First Dragster Diesel Clutch Slip By NS1000 (Nuy & Per)

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ภูดิท แซ่ซื้อ   

First Dragster Diesel Clutch Slip

By NS1000 (Nuy & Per)

แฉละเอียดหน้ายาวดีเซลเร็วที่สุดในไทยพบได้ แห่งนี้

ไหนๆเขี่ยไว้ตั้งแต่ฉบับที่แล้ว ว่าจะนำเสนอ “Dragster Diesel” ลำเขียวจากค่ายป่าอ้อย ของเสี่ยแซม 3P” ที่ให้เจ้าดัง อย่าง “NS 1000” หรือหนุ่ย & เป๋อ สุพรรณจัดการทรงเครื่องให้  คันนี้มีดีกรีเป็นหน้ายาวดีเซลที่เร็วสุดในประเทศไทยจากงาน Souped Up Thailand Records 2018 ที่ผ่านมา ด้วยสถิติเวลา “7.164 sec” ตามหลัง Dragster ของก๊อฟฟี่ นารากะที่เป็นเครื่อง 2JZ-GTE อยู่ 0.03X วินาที เลยได้อันดับ 6 พลาดโพเดียมไปนิดเดียว สำหรับ Dragster คันนี้เสี่ยแซม 3P” สั่งต่อเป็นคันที่ 2 จากฝีมือน้าจิตร ปากน้ำซึ่งคันแรกจะเป็นสีเงิน ซึ่งคันนั้นยกล้อเก่งก็เลยสั่งต่อคันใหม่ให้ยาวขึ้นกว่าเดิม แม้ว่ารถคันนี้จะถูกสร้างขึ้นมาพักใหญ่แล้ว แต่มันก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย ตามสไตล์พี สี่ภาคที่อยากจะรู้ว่าทำอะไรถึงเร็วและต้องการนำมาเผยแพร่ให้แฟนๆ XO ได้รับชมและแน่นอน มันเป็นดีเซลคันแรกของไทยที่ใช้คลัตช์สลิปซึ่งจะต้องมีการปรับตั้งที่ไม่เหมือนกับเครื่องเบนซินแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากหนุ่ย & เป๋อในการทำรถด้วยครับ

เฮดเดอร์เหล็ก เอกลักษณ์ หนุ่ย & เป๋อ

ปกติเฮดเดอร์รถแข่งระดับหัวๆ ทุกคันก็จะใช้เป็นสเตนเลสเพราะสวยงาม น้ำหนักเบากว่าท่อเหล็กเรียกว่าการดัดโค้งต่างๆ ก็ทำได้สวยกว่า ตอนนี้เฮดเดอร์เหล็กแทบจะไม่มีในสารบบกันแล้ว เพราะเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ หลังจากยุค 90 มา ก็เลิกใช้กันเกือบหมด แต่ทำไม หนุ่ย & เป๋อ ถึงยืนยันจะใช้เฮดเดอร์เหล็ก (และต้องพ่นสีเขียว) อยู่ ทั้งๆ ที่พรรคพวกหนีไปใช้สเตนเลสกันหมดแล้ว เลยเกิดความสงสัย

เรื่องเงินตัดไป ไม่ใช่ประเด็นแน่ๆ กับคนที่ทำรถแข่งระดับนี้ แต่เรื่องหลักก็คือต้องการความแข็งแรงสูงเพราะเฮดเดอร์เหล็ก แม้ว่าดูเผินๆ มันอาจจะสวยสู้สเตนเลสไม่ได้ แต่ความแข็งแรงนั้นเหนือกว่า ซึ่งหนุ่ยก็ให้เหตุผลว่า เราเป็นเครื่องดีเซล เทอร์โบใหญ่สองลูก น้ำหนักมาก บูสต์มาก แรงสั่นสะเทือนของเครื่องดีเซลก็สูงกว่าเบนซิน เคยใช้เฮดเดอร์เลสก็จะเจอเรื่องร้าวบ่อยกว่า จึงคิดว่า เฮดเดอร์เหล็กจะเหมาะสมกว่าในภารกิจแบบนี้ เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของอู่ไปเลย

เทอร์โบห้อยล่าง นี่ก็ไม่เหมือนใคร 

บางครั้งอาจจะมองว่าเรื่องพวกนี้ถามทำไม ??? ใครอยากรู้ ??? ก็แล้วแต่ท่าน แต่ผมมองว่าทุกอย่างย่อมมีเหตุผลการทำรถระดับนี้ไม่มีคำว่าไร้เหตุผลหรือทำตามคนอื่นสังเกตว่า การวางตำแหน่งเทอร์โบแบบ Compound (บ่แม่น Sequential นะจ๊ะ เคยบอกไปแล้ว) แต่ละคันก็ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะวางสูงเป็นฝั่งละลูกบ้าง เพื่อ Balance รถ แต่ก็ต้องยอมใช้ท่ออินเตอร์และเฮดเดอร์ที่ยาว การเดินทางของอากาศจะมากกว่า และส่วนมากก็จะนิยมวางสูง เพราะให้เทอร์โบกินลมได้มากขึ้นจากแรงอัดของอากาศ จากการวิ่งความเร็วสูง ก็มีเหตุผลที่น่าสนใจและเป็นไปได้ โดยมากก็จะเลือกแบบนี้กัน

แต่คันนี้กลับเลือกวางเทอร์โบแนวต่ำข้างรถ และหอยสองตัวห้อยอยู่ใกล้กัน ซึ่งดูจะแปลกตากว่าชาวบ้านเขา เหตุผล คือ ต้องการให้เทอร์โบอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ให้ท่อยาวจนเกินไป เพื่อให้ติดบูสต์ได้ไวขึ้น ในส่วนของข้อสงสัยต่อมาแล้วเทอร์โบจะรับลมได้ดีเหมือนติดอยู่ด้านบนหรือเปล่าซึ่งได้คำตอบมาว่าในการวิ่งด้วยความเร็วสูง ยังไงลมภายนอกก็ต้องมีแรงดันสูงในตัวของมันเองในการดันเข้าปากเทอร์โบอยู่แล้ว จึงไม่กังวลเรื่องนี้สำหรับเรื่องของการ Balance อาจจะมีประเด็นเรื่องหนักขวาอยู่บ้าง ก็ต้องหาทางจัดวางติดตั้งอุปกรณ์ให้รถ Balance ที่สุด แต่อาจจะต้องคิดกันเยอะหน่อย เพราะ Dragster ด้านข้าง มันแทบจะไม่มีพื้นที่ให้วางอะไรเลย

เรื่องของคลัตช์สลิปกับดีเซลคันแรกในเมืองไทย

เรารู้จักคลัตช์สลิปหรือ “Centrifugal Clutch” กันไปแล้วใน Part ก่อน ว่าหน้าที่มันคืออะไร แต่มาครั้งนี้จะเกี่ยวกับเงื่อนไขการปรับจูนการทำงานของคลัตช์ที่มีความแตกต่างกันระหว่างเครื่องเบนซินที่มีรอบเครื่องยนต์สูง แต่มีแรงบิดต่ำกว่าดีเซลที่มีแรงบิดสูงมาก แต่มีรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำ มันกลับทางกันละครับ มันย่อมกลับขั้วกันอย่างสิ้นเชิงแน่นอนว่าพี่ญา” YA SERVICE ก็ต้องมีเทคนิคการจูนเจ้าคลัตช์สลิปนี้อย่างไร ให้เหมาะสำหรับเครื่องดีเซล

ไม่เฉพาะ Dragster ใช้ได้หมดทุกรุ่น

จริงๆ แล้ว ช่างญา บอกว่า ไอ้คลัตช์สลิปนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กับรถระดับ Super Dragster หรือ Super Max อย่างเดียวนะ เพราะมันสามารถใช้กับรถ Drag ได้ทุกรุ่นการแข่งขัน โดยเฉพาะพวกยางเรเดียลนี่แหละน่าใช้ เพราะมันช่วยในการออกตัวได้เยอะเลย แม้ว่าจะรุ่น 1500 ก็ใช้ได้นะ เอาเป็น Project ต่อไปก็แล้วกัน ถ้าคนนิยมกันมากๆ ราคาก็จะถูกลงด้วย

ช่วยลดอาการเครื่องพัง ???

ฟังดูอาจจะเกี่ยวอะไรกันวะ” ??? เครื่องก็เครื่องสิ ถ้าคนที่มีประสบการณ์จะรู้ว่ามันเกี่ยวเต็มๆเลย เพราะเวลาเราปล่อยคลัตช์ยิ่งคลัตช์หลายๆ แผ่น แรงกดมากๆ จะยิ่งกระชากรุนแรงการต่อกำลังจะเกิดแรงช็อคมาก ลองคิดตามว่า จังหวะแผ่นคลัตช์กระแทกฟลายวีลที่ติดอยู่กับข้อเหวี่ยงโดยตรง จะเกิดการข้อเหวี่ยงรุนเดินหน้าอย่างมหาศาล ถ้าข้อเหวี่ยงเดินหน้าในขณะที่เครื่องยังหมุนจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องเครื่องพัง ก้านยิ้ม ก็มีส่วนมาจากตรงนี้เหมือนกันนะ พอใส่คลัตช์สลิป ก็จะเกิดความนุ่มนวลในการจับและต่อกำลัง ก็จะช่วยเซฟเครื่องได้มากมาย เชื่อไม่เชื่อก็ลองพิจารณาดูเองนะ 

Comment : หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณ

รถคันนี้มีปัญหาเรื่องการออกตัว ในระยะ 60 ฟุต ไม่ค่อยดีเท่าไร ล้อฟรีมาก ระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์จะเสียหายไวกว่ากำหนด ตัวผมขับเอง มันก็กะยากเพราะเสี้ยววินาทีตอนออกตัวมันมีแรง G มหาศาล โดยเฉพาะดีเซลที่มีแรงบิดมากกว่าเบนซินเยอะ คงจะไปคิดอะไรตอนนั้นไม่ทัน พอเกิดปัญหาแล้วรู้ข่าวว่า พี่ญา YA SERVICE สร้างคลัตช์สลิปขึ้นมาสำหรับ ISUZU 4JJ ก็เลยลองมาดูแล้วคุยกัน ผมมองว่าแนวคิดดีครับ แก้ปัญหาโดยตรง แต่ก็ยังต้องศึกษากับมันอีกสักระยะเพราะยังใหม่สำหรับผม ถ้าลงตัว ผมเชื่อว่าเซฟได้หลายอย่างครับ และได้เวลา 60 ฟุต เร็วขึ้น ก็จะได้เวลาวิ่งที่ดีขึ้นด้วยครับ ฝากติดตามเชียร์ด้วยนะครับ จะทำให้ดีที่สุด

ท้ายสุด ขอขอบคุณ

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

ก็อย่างที่บอกไปว่า แต่ละอู่ก็จะมีสไตล์การทำรถที่แตกต่างกัน โดยจะยึดถือเหตุผลและความชอบของตัวเอง คันนี้ก็คงไม่มีอะไรมาก เพราะมีผลงานที่ดีอยู่แล้ว สไตล์ หนุ่ย & เป๋อ ที่ขยันในการเซตรถและซ้อม ทำให้สามารถปรับทุกอย่างให้สมบูรณ์ได้ ตอนนี้ผมเองก็อยากจะรอดูตอนวิ่งด้วยคลัตช์สลิป ว่าเวลา 60 ฟุต กับ Dragster เสี่ยแซม 3P คันนี้ รวมไปถึง Total Time จะลงหกเป็นคันแรกของเมืองไทยในสายดีเซลหรือเปล่า ต้องรอชม

ขอขอบคุณ

หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณ : Facebook/หนุ่ยเป๋อ สุพรรณ, Tel. 08-6688-1750

YA SSERVICE : Facebook/YA Motorsport, Tel. 08-1880-6673

X-Tra Ordinary

แม้ภาพของหนุ่ย & เป๋อหรือ NS1000 (เป็นแบรนด์สินค้าที่ผลิตขึ้นมาเอง) จะโด่งดังจากสาย Drag แต่จริงๆ แล้ว ยังทำเครื่องให้กับสาย “Off Road” อีกด้วย พวกตัวแข่งต่างๆ ไปยันรถการ์ตูนรุ่น Open โดยเฉพาะสายสุพรรณที่นิยมเล่นกันมาก เรียกว่างานตูมกันเลยทีเดียว เพราะมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของรถแต่ละประเภท จะทำอะไรก็ได้ครับ

TECH SPEC

ภายนอก

เฟรม : จิตร เฮดเดอร์ เทอร์โบ

บอดี้พาร์ท : AKANA Carbon Wizard

ร่มเบรก : DJ

ภายใน

เบาะ : AKANA Carbon Wizard

พวงมาลัย : Pro-Werks Butterfly

จอ : AIM

วัดบูสต์ : AUTO METER

แป้นเหยียบ : TILTON

สวิตช์ : MOROSO

เครื่องยนต์

รุ่น : ISUZU 4JJ1-TCX   

ฝาสูบ : NS1000

วาล์ว : MRX

แคมชาฟต์ : NS1000

ลูกสูบ : MRX 

ก้านสูบ : MRX

ข้อเหวี่ยง : MRX 3.1 L 

เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 + GARRETT GTX47 

เวสต์เกต : TIAL

เฮดเดอร์ : จิตร เฮดเดอร์ เทอร์โบ

อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR

ท่ออินเตอร์ฯ : จิตร เฮดเดอร์ เทอร์โบ

ปั๊มโยงดีเซล : NS1000

หัวฉีด : NS1000 

ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE

หม้อน้ำ : NS1000

ไนตรัส : NOS

กล่อง ECU : ECU=SHOP Stand Alone by อ้า

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : LIBERTY Air Shifter 5 สปีด

คลัตช์ : YRS Centrifugal Clutch

เพลาท้าย : STRANGE

เฟืองท้าย : STRANGE

ช่วงล่าง

ล้อหน้า : WELD ขนาด 17 x 2.5 นิ้ว

ล้อหลัง : WELD ขนาด 16 x 16 นิ้ว

ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 22-2.5-17 นิ้ว 

ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 33.5-16-16 นิ้ว

เบรกหลัง : STRANGE 

บรรยายภาพ

 

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome