เรื่อง: วีระโชติ ดวงฤทัย
ภาพ: สุภชัย รอดประจง
Garage House สำหรับรถโฟล์คสวาเกน
ความชัดเจนในความชื่นชอบรถคลาสสิก
ด้วยความชื่นชอบรถคลาสสิกที่มีมานาน
บวกกับความทุ่มเทที่มอบให้กับสิ่งที่อยู่อีกด้านหนึ่งของประตูโรงจอดรถแห่งนี้
ที่มิใช่เพียงแค่ตัวรถ แต่รวมถึงหลายๆ สิ่งที่มาประกอบกันขึ้นเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า Garage Life
สำหรับคุณต้นคิด “พุทธิ เทพประทุม” เจ้าของโรงจอดรถหลังนี้ ทางทีมงานเคยพบกันเมื่อ 2 ปีก่อน ในงาน “Siam VW Festival” ซึ่งเป็นงานอีเวนต์ของคนรักรถโฟล์คสวาเกน ขณะนั้น คุณต้นคิด เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงาน เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงความชื่นชอบในรถโฟล์คสวาเกน และตกลงกันว่า ถ้าโรงจอดรถของคุณต้นคิด เสร็จเมื่อไร จะให้ทางทีมงานไปถ่ายทำคอลัมน์
ผ่านมา 2 ปี เราได้มีโอกาสเจอคุณต้นคิด อีกครั้ง และไม่ลืมที่จะขอนัดเข้าไปเยี่ยมชมโรงจอดรถของคุณต้นคิด เพื่อนำมาฝากคุณผู้อ่านกันครับ
คุณต้นคิด เล่าว่า “การทำโรงจอดรถเป็นความฝันของผม ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นไปเจอนิตยสาร Garage Life Japan รู้สึกประทับใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ที่ทำให้ผมอยากมีโรงจอดรถอยู่ที่บ้าน เพื่อที่จะได้มีเวลาชื่มชมและอยู่กับสิ่งที่เรารักได้ในทุกๆ วัน จนเมื่อประมาณสัก 1 ปีก่อน บ้านข้างๆ เขาประกาศขาย เลยตัดสินใจซื้อเอาไว้ เพราะคิดว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะทำโรงจอดรถไว้เก็บรถและของสะสมที่เรารัก โปรเจกต์การสร้างโรงจอดรถของผมจึงเริ่มต้นขึ้น”
“คอนเซปต์ของผม คือ อยากเอารถที่เรารักเข้ามาจอดอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้น ชั้นล่างเลยทุบออกทั้งหมด เหลือไว้แค่โครงสร้างหลัก เพื่อที่จะสามารถเอารถเข้ามาจอดในบ้านได้ 2 คัน และจอดมอเตอร์ไซค์กับโชว์ของสะสมต่างๆ ได้ ส่วนชั้นบนก็ทำเป็นห้องทำงาน ห้องเก็บล้อ และอะไหล่ต่างๆ”
กลับมาที่เรื่องความชื่นชอบรถโฟล์คของคุณต้นคิด กันดีกว่า เขาเล่าว่า “รถโฟล์คคันแรกของผม คือ เจ้า Beetle ปี 1963 ซึ่งเป็นของคุณแม่ จำได้ว่าตอนนั้นอยากได้มาก เลยแอบเอาของคุณแม่ไปใช้ จะเรียกว่า “ขโมยคุณแม่มาก็ได้” พอท่านทราบ ท่านก็บอกว่า ถ้าจะใช้ก็ต้องหาเงินมาซ่อมเองนะ เลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผมต้องทำการศึกษาและดูแลรถโฟล์คอย่างจริงๆ จังๆ และนั่นกลายเป็นความผูกพันกับรถโฟล์คไปในที่สุด”
“แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนผมอายุประมาณ 5-6 ขวบ เวลามีงานของสมาคมรถโบราณฯ คุณพ่อก็พาไปตลอด ซึ่งสมัยนั้นงานจะจัดขึ้นที่สวนลุมพินี หรือตอนเด็กๆ ตอนที่คุณน้าขับโฟล์ค ปี 1969 ไปส่งที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิก แล้วเปิดเพลง Donna Donna ของ Joan Baez พอเบรก ผมลงไปกลิ้งอยู่ข้างล่าง ทุกวันนี้ยังจำได้ ก็เลยรู้สีกผูกพันตั้งแต่ตอนนั้น”
จากทำรถคลาสสิกสายประกวด
สู่รถคลาสสิกแบบ daily used
และด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับรถคลาสสิกมาตลอด ทำให้ช่วงหนึ่งคอนเซปต์ของการทำรถจะเน้นไปที่การทำรถประกวด รถทุกคันทุกอย่างต้องเหมือนเดิม ถึงขนาดไม่ยอมติดเครื่องปรับอากาศเลย ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจมาก เวลาทำรถเสร็จ เพราะนอกจากรถจะต้องออกมาดูดีแล้ว อะไหล่ทุกชิ้นยังต้องตรงตามรุ่นด้วย แล้วหาอะไหล่ที่คนอื่นหาไม่ได้ แล้วเราหาได้ นี่คือความภูมิใจ อะไหล่บางชิ้นก็หากันข้ามทวีปเลยทีเดียว
ต่อมามีอยู่ครั้งหนึ่งผมกับภรรยาวางแผนจะขับรถไปเที่ยวที่เขื่อนชลประทาน แต่ต้องเจอปัญหา แค่วันเดียวผมต้องเปลี่ยนรถถึง 3 คัน ก็เลยต้องเปลี่ยนคอนเซปต์การทำรถใหม่ มาเป็นการทำรถคลาสสิกที่สามารถใช้งานในแบบ daily used ได้ด้วย จะได้เอาไว้ไป meeting กับเพื่อนๆ ได้
รถแต่ละคันที่จอดอยู่ที่นี่ คุณต้นคิด บูรณะและดูแลเป็นอย่างดี แต่ละคันก็มีเรื่องเล่าสนุกๆ ซึ่งคุณต้นคิด บอกว่า “ทุกอย่าง ผมว่าเป็นเรื่องของพรหมลิขิต บางครั้งไม่ใช่เราที่เลือกรถนะ แต่รถเขาก็ต้องเลือกเราเหมือนกัน อย่าง Volkswagen Transporter T4 Doublecab จอดขายอยู่ 2 เดือน ไม่มีคนซื้อ ถึงมีมาซื้อก็มีงอแง จนผมไปเจอ พี่คนขายเขาก็ยกเลิกนัดทุกคนที่จะเข้ามาดู บอกว่า ขายให้ผมน่าจะดีกว่า คือ ของบางอย่างมันต้องตั้งใจแล้วซื้อใจกัน ตอนนั้นเล่มทะเบียนก็ยังไม่มี เพราะรถถูกแจ้งยกเลิกการใช้งานที่จังหวัดขอนแก่น การที่จะได้ทะเบียนเดิม จำเป็นจะต้องทำรถให้เสร็จก่อน พอทำเครื่องเสร็จ ผมต้องให้พี่คนขายขับรถไปที่ขนส่งขอนแก่น เพื่อไปตรวจสภาพ ลุ้นหนักอยู่เหมือนกัน ว่าจะได้เลขทะเบียนเดิมหรือเปล่า และในที่สุดก็ได้มา
PLANNING DATA & MATERIALS
ตอกเสาเข็ม เทคาน สร้างตอม่อโครงเหล็ก
รองรับลิฟต์ยกรถระบบไฮดรอลิก 2 ตัว
สำหรับ Garage House หลังนี้ มองจากภายนอกดูไม่แตกต่างจากบ้านพักอาศัยทั่วๆ ไป แต่เมื่อเปิดประตูเลื่อนไฟฟ้า จะพบกับส่วนของ carport ที่มีลิฟต์ยกรถระบบไฮดรอลิก 2 เสา 2 ตัว ติดตั้งอยู่หลังประตูกระจกแบบบานเพี้ยม ซึ่งคุณต้นคิด เล่าว่า “โครงสร้างภายนอกผมได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ที่จะติดตั้งลิฟต์ โดยให้เพื่อนที่เป็นวิศวกรมาออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้ ด้วยการตอกเสาเข็ม เทคาน คำนวณน้ำหนักและความหนาของพื้นคอนกรีต รวมถึงตอม่อเพื่อที่จะรองรับเสาเหล็กเอชบีมขนาด 12×12 นิ้ว พร้อมเพดานที่สูงถึง 9 เมตร ส่วนผนังด้านหน้าได้แนวคิดมาจากหน้าต่างเรือที่เป็นทรงกลมมาช่วยเพิ่มลูกเล่นของโรงจอดรถ ประตูทางเข้าโรงรถด้านหน้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รถที่ใช้งานประจำจะใช้เป็นประตูเลื่อนไฟฟ้า โครงสร้างเหล็กเอชบีมประกบด้วยวัสดุไม้ผสมที่สั่งนำเข้ามาเป็นพิเศษ
ส่วนประตูของ Garage House ด้านในที่จอดรถคลาสสิก เลือกใช้ประตูบานเฟื้ยมอะลูมินัม ติดกระจกสองชั้นตรงกลางเป็นตาข่ายฝังในกระจก เพื่อความสวยงามและแข็งแรง ซึ่งประตูบานเฟื้ยมสามารถเปิดได้กว้าง ทำให้สะดวก เวลาที่จะเอารถเข้าจอดได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านข้างมีประตูบานเลื่อนที่ใช้เชื่อมระหว่างตัวบ้านพักอาศัยกับโรงจอดรถ ทางเชื่อมตรงกลางเดิมตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นเวลาเพื่อนๆ แวะมาเยี่ยมเยือน แต่ด้วยจำนวนรถที่ค่อนข้างเยอะ จึงใช้เป็นที่จอดรถชั่วคราวไปก่อน
ส่วนบริเวณพื้นด้านหน้าเลือกใช้คอนกรีตแสตมป์ เพื่อลดความแข็งของโครงสร้างเหล็ก และลายที่เลือก ลายที่ใกล้เคียงกับพื้นถนนโบราณในยุโรป ซึ่งดูเข้ากันได้ดีกับรถคลาสสิก อีกทั้งยังดูแลรักษาทำความสะอาดง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ การตกแต่ง Garage House ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นโรงจอดรถคลาสสิกอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งคุณต้นคิด บอกว่า “ทุกๆ อย่างมันจะสวยงามได้ ก็ต้องมีหลายๆ อย่างมาประกอบกัน อย่างเช่น ชุดเครื่องมือ HAZET ซึ่งเป็นเครื่องมือช่างแบรนด์เยอรมัน ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 140 ปี ภาพเขียน ภาพถ่าย หรือแม้กระทั่งป้ายอีนาเมลต่างๆ
ที่ได้มาจากการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ผมคิดว่าของสะสมที่เอามาตกแต่งโรงจอดรถมันเป็นเสน่ห์ ในการที่เราจะเลือกหาของตกแต่งแปลกๆ มาใช้ เพราะหลายอย่างต้องใช้เวลาใช้จังหวะที่เข้ามาให้เราได้มีโอกาสครอบครองเป็นเจ้าของ และโรงจอดรถแต่ละหลังก็จะบ่งบอกความเป็นตัวตนของเจ้าของได้เป็นอย่างดี”
PLANNING DATA
สถานที่ กรุงเทพฯ
เจ้าของ คุณต้นคิด–พุทธิ เทพประทุม
สร้างเสร็จ ปี 2016
โครงสร้าง คอนกรีต
พื้นที่โรงจอดรถ ประมาณ 240 ตร.ม.
รถยนต์คันโปรด Volkswagen Beetle ปี 1963
Volkswagen Transporter T4 Doublecab
Volkswagen Transporter T3
Volkswagen Karmann Ghia Type 14
Volkswagen Karmann Ghia Type 34
Volkswagen Thing Type 181
Volkswagen Country Buggy Type 197
และอื่นๆ
OWNER’S CHECK
■ ส่วนที่ชอบที่สุด ทุกๆ อย่างมันจะสวยงามได้ ก็ต้องมีหลายๆ อย่างมาประกอบกัน อย่างเช่น ชุดเครื่องมือ ฮาเส็ท ภาพเขียน ภาพถ่าย หรือแม้กระทั่งป้ายอีนาเมลต่างๆ ผมคิดว่าของสะสมที่เอามาตกแต่งโรงจอดรถ มันเป็นเสน่ห์
■ ส่วนที่อยากปรับปรุง? ที่อยากเพิ่มเติมก็คือ ในส่วนของด้านหน้าโรงรถ ที่ตั้งใจว่าจะมีโครงการจะทำโรงรถแบบปิด
เพื่อให้รถที่เราสะสมได้ดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น
■ ความฝันต่อไปคืออะไร? ถ้ามีจังหวะ โอกาส ก็อยากจะซื้อพื้นที่ด้านข้างเพิ่ม เพื่อขยายโรงรถให้ใหญ่ขึ้น
■ คำแนะนำถึงผู้อ่าน! สำหรับคนที่สนใจอยากทำโรงรถ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ ควรวางแผนและออกแบบโครงสร้างหลักให้รองรับ เพราะเมื่อเรามีโครงสร้างหลักที่แข็งแรงแล้ว ทุกอย่างที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นไอเดียต่างๆ หรือการตกแต่ง ก็จะง่ายขึ้นครับ