รีวิว Idemitsu Super Turbo Thailand สนาม 3-4 สไตล์ XO AUTOSPORT


รีวิว
Idemitsu Super Turbo Thailand สนาม 3-4 สไตล์ XO AUTOSPORT

พบบรรยากาศการแข่งขันที่ไม่ได้มันส์แค่ผู้นำแน่นอน !!!

เรียบเรียง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ศึกรถยนต์ทางเรียบ Idemitsu Super Turbo Thailand 2018 สนาม 3-4 ดวลความมันส์กระหึ่มเช่นเคย ครั้งที่แล้วไปขยี้กัน สนามในตำนาน อย่างพีระฯ เซอร์กิตแต่คราวนี้ย้ายวิกกันมากับสนามระดับโลกอย่าง ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต .บุรีรัมย์ กับระยะทางต่อรอบสนามยาวถึง 4.554 กม. เรียกว่างานนี้ใครไม่แรงจริง จะถูกทิ้งไว้กลางทาง !!! สำหรับรถที่ใช้แข่ง ภาพรวมก็จะมีความหลากหลายกติกาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน สรุปรถอะไรก็ได้มีสิทธิจะแข่งได้หมด โดยเฉพาะเหล่ารถสปอร์ต 90’s” ที่มีเวทีในการขยี้คันเร่ง เปิดโอกาสให้ช่างไทยได้แสดงฝีมือในการโมดิฟายเหมือนอดีตที่ผ่านมา และที่แน่ๆ คือความมันส์ไม่ได้อยู่แค่ผู้นำแต่จะอยู่ตรงกลุ่มกลางที่ไล่ขยี้หาอันดับกันอย่างเสียไม่ได้ ยิ่งถ้าคนที่จะลุ้นอันดับ 5” งานนี้ยอมตกโพเดียมไม่ได้แน่นอน นี่แหละ ความมันส์อยู่ตรงนี้ ซึ่งเราสามารถชมบรรยากาศความมันส์ย้อนหลังผ่านทาง facebook.com/Superturbothailand ดูกันยาวๆ เต็มอิ่มตลอดการแข่งขันแบบ Non Stop กันเลย

หมายเหตุ : การรายงานผลสรุป ใช้เป็นผล Over All ในแต่ละรุ่น เพื่อความกระชับ ส่วนรถทุกรุ่น (ยกเว้น JAPAN 20 +) มีการกำหนดปากทางเข้าด้วย Restrictor ตามกติกาที่กำหนด

JAPAN 20 +

มาวินดาวรุ่ง ฝีมือแรง ขยี้มือเก๋าอ๊อฟ หทัย

รุ่นติดเรตหรือ 20 + “ทเวนตี้ พลัสหรือยี่สิบบวกก็ว่ากันไป เอางี้แล้วกัน เผื่อคนที่ยังไม่เคยดูจะได้เข้าใจว่ารุ่นแข่งแต่ละรุ่น จะต้องเป็นรถประเภทไหน โมดิฟายได้ประมาณไหน สำหรับ JAPAN 20 + ก็จะเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นอายุไม่เกินปี 1997” (นับจากปีการผลิต) เท่ากับรถมีอายุ 20 ปี ++ เหล่า HONDA มีเฮ เพราะ EG และ EK เป็นรถยอดนิยมสูงสุด จริงๆ จะเป็นยี่ห้ออะไรก็ได้ไม่เกี่ยง แต่ HONDA ดูจะมีภาษีดีกว่าเพื่อน รุ่นนี้แบ่งเป็น Single Cam กับ Twin Cam บังคับเกียร์ธรรมดา H-Pattern หลักๆ ประมาณนี้ แต่ที่มันส์สุดๆ ก็คือเป็นรุ่นแข่งรุ่นเดียวในรายการ ที่ไม่บังคับขนาดปากทางเข้าหรือเปิดปากใส่กันได้เต็มที่ จะ 4 ลิ้น อะไรก็ว่าไป เลยปล่อยพลังกันได้เต็มที่

การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะรถแข่งแต่ละรุ่น แต่ละคันแรงพอๆ กันคนขับก็ฝีมือไม่หนีกัน ก็มีมือเก๋าประสบการณ์กับมือใหม่ไฟแรงเรียกว่าเผลอไม่ได้เสียบกันตลอด สำหรับแชมป์ในสนามที่ 3 ตกเป็นของ อณิวัฎ ล้อมมหาดไทย จาก WAXONE RACING PROJECT ตามด้วยอันดับ 2 มาวิน บุญอิต นักขับดาวรุ่งจาก STAR PERFORMANCE ที่ฝีมือก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่หัวแถว ซึ่งครอบครัว บุญอิต นี้ก็ชอบแข่งรถอยู่แล้ว และอันดับ 3 เป็นจอมเก๋านักแข่งวัยรุ่น (ยุค 90) อย่าง หทัย ไชยวัณณ์ จาก ELF SINGHA RACING TEAM ที่ยังคงไว้ลาย ส่วนสนาม 4 แชมป์เปลี่ยนมาเป็นของ มาวิน เข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวลา 19 นาที 6.211 วินาที ทิ้งอันดับ 2 อย่าง อณิวัฎ ถึง 5.074 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นของ หทัย เหมือนเดิม

SUPER TURBO D4

สำหรับรุ่น SUPER TURBO นี้ จะไม่มีการกำหนดอายุของรถอะไรก็ได้แต่ขอให้ตามกติกา โดยจะเป็น 4 Division ไล่ตั้งแต่รุ่นเล็ก อย่าง Division 4 หรือ D4 ที่ฮอตฮิตมาก จนต้องวิ่งแยกเป็นรุ่นต่างหาก เพราะเป็นรถเครื่องยนต์ “1,200 Turbo” พวก ECO CAR ทั้งหลาย นำมาเซ็ตเทอร์โบ แล้วก็พวก “1,500 N.A.” พันห้าพาเพลินทั้งหลาย รุ่นยอดนิยมกันทั้งนั้น ในสนาม 3 ออกสตาร์ทกันถึง 26 คัน แชมป์ตกเป็นของ สรรพร เชาวน์ชวานิล จาก STAR PERFORMANCE ควบ Honda Brio สตาร์ทจากโพล นำม้วนเดียวจบ โดยมีอัชริฌา แก้วตาสามหรืออัช ทองพูนที่เริ่มจากสาย Drag และหันมา Circuit อีกทาง จาก WAXONE  RACING  PROJECT ผลงานสายเลี้ยวก็เจ๋ง เพราะตามเข้าป้ายในอันดับ 2 รวดเดียวเหมือนกัน ส่วนอันดับ 3 เป็นของพศวัต เนตรอำไพ หรือโต๊ด IMPURE” จาก พิมลชัย มอเตอร์สปอร์ต นี่ก็แข่งมาพักใหญ่แล้วก็ยังคงเส้นคงวาได้ดี… 

ขณะที่ในสนาม 4 สรรพร ยังคงทำผลงานยอดเยี่ยมได้ออกตัวจากตำแหน่งโพล ก่อนนำม้วนเดียวจบด้วยเวลา 22 นาที 12.580 วินาที อันดับ 2 มีเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้เป็น ธนสิทธิ์ ปัญญาทรานนท์ หรืออั๋นจาก TEIN TEAM THAILAND ที่ได้อาจารย์วัวเทรนมาดี ซึ่งสนาม 3 รถมีปัญหา DNF ไปซะก่อน สนาม 4 ตามมาหวดคืนได้ และ ธิรุตม์ สุวรรณมาศ จาก GS RACING TEAM ในอันดับ 3 ตามลำดับ

SUPER TURBO D1-2-3 

ครั้งนี้แข่งรวบกัน 3 Division สนาม 3 สตาร์ททั้งหมด 19 คัน พูดถึง D1 ก่อนแล้วกัน จะเป็นเครื่องความจุ “2,050 ซีซี. + เทอร์โบกับ “2,550 ซีซี. ไม่เทอร์โบปรากฏว่าแชมป์ D1 เป็นของ ณัฐสันต์  อัศวเสวี  จาก BMS-KRITOIL-SANON อู่ข้าวอู่น้ำ RACING TEAM ตามด้วย ณัฐวุฒิ นาคสุวรรณ จาก VATTANA MOTORSPORT และ เอกสิทธิ์ นามแสงผา จาก TUNE BY AOT ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

ส่วนรุ่น D2 จะเป็นเครื่องความจุ “1,650 ซีซี. + เทอร์โบและ “2,050 ซีซี. ไม่มีเทอร์โบ” (ห้ามลิ้นเร่งอิสระ) อันดับ 1 เป็น ชยุส ยังพิชิต หรือเทิร์กสายขับจอมเก๋าจาก Singha TT Motorsport พา SILVIA S13 ขุมพลัง SR16VE “มีหอยเข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวลา ด้วยเวลา 22 นาที 42.910 วินาที คว้าแชมป์ D2 สนาม 3 ไปครอง อันดับ 2 ขยี้กันสูสีจริงๆ กับ CIVIC FD2 K20Aที่ขับโดย พิพัฒน์ เพ็ชรรัตน์ หรือปุ๊ก RP-II” นี่ก็หันเหจากสาย Drag มาเหมือนกัน จาก WAXONE RACING PROJECT จ่อติดห่างมาเพียง 1.384 วินาที ตามด้วย ระพี พวงสุพาง จาก STAR PERFORMANCE ในอันดับ 3

สำหรับรุ่น D3 จะเป็นเครื่องความจุ “1,550 ซีซี. + เทอร์โบและ “1,850 ซีซี. ไม่มีเทอร์โบด้านแชมป์ในรุ่น D3 ตกเป็นของ อวิโรธน์ ศิรินทร์วรชัยจาก WAXONE  RACING  PROJECT ตามด้วย หทัย และ มาวิน ในอันดับ 2-3 ตามลำดับ

โดยในสนาม 4 ของ Super Turbo D1-2-3 ณัฐสันต์ คว้าแชมป์ D1 ไปครอง 2 สนาม ตามด้วย ณัฐวุฒิ และอันดับ 3 ตกเป็นของนักแข่งสาวสวย ฝีมือดี ปณิชา ดอกจันทร์ จาก WORLD PUMPS RACING TEAM ที่ฝีมือไม่แพ้ผู้ชายเลย !!!

แชมป์ในรุ่น D2 ยังคงเป็นของ ชยุส ที่เฉือนเอาชนะอันดับ 2 อย่าง พิพัฒน์ เพียง 0.950 วินาที บอกเลยว่าคู่นี้ลุ้นกันมันส์มาก ขยี้ตามติดกันทุกวินาทีจริงๆ ตามด้วยอันดับ 3 ขจรศักดิ์ สงขลา หรือบอยขจรจอมเก๋าจาก PTT PERFORMA – V.C.MEAT – RPM – COSMIS ที่ควบ FORD FOCUS Turbo ที่ดูแปลกใหม่เพราะเป็นคันเดียวในสนามที่เป็นยี่ห้อนี้

ขณะที่ผลในรุ่น D3 แชมป์เป็นของ อวิโรธน์  เช่นเคย ตามด้วย มาวิน และ ธีระศักดิ์ ศักดิ์แพทย์ จาก MENG HEADDER  จ๊ะเอ๋ ยางจ๊าปโคราช – TUNED BY EAK – 115 POWER HAUS ในอันดับ 2-3 ตามลำดับ

ROAD MASTER

ไฮไลต์เด็ดของศึก Idemitsu Super Turbo Thailand 2018 อยู่ที่การแข่งขันในรุ่นใหญ่อย่าง Road Master Turbo ด้วยรถแข่งระดับตำนานเทอร์โบอย่าง MITSUBISHI EVO หลายซีรีส์, SUBARU IMPREZA, NISSAN SKYLINE, NISSAN 350Z รวมถึงไป Toyota Supra และ MAZDA RX-7 เป็นศูนย์รวมรถซิ่งยุค 90 ในฝันของหลายๆ คน ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์รวมของนักขับชั้นนำของเมืองไทยด้วย   

สำหรับรุ่น ROAD MASTER ก็เหมือนกับการเอารุ่น Super Car ในสมัยก่อนมา Renovate ใหม่ แต่บรรยากาศก็ยังสนุกมากมาย เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยถนัดและยังเล่นกันอยู่ไม่มีเลิกกันง่ายๆ ในรุ่นนี้จะแบ่งแยกเป็น 2 รุ่น คือ “3.2 Division 1” ให้ความจุสูงสุด “3,200 ซีซี. + เทอร์โบจำกัดปาก 43 มม. หรือเครื่องโรตารี่ 3 โรเตอร์ จำกัดปาก 47 มม. แม้จะทำแรงมากมายแต่โดนบีบจมูก แรงม้าเฉลี่ยอยู่แถวๆ 400 ตัว เพราะบังคับอากาศเข้า ส่วนอีกรุ่น “2.2 Division 2” ให้ความจุสูงสุด “2,200 ซีซี. + เทอร์โบจำกัดปาก 38 มม. หรือเครื่องโรตารี่ 2 โรเตอร์ จำกัดปาก 42 มม.

สนาม 3 กริดสตาร์ทเรซนี้มี เตชิษฐ์ ธนาพรสังสุทธิ์ จาก K-SPORT K1 RACING TEAM ภายใต้รถแข่ง MITSUBISHI EVO VI เป็นเจ้าของโพล ขนาบข้างด้วย วีระกาจ ดอกจันทร์ ในรถแข่ง MITSUBISHI EVO 9 จาก WORLD PUMPS RACING TEAM ในกริดที่ 2 ส่วนกริดที่ 3 เป็นของ  เฉิน เจี้ยน หง หรืออาหงส์ TS MOTORSPORT นักขับมือเก๋าจาก H.DRIVE RACING TEAM  ที่มากับ SEAT LEON TCR เกมเรซนี้เข้มข้นตั้งแต่ออกสตาร์ท เตชิษฐ์   เจ้าของโพลออกสตาร์ทได้ดี โดยมี วีระกาจ ไล่จี้ได้ตั้งแต่ต้นเกม ขณะเดียวกัน เดวิช อยู่เป็นสุข หรือบังซิด INNER LINE” ขับ TOYOTA ALTEZZA ลงรุ่น 2.2 สาย Drag ที่พัฒนาฝีมือมาแข่ง Circuit ได้อย่างรวดเร็ว จาก BRP & TROOP SERVICE ขยับจากกริดที่ 5 ขึ้นมามีลุ้นในกลุ่มหัวแถวได้อย่างรวดเร็ว จบการแข่งขัน 12 รอบสนาม แชมป์สนามที่ 3 ตกเป็นของ วีระกาจ  ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมและไร้ซึ่งข้อผิดพลาด ควบรถแข่ง MITSUBISHI EVO 9 เข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวลา 22 นาที 2.067 วินาที เฉือน เดวิชที่ไต่จากกริดที่ 5 ขึ้นมาต่อสู้ในกลุ่มหัวแถวได้อย่างสุดมันส์ ก่อนคว้าอันดับ 2 โดยตามหลังแชมป์เพียง 1.743 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นของ เฉิน เจี้ยน หง ตามหลังแชมป์ 8.534 วินาที สำหรับทีมดาวรุ่งสุดฮา อย่าง วิธวินท์ สนธิรักษ์ หรือปิ๊ดดี้ควบ NISSAN SKYLINE R33 GT-S ขุมพลัง RB25DET รุ่น 3.2 จากทีม LEO-FRESH-MSM (หมูสู้มีด) ควอลิฟายมาอันดับ 11 ก็ไม่เลวนะ แต่ดันไปป๊ะกับรถ LANCER EVOLUTION ของสมชาย วิจิตรจาก รถบ้านชลบุรี จนปิ๊ดดี้ต้อง DNF ด้วยอาการประตูเยินคนละข้าง แต่รถของ สมชาย ยังไปต่อไป

ในสนาม 4  วีระกาจ ยังคงร้อนแรงสุดๆ เพราะนำห่างอย่างไม่ห่วงยิ่งรอบท้ายๆ ก็ยิ่งยืดหนี เข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวลา 21 นาที 32.454 วินาที คว้าแชมป์ไปครอง 2 สนามติดต่อกัน และเป็นแชมป์ในรุ่น 3.2 อีกต่างหาก (เครื่องตามกฏ 2.2 สามารถปีนรุ่นขึ้นมาแข่ง 3.2 ได้ ถ้ายอมใส่ปาก 43 มม. และบวกน้ำหนักจาก 2.2 อีก 100 กก.) แต่อันดับ 2 กับ 3 อันนี้แหละโคตรมันส์ !!! เพราะเป็นการขับเคี่ยวอย่างสุดมันส์ของ เดวิช และ เฉิน เจี้ยน หง ที่ผลัดกันขึ้นนำหลายครั้ง เมื่อครบ 12 รอบสนาม ปรากฏว่าอันดับ 2 ตกเป็นของ เดวิช ที่เข้าด้วยการเฉือน เฉิน เจี้ยน หงส์ ในอันดับ 3 เพียง 0.489 วินาที เท่านั้น ส่วน คำภีร์ ธรรมธาราณา หรือแพนควบ RX-7 Hurricane ขวัญใจมหาชน จากทีม 3M – P&C GARAGE ก็มาเรื่อยๆ แต่มานะ คว้าอันดับ 3 ในรุ่น 2.2 ไปครองทั้ง สนาม 3-4 ไม่กลับบ้านมือเปล่าแน่นอน

ส่วนปิดดี้ หมูสู้มีดงานนี้ก็ไม่ยอม พยายามรักษาก๊อตซิลล่าที่บาดเจ็บช่วงล่างคดจากการปะทะเมื่อวาน สั่งอะไหล่ตรงจากกรุงเทพมาใส่กันเลย ออกสตาร์ทอันดับ 15 ก็ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา อาศัยประคองใจเย็นๆ มาเรื่อยๆเก็บส้มพยายามเสียบกับรถ EVOLUTION 10 อยู่ตลอด ครั้งแรกเสียบในโค้ง T12 ก่อนเข้าทางตรงหน้า Grand Stand แซงได้ทีนึง แล้วก็โดนสวนคืน แต่ในรอบสุดท้ายกรูจะเอาหาจังหวะเสียบแซงในโค้งเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็รีบเผ่นเข้าเส้นทันใด งานนี้โคตรเฮงเพราะได้อันดับ 5 ในรุ่น 3.2 ไปครองแบบโคตรลุ้นจริงๆ

PICK UP TURBO

โยกมาชมเกมในรุ่น Pick up Turbo อันนี้ก็จะให้ได้ตั้งแต่ 2,000-3,000 ซีซี. แต่โดนถ่วงน้ำหนักตามเกณฑ์ และบังคับปาก Air Restritor 46 มม. สนาม 3 แชมป์ตกเป็นของ ธณพล ชูเจริญผล จาก เบสต์ เทอร์โบยำ ที่ออกนำม้วนเดียวจบด้วยเวลา 21 นาที 36.888 วินาที ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง ชินวุฒิ เหล่าชินชาติ ที่ลงแข่งขันในนามทีมอิสระถึง 23.218 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นของ ศุภชัย คงมั่น สังกัด ต้น คอมมอลเรล – YBL OIL ที่ทะยานขึ้นมาจากกริดที่ 7 เข้าเส้นชัยเป็นคันที่ 3 ตามหลังแชมป์ 35.018 วินาที

ในสนาม 4 ธณพล ต้องถอยไปออกสตาร์ทถึงกริดที่ 7 แต่ด้วยฟอร์มที่กำลังร้อนแรงทำให้ ธณพล สามารถไล่แซงคู่แข่งได้ถึง 6 คัน ก่อนเข้าป้ายเป็นคันแรกด้วยเวลา 21 นาที 36.661 วินาที เรียกว่าได้ “4 แชมป์ในรุ่นนี้ ตามด้วย ชินวุฒิ เหล่าชินชาติ ในอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 เป็นของ จรัส แจ้งกมลกุลชัย หรือเล้ง มังกรไฟยอดนักขับจอมเก๋าจาก YSS RACING SHOCK-PTT-LENSO ควบ HILUX REVO ตามมา

สำหรับการแข่งขัน ศึก Idemitsu Super Turbo Thailand 2018 สนามถัดไป สนาม 5-6 จะดวลความเร็วระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคมนี้ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต .บุรีรัมย์ เช่นเคย แฟนความเร็วในรูปแบบเซอร์กิต สามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ข่าวสารของการแข่งขันรายการ Idemitsu Super Turbo Thailand 2018 ได้ที่ https://www.superturbothailand.com และ https://www.facebook.com/Superturbothailand