Idemitsu 600 Super Endurance 2018
เรียบเรียง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : Super Turbo Thailand
สำหรับรายการ “อึด ถึก ทน” ที่พิสูจน์ “ทุกอย่าง” จะคน รถ ทีมงาน การวางแผนต่างๆ มันมีเสน่ห์มากสำหรับการแข่งขันแบบ Endurance ในรายการ Idemitsu 600 Super Endurance 2018 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 แล้ว หลังจากที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปี 2017 ซึ่งปีนี้ก็มีความเป็น “อินเตอร์” มากขึ้น เพราะมีรถและนักขับจากต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง, จีน, มาเลเซีย ฯลฯ เข้ามาร่วมการแข่งขันกันมากขึ้น เสน่ห์ของงานนี้ อยู่ที่การ “หวด” ใช้เวลาอันยาวนานถึง 10 ชม. !!! หรือ 600 นาที เชียวนะ ที่ทุกอย่างจะต้อง Run โดยไม่มีการหยุด กระพริบตาไม่ได้ เพราะมีเหตุการณ์พลิกผันแบบคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา งานนี้ อย่าเพิ่งตัดสินใคร จนกว่าจะจบการแข่งขัน !!!
สำหรับงาน Idemitsu 600 Super Endurance 2018 จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม นับว่าโชคดีเพราะมี “ลมหนาว” เข้ามา อาจจะไม่ถึงหนาว แต่เรียกว่า “ค่อนข้างเย็น” ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดกับสิ่งรอบด้านลงไปได้เยอะ สำหรับเกมการแข่งขัน รถแข่ง Rolling Start เริ่ม “ไฟเขียว” ที่เวลา 10.30 น. ตั้งนาฬิกา Countdown แล้วก็ “เหนี่ยว” กันไปเลย โดยมีจำนวนรถแข่งใน Track มากถึง “81 คัน” !!! และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่มีการแข่งขันซึ่งมีรถแข่งอยู่บนแทร็กพร้อมกันมากขนาดนี้ วิ่งว่อนกันเต็ม Track เรียกว่า “ไม่มีว่าง” กันเลย ผลัดกันรุกผลัดกันรับ งานนี้เต็มพิกัดจริงๆ ใครว่าคนดูจะไม่มันส์ ลองมาเจอรถวิ่งต่อเนื่องกัน เกาะบี้กันมาเป็นกลุ่มๆ รับรองจะเปลี่ยนความคิดใหม่…
Division 2 : “เดวิด” แชมป์เก่าเสียแชมป์
ตำแหน่งโพลในรุ่นใหญ่ที่สุดอย่าง Super Turbo Division 2 มีรถเข้าแข่งจำนวน 17 คัน อันดับสตาร์ทโพล เป็นของ รถแข่ง GAC TRUMPCHI GA4 ตัวแปลกจากแผ่นดินใหญ่ แต่ขุมพลังเป็น HONDA K20A เพราะกติกาไม่ได้ห้าม Swap Engine เอาที่สบายใจกันเลย เป็นรถหมายเลข 245 จาก Team Endless ซึ่งขับโดย Deng Bao Wei, Yiu Lung, Cheung Chi Sing และ Man Ting Yu ขนาบข้างด้วย Honda FD2 สีเหลือง หมายเลข 214 จากทีม 778 Auto Sport ที่ขับโดย Lo Ka Chun, Lo Pak Yu, Tsang Chi Kong และ Lo Hung Pui ส่วนกริดที่ 3 เป็นของรถแข่ง GAC TRUMPCHI GA4 หมายเลข 246 อีกคันจาก Team Endless ขับโดย Wang Wen Bin, Wang Jian Feng, Li Ying Xi และ Huang Tao
ออกสตาร์ทเรซไปเพียงไม่กี่รอบสนาม “งานมา” เกี่ยวกันยับกลุ่มใหญ่ ทำให้กรรมการต้องสั่งตีธงเหลืองทันที ก่อนที่เซฟตี้คาร์จะออกมาวิ่งนำรถแข่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เคลียร์สนามจากอุบัติเหตุกินเวลาไปกว่า 10 นาที ก่อนจะกลับมาเริ่มการแข่งขันได้อีกครั้งหลังผ่านไป 30 นาที โดยผู้นำหลังผ่านชั่วโมงแรกของการแข่งขันในคลาส Super Turbo Division 2 เป็นของรถแข่ง Honda DC5 หมายเลข 277 จาก Sky&King Global Motorsport ที่ขับโดย Yu Chi Ngong, Li Lok Bun และ Chow Ching Lung Christopher ซึ่งพลิกขึ้นนำหลังจากที่เจ้าของโพลอย่าง รถแข่ง GAC TRUMPCHI GA4 หมายเลข 245 จาก Team Endless ต้องนำรถเข้าพิตหลังมีปัญหาในช่วงต้นเรซ
หลังผ่าน 3 ชั่วโมงแรก งานเข้ารอบสอง เมื่อ TOYOTA C-HR หมายเลข 220 ทีม Toyota Gazoo Racing Team Thailand กลับ “เครื่องระเบิด” ขณะที่แข่งขันไป 4 ชั่วโมง 25 นาที ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างแรง ยังดีว่าดับได้ทันเลยไม่สร้างความเสียหายหรือบาดเจ็บให้กับนักแข่ง แต่ก็ต้องออกจากการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย อีก 20 นาที ต่อมา เกิดอุบัติเหตุที่โค้ง 4 มีรถหมุนเคว้งและจอดคา รัน ออฟ แอเรีย โดยใช้เวลาเคลียร์ Track ราว 10 นาที จึงแข่งขันต่อ…
ผ่านไป 5 ชั่วโมง เรามากัน “ครึ่งทาง” แล้วนะ ผู้นำกลับมาเป็นของ Honda DC5 หมายเลข 277 จาก Sky&King Global Motorsport ที่ขับโดย Yu Chi Ngong, Li Lok Bun และ Chow Ching Lung Christopher อีกครั้ง โดยควบไปทั้งสิ้น 141 รอบสนาม แต่หลังจากนั้น รถเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ต้องแก้ไขหลายครั้ง ทำให้จากผู้นำ กลับร่วงลงไปอยู่อันดับ 8 ทำให้ “ไทยผงาด” ส่งผลให้ผู้นำเปลี่ยนมาเป็นของ “แชมป์เก่า” อย่าง Toyota Altezza หมายเลข 200 จาก Wako’s Team Thailand ขับโดย “บังซิด” หรือ เดวิด อยู่เป็นสุข, ประพจน์ ชื่นวิจิตร, ชานน อัศวสังสิทธิ ที่จากเดิมตามหลังอยู่ถึง 2 รอบสนาม ก่อนจะพลิกสถานการณ์มีลุ้นแชมป์สมัยที่ 2 ติดต่อกัน ก็ยังนำอยู่ถึง 7 ชั่วโมง ด้วยเวลา 197 รอบ ส่วนอันดับ 2 เป็นของ รถแข่ง Honda FD2 หมายเลข 214 จาก 778 Auto Sport ขับโดย Lo Ka Chun, Lo Pak Yu, Tsang Chi Kong และ Lo Hung Pui ตามหลังผู้นำ 4 รอบสนาม ตามด้วย Honda Fit RS หมายเลข 211 จาก WaxOne Racing Project ที่ขับโดย อานนท์ รอดประเสริฐ, ชาญชัย ฤกษ์อรุณ, สิริศักดิ์ มุณฑุกัมพล และ ภิษณุ ภูษิตานนธกูร ที่ขยับขึ้นมาถึงท็อปทรีเป็นครั้งแรกตามหลังหัวแถว 5 รอบสนาม…
แต่อย่างที่บอก ยังไม่จบ อย่าเพิ่งตัดสิน เพราะในชั่วโมงที่ 8 Altezza เบอร์ 200 ที่นำอยู่นั้น เกิด “แป้ก” ไปซะงั้นหลังออกจากโค้ง 3 แล้วก็จอด “พักผ่อน” เลย ทำให้ Civic FD2 เบอร์ 214 กลายเป็นผู้นำแทน แล้วก็จะมีเจ้ารถที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเอามาแข่ง Endurance ได้ เกียร์ไฟฟ้า ท่อก็ไม่ดัง แต่มาเงียบๆ ฟาดเรียบนะ อย่าง Peugeot RCZ 1.6 Turbo หมายเลข 216 ที่ขับโดย Sham Gai Tong Gary, Lo Pak Yu, Lu Tin Yee Mark และ Shu Lui Yip ที่ขยี้กับ Civic FD2 เบอร์ 214 อยู่ตลอดในช่วงนี้…
ในช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้าย นี่แหละ “ไฮไลต์เด็ด” เพราะสิ่งที่เหลืออยู่ต้อง “ใช้ให้หมด” ทุกคันจะเริ่มบี้กันอย่างดุเดือด ต่างจากช่วงแรกๆ ที่ “ประคอง” ดูเชิงกันไป และแล้ว ในรุ่น Division 2 อันดับ 1 เป็นไปตามคาด คือ Civic FD2 เบอร์ 214 เข้าวิน ด้วยเวลารวม 10 ชั่วโมง 1 นาที 9.305 วินาที ซิ่งไปทั้งสิ้น 277 รอบสนาม คิดเป็นระยะทางถึง 1261.458 กิโลเมตร !!! อันดับ 2 เป็นไปตามคาด Peugeot RCZ 1.6 Turbo หมายเลข 216 จ่อตูดแชมป์มาด้วยเวลา ที่ตามหลังแชมป์ 1 นาที 36.539 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นของ Toyota 86 หมายเลข 221 จาก Toyota Gazoo Racing Team Thailand ที่ขับโดย Naoki Kawamura, อาทิตย์ เรืองสมบูรณ์, สุพงศ์ ขำต้นวงษ์ และ Ogura Yatyzuhiro ตามหลังแชมป์ 12 รอบสนาม…
Division 3 : Swift Singha TT Motorsport ค่อยๆ เก็บ
ส่วนในคลาส Super Turbo Division 3 มีจำนวน 22 คัน ตำแหน่งสตาร์ทโพลเป็นของรถแข่ง Honda Jazz หมายเลข 311 จากทีม Wax One Racing Project ที่ขับโดย ชนะพันธุ์ กิตติเกษม, พิพัฒน์ เพ็ชรรัตน์, ภัทรพล กรเวช และ อริยพล จิรโอฬารนนท์ ขนาบข้างด้วย Suzuki Swift หมายเลข 319 จาก Singha TT Motorsport ที่ขับโดย ชยุส ยังพิชิต, จักรพันธ์ ตันกำเนิด และ ฟรานชิสโก คาตาเนีย ตามด้วยรถแข่ง Toyota Yaris หมายเลข 321 จากญี่ปุ่น ทีม ArtoOsaka CEF Advics Pertamina Racing ที่ขับโดย 4 นักขับญี่ปุ่นอย่าง ยามาโมโต้ ริวจิ, คาวาคามิ เคนจิ, ซาคาโมโต้ อิสเซ และ ยามาซากิ ทาเคฮิโกะ…
บรรยากาศดุเดือดไม่แพ้รุ่นใหญ่กว่า แต่ละคันก็พยายามวางแผนการขับและการเซอร์วิสให้ดีที่สุด โดยแชมป์ในรุ่นนี้ตกเป็นของ รถแข่ง Suzuki Swift หมายเลข 319 จาก Singha TT Motorsport ที่ขับโดย “เทิร์ก” ชยุส ยังพิชิต, “มาร์คกี้ คาร์ลอส” จักรพันธ์ ตันกำเนิด และ ฟรานชิสโก คาตาเนีย ผู้นำในช่วงแรกที่แม้จะโดยแซงจากการเข้าพิตไป แต่สามารถไล่เก็บอันดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถทวงจ่าฝูงได้อีกครั้ง และเข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวล่ารวม 10 ชั่วโมง 2 นาที 26.506 วินาที ด้วยระยะทาง 274 รอบสนาม เหนืออันดับ 2 อย่าง รถแข่ง Honda Jazz หมายเลข 311 จากทีม WaxOne Racing Project ที่ขับโดย ชนะพันธุ์ กิตติเกษมศักดิ์, พิพัฒน์ เพ็ชรรัตน์, ภัทรพล กรเวช และ อริยพล จิรโอฬารนนท์ ตามหลัง 3 รอบสนาม ส่วนอันดับ 3 เป็นของรถแข่ง Toyota Altis หมายเลข 370 ทีม Toyota Gazoo Racing Team Thailand ที่ขับโดย 2 ขับไทย และ 2 ขับญี่ปุ่นอย่าง ธีรเวทย์ พุกย์พิบูลย์, สุพงศ์ ขำต้นวงษ์, ชิบะ เคนทาโร และ ทาคายูกิ คิโนชิตะ ตามหลังแชมป์ 5 รอบสนาม…
Division 4 : รุ่นเล็กแต่เต็มร้อย “ทีมโช้คเขียวๆ” ซิวแชมป์
ในรุ่น Super Turbo Division 4 กระหน่ำแทร็คด้วยรถแข่งมากที่สุดถึง “42 คัน” โพลโพซิชั่นเป็นของ Honda City หมายเลข 417 จาก Star Performance ที่ขับโดย สรรพร เชาว์ชวานิล, ระพี พวงสุพาง, จิรัฐิ เศวตศิลา และ พีรวัตร ตะวันธรงค์ โดยกริดที่ 2 เป็นของรถแข่ง Ford Fiesta หมายเลข 464 จาก PTT Performa-V.C.Meat-RPM-Cosmis ที่ขับโดย อัครเดช เตชะสัตยา, สัณชัย เองตระกูล, ปรีดา ตันเต็มทรัพย์ และ ขจรศักดิ์ ณ สงขลา ส่วนกริดที่ 3 เป็นของ รถแข่ง Honda Jazz GK หมายเลข 483 จาก Tein Team Thailand ที่ขับโดย 4 นักขับญี่ปุ่นอย่าง ชูจิ มาเอจิมะ, มาซาฮิโร่ ซาซากิ, ฮิเดะโนริ โคอิชิ และ ฮิโรฮิสะ ฟูจิตะ เริ่มการแข่งขันกันแบบไม่มีใครยอมใคร แต่ที่ฉายแววมากที่สุด วิ่งอยู่หัวแถวตลอด แถมยังแซงรุ่นใหญ่กว่าได้อีก ก็คงหนีไม่พ้น Honda City หมายเลข 488 จาก Tein Team Thailand ซึ่งขับโดย ธนสิทธิ์ ปัญญาทรานนท์, ฮิเดะฮารุ คุโรกิ และ ยศรัญ แสนสุข ที่ไล่กวดแซงทั้งคู่แข่งในคลาส Super Turbo Division 2 และ Super Turbo Division 3 จนสามารถซิวอันดับ 3 โอเวอร์ออล และครองบัลลังก์ในคลาส Super Turbo Division 4 หลังแข่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลารวม 10 ชั่วโมง 3 นาที 5.667 วินาที เหนืออันดับ 2 อย่าง รถแข่ง Honda Jazz หมายเลข 484 จาก Tein Team Thailand ตามหลัง 2 รอบสนาม ขับโดยนักขับชาวญี่ปุ่น อากิระ วาตานาเบะ, ทาคาชิ คุโบะ, โทชิกิ โอยุ ส่วนอันดับ 3 เป็นของ รถแข่ง Honda City หมายเลข 417 จาก Star Performance ที่ขับโดย สรรพร เชาว์ชวานิล, ระพี พวงสุพาง, จิรัฐิ เศวตศิลา และ พีรวัตร ตะวันธรงค์ ตามหลังแชมป์ 9 รอบสนาม…
จบกันไปส่งท้ายปีเก่า กับรายการ Idemitsu 600 Super Endurance 2018 ที่ปีนี้ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะถูกบันทึกอย่างไม่เป็นทางการไว้ว่า เป็นรายการ Endurance ที่มีรถแข่งมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก !!! ที่สำคัญ “เก่าใหม่ไม่เกี่ยง” ถ้าทำรถถูกกติกา คือ “แข่งได้” เป็นการเริ่มต้นความฝันของคนที่อยากแข่งรถ แต่ทุนทรัพย์จำกัด (เหมือนผม) ก็สามารถสานฝันต่อไปได้ในอนาคต ในปีหน้า ความสนุกยังมีเหมือนเดิม และ จะมีความเป็นสากลมากขึ้นกว่าปีนี้ ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ได้อันดับ รวมไปถึง “ผู้ที่วิ่งจนครบเวลา” บางคันอาจจะรั้งท้าย แต่อย่างน้อยคุณก็มีใจที่จะวิ่งจนจบ รวมไปถึงผู้ที่ผิดหวัง “คุณสู้เต็มที่แล้ว” ปีหน้าเจอกันครับ ว่าแต่ก่อนจบ เรามี Tips ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแข่งขันมาฝาก แบบ Exclusive ที่เราตั้งใจนำมาฝากแฟนๆ กันครับ บอกเลยห้ามพลาดจะเสียใจ มีแค่ที่นี่ XO AUTOSPORT ที่เดียวครับ…
Tips of Idemitsu 600 Super Endurance 2018
สำหรับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นข้อมูลอันน่าสนใจจากการแข่งขัน หลายคนอาจจะดูแค่รถวิ่งไปวิ่งมา แต่ ผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนอยากรู้ ว่า “เขาทำอะไรกัน” และ “มีข้อกำหนดตรงไหน” รวมไปถึง “ไฟสีต่างๆ นั่นมันคืออะไร” ตรงนี้เป็นเรื่องของการแข่งขันจริงๆ แต่เราก็บุกไปขอรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน จากทีมงานผู้จัด ซึ่งได้ข้อมูลดีๆ มาฝากกัน ดังนี้…
- เบอร์รถ : จริงๆ แล้วการแข่งขันเปิดให้รถแข่งทั้ง 4 Division แต่ในปีนี้ Division 1 มีรถแข่งมาสมัครไม่เพียงพอ ก็เลยไม่เปิดการแข่งขันในรุ่นนี้ พูดถึงเบอร์รถ เป็นเลข 3 หลัก เช่น 2XX, 3XX, 4XX ตัวหน้าสุดก็จะเป็นการบอก Division Level ของรถคันนั้น ทำให้สังเกตและรับรู้ได้ง่ายทุกคน ซึ่งหลายคน “งง” เพราะรถบางทีหน้าตาหรือรุ่นรถมาเหมือนกัน แต่แข่งอยู่กันคนละ Division ขึ้นอยู่ที่เครื่องยนต์ที่ใช้อยู่นั่นเอง ผู้ชมถ้ารู้ก็จะชมการแข่งขันอย่างสนุก จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร…
- สีของไฟข้างรถ และ กระจกบานหน้า : จะมีไฟ LED เป็น “แถบสี” อยู่เหนือ Plate Number (เบอร์รถ) เพื่อส่องสว่างให้เห็นเบอร์รถ และ อยู่บนหน้าปัด หันออกมาทางกระจกหน้า เหมือนไฟ “แท็กซี่มิเตอร์” นั่นเอง โดยมากถ้าเป็นรถ “พวงมาลัยขวา” ก็จะอยู่ด้านซ้าย แต่ถ้าเป็นรถ “พวงมาลัยซ้าย” ก็จะอยู่ด้านขวา (ปีนี้มีทีมรถจากจีนที่เป็นพวงมาลัยซ้ายอยู่หลายคัน)สำหรับ “การแบ่งสี” ก็จะมี “สีแดง” เป็นรุ่น Division 4 “สีเขียว” เป็นรุ่น Division 3 ส่วน “สีฟ้า” จะเป็น Division 2 สำหรับไฟแท็กซี่มิเตอร์นั้น จะเป็นสีเดียวกับไฟส่องเบอร์ เอาไว้ให้คนขับ “สังเกตได้” จากกระจกหลัง ถ้าเป็นรถที่ Division สูงกว่า มาเร็วกว่า และกำลังจะ “แซง” จะต้อง “เปิดทาง” ให้โดยทันที แต่ถ้าเป็น Division เดียวกัน อาจจะมีการ “บังไลน์” กันได้ เพราะมีผลกับอันดับในรุ่น อะไรประมาณนี้ และเพื่อความปลอดภัยด้วยครับ…
- ทำไมต้อง 600 นาที : จริงๆ ทางผู้จัดก็อยากจะจัด Endurance 12 ชม. แบบสากลอยู่แล้ว เพียงแต่เราขอลองจัด 10 ชม. หรือ 600 นาที ดูก่อนตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าผลตอบรับเป็นยังไง แต่ผลตอบรับดีตั้งแต่ปีที่แล้วและปีนี้ ปีหน้าก็ขอลองพิจารณาก่อนว่าจะจัด 12 ชม. ดีไหม ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับครับ…
- การเติมน้ำมัน : อย่างที่บอกว่าช่วงเสี้ยววินาทีของ Endurance นั้นมีความหมายมาก โดยเฉพาะการเข้าพิต (Pit Service) การเติมน้ำมันก็มีผลตั้งแต่ “หัวจ่าย” ถ้าทีมที่เงินหนาหน่อย ก็จะใส่ “หัวเจ็ท” ที่เติมได้เร็วและมาก ซึ่งจะได้เปรียบทีมเล็กที่อาจจะไม่พร้อมในการใช้ เพื่อลดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ทางผู้จัดเลยบังคับให้ทุกทีม “ซื้อหัวจ่ายน้ำมันจากผู้จัด” โดยเป็นหัวเติมแบบตามปั๊มทั่วไปนี่แหละ บังคับความโตรูปากหัวเติมไม่เกิน “24 มม.” เท่านั้น แต่รูเติมที่รถไม่บังคับ ถังน้ำมันไม่บังคับ ส่วนถังเติมจะเป็นแบบ “ถังลอยบน” ก็ได้ หรือจะแบบ “ถังปั๊มดูด” ก็ได้ แล้วแต่ถนัดเลย…
- การเข้าพิท : ทางเราก็ไม่ได้บังคับเรื่องเวลาเข้าพิท ทางทีมแข่งบริหารกันเองตามสะดวก ส่วน Pit Crew จะกำหนดว่า “ห้ามช่างเซอร์วิสแตะต้องตัวรถเกิน 4 คน” รถเข้าพิทจะต้อง “ดับเครื่อง” ทุกครั้ง จะเติมน้ำมัน เปลี่ยนยาง เปลี่ยนคนขับ ฯลฯ สามารถทำพร้อมกันได้ แต่คนเติมน้ำมันจะต้องมีชุดกันไฟและหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้…
- การกำหนดความเร็วในพิท : ไม่เกิน 60 km/h รถแข่งจะต้องมีการตั้งโปรแกรม Pit Lane Speed Limit โดยจะต้องกดสวิทช์ก่อนเข้าเส้นปากทางพิทขาเข้า แล้วก็วิ่งเข้ามา จะได้ยินเสียง “รอบตัด” จำกัดความเร็ว ตอนออกก็ไปปลดเอาตรงเลยเส้นปากทางพิทขาออกไปแล้ว
- อมยิ้ม : มันจะมีศัพท์สแลงคำว่า “Lollipop” (โลลี่ ป๊อป) หรือ “อมยิ้ม” จะหมายถึงป้าย “STOP” ที่เอาไว้ยื่นมาให้นักแข่งหยุดรถรอ ถ้าให้ไปก็จะยกป้ายขึ้น ลักษณะเป็นป้ายวงกลมสีแดงๆ และมีด้ามจับยาวๆ ดูเหมือนอมยิ้ม ก็เลยเรียกกันมาตลอด…
- จำนวนคนขับ : บังคับว่าไม่ต่ำกว่า 2 คน และ ไม่เกิน 4 คน อยู่ที่ต้องการ และเปิด “ฟรีสไตล์” ในด้านเวลาการขับ ไม่บังคับว่าจะต้องขับเวลาเท่าไรถึงจะเปลี่ยน ทีมแข่งบริหารจัดการกันเองตามสะดวก…
- ความมันส์อยู่ที่ “พิท” : ถ้าใครได้ดูเวลารถแข่งเข้าพิท จะเห็นได้ว่าจะมี “ช่วงชุลมุน” ที่นักแข่งเปลี่ยนตัว เปลี่ยนยาง เติมน้ำมัน จริงๆ แล้วไม่ได้วิ่งกันมั่วนะ นั่นคือ “แผน” ที่ทีมเซอร์วิสต้องจัดการ ใครทำอะไร ใครจะวิ่งไปทางไหน จะต้องมีทิศทางครับ ไม่งั้นชนกันตายห่… ซึ่งทุกวินาทีมีค่ามาก ต้องแข่งกับเวลาที่ถูกกำหนดมาในแผน มันส์ครับ…
- เดินใน Pit Lane กรุณามี “สติ” :
- การสตาร์ท : เป็นการ Rolling Start โดยการวิ่งวนมาแล้วรอสัญญาณไฟเขียว หลังจากนั้นก็ “มุดกันตามอัธยาศัย” แต่ด้วยปริมาณรถที่เข้าแข่งเยอะมากถึง 80 กว่าคัน จึงต้องแบ่งสตาร์ทเป็น Division จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ที่มี คือ Division 2-3-4 ตามลำดับ โดยมี Safety Car นำในแต่ละกลุ่ม โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณหนึ่งเพื่อความปลอดภัย…
- รวมกันหลังแข่ง : บอกแล้วว่าในช่วงท้ายนี่สำคัญมาก เป็นไฮไลต์เด็ดกับบรรยากาศที่ถ้าคนกลับก่อนจะไม่มีโอกาสได้เห็น (ก็แหงล่ะ) รถที่เข้า “รับธง” ทุกคัน จะต้องมาจอดกันที่ “กริดสตาร์ท” เพื่อรอการรับรางวัล หลังจากนั้นรถที่ได้ตำแหน่งจะต้องไปจอดที่ Parc Ferme เพื่อ “ตรวจสภาพ” จังหวะที่ตอนนี้แหละครับ จะเป็นการรวมตัวของ “ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นทีมเซอร์วิส ผู้จัดการทีม นักแข่ง จะมาทักทายพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน และผู้ชมที่มีบัตรคล้องคอ ก็จะสามารถลงมาสัมผัสบรรยากาศตรงนี้ได้
- ขวัญใจประชาชน : อันนี้ไม่นับแชมป์นะ แต่จะเป็น “ความพยายามดีเลิศ” ที่ชัดเจนสุด ก็ Honda City หมายเลข 412 ทีม The Pizza Company ที่ประสบเหตุ “ล้อหน้าซ้ายหลุด” หายไปเลย ในรอบเกือบสุดท้าย เลยทำให้ต้อง “วิ่ง 3 ล้อ” เอาจานเบรกปั่นไปกับพื้น Track ไฟแลบ ตอนแรกก็งงทำไมไม่เข้าพิทวะ จนรอบสุดท้าย ก็ค่อยๆ ไถไฟแลบ เพื่อวนมา “รับธง” ผ่านธงแล้วก็มาจอดสนิทข้าง Track ทำให้ “วิ่งครบ” ตามเวลา (แต่ไม่รู้นะว่าต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไร) มันมีผลต่อการแข่งขันและ “จิตใจ” นะครับ อย่างน้อยเหนื่อยมาขนาดนี้ขอ Goo รับธงก็ยังดี ส่วนอีกคันก็ Vios รุ่นแรก สีขาว หมายเลข 445 นี่ก็พยายามจนจบเวลา และ “ทุกคน” ที่สู้กันจนนาทีสุดท้าย ผมเข้าใจความรู้สึกตอน “รับธง” นะ เพราะตัวผมเองก็เคยแข่ง (แบบขำๆ) โกคาร์ท Endurance แม้ว่าจะรั้งท้าย แต่ความรู้สึกว่า “วิ่งจบ” และ “รับธง” ได้นั้นมันดีใจเหมือนกับได้แชมป์ อย่างน้อยเราก็ทำสำเร็จวิ่งครบเวลานั่นเอง…
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม : www.facebook.com/Superturbothailand/