R35 ซูเปอร์คาร์จากญี่ปุ่น ถูกพัฒนาสมรรถภาพจนขึ้นมาอยู่แนวหน้าของโลก คงไม่เกินความจริงไปแน่แท้ และด้วยพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมและไฮเทค แน่นอนว่า มันย่อมถูกนำไป “ปรุงแต่ง” ให้ดุเดือดกว่าเดิม และมันก็จะมีโผล่มาเรื่อยๆ ในแนวที่หลากหลาย ครั้งนี้เป็นการนำเสนอ “คู่ดูโอ” จากทีม N SPORTS + YOKOHAMA + PROJECT Mu Team Thailand ที่เปลี่ยนจาก EVOLUTION มาเป็น R35 สำหรับการแข่งขันรายการของประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้ว “รุ่นใหญ่” ก็จะใช้ซูเปอร์คาร์ใน GT Class ต่างๆ จากฝั่ง “ยุโรป” กันทั้งนั้น ซึ่ง R35 ก็ยังไม่มีใครใช้แข่งกัน สองคันนี้เป็นคัน “เบิกฤกษ์” หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ สองคันนี้จะถูกส่งไปแข่งรายการ TSS (Thailand Super Series) ในรุ่น “Thailand Super Car Class 2-GTM” ณ สนามเซปังฯ ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกของสองคันนี้ด้วย ซึ่งจะต้องมีการ Setting อะไรหลายอย่าง และเป็นช่วงที่ “เก็บเกี่ยวประสบการณ์” โดยมี 2 นักขับ 2 สัญชาติ คือ “Naoya Yamano” จากแดนปลาดิบ ขับรถเบอร์ 99 และ “ตรัยธนิษฐ์ ฉิมตะวัน” ที่ขึ้นมาขับรุ่น Super Car ขับรถเบอร์ 87 แน่นอนว่า เราก็จะมี “เกร็ดน่ารู้ในการเซ็ตรถสองคันนี้อย่างไร” ให้ชมตามสไตล์ผม…
เลือกยานใหม่ เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
จากเดิมที่ N SPORTS ได้อาศัย EVOLUTION ในการแข่งขันมานาน ซึ่งในปัจจุบันรถถูกพัฒนาความแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมากก็เป็นรถรุ่นใหม่ ที่พื้นฐานยอดเยี่ยมมาจากโรงงาน การนำ EVOLUTION ไปสู้ ก็ย่อม “เหนื่อย” ประการแรก “เครื่องเล็ก” จากความจุเดิมเพียงแค่ 2.0 ลิตร เมื่อนำมา “เบ่งขยาย” ก็ย่อมทำให้เครื่องยนต์ “เกิดภาระแรงเค้นสูง” สิ่งที่ตามมา คือ “ความทนทานน้อย” บางทีพังเกือบทุกสนาม เพราะต้องเค้นบูสต์เยอะๆไปไล่เครื่องใหญ่ที่ไม่ต้องเค้นแรงมาก และทำให้ “ต้นทุนการแข่งขันสูง” ถ้าถึงขนาดรวมบิลแล้วคงสลบ สิ่งที่เสียต่อมา คือ “เวลาในการซ่อม” ก็เหนื่อยหลายรอบ ดังนั้น จึงได้เปลี่ยนมาคบกับ R35 ที่เป็นรถเครื่องใหญ่และแรงม้ามากจากโรงงาน รวมถึงมีความไฮเทคของระบบขับเคลื่อนที่ได้เปรียบ อีกเหตุผลหนึ่ง คือ “มีความถนัดกับรถญี่ปุ่น จึงไม่อยากจะเปลี่ยนไปใช้รถยุโรป” ตอนแรกจะไปใช้ 370Z แต่ดูแล้ว R35 “ทรงดีกว่าในทุกด้าน” ทั้งเครื่องยนต์และมิติตัวรถ ก็เลยต้องจัดมา จึงเป็นการลงทุนที่สูงในครั้งแรก แต่ “ระยะยาว” จะประหยัดเวลามากกว่า แต่ในช่วง “เรียนรู้” ก็อาจจะต้องทุ่มเทหนักหน่อย อย่างคันที่ “ตรัย” ขับ ก็เป็นรถคันเดิมของ “Orido” ที่แข่งใน Macau Grand Prix เรานำมาเปิดดูเพื่อเป็นความรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ก่อนจะคลอดมาเพิ่มอีกคันหนึ่ง สองคันนี้จะมี “ความต่าง” กันอยู่ เดี๋ยวผมจะเล่าตอนหลังว่ามีแตกต่างกันอย่างไรบ้าง…
รู้อะไรบ้างกับ R35 ???
การโมดิฟายรถที่ใช้ “แข่งเซอร์กิตโดยเฉพาะ” จึงไม่ใช่แค่การซื้อชุด Kit ใส่เข้าไปแน่นอน ซึ่งข้อดีของ R35 ก็คือ “เครื่องยนต์” ไม่น่าเป็นห่วง มีความทนทานสูง มีแรงม้าและแรงบิดดี สามารถโมดิฟายแรงม้าได้ระดับ 680 PS ได้อย่างสบาย โดย “ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเยอะนัก” ตรงนี้ไม่ห่วง ข้อดีต่อมา คือ “ตัวถังแข็งแรง” ดูจะเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ตระกูล SKYLINE ตั้งแต่อดีต ที่ทำตัวถังแข็งแรงกว่ารถญี่ปุ่นเกรดทั่วไปอยู่มาก เพื่อรองรับการแข่งขัน และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ พอมาถึง R35 ก็เพิ่มความแข็งแรงขึ้นมาจนน่าพอใจ ซึ่งทาง N SPORTS ก็ไม่ได้ Spot ตัวถังเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ใส่ Roll Cage ตามข้อบังคับการแข่งขันเท่านั้น (ผมดูพื้นด้านในของ R35 ก็พบว่ามี Cross Member ทั้งแนวตั้งและขวาง ดูเหมือนไม้กางเขนขนาดใหญ่ อันนี้เป็นของเดิมนะครับ แสดงว่าเป็นรถญี่ปุ่นที่ใส่ใจเรื่องความแข็งแรงจริงๆ)
มีข้อดีย่อมมีข้อเสีย ด้วยความแข็งแรงและใหญ่โต สิ่งที่ตามมาแน่นอน คือ “น้ำหนักมาก” จับชั่งรวมคนขับ รวมเชื้อเพลิง อยู่ที่ “1.8 ตัน” เรียกว่าหนักไล่เลี่ยกับ limousine ดีๆ นี่เอง ซึ่งตามกติกาแล้ว R35 GT-R จะต้องแบกน้ำหนักไว้ไม่ต่ำกว่า “1,535 กก.” มาจาก “1,475 กก.” เป็นน้ำหนักที่อยู่ใน Rate เครื่องยนต์เกิน 6,500 C.C. แบบไม่มีระบบอัดอากาศ แต่เครื่องมีระบบอัดอากาศ จะต้องคูณ Handicap 1.8 กับเครื่อง VR38DETT ความจุ 3,800 C.C. คูณออกมาเท่ากับ “6,840 C.C.” ก็ต้องแบกน้ำหนัก 1,475 กก. (รวมคนขับ) ตามกติกา แถมโดนบวกน้ำหนักไปอีก “60 กก.” สำหรับรถขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่คันนี้ไม่ต้องถ่วงเพิ่ม เพราะ “ยังไงก็เกินไปเยอะ” ทำให้เสียเปรียบ ก็ต้องหาทางลดลงมาให้ใกล้กับน้ำหนักต่ำสุดตามกติกา คือ 1,530 กก. ให้ได้…
สิ่งต่อมา คือ “ระบบขับเคลื่อน” ที่มีน้ำหนักมาก เฉพาะเกียร์ GR6 พร้อมระบบต่างๆ ก็หนักเกิน 150 กก. เข้าไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกไปกับการยึดเกาะ ซึ่งรถที่มีน้ำหนักมากขนาดนี้ ทำให้ “ทุกอย่างเกิดภาระ” อย่างที่บอกว่า “ของน้ำหนักมาก ทำให้เคลื่อนที่ก็ยาก ทำให้หยุดก็ยาก” แน่นอนว่า ระบบต่างๆ ของตัวรถ ก็ย่อมจะรับภาระหนักมาก เกิดความ “เสียหาย” ได้เร็ว ตอนนี้ยังแก้ไม่ได้ ก็วิ่งไปท่านี้ก่อน อาศัย “คุณประคอง” ให้จบการแข่งขัน สำหรับทางแก้ในอนาคต “อาจจะสั่งเกียร์แข่งของ R35 ที่ทำขับสองล้อ” มาใช้แทน (อเมริกามีทำแล้ว) จะได้ลดน้ำหนักส่วนเกินไป ยอมเสีย Traction ล้อหน้าไป ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ เมื่อรถเบาลง ภาระในการขับเคลื่อนน้อย “ทุกอย่างทำงานสบาย” การเสียหายน้อยลง การเข้าโค้ง เร่ง เบรก ก็จะดีขึ้น ก็เป็นผลที่ได้กลับมาอีกทางหนึ่ง…
การออกตัวที่แตกต่าง ก็ย่อมทำเกียร์ต่างกัน
สำหรับเกียร์ GR6 ของคันนี้ ก็ใช้ชุดโมดิฟายของ DODSON PRO MAX ซึ่งเพิ่มจำนวนแผ่นคลัตช์ จากเดิม 6 แผ่น เป็น “10 แผ่น” ซึ่งจะให้การจับที่ดีกว่า และทนทานกว่า เพราะหน้าสัมผัสมันเยอะ จากจำนวนแผ่นคลัตช์ที่เพิ่มขึ้นมา แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ “น้ำหนักเกียร์จะเพิ่มขึ้นอีก” ก็ต้องแลกกับการที่ไม่ต้องยกเกียร์มาเซอร์วิสบ่อยๆ ส่วนอีกเรื่องที่มีข้อแตกต่าง คือ “การเลือกใช้ราวเฟืองเกียร์” ก็ขึ้นอยู่กับการออกตัวด้วย ของรถเซอร์กิตจะออกตัว หรือ Start สองแบบ แบบแรก “ออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง” หรือ Launch บางที่ก็เรียก Zero Start ซึ่งก็ต้องออกตัวเหมือนกับ Drag Racing นั่นเอง ดังนั้น เกียร์จะต้องรับแรงกระชากแบบกะทันหัน หรือ Shock ราวเกียร์เดิมคงไม่รอด แถมรถหนักอีก ถ้าจะให้ทนได้ต้องเปลี่ยนราวเฟืองเกียร์โมดิฟายของ DODSON ที่แข็งแรงกว่าเดิมมาก ป้องกัน “ขาดกระจุย” นั่นเอง แต่เกียร์ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนอีกแบบ คือ “ออกตัวแบบไหล” หรือ Rolling Start ซึ่งกติการุ่นที่จะแข่งใช้ออกตัวแบบนี้ ก็เป็นความโชคดีที่ “ไม่ต้องเปลี่ยนราวเกียร์” เพราะแรง Shock ไม่มีเหมือนออกแบบ Launch แต่สิ่งที่กังวลมากกว่านั้น ก็จะเป็น “อุณหภูมิของน้ำมันเกียร์” เป็นที่รู้กันว่า ถ้าเกินกว่า 120 องศาเซลเซียส จะมีปัญหาเรื่อง Error เพราะกล่อง ECU ของเกียร์แช่อยู่ในน้ำมัน จะเกิดการ Over Heat ทำให้เกียร์ Error อันนี้ต้องเพิ่ม Transmission Oil Cooler เข้าไป ซึ่งคันนี้ก็เพิ่มเข้าไปถึง 2 ตัว พร้อมพัดลมไฟฟ้าแบบดูดอีก 4 ตัว แต่ตอนวันทดสอบที่เราไปถ่ายทำ “ยังไม่ได้ใส่ท่อดักลม” (Air Duct Hose) ก็เลยยังระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร ต้องลองดูว่าหลังจากใส่ท่อดักลมแล้ว อุณหภูมิจะลดลงเท่าไร ตอนนี้ก็ขอทำไปทีละ Step ให้รู้ว่าทำอะไรแล้วมันดีก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ ส่วนที่เพิ่มเติมอีกอย่าง คือ “ถังน้ำมัน” ต้องเผื่อไว้วิ่งยาวๆ เลยคงถังเดิมความจุ 72 ลิตร เอาไว้ แล้วเพิ่มถัง ATL ไปอีก 70 ลิตร เท่ากับว่าจุน้ำมันได้ถึง “142 ลิตร” เลยทีเดียว…
Comment by ตรัย
ในวันที่ถ่ายทำ ณ สนามพีระฯ เราได้คุยกับ “ตรัย” เพียงคนเดียว เนื่องจาก “ยามาโน่” ติดแข่งที่ญี่ปุ่น ไม่ได้มาร่วมทดสอบครั้งนี้ ดังนั้น ตรัย จะต้องเป็นผู้ที่ขับรถทั้งสองคันนี้ เพื่อทดสอบว่าอยากจะเซ็ตไปแบบไหน ซึ่งสองคันนี้ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่พอสมควรในด้านการ Setting ตรัย ได้บอกกับเราว่า “ได้ขับ R35 เป็นครั้งแรก ถ้าเปรียบเทียบกับ EVOLUTION แล้ว R35 เป็นรถที่ขับง่ายมากๆ เกียร์ก็เป็นไฟฟ้า ไม่ต้องเปลืองกำลัง แถมเครื่องแรงด้วย แต่กลับ Smooth จนไม่นึกว่าขับรถแข่งอยู่ เหลือบไปดูความเร็วก็รู้สึกได้ว่าเร็วจริงแบบไม่รู้ตัว ระบบช่วงล่างดีน่าพอใจ แต่เสียดายที่น้ำหนักรถมาก ทำให้ระบบเบรกและระบบส่งกำลังรับภาระหนัก เครื่องยนต์ผมไม่กังวลครับ แต่กังวลเรื่องเกียร์ ที่ต้องคอยดูอุณหภูมิอยู่ตลอด ถ้าเกิน 120 องศา ก็ต้องเบาลงเพราะกลัวเกียร์พัง และประสบปัญหาเรื่อง เพลาขาด ทั้งสองคัน ก็ต้องหาเพลาที่แข็งแรงมากขึ้น ส่วนการ Setting ผมชอบคันของ ยามาโน่ ครับ ปรับบูสต์ไว้เยอะกว่า ดุดันดี รวดเร็ว ช่วงล่างเซ็ตแข็งกว่าของผม เพราะสไตล์ของ ยามาโน่ จะชอบรถไหลๆ หน่อย ส่วนที่จะปรับปรุงก็มีเรื่องเบรก แต่ยังไงก็ต้องไปลองขับที่สนามเซปังฯ แล้วค่อยไปปรับเอาที่หน้างานอีกทีครับ เพราะสนามมีความยาวมาก ก็น่าจะมีข้อแตกต่างจากสนามบ้านเราเยอะ”
Tech Spec
ภายนอก
ชุดพาร์ท : TOP RACING
ภายใน
จอ Display : MoTeC C125
เบาะ : BRIDE FIA (RECARO SPA Hans FIA)
เข็มขัดนิรภัย : TAKATA (Sparco)
พวงมาลัย : NARDI ORIDO STYLE (PERSONAL GRINTA)
โรลบาร์ : SAFETY 21
เครื่องยนต์
รุ่น : VR38DETT
เทอร์โบ : HKS GT800 Kit
เวสต์เกต : HKS GT800 Kit
เฮดเดอร์ : HKS GT800 Kit
อินเตอร์คูลเลอร์ : HKS GT800 Kit
หัวฉีด : INJECTOR DYNAMIC 1,000 C.C.
เร็กกูเลเตอร์ : NISMO
กรองอากาศ : K&N
หม้อน้ำ : KOYO
กล่อง ECU : MoTeC M150 (Engine & Transmission)
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : GR6 Mod. by DODSON PRO MAX
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : ARAGOSTA 3 ways with Sub tank
เหล็กกันโคลงหน้า : TANABE
เหล็กกันโคลงหลัง : White Line
ชุดปรับมุมล้อ : DODSON
ล้อ : RAYS Gram Lights 57D ขนาด 10.5 x 18 นิ้ว
ยาง : YOKOHAMA A005 Racing Slick ขนาด 280/680/18
เบรก : AP Monoblock 6 Pot
ผ้าเบรก : PROJECT Mu H21/H21B
* หมายเหตุ : ในวงเล็บเป็นข้อมูลของรถเบอร์ 99
X-TRA Ordinary
มาพูดถึง “เจ้าของทีม N-SPORTS” กันบ้าง “เฮียอรรถ” ก็เป็นหนึ่งในนักซิ่งมีชื่อเสียงมาเหมือนกัน ส่วนที่ดังสุดๆ และคนรู้จักเยอะ ก็มีรถในตำนานอย่าง EVOLUTION III ที่โมดิฟายกับ “ป๋าน้อย Eleven” เป็นรถควอเตอร์ไมล์ เครื่องยนต์ 4G63 จัดเต็มกว่า 800 แรงม้า นับว่าเป็นรถที่แรงมากในยุค 10 กว่าปีก่อน ที่แรงม้าขนาดนี้ก็อลังการโคตรๆ แล้ว…
ขอขอบคุณ : N-SPORTS SHOP โทร. 0-2618-5022, 08-1592-5252, www.nsports-shop.com