได้ช้าลง คนขับก็ต้องอาศัย “ขยันซ้อม” ใช้ความเคยชินในการคุมรถ และรู้อาการของรถ ถ้าไปได้ “ทรง” ก็ถือว่าโอเคครับ…

เซตช่วงล่าง กลับกลายทาง
ระบบช่วงล่างหลัง จะต้อง “สร้างใหม่ทั้งหมด” อย่างที่บอกว่าไอ้รุ่นนี้มันไม่มีแชสซีเหมือนกระบะแล้ว (รุ่นหัวจรวดยังมี) ก็เลยต้องสร้างจุดยึดกันใหม่ทั้งหมด โครงสร้างด้านหลังของเดิมทาง ช่างหรั่ง บอกว่าทำมาค่อนข้างบอบบาง ไอ้ใช้งานปกติล่ะพอไหว แต่ถ้ารับแรงบิดมากๆ ไม่ไหวแน่ เลยต้องสร้างคานขึ้นมาใหม่ ประการแรก ต้องสร้างคานสำหรับ “ยึด A-Arm” ใหม่ (ไล่ดูจากรูปละกัน) ส่วน “โช้คอัพ” ก็ต้องย้ายจุดยึดใหม่ เพราะของเดิมจะเป็นแบบ “วางไขว้” ด้านซ้ายอยู่หลังเพลา หัวโช้คเอนมาด้านหลัง ด้านขวาอยู่หน้าเพลา หัวโช้คเอนไปด้านหน้า ลักษณะนี้เพื่อต้องการ “เป็นตัวค้ำเพลา” ในตัว เพราะช่วงล่างแหนบแบบเดิมๆ จะไม่มี Links ยึด ถ้ามองด้านข้าง ตำแหน่งการวางโช้คไขว้ จะเป็นรูป “สามเหลี่ยม” เพื่อให้มัน “คานแรง” ค้ำกัน (สามเหลี่ยมเป็นรูปทรงที่แข็งแรงที่สุดในโลก) แต่พอมาทำแข่งทางตรงจริงๆ แบบนี้ไม่ได้ใช้แล้ว องศาเอียงแบบนี้ถ้าออกแรงๆ ไม่รอด ต้องวางตำแหน่งใหม่ โดยการ “ย้ายโช้คอัพไปไว้ด้านหลังเพลาทั้งคู่” และ “ตั้งตรง” เพื่อให้รับแรงในการออกตัวได้เต็มที่และสมดุล ใส่ A-Arm กันเพลาพลิก ด้านบนก็ต้องเจาะพื้น สร้างคานขึ้นมาใหม่ เป็นที่ยึดหัวโช้คอัพ และสร้างคาน “เหล็กกันโคลง” ขึ้นมาอีก…

สำหรับการเซตช่วงล่าง ก็จะใช้ “ค่าความแข็ง” ที่มากกว่ากระบะอยู่บ้าง เนื่องจากน้ำหนักรถที่เยอะ ถ้าเซตไว้นิ่ม เวลาออกตัวจะ “ยุบมากไป” รถจะมีอาการ Shock หยุดๆ ไปๆ งึกๆ งักๆ พอไปได้ “หน้าลอย” ช่วงกลางๆ ก็ “เหวอ” คุมรถยาก ก็ต้องเซตให้แข็งไว้หน่อย เพื่อให้ยุบตัวได้จำกัดระดับหนึ่ง ไม่ให้ช่วงล่างเปลี่ยนมุมมากนัก และให้ท้ายรถไม่ห้อยจนหน้าลอย แต่ให้ “ไปยุบที่ยางเอา” เวลาออกตัว ก็เป็นแนวคิดที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวโช้คอัพก็จะเป็นแบบ Short Stroke เพราะรถเตี้ยลง โช้คอัพก็ต้องสั้นลงตามไป ซึ่งจุดยึดที่คานด้านบนก็จะทำเป็น “รูร้อยนอตแบบเลือกระดับได้” เผื่อไว้สำหรับการเลือกใช้ Stroke โช้คอัพที่แตกต่างกันไป…

Comment: เอก ศรีภาชนะ & ช่างหรั่ง ดีเซล
คันนี้ก็เป็น Project ร่วมกัน ต้นเรื่องมาจาก “เอก” ที่ทำกิจการรถตู้โดยสาร “ศรีภาชนะ” งานนี้ “มีของ” อยู่ เลย “คัน” อยากจะลองทำรถตู้ซิ่งวิ่งสนามแบบ “เต็มระบบ” มองว่ามันมีความแปลก บ้า ท้าทาย คันนี้เป็นคันแรกที่ทำครบระบบ แล้วออกมาวิ่ง ก็เลยอยากจะทำให้มันสมบูรณ์ที่สุด ต้องค่อยๆ ไล่ ทุ่มเทกับมันให้มากขึ้น เนื่องจากสรีระไม่เหมือนกระบะที่หลายคนคุ้นเคย ยังคงมีข้อเสียเปรียบอยู่ แต่ยังไงก็จะทำให้มันเร็วที่สุด เป้าหมายเวลาอยู่ที่ “10.XX วินาที” ต้องทำให้ได้ครับ…

Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี
อยากจะนำเสนอของแปลกๆ ประหลาดๆ บ้าง คันนี้ก็เข้าแก๊ปเลย ตอนแรกก่อนที่จะเป็นสเต็ปนี้ ก็เรียกแขกได้มากพอสมควร กับเวลา 12.XX วินาที กับเกียร์ H-Pattern แต่พอทำออกมาใหม่ ใสๆ วัยรุ่นชอบ ก็เลยนำเสนอในเวอร์ชั่นใหม่ กับเกียร์ Air Shifter ส่วนความสวยงาม ก็เล่นสีสันแสบทรวง การวางระบบต่างๆ ดูสะอาดเรียบร้อย การยึดอุปกรณ์ต่างๆ ก็แน่นหนาดีครับ เห็นถึงความตั้งใจทำ เราก็ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ๆ ในการทำรถแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งต้องศึกษาและทำการบ้านให้เยอะขึ้น ก็เอาใจช่วยให้ถึงฝั่งฝันตามเวลาที่ต้องการนะครับ…

X-TRA ORDINARY
นอกเรื่องรถแข่งหน่อยก็แล้วกัน สำหรับ HIACE โฉมปัจจุบัน ก็จะมีทั้งหมด 3 แบบ ดูจะเหมือนกัน แต่ “แตกต่างกันทั้งหมด” แบบแรก ตัวปกติ จะเป็น “บอดี้แคบ หลังคาเตี้ย ช่วงสั้น” ตัวนี้ญี่ปุ่นจะชอบแต่งกัน เพราะไซส์มันน่ารักกวนๆ ดี ส่วนตัว COMMUTER จะเป็นแบบ “บอดี้กว้าง หลังคาสูง ช่วงยาว” จริงๆ แล้ว พื้นฐานเป็น Cargo Van ทั้งสองตัว แต่ดัดแปลง ใส่เบาะ เจาะกระจก เพื่อเป็นรถตู้โดยสารทีหลัง และตัว VENTURY ไอ้นี่จะเป็นแนวหรูหรา “บอดี้กว้าง หลังคาเตี้ย ช่วงสั้น” ประตูสไลด์ข้าง 2 ด้าน อันนี้จะเป็นรถตู้โดยสารจริงๆ ที่สามารถเข้าออกประตูได้ทั้ง 2 ฝั่ง…

TECH SPEC
ภายนอก

สปอยเลอร์หน้า : คลอง 7 ไฟเบอร์
สเกิร์ตข้าง : คลอง 7 ไฟเบอร์
กันชนหลัง : แจ๊บ ไฟเบอร์
กระจกมองข้าง : CRAFT SQUARE
กระจกรอบคัน : Acrylic
ภายใน
พวงมาลัย : NARDI
เกจ์วัด : ECU=SHOP MONSTER GAUGE + Defi + AUTO METER
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัด : TAKATA
โรลบาร์ : TON SHOP
แป้นเหยียบ : D.A.D VIP Style
เครื่องยนต์
รุ่น : 1KD-FTV
ฝาสูบ : ช่างหรั่ง ดีเซล
แคมชาฟต์ : เอ๋ เทอร์โบ
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : Balance ใหม่ โดย เก่ง ดีเซล  ลาดกระบัง
ปั๊มดีเซล : แบบโยง โดย ช่างหรั่ง ดีเซล
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 โมดิฟายโดย มืด เทอร์โบ
เฮดเดอร์ : ไฮเทคยนต์
เวสต์เกต : มืด เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ : TON SHOP
หัวฉีด : ช่างหรั่ง ดีเซล
ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : FLEX
ท่อร่วมไอดี : TON SHOP
หม้อน้ำ : TON SHOP
ไนตรัสออกไซด์ : NOS
กล่องควบคุม : D FAST by Jack
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : TT Air Shift
คลัตช์ : M-Clutch
เพลาท้าย : ISUZU D-MAX
เพลากลาง : MAZDA BT-50
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : A-1
โช้คอัพหลัง : JEGS
สร้างและเซตช่วงล่างทั้งหมด : KOYABIRD FASTHUNTER
ล้อหน้า : MERCEDES-BENZ Compact Size ขนาด 16 นิ้ว
ล้อหลัง : LENSO VENOM-ZERO ขนาด 10 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER PRO STREET ขนาด 26/7.5 R16
ยางหลัง : GOOD YEAR EAGLE ขนาด 295/65R15
Special Thanks
ช่างหรั่ง ดีเซล : Facebook/Rung Rung, Tel. 084-072-7637
เอก ศรีภาชนะ
สนาม Bangkok Drag Avenue