Story : อินทรภูมิ์ แสงดี
Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), Image Jinzz
เรื่องราวของ Spaceframe Car ก็ยังไม่จบง่ายๆ หลายคนเริ่มจะ “พัฒนา” เพื่อ “เวลา” ที่จะ “ยืนหัวแถว” ในวงการ Drag Racing ของเมืองไทย จึงต้องหันมา “ขย่มรุ่นใหญ่” กันเป็นแถว งานนี้ “จ้ำม่ำ” พูนศักดิ์ ภวัฒน์จิระโชติ แห่ง NaRaKa ที่ใฝ่ฝันอยากลองของแรง อยากจะพัฒนาฝีมือการขับขี่ จากรถ Stock Body อย่าง MR2 กระโดดขึ้นไปเล่นกับ 370Z Spaceframe ที่ปรับเซตโดย AOR 77 SHOP เจ้าเดิม นับว่า “ก้าวข้ามขั้น” กันไปเลย แน่นอนว่า รุ่นใหญ่มันย่อมไม่มีวันเชื่องเหมือนรุ่นเล็กแน่นอน คนขับจะ “เอาอยู่” หรือเปล่า แล้วจะต้อง “ปรับตัว” อย่างไรบ้าง ความแรงก็อีกเรื่อง แต่ “ฝึกขับอย่างไรให้ได้” นั่นสำคัญกว่า เพราะหมายถึง “เวลา” ที่หมายปอง…
- ในมาดของ 370 Z Replica เปลี่ยนสีเขียวใหม่ ไฉไลสไตล์ “จ้ำม่ำ”
นานาสาระ Spaceframe
จริงๆ คำว่า Spaceframe จะเป็นรูปแบบโครงสร้างที่ใช้ “ท่อโลหะ” (Metal Tube) นำมาตัด ต่อ เชื่อม สาน ขึ้นมาเป็นรูปทรงที่ต้องการ และทำให้แข็งแรงโดยคำนึงถึง “จุดรับแรง” จากการคำนวณ การต่อประสานท่อโลหะ จะวางตำแหน่งเป็นรูปทรง “สามเหลี่ยม” เสมอ เพราะว่าเป็น “รูปทรงเรขาคณิตที่แข็งแรงที่สุด” บางคนก็เรียกว่า Tube Frame ก็ไม่ผิดกติกา จริงๆ แล้ว การสร้าง Spaceframe จะใช้กับโครงสร้างต่างๆ ที่ต้องรับแรงสูง เช่น โครงหลังคา, เสาวิทยุที่มีความสูงมากๆ ถ้าเราเอาเหล็กตันๆ มาสร้าง ก็จะมีน้ำหนักมาก สิ้นเปลืองวัสดุ ก็เลยคิดค้นการสร้างแบบ Spaceframe ขึ้นมา จนนำมาใช้กับการสร้างรถยนต์สำหรับการแข่งขัน (เป็นส่วนมาก) เพื่อให้มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรงสูง เพราะเราสามารถดีไซน์ได้ว่าจะให้รับแรงตรงไหนมากเป็นพิเศษ หรือต้องการจะวางอุปกรณ์ยึดอะไรตรงไหน เราสามารถกำหนดได้ทั้งหมด แล้วก็สร้างตามแบบที่ต้องการ จริงๆ แล้ว ชื่อของ Spaceframe จะเป็น “โครงสร้าง” ในลักษณะนี้ แต่บ้านเรานิยมเรียก Spaceframe ในรถที่มีโครงสร้างแบบนี้ แล้วมี Body ครอบ ก็ไม่ผิดครับ เพราะเป็นความเข้าใจของคนไทย แต่ที่นำมาเล่ากันนี้เพื่อให้รู้จักคำว่า Spaceframe ให้ละเอียดขึ้นนั่นเองครับ…
- ลักษณะของรถ Door Slammer หรือ “รถ Spaceframe มีบอดี้ครอบ ประตูเปิดเข้า-ออก ได้ตามปกติ” ที่เหล่า “ออสซี่” เรียกกัน บอดี้ก็แล้วแต่ว่าจะ Replica เป็นรถอะไรที่เราต้องการ
- ล้อหลังเป็นของ WELD แบบมี Bead Lock ริมขอบล้อกับขอบยางให้ “แนบสนิท” กันจริงๆ เวลาออกตัวแล้วล้อหมุน แต่ยางบิดตัวเป็นริ้วๆ ถ้าไม่มีตัวนี้ล็อกไว้ โอกาสที่ยางจะหลุดจากขอบล้อก็มีสูง สังเกตที่หน้ายางครับ ถ้าเซตลมยางถูกต้องตามกำลังของรถ หน้ายางจะ “มีรอยกินพื้นเต็มจนถึงขอบบ่ายาง” (ที่เป็นสีขาวๆ นั่นแหละครับ) ถ้าลมยางแข็งเกินไป จะกินไม่ถึงขอบบ่ายาง หรือ “บ่าลอย” แต่ถ้าลมยางอ่อนเกินไป จะกินเลยขอบบ่ายาง แต่ตรงกลางจะ “ลอย” ครับ แต่การกินรอยของหน้ายาง ก็อยู่ที่เงื่อนไขอย่างอื่นด้วย เช่น มุมล้อ มุมแคมเบอร์ หรืออะไรต่างๆ ก็อาจจะทำให้รอยเปลี่ยนแปลงไปได้ อันนี้เป็นรถ Drag ที่ด้านหลังเป็นช่วงล่างคานแข็ง ไม่มีมุมล้อเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างเป็น “ศูนย์” จึงสังเกตได้อย่างชัดเจนครับ
อะไร คือ Door Slammer???
บางคนก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า “Door Slammer” บ้าง หรืออาจจะสับสนกับ “Funny Car” บ้าง อาจจะได้ดูการแข่งขันจากต่างประเทศ (ผ่านออนไลน์) บ่อยๆ ตัว Funny Car ก็อาจจะคุ้นหูมากกว่า เพราะเป็นรถที่ใช้พื้นฐานเครื่องยนต์แบบเดียวกับ Top Fuel แต่ช่วงล้อสั้นกว่า Dragster มี “บอดี้ครอบ” ที่สามารถยกส่วนด้านหน้าแหงน 45 องศา ส่วนไอ้ที่แปลกๆ หูเรา คือ Door Slammer นั่นเอง ชื่อมันเท่ดีนะ มาจากพวก Australia ที่มีการบัญญัติคำนี้ และการแข่งขันรุ่นนี้ขึ้นมา (ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ มาจากเพื่อนคนไทยที่ “ซิ่ง” อยู่ออสเตรเลีย) ลักษณะของรุ่น Door Slammer นี้ก็คือ เป็นโครงสร้างแบบ Spaceframe และมีบอดี้ครอบ จะเป็นทรงรถที่เราชอบทำจำลอง (Replica) ขึ้นมา ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับ “รถเฟรม” ที่เราคุ้นอยู่แล้ว (พูดถึงเฉพาะลักษณะของรถนะครับ ถ้าจะยิบย่อยลงไปมากกว่านั้นคงไม่จำเป็น เพราะบ้านเราไม่ได้กำหนดกติกาแบบนั้น) และบอดี้ที่ครอบลงไป “ประตูจะต้องสามารถเปิด-ปิด และคนขับขึ้น-ลง ได้ตามปกติ” เหมือนกับรถ Production ทั่วไป ซึ่งก็น่าจะตรงกับคำว่า Door ผสม Slam (ทำให้เกิดเสียงดังปึงปัง) เลยเป็นที่มาของคำว่า Door Slammer ในรถที่เป็นลักษณะนี้…
* ขำขำนะครับ อย่าซีเรียส
ปรับตัวอย่างไร ในการขึ้นขับรถเฟรม
โดยปกติ จ้ำม่ำ จะขับแต่ MR2 มาโดยตลอด แต่คราวนี้เป็นครั้งแรกที่จะขึ้นมาเล่นกับรถเฟรม ในคลาส Super Max ซึ่งความแรงและเร็ว “เหนือ” กว่าอีกเยอะ และอาการของรถก็จะต่างกัน พื้นฐานรถก็ไม่เหมือนกัน จากเคยขับรถเครื่องวางกลาง หน้าเบา ก็ไม่แน่ พอมาขับไอ้นี่ก็อาจจะ “รู้สึกมั่นใจ” กว่าก็เป็นได้ และรถช่วงล่าง 4 Links ก็อาจจะมีอาการ “ดึงออกข้าง” ในแบบเฉพาะคัน คนขับก็ต้องเลี้ยงรถให้อยู่ ต้องไวในเสี้ยววินาที ตรงนี้ผมได้คุยกับทาง AOR 77 SHOP ว่าถ้าคนที่ไม่เคยขับรถเฟรม จะต้องปรับตัวและทำยังไงบ้าง กะว่าน่าจะมีเทคนิคอะไรที่น่าสนใจ แต่ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำยังไง แต่อาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ จนรู้อาการของรถ และขับให้ได้เท่านั้น” จริงๆ มันก็อย่างที่ AOR 77 SHOP บอกนั่นแหละครับ อาศัยการปรับตัวเท่านั้นจริงๆ…
Max Power: 1,006.31 PS @ 8,200 rpm
Max Torque: 916.69 N-m @ 7,500 rpm
สำหรับแรงม้าที่ออกมา อยู่ในระดับ “พันนิดๆ” อาจจะไม่ได้อลังการอะไรมากนัก เครื่องตัวนี้เคยอยู่ใน SUPRA สีเขียวของ เสี่ยจ้ำม่ำ พอได้เฟรมคันนี้มาก็ “ยกใส่” เลย รายละเอียดส่วนใหญ่ยังเดิม แต่เปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เข้ากับการแข่งขัน แล้วค่อยจูนใหม่ แรงม้าสูงสุดจึงออกมาประมาณนี้ ไม่ได้โหดร้ายอะไรมาก แต่อีกแง่หนึ่ง ผมเข้าใจว่าทางคนขับเองก็ไม่อยากจะให้แรงมากเกินไปนัก เพราะอยู่ในขั้นตอนเรียนรู้กับรถ เลยขอประมาณนี้พอก่อน ไว้ชินรถแล้วไปเพิ่มทีหลัง มันก็ต้องเป็นยังงั้นละครับ ผลีผลามไปมันจะเกิดอันตรายได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ยังไม่คุ้นเคย…
สำหรับกราฟแรงม้า (เส้นสีแดงเข้ม) ก็จะไปในลักษณะค่อนปลาย เพราะรถ Drag ก็ใช้รอบเฉพาะช่วงนั้นอยู่แล้ว ช่วง 6,500 rpm ขึ้นไป จะเป็นช่วง “Sweep Spot” หรือจุดที่ “รอบกวาด” กราฟจะเริ่มนอนในช่วง 7,000 rpm ซึ่งก็ได้แรงม้าถึง 900 PS แล้วครับ หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่จุด Peak นอนยัน 8,800 rpm ซึ่งตัดรอบเครื่องพอดี Power Band ก็จะอยู่ประมาณนี้ อาศัยเกียร์ Air Shift อัตราทดชิด จึงใช้รอบในช่วงนี้ได้ สำหรับกราฟแรงบิด ก็จะมาในลักษณะเดียวกัน ช่วงมาหนักๆ ก็ตั้งแต่ 7,000-8,000 rpm เพราะตอนวิ่งจริงก็ใช้โซนรอบสูงอย่างเดียวอยู่แล้ว หลังจากนั้นโรยตัวลงนิดหน่อย แต่ยังได้ค่าที่สูงพอเพียงกับการทำความเร็วอยู่…
Comment: “จ้ำม่ำ” พูนศักดิ์ ภวัฒน์จิระโชติ
รถคันนี้ผมซื้อต่อมาจาก “RAM 77” ซึ่งก็เอามาให้ทาง “AOR 77 SHOP” เป็นผู้เซตอัพ เก็บรายละเอียดต่างๆ ให้อีกที แล้วก็เปลี่ยนส่วนประกอบให้สมบูรณ์มากขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ ผมก็เอามาจาก SUPRA สีเขียว พาร์ท TRD 3000 GT คันเก่า ที่เคยลง XO AUTOSPORT ไปเมื่อหลายปีก่อน จับมาใส่เลยแล้วจูนใหม่ แรงม้าก็ขอประมาณนี้ก่อนละครับ ยังไม่อยากผลีผลามเร็วเกินไป ส่วนในด้านการวิ่ง ต้องขออภัยที่ไม่สามารถ Comment ได้ เพราะผมยังไม่เคยขับรถคันนี้จริงๆ สักที เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องหาเวลาว่างไปฝึกซ้อมบ่อยๆ ให้ “เสี่ยอ๋อ” AOR 77 SHOP คอยแนะนำวิธีการขับ การปรับตัว เพราะเป็นรถที่เราไม่เคยขับ และเป็นพวงมาลัยซ้ายด้วย แต่คิดว่าถ้าลงตัว มันก็จะไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในขั้นแรกก่อน ไม่รีบร้อนครับ…
Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี
คันนี้ผมก็เคยได้ถ่ายลงคอลัมน์ตั้งแต่สมัยที่ RAM 77 RACING ได้สร้างคันนี้เสร็จใหม่ๆ ในปี 2011 ถือว่าทำได้สวยงามเป็นมาตรฐานใหม่ของฝีมือคนไทย หลังจากที่เปลี่ยนมือมาอยู่กับ “เสี่ยจ้ำม่ำ” ก็มีการปรับปรุงความสวยงามเพิ่มเติม แล้วให้ทางลูกศิษย์ “เสี่ยตา” ก็คือ “เสี่ยอ๋อ” AOR 77 SHOP มาเซตอัพกันใหม่อีกครั้ง โดยพื้นฐานรถมาดีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า จ้ำม่ำ จะต้องฝึกซ้อมกับคันนี้บ่อยๆ เพื่อให้สามารถขับได้ เพราะความแรงและเร็วมันไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ก็เอาใจช่วยให้ “ชินรถ ขับได้” นะครับ…
Special Thanks to
AOR 77 SHOP : Tel. 08-0070-4781, Facebook/AOR 77 SHOP
JumMum NaRaKa Org. King : Facebook/Jummum Jm
X-TRA Ordinary
อีกอย่างที่ต้องปรับตัว คือ “การเปลี่ยนมาขับพวงมาลัยซ้าย” ซึ่งจะมีมุมมองและประสาทสัมผัสที่ต่างจากพวงมาลัยขวาแบบ “คนละฝั่ง” อันนี้ผม “พี สี่ภาค” ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคย “ขับรถพวงมาลัยซ้าย” มาก่อน จึงพอจะบอกได้ว่าต้องปรับตัวอย่างไรในเบื้องต้น โดยปกติถ้าขับพวงมาลัยขวา เราก็จะโฟกัส “ไลน์ด้านขวา” เป็นหลัก แต่พอย้ายมาขับพวงมาลัยซ้าย ก็จะต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสมาเป็น “ไลน์ด้านซ้าย” แทน เพราะถ้าขับซ้ายแล้ว “เผลอ” ดันไปโฟกัสด้านขวาเหมือนเดิม (ด้วยความเคยชิน) รถจะ “เบนออกขวา” โดยไม่รู้ตัว เพราะมือเราจะเปลี่ยนทิศไปตามจุดโฟกัสของตาโดยอัตโนมัติ ส่วนการเปลี่ยนเกียร์ก็จะต้องใช้มือขวา แล้วใช้มือซ้ายจับพวงมาลัย ก็ต้อง “ปรับตัว” กัน โดยเฉพาะคนทั่วไปที่ “ถนัดขวา” และเอามือขวาเป็นมือหลักในการจับพวงมาลัย จะต้องเปลี่ยนมาใช้มือซ้ายที่ไม่ค่อยถนัด (ถ้าเป็นคน “ถนัดซ้าย” อย่างผมจะเข้าทางมาก ส่วนตัวผมจึงชอบขับรถพวงมาลัยซ้ายมากกว่าพวงมาลัยขวา) อันนี้ไม่ยากแต่ต้องใช้เวลาและฝึกบ่อยๆ พอชินแล้ว “ฝั่งไหนก็ได้” ทั้งนั้นแหละครับ…
TECH SPEC
ภายนอก
Body : RAM 77 RACING
Spaceframe : JBRC (Jerry Bickel Race Car) & RAM 77 RACING
- ภายในก็ยังคงความเรียบร้อยและแข็งแรงไว้ดังเดิม ส่วน “เบลท์” วันถ่ายทำยังไม่ได้ใส่มา กำลัง “เลือก” ว่าจะเอาแบรนด์ไหน
- เมื่อการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ เป็นระเบียบ ไม่มีการวางตำแหน่งก้าวก่าย (Intersect) กันไปมา มองแล้วก็สวยงาม เวลาตรวจเช็คหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะ “สายไฟ” ที่เรียบร้อย และเดินทิศทางได้สวยงาม ส่วนใหญ่จะเห็นวางกันยุ่งๆ พันๆ ก็งงเหมือนกันว่าจะไปทำให้ยุ่งทำไม ส่วนเกียร์เป็นระบบ Air Shifter ที่จะต้องเช็ก “ความสะอาดในระบบกันหน่อย” บางที “ลม” ก็อาจจะมี “สิ่งสกปรกเจือปนมา” เช่น ละอองน้ำ ตะกอนต่างๆ จะทำให้ระบบส่งลมในเกียร์เกิดปัญหาได้ครับ ซึ่งตรงนี้ระดับมืออาชีพจะต้องเช็กเป็นประจำอยู่แล้ว
ภายใน
เกจ์วัด : Defi Sport Cluster
พวงมาลัย : GRANT
คอพวงมาลัย : STRANGE
เบาะ : KIRKEY
คันเกียร์ : LIBERTY
ปรับบูสต์ไฟฟ้า : GReddy Profec B Spec II
แผงสวิตช์ : MOROSO
- ขุมพลังที่ยกมาจาก SUPRA แต่เปลี่ยนเทอร์โบใหม่ รวมถึงอุปกรณ์บางอย่างที่เพิ่มเติมให้เป็นแบบ Race Only ตอนนี้ขอแต่ “พัน” ก่อน เมื่อขับได้แน่นอนแล้วค่อยขยับ ไม่อยากเอา “ม้ามาทำร้าย” คนขับ
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ : 2JZ-GTE
วาล์ว + รีเทนเนอร์ + สปริงวาล์ว : FERREA
แคมชาฟท์ : HKS 280 องศา ลิฟต์ 9.3 มม.
เฟืองแคมชาฟท์ : GReddy
สายพานไทมิ่ง : POWER ENTERPRISE
ลูกสูบ : CP 87.0 มม.
ก้านสูบ : CROWER
แบริ่งชาฟท์ : CALICO
นอตก้านสูบ : ARP
พูลเลย์ข้อเหวี่ยง : TITAN MOTORSPORT
ลิ้นปีกผีเสื้อ : บางมด เรซซิ่ง 100 มม.
ท่อร่วมไอดี : บางมด เรซซิ่ง
เทอร์โบ : GARRETT GTX45
เฮดเดอร์ : ปรีชา เฮดเดอร์
อินเตอร์คูลเลอร์ : AOR 77 SHOP
เวสต์เกต : TIAL
หัวฉีด : BOSCH 2,200 ซี.ซี.
รางหัวฉีด : SARD
เร็กกูเลเตอร์ : AEROMOTIVE
หม้อน้ำ : AOR 77 SHOP
คอยล์ : MSD
สายหัวเทียน : MSD
ตัวเพิ่มกำลังไฟ : M&W CDI
ไนตรัส : NOS
กล่อง ECU : HKS F-CON V-PRO by อุป จูนเนอร์
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : JERICO Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : TITAN SPEED Slipper Clutch ขนาด 9 นิ้ว แบบ Triple Plate
เพลาท้าย + เฟืองท้าย : STRANGE
- ชุด 4 Links ก็จะต้องมีการปรับตามสภาพ “ณ ขณะนั้น” อยู่เสมอ ไม่ใช่ปรับครั้งเดียวเลิก บนเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป เช่น แรงม้าที่มากขึ้น, แทร็กที่เหนียวขึ้น, ยางที่เกาะขึ้น มันจะทำให้ “แรงกด” เปลี่ยนไป ซึ่งมุมการทำงานของ 4 Links ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ต้องเซตให้เหมาะสม จริงๆ ทุกช่วงล่างก็เป็นไปตามเงื่อนไขนี้หมดแหละครับ ไม่ว่าจะรถเซอร์กิต รถ Street ฯลฯ ก็ตาม
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า-หลัง : KONI Drag
สปริงหน้า-หลัง : HYPER COIL
ชุด 4 Links : Setting by AOR 77 SHOP
ล้อหน้า-หลัง : WELD ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว และ 14 x 15 นิ้ว
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 32.0/14.5W-15
เบรกหน้า-หลัง : STRANGE