วางรูป 01 เปิดเรื่อง)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า จากในอดีต ยุค 90 พวกเราจะนั่งดูดริฟต์จาก VDO ฝั่งญี่ปุ่น จะเห็นมีแต่รถขับหลังเก่าๆ หน่อย ยางหลังแบบธรรมดา ดอกโล้นๆ เอามาแถปัดไปปัดมาให้บันเทิงใจ ส่วนใหญ่แล้วก็คนมีรถซิ่งทั่วไปนี่แหละเล่นกัน คันเดียวเสียวได้หลายกระบวนท่า ก็เหมือนกับเป็นของสนุกแบบพื้นบ้านของ Motorsport ญี่ปุ่น แต่เมื่อเวลาพัฒนาไป Drift Machine ทั้งหลาย เริ่มที่จะใช้ความเร็วแรงมากขึ้น เครื่องก็ต้องโมดิฟายเพิ่มแรงม้า สำคัญ คือ “ระบบช่วงล่างและยาง” ย่อมต้องมีสมรรถนะสูงมากตามไปด้วย จากเดิมใช้ยางเก่าๆ ก็ต้องมาใช้ยางสปอร์ตดีๆ ของใหม่ ช่วงล่างก็ต้องจัดเต็มระบบ คนขับก็ต้องฝึกซ้อมกันอย่างจริงจัง ยิ่งสมัยนี้ใช้ดริฟต์กันด้วยความเร็วสูงในระดับ 200 km/h ++ สำหรับสนามที่กว้างๆ ทุกสิ่งอย่างจึงต้องเป็น “รูปธรรม” มากขึ้น จึงเกิดรถดริฟต์ดีๆ ขึ้นมากมาย…
- Drift Machine ตัวใหม่ สวย โหด จัดเต็ม
- มุมโหด สวยเบากับบอดี้คาร์บอน ล้อ GAIA (ไก-อา) ZERO H1 สวย ดุดัน น้ำหนักเบา เสริมสมรรถนะให้กับรถ
- ดูเอาครับ WISEFAB “Super Angle”
SPLENDID TIRES & GAIA RACING WHEEL S15
และคันนี้ก็เป็นหนึ่งในรถ “ติดดีกรี” ที่ใส่ของโมดิฟายเต็มแม็ก แค่เฟืองท้ายก็ล่อไป “หลักแสน” !!! จาก WINTERS PERFORMANCE ยังไม่พอ จัดช่วงล่างชั้นดี WISEFAB สำหรับงานแข่งโดยเฉพาะ ซึ่งเราจะพูดถึงรายละเอียดกันเป็นส่วนๆ ไป ก่อนอื่นเรามาดู “เรื่องราวการเดินทาง” สู่ทางสายแชมป์ของคันนี้กันก่อน โดยได้รับเกียรติจาก “คุณสาธิต สุวรรณ์ทอง” CEO หนุ่มมากความสามารถ จากบริษัท SPP Wheels (ทรัพย์เพิ่มพูล วีลส์) ผู้แทนจำหน่าย ล้อ GAIA Racing Wheels และยาง SPLENDID TIRES เป็นผู้เล่าเรื่องราวของ S15 คันนี้ และผม “พี สี่ภาค” เป็นผู้เรียบเรียงครับ…
ในส่วนของเรื่อง Concept ของรถเเข่งคันนี้ ทางทีมงานของ SPP Wheels ได้ใช้เวลาในการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลา 12 เดือน เริ่มตั้งแต่การวางแผนและการเตรียมความพร้อม เราได้คัดเลือกอุปกรณ์เเละอะไหล่แบบ Hi-Performance สำหรับ Motorsport โดยตรง จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพของรถให้ดีที่สุด โดยรถที่เราเลือก คือ SILVIA S15 เนื่องจากเป็นรถที่พัฒนามาสุดทางในตระกูล S-Chassis ทุกอย่างจึงตอบโจทย์ ตัวรถมีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยม ปรับปรุงเพิ่มเติมได้ง่าย โมดิฟายต่อยอดได้แบบไม่มีขีดจำกัด คันนี้ได้รับความร่วมมือจาก Elephant/Lucky88 หรือ น้องช้าง/น้องลักกี้ ที่พวกเราเรียกกันจนเคยชินปาก น้องลักกี้ มีผู้ร่วมสนับสนุนในการสร้างรถเเละทีมงานขึ้นมาจาก บริษัท SPP Wheels ชื่อนี้อยู่ในวงการรถเเข่ง รถซิ่งมาอย่างยาวนาน โดยมีคุณสาธิต สุวรรณ์ทอง CEO หนุ่มไฟแรง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่มาและกำเนิดของน้องลักกี้…
- อาการของรถ ขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนขับที่จะต้อง “จูน” กับทีมงานให้ได้ ว่าถนัดแบบไหน และก็ต้องฟังคำแนะนำจาก Race Engineer ว่าควรจะต้องขับแบบไหนเช่นกัน ต้องจูนเข้าหากันให้ได้
Aussie Joggy
สำหรับนักแข่งก็เป็นชาว “ออสซี่” ชื่อ Michael Prosenik (ไมเคิล โพรเซนิก) หรือที่เราเรียกกันว่า “พี่เเบร์” เป็นนักเเข่งผู้มากด้วยประสบการณ์ในการเเข่งขันจากประเทศออสเตรเลีย อยู่ทีม SCR เหตุที่รู้จักเนื่องจาก คุณเบียร์ ผู้จัดการทีม ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เเละได้ชักชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพราะเล็งเห็นความสามารถที่โดดเด่น ฝีไม้ลายมือระดับ “ขาโหด” แต่ไม่ใช่ว่าโหดแต่พัง มีทักษะที่เเพรวพราวในการเเข่งรถ ใครเห็นก็ต้องประทับใจเเละชอบใจในสไตล์การขับขี่ที่ดุดัน ซึ่งจะมีความโดดเด่นในด้านลีลาอย่างเห็นได้ชัดเจน และนิสัยส่วนตัวของเขา พร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมเเละภาษาไทย เพื่อปรับตัวในเข้ากับสถานที่เเละทีมงาน จึงทำให้นักเเข่งไม่เกิดภาวะกดดัน มีการสื่อสารที่ถูกต้อง จึงส่งผลให้มีสมาธิในการเเข่งขันมากขึ้น และเข้ากับทีมงานได้ดี จึงได้มาเป็นนักเข่งในทีม สังกัด GAIA RACINGWHEELS DRIFT TEAM อย่างเต็มตัว…
- แบรนด์ไทย คุณภาพระดับสากล
- ฝนตกก็ต้องรีบกันหน่อย แต่ก็โชคดีได้ภาพอีกอารมณ์หนึ่ง
Behind The Smoke
สำหรับผู้สนับสนุนหลักคือ บริษัท SPP Wheels แต่เราลืมไม่ได้กับ Supporters Team ที่อยู่เบื้องหลังของรถคันนี้ คนแรก อู่ AUN Automotive ของ “อั้น” ที่ได้ดูเเลเอาใจใส่ทุกรายละเอียดอย่างที่ คุณสาธิต ได้บอกคอนเซปต์ไปตั้งเเต่เริ่ม ทุกอย่างต้องเนียน ต้องสวย ต้องเเรง เเละต้องดี ทาง AUN Automotive ตอบโจทย์อย่างเห็นได้ชัด จากผลงานที่เราผ่านมา 1 ปี ได้เดินสายการเเข่งขัน เเละคว้าถ้วยรางวัลมาครอง และอีกท่าน คือ BRD หรือที่เราคุ้นกันดีก็คือ “บางมด เรซซิ่ง” นั่นเอง ซึ่ง “คุณวิศิษย์ ตันเปาว์” ได้ช่วยดูเเลเเละให้คำปรึกษาในทุกเรื่องของการสร้างรถคันนี้ขึ้นมา และช่วยทำให้เป็น GAIA Unique ที่สมบูรณ์เเบบตามที่เราได้ตั้งคอนเซปต์เอาไว้ตั้งเเต่เเรก…
Technical Zone
สำหรับเรื่องราวเทคนิคที่น่าสนใจของคันนี้ ก็จะมีหลายจุดที่มีประโยชน์ หากเราหยิบยกประเด็นขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบ “ว่าเขาทำรถกันแบบนี้ๆๆๆ เพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง” มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะถ้า “เข้าใจหลัก” เราจะสามารถทำรถอะไรก็ได้ครับ รถคันนี้ก็ใส่ของโมดิฟายสำหรับ Motorsport ลงไปแบบเต็มๆ บอกก่อนว่าไม่ได้ “โชว์รวย” แต่ “ของมันต้องมี” จริงๆ นะ ไม่ได้พูดเล่น เพราะของโมดิฟายสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ จะให้การปรับแต่งที่เหนือชั้นและทำได้มากกว่าของแต่งทั่วไปที่เน้นออกไปทาง Street Used ซึ่งแน่นอนว่า การแข่งขันมันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเป็น “เกม” และต้อง “จูน” กันตลอดทุกอย่าง ดังนั้นของสำหรับการแข่งขันจึงสามารถรองรับตรงนี้ได้ และเราต้องเสียตังค์ไปกับมันเพื่อให้ได้สมรรถนะสูงสุด ณ เวลานั้น…
- ยิ่งรถแข่งต้องยิ่งโล่ง เพราะตอนแข่งคนขับไม่มีเวลาที่จะใส่ใจเกจ์วัดหลากสีมากมาย เอาแบบ “Easy” ไว้ก่อนจะดี
- คนขับรถดริฟต์นี่แทบจะต้องแยกประสาททุกส่วน ทุกมือ ทุก Teen มีหน้าที่ทำพร้อมๆ กันหมดเลย
เฟืองท้ายเทพ เสกอัตราทดในเวลา “มาม่าสุก”
โดยปกติรถทั่วไปก็มักจะนิยมเฟืองท้าย SKYLINE GT-R เพราะแข็งแรง ลูกโต หาได้ง่าย แต่ข้อจำกัดก็อาจจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนอัตราทดที่ต้อง “ยกเปลี่ยนทั้งลูก” รื้อเยอะพอสมควร ก็ไม่ผิด แต่เสียเวลาเยอะหน่อย แต่เฟืองท้ายคันนี้ เป็นของจาก WINTERS PERFORMANCE Quick Change ที่มีจุดเด่น คือ “สามารถเปลี่ยนอัตราทดได้ในเวลาอันรวดเร็วมาก” ไม่ต้องถอดอะไรเลยนอกจาก “ฝาปิดท้าย” และ “เฟืองหนึ่งคู่” เท่านั้น เฟืองท้ายตัวนี้ผมเองได้มีโอกาสเห็นในรถดริฟต์ TOYOTA 86 ขุมพลัง V8 NASCAR ของ Fredric Aasbo ที่เคยมาแข่งในเมืองไทย แต่สำหรับรถของคนไทย คันนี้เห็นใส่และวิ่งเป็นคันแรก (ได้ข่าวว่าตอนถ่ายทำ ลูกที่สองกำลังมา แต่จะเป็นคันไหนคงได้เห็นกันไม่นานนี้แน่ๆ) ลองดูดีกว่า ว่าเสียเงินแสน แล้วเราจะได้อะไรจากมัน…
• โครงสร้างของมันจะดูแปลกๆ หน่อย เหมือนเฟืองท้ายของรถรุ่นเก่า สิ่งที่พิเศษของมันก็คือ “มีเฟืองเปลี่ยนอัตราทดอยู่ด้านหลัง” มีฝาปิด-เปิดมาปุ๊บ ก็สลับเฟืองเพื่อเปลี่ยนอัตราทดได้เลย ไม่ต้องถอดอุปกรณ์อื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากเฟืองท้ายทั่วไปอย่างมาก…
• สำหรับการทำงานของมัน จากหน้าแปลนจะมีเพลาส่งกำลังอยู่ในเสื้อเฟืองท้าย ยิงตรงมาที่เฟืองด้านหลังตัวล่าง แล้วมันก็จะไปขับเคลื่อนเฟืองด้านหลังตัวบน คู่นี้คือ “การเปลี่ยนอัตราทด” โดยเฟือง 1 คู่ จะทำได้ 2 อัตราทด เช่น 4.0 และ 3.7 โดยการ “สลับบนล่าง” และเฟืองตัวบน ก็จะไปขับ “บายศรี” ซึ่งก็ต้องคำนวณอัตราทดอีกเช่นกัน หลังจากนั้นก็ออกไปที่เพลาข้าง หลักการดูเหมือนง่ายๆ แต่โคตรพิสดารที่คิดได้…
• และ ณ ตอนนี้ พัฒนาไปอีกระดับ โดยเพิ่มชุดเฟืองด้านหลังซ้อนอีกชุดหนึ่ง สำหรับ “โยกเปลี่ยนอัตราทดได้ในรถ” ได้เลย ไม่ต้องถอด และ “ไม่ต้องหยุดรถ” (Shift On The Fly) อยากจะเปลี่ยนก็สับได้เลย ล้ำว่ะ !!! ไว้มีใครสั่งมาใช้จะนำมาให้ชมกันนะครับ…
- การ Setting เครื่องตัวนี้ จะออกแนว “มาไว ขับง่าย” โดยจะใช้แคมชาฟต์เพียง 264 องศา และตั้งแคมให้ Over Lap พอดีๆ จะมีแรงม้าตั้งแต่ 3,000 rpm ไปจนถึง 8,500 rpm ซึ่งเป็นช่วงกว้าง สามารถใช้งานได้จริง เพราะการดริฟต์แบบ Battle ตามคันหน้า ซึ่งอาจจะโดน “ดึงเช็ง” แล้ว “กระชากหนี” ทำให้คันตามช้าลงและเสียจังหวะ (เวลาดริฟต์จริงจะเกิดขึ้นเร็วมาก) เวลาตามก็ต้องกดคันเร่งแล้วมาเลย หรือไปเจอสนามที่มีไลน์แคบ ความยาว Track ไม่มาก จะยิ่งต้องทำให้แรงม้าและแรงบิดมาให้เร็ว ตอนนี้มีแรงม้าอยู่แถวๆ 850 PS ก็ไม่ถือว่ามากอะไรนักในรถดริฟต์ เลยกลายเป็นรถที่ขับง่าย แต่ถ้าจะทำให้ถึง 1,000 PS ก็ได้ แต่ยั้งไว้ก่อน เพราะอยากจะค่อยๆ ไปตามสเต็ป ไม่อยากข้ามขั้น ขอให้พร้อมก่อนแล้วค่อยดันไป
- ไม่มีแคร้งค์แล้วเพราะใช้ระบบ Dry Sump อันนี้เป็นแผ่น Plate ปิดไว้และมีทางเดินน้ำมันไปถังพัก งานละเอียดดี ส่วนช่วงล่างเป็น WISEFAB ทั้งหมด ปรับตั้งโดย เฮียหนึ่ง ไฮ้ เซอร์วิส
- ชุดปั๊ม Dry Sump ที่ไม่หวั่นแม้รอบ “ยันหมื่น” ยังไงก็ต้องใช้มันแน่ๆ
- เกียร์ TTI INDUSTRIES สัญชาติ “กีวี” ขนาดน่ารักมากๆ ยาวไม่เกิน 1 ฟุต แม้ว่าจะเป็น 5 สปีด ก็ยาวกว่า 4 สปีด อยู่ประมาณนิ้วเดียว เจ๋งจริงๆ น้ำหนักเบามาก เซอร์วิสง่าย รวดเร็ว ยกคนเดียวก็ขึ้นสบาย
- หน้าตาของเกียร์ TTI INDUSTRIES มีแค่นี้จริงๆ ฮะ
Footwork’s Setting
สำหรับช่วงล่างของ WISEFAB นั้น เราได้นำเสนอรถคันแรกที่ใส่แล้วแข่งได้ ก็คือ D-MAX ของ “ตี๋ พลังชล” ส่วนคันนี้ก็จัดหนักชุดเดียวกัน ผ่านคนจูนช่วงล่าง คือ “เฮียหนึ่ง ไฮ้เซอร์วิส” ก็คนเดียวกัน เราคงรู้ถึงคุณสมบัติมันอยู่แล้ว ถ้ายังไม่รู้ ย้อนไปในเว็บไซต์ของ XO AUTOSPORT ดูได้นะ…
• การจูนช่วงล่าง ก็จะต้องดูว่า “อะไรเหมาะ” กับสไตล์การขับ อย่าง “พี่แบร์ ไมเคิล” จะออกแนว “สายบู๊” ชอบการกระชากเปิด Angle เยอะๆ ด้วยความรุนแรง เดินคันเร่งแรงๆ ใช้รอบสูง แบบ “กูจะเอาเดี๋ยวนี้” ไม่ได้สายเหวี่ยงแล้วเปิด Angle เนียนๆ การเซตช่วงล่างย่อมต่างกันไปในแต่ละสไตล์ คันนี้จะเน้นแคมเบอร์หน้าลบเยอะๆ เพื่อให้จิกโค้งในทันที ส่วนด้านหลังก็จะเป็น “ศูนย์” เพื่อให้ท้ายสไลด์ออกเร็ว อะไรประมาณนี้นะครับ เป็นค่าพื้นฐาน แต่การขับจริงๆ มีการเปลี่ยนได้ตลอดครับ แล้วแต่สภาพสนาม อากาศ คู่แข่งเป็นใคร ขับสไตล์ไหน เราจะไล่หรือหนียังไง ดีเทลมันเยอะครับ…
• ในบางทีการเปิด Angle เยอะมากไป ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เอาละ เมื่อ Angle เยอะ รถจะขวางมาก ลีลา การปั่นควัน ความสวยงามอาจจะได้อยู่ แต่ “Speed อาจจะไม่ได้เร็วมากอย่างที่คิด” โดยเฉพาะพวกสนามสั้นๆ ที่ไม่มีช่วง Take Off เพิ่มสปีดได้มาก พูดง่ายๆ คือ “รถยิ่งขวาง จะยิ่งไปได้ช้า เพราะมันไถข้างไป” แต่ถ้าสนามยาวๆ มีที่ Take Off ได้สปีดเยอะๆ มีไลน์โค้งกว้างๆ ก็สามารถเปิด Angle ได้เยอะขึ้น ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละสนามด้วย…
• กลไกการเลี้ยว ก็จะคิดค้นทำ “ตัวกำหนด Angle” ไว้ด้วย ก็เหมือน “สลักกันเลย” กำหนดรอบการหมุนของพวงมาลัย เป็นตัวที่มีเกลียวสามารถปรับตั้งได้ ว่าจะให้ล็อก Angle พวงมาลัยมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เหมาะแต่ละสนาม ทำให้คนขับไม่ต้องกังวลคอยยั้งมือ เพราะหมุนยังไงมันก็สุดที่ Turn Lock to Lock ไม่สามารถไปมากกว่าที่กำหนดได้…
• ตอนนี้แคมเบอร์ล้อหลังเป็น “บวก” เพราะเปลี่ยนตัวถังเป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าเดิม ทำให้ “ตูดลอย” แคมเบอร์เลยเป็นบวก หลังจากนี้จะต้องปรับตั้งศูนย์ล้อใหม่ทั้งหมดให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่เปลี่ยนไป…
- พวกคอม้าของ WISEFAB จะเป็นลายเส้นทแยง ไม่ได้เอาสวยอย่างเดียว แต่ได้เรื่องน้ำหนักเบา แล้วจะแข็งแรงไหม ??? ไม่ต้องห่วง เพราะลักษณะการทแยงมุมจะเป็นการรับแรงสูงสุด และ “แตกแรง” ออกไปได้ตามแขนงต่างๆ จึงไม่ได้รับแรงมากเหมือนโลหะชิ้นเดียว ข้อมูลจาก “ไฮ้ เซอร์วิส” แพท้าย S14 และ S15 เหมือนกัน แก้จุดยึดอาร์มหลังให้เวลาขึ้นลง “ตรงมากที่สุด” ไม่แบะเยอะเหมือน S13/180SX ส่วนท่อไอเสียเป็น “ทรงแบน” ด้วยการเอาเหล็กแผ่นมาพับขึ้นรูปแล้วเชื่อม เพราะทรงแบนจะไม่ห้อยลงไปมาก เวลารถปีน Apex ก็จะไม่ถูกกระแทกจนบี้แบบท่อทรงกลม
- ส่วนเฟืองท้ายก็ WINTERS PERFORMANCE ลูกละแสนกว่าแค่นั้นเอง เปิดตูด คลายนอตฝา เปลี่ยนเฟือง อัตราทดเปลี่ยนง่ายๆ
- โครงสร้างเป็นงี้ครับ เฟืองคู่นี่แหละเป็นตัวเปลี่ยนอัตราทดแบบ “สลับกันได้ 2 อัตราทด”
Dry Sump คำตอบสุดท้าย
สำหรับระบบหล่อลื่น จะเป็นแบบ “Dry Sump” สไตล์รถแข่ง คือ เป็นปั๊มปั่นแยกออกมาโดยใช้สายพาน ส่วนอ่างน้ำมันเครื่องจะ “ไม่มี” จะเป็น Plate แบนๆ แต่มีรูทางไหลของน้ำมันเครื่อง เพื่อดูดวนเวียนไปยังถังเก็บน้ำมันเครื่องที่ด้านท้ายรถแทน เพื่อให้ตัวรถสามารถโหลดเตี้ยได้มากๆ โดยไม่ต้องกังวลเครื่องอ่างกระแทกพื้น และป้องกัน “ปั๊มน้ำมันเครื่องเดิมแตก” เพราะมันเสียบกับปลายข้อเหวี่ยงด้านหน้า เวลารอบสูงๆ ข้อเหวี่ยงสั่นทำให้ปั๊มแตกได้ แต่อันนี้เราแยกปั๊มออกมาต่างหากเลย เพิ่มขนาดปั๊มได้ตัวเบ้อเร่อ ได้ทั้งแรงดันและ Flow ที่มากกว่าปั๊มเดิมที่ถูกกำหนดด้วยขนาด แต่ก็ต้องเซตให้พอดีๆ เพราะดันมากเกินไปก็จะสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ทางเดินน้ำมัน รวมถึง “ซีล” ต่างๆ ที่อาจจะทนไม่ไหวเกิดการรั่วได้…
- พื้นห้องเก็บของตัดเกลี้ยง สร้างคานขึ้นมาแทนด้วย “เหล็กพับ” หนาเพียง 1.5 มม. โดยประมาณ ไม่ต้องการให้หนักและแข็งเกินไป เนื่องจากเวลา “ตูดทิ่มกำแพง” มันจะต้อง “ยุบได้” คือ “เจตนาให้มึงพังไปเลย” จะได้ไม่ส่งแรงมาถึงโครงสร้างหลักของรถ คานนี้สามารถถอดเข้าออกได้ด้วย “นอตยึด” ง่ายดี ตอนนี้ก็จะทำกันแทบทั้งหมด เพราะเวลาตูดฟาดไปมานั่งตัดนั่งเคาะของเดิมมันเสียเวลา
- เบ้าโช้คของ WISEFAB เช่นกัน วางตะแคงเฉียง 45 องศา เพราะต้องการให้ “ปรับแคมเบอร์และแคสเตอร์ล้อหน้าไปด้วยกันทีเดียว” ที่ต้อง Slot ผ่าร่อง เพราะปีกนกหน้ายื่นออกมามากกว่าเดิม ไอ้นี่ก็เลยต้องตามออกมาด้วยนั่นเอง
- สีเงินๆ นั่นเป็นถังเก็บน้ำมันเครื่องระบบ Dry Sump ซึ่งภายในจะมีแรงดันคอยส่งน้ำมันเครื่องเวลาจังหวะ “ขาดช่วง” ทำให้เต็มระบบตลอดเวลา
Comment : สาธิต สุวรรณ์ทอง @ GAIA RACING WHEELS Drift Team Thailand
สำหรับจุดมุ่งหมายของเราในการสร้างรถแข่งขึ้นมา คือ การที่ได้ลงเเข่งขันกับงานระดับอินเตอร์เนชั่นเเนล เพื่อที่จะได้โชว์ศักยภาพของทีมงานเเละตัวนักเเข่ง รวมไปถึงโปรดักต์ต่างๆ ที่เราได้เลือกสรรมา ทีมงานมุ่งเน้นในเรื่องการเเข่งขันต่างประเทศเป็นหลัก เเละเราก็ได้ถึงจุดประสบความสำเร็จดั่งที่คิด จากการลงเเข่งขันกับงานเเข่งระดับโลก KING OF NATIONS Asia ที่ Malaysia เป็นเเบบทัวร์นาเมนต์ คือ การที่จะต้องตามไปแข่งในทุกประเทศ ทุกสนาม เพื่อเก็บคะเเนนเป็นในระดับ Champion ทีมงานของเราได้ไปร่วมทุกสนาม เเละเราก็ได้รางวัลกลับมา พร้อมทั้งยังได้ตำเเหน่ง Champion of the 2016 Federal Tyres และยังเป็น King of Asia Drift Pro Series อีกด้วย…
ท้ายสุด ผมขอขอบคุณ
• บริษัท SPP Wheels (ทรัพย์เพิ่มพูล วีลส์) GAIA WHEELS, SPLENDID TIRES
• AUN Automotive
• BRD บางมดเรซซิ่ง
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
สำหรับรถคันนี้ ผมก็ชอบในแนวคิดหลายๆ อย่าง ซึ่งมีประโยชน์กับการแข่งขัน ลงทุนสูง เพื่อการแข่งขันจริงๆ เราไม่ได้เอาเรื่องเงินมาพูด แต่ของแพงๆ เหล่านี้ “มันควรจะต้องมี” เพื่อเพิ่มศักยภาพรถให้ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องการเก็บงานก็ดูตั้งใจ มีการศึกษาหาข้อมูลก่อนทำ ซึ่งบางอย่างก็อาจจะดูใหม่ เช่น เฟืองท้าย และเกียร์ รวมถึงช่วงล่าง ซึ่งก็ต้องพยายามทดสอบและศึกษากันต่อไป สำคัญ คือ เป็นรถที่คนไทยสร้างขึ้นมา แม้ว่าจะเป็น “ฝรั่งขับ” แต่ในอนาคตก็ได้ข่าวจาก GAIA RACING WHEELS Drift Team Thailand ว่าอยากทำ “คู่แฝด” อีกคัน เพื่อที่จะให้คนไทยขับ ก็ต้องติดตามผลงานกันดูนะครับ…
Contact
GAIA RACING WHEELS Drift Team Thailand : www.facebook.com/gaiadriftteam/
AUN AUTOMOTIVE : www.facebook.com/aun.automotive, Tel. 08-9443-5559
BRD บางมด เรซซิ่ง : www.facebook.com/Bangmodracing, Tel. 08-1657-4209
X-TRA Ordinary
สำหรับ SILVIA ก็จบกันที่ S15 เป็นรุ่นสุดท้าย นับว่าเป็นรถ Sport ขนาดกลางที่สมบูรณ์แบบใช้ได้เลย ช่วงล่างพัฒนาใหม่ ตัวถังทำให้แข็งแรงขึ้น มีจุดยึดจุดค้ำต่างๆ จากโรงงานมากขึ้น เครื่องยนต์ SR20DET ฝาดำหลังหัก เทอร์โบ Ball Bearing ที่มีแรงม้าถึง 250 PS !!! แถมเกียร์ 6 สปีด ออกมาปุ๊บก็ปิดตำนาน S-Chassis ซึ่งก็มีข่าวมาหลายระลอกแล้วว่าจะผลิตต่อ ถ้าผลิตจริงก็คงจะไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิมสไตล์นี้ที่เราคุ้นเคย ก็เหมือนกับการหยุด SKYLINE GT-R และเปลี่ยนเป็น GT-R R35 ที่ไม่มีเค้าเดิมใดๆ เลย ก็ต้องรอต่อไปว่าจะมีมาจริงไหมในชื่อเดิม…
TECH SPEC
ภายนอก
ชุดพาร์ท : Carbon by KARN FIBER
กระจกมองข้าง : CRAFT SQUARE
สปอยเลอร์หลัง : TOP SECRET
ขายึดสปอยเลอร์ : Custom Made by GAIA RACING WHEELS Drift Team Thailand
ตัวถังรถ : Spot by AUN AUTOMOTIVE
ไฟท้าย : D-MAX
ภายใน
จอ : AIM
พวงมาลัย : VERTEX
เบาะ : RACETECH
ด้ามเกียร์ : TTI
หัวเกียร์ : TILTON
ด้ามเบรกมือ : 999 Malaysia
ชุดแป้นเหยียบ : TILTON
สวิตช์ตัดไฟ : JEGS
โรลบาร์ : BRD
เครื่องยนต์
รุ่น : 2JZ-GTE
แคมชาฟต์ : HKS 264 องศา
เฟืองแคมชาฟต์ : BC
ก้านสูบ : MANLEY H-Beam
นอตเมน : ARP
นอตประกับก้านสูบ : ARP
ระบบน้ำมันเครื่อง : POWER HOUSE Dry Sump
เทอร์โบ : GARRETT GTX 4088 R
เวสต์เกต : TIAL
เฮดเดอร์ : BRD
โบล์วออฟวาล์ว : TURBOSMART
ลิ้นเร่ง : BRD
อินเตอร์คูลเลอร์ : GReddy
ท่อร่วมไอดี : BRD
ท่ออินเตอร์ : BRD
หม้อน้ำ : BRD
ท่อไอเสีย : AUN AUTOMOTIVE Custom Made
เร็กกูเลเตอร์ : MALLORY
หัวฉีด : FIVE-O 1,600 C.C.
รางหัวฉีด : BRD
ออยล์คูลเลอร์ : SETRAB
พูลเลย์เครื่อง : ATi Super Damper
กรองอากาศ : K&N
ถังน้ำมัน : ATL Safety
กล่อง ECU : MoTeC M130 by อุป วายริ่ง
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : TTI INDUSTRIES New Zealand 4 สปีด
คลัตช์ : TILTON
เฟืองท้าย : WINTERS PERFORMANCE Quick Change
เพลาข้าง : SKYLINE GT-R
ช่วงล่าง
ชุดช่วงล่างทั้งหมด : WISEFAB
โช้คอัพ : DG5
สปริง : SWIFT
ปั๊มเพาเวอร์ไฟฟ้า : MERCEDES-BENZ
ล้อหน้า : GAIA ZERO H1 ขนาด 9.5 x 18 นิ้ว
ล้อหลัง : GAIA ZERO H1 ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว
ยางหน้า : SPLENDID ZENO SD09 ขนาด 235/40R18
ยางหลัง : SPLENDID ZENO SD09 ขนาด 265/35R18
เบรก : WILLWOOD หน้า 6 pot หลัง 4 pot