HOP FRANKEN
จาก “ลุงหลังบ้าน” สู่ “Rat Rod PLAYBAG”
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
By ROYAL GARAGE
“จินตนาการ” เหนือกว่า “ทฤษฎี” การแต่งรถก็ออกจากก้นบึ้งของความคิดแต่ละบุคคล ต่างก็จินตนาการให้รถตัวเองเป็นไปตามแนวที่ตัวเองต้องการ จึงเกิดงาน Custom ขึ้น ความเนี้ยบ ความสวย บางทีก็ไม่จำเป็น แต่ “ความดิบ ความเถื่อน ความกรัง” มันก็เป็น “ศิลปะแห่งกาลเวลา” ในอีกแขนงหนึ่ง สไตล์ Rat Rod หรือ Rat Look จึงเกิดขึ้นมาในโลกนี้ รถเก่าสนิมเขรอะ ใครๆ ก็ร้องว้าย ไฉนจะเอามาทำให้มันสวยได้ แต่ด้วยความเก่าตามกาลเวลา มันเหมือนสิ่งที่บ่มเพาะมาแต่อดีต ให้แสดงออกในปัจจุบัน ไม่แปลกเลยที่จะมี “ลุงแฟรงค์” หรือ MERCEDES-BENZ W115 รุ่น “ทับแปด” สนิมเขรอะเกรอะกรัง มาสร้างสีสันด้วยการ “ยืดอกพกถุง” (ลม) ลากสังขารไปออกงาน เป็นแก๊งค์ PlayBag จากอู่ ROYAL GARAGE สาย “วิป” หรือ VIP ที่รู้จักกันดีนั่นเอง แต่เราไปรู้จักกับ “ลุงแฟรงค์” กันก่อนดีกว่า…
/8 The “Strich-Acht”
สำหรับลุงคนนี้ จะมีฉายาว่า “ลุงแฟรงค์” หรือ “Frankenstein” ที่มีต้นตอจาก “เบนซ์ตาตั้ง” ในรหัสตัวถัง W114/W115 ที่จะมีตัวเลขต่อท้ายว่า /8 หรือ “ทับแปด” ในภาษาเยอรมันจะเรียกว่า Strich-Acht ส่วนภาษาอังกฤษ คือ Stroke-8 ที่เป็นฉายาเฉพาะรุ่นนี้ ถามว่าทำไม เนื่องจากว่า ในปี 1968 ได้ผลิตรถรุ่นนี้ออกมา โดยมีนัยยะสำคัญว่า “เป็นรถที่มีรูปแบบใหม่ทั้งหมด” ไม่มีการนำรถรุ่นเก่ามาปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างออกแบบและสร้างใหม่หมดทั้งคัน ถือว่าสมัยนั้นก็เป็นรถยุคพัฒนา ซึ่งเป็นรถรุ่นที่รองลงมาจาก S-Class (หางปลา) ถ้าจะให้ดูกันจริงๆ มันก็เป็นต้นตระกูล E-Class ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งขนาดกลางของค่ายดาวนี่เอง รุ่นทับแปด จะมีความเข้าใจผิด (เริ่มที่ผมเองนี่แหละ) ว่า W114 จะเก่ากว่า W115 แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ รหัสตัวถัง W114 จะเป็น “เครื่องยนต์ 6 สูบ” ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นรุ่นหลักๆ คือ 230, 230.6, 250 และใหญ่สุด คือ 280 รหัสก็บ่งบอกถึงความจุเครื่องยนต์สไตล์ BENZ ที่รู้กัน ส่วน W115 ก็จะมีรุ่น 200, 200 D (ดีเซล), 220, 220 D, 230.4, 240 D และใหญ่สุด 300 D แบบ 5 สูบ หลังจากนั้น ในปี 1973 ออกรุ่นไมเนอร์เชนจ์ “Face Lift” แต่งหน้าตาปากใหม่ ฝากระโปรงลาดลงกว่าเดิม ไม่มีกระจกหูช้าง ซึ่งมันน่าเสียดายเพราะมันคือเอกลักษณ์ของความเก๋า รุ่นนี้ผลิตจนถึงปี 1976 หลังจากนั้นก็จะเป็น W123 หรือ “ตาหวาน” ออกมาแทน…
สายป๋าตาตั้ง เขย่าวงการ “พกถุง”
โปรเจ็กท์ “ลุงแฟรงค์” W115 คันนี้อยู่ในการครอบครองและ Create จาก “ป๋าเอด” (จะมี ส์ ด้วยหรือเปล่านั้นไม่แน่ใจนัก) ซึ่งป๋าให้ข้อมูลว่า ตอนแรกคันนี้เป็นของ “น้องนุ” จอดอยู่ในอู่ “ป๋าหนุ่ม โรยัล การาจ” สาย VIP ย่อมรู้จักกันดี ว่าจะทำต่อไหม น้องก็บอกว่า “ถ้าป๋าเอา ผมขาย” ก็เลยซื้อต่อมา ตอนแรกก็ว่าจะทำ Classic แต่ดูแล้วน่าจะทำเยอะ ไหนๆ ก็อยากจะทำอะไรประหลาดๆ ดูบ้าง ส่วนตัวผมชอบอะไรที่ “ดิบ ไม่เนี้ยบ” คันนี้สีเดิมทำมาหนามากๆๆๆๆ ก็เลยปั่นสีออกให้เหลือถึงพื้นเหล็ก ก็พบว่าคันนี้ทรงยังสวยอยู่ ก็เลยคิดว่าเอาแนว “สนิม” Rat Rod นี่ก็แล้วกัน เพราะคำว่า BENZ มันต้องเนี้ยบ แต่ผมอยากแหวกแนว สำหรับสีสนิม “เราตั้งใจทำให้มันดูเก่าแบบมี Layer” เพราะมันต้องมีเวลาฟักตัวของสนิม ให้ออกมาเป็นสีสันที่เป็นศิลปะ พออยากเตี้ยก็เลยจับใส่ถุงลม Hop-Up Air Sus โดยให้ “พี่หลี” เป็นผู้จัดการให้ ท้ายสุด ผมขอขอบคุณ ป๋าหนุ่ม & เจ๊เอื้อง ROYAL GARAGE, น้องนุ, พี่หลี และ “ภรรยาผมเอง” ที่ไม่ห้าม รวมถึง XO AUTOSPORT ที่ให้โอกาสผมได้แสดงออกครับ…
X-TRA ORDINARY
อาจจะมีข้อสงสัยกันหน่อย กับรหัสต่อท้ายรุ่น คือ 230.6 และ 230.4 ไอ้จุดด้านหลังจะบอกว่า “เป็นเครื่องกี่สูบ” แต่คนไม่คุ้นเคยอาจจะงงๆ หน่อย เพราะตัว W114 ก็จะมีทั้ง 230 และ 230.6 จริงๆ แล้วเป็นเครื่องเดียวกันครับ แต่จะแบ่งแยกปี ตัว 230 จะเป็นปี 1968-1972 ซึ่งจะมีเฉพาะตัว 6 สูบ อย่างเดียว เลยไม่ต้องมีจุดหลัง ส่วน 230.6 จะออกมาในปี 1973-1976 ซึ่งในช่วงปีนี้ BENZ ได้ออกตัว W115 รุ่น 230.4 มาด้วย ลำพังจะบอกแค่ 230 เฉยๆ ก็กลัวจะสับสน ก็เลยมีจุดไว้ด้านหลัง เพื่อให้รู้ว่าเป็น 230 รุ่นเครื่อง 6 สูบ หรือ 4 สูบ แบ่งกันชัดเจนประมาณนี้ครับ…
ขอขอบคุณ
ROYAL GARAGE & HOP UP Air Sus : Facebook/Royal Garage Thailand, Tel. 089-109-0088
- ศิลปะบางอย่างก็ไม่ต้องการคำตอบ
- Rat Rod คือความเข้าใจว่า “ต้องเน่า” แต่ความจริงแล้ว มันต้องใส่ใจรายละเอียด พวกโครเมียม หรือ ส่วนประกอบต่างๆ ต้องเดิมและสวย ถึงจะ “ตัด” และ ดึงจุดเด่นของรถออกมาได้
- ตาตั้ง “ทับแปด” ความเนี้ยบตัดกับความหยาบกร้าน เอกลักษณ์ของหน้ากระจังใช้กันถึง W116-123-124-126 นั่นเลย
- ขุนพลเยอรมัน ต้องคู่กับรองเท้าสัญชาติเดียวกัน BBS RS ขนาด 7.5 x 16 นิ้ว สุดคลาสสิก
- ไฟท้ายยังต้องสวยใส เขาว่าที่ BENZ ทำไฟท้ายเป็นบั้งๆ แบบนี้ เพื่อให้เวลาวิ่งแล้วลมรีดเข้ามา “เป่าหิมะไม่ให้เกาะบังที่ไฟท้าย” เป็นเซฟตี้ของทางเยอรมันที่เป็นเมืองหนาว
- ต้นตำรับความเตี้ย HOP UP Air Sus
- ปัดน้ำฝน แบบ Opposite Side ข้อดีของมัน คือ ปัดได้เต็มพื้นที่ทั้งซ้ายและขวา ไม่ว่าจะเป็นรถพวงมาลัยซ้ายหรือขวาก็ใช้แบบเดียวกัน ไม่ต้องมาสลับฝั่งเหมือนแบบรถทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่ง CIVIC FD ก็กลับมาใช้ปัดน้ำฝนแบบนี้
- ของมันต้องใช้ หูช้างเป็นได้ทั้งแบบ “รับลม” และ “ดูดลม” อยู่ที่องศาการตั้ง เอกลักษณ์ยุคคลาสสิกที่ยากจะลืมเลือน ส่วนเจ้า /8 รุ่น Face Lift จะไม่มีหูช้างแล้ว
- มือเปิดประตูสุดเท่
- ขาดแล้วก็ไม่ต้องปะ ปะกันแล้วก็ไม่ต้องโป๊ว “โชว์งาน” ดิบๆ งี้แหละ
- พวงมาลัย “กระเช้า งาช้าง” สุดแพงของ BENZ ที่เป็นวัสดุเกรดในรถ Premium สมัยก่อน ภายในเป็นร่องรอยตามกาลเวลา ก็ชอบแบบนี้นะ หัวเกียร์สุดเท่ ไปแกะจาก “ลูกบิดประตูบ้าน” (ใครก็ไม่รู้) มาใส่ให้มันแปลกแต่เข้าท่า
- ได้อารมณ์
- เบาะนั่ง Hipster ชีวิตต้องลำบากๆ หน่อย พอมีสีสัน
- เนื่องว่ารถเดิมเป็นดีเซล ก็ต้องจบที่ RD28 จาก NISSAN 6 สูบเรียง ทำงานได้นุ่มนวล กำลังดี มันคือเครื่องบล็อกในตำนาน “สิงห์คะนองนา” ไงล่ะ ซึ่งถ้าจะให้ “เนียน” เหมือนเครื่อง BENZ ก็ต้อง LD28 ที่ฝาเครื่องเหมือนกันเป๊ะเลย เพราะเครื่อง L NISSAN ก็มาจาก BENZ นั่นแหละ
- ลุงแฟรงค์ ชิ้นงานศิลปะสุดดิบบนโลกใบนี้ การเลือกรถมาทำต้องเป็นรถทรงสวยเดิมจริงๆ และสนิมกัดกินตามกาลเวลา รวมถึงการวางแผนในการ “ปั่น” ตามช่วงเวลา ซึ่ง “มันไม่เนี้ยบ” แต่ “มันเนี้ยบ” ลองตีความหมายดูแล้วกัน