(วางรูป 01 เปิดเรื่อง)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
การเดินทางของทีม JOB MONTRI ที่ได้รับการสนับสนุนจากเบื้องหลังผู้ทรงประสบการณ์จากสายดีเซลเป็นเวลายาวนานอย่าง “น้าค่อม” มนตรี ดีเซล ที่คอยผลักดันอยู่ตลอดเวลา ในช่วงประมาณ 4 ปี ที่แล้ว กับ “น้องฟ้า” D-MAX Spaceframe ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานกับมันมาก กว่าจะ “หาฝั่งเจอ” หากท้อก็คงไม่มาถึง Top Ten Dragster ในงาน Souped Up Thailand Records 2015 ที่ น้องฟ้า ได้ยืนอันดับ 10 ท่ามกลางความดีใจของทั้งทีม โดยเฉพาะ “แจ๊ค มนตรี” พี่ชายของ จ๊อบ ดีใจวิ่งพล่านไปมาในสนาม (ตอนวิ่งก็ดันวิ่งหนีลูกน้องอีก เหมือนวิ่งไล่จับ) จนปีที่ผ่านมา ตัดสินใจสร้างรถเฟรมจาก “โครโมลี” ขึ้นมาใหม่ โดยได้ผู้สนับสนุนหลัก คือ HYB & ELEVEN SHOP และประสบความสำเร็จในงาน Souped Up Thailand Records 2016 ที่ผ่านมา โดยการรับอันดับ 6 Over All และอันดับ 1 ในรุ่น Super Max Diesel แต่… เบื้องลึกใครจะรู้ ว่าก่อนหน้าที่จะมาวิ่ง “งานเข้า” โดนไปชุดใหญ่ไฟกะพริบ งานนี้มีเหลา…
6 เดือน ที่รอคอย
สำหรับการสร้างรถคันนี้ จริงๆ ทาง HYB จะให้เราสร้าง Dragster Diesel แต่ไปๆ มาๆ ด้วยความที่ น้องฟ้า เฟรมคันเดิมสร้างมานาน จน “เรียนรู้เรื่อง” แล้ว และเฟรมของ น้องฟ้า เริ่มจะ “ล้า” เพราะแต่ก่อนวิ่งตรง ตอนใช้เทอร์โบเดี่ยวในปี 2015 แต่พอมาใช้เทอร์โบคู่ รถกลับวิ่งไม่ตรงอีกแล้ว แม้จะปรับแล้วก็ยังไม่ถูกใจ เพราะแรงบิดมันมากขึ้นเกินกว่าที่เฟรมจะรับได้ เลยเปลี่ยน Project มาทำ Spaceframe คันใหม่แทน โดยเอาประสบการณ์ที่ได้จากคันเก่ามาปรับปรุง แก้ปัญหาให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะใช้เวลาประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2559 เพื่อที่จะแข่งงาน Souped Up 2016 เป็นที่แรก เรียกว่ารุมกันชุดใหญ่ โดยมีที่ปรึกษาอย่าง “น้าค่อม” มาลุยด้วยตลอดเวลา ขอพูดถึง น้าค่อม นิดหนึ่ง น้าเป็นช่างรุ่นเก่าที่ทำงานแบบ “ร่วมสมัย” ได้หมด ทั้ง “ปั๊มสาย” ก็ทำแรงระดับแนวหน้าของเมืองไทยแล้ว ยังมาถึงยุค “คอมมอนเรล” น้าก็ยังศึกษาหาข้อมูลในการโมดิฟายแบบต่างๆ อยู่เสมอ ช่างแบบนี้หายากแล้วครับ ปกติช่างรุ่นเก่าประสบการณ์จะมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยสนใจเทคนิครุ่นใหม่ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะมันสามารถ “ประยุกต์” มาใช้กันได้ และตัว น้าค่อม ชอบทดลองอะไรใหม่ๆ เสมอ สิ่งหนึ่งที่ประหลาดสำหรับคนอื่น แต่ปกติสำหรับน้า คือ “ไม่กลัวพัง” ขับให้เต็มที่ ถ้าพังก็ให้พังเลย จะได้รู้ว่าพังจากอะไร โหดดีจริงๆ ย้อนกลับมาที่คันนี้ ตอนถึงวันควอลิฟายก็เจอเรื่องจุกจิกหัวใจมากมาย เช่น ตัวรถไหลไปชนกับรถสไลด์จน “หัวคาร์บอนแตก” กับพบปัญหาจุกจิกกับระบบตัวรถอยู่บางอย่าง และปีนี้พิเศษ คือ “เบิ้ลสอง” แต่อาศัยประสบการณ์ เตรียมพร้อมรับ ก็แก้กันจนทัน…
วางแผนตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องช้ำ
สำหรับคันนี้ ทาง JOB MONTRI ก็ได้ให้ทาง Body by CHAN (ช่างจัน) เป็นคนสร้างขึ้นตาม Plan ซึ่ง จ๊อบ ได้ออกแบบภาพรวมว่าต้องการรถที่ “เตี้ย” กว่าเดิม ทั้งส่วนของหลังคา และอื่นๆ เพื่อให้ลู่ลมมากกว่าคันฟ้าที่ก่อนหน้านี้เป็นทรง D-MAX จริงๆ ส่วน “น้าค่อม” ก็จะควบคุมในการสร้างทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะนำเสนอก็คือ “การวางแผนล่วงหน้า” อันนี้สำคัญมาก ในด้าน “น้ำหนัก” อย่างคันนี้สร้างเฟรมจาก “โครโมลี” ซึ่งเบากว่าเฟรมเหล็กเดิมถึง “150 กก.” ทำให้น้ำหนักรวมคันนี้อยู่ที่ 1,100 กก. เบากว่าคันฟ้าที่หนักถึง “1,250 กก.” ครับ…
ต่อมา “จุดสมดุล” จะต้องคิดว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และ “ต้องชั่งว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นมีน้ำหนักเท่าไร” ชั่งไปยัง “นอต” เลย รวมถึง “ส่วนประกอบ” ด้วยครับ เราจะเอาอุปกรณ์ไปวางไว้ในจุดไหน เพื่อที่จะให้น้ำหนักรถสมดุลที่สุด อันนี้ถือเป็น “น้ำหนักดี” ที่จะต้องคงไว้ และ “ลดน้ำหนักที่ไม่จำเป็นออก” อย่างเช่น การวางอุปกรณ์บางทีไกลมากเกินไป อย่างเช่น ถังน้ำมัน ถังน้ำแข็ง แบตเตอรี่ อะไรต่างๆ พวกนี้ ถ้าวางไกลเกินไป พวก “ท่อ สาย” ก็จะยาว ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เราก็ไปหาจุดที่มันดีที่สุด ใกล้ที่สุดเท่าที่ใกล้ได้ เพื่อลดของที่ไม่จำเป็น ซึ่งก็ต้องมีการขึ้นชั่ง “Weight Balance” เพื่อดูว่าน้ำหนักตกแต่ละล้อตามต้องการหรือเปล่า อันนี้สำคัญ เพราะต้องทำตั้งแต่แรกๆ ไม่ใช่อยากวางตรงไหนก็วาง ถ้าผิดทรงก็ต้องมาถ่วงเพิ่มตรงอื่นๆ น้ำหนักรถก็จะบานอีก อันนี้แหละครับเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนอื่นใด…
สำหรับการทำรถคันนี้ จะเป็นการระดมพลมาทำกันที่อู่เลย ไม่ว่าจะเป็น น้าค่อม เอง และช่างที่รับงานในส่วนต่างๆ มารุมทำกันที่นี่ ทำให้เกิดข้อดีว่า “รถจะอยู่ในการควบคุมของทีมงานตลอด” และ “ได้คุยกันทุกฝ่าย” ว่าจะต้องทำออกมาแบบไหนถึงจะดีที่สุด ถ้าส่งรถ “แห่” ไปทำหลายๆ ที่ เกิดเข้าใจไม่ตรงกัน เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ทำให้ “เสียเวลา เสียเงินมาก” เลยใช้วิธีให้มาทำที่อู่เลยจะดีที่สุด…
น้าสั่ง “ห่อ” !!!
สำหรับทรวดทรงของรถ แม้ว่าทาง JOB MONTRI จะสั่งให้จัดทรงเตี้ยลงกว่าคันเดิมพอสมควรแล้ว แต่ใจของ “น้าค่อม” สั่งให้ “ห่อ” ไอ้ตอนแรกผมก็งงว่าห่ออะไร จริงๆ แล้ว หมายความว่า เหลาบอดี้ให้แหลม หน้าเตี้ย แหวกลม หลังคาเตี้ยๆ กระจกหน้าลาดกว่าเดิม อะไรประมาณนี้แหละ มันจะดูทรงเป็น “สัตว์ประหลาด” หน่อย ตอนแรกก็ “รั้นน้า” พวกเราอยากได้ให้มันเป็นทรง All New D-MAX สวยๆ อยู่ ก็เลยสร้างออกมาแบบนี้ก่อน แต่ตอนนี้กระแส “ลู่ลม” ทำทรงแปลกๆ เริ่มมา ซึ่งเราก็มีโครงการจะเหลาใหม่ แต่รูปทรงก็ยังเป็น All New D-MAX เหมือนเดิม (เลยโดนบ่นว่าทำไมมึงไม่ทำตั้งแต่แรกวะ) ไว้รอดูเวอร์ชันใหม่ก็แล้วกัน…
โครโมลี แท้จริงคือฉันใด ???
ก็ว่ากันไปนะครับ ส่วนใหญ่คนก็รู้ว่า โครโมลี มันดีที่ “เบา” และ “แข็ง” กว่าเหล็กทั่วไป ภาษาฝรั่งเรียกว่า Chrome-moly, Cro-moly, CrMo, Cr-moly etc. เนื่องจากเป็นโลหะที่มีส่วนผสมของธาตุ (Element) จำพวกอัลลอยผสมกับโครเมียมและโมลิบดินัม เลยเป็นที่มาของคำว่า โครโมลี เลยทำให้แข็งแรง และมีน้ำหนักเบา รวมถึง “ป้องกันการกัดกร่อน” ได้ดี พวกนี้มันก็จะมีเบอร์ 41XX ตามมาตรฐานของ SAE (Society of Automotive Engineers) กำหนดไว้ ก็จะมีหลายเกรดอีกเหมือนกัน อย่างการสร้างเฟรม ก็ต้องเลือกเบอร์ที่ให้การยืดหยุ่นได้ ในข้อมูลก็บอกไว้ประมาณเบอร์ 4130, 4140 แต่ถ้าถึง 4150 มันจะ “แข็งจัด” จนแทบไม่ยืดหยุ่นตัว การสร้างเฟรมของรถแข่งที่ต้องซับแรงได้ประมาณหนึ่ง ถ้าแข็งจัด รถจะไปแบบทื่อๆ ไม่มีการซับแรง ไม่ใช่ยิ่งแข็งยิ่งดีนะครับ ตรงนี้ต้องคน “เป็นงาน” ถึงจะเลือกได้ว่าอันไหนพอดีกับรถระดับนี้ ส่วน “การเชื่อม” ก็ยากกว่า เพราะเนื้อโลหะมันเหนียวและดัดได้ยากกว่าเหล็ก…
“หัวฉีด” ใหม่ทุกครั้งที่ออกรบ
หลักการของเครื่องดีเซล อย่างที่บอกไปแล้วว่า มันใช้เพียงแค่ “น้ำมันกับอากาศ” ในการจุดระเบิด หัวใจหลักคือ “หัวฉีด” ที่จะต้องทำงานได้แม่นยำ สมบูรณ์ รถจึงได้กำลังเต็มที่ โดยมากถ้าเกิดอาการ “หัวฉีดเบลอ” เกิด Error ขึ้นมา ก็ทำให้รอบสะดุด เพราะเครื่องดีเซลจะกำหนดจังหวะจุดระเบิดจากหัวฉีดเป็นหลัก การแก้ปัญหา คือ “จะต้องถอดหัวฉีดมาเข้าเครื่อง Flow Test ทุกครั้ง” ก่อนจะแข่งขัน และ “เปลี่ยนหัวฉีดใหม่” ทุกครั้งก่อนแข่ง Souped Up และยังต้องทดสอบอีกด้วย ไม่มีการแกะกล่องแล้วใส่เลยโดยไม่ทดสอบ ทาง น้าค่อม และ JOB MONTRI เน้นตรงนี้มาก เพราะถ้าเรารักษาหัวฉีดไม่ดี ใช้น้ำมันดีเซลไม่สะอาด มีตะกอน ไม่ไล่น้ำมันทิ้งตอนเก็บ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องอุดตัน และยิ่งหัวฉีดคอมมอนเรลมีขนาดรูเล็กมากๆ เรียกเป็น “ไมครอน” แม้จะมีหลายรู แต่ถ้ามันตันขึ้นมารูสองรูก็มีอาการไม่ดีแล้ว ต้องระวังอย่างมากครับ…
Comment : JOB MONTRI
ยอมรับว่าคันนี้เราทำได้อย่างที่หวังจริงๆ ครับ เราเก็บประสบการณ์จากคันฟ้าดั้งเดิมมาพัฒนาสร้างคันนี้ให้ดีที่สุด โดยการลดข้อผิดพลาดลงไป ซึ่งได้เวลาตามเป้าในงาน Souped Up ที่ผ่านมา แต่ยังไงปีนี้มันต้อง “เร็วขึ้น” กว่านี้แน่นอน จะมีการอัพเกรดใหม่ เปลี่ยนเทอร์โบชุดใหม่ที่กำลังทดสอบอยู่ เปลี่ยนเกียร์ชุดใหม่ที่กำลังสั่งทำอัตราทดใหม่ทั้งหมด รวมถึงอื่นๆ ที่บอกไปข้างต้น อยากได้เวลาประมาณ “เจ็ดสาม” ครับ ท้ายสุด ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทีมงาน JOB MONTRI, ทีมช่างทุกคนที่มา Support ขาดไม่ได้เลย คือ “น้าค่อม” มนตรี ดีเซล รวมถึงสปอนเซอร์ที่สนับสนุนทุกท่าน HYB, Eleven Shop, Alphatech Thailand, MRX, Mu Mu Shop, Monza Shop, Akana, Liqui Moly, Omega, Max Nano, BRC…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ก่อนอื่นก็ต้องชื่นชมในด้าน “ความพยายาม” ครั้งแล้วครั้งเล่าของทีม JOB MONTRI ที่ผิดหวังมาถึง 3 ปี ก่อนจะมาสำเร็จในปี 2015 และปี 2016 ก็ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับปรุงกับรถคันใหม่ ก็คือ “น้องเทา” คันนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมชอบ คือ “มีการวางแผนก่อนทำอย่างครอบคลุม” อาจจะช้า เพราะกว่าจะคุยกันลงตัวทุกฝ่าย มันใช้เวลา แต่พอทุกอย่างลงตัว ลงมือทำจะไวมาก เพราะวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วว่า “ใครทำอะไร” และ “ทำอย่างไร” สิ่งหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ “ความเก๋า” ของ “น้าค่อม” มนตรี ดีเซล ที่ใช้ประสบการณ์ในการวางแผน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ การเซตรถที่ดี จนทำให้ประสบความสำเร็จครับ…
Special Thanks
JOB MONTRI
Facebook/Job Montri, Tel. 08-4559-1999
X-TRA Ordinary
เรื่องของ “หน่วยวัดบูสต์” นี่ก็มีเรื่องเล่า คนไทยจะนิยมเรียกกันตาม “เกจ์วัดบูสต์” อย่างสมัยก่อนยุค 80-90 ที่วัดบูสต์ AUTO METER ฮิตกันจัดๆ ทั้งสายเบนซินและดีเซล ก็จะคุยเรื่องบูสต์กันเป็นหน่วย “ปอนด์” หรือ psi (Pound Per Square Inch : ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ทั้งคู่ แต่พอยุคหลังๆ ย้อนไปประมาณสิบปีก่อน ที่เกจ์วัดบูสต์จากญี่ปุ่น พวก Defi หรือ GReddy ที่มีหน่วยวัดเป็น “บาร์” เริ่มฮิตกันมากๆ จากสายเบนซินก่อน ก็จะคุยกันเป็นบาร์ บูสต์กี่บาร์ สองบาร์ สองบาร์สอง เรียกว่าเลขน้อยแต่ดูยิ่งใหญ่อลังการ อยากรู้กี่ปอนด์ก็ต้องเอา “14.7” คูณเข้าไป ส่วนสายดีเซล ก็จะนิยมเรียกเป็น “ปอนด์” กันอยู่ แทบจะไม่มีใครคุยกันเป็นบาร์ เนื่องจากเกจ์วัดบูสต์ยังใช้ AUTO METER ที่เป็น Blower วัดแรงดันอย่างเดียว ไม่มี Vacuum ตัวเลขมันจะมากถึง 100 ปอนด์ ซึ่งดีเซลบูสต์กันถึงอยู่แล้ว (วัดบูสต์เบนซินไม่พอแน่ๆ) ดังนั้นจึงมีความแตกต่างในการเรียกประมาณนี้แล…

TECH SPEC
ภายนอก
เฟรม : JOB MONTRI & Body by CHAN
หัวรถ : AKANA Carbon Wizard
ร่มเบรก : SIMPSON
สวิตช์ตัดไฟ : QUICKCAR
ภายใน
วัดรอบ : Racepak
วัดบูสต์ : AUTO METER x 2
พวงมาลัย : GRANT
คอพวงมาลัย : Strange
เบาะนั่ง : KIRKEY
เข็มขัดนิรภัย : SIMPSON
สวิตช์ตัดไฟ : MOROSO
แป้นเหยียบ : TILTON
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JJ-1
วาล์ว : MRX
สปริงวาล์ว : MRX
แคมชาฟต์ : JOB MONTRI
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MONTRI DIESEL
ข้อเหวี่ยง : MRX 3.2 L
เทอร์โบ : MITSUBISHI TD-08 + GARRETT A/R 66 by MONTRI DIESEL
เวสต์เกต : TIAL x 3
เฮดเดอร์ : ช่างจัน
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
ท่อร่วมไอดี : ชาย อินเตอร์ สาย 4
ท่อไอเสีย : ดล ท่อซิ่ง นครปฐม
หัวฉีด : MONTRI DIESEL
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : HYB
ไนตรัส : NOS
หม้อน้ำ : Eleven Shop
ระบบไฟ : ช่างน้ำมนต์
กล่อง ECU : Alphatech by เอก
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : ATI by AOR 77 SHOP
เฟืองท้าย : STRANGE อัตราทด 3.25
เพลาท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
ชุด 4 Links : MONTRI DIESEL & ช่างจัน
ล้อหน้า : WELD ขนาด 4.5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 15 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ขนาด 24.0-4.5-15
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 34.5-17.0-16
เบรก : STRANGE
