เรื่อง : สราวุธ จีนไชยะ / ภาพ : ชูเกียรติ ชุติพิมลกุล / XO Magazine Issue 154 – August 2009
FD DRIFT EDITION BY OVERDRIVE TEAM
MAZDA RX-7 ภายใต้รหัสตัวถัง FD3S รถยนต์ขับหลังในค่าย Zoom Zoom ช่วงล่างขั้นเทพ ซึ่งมันเป็นรถสปอร์ตอมตะที่หลายๆ คนอยากครอบครอง รถคันนี้เป็นของ “เสี่ยโอ๊ต OVERDRIVE” ที่เคยเป็นเจ้าของ NISSAN SILVIA S14 รถดริฟต์คันโหดที่เคยจอดอยู่บนปก XO ของเราเมื่อไม่นานมานี้ และ MAZDA RX-7 คันนี้ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่ 2 ที่ “เสี่ยโอ๊ต OVERDRIVE” ส่งออกมาอาละวาดในสนามดริฟต์ ซึ่งงานนี้ตั้งใจทำมันออกมาเพื่อดริฟต์โดยเฉพาะ โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าต้องเป็นรถดริฟต์ที่แรง, สวย, ดุดัน, ดูดี และดริฟต์ได้ดี
เมื่อคอนเซ็ปต์ต่างๆ ผ่านการสรุป 2 อู่ใหญ่ P&C Garage, HKS THAILAND กับอีกหนึ่งนักดริฟต์ขั้นเทพ สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ จึงระดมความคิดสานความต้องการของ “เสียโอ๊ต OVERDRIVE” ให้เป็นจริง ซึ่งในครั้งนี้ทางทีมงานได้แบ่งหน้าที่กันทำ “พี่ใหม่ P&C” ดูแลเรื่องการโมดิฟายเครื่องยนต์ที่เป็นทางของตัวเองอยู่แล้ว กับเครื่องยนต์ 13B 2 โรเตอร์ โดยมีทาง HKS THAILAND คอยจัดการเรื่องอุปกรณ์และอะไหล่ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ HKS ส่งให้เพื่อทำตามโปรเจ็กต์ และในช่วงที่ทำเครื่องยนต์อยู่นั้นทาง HKS ก็จัดการเตรียมชุดช่วงล่างหลัก นำเข้าจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะกับชุดโช้ก HKS พร้อมกับชุดเกียร์ ในส่วนของบอดี้ก็จัดการส่งเข้าไปทำการรีดน้ำหนักและ Spot เพิ่มความแข็งแรงของตัวบอดี้ที่อู่ในซอยลาดปลาเค้า 8 ไกล้ๆ กับออฟฟิศ XO ของเรา
Engine : Rotary Crazy 13B + HKS GT3037
เครื่องยนต์กับการโมดิฟาย จากการแบ่งงานที่เป็นสัดส่วนอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของ “พี่ใหม่ P&C” ที่เป็นเกจิในเรื่องเครื่องยนต์ Rotary ผลงานมีออกมานับไม่ถ้วนทั้งกับการแข่งรถยนต์ทางเรียบ, รถแดร็ก หรือแม้แต่รถถนนที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ผลงานต่างๆ ที่ผ่านมานั้นเป็นการการันตีฝีมือของคนๆ นี้ได้อย่างไม่ต้องมีข้อสงสัยและอีกอย่างรถคันนี้ก็เป็นคันแรกที่ใช้เครื่องยนต์ Rotary กับการดริฟต์ ทางคุณโอ๊ต OVERDRIVE จึงต้องยกหน้าที่นี้ให้กับเกจิทางด้านนี้เป็นคนรับผิดชอบ
สเต็ปการโมดิฟายเครื่องยนต์ของคุณโอ๊ต OVERDRIVE นั้นก็ไม่ธรรมดา ทำอะไรก็ได้ให้แรง ขับได้ และต้องขับดี โจทย์มันเหมือนดูง่ายๆ แต่ทำจริงๆ มันยาก งานนี้ทาง “พี่ใหม่ P&C” จึงวางคอนเซ็ปต์ทำให้เครื่องยนต์มีการตอบสนองที่ดีตั้งแต่ในรอบต้นๆ ไล่ขึ้นไป และอีกอย่างก็เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของรถดริฟต์ที่ต้องการพละกำลังตั้งแต่ในรอบต้นๆ การโมดิฟายก็เริ่มกันตั้งแต่พื้นฐาน เปลี่ยนไส้ในเป็นของซิ่งตั้งแต่ข้อเหวี่ยง, ชาฟท์ ส่วนโรเตอร์นั้นก็เปลี่ยนไปใช้ของ Racing Beach จากนั้นก็ทำการทำพอร์ทใหม่เป็นบริดพอร์ตที่ส่งอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้ดี และคายไอเสียออกจากห้องเผาไหม้ได้อย่างทันท่วงที
พื้นฐานเสร็จก็มาถึงองค์ประกอบของความแรง เริ่มกันที่ต้นตอ ชุดเทอร์โบ และตามคอนเซ็ปต์ ต้องการพลกำลังออกมาใช้งานตั้งแต่รอบต้นๆ เทอร์โบที่ใช้ต้องไม่ใหญ่มาก และเทอร์โบที่ใช้งานได้ดีตรงเป้าหมายที่ “พี่ใหม่ P&C” เลือกมาใส่ก็เป็นเทอร์โบจาก HKS รุ่น GT3037 ขนาดไม่ใหญ่มาก สร้างการตอบสนองได้ดีโดยที่ไม่ต้องโหนไปรอบสูงมากๆ ยกคันเร่งแล้วกดใหม่ก็ยังสร้างการตอบสนองได้ทันท่วงที โดยที่เทอร์โบชุดนี้พี่ใหม่ไม่ได้ใช้แบบชุดคิตส์ ชุดเฮดเดอร์ และงานท่อทั้งหมดพี่ใหม่ P&C ยกให้เป็นหน้าที่ของ CHAN INTER ที่รู้มือกันดี ส่วนในระบบเชื้อเพลิงที่จ่ายน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้นั้นทางพี่ใหม่ใช้หัวฉีดขนาด 1000 ซี.ซี. ของ HKS ติดตั้งกับรางหัวฉีดของ SARD ควบคุมแรงดันในระบบอัดอากาศด้วยเวสเกตแยกจาก HKS รุ่น GT2 คุมแรงดันในระบบทั้งหมด ส่วนเรื่องการควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์นั้นก็เป็นหน้าที่ของกล่อง HKS F-CON V PRO เวอร์ชั่น 3.3 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด หน้าที่การปรับจูน งานนนี้พี่ใหม่ P&C จูนเองกับมือ และเมื่อทำเสร็จออกมา ผลสัมฤทธิ์ของเครื่องยนต์ตัวนี้วัดด้วยไดโน คลอดแรงม้าออกมาประมาณ 400 แรงม้าที่ล้อ บนแท่นไดโนของ HKS THAILAND
Transmission : HKS + MAZDA SPEED
ต่อมา “ระบบส่งกำลัง” แรงม้าเยอะเอาออกมาใช้งานไม่ได้ก็เท่านั้น ยิ่งเป็นผลงานของพี่ใหม่ P&C ด้วยแล้ว เรื่องการเก็บแรงม้าออกมาใช้งานนั้นเรียกได้ว่าหายห่วง ประสบการณ์กับเครื่องยนต์แรงม้าเยอะๆ มีสูงมาก เพราะผ่านสังเวียนสนามแดร็กมาหลายปี จับแรงม้าประมาณ 400 แรงม้าลงพื้นจึงทำได้ไม่ยาก และอุปกรณ์ที่พี่ใหม่ P&C เลือกมาใช้นั้นก็เป็นของ HKS เกือบทั้งชุด เริ่มที่ชุดคลัตช์แบบ Twin Plate ของ HKS, ตามด้วยเกียร์แบบ Sequential ของ HKS ที่ไม่ใช่ก็คือชุดเฟืองท้ายและลิมิเต็ดสลิปของ MAZDA SPEED แต่อุปกรณ์ทั้งหมดนั้นก็สามารถประสานการทำงานกันได้เป็นอย่างดี และลงตัว
Suspension : HKS + Ikeya Formula + RE Amemiya
“ช่วงล่าง” ศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งกับการเซ็ตรถแข่ง เซ็ตไม่ลงตัวมีแรงม้าเป็นพันม้าก็วิ่งไม่ได้ ผลงานก็ไม่ดี สำหรับรถคันนอาศัยการวางพื้นฐานจากนักดริฟต์มืออาชีพ “นน” สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ ที่มีดีกรีต่างๆ ติดตัวมามากมาย และอีกอย่าง “นน” ก็เป็นอาจารย์สอนดริฟต์ให้กับ “คุณโอ๊ต OVERDRIVE” และนั่นก็แน่นอนว่าสิ่งที่ “นน” เลือกสำหรับรถคันนี้ต้องดีและลงตัวมากที่สุด และสุดท้ายก็มาจบอยู่ที่ชุดโช้กของ HKS รุ่น Hypermax D ที่เป็นชุดโช้กสำหรับการดริฟต์โดยเฉพาะ ส่วนพวกอาร์มและแขนลิงค์ต่างๆ นั้นก็เป็นของ Ikeya Formula กับ RE Amemiya ที่สามารถปรับมุมต่างๆ ได้ตามความต้องการ โดยที่รถคันนี้ทำการปรับมุมล้อออกมาเพื่อดริฟต์โดยเฉพาะ ปรับมุมล้อหน้าให้มีแคมเบอร์เป็นลบ 3 องศา ส่วนล้อหลังนั้นปรับให้ลบ 1.3 องศา เพื่อง่ายต่อการควบคุม และดริฟต์ได้แบบสบายๆ ไม่ต้องโหนเครื่องยนต์มาก
และต่อมาก็เป็นชุดเบรกและล้อ สำหรับรถดริฟต์นี้ เบรก และล้อก็เป็นส่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะในการดริฟต์เบรกเป็นส่งสำคัญอันดับต้นๆ และชุดเบรกที่ใช้อยู่ในรถคันนี้ก็เป็นชุดเบรกที่สามารถตอบสนองได้ดี เป็นชุดเบรกจาก Project M ล้อหน้าเป็นแบบ 6 พอร์ต ล้อหลังเป็นแบบ 4 พอร์ต และเป็นแบบที่มีชุดเบรกมืออยู่ในตัว คือมีชุดดรัมเบรกอยู่ภายในชุดจานเบรกของล้อหลัง ส่วนล้อนั้นก็ใช้ล้อของ ADVAN ยางเป็น YOKOHAMA ADVAN NEOVA AD08 ยางสปอร์ตสมรรถนะสูงตัวล่าสุดจาก YOKOHAMA
Test Drive Comment : Saranon Pornpattanarak (NON)
RX-7 คันนี้จากที่ได้สัมผัสในตอนทดสอบสรุปได้ว่าเป็นรถที่มีการตอบสนองดีมากๆ เครื่องยนต์ส่งกำลังงานออกมาให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง การปรับเซ็ตระบบต่างๆ ก็ทำได้ดีทั้งเรื่อง Weight balance, มุมล้อ, โช้ก และจุดอื่นๆ ที่จำเป็นทั้งหมด เมื่อทุกอย่างปรับเซ็ตได้ลงตัวการควบคุมรถก็ทำได้ง่าย อาการต่างๆ ของตัวรถเป็นไปอย่างที่ต้องการ พูดง่ายๆ ว่าสามารถสั่งได้ ที่เหลืออยู่ก็แค่เรื่องคนขับคือเจ้าของรถที่จะทำการปรับตัวให้เข้ากับรถให้ได้ แต่ก็คงไม่ยาก เพราะตอนนี้ “คุณโอ๊ต” เองก็กำลังทำได้ดีทีเดียว
Mechanical Comment : Chaiwat Bantayangkul (Mai P&C Garage)
สำหรับการทำเครื่องยนต์ Rotary ให้กับรถดริฟต์นี้ ตอนแรกที่รับงานมาก็คิดว่ามันจะยาก แต่มันก็ไม่ยากอย่างที่คิดถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ในการใช้งาน และเข้าใจว่ารถประเภทนี้ต้องการใช้กำลังงานในช่วงไหน เพาเวอร์แบนต้องเป็นยังไง อยู่ตรงไหน ยกตัวอย่างง่ายๆ มันก็เหมือนทำเครื่องให้กับรถแดร็กที่ต้องการเครื่องยนต์แรงม้าสูงๆ แรงบิดเยอะๆ และต้องดึงได้ดีตั้งแต่ออกตัว และต้องได้แรงม้าและแรงบิดสูงๆ ออกมาตลอดจนถึงรอบปลายๆ
ส่วนเรื่องจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับการนำเครื่องยนต์ Rotary มาใช้กับรถดริฟต์นี้ จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไร มันก็เหมือนกับการเตรียมรถแข่งทุกประเภทคือการตรวจเช็คความพร้อมของรถให้พร้อมกับการแข่งขัน ส่วนเรื่องที่หลายๆ คนกลัวว่ามันจะเปราะบางนั้นก็หายห่วงถ้าในขั้นตอนการทำนั้นเรารู้ว่าจุดไหนที่ต้องใช้ของดีเราก็ใช้ จุดไหนไม่จำเป็นต้องใช้ของดีมากเราก็ใช้ของที่มันใช้ได้ ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่การเลือกของมาใช้ให้เหมาะสมมากกว่า เพราะเครื่องยนต์ทุกประเภทนั้นมันก็มีจุดอ่อนเหมือนๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าจะหามันเจอหรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าหาเจอทุกอย่างก็จบ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ตามมา หรือถ้ามีก็น้อยมาก