FRAME FACTORY 77

เฉียด 1,300 HP แค่นั้นเองงง

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ: ทวีวัฒน์ วิลารูป (POTE A+)

 

                เชื่อแน่ว่าหลายคนต้องติดตามรถคันนี้อยู่ ชื่อเสียงของอู่ “AOR 77 SHOP” สร้างไว้ได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากที่เล่นกระบะดีเซลจนขึ้นมาอยู่หัวแถว จนกลุ่มลูกค้าของอู่ก็อยากจะ “เล่นสายออกเทน” หลังจากที่สร้างผลงานไว้กับรถ 86 Space Frame ของ AEK Garage ไว้แล้ว ก็ถึงคิวของ “R35 Space Frame” คันนี้กันบ้าง ซึ่งลูกค้าไว้วางใจให้อู่ AOR 77 SHOP เป็นผู้ลงมือสร้าง มองว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของช่างไทย ที่พัฒนาฝีมือและแนวความคิดมาจนไม่แพ้ระดับอินเตอร์ คงไม่ฝอยกันมาก เพราะคันนี้มี “ของดี” ที่น่าสนใจหลายรายการ อยากจะให้ท่านชมกันอย่างเต็มอิ่มครับ…

ตัวปรับบูสต์แบบ Multi Stage ที่คุมบูสต์ตามเกียร์ได้

เจาะรูโกร่งพัดลมทำไมจ๊ะ

สังเกตอีกอย่าง โกร่งพัดลมคันนี้จะถูก “เจาะรู” มาทั้งสี่มุม มุมละสามรู รวมเป็น “สิบสองรู” รูใหญ่ซะด้วย ปกติ โกร่งพัดลมก็จะเป็นกรอบที่ปิดสนิทรอบด้าน เจาะช่องสำหรับติดตั้งพัดลม เพื่อเป็นการ “รวบรวมอากาศ” ให้เป่าออกทางพัดลมได้ ไม่กระจัดกระจายไปแบบไร้ทิศทาง ทำให้ใช้ประสิทธิภาพของพัดลมเต็มที่ แต่ที่ต้องเจาะรูเพิ่ม เพราะในความเร็วสูง ลมที่พัดผ่านหม้อน้ำมา มีความเร็วสูง และปริมาณที่มากกว่าจะระบายออกผ่านพัดลมได้ ทำให้เกิดการ “อั้น” จึงต้องเจาะรูช่วย Flow อากาศออกให้ “ทัน” จะได้ไม่อั้น จริงๆ แล้วพวกรถสปอร์ตเดิมๆ ก็มีช่อง Flow แบบนี้นะครับ อย่าง SKYLINE GT-R ข้างพัดลมก็จะมีช่องระบายลม และมีแผ่น Flap ปิดอยู่ ในจังหวะจอดรอบเดินเบา ก็ให้พัดลมดูดออกไปปกติ พอรถวิ่งเร็ว ลมผ่านแรง ก็จะดันแผ่น Flap เปิดออก ก็หลักการเดียวกันนี่แหละครับ…

ลักษณะเกียร์ LENCO CS2 อย่างที่บอก แต่คันนี้ใช้ระบบ Air Shift แบบคุมจากคันเกียร์ ที่หัวหมูสังเกตดีๆ จะมี “ฝาเปิดสำหรับตั้ง Slipper Clutch” มาให้

เกียร์ LENCO CS2 ทบทวนอีกที กันลืม

เคยพูดถึงไปทีแล้ว ถึงเกียร์แบบต่างๆ ของ Drag Racing ใน knowledge เล่มก่อนๆ นู้น ทบทวนอีกทีละกัน เกียร์รุ่นนี้จะมีความประหลาดอย่าง มันจะมีห้องเกียร์ย่อยๆ ต่อกัน คล้ายๆ Housing เครื่องโรตารี่นั่นแหละ จะเอากี่เกียร์ก็ต่อกันไป ข้อดีของมัน คือ ต่อจำนวนเกียร์ได้ตามต้องการ (แต่คงไม่มีใครโหดทำ 10 สปีด หรอกนะ) อีกประการ “เฟืองเกียร์ทำให้มีขนาดใหญ่ที่สุดได้” เพราะมันแยก Housing กันไปเป็นชุดๆ  ไม่ได้มาอยู่ราวเดียวกันเหมือนทั่วไปซึ่งจะทำให้เฟืองเกียร์มีขนาดจำกัด ก็เป็นข้อดีของเกียร์รุ่นนี้ (ซึ่งทาง AEK Garage ก็เคยนำเกียร์รุ่นนี้มาใช้ใน 200 SX Stock body เป็นครั้งแรก) แต่คันนี้จะใช้โซลินอยด์สั่งการ “ลม” ให้ไปเข้าเกียร์ครับ…

หน้าตาของ Slipper Clutch ของ RAM Clutch เป็นแบบเดียวกับรถ Top Fuel แต่นี่มาแบบย่อมๆ กว่า

Slipper Clutch คือฉันใด ???

ในส่วนของ “ระบบคลัตช์” คันนี้ใช้ Slipper Clutch ซึ่งจะทำให้ “ลื่น” ในจังหวะออกตัว อ้าว… คลัตช์ที่ดีจะต้อง “จับแน่น” ไม่ใช่หรือ ถ้ามันลื่น แล้วจะส่งกำลังได้เหรอ ??? มานี่ จะเหลาให้ฟัง รู้หรือยังล่ะ ว่าทำไมเกียร์ออโต้ถึงออกตัวดีกว่าเกียร์ธรรมดา ??? ก็เพราะมันมีจังหวะลื่นแล้วค่อยจับแน่นแบบ Linear (เนียนต่อเนื่อง) รถจึงออกตัวไปได้ ลดอาการฟรีทิ้ง ถ้าเป็นคลัตช์ที่มีแรงจับสูงๆ แบบปกติ เวลาเร่งรอบสูงออกตัว ปล่อยคลัตช์ มันจับปึ้งจริงว่ะ แต่เกิด “แรงกระชากสูง” ถ้ายางเกาะไม่พอ ก็จะ “ฟรีทิ้งหมด” แต่ถ้ายางเกาะมากๆ เช่น ยางสลิควงโตๆ แบบที่คันนี้ใช้ ถ้ากระชากแล้วไม่ไป เกิดอะไรขึ้น ??? “พังสิครับ” ระบบส่งกำลังมี “ขาด” แน่นอน ดังนั้น จึงต้องใช้ Slipper Clutch มาช่วยเหลือตรงนี้ครับ…

หน้าที่ของมัน ก็คือ “ให้มีจังหวะลื่นไปก่อนในช่วงออกตัว แล้วจึงจับแน่นในเวลาต่อมา” เพื่อให้ออกตัวเนียนๆ พอรถเริ่มไปแล้ว คลัตช์จะกดแน่นสูงสุด เพื่อต่อกำลังได้หมดจด โดยใช้ “แรงเหวี่ยงในการสร้างแรงกด” ซึ่งจะเรียกคลัตช์แบบนี้ได้อีกอย่างว่า “Centrifugal Clutch” ลักษณะของมัน จะมี “สปริง” และ “นอตขันตั้งสปริง” และมี “ตีนผี” (ฝรั่งเรียก “Finger”) ที่ด้านปลายจะมีตุ้มกด เวลาออกตัว คนขับปล่อยคลัตช์ ถ้าเป็นคลัตช์ปกติจะเกิดแรงกระชาก แต่คลัตช์แบบนี้ จะ “ไม่จับเต็มในทันที” ปล่อยให้มี “สลิป” ไปก่อน ก็เหมือนกับ “เลียคลัตช์” ออกตัว แต่คนขับ “ไม่มีเวลาเลีย” ไงครับ เลยต้องให้คลัตช์มันจัดการ เวลาวิ่งไปก็จะมี “ตุ้มแรงเหวี่ยง” กดให้คลัตช์แน่นขึ้น แต่จะออกตัวได้ดีแค่ไหน ก็อยู่ที่ “การตั้ง” แล้วครับ ตอนแรกให้ “ตั้งตึง” ไว้ก่อน มันก็จะออกตัวกระชาก แล้วค่อยๆ “คลาย” ลองกว่าจะได้เวลา 0-60 ฟุต ที่ดีที่สุด (ลองแค่นี้พอ ไม่ต้องไปเต็มระยะ) แต่ระวัง “อย่าคลายก่อนแล้วค่อยตั้งตึง” เพราะจะกลายเป็น “คลัตช์ลื่น” ก็จะไหม้และเสียหาย อย่างคันนี้ เป็นหัวหมูตรงรุ่นเครื่อง 2JZ และมี “ฝาสำหรับเปิดตั้งตรงหัวหมูเกียร์” เพื่อตั้งคลัตช์โดยตรงเลย ซึ่งจะตั้งให้จับเต็มในช่วงเกียร์ 2 ที่รถเริ่ม “ได้ทรง” แล้วครับ…

 

ขอบคุณ : MACTEC Race Shop สำหรับข้อมูลเรื่องคลัตช์และเกียร์

New GReddy Profec ที่เอาไว้ “ปรับบูสต์สูงสุดแบบคงที่” พร้อมจอ HALTECH iO3

คอนโทรล “บูสต์” ตาม “เกียร์”

นี่ก็เป็นของไฮเทคอีกอย่างในรถคันนี้ ทำไมต้องคอนโทรลบูสต์ตามเกียร์ ??? เนื่องจากรถพวกนี้ใช้บูสต์หนัก เวลาออกตัวถ้าบูสต์หนักเกินไป จะทำให้ “ฟรีทิ้ง” เวลาไม่ดี ไปไม่เป็น แต่ถ้าลดบูสต์ ตีนปลายก็ไม่ Shoot เวลาไม่ได้อีก มันเลยต้อง “สะเวิ้บ” กันหน่อย มันก็ไม่มีอะไรมากครับ เซ็ตบูสต์ได้ตามตำแหน่งเกียร์เลย เกียร์ 1 ก็จะบูสต์ต่ำสุด ลดอาการฟรีทิ้ง แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ไปดันสุดในเกียร์ 5 เพื่อเน้น Shoot เข้าเส้น จริงๆ ตัวปรับบูสต์ที่เป็นลักษณะนี้ก็มีมานานแล้วครับ แต่ใช้การ Learning จาก “รอบและความเร็ว” เพื่อให้จำว่าอยู่เกียร์ไหน เช่น เกียร์ 1 รอบเครื่อง 4,000 rpm ความเร็ว 40 km/h เกียร์ 2 รอบเครื่องเท่ากัน ความเร็ว 60 km/h ไล่ไปจนถึงเกียร์สูงสุด โดยใช้สัญญาณรอบเครื่อง และสัญญาณความเร็วจาก Speed Sensor แล้วมันก็จะจำไว้ว่า “ตอนนี้เราอยู่ในเกียร์ไหน” แล้ว “ปรับบูสต์ไว้เท่าไร” ก็จะคอนโทรลได้ (ถ้ารถ “คลัตช์ลื่น” รอบขึ้นเยอะ แต่ความเร็วไม่ขึ้น มันจะ Error เลยนะ) แต่อย่างของคันนี้ จะใช้สัญญาณตำแหน่งเกียร์โดยตรงครับ ซึ่งเป็นหลักง่ายๆ แต่มีความแม่นยำสูง…

Max Power : 1,281.48 hp

Max Torque : 1,340.35 N-m

                น่าเสียดายเหมือนกันที่ได้เพียงแค่ “ตัวเลข” มาให้เชยชม แต่ก็ดีกว่าไม่เห็น แรงม้าสูงสุดทำได้เฉียด 1,300 hp ส่วนแรงบิดมหาศาลถึง “1,340.35 นิวตัน-เมตร” (อยากรู้เป็น กก.-ม. แบบคร่าวๆ ก็เอา “สิบหาร” ดูเด้อครับ) ถือว่า “สมน้ำสมเนื้อ” กับที่ลงมือไป แรงบิดขนาดนี้ ได้รับผลพวงมาจาก “การขยายความจุไปถึง 3.4 ลิตร” ซึ่งมีข้อคิดว่า “เราไม่ได้ขยายความจุเพื่อดูแรงม้าสูงสุดเพียงอย่างเดียว” แต่แท้จริงแล้ว “ไม่ต้องการเค้นเครื่องยนต์มาก” แน่นอนว่า เครื่องยนต์ที่มีความจุมาก มันก็ย่อม “ทำงานน้อยกว่า” โดยเฉพาะแรงม้าเยอะๆ เครื่องเล็กต้องเค้นจน “เสี่ยงพัง” แต่พอเพิ่มความจุ เครื่องก็ทนทานมากขึ้น ไม่ต้องใช้รอบสูงมาก แถม “ได้แรงบิดสูงกว่า” นับเป็นสิ่งที่ต้องการ ส่วนเรื่องของลักษณะกราฟ รถแข่งก็ไม่ต้องสนใจเรื่องกำลังในรอบต่ำมากนัก ไปเน้นกำลังในรอบที่ “ใช้แข่ง” เป็นหลักครับ แต่รถที่วิ่งถนนก็คนละเรื่องกัน ต้องพิจารณาในช่วงรอบกลางลงไปด้วยครับ…        

AOR 77 SHOP’s Comment

รถคันนี้ เป็นของลูกค้าอู่ AOR 77 SHOP ซึ่งเจ้าของมี R35 อยู่แล้ว ก็เลยให้ทางอู่สร้างรถเฟรมที่เป็นทรง R35 ขึ้นมาอีกคัน ก็อาศัยความรู้ที่เคยทำมาในรถ 86 แล้วก็เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ นำมาพัฒนาในคันนี้ ตอนนี้ยังไม่ได้วิ่งเต็มที่ เซ็ตรถเน้นออกตัวมากกว่าครับ คันนี้ออกตัวได้เวลา 0-60 ฟุต อยู่ที่ “1.0 วินาที” โดยเฉลี่ย ถือว่าน่าพอใจมาก เคยวิ่งเกียร์ 4 พัง เข้าเส้นที่เวลา “7.8 วินาที” ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยครับ ท้ายสุด ทางเจ้าของรถ ขอขอบคุณ อู่ AOR 77 SHOP, เสี่ยตา RAM 77, ป๋าแดง Drag Master, MACTEC, พี่ชนินทร์ ธรรมาธิคม (Chanin Inside) และทุกคนที่ช่วยกันให้คำแนะนำ และช่วยกันทำรถคันนี้ขึ้นมาครับ…

Intaraphoom’s Comment

อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ถ้าผมจะบอกว่ารถคันนี้ ผมชอบมากๆ ในความ “แรงและสวย” ที่อู่ AOR 77 SHOP ได้ตั้งใจทำขึ้น ก็ไม่ต้องพูดอะไรมากนะครับ ดูที่เนื้องานก็แล้วกัน ทั้งความเรียบร้อยในภาพรวม และการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านการคิดและวางแผนมาก่อน เพราะมันมีผลทั้งในด้านการใช้งาน และการ “สมดุลน้ำหนัก” ไม่ใช่อยากวางตรงไหนก็วาง และเก็บงานได้ดี เพราะรถระดับนี้จะสามารถโชว์ผลงานในระดับ “อินเตอร์” ได้อย่างสบาย ตอนนี้เรื่องแรงม้าระดับ 1,200 PS ++ ผมไม่ตื่นเต้นเท่าไร เพราะเชื่อว่าคนไทยทำได้ แต่ประเด็นที่ผมและหลายคนสนใจ ว่า “รถคันนี้จะทำเวลาได้ดีสุดเท่าไร” ก็ขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จครับ…

Special Thanks : อู่ AOR 77 SHOP, อู่ AEK Garage สำหรับสถานที่ถ่ายทำ

Contact : Facebook/AOR 77 SHOP, Tel. 080-070-4781

 

X-TRA Ordinary

สำหรับ R35 Space Frame ตอนนี้คันที่กำลังดัง ก็จะเป็นของสำนัก GODZILLA MOTORSPORT คันสีดำ ทำเวลาไว้ 6.93 วินาที แต่เป็นเครื่อง VR38DETT ขยายความจุ 4.0 ลิตร ซึ่งเป็นสถิติอยู่ในตอนนี้ ส่วนในบ้านเรา ก็มี R35 Space Frame ทำอยู่อีกเหมือนกัน อยากจะรู้ว่ามีใครบ้าง แล้วใครทำเวลาได้เท่าไร รอลุ้นใน Souped Up Thailand Records 2015 ที่จะถึงนี้ รับรองมันส์ !!!

 

TECH SPEC

 

ภายนอก

หัวครอบหน้า : Carbon by AKANA

สปอยเลอร์หลัง : Carbon by AOR 77 SHOP

 

ภายใน

วัดบูสต์ : AUTO METER

จอ Multi-Function : HALTECH iO3

พวงมาลัย : GRANT

คอพวงมาลัย : STRANGE

เบาะ : BRIDE GIAS

เข็มขัดนิรภัย : IMPACT

คันเกียร์ : LIBERTY

ปรับบูสต์ไฟฟ้า : New GReddy Profec & INNOVATIVE Multi-Stage

ตาข่ายเซฟตี้ : SIMPSON

เครื่องยนต์

เครื่องยนต์ : 2JZ-GTE

วาล์ว + รีเทนเนอร์ + สปริงวาล์ว : BC

แคมชาฟต์ : BC 280 องศา ลิฟต์ 11.3 มม.

สายพานไทมิ่ง : HKS

ปะเก็นฝาสูบ : COMETIC 1.5 มม.

ลูกสูบ : ARIAS 87.0 มม.

ก้านสูบ : PAUTER

แบริ่งชาร์ฟ : CARILLO

ข้อเหวี่ยง : BC 3.4 L

ลิ้นปีกผีเสื้อ : บางมด เรซซิ่ง 100 มม.

ท่อร่วมไอดี : บางมด เรซซิ่ง

เทอร์โบ : GARRETT GT47

เฮดเดอร์ : บางมด เรซซิ่ง

อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR

ท่ออินเตอร์คูลเลอร์ : AOR 77 SHOP

เวสต์เกต : HKS GT2

หัวฉีด : BOSCH 2,200 ซี.ซี.

รางหัวฉีด : บางมด เรซซิ่ง

เร็กกูเลเตอร์ : AEROMOTIVE

หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง

คอยล์ : MSD

สายหัวเทียน : MSD

ไนตรัส : NOS

กล่อง ECU : HALTECH PLATINUM SPORT 2000 by อุป วายริ่ง

 

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : LENCO CS2 5 สปีด

คลัตช์ : RAM CLUTCH Slipper Clutch

เพลาท้าย + เฟืองท้าย : MARK WILLIAMS อัตราทด 5.1

 

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า : STRANGE

โช้คอัพหลัง : KONI Drag

สปริง : HYPER COIL

เบรกหน้า : STRANGE

เบรกหลัง : MARK MILLIAMS

ชุด 4 Links : AOR 77 SHOP

ล้อหน้า-หลัง : WELD ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว และ 17 x 15 นิ้ว

ยางหน้า-หลัง : HOOSIER ขนาด และ 34.5-17-15 นิ้ว

สวย แรง เรียบร้อย ครบถ้วน

โกร่งพัดลมเจาะรูเพิ่มทั้งสี่มุม เพิ่ม Flow ในความเร็วสูง สังเกตท่อหายใจฝาวาล์ว จะเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นทั้งหมดไปจนถึงถังดักไอ เพราะเครื่องที่บูสต์มากๆ ท่อหายใจจะต้องใหญ่ตามด้วย ไม่งั้นจะเกิดการอั้น ซึ่งทำให้เกิดแรงต้านการหมุนของเครื่องในรอบสูงด้วย และก็จะพยายามดันออกทางอื่น เช่น ก้านวัดน้ำมันเครื่อง ดันออกทำให้น้ำมันเครื่องทะลัก เป็นต้น ดูที่ท่อร่วมไอดี จะมีการสร้าง Runner หรือ ทางเดินอากาศ ขึ้นมาใหม่ (สีม่วง) เป็นของ บางมด เรซซิ่ง มีขนาดเท่ากัน ทำให้อากาศไหลได้เท่ากันทุกสูบ

เปลือกนอกเป็นเหล็ก ของ R35 แท้ๆ แต่เลาะโครงด้านในออกเพื่อลดน้ำหนัก ด้านนอกจึงเป็นมิติของ R35 จริงๆ ซึ่งน้ำหนักรถโดยรวมจะมากกว่า FT86 เพราะรถใหญ่กว่า แต่ก็ไม่เกิน 20 กก.

ติดตั้ง “สวิทช์ตัดไฟ” ได้อย่าง “แน่นหนา ชัดเจน” ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยโดยตรง ไฟท้ายและไฟเบรกยังใช้งานได้ปกติ เพราะจะได้รู้ว่า “เบรกตอนไหน” ซึ่งมีความสำคัญมากในกรณีหยุดรถฉุกเฉิน กรรมการจะได้สังเกตตำแหน่งของรถได้

อุปกรณ์เซฟตี้อีกอย่างที่ “น่าใส่” คือ ปุ่มล็อกประตูกันเปิดเองเวลา “ไปเร็ว” จะล็อกส่วนบนที่มักจะ “กระพือ” และมีแรงลมงัดทำให้ “ประตูบิน” สามารถล็อกและปลดล็อกได้จากทั้งด้านนอกและด้านในรถ สมมติเป็นเคสอุบัติเหตุ ที่คนขับไม่สามารถเปิดล็อกเองได้ ผู้ที่มาช่วยสามารถกดเปิดล็อกได้อย่างง่ายดายตามรูป

เพลาท้ายเต็มระบบ จุดยึดต่างๆ ทำได้อย่างเรียบร้อย