XO เล่ม 146 เดือน ธ.ค. 2551
HOT & FUNNY & CRAZY !!!
FUNNY CAR By SPEED D PROSHOP & SIAM PROTOTYPE
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
หลังจากที่นำเสนอ Dragster จากสำนัก RAM 77 กันไปยกหนึ่งแล้ว ก็คงไม่พลาดตัวแรงทางตรงอีกคันหนึ่ง มันคือ “FUNNY CAR” ที่ทำกันแบบ “บ้าพลัง คลั่งเวลา” แบบเต็มที่ ในรูปแบบของเครื่อง Big Block ยัดด้วย “Supercharge” เข้าไปอีก อะไรจะขนาดนั้น เป็นฝีมือของ “เสี่ยดี” แห่ง SPEED D PROSHOP ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีใน Quarter Mile Track งานนี้เสี่ยดีทุ่มสุดตัว เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ชอบ (ไม่ได้หมายถึงรถอย่างเดียวด้วยนะ) ก็คิดโปรเจ็กต์ยักษ์นี้ขึ้นมา จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างนี้ จริงๆ แล้ว เราจะถ่ายคันนี้พร้อมกับรถของ RAM 77 แต่วันที่ถ่ายทำคอลัมน์ เกิดปัญหาขึ้นจาก “ยางหลัง” ที่ไม่สามารถถอดและใส่ได้ จึงขอเก็บไว้ก่อน แล้วมานำโชว์โฉมกันในฉบับนี้ ก็ดีครับ ลงทีละคันมันจะได้ “เนื้อๆ” กันไปเลย ถือเป็นการส่งท้ายปีเก่ากันไปอย่างสะใจวัยรุ่น เชิญทัศนาได้ ณ บัดนาว…
Drag Car : The American Culture
มิได้ดัดจริตจะมาขึ้นหัวฝรั่ง เพียงแต่จะสื่อความหมายอะไรบางอย่างก่อนจะเล่าเรื่อง ก่อนอื่นของเกริ่นนำก่อนว่า ข้อมูลแทบทั้งหมดนี้ ทาง SPEED D ได้ Support มาให้ ตัวผมก็เรียบเรียงและเสริมในบางจุดให้ดูอ่านแล้วมันส์ขึ้น เรามาเริ่มกันตรงที่ว่า ทำไมถึงบอกว่า Drag Car ถึงเป็น “ประเพณีของชาวอเมริกัน” ผมก็ได้กล่าวถึงที่มาของการแข่งรถแบบนี้ไว้ในคอลัมน์ Question Time เล่มนี้แหละ (พลิกไปดูสิครับ) มันก็เป็นจุดเริ่มต้น แต่การแข่งที่แบ่งแยกรถลักษณะต่างๆ ก็จะแยกออกไปอีกมากมาย แต่จะขอพูดถึงเรื่องของ Funny Car ก่อนนะครับ อันนี้ SPEED D เค้าเล่าประมาณว่า รถแข่งแบบ Funny Car จริงๆ แล้ว มีมาตั้งแต่ยุค 60’s ซึ่งแยกมาจากรถแบบบ้านๆ หรือที่เรียกกันว่า “Door Slammer” มาเป็นรถที่ยาวขึ้นเล็กน้อย และมีน้ำหนักที่เบากว่า จนกลายมาเป็นรถแข่งแบบเต็มตัว ที่เรียกว่า Funny Car การแข่งขันของรถแข่งในรูปแบบนี้ ถือว่าเป็น “มรดกทางความรู้” ที่สั่งสมกันมา จากรุ่นบรรพบุรุษ จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน แล้วก็ถ่ายทอดไปเรื่อยๆ จน “แตกหน่อ” ออกไปมากมาย…
ถ้ามองกันให้ดีแล้ว ในสังคมของคนอเมริกัน ใช้การแข่งขัน Drag Racing เป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และถ่ายทอดประเพณี ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ให้ช่วยเหลือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพราะค่าแรงอู่ต่างๆ ถือว่าแพง สำหรับ “งานแข่ง” Event ส่วนใหญ่จะมีเรื่อยๆ หลายๆ รายการ ในครอบครัวหนึ่งๆ จะมีรถเทรลเลอร์ หรือ Motor Home เพื่อใส่รถแข่ง และขับไปสนามเอง ไปนอนค้างทั่วประเทศ เพราะในรายการหนึ่งๆ เค้าจะวนเวียนจัดไปทั่วๆ รัฐ ทั้งนี้ก็เหมือนกันการ Racing On Tour เพื่อให้คนต่างพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแข่งขันกัน รู้จักกันในวงการเดียวกัน ก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ไมตรี สร้างวงการให้แพร่หลายมากขึ้น…
- Funny Car ต้องมีกระดองครอบ ไม่เหมือนกับ Dragster ที่เปลือยเฟรมวิ่ง
Funny Car Funny Style
สำหรับคำจำกัดความของ Funny Car แบบย่อๆ รุ่นนี้เป็นรถแข่ง Drag Racing ที่นิยมมากใน “อเมริกา” โดยรถแบบ Funny Car นี้ จะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์คือ มีเครื่องยนต์วางอยู่ด้านหน้า (Forward-mounted engines) และจะมี “Body” หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “กระดอง” ครอบอยู่อีกที ตอนจะเปิดก็ยกทั้งกระดองขึ้นมา แล้วครอบลงไป ไม่มีประตู ไม่มีฝาเปิดอะไรทั้งสิ้น สำหรับตัวกระดอง ก็ทำเป็นรูปทรงแหลมๆ ตูดป้านๆ ตามลักษณะของเฟรมที่สร้างขึ้น รูปแบบก็ต่างคนก็ต่างสไตล์กันไป โดยมีหลากหลาย ทั้งแบบหน้าตา และแบบวัสดุ โดยทางผู้ผลิตจะถอดแบบมาจากรถที่มีความนิยมในยุคนั้นๆ หรือความชอบส่วนตัว หรือสปอนเซอร์ที่สนับสนุน โดยเค้าจะเน้นหน้าตาแบบรถบ้าน (Manufacturers’ showroom models) หน้าตามันเลยดูตลกๆ ก็อาจจะเป็นชื่อที่มาของ Funny Car ก็ได้…
Regulation Of Funny Car : กฏ กติกา
มาดูกติกาของ Funny Car กันบ้าง ในการแข่งขันของ NHRA ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของผู้จัดการแข่งขันรถยนต์ทางตรง (Drag Racing) นั้น เปิดให้มีการแข่งขันรถแบบ Funny Car สองรุ่นคือ “Nitro Funny Car” และ “Top Alcohol Funny Car” โดยแยกจากการใช้ “เชื้อเพลิง” เป็นหลัก และมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันย่อยๆ อีก กติกาของ NHRA ก็กำหนดไว้หลักๆ เริ่มจาก “เครื่องยนต์” ต้องเป็นเครื่อง V8 สูบ ทำมุมกว้าง 90 องศา สำหรับเครื่องยนต์ที่นิยมใช้กันอยู่ จะเป็นเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “HEMI” ย่อมาจากคำว่า Hemispherical Combustion Chamber ก็เป็นลักษณะของฝาสูบ และห้องเผาไหม้ อันนี้มาจากทาง CHRYSLER ดีไซน์ห้องเผาไหม้แบบ “ครึ่งวงกลม” เพราะมีประสิทธิภาพในการประจุอากาศ (VE : Volumetric Efficiency) ได้ดีกว่าเครื่องยนต์ที่มีการดีไซน์ในไลน์การผลิตของค่ายยักษ์ใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น GM (General Motors) หรือ FORD ถ้าใครชอบติดตามรถแข่งของ NHRA ก็จะได้ยินคำว่า HEMI (เฮมิ) ก็มาจากตรงนี้แหละครับ…
นอกจากรูปแบบของเครื่องยนต์แล้ว มาถึง “ระบบเปิดปิดวาล์ว” NHRA ได้กำหนดว่าให้ใช้ระบบฝาสูบ แบบ “แคมเดี่ยว” (Single Camshaft) หรือแบบ OHV (โอเวอร์เฮดวาล์ว) และยังมีบังคับในเรื่อง “ระบบอัดอากาศ” หรือ “Blower” หรือที่เรานิยมเรียกว่า “ซูเปอร์ชาร์จ” โดยในรุ่น “Top Alcohol Funny Car” จะอนุญาติให้ใช้เป็นแบบ Root Type หรือ Screw Type ก็ได้ (สงสัยดูรูปได้เลย ว่าแบบไหนหน้าตาอย่างไร) แต่ถ้าเป็นรุ่น “Top Fuel Funny Car” จะสามารถใช้ได้แต่ Root Type ซึ่งมีขนาดความยาว 483 มม. และกว้างไม่เกิน 286 มม. มาถึงเรื่อง “ขนาดความจุ” (Displacement) ในรุ่นของ Top Fuel Funny Car กำหนดว่าต้อง “ไม่เกิน 8.2 ลิตร” (อยากรู้กี่ ซีซี. ก็คูณด้วย 1,000 เข้าไป) ถ้าคิดเป็นความจุสไตล์อเมริกันแท้ๆ ก็อยู่ที่ “500 คิวบิก–นิ้ว” (Ci : Cubic inch) แต่ในรุ่น “Top Alcohol Funny Car” สามารถให้มีความจุได้ถึง 8.7 ลิตร หรือ “531 คิวบิก–นิ้ว” นั่นเลย…
ในด้านของการแบ่งความจุเครื่องยนต์ เนื่องจากการแข่งขันมีมานานมาก หลังจากลองผิดลองถูกกันมา เค้าจึงได้ข้อสรุปมาว่า เครื่องยนต์ที่ “นิยมใช้” มีอยู่สองแบบ แบบแรก เรียกว่า “3/4 Stroke” มีกระบอกสูบ x ช่วงชัก เท่ากับ 106.4 x 114.3 mm. (4.1875 x 4.5 inches) ถ้าคิดความจุออกมา ก็ได้เท่ากับ “8,130 ซีซี.” อีกแบบเรียกว่า 5/8 Stroke มีกระบอกสูบ x ช่วงชัก เป็น 108.0 x 111.1 mm. (4.25 x 4.375 inches) ใช้ลูกสูบโตกว่า แต่ช่วงชักสั้นกว่าแบบ 3/4 Stroke คิดความจุออกมาได้ “8,142 ซีซี.” แต่ในปัจจุบัน เครื่องแบบ 3/4 Stroke จะเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด การแบ่งหลักๆ ที่จะลืมไม่ได้เป็นสำคัญก็คือ “ลักษณะของเชื้อเพลิง” นี่เป็นตัวกำหนดชื่อรุ่นด้วย ในรุ่น Top Fuel Funny Car จะใช้ “เชื้อเพลิงแบบผสม” ระหว่าง Nitro methane (ไนโตรมีเทน) เป็นจำนวน 85-90 เปอร์เซ็นต์ และ Methanol (เมทานอล) เป็นจำนวน 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ในรุ่น Top Alcohol Funny Car จะใช้เชื้อเพลิงที่เป็น Alcohol หรือ Methanol อย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับการกำหนดในด้านของ Chassis ทาง NHRA ระบุไว้ว่า ต้องมีขนาดความยาวฐานล้อ (Wheel Base) โดยวัดระยะห่างระหว่าง “จุดกึ่งกลางดุมล้อ” (Pivot) ล้อหน้าถึงล้อหลัง ต้องอยู่ระหว่าง “100-125 นิ้ว” (2.54-3.18 เมตร) และต้องมีความสูงจากพื้น 3 นิ้ว (76 มม.) ก็เป็นกติกาหลักๆ ของ Funny Car ครับ…
- ทรวดทรงตามเฟรมบังคับ Wheel Base ตามกติกากำหนด
- Wheelies Bar กันหงายเงิบ ร่มช่วยเบรก (Decelerate Parachute) ตอนถ่ายยังไม่ได้ใส่
First Funny Car In Thailand : ลำแรกในไทย
ตอนนี้ก็มาถึง “จุดเริ่มต้น” ของ Funny Car ในเมืองไทย ถือเป็นการ “เปิดศักราช” ใหม่ ให้กับคนไทยเลยก็ว่าได้ คันนี้เป็นรถ “นำเข้า” (Import) คือเข้ามาเต็มๆ ลำ “คันแรกของไทย” เลยก็ว่าได้ จากสถิติเก่าที่เจ้าของทำไว้ อยู่ที่ “5.8 วินาที” กับความเร็วระดับ “400 กม./ชม.” !!! โดยดั้งเดิม เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นรุ่น Top Alcohol Funny Car ในตอนแรกทาง Siam Prototype ตั้งใจอยากจะมีรถแข่งแบบที่ “มีมาตรฐานระดับโลก” กับเค้าสักคันนึง หลังจากที่ทำรถแข่งแบบ Local Made มาตั้งหลายคันแล้ว จึงได้ปรึกษากับทาง SPEED D ว่าน่าจะหารถที่ได้มาตรฐาน และมีแรงม้ามากๆ เพื่อที่จะเอาไว้วิ่งโชว์ รวมไปถึงแข่งขันในงานต่างๆ ได้ แต่มีข้อแม้ถ้าจะเล่นก็ต้องให้ “สุด”เหมือนกัน…
ในตอนแรกก็มองหารถแข่งแบบที่เรียกว่า Rolling Chassis ซึ่งมีขายเกลื่อนตลาดอเมริกา เหตุผลที่ว่ารถแข่งที่ต่อขึ้นแบบ Tube Frame นั้นก็มีอายุการใช้งาน โดยเค้านับกัน “เป็นครั้ง” ไป ว่ารถคันนี้วิ่งมากี่รันแล้ว ถ้าเป็นรุ่นใหญ่อาจจะใช้แค่ไม่เกินสิบครั้ง พอได้ตามกำหนด ก็ถอดของขาย แล้วก็เปลี่ยนคันใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า รถอาจจะ “เสียรูป” จากเดิม เพราะเครื่องยนต์ที่มีแรงม้ามหาศาล ต้องรองรับ “แรงเค้น แรงบิด” สูงมากๆ จึงมีโอกาสเสียหายได้เร็ว อีกประเด็นก็คือ อาจจะเป็น “รายได้” นอกเหนือจากที่สปอนเซอร์ให้ ในนักแข่งชั้นกลางๆ ก็จะซื้อต่อรถจากพวกนักแข่งรุ่นใหญ่ มาวางเครื่องใหม่ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เข้าไป เพราะถือว่าถูกกว่าสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งคัน เกิดเป็นธุรกิจค้าขายรถ Drag มือสอง ใครสนใจก็สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ Ebay.com และ Racingjunk.com ก็จะมีธุรกิจการซื้อขายรถประเภทนี้อยู่…
เสี่ยสั่งลุย ซื้อมาทั้งคัน
หลังจากจดๆ จ้องๆ กันอยู่นาน เริ่มมาคำนวณงบประมาณแล้วว่า ถ้าซื้อแต่ Rolling Chassis แล้วมาหาเครื่องใส่เอง น่าจะงบ “บาน” แน่นอน แถมเอาเครื่องยนต์กับตัวรถที่แยกกันมา เสี่ยงต่อการ “Miss Match” ถ้าไม่ “แมทชิ่ง” ก็เท่ากับว่าสูญเงินและเสียเวลาเปล่า “กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว” ดังนั้น “มิสเตอร์หยาม” แห่ง Siam Prototype ก็ระบุมาเลย ว่าเอารถเป็น Complete Race Car ราคาไม่ต้องแพงที่สุด พิกัดวิ่งแตะ “6 วิ.” ก็ถือว่าโอเคแล้ว ทาง Speed D ก็สืบเสาะหาจนเจอรถคันนี้ หลังจากผ่านมติที่ประชุม ก็ต่อสายคุยกับทางเจ้าของรถ ว่าเราต้องการจะซื้อรถคันนี้อิมพอร์ทเข้ามาเมืองไทย เพื่อจะสร้างสถิติใหม่ๆ ให้แก่ประเทศชาติ ไม่ให้น้อยหน้าชาติอื่น (เหตุผลเข้าท่าแฮะ) การตัดสินใจที่จะซื้อรถคันนี้ เพราะ “ถูกสเป็ก” เครื่องยนต์เป็นไปตามที่ต้องการ ระบบส่งกำลังก็ถือว่าดีที่สุด ตัวครอบและอุปกรณ์อื่นๆ ก็ถือว่าดีกว่าตัวเลือกอื่นๆ ในขณะนั้น ที่ต้องรีบตัดสินใจ ก็เพราะว่าทาง Speed D ต้องเดินทางไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายเดือน ก็จะได้ดูแลเรื่องจัดส่งรถ รวมไปถึงเรียนรู้เทคนิคพื้นฐานและ Know How ของการปรับแต่ง รวมถึงการดูแลรักษา…
หลังจากตกลงซื้อขายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางคนขายก็จัดส่งรถมาให้ที่อู่ Precision Performance Engine ซึ่งเป็นอู่ที่ดูแลรถแข่ง Top Fuel Dragster ของทีม Paton Racing ซึ่งอยู่ที่รัฐ California หลังจากนั้น ก็ลงมือ “ชำแหละ” ดูของทั้งหมด ว่าตรงตามที่คนขายได้อ้างไว้หรือไม่ โอเค ตรงตามที่คุยไว้ ก็ผ่าน หลังจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่ม เพราะเราจะต้องมีการ “เปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่าง” อย่างหลักก็คือ “เชื้อเพลิง” เพราะเครื่องเดิมๆ ใช้เชื้อเพลิงแบบผสม Nitro Methane เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบที่ใช้ Pure Methanol เพราะ Wน่าจะเหมาะกับสภาพเมืองไทย” มากกว่า รวมไปถึงการบำรุงรักษา (Maintenance) ที่ง่ายกว่าใช้ไนโตรมีเทน…
- ลักษณะของ “เฟรมจำลอง” ที่เอามาให้ดูแทนของจริง
- เพลาหลังแบบ Hard Tail ยึดติดตายกับเฟรม
- ถ่ายให้เห็นๆ ว่าไม่มีระบบกันสะเทือน ทุกอย่างว่ากันที่เฟรมเพียวๆ
Rigid Chromalloy Tube Frame : ไม่มีการให้ตัว ไม่มีระบบกันสะเทือนใดๆ ทั้งสิ้น
ตอนนี้จะมาพูดถึงเรื่อง Chassis หรือ Frame ของรถคันนี้กันบ้าง จากเดิมเจ้ารถ Funny Car คันนี้ เป็นรถที่มีรูปแบบของ Chassis แบบยอดนิยม คือมีความยาวของช่วงล้อ (Wheel Base) อยู่ที่ 125 นิ้ว ยาวที่สุดกามกติกากำหนด “โครงสร้าง” จะต่อขึ้นด้วยวัสดุ “Chromalloy” Tube Frame (Chromoly + Alloy) ตามมาตรฐาน NHRA แบบ Top Alcohol Funny Car ซึ่งการใช้วัสดุแบบนี้ ยังได้รับการรับรอง (Certified) ถึงปี 2008 มาถึงรูปแบบ “ช่วงล่าง” ของรถ Funny Car โดยทั่วไปแล้ว จะมีแต่จุดยึดล้อเท่านั้น “ไม่มีระบบกันสะเทือน” ยึดตายไปเลย แม้แต่เพลาท้าย ก็ยังยึดติดกับตัวรถ ไม่มีโช้คอัพ หรือสปริงใดๆ ทั้งสิ้น หรือเรียกว่าเป็นแบบ Hard Tail ทุกอย่างจะยึดอยู่กับเฟรมของตัวรถทั้งหมด ส่วนด้านหน้า จุดยึดดุมล้อ (Spindle) จะยึดไว้กับโครงสร้างด้านหน้า ทำดูเหมือนมีปีกนก แต่แท้จริงแล้วยึดติดกับเฟรมแบบตายตัว (Rigid) ไม่มีการให้ตัว และไม่สามารถปรับตั้งได้…
- Cockpit มีแค่นี้ เกจ์วัด AUTO METER พวงมาลัยเป็นแบบ Butter Fly (ทรงผีเสื้อ) เอาไว้จับวิ่งตรงๆ อย่างเดียว (ใช้เลี้ยวเฉพาะตอนกลับ) สังเกตคนขับจะนั่งคร่อมเกียร์ ด้านขวาเป็นแป้นคันเร่ง ด้านซ้ายเป็นคลัตช์ (เป็นแท่งๆ ให้เหยียบ ไม่มีแป้น) คันเบรกมือจะอยู่ด้านขวา
- เบรค JFZ
- ล้อ WELD ยาง MICKEY THOMPSON (M/T) เบรก WILWOOD
Hand Brake Only : เบรกมือสถานเดียว
มาถึงระบบ “เบรก” คันนี้ใช้เบรกหน้าและหลัง เป็นของยี่ห้อ JFZ โดยมีปั๊มเบรก, กระป๋องน้ำมันเบรก และตัวปรับอัตราส่วนของเบรกหน้าและหลัง อยู่ด้านหลังเบาะคนขับ ถ้าสังเกตกันดีๆจะพบว่า “ไม่มีแป้นเบรกเท้า” แล้วจะหยุดยังไง ไม่ยากครับ ก็ใช้ “มืดหยุด” นั่นเอง เนื่องจากว่ารถแข่งแบบ Funny Car ถูกดีไซน์มาให้คนขับนั่งคร่อมอยู่ที่ห้องเกียร์ (Transmission Housing) ขาทั้งสองจึงอยู่ในซอกข้างตัวถัง ไม่สามารถวางแป้นเบรกแบบเท้าเหยียบ (Brake Pedal ) ไว้ได้ (ลำพังซอกนั้นแคบมาก ขาขยับแทบไม่ได้) ดังนั้นรถ Funny Car ทุกคันจะต้องไปใช้การเบรกแบบ “ดึงคันเบรก มองดูคล้ายๆ กับ “เบรกมือ” ที่ใช้ในรถทั่วไปนั่นแหละ คันเบรกนี้จะอยู่ด้านขวามือของคนขับ เพื่อให้ใช้มือที่ถนัดดึงได้เลย…
- ขุมพลัง 8.1 ลิตร เคลมแรงม้าไว้ไม่ต่ำกว่า “2,000” ตัว
Engine Block 3/4 Stroke 8,130 cc. : ขุมพลังบล็อกตัน ไม่มีโพรงน้ำ
สำหรับขุมพลังตัวนี้ ก็เป็นของที่ติดรถมา ลักษณะเป็นเครื่อง V8 HEMI แต่เป็นการสร้างขึ้นมาเฉพาะกิจทั้งตัว สำหรับ Engine Block หรือ “เสื้อสูบ” เค้าจะทำกันโดยขึ้นรูปจาก Aluminum Billet (อลูมิเนียมก้อน) เป็นวัสดุ Aluminum Stage 10 กัดให้เป็นเสื้อสูบ แล้วก็จะฝัง “ปลอกสูบ” (Sleeve) ส่วนที่พิเศษก็คือ Block เครื่องตัวนี้ จะเป็นแบบ “ตัน” (Solid Block) เพราะจะไม่มี “โพรง” สำหรับน้ำหล่อเย็น (Water Jacket) เข้าไปวนเวียน จะเป็นเสื้อตันๆ การทำแบบนี้ จะมีข้อดีในหลายด้าน อันดับแรกคือ “ลดน้ำหนักเครื่องยนต์” จากเดิมซึ่งเป็นเสื้อเหล็กหล่อ และยังทำให้แข็งแรงกว่าเสื้อสูบแบบที่มีโพรงน้ำ ใช้เวลาซ่อมไม่มาก เนื่องจากเครื่องยนต์อาจเกิดความเสียหายได้ตลอดเวลา เสื้อแบบตันนี้ จะสามารถซ่อมได้ โดยการถอดและใส่ปลอกอันใหม่ได้ง่ายดาย ใช้เวลาไม่มาก…
เสื้อสูบอันนี้ จะเป็นของสำนัก Keith Black ซึ่งเดิม Mr. Keith Black เป็นนักแข่ง Drag Racing ชั้นแนวหน้าของอเมริกา ผันตัวมาผลิตบล็อกเครื่องยนต์ สำหรับ Nitro/Alcohol ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ นอกจากนี้ระบบขับเคลื่อนแคมชาฟต์ รถปกติจะใช้สายพาน หรือโซ่ ทำให้เกิดการหย่อน เสียหายได้ในรอบสูง ทางสำนักเลยใช้ระบบ “ฟันเฟืองขบ” (Gear Drive) ใช้เฟืองเป็นตัวขับเคลื่อนระหว่างแคมชาฟต์กับข้อเหวี่ยง อันนี้เป็นระบบของรถแข่ง ที่แข็งแรง แน่นอน และทนทาน (แต่มีข้อเสียคือ ชิ้นส่วนมาก เสียงดัง ซึ่งไม่เป็นปัญหาสำหรับรถแข่ง แต่รถบ้านไม่จำเป็น) “ปั้มน้ำมันเครื่อง” อัพเกรดดีสุด ทาง Keith Black ใส่มาให้เรียบร้อย “ลูกสูบ” ใช้แบบ “หัวนูน” ของ Ross Piston (ขนาดก็ตามสเป็ก 3/4 Stroke ที่บอกไปตั้งแต่ต้น) “ก้านสูบ” เป็นอลูมินั่มของ Brooks “ข้อเหวี่ยง” เป็นแบบยอดนิยมของ Bryant จะเป็นแบบ Steel Forging ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถรองรับแรงม้าขนาด “หลายพัน” ได้ เพราะแรงม้าของรถ Top Fuel Funny Car อาจมีมากถึง “6,978-8,897 แรงม้า” (โว๊วววววว) แต่โดยมากจะอยู่ในช่วงของ “8,000 bhp” และอาจะมี “แรงบิด” (Torque) มากถึง “9,500 นิวตัน–เมตร” ถ้าคิดเป็นกิโลกรัม–เมตร ก็ “เกือบหมื่น” เข้าไปแล้ว ในขณะที่ Top Alcohol Funny Car จะมีแรงม้าอยู่ที่ “3,000-3,500 bhp” ส่วนที่ต่างกัน ก็คือแรงม้าที่มาจากส่วนผสมที่เป็น Nitro Methane ซึ่งให้พลังงานแบบมหาศาล
ส่วน “แบริ่งชาร์ฟ” ทั้งอกและก้าน เป็นของ Kings Bearing ก็เป็นอันจบเรื่องท่อนล่างไป…
- ซูเปอร์ชาร์จจาก SSI สายพานใหญ่มากเพื่อรับแรงบิดเครื่อง
- ฝาสูบ ALAN JOHNSON อลูมิเนียม กัด CNC ชัวร์และแพง
- ลักษณะห้องเผาไหม้แบบ HEMI ครึ่งวงกลมที่นิยมกันมาก
- ที่เห็นเป็นสายแถบสองเส้น เอาไว้ “รั้งซูเปอร์ชาร์จ” กรณีที่ “เครื่องระเบิด” ถ้าไม่รั้งไว้ ตัวซูเปอร์ชาร์จจะ “กระเด็น” ขึ้นสูงมาก มันอาจจะลงที่ใครสักคน ก็เลยต้องทำสายรั้งเอาไว้ตามกฏ
Super Charger : แรงดี บิดระเบิด ขวัญใจอเมริกัน
ก่อนอื่นเรามาดูเรื่อง “ฝาสูบ” กันก่อน เพราะจะเป็นสิ่งที่ “กำหนดแรงม้า” ฝาสูบดี Flow ได้เยอะ ก็จะส่งผลให้มีแรงม้ามากขึ้น เป็นของ Alan Johnson เจ้านี้ก็เป็นนักแข่งที่หันไปเอาดีทางด้านผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องยนต์ซิ่งขาย (สังเกตดูว่า สินค้าอเมริกันที่ทำกันแบบ Full Race จริงๆ มักจะใช้ชื่อของ “คนผลิต” เป็นส่วนมาก) ฝาสูบผลิตจากวัสดุอลูมินั่ม 6061 T-6 ขึ้นรูปโดยระบบ CNC ที่มีมาตรฐานสูงมาก เพื่อความแม่นยำ จะต้องให้ได้ Flow เท่ากันทุกสูบ “วาล์ว” ไอดีและไอเสีย ใช้วัสดุเป็น Titanium “สปริงวาล์ว” สองชั้นแบบเป้งๆ ถูกใช้เพื่อรองรับกับรอบสูงๆ กับองศาและลิฟต์สูงมาก ชุด Rocker Arm เป็นรุ่น Stage V ซึ่งมีความแข็งแรง “ก้านกระทุ้ง” (Push Rod) หรือ “ตะเกียบ” ที่รับกำลังจากแคมชาร์ฟ (ไม่เหมือนกับพวก OHC หรือโอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ พวกนั้นแคมจะเตะตรงๆ เลย) และ Valve Adjuster ที่ใช้เป็นของ Manton Pushrods ทั้งชุด…
มาถึง “ระบบอัดอากาศ” จะใช้เป็น “ซูเปอร์ชาร์จ” หรือบางที่ก็เรียกว่า “โบล์วเออร์” (Blower) ก็เหมือนกัน คือ “ใช้กำลังสายพานจากเครื่องเป็นตัวฉุด” ไม่เหมือนเทอร์โบ อันนั้นใช้ “ไอเสีย” จากเครื่องยนต์ ไปปั่นกังหันเทอร์ไบน์) อันนี้แหละเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านเครื่องยนต์ เพราถ้าจะเรียกแรงม้าให้ออกมามากๆ ก็ต้องพึ่งประสิทธิภาพของเจ้า Blower คันนี้ใช้ของ SSI รุ่น 14-71 Hi-Helix ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมาก
แต่ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า เราจะใช้เครื่องยนต์แบบไหน มันเกี่ยวเนื่องกับการ Balance ของเครื่องยนต์ ปกติจะมีสองแบบ แบบแรกคือ “External Balance” หรือที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือเครื่องที่จำเป็นต้องมีตัว Balancer ติดอยู่ที่หน้าข้อเหวี่ยง แบบที่เราชอบเรียก Damper Pulley นั่นแหละ อันนี้เราจะเห็นในรถโมดิฟายทั่วไป…
แบบที่สองก็คือ “Internal Balance” เครื่องยนต์แบบนี้ อาจจะละเอียดอ่อนในการประกอบ เพราะทุกๆ ครั้งที่จะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์อาจะต้องไปทำการ Balance ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวภายในทั้งหมด การ Balance ในที่นี้ก็คือ “ความสมดุลระหว่างน้ำหนัก” ของ Counter Weight (ตับถ่วง หรือตุ้มถ่วง) และ “น้ำหนักรวมของลูกสูบกับก้านสูบ” ในการ Balance เค้าจะชั่งน้ำหนักของก้านสูบและลูกสูบในแต่ละสูบ เพื่อนำน้ำหนักนี้ ไปเลือกตุ้มถ่วง ที่จะมายึดไว้กับข้อเหวี่ยง ก่อนที่จะเข้าเครื่อง Balance ให้เหมือนกับสภาวะที่เครื่องยนต์ทำงานจริง รับแรงจริง ไม่ได้เอาข้อเหวี่ยงเปล่าๆ ไปถ่วง มันจะไม่ใช่ลักษณะการใช้งานจริง ที่จะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ลูก–ก้าน–ฟลายวีล คอยถ่วงอยู่ด้วย…
มาถึงตรงนี้ การที่จะใช้ Blower ได้ เครื่องยนต์ควรจะต้องเป็นแบบ Internal Balance เพราะหน้าข้อเหวี่ยงจะไม่สามารถใส่พูลเลย์ Balancer ได้แล้ว ในชุด Blower จะประกอบไปด้วย Crank Pulley (พูลเล่ย์หน้าเครื่อง หรือพูลเลย์ข้อเหวี่ยง) อันนี้จะต้องมีร่องสายพานสำหรับ Blower ด้วย ต่อมาเป็น Idling Pulley ใช้เพื่อปรับตั้งความตึงให้สายพาน Blower Pulley ซึ่งเป็นตัวที่ใช้ขับ Blower โดยสามารถทดรอบให้มากหรือน้อยได้ โดย “เปลี่ยนขนาด” ให้เล็กหรือใหญ่ (Overdrive/Underdrive) ตามบูสต์ที่ต้องการ อยากบูสต์เยอะก็เปลี่ยนขนาดเล็ก ให้รอบมันจัดขึ้น อยากลดบูสต์ก็เปลี่ยนขนาดใหญ่ ให้รอบมันน้อยลง โดยในรถคันนี้ จะบูสต์อยู่ที่ “45-50 PSI” อัดอากาศผ่าน Intake manifold หรือท่อร่วมไอดี โดยคันนี้ใช้วัสดุที่เป็น Magnesium เพื่อมีความเบา และคงทนต่ออัตราบูสต์สูงๆ นอกจากนี้ ต้องติดตั้ง Burst Panel ในกรณีบูสต์เกิน (Over Boost) แผ่น Burst Panel จะกระเด็นออกมาก่อน เพราะถ้าปล่อยให้บูสต์เกิน จะก่อให้เกิดความเสียหายมาก…
- ตัวปั๊มเชื้อเพลิงกลไก ของ SIPPLE ตามสไตล์อเมริกัน ที่ชอบอะไร “ง่าย” และ “ทน” ไว้ก่อน
- ขาสีดำๆ อันบนมาจาก “ลิ้นเร่ง” (ตัวขาที่ต่อสายคันเร่งอยู่อีกฝั่ง) แล้วมาดึงขาด้านล่าง เป็นระบบการจ่ายเชื้อเพลิง เล่นกันง่ายๆ งี้แหละ
Mechanic Injector : หัวฉีดกลไก ไม่ง้อคอมพิวเตอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง จะเป็นแบบ “Enderle Injection Mechanical System” เป็นระบบที่นิยมมากที่สุดในการจ่ายเชื้อเพลิง โดยไม่พึ่งกล่องสมอง หรือ ECU การปรับตั้งทำได้โดยการปรับเปลี่ยนขนาดของหัวฉีด (Nozzle) ให้ใหญ่และเล็กตามความต้องการของแต่ละสูบ โดย Nozzle จะมีทั้งหมดสองชุด ชุดแรกจะทำงานในรอบต่ำ (Port Nozzle) และอีกชุดจะทำงานตอนคันเร่งเปิด (Top Nozzle) เรียกว่า Hi-Speed Jets (เหมือนกับ “นมหนูเร่ง” ในเครื่องคาร์บูเรเตอร์ทั่วไป) และสามารถปรับ Curve ของการจ่ายน้ำมันโดยเปลี่ยน Bypass Phil ให้ใหญ่หรือเล็กได้ และเปลี่ยนสปริงตัวดันทางน้ำมันไหลกลับ (Release Spring) เป็นตัวกำหนดแรงดัน เพราะในระบบนี้จะไม่มี Regulator แต่ใช้ Release Valve เป็นตัวกักน้ำมันแทน และจะมีตัวตัดระบบน้ำมันเชื้อเพลิง (Shut off Valve) ซึ่งเป็นระบบกลไกต่อมาเพื่อปิด เปิดวาล์วของเชื้อเพลิงไม่ให้เดินทางไปที่ชุดหัวฉีดของเครื่องยนต์ ทุกๆครั้งที่จะดับเครื่องยนต์จะต้องปิดตัว Shut off valve ที่ว่านี้ เพื่อส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ และเป็นการเซฟตี้ให้กับตัวรถ…
- ท่อแบบ J-Pipe (ไม่เกี่ยวกับ J-Pop) ยิงสด “สูบต่อสูบ” ระเบิดขี้หูดีนักแล
- จานจ่าย MALLORY พร้อมสายหัวเทียน
- อันนี้คือโครงสร้างของระบบ Over Head Valve ตัวก้านกระทุ้งด้านซ้าย ถ้ามีการสั่น หรืองอ จะทำให้ระยะการเปิดปิดวาล์วผิดเพี้ยนไป ส่งผลเสียหายกับเครื่อง อันขวาเป็นแบบพิเศษ ปรับตัวก้านกระทุ้งให้ “เยื้อง” (Offset) เพื่อให้รับแรงได้สมบูรณ์มากขึ้น
- เกียร์ LENCO หัวหมู BROWELL
Transmission : LENCO Air Shifted for 5,000 Hp
ระบบส่งกำลังเลือกใช้เกียร์ของ LENCO ซึ่งเป็นแบบ Air Shifted (ไม่ใช่ออโต้) แบบ 3 จังหวะ ซึ่งรถ Drag ที่เร็วที่สุดในโลกก็ยังคงใช้ระบบนี้อยู่ “คลัตช์” ที่ใช้จะเป็นแบบ Centrifugal (แรงเหวี่ยงหนีศูนย์) ของ HAYS เป็นแบบสามแผ่น (Triple Plates) แต่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากถึง “10 นิ้ว” สามารถรองรับได้มากถึง “5,000 แรงม้า” แบบสบายๆ คลัตช์แบบนี้มี “ข้อดี” คือสามารถปรับตั้ง “เพิ่มหรือลด” แรงม้าที่ถ่ายลงพื้น ลดแรงม้าเพื่อลดอาการฟรีทิ้ง หรือเพิ่มแรงม้าเมื่อเจอพื้นผิวแทรกที่ดีๆ สามารถทำได้โดยปรับตั้ง “Static Adjuster” เพิ่มหรือลดแรงกดของ “หวีคลัตช์” ให้มากหรือน้อยในขณะออกตัว และสามารถปรับตั้ง Educator Centrifugal Clutch Lever เพื่อให้ มีแรงกดเพิ่มขึ้นในรอบกลาง จนถึงรอบสูง โดยทางเจ้าของเก่าได้ให้คู่มือการปรับตั้งมาโดยละเอียด…
ก่อนจบ…
สำหรับเรื่องของรถคันนี้ ก็เป็นที่กล่าวขานมากที่สุด ณ ตอนนั้น (ธันวาคม 2551) เพราะอะไรๆ ก็ “เหนือ” กว่าคนอื่นเค้าอย่างมาก หลายคนจึงเฝ้าดูผลงาน โดยหวังว่าจะทุบสถิติทุกอย่างในเมืองไทย และสร้างสถิติที่ “ยากแก่การทำลาย” ลงได้ ก็ขอรอลุ้นต่อไป ว่ารถคันนี้ จะทำเวลาได้เร็วขนาดไหน และจะมีใคร “เร็วกว่า” หรือเปล่า ก็คงต้องติดตามกันต่อไป ว่า “วิ่งจริง” จะเป็นยังไงบ้าง ท้ายสุดก็ขอขอบคุณ “SPEED D” สำหรับข้อมูลต่างๆ และสนาม BDA สำหรับสถานที่ถ่ายทำ…