Little Man !!! Big Think !!! YA SERVICE “Drag is Now”

 

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

Little Man !!! Big Think !!!

ปัญญาพลังนอกกรอบจาก YA SERVICE

โปรเจกต์ยักษ์ ถล่ม “Drag is Now”

ก่อน “Drag is Now” จะเริ่มต้นขึ้นในงาน Souped Up Thailand Records 2018 สิ่งหนึ่งที่คุกรุ่นอยู่ ตอนนี้ จะต้องเป็นการเสกของแรงที่แต่ละอู่ก็ยอมทุ่มเทเพื่อพิชิตเวลาเพราะเวลาไม่เคยคอยใครสถิติมีไว้ทำลาย แต่ไม่ต้องทำลายรถเพราะทุกอย่างต้องพร้อมเท่านั้น !!! ไม่มีฟลุ้ค ไม่มีการวัดดวง ไม่มีน้ำลาย ทุกอย่างของจริงทิ้งท้ายปลายปี และแน่นอนว่าชายร่างเล็กแต่ความคิดใหญ่แห่งสาย 5” เป็นใครไม่ได้ นอกจากช่างญาปัญญา อร่ามรัศมี ที่ใช้ปัญญาได้สมชื่อ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้วงการ Drag Racing จนต้องมีคำถามว่าพี่คิดได้ไงวะและคิดใหม่ทุกปีด้วยนะ ในปีนี้ ช่างญา แห่ง YA SERVICE จะคิดอะไรใหม่ๆ อีกต้องลองอ่านดู ที่นี่ที่เดียว ที่อื่นไม่รู้นะ

American Heartbeat

สำหรับเจ้า Dragster ที่มาสืบเชื้อสายตัวแรงอย่างมารชมพูที่ ช่างญา ปั้นขึ้นมากับมือ  พร้อมสมัครพรรคพวกที่ช่วยกันรุมจนออกมาประสบความสำเร็จ ด้วยขุมพลัง UZ ที่ตัวเองบุกเบิกมากับมือ ตั้งแต่ มารชมพู 200 SX เมื่อปี 2006 นู่น ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คันนี้ได้ออกอาละวาดด้วยขุมพลัง 2UZ-FE ขนาด 4.7 ลิตร ที่ขยายไปอีก ซึ่งตอนนี้กระแส Dragster เบนซิน ก็จะหันมาเล่นตัวนี้กันมากขึ้นในกลุ่มคนชอบใหญ่ๆแต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในรถคันนี้ กลับกลายเป็นย้ายสัญชาติโดยการยก 2UZ-FE ออก ??? ทำไมและทำไมช่างญา ถึงยอมทิ้งสิ่งที่ตัวเองรักและปั้นมากับมือ หันไปเล่นกับสิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ??? ทั้งๆ ที่ของเดิมมันก็ไปได้สวยอยู่แล้ว

2UZ ก็ดีโดนใจ แต่

สำหรับขุมพลัง 2UZ-FE ช่างญา ก็ชื่นชมในสรีระและพื้นฐานในเชิงกลไกของมัน  ด้วยความที่เป็นเครื่องรุ่นพัฒนาใหม่ มีความจุเยอะ และเป็นบล็อกเดียวในตระกูล UZ ที่เป็นเสื้อเหล็กจึงสามารถบูสต์ได้เยอะกว่า 1UZ หรือ 3UZ ที่เป็นเสื้ออะลูมิเนียมซึ่งทนได้ไม่เท่าเสื้อเหล็กหล่อแน่ๆ ส่วนเรื่องฝาสูบก็ดี วาล์วใหญ่ แถมเป็น 4 วาล์วต่อสูบ ก็เท่ากับ 32 วาล์ว ทำให้สามารถต่อยอดแรงม้าได้เยอะกว่า แล้วทำไม จู่ๆ มันถึงโดนทอดทิ้งเสียล่ะ

แหม่มคนนี้ มีดีอะไรที่น่าหลงใหล

สำหรับเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่กำลังจะทำอยู่นี้ จะลืมสาวยุ่นไปหาแหม่มหัวทองที่เธอมีอะไรที่บึ้บบั้บกว่าเดิม เป็นเครื่องยนต์จาก “CHEVY Small Block” ที่นิยมกันใน American Dragster กันมาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องยนต์บล็อก LT Series ที่มีตำนานตั้งแต่ยุค “70” นู่น ไม่ต้องสงสัย เพราะอเมริกันไม่ยอมเปลี่ยนแบบเป็นสไตล์ของเขา เครื่องที่ ช่างญา นำมาใช้ จะรุ่นยุคปี 90 ที่มีความจุระดับ 5.7 ลิตร หรือ 350 คิวบิกนิ้ว ตอนนั้นก็วางอยู่ในพวก CAMARO Z28 เป็นต้น แรงม้าก็อยู่ราวๆ 275-305 hp แล้วแต่ปี ฝาสูบยังเป็นระบบโบราณๆ คือ OHV หรือ Over Head Valve เรียกกันว่าเครื่องตะเกียบแคมชาฟต์อยู่ตรงกลางระหว่างร่องวีแล้วก็มีก้านกระทุ้งหรือ Push Rod อันนี้แหละที่เหมือนตะเกียบ มาดันกระเดื่องวาล์วให้เปิดปิด เป็นระบบที่อเมริกันอนุรักษ์นิยมกันเหลือเกิน ก็แปลกเหมือนกันนะ อเมริกันทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ทำในบางอย่างที่คิดว่าของตัวเองดีอยู่แล้ว เราลองมาดูหน่อย ว่าแหม่มคนนี้เธอมีดีอะไร ที่สมควรจะมาอยู่ด้วยกัน

ใช้เกียร์ LIBERTY แทนไปก่อน

โดยปกติคันนี้ก็จะใช้เกียร์ “YA SERVICE” แบบ Air Shifter ที่ออกแบบให้วางเรียงต่อๆ กันในแนวยาว ถ้าเป็น 4 สปีด ก็จะมี 3 ห้อง ห้องแรกจะเป็นเกียร์ 1-2 ห้องต่อมาก็จะเป็น 1 เกียร์ ต่อ 1 ห้อง มันก็ต่อๆ กันไป แล้วแต่จะเอากี่เกียร์ แต่ยิ่งต่อก็ยิ่งยาว ช่างญา ก็มองว่า ถ้ายิ่งเกียร์ยาว เครื่องจะต้องเดินหน้ามาก จนแทบจะไปชนด้านหลังคนขับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะแทนที่น้ำหนักจะกดลงที่ล้อหลังมากๆ มันกลับไปกดกลางรถแทน ซึ่งทำให้เสีย Traction มันไม่ใช่รถสปอร์ตสายเลี้ยว ที่น้ำหนักต้องอยู่ตรงกลาง อีกอย่าง คือ เกียร์ YA SERVICE ที่ผลิตเองและตั้งใจจะเอามาใส่ กลับเสร็จไม่ทัน” (เฟืองเกียร์เพิ่งมาในวันถ่ายทำพอดีๆ) ด้วยความที่ไม่แน่ใจ กลัวเสร็จไม่ทัน ก็เลยตัดสินใจยกเกียร์ YA SERVICE ลง เปลี่ยนเกียร์เป็น LIBERTY G-FORCE ที่เป็นแบบ “3 ราวตัวเกียร์จะสั้นกว่าเยอะเลย ทำให้สามารถวางเครื่องถอยหลังได้อีก เพิ่ม Traction ในการออกตัว ส่วนเกียร์ YA SERVICE ลูกที่เคยใส่ใน Dragster คันนี้ ก็ยกเอาไปใส่ใน CEFIRO PRO 6 ได้ เพราะรถมันเครื่องหน้า ขับหลัง เกียร์ยาวก็ใส่ได้สบาย เดี๋ยวเราค่อยไปพูดถึงคันนี้กันเป็นเรื่องต่อไป ส่วนเกียร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ จะรอใส่กับรถอีกคันที่มี Project สร้างขึ้นมาใหม่ อดใจรอหน่อยก็แล้วกัน

ENGINE TECH SPEC

รุ่น : CHEVY LS Series   

วาล์ว : CROWER

สปริงวาล์ว : COMP

กระเดื่องวาล์ว : JESEL Pro Series

แคมชาฟต์ : KELFORD   

เสื้อสูบ : DART

ลูกสูบ :  JE Custom Made 

ก้านสูบ : CARILLO

แบริ่งชาฟต์ : CARILLO

ข้อเหวี่ยง : CROWER Billet 6.0 L

พูลเลย์ข้อเหวี่ยง : ATi Super Damper

เทอร์โบ : GReddy T88-38GK x 2 (For Test Run Only)   

เวสต์เกต : TURBOSMART 

เฮดเดอร์ : BRD

อินเตอร์คูลเลอร์ : BRD

ท่อร่วมไอดี : BRD

ชุด Dry Sump : PETERSON

รางหัวฉีด : EDELBROCK

หม้อน้ำ : BRD 

หมายเหตุ : รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และอารมณ์เนื่องจากเป็นช่วงทดลอง ถ้าเสร็จเรียบร้อยจะมาแฉให้ชมกันอีกครั้งหนึ่ง

CEFIRO PRO 6 ที่ไม่เคยหมดโปร

แม้ว่าจะดูเป็นมวยรองในบ้านสาย 5 แต่จริงๆ แล้ว ไอ้นี่แหละตัวเทคนิคเยอะเลยละ อย่างที่บอกไป Dragster ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเกินเอื้อมของบ้านเราอีกต่อไป แต่ว่า ไอ้รถบอดี้เดิมนี่แหละ มันมีข้อจำกัดที่เยอะกว่าทั้งในด้านสรีระและกติกาอย่างที่ผมเคยบอกไปว่า รถตระกูลเฟรมต่างๆ มันสร้างตามความพอใจของเราได้ กติกาก็แทบไม่ได้บังคับอะไร นอกจากกำหนดความยาวช่วงล้อหน้าถึงหลังแต่รถบอดี้ เขาสร้างมาให้วิ่งถนนขับทั่วไปเป็นหลัก เราจะเอามาทำเป็นรถ Drag ที่แรงและเร็วกว่านรก มันคนละเรื่องกันจึงต้องลงมือกันหนักหน่วงแทบทุกจุด ความยากในการสร้างและ Setting มันจึงไม่ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิดเลยแม้แต่น้อย !!!

จอมยุทธ์ย้ายเวสต์เกต” ???

หน้าที่ของเวสต์เกตหรือ Wastegate ตามชื่อเลย คือประตูที่ระบายของเสียหรือของส่วนเกินทิ้งแต่พอมาใช้กับระบบเทอร์โบมันจะทำหน้าที่ในการคายไอเสียส่วนเกินออกเพื่อไม่ให้ไอเสียไปปั่นเทอร์โบมากเกินไป จนเกิดอาการบูสต์ไหลถ้าไม่มีเวสต์เกตคุม จะเรียกกันว่าบูสต์อนันต์หรือ Infiniti Boost เทอร์โบก็จะบูสต์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลม และเครื่องระเบิดเวสต์เกตคุมบูสต์ด้วยการปรับตั้งและกำหนดโดยแรงดันจากท่อไอดีมาคุมที่เวสต์เกต สมมติว่าตั้งแรงดันไว้ที่ 2.0 บาร์ เมื่อแรงดันจากท่อไอดีถึงกำหนด มันก็จะยกวาล์วเวสต์เกตเปิดให้ไอเสียไหลออก เรียกว่ามันเอาชนะแรงดันสปริงได้ วาล์วยก ไอเสียไหลออก บูสต์ก็จะคงที่ตามที่เรากำหนด (ซึ่งองค์ประกอบทุกอย่างก็ต้องสมบูรณ์แบบด้วยนะครับ ไว้ค่อยว่ากัน ว่าทำไมบูสต์ถึงไหลเกิน หรือบูสต์ตก) ซึ่งรถแรงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เวสต์เกตแยกหรือ External Wastegate เพราะมันสามารถดีไซน์ให้ตัวใหญ่ วาล์วใหญ่ พอร์ตใหญ่ได้ ตามกำลังบูสต์ที่เราต้องการ ว่าแต่คันนี้เวสต์เกตไม่ได้อยู่ที่เดิม และช่างญาแกคิดอะไรอยู่ ถึงยอมถอดมันออกได้ ด้วยเหตุผลอันใด แล้วจะคุมบูสต์ได้อย่างไร

เอาเวสต์เกตมาเป็นโบล์วออฟ” ??? !!!

ฟังดูแล้วคิดว่าอย่างไรกันบ้าง เกิดอะไรผิดเพี้ยนขึ้นหรือเปล่า แต่ขอยืนยันว่านี่คือความจริงช่างญา ไม่ใช้เวสต์เกตกับรถคันนี้ เพื่อจะทดลองอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ก่อนอื่นเรามาคุยเรื่องการคุมบูสต์กันก่อน คันนี้ใช้การควบคุมด้วยวิธีแปลกๆ ด้วยการนำเวสต์เกตมาเป็น BOV หรือ “Blow Off Valve” แทน ??? ปกติเราจะรู้จักกัน BOV ของการคายแรงดันไอดีย้อนกลับในขณะถอนคันเร่งเพื่อไม่ให้ทำร้ายเทอร์โบมิใช่หรือ ???

จากแนวคิดของช่างญาว่าไหนๆ เราจะไม่ใช่เวสต์เกตอยู่ในตำแหน่งไอเสียเดิมแล้ว ก็อาศัยหลักในการคายไอดีทิ้งเลยก็ได้นี่ ไม่ต้องกลัวไม่พอ เพราะเทอร์โบใหญ่ เราไม่กลัวเรื่องแรงบูสต์อยู่แล้ว ยังไงก็เหลือเพราะคันนี้ล่อเทอร์โบ PRECISION PRO MOD 91 !!! ขนาดใหญ่ยักษ์เกินขนาดเครื่องไปมาก เทอร์โบตัวนี้เคยใส่อยู่ใน 2UZ Dragster นั่นไง จำได้ไหม ??? เพราะฉะนั้นลมเหลือเฟือการต่อจริงๆ ก็ยังเหมือนกับเวสต์เกตปกตินั่นแหละ เพียงแต่พอแรงดันถึงที่ตั้งไว้ มันก็ยกเอาไอดีออกไปแทน พูดกันจริงๆ หลักการเดิม แต่ย้ายสถานที่แล้วมันมีผลดีอย่างไร

ไอเสียปั่นเทอร์โบได้เต็มๆ ไม่มีการสูญเสียอีกต่อไป

โดยปกติไอเสียจะไปปั่นเทอร์โบ พอเวสต์เกตยก ไอเสียที่จะไปปั่นเทอร์โบก็ไหลทิ้งออกไปที่ท่อแยกก็ไอ้ที่ได้ยินเสียงแช้ดดดดดดดดนั่นแหละ คือเสียงของไอเสียที่ไหลออกด้วยความเร็วสูงผ่านท่อเล็ก ซึ่งแน่นอนว่าแรงดันในโข่งเทอร์โบก็จะลดลงบูสต์ก็อาจจะมีกระพือนิดหน่อย เพราะเวลาบูสต์ตก เวสต์เกตจะปิด เวลาบูสต์ถึง เวสต์เกตจะเปิด มันก็อาจจะมีผลนิดหน่อยที่เราไม่รู้สึก แต่กับการที่ ช่างญา ทำแบบนี้ ด้วยเหตุผลอันน่าฟังที่ว่าไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียไอเสียที่ไปปั่นเทอร์โบไอเสียมาเท่าไร มึงก็ปั่นไปเท่านั้น เพราะการที่จะคายไอเสียทิ้งนั้น ทำให้ไม่ต่อเนื่องเพราะเทอร์โบตัวใหญ่มาก แต่เครื่องเราไม่ได้ใหญ่มาก เราต้องการไอเสียเต็มๆ ไปปั่นเทอร์โบให้แรงที่สุด ก็เลยเอาเวสต์เกตไปคายไอดีแทน ไอเสียไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

อาจจะมีข้อสงสัยว่า ให้เทอร์โบหมุนแบบอนันต์แล้วจะไม่พังเหรอ คำตอบ คือ เทอร์โบเราใช้ของที่มีประสิทธิภาพสูงมาก มันสามารถทนได้อยู่แล้ว และ Drag Racing มันวิ่งแค่แป๊บเดียว อีกอย่าง คือ การคุมบูสต์จะนิ่งกว่า เพราะไอเสียมาเต็มๆ เทอร์โบหมุนด้วยความเร็วคงที่ ไอ้ส่วนจะคายไอดีก็คายไป ไม่เกี่ยว ตอนจูนกราฟบูสต์จะฟ้องว่าดีกว่าแต่เรื่องของท่อไอเสียจะต้องใหญ่พอที่จะคายไอเสียมากกว่าปกติได้ เพราะเราไม่มีเวสต์เกตมาช่วยคายแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหา เพราะรถ Drag ทำได้โคตรใหญ่ตามที่เราต้องการ ปล่อยขึ้นฝากระโปรงไปเลย อันนี้ก็เป็นเทคนิคพิเศษของ ช่างญา ที่น่าสนใจมากๆ จากแนวความคิดครับ

อินเตอร์สูตรพิสดารรวมร่าง

สำหรับอินเตอร์คูลเลอร์ก็จะเป็นอะไรที่พิสดารประมาณหนึ่ง เพราะดูจะไม่เหมือนชาวบ้าน กล่องสี่เหลี่ยมๆ ด้านในจะเป็นหลอดอากาศเรียกว่าเอาอินเตอร์ซิ่ง 4 ลูก มาซ้อนๆ รวมกัน ใส่ “Dry Ice” แล้วก็มีตัวปั่นแรงดัน และจะมีคำถามตามมาว่า แล้วมันจะไม่ Freeze แข็งตัวจนทำให้ปั่นไปไม่ไปเหรอ ซึ่งสูตรของ ช่างญา ที่บอกมา จะใช้วิธีการปั่นน้ำไปราดน้ำแข็งแห้งโดยใส่ถังน้ำแยก แล้วด้านในมีตะแกรงเอาไว้ใส่น้ำแข็งแห้ง มอเตอร์ปั่นให้น้ำมีแรงดัน ฉีดเข้าไปที่น้ำแข็งแห้ง ราดผ่านหลอดอินเตอร์ น้ำที่ราดผ่านก็เย็นเจี๊ยบเลย ราดเสร็จก็ลงมาอยู่ด้านล่าง แล้วก็ปั๊มขึ้นไปฉีดใหม่เป็นวงจรชีวิตก็จะยิ่งเย็นขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

ย้าย Transfer ไปอยู่ด้านหลัง เพื่อกระจายน้ำหนัก

จากการที่ย้ายเกียร์เอาเกียร์ลูกยาวมาใส่คันนี้ ปลายเกียร์จะอยู่เลยกลางรถไปอีกหน่อย แต่ก่อนนั้น เกียร์ Transfer ของ SKYLINE GT-R ที่เอามายึดไว้ จะอยู่แถวๆ กลางรถ (อย่าลืมนะครับ คันนี้เป็น CEFIRO SE-4 4WD แท้ๆ นะครับ) แต่พอเกียร์ยาวขึ้น ช่างญา ก็เกิดไอเดียเก๋ ด้วยการย้าย Transfer ไปไว้ท้ายรถ ตรงใต้เบาะหลังเลย แล้วก็ต่อเพลาจากเกียร์ไปหา Transfer ประมาณคืบกว่าๆเท่านั้นเอง และจาก Transfer ก็ออกมาติดกับหน้าแปลนเฟืองท้ายเลย นับว่าเป็นการช่วยกระจายน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยม เปล่าเลย เราไม่ได้เพิ่มน้ำหนักจากเดิมนะ เพราะชิ้นส่วนองค์ประกอบต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นการย้ายน้ำหนักให้เหมาะสมเท่านั้นเอง เรียกว่าเป็นไอเดียต่อเนื่องที่ต้องผ่านการวางแผนเป็นอย่างดี นี่แหละไอเดียของคนตัวเล็กแต่ความคิดใหญ่

ENGINE TECH SPEC

รุ่น : 2JZ-GTE    

คอยล์ : Haltech

วาล์ว : FERREA    

สปริงวาล์ว : CROWER

แคมชาฟต์ : YA SERVICE Custom Made 292/298 องศา

เฟืองแคมชาฟต์ : HKS

ลูกสูบ :  CP 

ก้านสูบ : BC

ข้อเหวี่ยง : BC 3.4 L 

พูลเลย์ข้อเหวี่ยง : ATi Super Damper

เทอร์โบ : PRECISION PRO MOD 91

เวสต์เกต : TURBOSMART CompGate 40

เฮดเดอร์ : BRD

อินเตอร์คูลเลอร์ : BRD

ท่อร่วมไอดี : BRD

ชุด Dry Sump : WEAVER BROTHERS LTD.

รางหัวฉีด : BRD

หม้อน้ำ : BRD 

X-TRA Ordinary

ความคิดยังไม่หยุดนิ่งจริงๆ เพราะ ช่างญา ได้คิดค้นของใหม่ๆ ขึ้นตลอดว่า ล่าสุดผมไปเห็นของประหลาด เป็นเกียร์สามเหลี่ยม” ??? ลักษณะก็อย่างที่เห็นในรูปเลยครับ ไอ้เราเห็นตอนแรกก็อะไรวะ ไม่นึกว่ามันจะเป็นเกียร์ ซึ่งอันนี้เป็นตัวต้นแบบที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับรถขับหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งรถขับหน้าจะมีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่จะใส่เกียร์ใหญ่และยาวแบบขับหลังก็ไม่ได้ เสื้อเกียร์เดิมก็เล็ก ใส่เฟืองใหญ่ก็ไม่ได้ เลยจัดการเป็นสามเหลี่ยมเพื่อไม่ให้มันยาว มีห้องเกียร์สำหรับเฟืองใหญ่ๆ 4 สปีด ส่งกำลังออก Output Shaft ตรงกลาง หลักการทำงานก็คล้ายๆ Planetary Gear ยอมรับว่า ช่างญา สมองทำด้วยอะไรคิดได้ยังไงเนี่ยเกียร์สามเหลี่ยมนี้รับได้ถึง 2,000 แรงม้า !!! แต่อาจจะมีปรับลดขนาดและน้ำหนักลงบ้างตามความเหมาะสม ไม่นานเกินรอ ถ้าเสร็จเมื่อไร ได้เจาะรายละเอียดลงแน่นอน

Special Thanks

YA SERVICE : Facebook/Ya Motorsport, Tel. 08-1880-6673

อู่ช่างโต สุโขทัย : Facebook/Macto Automechanic, Tel. 08-7314-4670

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome