เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
The Fast (RX) 8
Full Spaceframe by CMZ ROTARY & MACTEC Racing & AOR 77 SHOP
มีอะไร จะ 3 หรือ 2 ดี ???
หลังจากที่ท่านได้ถือ XO autosport ฉบับนี้ ก็คงจะผ่านเทศกาล “สงกรานต์เดย์” มาอย่างหมาดๆ ก็คงจะได้กลับบ้านไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง สาดน้ำคลายร้อนกันบ้าง แต่ในเล่มก็ยังคงเป็นประเด็นร้อนเช่นเคย คราวนี้เรามาชมผลงานของ CMZ ROTARY ที่มีความหลงใหลในเครื่องโรตารี่ และหลายคนก็คงเห็นการเดินทางของ “ชัย CMZ” เจ้าสำนัก ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแม่มทุกอย่าง ตั้งแต่ทำเครื่อง เชื่อมท่อ ทำไฟ เรียกว่าลงทุนลงแรงไปกับโรตารี่อย่างมากมาย ล้มเหลวมาก็หลายครั้ง แต่ก็ไม่ยอมแพ้ อะไรที่ไม่สำเร็จ กูก็หาทางออกให้ดีที่สุด ครั้งนี้ลงทุนสร้าง RX-8 Spaceframe ขึ้นมาใหม่ทั้งคัน โดยผ่านฝีมือ “เสี่ยอ๋อ” AOR 77 SHOP กับเครื่องยนต์ 13B-REW แต่ทำไมเล่น 3 โรฯ แล้วมาเหลือ 2 โรฯ เหมือนถอยหลังสู่จุดเริ่มต้น เกิดอะไรขึ้นกับ CMZ ROTARY ???
เรามาเปิดใจคุยกันกับ “ชัย CMZ” ถึงเบื้องลึกในการทำโรตารี่ บางครั้งก็อาจจะไม่ได้ตามเป้า พังมั่ง วิ่งไม่ได้มั่ง บางคันก็วิ่งชนะ แต่ก็ยังหาหนทางไปเรื่อยๆ ซึ่งมีการเปิดเผยกันแบบไม่มีกั๊ก ว่าอะไรที่ “เจ๊ง” หรืออะไรที่ “เจ๋ง” ที่นี่ที่เดียวครับ…
Full Spaceframe อย่างเต็มระบบ
จะถามว่า “แล้วมึงจะสร้างใหม่ทำไม” ทั้งๆ ที่ RX-8 คันก่อนก็เป็นรถเฟรมอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ แถมยังไม่บรรลุ ก็ยังต้องไปต่อ ถ้าย้อนไปดูประวัติของ RX-8 คันดำ 3 โรเตอร์ ที่วิ่งอยู่ก่อนหน้า (ยุคที่ “ชัย” ยังไม่ได้เข้าฟิตเนส) ตอนนั้นก็สร้างอยู่ที่ AOR 77 SHOP นี่แหละ เพียงแต่ว่าตอนแรกจะลงรุ่น PRO 6 Modify ก็คือ ด้านหน้าเดิม แต่ตัดด้านหลังเป็น Halfback 4 links ตามกติกา แต่ดัน “ตัดพลาด” เอา Firewall ออกไปด้วย ก็เลยต้องลง Super Max ก็เลยเสียเปรียบ เพราะช่วงแชสซีด้านหน้า รวมถึงช่วงล่างหน้ายังเป็นของเดิม น้ำหนักเลยมาก ตอนนั้นก็เลยแข่งไปก่อน พอรู้ทรงว่ามันไปแล้วเสียเปรียบชาวบ้าน ก็เลยสั่งต่อเฟรม RX-8 คันนี้ขึ้นมา เป็นสเปซเฟรมเต็มระบบ ซึ่งน้ำหนักเบากว่าคันเก่า อยู่ที่ “850 กก.” ถ้ารวมหัวคาร์บอนด้วยยังไงก็ไม่เกิน 900 กก. แน่นอน…
สังเกตว่า เฟรมที่ต่อจาก AOR 77 SHOP มักจะเป็น “พวงมาลัยขวา” คือ แทบทั้งหมดเลย ไม่ได้เป็นพวงมาลัยซ้ายแบบที่นิยมกัน ก็เนื่องจากว่าตอนนี้การปรับตั้งช่วงล่าง การ Balance น้ำหนัก การปรับ Corner Weight มันสามารถทำได้ดี และตอนนี้ช่างบ้านเราก็เข้าใจในด้านช่วงล่างขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ ก็เลยไม่จำเป็นต้องทำพวงมาลัยซ้ายอย่างเดียว อันนี้อยู่ที่ชอบนะครับ สไตล์แต่ละคนไม่เหมือนกัน…
3 โรเตอร์ ทั้งได้เปรียบและ “เสียเปรียบ” ในบางลีลา
คันนี้ถอยลงมาเล่นกับเครื่อง 13B-REW หรือ 2 โรเตอร์ ซึ่งแต่เดิมเป็น 20B-REW 3 โรเตอร์ แล้วทำไมถึงยอมถอย ซึ่ง “ชัย CMZ” ก็บอกว่า แม้ 3 โรฯ จะได้เปรียบเรื่องความจุและโรเตอร์ที่มากกว่า 2 โรฯ ถ้าดูตามน้ำหนักหมัดแล้ว ยังไงก็แรงกว่าแน่ๆ แต่แรงแล้วยังไง CMZ มีคำตอบ “โดยสรุป” ที่น่าคิด…
- การ Balance เครื่อง 3 โรฯ จะด้อยกว่า 2 โรฯ เพราะมันเป็น “เลขคี่” เหมือนเครื่อง 3 สูบ มันจะไม่ผลัดกันขึ้นลงเป็นคู่ และข้อเหวี่ยง (Eccentric Shaft) ที่ยืดเพิ่มข้อไปด้านหน้า ระยะมันจะยาวกว่า ซึ่งโรเตอร์ด้านหน้าจะอยู่ห่างกว่าเพื่อน ทำให้ “ช่องไฟไม่เท่ากัน” ทำให้เกิดเรื่อง “สั่นสะท้าน” ในรอบสูง จากการที่โรเตอร์ตัวแรกมันจะ “หน่วง” เพราะมันอยู่ไกลกว่าเพื่อน เลยเกิดปัญหานี้…
- ที่รู้กันว่าเครื่อง 20B ถ้าเป็นข้อเดิมๆ จะทนบูสต์ได้ไม่เกิน 1 บาร์ เกินจากนั้นจะเกิดอาการ “คด” ซึ่งของ 13B จะสามารถทนบูสต์ได้สูงกว่านี้ เนื่องจากว่ามันมีช่องไฟห่างเท่ากัน และข้อมันสั้น การสั่นสะท้านจึงเกิดน้อยกว่า (ถ้าเทียบในวัสดุผลิตข้อเหวี่ยงเกรดเดียวกันนะ) ต้องเข้าใจว่า 20B มันไม่ได้เกิดมาสำหรับรถแรง “บ้าบอคอห่าน” (ศัพท์ “สาระเร็ว”) มันเกิดมาสำหรับขับหรูๆ เอาแรงบิดเยอะๆ เป็นหลัก ไม่ได้เน้นรอบสูงมาก ถ้าข้อเหวี่ยงโมดิฟายของ 3 โรฯ ก็มีขาย แต่ราคาเอาเรื่อง ถ้าเป็นสเต็ปโมดิฟายวิ่งถนนได้ด้วย แข่งได้ประมาณหนึ่ง ดุ้นนึงก็ตก “แสนกว่าบาท” แต่ถ้าเอาแบบโมดิฟายเต็มสำหรับแข่งโดยเฉพาะ ดุ้นนึงก็ “สองแสนกว่าบาท” ฟังแล้วก็สะดุ้งดีเหมือนกัน…
- ตัวเครื่อง 3 โรฯ หายาก เพราะมันมีแค่ใน MAZDA COSMO ซึ่งเป็นสปอร์ตหรูขนาดใหญ่ ราคาแพง รถปกติก็หายากอยู่แล้ว ราคาก็สูง คนส่วนใหญ่ก็ไม่มอง หันไปเล่น RX-7 กันหมด ตอนนี้เครื่องทั้งตัวตัดที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ “สองแสนกว่าบาท” เหยดดดดดด ซึ่งกลายเป็นของหายากและสะสมกันไปแล้ว พังทีไม่ต้องคิด Teen ก่ายหน้าผากแน่นอน และตอนนี้รถ COSMO ก็ถูกเก็บสะสมไว้หมดตามบ้านคนรวยต่างๆ แทบจะไม่มีตัดมาแล้ว ถ้าบ้าจริงก็คงต้องไปขอซื้อรถตามบ้านราคาสูงๆ (เว้นแต่จะฟลุ้กเจอคนที่ไม่เอา แล้วอยากจะขายถูกๆ แต่ก็ยาก) คงไม่คุ้มแน่ๆ…
- แม้ว่าจะเอาชิ้นส่วนบางชิ้นของ 13B เช่น Housing, โรเตอร์ มาใช้ได้ ส่วนใหญ่จะนึกว่าเอาแม่งมาต่อๆ กันก็ได้วะ ทำไมต้องซื้อทั้งตัว ความเป็นจริงแล้วมีหลายอย่างที่มันไม่สามารถใช้กันได้ ถ้าจะทำ 3 โรฯ จะต้องเอาชิ้นส่วนของมันมาด้วย เช่น ข้อเหวี่ยง เพลทหน้า ตัวข้อต่อต่างๆ คอท่อไอดี และ Counter Weight หรือ “ตุ้มถ่วง” และอื่นๆ อีกหลายอย่าง พวกนี้ก็ต้องเป็นของเฉพาะ 3 โรฯ เท่านั้น…
- เวลารอบสูงๆ Housing ที่เสริมขึ้นมาของเครื่อง 20B มีการบิดตัวมากตามแรงม้า เวลาบิดมากๆ ทุกอย่างจะบรรลัยหมด โดยเฉพาะตัวต่อเพลทต่างๆ ที่เป็นจุดอ่อนของเครื่องตัวนี้เลย เพราะฉะนั้น การลงทุนกับเครื่อง Billet มันเป็นทางออกในการแก้พัง แต่ไม่เสมอไป เพราะเครื่องพวกนี้ถ้ายิ่งแรงก็ยิ่งนับ Run วิ่งแบบ Countdown กันเลย และค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2 โรฯ ประมาณ 3 เท่า !!! บางทีถ้างบไม่ถึงจริง 3 โรฯ อาจจะไปไม่ถึงฝัน เอาเงินมาทำ 2 โรฯ ให้แรงๆ และทนได้ก็ “น่าจะเป็นทางออกที่ดี” เพราะเครื่อง 2 โรฯ ตอนนี้เมืองนอกก็ทำวิ่ง 6 วินาที กันเป็นว่าเล่น บ้านเราก็สู้ต่อไปครับ สักวันต้องเป็นจริง…
- ในเรื่องแรงม้า จริงอยู่ 3 โรฯ “ใหญ่กว่าย่อมได้เปรียบ” แต่ 2 โรฯ ก็สามารถทำแรงม้าได้ระดับ “พันกว่า” ได้เหมือนกัน แต่ 3 โรฯ อาจจะพันกว่าเยอะหน่อยว่างั้น สิ่งหนึ่งที่น่าคิด คือ “แรงม้าต่อน้ำหนัก” ซึ่ง 3 โรฯ จะหนักกว่าประมาณ “100 กก. ++” เว้ยเฮ้ย มันหนักตรง Plate เหล็กที่ต่อไปนี่แหละ…
- จริงๆ แล้วเครื่อง 2 โรฯ ในคันนี้ เป็นเครื่องสำหรับ Test รถ ว่ามันวิ่งได้ไหม รถไปตรงไหม มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะถ้าบุ่มบ่ามกับ 3 โรฯ ถ้า “ชิบไห” เท่ากับ “เงินบิน” ถัวๆ ก็ประมาณ “สี่ซ้าห้าแสน” คือ มึงโดนแน่ๆ อ่ะ จริงๆ แล้ว CMZ ก็มีเครื่อง 3 โรฯ แบบ Billet คอยอยู่แล้ว ถ้าทุกอย่างลงตัว ก็จะเอาเครื่องตัวนั้นลงวิ่ง เป็นสเต็ปต่อไป…
ไนโตรมีเทน กับ เทอร์โบ “Ship หาย” ฉายที่นี่
ในปีที่แล้วกับ RX-8 คันสีดำของ CMZ จะเป็นกระแสฮือฮามาก ตอนจูนบนไดโนฯ จะเห็น “ไฟแลบทุ่ง” ออกมาตลอด พรึ่บ พรึ่บ (จน Goo ก็กลัวไฟจะไม่หยุดลุกเนี่ยสิ) ขนาดเดินเบาเบิ้ลคันเร่งนิดเดียวยังแลบออกมาเป็นเมตร เป็นผลมาจาก “ไนโตรมีเทน” แบบ “เพียว” เราคงรู้กันอยู่แล้วว่า ไนโตรมีเทน เป็น “สารตั้งต้นในการทำระเบิด” มีออกซิเจนในตัวมันสูงมาก สามารถให้พลังงานและการระเบิดที่รุนแรงมากกว่าน้ำมันทั่วไปแบบคนละทิศ เพราะฉะนั้น ยิ่งป้อนเข้าไปเท่าไร ถ้าเครื่องมีปัญญาจะทนไหว มันก็จะยิ่งให้กำลังได้มหาศาลมากเท่านั้น ก็ลองดูพวก Top Fuel เครื่องบล็อกโต ซูเปอร์ชาร์จตัวเท่าตึก เวลาเร่งไฟออกท่อยาวเป็นเมตรตลอดทาง นั่นแหละครับ การจุดระเบิดที่รุนแรงมหาศาล ที่มันสามารถทำแรงม้าได้ “หลักหมื่น” แต่ว่า…ทำไมมาใช้กับเครื่องเทอร์โบแล้วบรรลัยเกิดล่ะ…
อันนี้เราได้คุยกับทั้ง ชัย CMZ และ MACTEC ถึงเรื่องข้อเสียในการใช้ ไนโตรฯ เพียว กับเครื่องเทอร์โบ สิ่งที่เจอแน่ๆ ก็คือ “เทอร์โบโกร๋น” ใบเบยแม่งหายหมดเลยครับ เนื่องจากว่าการสันดาปที่รุนแรง ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงมากๆๆๆๆๆ มันเลยเกิดไฟออกมา แล้วมันก็จะไป “เผาใบเทอร์โบ” ให้วอดวาย แม้จะเป็นเทอร์โบโคตรโมดิฟายแล้วก็ตาม พอโดนมากๆ มันทนไม่ไหวก็บรรลัยตามระเบียบ เพราะฉะนั้น ไนโตรมีเทนจะต้องเป็นแค่ “ส่วนผสมในเชื้อเพลิงหลัก” จะดีกว่า อย่างคันนี้ใช้น้ำมัน Torco ที่ผสมไนโตรมีเทนไปเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ จึงพอจะอยู่รอดได้ ก็ต้องหา A/F Ratio ที่เหมาะสมกัน…
สำหรับไนโตรมีเทน 100 เปอร์เซ็นต์ มันเหมาะสำหรับเครื่องแบบ “N.A.” แต่ก็ต้องทำไส้ในและคุมเรื่องกำลังอัดให้มันเหมาะสม ไม่ใช่อยากจะเติมก็เติม อีกแบบคือ “Supercharge” ซึ่งเครื่องสองแบบนี้มันไม่มีอะไรไปขวางที่ท่อไอเสีย สามารถปล่อยไอเสียและไฟทิ้งไปได้เลย จึงไม่เป็นปัญหาในการใช้งาน ปัญหาหลักก็อยู่ที่ว่าเครื่องมันจะทนไหวหรือเปล่าแค่นั้น…
Dry Sump & Mechanic Fuel Pump
ระบบหล่อลื่นจะใช้ปั๊มน้ำมันเครื่องแบบ Dry Sump ที่มีคุณสมบัติอย่างที่เราทราบกันบ้างแล้ว คือ “ไม่ต้องอาศัยปั๊มน้ำมันเครื่องเดิมที่มีลิมิตการทำงาน” ถ้าเราโมดิฟายเครื่องแรงๆ ปั๊มน้ำมันเครื่องเดิมอาจจะสร้างแรงดันไม่พอ วัสดุทนแรงม้ามากๆ ไม่ไหว “แตก” เครื่องพังในที่สุด และที่สำคัญกว่าแรงดัน คือ “อัตราการไหล” หรือ “โฟล์วเรต” ที่เครื่องโมดิฟายสเต็ปสูงต้องการมาก (เราอย่าไปโฟกัสแค่แรงดัน ให้ดูโฟล์วด้วยว่าพอไหม) ตัวปั๊มแยกอยู่ข้างนอกมีขนาดใหญ่ ใช้สายพานขับ ปรับจูนแรงดันได้อีก โดยเฉพาะเครื่องโรตารี่ที่มี Clearance มาก ต้องการทั้งแรงดันและโฟล์วของน้ำมันเครื่องที่เยอะ เพื่อให้ชิ้นส่วนภายใน เช่น ข้อเหวี่ยง ลูกโรเตอร์ “ลอย” ไม่เสียดสีกัน และแรงม้าเพิ่มเพราะไม่มีแรงต้านใต้แคร็งค์น้ำมันเครื่องแบบเดิม…
อีกอย่าง คือ “ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงแบบกลไก” ก็ลักษณะเดียวกันครับ ปกติเราจะใช้ “ปั๊มติ๊ก” ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แต่ก็อาจจะมีปัญหาในบางกรณี เช่น ปั๊มติ๊กถอย แรงดันตก อาจจะร้อน กระแสไฟตก รีเลย์เจ๊ง ฯลฯ ห่าเหวอะไรก็ตามแต่ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นได้ แต่คันนี้เลือกใช้ปั๊มกลไก ดีอย่างมันก็กลับไป Back to Basic เหมือนเดิม ใช้ปั่นตามรอบเครื่อง ก็ตั้งแรงดันไว้ตามต้องการ ดูไปดูมาก็เหมือนปั๊ม AC ในเครื่องคาร์บูเรเตอร์สมัยก่อนนั่นเอง เรียกว่าตัดปัญหาไปเลย ยิ่งรอบสูงยิ่งปั่นแรง จริงๆ ปั๊มแบบนี้ก็มีใช้ในรถแข่งมานานแล้ว แต่คนไทยก็ยังนิยมปั๊มติ๊กเพราะไม่กินแรงเครื่อง แต่กินไฟ อันนี้ยอมกินแรงเครื่องนิดหน่อย แต่เอาชัวร์ดีกว่า…
Comment : “ธวัชชัย ทองพยงค์” CMZ Rotary
คันนี้ก็สร้างขึ้นมาใหม่ ให้ถูกต้องตามกติกาของรุ่น Super Max เป็นเฟรมเต็มระบบ ก็อย่างที่บอกว่าคันเดิมนั้นมันเสียเปรียบในด้านน้ำหนัก เพราะตอนแรกไม่ได้ทำมาวิ่งรุ่นนี้ คันนี้ก็จะใส่เครื่อง 2 โรฯ ลองระบบต่างๆ ก่อน ไม่อยากผลีผลามกับเครื่อง 3 โรฯ เพราะค่าใช้จ่ายมันสูงถ้าเกิดปัญหา ก็ขอปรับเซตไปเรื่อยๆ จะทำให้ดีที่สุด ส่วน RX-8 คันเดิม ผมยังไม่ทิ้งแน่นอน จะทำกลับมาให้ลงในรุ่น PRO 6 ได้ แล้วก็เอาเครื่องลูกสูบบิ๊กๆ ของ FORD 6 สูบเรียง ขนาด 4.7 ลิตร มาใส่แล้วโมดิฟายเต็ม อยากเล่นกับเครื่องลูกสูบบ้าง เพราะก่อนจะมาทำโรตารี่ก็เคยทำเครื่องลูกสูบมาบ้างแล้ว ต้องรอดู Souped Up ปีนี้ครับ ท้ายสุด ขอขอบคุณ อู่สี “ส. เจริญ Body Shop” ที่เป็นสปอนเซอร์หลักรถคันนี้, MACTEC RACING, AOR 77 SHOP, คุณต้อม GARAGE MY HOME, Bung Tune Ver, Khing CNC และ DYNO DAMPZ รวมถึง XO autosport ด้วยครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
บอกตรงๆ ว่าผมเห็นความผิดหวังของ “ชัย CMZ” มาหลายครั้งมากๆ แต่ก็เห็น “ความพยายาม” ของเขาตลอดเวลาเหมือนกัน ที่ไม่ย่อท้อกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยังคงทุ่มเทกับโรตารี่อยู่ ที่ผ่านมาอาจจะยังหาไม่เจอ แต่ก็ต้องหาเจอในวันหนึ่ง ซึ่งชอบนิสัยของ ชัย CMZ คือ มีอะไรก็สื่อกันตรงๆ ไม่กลบปัญหา ซึ่งก็จะแก้ปัญหาได้ RX-8 คันนี้ ก็ต้องรอลุ้นว่าจะได้สเต็ปเต็มเมื่อไร ถ้าวิ่งได้ตามเป้าหมายจริงๆ เราจะได้มี Top Ten Drag Car เป็นรถเครื่องโรตารี่สักที…
X-TRA Ordinary
หลายคนคงสงสัยถึงประวัติของ “ชัย CMZ” ว่ามายังไง จริงๆ แล้วแรกเริ่ม ชัย ทำร้านเทอร์โบมาก่อน เช่น จะซ่อม จะโม จะหมกอะไรก็ว่ากันไป แล้วก็มาเล่น “ดีเซล ปั๊มสาย” อยู่พักหนึ่ง แล้วก็มาเล่นสายเบนซิน เครื่อง JZ ตามกระแสนิยม แต่วันหนึ่ง ก็ไปเห็นเทอร์โบโคตรซิ่งของเครื่องโรตารี่ เออ ความจุมันก็ไม่มากนะ แต่ทำไมเทอร์โบมันใหญ่จังวะ ก็เลยหันมาชอบเครื่องโรตารี่ ตอนนั้นก็ซื้อ RX-7 มาคันนึง หลังจากนั้นก็บ้ามาเรื่อยจนถึงทุกวันนี้ สำหรับชื่อ CMZ มาจากคำว่า Chai-Mo-Zing หรือ “ชัย โม ซิ่ง” ซึ่งตอนเล่นรถซิ่งแรกๆ นั้นก็ใช้อยู่ แต่ตอนหลัง “โอ๋ Inner Line” บอกว่าชื่อมัน “โป๊งชึ่ง” ไปหน่อย มึงเอา CMZ ก็แล้วกัน เลยเป็นชื่อ ชัย CMZ จนทุกวันนี้ครับ…
Contact
CMZ Rotary : Facebook/Chai CMZ, Tel. 08-7922-5502
MACTEC RACING : Facebook/Mactec Race Shop, Tel. 08-7444-4999
Tech Spec
ตัวรถ
เฟรม : AOR 77 SHOP
หัวครอบ : AKANA Carbon Wizard
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน
จอ : AIM
ที่นั่ง : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : SIMPSON
พวงมาลัย : GRANT
คอพวงมาลัย : STRANGE
แป้นเหยียบ : TILTON tb&c 600 Series
เครื่องยนต์
รุ่น : 13B-REW
พอร์ต : Modify by CMZ Rotary
โรเตอร์ : Modify by CMZ Rotary
Apex Seal : Super Seal
เทอร์โบ : GARRETT GTX 5533 R
เวสต์เกต : TIAL
เฮดเดอร์ : CMZ Rotary
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
ปั๊มแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
หัวฉีด : DW 3,200 c.c. x 12
หม้อน้ำ : CMZ Rotary
ชุด Dry Sump : Barnes Systems Inc.
กล่อง ECU : Micro Tech LT-16c by Bung Tune Ver
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY G-Force GF 2000 Air Shift
คลัตช์ : TILTON 3 Plates
เพลาท้าย : STRANGE
เฟืองท้าย : STRANGE อัตราทด 5.4
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า–หลัง : PENSKE
ชุด 4 Links : AOR 77 SHOP
ล้อหน้า : WELD Magnum ขนาด 4 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD Magnum ขนาด 15 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : M&H RACE MASTER ขนาด 25-4-15 นิ้ว
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 33.0-15.0-15 นิ้ว
เบรกหน้า–หลัง : STRANGE
- สร้างเป็น “เฟรม” เต็มลำ คันนี้ทำได้สวยทีเดียว แต่เสียดายหัวคาร์บอนเสร็จไม่ทันวันถ่ายทำ
- ทรวดทรงยังคงเป็นมิติของ RX-8 (ยกเว้นหัว) เพราะเอาบอดี้จริงเลาะครอบเข้าไปเลย
- เสียดายล้อหลัง “ผิดสเป็ก” ไปหน่อย ออฟเซตมันเป็นของพวก “เพลากว้าง” อย่างกระบะ พอมาใส่ “เพลาแคบ” อย่างรถเฟรมมันเลย “หุบ” เข้าไป ถ้าออฟเซตถูกต้อง มันจะเป็น “ลบ” จะออกมาพอดีกับซุ้มล้อครับ
- โช้คอัพศรัทธา PENSKE หรือ “เพนสกี” ของ “ออสซี่” ที่ดีอย่างว่าเราสามารถสั่งเซตค่าตามต้องการได้ เราบอกน้ำหนักรถ ขนาดยาง แรงม้า และ “ลักษณะผิวแทร็กบ้านเรา” ไป ทางโรงงานก็จะเซตมาให้ตามเงื่อนไขที่เราส่งไป แต่เราก็ต้องมาวิ่งไล่เซตกันอีกทีเพื่อหาอาการจริงๆ ส่วนราคาก็ “คุ้มค่า” คู่หลังประมาณ “แปดหมื่นฝ่า” ถือว่าไม่แพงเวอร์ และอาการออกตัวแล้ว “ซับ” ทำได้ดีน่าพอใจ
- ช่วงล่างหน้าคันนี้สร้างใหม่หมด ตามสไตล์ Super Max ส่วนคันเก่าช่วงล่างและแชสซีด้านหน้ายัง “เดิม” เพราะจะทำลง PRO 6 Modify (กติกาปี 2016) แต่เสือกลืมไปตัด Firewall ออกซะก่อน เลยเสียเปรียบเรื่องน้ำหนัก ก็เลยสร้างคันใหม่แทนเลยดีกว่า แล้วเอาคันเก่าแปลงกลับไปวิ่ง PRO 6 ตามกติกาใหม่ที่ใช้เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
- พวงมาลัยจริงๆ เป็นของ GRANT สไตล์ Drag จะประหลาดหน่อย เพราะมี “นอต 5 ตัว” (พวงมาลัยปกติ เป็น 6 ตัว) และที่ก้านจะมีรูใส่ “สวิตช์” จะ “ไนตรัส” หรือ Trans Brake อะไรก็ว่าไป (แล้วแต่นิยม) จอ Aim ตัวเดียว “รู้เรื่อง” ไม่ต้องใส่อะไรให้เยอะแยะ
- เบาะพ่นดำ Black Look ดุดัน
- เกียร์ “แอร์ชิฟต์” ที่ไม่ใช่ “แอร์ชิบ (ไห)” ตามสูตรนิยม ส่วนหัวหมูเป็นแบบมีช่องสำหรับ “ตั้งคลัตช์” ได้ สะดวกรวดเร็วเวลาตั้ง จะได้ไม่ต้องถอดเกียร์ลงมาใส่กลับให้วุ่นวาย ส่วนตำแหน่งการนั่ง จะถอยหลังมาก ข้อดี คือ “น้ำหนักไปกดด้านหลังมากขึ้น” ได้เปรียบตรงนี้เพราะ “ชัย CMZ” ขายาว ตัวสูง เลยสามารถถอยเบาะไปหลังได้เยอะ