M4 GT4 Class – “BLANCPAIN GT SERIES ASIA” BMW Team Studie Japan Present

Souped Up Special : XO 261 (BMW M4 GT4 STUDIE)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : วุฒิชัย คำภิระยศ

ในโลกแห่งความเร็ว ไม่ใช่มีเฉพาะ Drag Racing แต่กับการแข่งขันแบบ Circuit ก็มีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน รถอาจจะไม่ได้บ้าพลังคลั่งแรงม้ากันมากนัก แต่เสน่ห์ของมันอยู่ที่การ Setting ให้นักขับแต่ละคน และสถานการณ์แต่ละสนาม กระทั่ง Condition ต่างๆ เช่น สภาพอากาศ อันดับการแข่งขัน พวกนี้จะมีการประเมินผลและปรับเซตรถและยางให้เหมาะกับสภาพนั้นจริงๆ แล้วก็ยังมีเกมการขับ เพราะมันไม่ได้วิ่งเร็วที่สุดแล้วจบ มันมีตัวแปรอื่นๆ เยอะมาก ต่อให้นำมาตลอด แต่รถดันมีปัญหา “จอดก่อนเข้าเส้น” หรือ “โดนแซงก่อนเข้าเส้นชัยนิดเดียว” อันดับก็ร่วงลงไป Circuit มันจึงมีเสน่ห์ไม่น้อย อยากจะให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองเปิดใจในอีกแง่มุมหนึ่งของ Motorsport ครับ…

BLANCPAIN GT Series Asia ดูยังไงให้สนุก  
สำหรับ “รถคู่” ที่นำมาให้โชว์กันนี้ เป็น BMW M4 ที่เป็นรถแข่งในคลาส GT4 ซึ่งเป็น Complete Racing Car ที่ผลิตมาตามข้อกำหนดของการแข่งขันในคลาสนี้ เป็นรถจากทีม BMW Team Studie ซึ่งเป็นของสำนัก Studie AG BMW TUNING ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาแข่งในประเทศไทย รายการ BLANCPAIN GT SERIES ASIA (บล็องค์แปง จีที ซีรีส์ เอเชีย) ซึ่งมีรากฐานมาจากโซนยุโรป ผู้จัดก็คือ SRO หรือ Stephane Ratel Organisation จาก London, U.K. ที่จัดรายการแข่งรถในระดับ GT Series มาตั้งแต่ปี 1995 ตั้งแต่ GT1, GT2 ซึ่งสองรุ่นนี้เลิกจัดไปแล้ว เพราะมีต้นทุนสูงมาก ทีมรวยๆ หรือทีมโรงงานสายป่านเหลือๆ จึงจะชนะ แล้วรถที่ใช้แข่งก็ต้องสร้างตาม Homologate ซึ่งก็ต้องสร้างรถที่ “วิ่งถนนได้จริงๆ” (Road Car Version) ออกมาเป็นจำนวนไม่มากนัก ซึ่งราคาสูงมากๆ อย่างเช่น NISSAN R390, MERCEDES-BENZ CLK GTR, PORSCHE 911 GT1 ซึ่งมันเป็น “รถพิเศษ” ที่ตอนนี้ก็ยิ่งโคตรแพง ก็เลยยกเลิกไป แล้วก็มารุ่น FIA GT3 ที่ยังคงแข่งกันอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยสามารถ “วิ่งเทียบรุ่น” กับ GT300 ของรายการ Super GT ของญี่ปุ่นได้ เริ่มในปี 2006 เป็นรายการ FIA GT3 European Championship มาก่อน ส่วนชื่อ BLANCPAIN ก็จะเป็นแบรนด์ “นาฬิกา” ที่เข้ามาเป็น Main Sponsor ให้กับการแข่งขัน ก็เลยใช้ชื่อนี้มา จนแตกยอดมาเป็น Asia แล้วก็มาแข่งที่ “ไทย” เป็นครั้งแรก ณ สนามบุรีรัมย์…

GT4 เกิดมาเพื่อ ???
สำหรับรุ่นการแข่งขัน GT4 นั้น ก็เป็นรุ่นเล็ก รองจาก GT3 ซึ่งแตกหน่อออกมาใหม่ในปี 2017 โดยเน้นให้ทีม “สมัครเล่น” หรือ “มือใหม่” ได้เข้าร่วมในการแข่งขันบ้าง จะได้มีความแพร่หลาย และ “เอื้อมถึง” มากขึ้น ในส่วนของรถแข่ง จะเป็นรถในลักษณะ Track day car ภาพรวมก็ยังเป็นรถที่ไม่ได้เปลี่ยนสภาพตัวถัง พูดง่ายๆ ก็ “มิติเดิม” นั่นเอง รถแข่งก็มีสองแบบ แบบแรกที่เห็นกันทั่วไป จะเป็นรถแข่งผลิตจากโรงงานรถยนต์ หรือ Factory-built race cars ที่มีขายทั่วไปเลย ส่วนอีกแบบ เป็นรถที่ทีมแข่งสร้างขึ้นมาเอง (Custom built) โดยมีพื้นฐานจากรถที่ผลิตขายปกติ (Production car) ทั้งหมดนี้จะต้องผ่านการ “ตรวจสอบ” และ “ทดสอบ” สเป็กรถโดย FIA Approve ว่าต้องทำตามนี้ และทางทีมแข่งไม่สามารถโมดิฟายเพิ่มได้ อันนี้เป็นกฎข้อบังคับ ส่วนยางก็บังคับเป็น Official Tire อยู่ 2 แบรนด์ คือ PIRELLI กับ CONTINENTAL ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็จะทำให้รถแข่ง “มีสมรรถนะที่สูสีกัน” ส่วนแบรนด์และรุ่นรถ ก็จะมีกำหนดมาเหมือนกัน พูดภาษาชาวบ้าน ก็เป็น Sport Car ที่ไม่ถึงขั้น Super Car นั่นเองครับ ยกตัวอย่างประมาณนี้…

………………………………….GT4                         GT3
BMW                                  M3, M4, Z4            M6
MERCEDES-BENZ        AMG GT-R             AMG GT-R GT3
PORSCHE                        CAYMAN GT4       CARRERA GT3R

ดูยังไงจะรู้ว่ารถรุ่นไหน
จะพูดเรื่องรถอย่างเดียวก็คงจะเหงา เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่ก็อาจจะยังไม่ “อิน” ผมเชื่อว่าคนชอบรถทุกคนก็อยากดูรถแข่งกันทั้งนั้น แต่จะ “ดูอย่างไร” ให้สนุก เพราะตอนแข่ง รถมันวิ่งปนๆ กัน อย่าง GT3 กับ GT4 ก็วิ่งด้วยกัน และรถบางโมเดลก็ดันมีแข่งทั้ง 2 รุ่น แต่การโมดิฟายก็ต่างกัน บางทีดูมันวิ่งไปวิ่งมาก็จะ “เง็ง” กว่าสรุปว่ามันเป็นรุ่นไหนกันแน่ เรามีวิธีง่ายๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ…
< มิติของรถ : อันนี้สังเกตง่ายสุด เพราะมิติของรถ FIA GT3 จะ “บาน” กว่า GT4 อย่างมาก เป็นรถ Wide Body หมอบๆ สปอยเลอร์หลังใหญ่ๆ สูงๆ ล้อจะใหญ่ๆ เป็น Center Lock ส่วน GT4 บอดี้จะเดิมๆ ตัวรถไม่เตี้ยมากนัก ก็เหมือนกับรถแต่งวิ่งถนนทั่วไป ล้อจะเป็น 5 รูนอต สปอยเลอร์อะไรก็ไม่อลังการมากนัก มันก็เหมือนกับเอารถเดิมๆ มาอัปเกรดแล้วแข่ง เพราะเครื่องก็ยังสแตนดาร์ดอยู่ เนื่องจากไม่ให้ลงทุนสูงเกินไปจนนักแข่งหรือทีมหน้าใหม่เอื้อมไม่ถึง…
< สีเบอร์รถ : อันนี้ก็สังเกตได้ง่ายอีก เพราะทั้งสองรุ่นที่แข่งในรายการนี้ ก็มีการ “แยกสีเบอร์รถ” อยู่แล้ว เพราะจริงๆ แล้ว ทำให้ทุกคนได้ทราบว่า ไอ้รถคันนี้มันวิ่งอยู่รุ่นไหน อย่างรายการนี้ รุ่น GT4 จะเป็นเบอร์สี “ส้ม” ส่วน GT3 จะเป็นเบอร์สี “เขียว” โดยเป็นแบบ “สะท้อนแสง” (Illuminate) ทั้งหมด เพราะรถพวกนี้บางทีก็ต้องแข่ง Endurance ซึ่งต้องวิ่งกลางคืน จึงต้องใช้เบอร์สีสะท้อนแสงนี่เอง เป็นเบอร์ติดไว้ที่ “กระจกหน้า” ฝั่งที่ไม่บังคนขับ ก็เป็น “ฝั่งขวา” ทั้งหมด เพราะรถแข่ง GT Series เกือบทั้งหมดจะเป็น “พวงมาลัยซ้าย” ไม่เว้นแม้แต่ NISMO GT-R GT3 (จะมีที่เป็น “พวงมาลัยขวา” ก็ BENTLEY CONTINENTAL GT3 ตาม Origin ของผู้ผลิต คือ “ประเทศอังกฤษ” ที่ใช้พวงมาลัยขวาเหมือนบ้านเรา) ก็เป็นเลขตัวใหญ่ เพื่อให้ “คันหน้า” มองเห็น อย่าง GT4 แล้วข้างหลัง GT3 วิ่งมาใกล้ พอรู้แล้วว่าเป็นรุ่นเร็วกว่ามาถึงแล้ว “หลบให้” ได้เลย (ไม่มีสิทธิกั๊กรถที่เร็วเหนือกว่ามาก) แล้วก็จะมี “สติกเกอร์ติดกันชนหลัง” เป็นสี่เหลี่ยมตามสีรุ่น แล้วก็มีอักษรกำกับ อันนี้เอาไว้สำหรับ “รถแข่ง” ที่ตามมา ถ้าเป็นรุ่นใหญ่กว่าอย่าง GT3 ที่รถเร็วกว่ามาก พอเห็นข้างหน้าเป็น GT4 ก็สามารถ “หาจังหวะแซง” ได้เลย…

What’s Studie
แฟนๆ BMW ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแบรนด์โมดิฟายในตำนานทั้งหลายกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับแบรนด์ Studie นั้น เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในรถ BMW และอยากจะตอบสนองแฟนๆ ที่ต้องการ Tuning รถที่มีอยู่ให้ขับขี่ได้สนุกตามใจต้องการ ด้วยหลักการ TDMM หรือ Tuning – Dress Up – Maintenance – Motorsports ซึ่งการแต่งรถก็ไม่จำเป็นต้องถมเงินเพียงอย่างเดียว ทาง Studie จะจัดสรรความแรงให้เหมาะสมกับงบประมาณของลูกค้า และสไตล์การขับรถของแต่ละท่าน รวมถึงการใช้ประสบการณ์ใน Motorsports ในการพัฒนาการโมดิฟายรถให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง…

Complete Race Car
พูดถึงตัวรถกันหน่อย ซึ่งรถในหมวดหมู่ (Category) ของ GT4 นั้น รากฐานก็มาจาก GT3 รถพวกนี้อย่างที่บอกว่าจะเป็น “รถแข่งสมบูรณ์แบบ” หรือ Ready to race จากโรงงานผู้ผลิต โดยผลิตตาม Homologate หรือข้อบังคับ ของ SRO GT4 ซึ่ง BMW M4 GT4 ก็จะใช้เทคโนโลยีการแข่งขันมาจาก BMW M6 GT3 นำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบ เน้นไปในทาง High-Mileage หรือ “สามารถใช้แข่งขันระยะยาวได้โดยไม่พัง” บำรุงรักษาง่าย ในด้านอุปกรณ์พิเศษของ M4 GT4 หลายส่วนก็จะเป็นสิ่งที่ BMW Motorsports ได้พัฒนาขึ้นมาสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ ผลิตจาก Dry-Carbon เกรดสูง เช่น ประตูสองข้าง ฝากระโปรงคาร์บอน จาก M4 Coupe ลิ้นหน้าและสปอยเลอร์ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับการแข่งขัน ภายในก็ยังดีไซน์ให้เน้นความ “สบาย” กับนักแข่งด้วย คือ ไอ้เรื่องความสบายนี่ต้องมี เพื่อให้นักแข่งรู้สึกไม่ต้องกังวลอะไร ใช้สมาธิกับการขับได้อย่างเต็มที่ เช่น Racing Seat ที่เข้ากับสรีระ นั่งได้กระชับ ปลอดภัย มั่นคง ชุด “แป้นเหยียบ” ที่สามารถปรับระยะการเหยียบได้ ให้เหมาะสมกับ “ลักษณะทางกาย” ของแต่ละคน…

แสนสบายด้วย “Air Condition” ???
ในข้อมูลโบรชัวร์ PDF ของ BMW M4 GT4 นี้ ในหมวดของภายใน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ระบบแอร์คอนดิชัน” ที่ดันมีมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานอีกด้วย ถามว่าแล้วจะมีไปทำไมในรถแข่ง แต่นี่ “ของมันต้องมี” คืองี้ครับ ในการแข่งระยะยาวอย่าง Endurance 24 ชม. อย่างรายการ World Endurance Championship หรือรายการที่เทียบเท่า จะมีการกำหนด “อุณหภูมิในห้องโดยสาร” ว่า “จะต้องควบคุมให้ห้ามเกิน 32 องศาเซลเซียส” เพื่อป้องกันคนขับเกิดอาการ “Heat Stroke” จะมี Sensor คอยจับอุณหภูมิภายในรถ ถ้าเกินกำหนดจะมีสัญญาณไปที่ Control แสดงว่ามึงร้อนเกินไปแล้วนะ ถ้ามีสัญญาณเตือน รถจะต้องถูกเรียกมาตรวจสอบ อย่าลืมว่าการขับระยะยาว ร่างกายต้องทนทรหดกว่าการแข่งปกติไม่รู้กี่เท่า แม้จะฟิตอย่างไร ถ้าเจอ “ความร้อน” นานๆ ก็ “ร่วง” ได้เหมือนกัน และทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมี “แอร์” ในการลดความร้อนเพื่อเซฟคนขับ มันก็มีข้อดีว่า ร่างกายไม่ล้าเกินไปจนเสียสมรรถนะในการขับขี่ เผลอๆ บางคันถ้าไปวิ่งในช่วงแดดแรงๆ ก็จะ “ติดฟิล์ม” ช่วยกรองแสงและความร้อน ซึ่งรถแข่ง Endurance ในบ้านเราก็อนุญาตให้มีแอร์ได้เช่นกัน บอกตรงๆ ไม่ติดก็ไม่ไหวว่ะ นักแข่งจะตายเอา…

etc.
หลายคนอาจจะมองว่า รถพวกนี้สำเร็จรูปนั้นไม่มีอะไร แต่จริงๆ เขามีรายละเอียดมากมาย ที่เราไม่สามารถจะนำมาลงหมดได้ ขอคัดสิ่งที่น่าสนใจมาฝากกันนะครับ…
< สำหรับอุปกรณ์มาตรฐานโดยรวม รุ่นพื้นฐานก็จะเป็น “Sprint Specification” สำหรับการแข่งขันทั่วไป แล้วก็มี “Endurance Package” ให้เลือก เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างแตกต่างกัน…
< Makrolon Screen : กระจกหน้าเป็นแบบ ซึ่งจะมี Heater คอยอุ่นไล่ฝ้า สามารถกดเปิด-ปิด ได้ที่คอนโซล…
< Race Taxi Seat : เป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษ ใช้สำหรับติดตั้งในการจัดช่วง Hot Lap พาผู้ชมที่โชคดีได้รับสิทธิในการนั่งรถแข่งจริงในสนาม (แต่ไม่ใช่ในช่วงการแข่งขันจริงนะ) ซึ่งรถแข่งที่พาผู้ชมทัวร์นี้จะเรียกว่า “Taxi” แต่มีข้อแม้ว่า คนนั่งต้องใส่ชุดแข่งเต็มระบบเช่นเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด…
< Powerstick : เป็นอุปกรณ์เสริม เป็นเหมือนสวิตช์ไว้สำหรับ “เลือกโปรแกรมกล่อง” ได้อย่างเหมาะสม กรณีเจอกติกา B.O.P. หรือ Balance Of Performance ที่ “ปรับปาก Restrictor” หรือ “ปากดูดไอดี” ทางเข้าก่อนปากเทอร์โบ ถ้าตำแหน่งดี ก็จะยิ่งโดนบีบมากขึ้น กรณีนักแข่งมือเหนือกว่า ก็จะบีบให้ “ช้าลง” ตามกติกา เพื่อให้เกมการแข่งขันนั้นบี้ใกล้เคียงกันมากขึ้น…
< Spring Deflection Potentiometer : เซ็นเซอร์วัดการทำงานของช่วงล่าง โช้คอัพ สปริง หรือที่เป็นเหมือนโช้คอัพเล็กๆ ข้างในเป็นวงจรความต้านทาน เอาไว้วัดเวลาช่วงล่างเคลื่อนที่ แล้วส่ง Data Log ไปที่กล่อง ก็จะรู้ว่าตอนนี้ช่วงล่างทำงานอย่างไร ในโค้งแต่ละโค้งรถมีอาการอย่างไร ต้องแก้จุดไหน จะมีประโยชน์มากในการเซตช่วงล่างให้เหมาะสมมากสุด เพราะการที่จะฟัง Comment จากนักแข่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ…
< Powerful Corner Light : เป็นไฟหน้าส่องสว่างกำลังสูงพิเศษ สำหรับงาน Endurance ที่ต้องวิ่ง Night Race และอาจจะเจอฝนตกซ้ำไปอีก ไฟหน้าต้องสว่างมากกว่าปกติ และสามารถกะพริบไฟสูงในเวลา “แซง” เพื่อที่ให้รถข้างหน้าที่ช้ากว่ารับรู้และเปิดทางให้…

X-TRA Ordinary
สำหรับรถแข่งในระดับ GT Series สิ่งที่โดดเด่นมาก คือ ความปลอดภัย เพราะทุกคันที่ผลิตออกมาสำหรับแข่งขัน ต้องถูกทดสอบและกำหนดสเป็กจาก SRO GT Series อย่างเคร่งครัด แม้นอตเพียงตัวเดียว ไปเปลี่ยนผิดสเป็กก็ไม่ได้ และถ้าเป็นรถ Endurance ยังมีพวก “ไฟ” ต่างๆ ที่บ่งบอกสถานะของรถ เช่น ไฟสีๆ ที่แต่ละทีมจะติดไม่เหมือนกัน ให้รู้ว่ากลางคืนรถทีมตัวเองคันไหน จะได้รู้เวลาวิ่งผ่าน Pit Wall เหล่า Pit Crew ก็จะโชว์ Pit Board บอกนักแข่งในกรณีต่างๆ เช่น ให้เข้าเติมน้ำมัน เข้าเซอร์วิส เข้าเปลี่ยนตัว ฯลฯ แล้วก็จะมีไฟพวก Emergency อีก เช่น ถ้ามีการชนอย่างรุนแรงมากในช่วงกลางคืน ไฟนี้จะกะพริบสว่างมากๆ เหมือน “ขอความช่วยเหลือ” ก็จะจัดทีม Rescue ไปด่วน อะไรประมาณนี้ นี่แค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นนะ…

Special Thanks
BMW Team Studie : Mr. Hayashi
Contact Site : www.studie.jp, Facebook/Studie AG