เรื่อง : ธีระ ฉันธนะ
ภาพ : ธุวชิต ศรีสุพรรณดิฐ (TurtleSnack)
ศุภกิตติ์ ขันทรัตน์
ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์
หลังจากปิดฤดูกาลไปตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ก็ถือเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของชาวมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยที่จะได้พักผ่อนกัน หลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งปี ทีมไหนไม่ได้สร้างรถใหม่ก็พักได้ยาวหน่อย ก็แค่ตรวจเช็ก เปลี่ยนอะไหล่จำเป็น เพื่อเตรียมตัวสู้ศึกความเร็วในปีนี้ แต่ถ้าทีมไหนมีรถใหม่ที่ต้องสร้าง ก็คงต้องเหนื่อยกันหน่อย
และในฤดูกาล 2016 นี้ รายการแข่งขัน Thailand Super Series (TSS) ก็มีรุ่นการแข่งขันใหม่ นั่นคือ Super Compact โดยรวมๆ ของรุ่นนี้คือ เป็นรถเครื่องยนต์ 1500-1600 ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน สามารถโมดิฟายเครื่องยนต์ได้เต็มที่ ซึ่งรถที่น่าจะเห็นในรุ่นนี้ก็น่าจะเป็น Jazz, City, Vios, MAZDA2 อะไรประมาณนี้ ซึ่งจะเปรียบได้กับรุ่น Production Open
ซึ่งถ้าเป็นรถในรุ่นเดิมๆ ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง แต่ด้วยความซนของนักแข่งคนนี้ โย ภาสฤทธิ์ พรหมสมบัติ นักแข่งที่เพื่อนฝูงในวงการเรียกว่า “โย เยอะแยะ” และด้วยความเยอะของเขา จึงเป็นที่มาของ HONDA CR-Z คันนี้ ซึ่งเป็นคันแรกและคันเดียวในไทย ที่จะเข้ามาสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับวงการบ้านเรา
- ภายในตกแต่ด้วยวัสดุคาร์บอน
เดิมที โย ก็มีรถ HONDA Jazz ที่สามารถนำมาทำเพิ่มเพื่อลงในรุ่นนี้ได้ แต่ก็ไม่เอามาลงแข่ง กลับเปลี่ยนเป็น HONDA CR-Z คันนี้ ซึ่งถาม โย ว่าทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นคันนี้ ก็ได้คำตอบแบบกวนๆ ว่า “ก็จะได้แปลกไงพี่” เออใช่!! แปลกจริงๆ ซึ่งนอกจากความแปลก ความสวยงามของทรงรถแล้ว ยังมีเรื่องที่ โย คาดเดาเอาไว้ว่าน่าจะเป็นรถแข่งที่ดีกว่า HONDA Jazz
- จอแสดงผล พร้อม Datalog จาก MoTeC C127
คือเรื่องแอโรไดนามิกส์ และระยะห่างระหว่างล้อ โดย CR-Z ระยะห่างระหว่างล้อซ้าย-ขวา กว้างกว่า และระยะห่างระหว่างล้อหน้า-หลัง สั้นกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับรถแข่งแบบเซอร์กิต ถึงแม้ว่าระบบช่วงล่างจะเหมือนกัน คือด้านหน้าเป็นแม็คเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นทอร์ชั่นบีม แต่ด้วยระยะห่างของล้อซ้าย-ขวา ที่กว้างกว่า จะทำให้เลี้ยวโค้งได้ดีขึ้น ระยะห่างของล้อหน้า-ล้อหลัง สั้น จะทำให้รถเลี้ยวคม คล่องตัว
เมื่อตกลงปลงใจกับเจ้า CR-Z แล้ว ก็จัดการส่งรถเข้าทำบอดี้ จากรถบ้านให้เป็นรถแข่ง โดยช่างทำบอดี้และโรลเคจชื่อดัง Mard Body ที่มีผลงานในวงการมาแล้วหลายคัน ซึ่งคันนี้ก็จัดเต็มรูปแบบ โรลเคจที่ใช้ท่อเหล็กสานต่อกัน ค้ำยันไปยังจุดต่างๆ ของตัวรถ และเชื่อมติดกับตัวถัง เพื่อความแข็งแรงของตัวถัง นอกจากจะได้เรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยไม่ให้ดัวถังบิดตัว เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็ว เพราะเมื่อตัวถังบิด จะทำให้การทำงานของระบบช่วงล่างผิดเพี้ยนไป
- Keypads กับปุ่มควบคุมต่างๆ ที่กำหนดได้ตามใจ
สำหรับเครื่องยนต์ คงเป็นที่สงสัยกันว่า CR-Z มันเป็นระบบไฮบริด แล้วจะเอามาทำเป็นรถแข่งได้เหรอ ตอบเลยครับว่าไม่ได้ เพราะกติกาบ้านเรายังไม่มีรองรับรถไฮบริด ไม่เหมือนกับรถแข่งในรายการ Super GT ที่มีกติการองรับระบบไฮบริดในรถแข่งแล้ว แต่ทุกส่วนก็ต้องพร้อม ทีมแข่งต้องรู้เทคโนโลยีไฮบริดว่าจะใช้อย่างไร ผู้จัดต้องออกกติกาให้รถที่มีและไม่มีไฮบริด มีแรงพอๆ กัน กรรมการต้องอบรมการกู้ภัยรถแข่งไฮบริด เพราะรถจะมีกระแสไฟหลายร้อยโวลต์ ซึ่งอาจทำอันตรายต่อกรรมการกู้ภัยได้
เมื่อเครื่องยนต์ติดรถมาใช้ไม่ได้ ก็หาเครื่องใหม่ใส่ลงไป ซึ่งก็ไม่พ้นเครื่องยนต์ L15 ซึ่งเป็นบล็อกเครื่องยนต์เหมือนกัน งานนี้ก็ยกมาทั้งเครื่อง ทั้งเกียร์ เครื่องยนต์สำหรับทีมนี้ก็หนีไม่พ้นอู่ JUN ซึ่งทำหน้าที่โมดิฟายเครื่องยนต์ให้กับทีม RMI อยู่แล้ว ซึ่งในสนามแรกนี้จะใช้เครื่อง L15 แคมเดี่ยว มาโมดิฟายเพื่อลงแข่งขันสนามแรก แต่ยังมีโปรเจ็กต์ที่ 2 นั่นคือเครื่อง L15 ทวินแคม
สาเหตุที่ต้องรอเครื่องทวินแคม เป็นสเต็ป 2 ก็เพราะจะได้เห็นความแตกต่างของตัวรถ และของแต่งหรืออะไหล่ ชิ้นส่วนภายในเครื่องทวินแคม ยังไม่มีสำนักแต่งที่ทำเครื่องแข่งแบบเต็วตัว ผลิตออกมาจำหน่าย ซึ่งตรงนี้ทางโยก็ได้ปรึกษากับทาง JUN ไว้บ้างแล้ว แต่ก็คงต้องเป็นในลักษณะคัสตอมออกมาเป็นพิเศษ
- กล่อง ECU MoTeC M150 และ กล่อง Power Distribution Modules (PDM)
อีกอย่างที่จะต้องทำใหม่ คือระบบหัวฉีด ที่เครื่องทวินแคมเป็นหัวฉีดแบบไดเร็ก ฉีดเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง ซึ่งก็ไม่มีหัวฉีดซิ่งมาเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะต้องทำท่อไอดีใหม่ทั้งหมด ติดตั้งหัวฉีดใหม่ทั้งหมด แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำออกมาแล้วแรงได้อย่างใจนึก คงต้องพัฒนาไปอีกสักพัก แต่คิดว่าในไม่ช้าคงได้เห็นเครื่อง L15 ทวินแคม ในสนามอย่างแน่นอน
ส่วนกล่องควบคุมเครื่องยนต์ ชั่วโมงนี้ต้อง MoTeC M1 Series เป็นกล่องรุ่นล่าสุดจาก MoTeC ที่ทำออกมาได้สุดยอดมากๆ การทำงานของตัวกล่องเร็วขึ้น รองรับเซ็นเซอร์มากมาย ที่จะนำมาประกอบการคำนวณเพื่อจ่ายน้ำมัน ซึ่งถ้าเราป้อนค่าต่างๆ เข้าไปมากๆ การทำงานก็ยิ่งสมบูรณ์ และยังเป็นการเซฟเครื่องยนต์หากมีสิ่งผิดปกติ อย่างเช่น ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงมีแรงดันต่ำลง หรือปั๊มเริ่มมีปัญหา กล่องจะสั่งให้ฉีดน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาอัตราส่วนผสมที่ตั้งไว้ ซึ่งถ้าไม่มีเซ็นเซอร์ตรงนี้ น้ำมันก็จะบาง จนอาจจะทำให้เครื่องพังได้
และอีกกล่องที่มาคู่กัน และเริ่มมีรถแข่งบ้านเราใช้กันมากขึ้น ก็คือ กล่องควบคุมการจ่ายกระแสไฟในรถ หรือชื่อเต็มๆ ว่า MoTeC Power Distribution Modules (PDM) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟ ทำงานคู่กับ Keypads เปรียบเทียบง่ายๆ PDM ก็คือกล่องฟิวส์และรีเลย์ ที่เป็นจุดจ่ายไฟไปยังอุปกรณ์ต่างๆ Keypads ก็คือสวิตช์ปิด-เปิด อุปกรณ์ต่างๆ
- โรลเคจเต็มรูปแบบโดย Mard Body
ทำหน้าที่เหมือนกัน แต่ทำไมถึงต้องจ่ายแพงกว่า ก็เพราะ PDM สามารถโปรแกรมการจ่ายไฟไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ สามารถจัดสรรการจ่ายไฟไปยังอุปกรณ์ต่างๆ หากระบบไฟมีปัญหา อย่างเช่น ไฟไม่ชาร์จ PDM จะลดกระแสไฟที่จ่ายไปยังอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น หรือตัดทิ้งไปเลย เพื่อรักษากระแสไฟให้พอใช้กับเครื่องยนต์ได้ ส่วน Keypads จะเจ๋งกว่าสวิตช์ตรงที่มันสามารถเลือกปุ่มไหนก็ได้ มาเปิด-ปิด อุปกรณ์ที่เราต้องการ กำหนดชนิดของสวิตช์ได้ ว่าจะให้กด 1 ครั้งทำงาน กดอีกครั้ง หยุดทำงาน หรือจะเป็นกดติด ปล่อยดับ ก็ทำได้ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตั้งได้จากโปรแกรมของ MoTeC
- เครื่องยนต์ L15 โมดิฟายโดย JUN
ของเล่นอีกชิ้นจาก MoTeC นั่นก็คือ ปลั๊กต่อสายไฟเครื่องเข้ากับตัวรถ โดยปกติสายไฟที่ไปเครื่องยนต์จะเป็นมัดใหญ่ๆ ต่อระหว่างเครื่องกับกล่อง แต่ถ้าต้องการยกเครื่องเราก็ต้องถอดปลั๊กเซ็นเซอร์ทุกตัวที่เครื่อง แล้วก็ถกสายไฟพาดไปในห้องเครื่อง ซึ่งมันจะประสบปัญหา หรือถอดปลั๊กบางตัว เพราะมันเยอะมาก ปลั๊กแตก หัก จากการยกเครื่อง แต่คันนี้มีปลั๊กรวมสายไฟทั้งหมด ต่อเข้ากับปลั๊กอีกตัวที่ตัวถัง เวลาจะยกเครื่องก็ถอดปลั๊กที่ตัวถังออก สายไฟก็จะติดอยู่กับตัวเครื่อง แล้วค่อยมาถอดย้ายไปใส่เครื่องใหม่ข้างนอก ซึ่งจะทำงานง่ายกว่า ลดความเสียหายในเวลาเร่งรีบ
รถคันนี้ได้ลองทดสอบครั้งแรกไปแล้ว โดยใช้เครื่องยนต์จากรถรุ่น Production มาใส่เพื่อทำการทดสอบ ซึ่งในการทดสอบก็มีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเป็นการวิ่งครั้งแรก แต่สุดท้ายก็ปรับแก้ไขจนทำเวลาได้เท่ากับเวลาในรุ่น Production แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่อีกบ้าง คาดว่าเมื่อแก้ไขเรียบร้อย และเป็นเครื่องตัวแข่งตัวจริงที่แรงกว่าเครื่องที่นำไปทดสอบ เวลาก็น่าจะเร็วกว่านี้
แฟนๆ ทีม RMI สามารถตามไปเชียร์รถคันนี้ได้ ในการแข่งขัน Thailand Super Series (TSS) ทุกสนาม และถ้าคันนี้มีการอัพเกรดเครื่องยนต์เป็น L15 ทวินแคม เมื่อไหร่ ทาง XO AUTOSPORT จะนำมาให้ชมกันอีกครั้ง
- ชุดช่วงล่าง TEIN แบบปรับได้ 2 ทาง
- ปลั๊กสายไฟเครื่อง สามารถปลดปลั๊กนี้ แล้วยกเครื่องพร้อมสายไปออกมาได้เลย
TECH SPEC
รถยนต์ : HONDA CR-Z
ทีม : RMI Racing By SUNOCO
ภายใน
พวงมาลัย : OMP
เบาะ : RECARO
เข็มขัด : HPI
โรลบาร์ : Mard Body
จอ Display : MoTeC C127
เครื่องยนต์
รุ่น : L15
ความจุกระบอกสูบ : 1,500 ซี.ซี.
จำนวนสูบ : 4
แคมชาฟท์ : JUN
สปริงวาล์ว : STD
ลูกสูบ : STD
โมดิฟายโดย : JUN
ปั๊มเชื้อเพลิง : STD
กล่องควบคุม : MoTeC M150
ระบบส่งกำลัง
คลัตช์ : Tilton 5.5 นิ้ว
เกียร์ : 5 Speed Close Ratio
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : TEIN 2 Way
โช้คอัพหลัง : TEIN 2 Way
ล้อหน้า : 7 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : 7 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : 195/50R15
ยางหลัง : 195/50R15
เบรกหน้า : STD ผ้าเบรก ENDLESS
เบรกหลัง : STD ผ้าเบรก ENDLESS